ด้วยความตื่นเต้นบวกกับอากาศที่หนาวจนนอนไม่หลับ ทำให้เราตื่นตั้งแต่ตี 3 ซึ่งเร็วกว่าเวลาที่ตั้งนาฬิกาไว้ครึ่งชั่วโมง เราลุกขึ้นยืนแต่งตัวเต็มยศ เสื้อ 5 ชั้น กางเกง 4 ชั้น ถุงเท้า 3 ชั้น ถุงมือ 2 ชั้น ความกลัวหนาวขั้นสุดนี้ทำให้ผู้หญิงร่างผอมสูงอย่างเรากลายร่างเป็นหมียักษ์ในทันที

อีก 15 นาทีจะถึงเวลานัด เราจึงนั่งรออย่างเงียบๆ อยู่คนเดียวในห้องพักท่ามกลางความมืด พยายามข่มความตื่นเต้นและความกลัวที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ความพยายามฝึกซ้อมร่างกายตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาจะได้รับการทดสอบและจบลงภายในเช้าวันนี้ โดยเนินเขาที่มีชื่อว่า คาลาปาทาร์ (Kala Patthar)

เมื่อ 7 วันที่แล้ว เราเริ่มเดินเทรคในประเทศเนปาล ตั้งแต่เมืองลุคลา (Lukla) จนมาถึงเมืองโกรักเชป (Gorakshep) เมืองที่พักสำหรับนักเดินเขาที่ต้องการไป Everest Base Camp (EBC) และเมืองนี้ยังเป็นที่ตั้งของเนินเขาสูงใหญ่คาลาปาทาร์ เป้าหมายของเราในวันนี้

นักเดินเขาส่วนใหญ่ที่มาที่นี่ จุดหมายหลักคือการไป EBC ดังนั้น จึงไม่ค่อยมีใครอยากเสียพลังงานไปกับการเดินขึ้นเนินเขาที่อยู่ระหว่างทาง ด้วยความสูงที่มากถึง 5,545 ม. ซึ่งสูงกว่า EBC ที่มีความสูง 5,380 ม. ทำให้การเดินขึ้นคาลาปาทาร์นั้นค่อนข้างยาก ทั้งอากาศที่เบาบาง ความชัน และความหนาว จึงทำให้เนินเขานี้ไม่ใช่ที่ฮิตสักเท่าไหร่สำหรับนักเดินเขามือใหม่ และถูกมองเหมือนเป็นตัวเลือกเสริมสำหรับนักเดินเขาที่มีพลังงานเหลือมากกว่า

จริงอยู่ที่สักครั้งในชีวิตของนักเดินเขาทุกคนคงอยากไป EBC การได้ไปยืนอยู่ที่จุดเริ่มต้นของยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกคือสิ่งที่ฝัน น่าเสียดายที่จุดนั้นเป็นเพียงจุดเดียวที่มองไม่เห็นยอดเขาเอเวอเรสต์ แต่ฝันของนักเดินเขาไม่ได้จบอยู่แค่นั้น เพราะยังมีบริเวณที่มองเห็นยอดเขาเอเวอเรสต์ได้ใกล้ที่สุดเท่าที่นักเดินเขามือสมัครเล่นจะทำได้ คือบนเนินเขาคาลาปาทาร์นั่นเอง บนจุดสูงสุดของเนินเขานั้น นักเดินเขาที่มุ่งมั่นจะได้รับรางวัลตอบแทนเป็นภาพพระอาทิตย์ขึ้นที่ด้านหลังยอดเขาเอเวอเรสต์ ท่ามกลางเทือกเขาหิมาลัยที่แสนจะอลังการ และแน่นอนว่า เราก็ต้องการรางวัลนี้ด้วยเหมือนกัน

ดังนั้น วันที่เราบอก ‘จาหนัก’ ไกด์รุ่นใหญ่ชาวเนปาลจอมกวนว่าจะขึ้นคาลาปาทาร์ จาหนักจึงมีสีหน้าประหลาดใจนิดหน่อย คงคิดว่ามือใหม่อย่างเราไม่น่าจะอยากขึ้นเนินเขานี้ และเพราะความสะบักสะบอมที่เราแสดงให้จาหนักเห็นมาตลอด 7 วัน ว่าเราเป็นนักเดินเขาที่อ่อนแอขนาดไหน จาหนักยิ้มมุมปากพร้อมพูดกับเราอย่างสบายๆ ว่า

“ดี! เทพคาลาปาทาร์จะเป็นคนบอกคุณเองว่าคนที่แข็งแกร่งที่สุดคือใคร”

Kala Patthar, เอเวอเรสต์ Kala Patthar, เอเวอเรสต์

ถึงเวลานัดแล้ว เราเปิดประตูห้องพักที่ทำจากไม้อัดแบบบางเฉียบแล้วเดินลงมาพบกับจาหนักและนักเดินเขาคนอื่นๆ ในทีมที่รอคอยอยู่ที่ห้องอาหาร จาหนักเป็นชาวเนปาลรุ่นใหญ่ อายุ 40 กว่าๆ เกิดและเติบโตในภูเขาสูงของเนปาล แต่หลังจากที่พวกเราได้เดินทางมาด้วยกันพักใหญ่ จึงได้รู้ว่าจริงๆ แล้วจาหนักควรเป็นชาวอำเภอท่าแซะมากกว่า ขนาดคำพูดติดปากยังเป็นคำว่า “โอเค ซันเต๋อ” ซึ่งแปลว่า “โอเค สุดหล่อ” ปกติจาหนักจะพูดจากวนๆ ทีเล่นทีจริงทุกครั้ง แต่เช้านี้ ในช่วงการอธิบายเรื่องการเดินขึ้นเขา น้ำเสียงของจาหนักไม่มีการล้อเล่นอยู่ในนั้นเลยแม้แต่นิดเดียว

“เดินช้าๆ จิบน้ำบ่อยๆ พยายามทำตัวให้อบอุ่นเพราะข้างบนคุณจะหนาวแบบสุดๆ ระหว่างทางคุณอาจเกิดอาการ AMS (โรคแพ้ความสูง) หากปวดหัว และเริ่มอยากอาเจียน คุณต้องเดินลง อย่าพยายามดันทุรังเดินขึ้นเขาต่อ หากวันนี้คุณเดินไม่ถึงยอด ก็ไม่เป็นไร เพราะคุณจะกลับมาขึ้นคาลาปาทาร์เมื่อไหร่ก็ได้ แต่ถ้าคุณตายวันนี้ คุณจะไม่สามารถกลับมาขึ้นยอดเขายอดไหนได้อีกเลย”

เราทุกคนมองหน้ากันท่ามกลางความเงียบ จาหนักไม่ได้ขู่พวกเรา เพียงแต่พูดความจริงที่อยู่ตรงหน้า การเดินขึ้นเขาคือการทรมานร่างกายตัวเองอย่างช้าๆ ทุกๆ ก้าวคือพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่อากาศน้อยลงไปเรื่อยๆ เป็นการท้าทายร่างกายและจิตใจของตัวเองอย่างที่สุด

แม้ว่านี่ไม่ใช่ยอดเขายอดแรกของเรา แต่ครั้งนี้จะเป็นยอดที่สูงที่สุดเท่าที่เคยผ่านมา เราเข้าใจความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และจะไม่ประมาทกับสิ่งนี้เป็นอันขาด เราพยักหน้ารับคำจาหนัก จากนั้นจึงสะพายเป้น้ำขึ้นหลัง ใส่ถุงมือ หยิบไม้ Pole จิตใจเต็มไปด้วยความตื่นเต้นและความมุ่งมั่น โดยไม่ได้รู้ตัวเลยว่าในอีก 2 ชั่วโมงข้างหน้า เราจะได้พบกับความทรมานที่สุดทั้งทางร่างกายและจิตใจของเรา

ตีสี่สิบห้า พวกเราใส่ไฟฉายคาดหัว แล้วเริ่มออกเดินทางท่ามกลางความมืดสู่ยอดเขาคาลาปาทาร์ ตามคำบอกเล่าของจาหนัก พื้นที่บนยอดเขานั้นมีหลายแบบ เริ่มด้วยดินที่มีความแข็ง ตามด้วยกรวดร่วน และด้านบนสุดเป็นก้อนหินยักษ์ทับกันไปมาที่ปกคลุมด้วยหิมะ

ช่วงแรกๆ เส้นทางเดินไม่ยากนัก แต่ด้วยความชันที่ไม่ธรรมดาและระดับความสูง 5 พันกว่าเมตรเหนือน้ำทะเล ออกซิเจนเบาบางมาก หลังจากเดินไปได้ราวๆ ครึ่งชั่วโมงก็พบกับอาการเหนื่อยผิดปกติ หัวใจเต้นรัวๆ เหมือนกับจะระเบิดออกมา อาการหอบถี่ๆ และไอเริ่มมาเป็นพักๆ ยิ่งเหนื่อยมากเท่าไหร่ยิ่งทำให้เริ่มหายใจทางปากมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดีเลย เพราะนั่นจะทำให้คอยิ่งแห้ง ทุกครั้งที่สูดลมหายใจเข้าจะรู้สึกได้ถึงความเย็นที่ผ่านปากและจมูกเข้าไปในร่างกาย เหมือนเวลาที่ดื่มเหล้าเพียว จะรู้สึกร้อนวาบลงไปถึงข้างใน แต่ครั้งนี้กลับกัน กลายเป็นความเย็นเฉียบที่ไหลเข้าสู่ร่างกายแทน

จาหนักไม่ได้พูดเกินจริงเรื่องความหนาวเลย ทุกครั้งที่มีลมพัดมาร่างกายจะหนาวสั่นไปหมด ผ้าบัฟที่ใส่คลุมใบหน้าเหลือไว้แค่บริเวณดวงตาช่วยป้องกันความหนาวเย็นได้ดี แต่กลับทำให้หายใจได้อย่างยากลำบาก เราต้องคอยเปิดผ้าบัฟเพื่อหายใจเป็นพักๆ แต่ทุกครั้งที่เปิดผ้าผิวหน้าก็จะแสบไปหมด เพราะต้องปะทะกับลมหนาว ริมฝีปากเริ่มแห้งแตก เจ็บหลายจุด และค่อยๆ กลายเป็นสีม่วงคล้ำ เราก้มลงมองที่เท้าตัวเอง แต่ไม่รู้สึกถึงนิ้วเท้าเลย มันชาไปหมด ได้แต่สงสัยว่าถ้าถอดรองเท้าออกมานิ้วเท้าจะหลุดออกมาจากเท้าไหม ภาพนิ้วเท้ากุดดำของคนที่โดนหิมะกัดผ่านเข้ามาในหัว เราสะบัดหน้าหนีเพื่อให้ภาพอันสยดสยองหายไป แล้วตั้งใจเดินต่อ

Kala Patthar, เอเวอเรสต์

 

ความชันค่อยๆ เพิ่มขึ้น รู้สึกได้จากน่องขาที่ปวดร้าวมากกว่าเดิม แต่เราก็ยังคงเดินต่อไปท่ามกลางความมืด ทั้งเหนื่อย หนาว และฟุ้งซ่าน ความมืดทำให้มองไม่เห็นอะไรเลย มีเพียงแสงจากไฟฉายคาดหัวคอยส่องทางให้เห็นพื้นที่ตัวเองกำลังเดินอยู่ และเมื่อเงยหน้าขึ้นมาก็จะเห็นเพียงขบวนแสงไฟดวงเล็กๆ จากไฟฉายคาดหัวของเหล่านักเดินเขาที่ทอดยาวสู่เนินเขาด้านบนท่ามกลางความมืดมิด สำหรับบางคนภาพนี้อาจดูสวยงาม จนต้องหยิบกล้องขึ้นมาบันทึกไว้ แต่สำหรับเรานั้น ขบวนแสงไฟเหล่านี้กลับเป็นสิ่งที่สร้างความท้อใจอย่างมาก เพราะมันยิ่งทำให้มองเห็นความชันและระยะทางอีกยาวไกลซึ่งดูเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด

นี่เรามาทำอะไรที่นี่กันแน่?

มาทรมานตัวเองทำไม (วะ) ?

คำถามมากมายเริ่มเกิดขึ้นในหัว ทำให้ใจยิ่งร้อนรน กังวลว่าจะเดินขึ้นไปไม่ทันดูภาพพระอาทิตย์ขึ้นและบางทีก็กังวลว่าจะเดินขึ้นไม่ไหวควรตัดใจเดินลงแทน ความสับสนภายในจิตใจนั้นทำให้ช่วงเวลาสั้นๆ กลายเป็นยาวนานเหมือนชั่วนิรันดร์ เมื่อเรากังวลเรื่องที่ 1 หลังจากฟุ้งซ่านจนจบ มีสติได้สักพัก ก็จะเริ่มกังวลเรื่องที่ 2 และ 3 วนไปแบบนี้เรื่อยๆ ทุกก้าวเดินคือความทรมานทั้งร่างกายและจิตใจอย่างสาหัส

หลังจากฝืนทนเดินไปเรื่อยๆ ในที่สุดเราก็มาถึงครึ่งทางของคาลาปาทาร์ เราเงยหน้ามองหาเพื่อนคนอื่นๆ แต่ทุกๆ คนเดินแยกกันไปหมดแล้ว เราจึงหยุดพักเพื่อทานขนมเพิ่มพลังงาน แล้วเมื่อหันไปดูดน้ำในเป้ ปรากฏว่าดูดไม่ขึ้น เพราะน้ำดื่มกลายเป็นน้ำแข็งไปหมดแล้ว!

ด้วยอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียสทำให้น้ำในเป้เปลี่ยนสภาวะจากของเหลวกลายไปเป็นน้ำแข็งจนหมด

“ทำไมถึงลืมกระติกน้ำเก็บความร้อน!”

เราโวยวายอยู่ในใจ โมโหตัวเองที่ลืมเรื่องนี้ไปสนิท การไม่ได้ดื่มน้ำจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการ AMS ให้สูงขึ้น เรานั่งหมดแรงอยู่ตรงนั้น มันคือที่สุดแล้วจริงๆ ไม่เหลืออะไรอีกแล้วทั้งพลังกายและพลังใจ ได้แต่รู้สึกท้อใจ…หนาว…เหนื่อย…หิวน้ำ และโมโห นี่เราต้องเดินลงจริงๆ แล้วใช่ไหม?

เราเงยหน้ามองไปที่ยอดเขา ก็ยังคงมองไม่เห็นอะไรเลยนอกจากความมืด ภาพในหัว Flashback ไปถึงรีวิวกระทู้ที่เคยอ่านก่อนมาเดินขึ้นเขาที่เนปาล เหล่าผู้คนมากมายที่บรรยายถึงความโหดบนเส้นทางคาลาปาทาร์ และมักจะจบลงที่ตรงครึ่งทาง วันนี้รู้ซึ้งแล้ว เสียงนักเดินทางที่เจอกันในเมืองก่อนหน้านี้ดังก้องอยู่ในหัว

“คาลาปาทาร์ ไปแค่ครึ่งทางก็พอแล้ว ตรงนั้นก็เห็นยอดเขาเอเวอเรสต์แล้ว วิวครึ่งทางก็เหมือนๆ กับที่ยอดนั่นแหละ”

แต่เมื่อยิ่งทบทวนคำพูดนั้น กลับยิ่งรู้สึกว่า “มันเป็นแบบนั้นจริงๆ น่ะหรอ?”

Kala Patthar, เอเวอเรสต์ Kala Patthar, เอเวอเรสต์

ในระหว่างที่กำลังนั่งหมดอาลัยตายอยากอยู่นั้น แสงอาทิตย์เริ่มสาดส่อง ความอบอุ่นเริ่มเข้ามาแทนที่ พระอาทิตย์ขึ้นแล้ว แม้จะยังไม่โผล่ออกมาจากด้านหลังยอดเขาเอเวอเรสต์ แต่ก็สร้างความสว่างให้กับบริเวณโดยรอบ เรามองขึ้นไปที่ยอดเนินอีกครั้ง ในที่สุดตอนนี้ก็ได้เห็นยอดคาลาปาทาร์แล้ว เราสังเกตพื้นบริเวณยอดเขาราว 100 เมตรอันแสนชันนั้น คือก้อนหินก้อนขนาดใหญ่ที่ซ้อนทับกันไปมา และถูกปกคลุมไปด้วยหิมะ

ในเวลาอีกไม่นาน หิมะเหล่านี้จะโดนแสงแดดละลาย มันคงลื่นและเดินยากขึ้นไปอีกแน่นอน กะจากสายตาคิดว่าน่าจะต้องเดินขึ้นไปอีกราวๆ 1 ชั่วโมงจึงจะถึงยอด ไม่รู้ว่าทำไมแต่เมื่อมองเห็นเป้าหมายชัดเจนขึ้นแล้วกลับทำให้เรามีแรงฮึดขึ้นมา ทั้งแรงกายและแรงใจ คิดในใจว่าอีกไม่ไกล เราต้องทำได้แน่ๆๆๆ เราบอกตัวเอง ย้ำๆ อยู่แบบนั้น

เราลุกขึ้นยืนลองเช็กสภาพร่างกายของตัวเองอีกครั้ง ไม่หนาวมากแล้ว ความเหนื่อยยังไหว น้ำยังพอมีขลุกขลิก ยังไม่มีอาการโรคแพ้ความสูง เราค่อยๆ หายใจเข้า สูดอากาศเย็นเข้าเต็มปอด รวบรวมพลังทุกอย่างที่ยังเหลืออยู่ในร่าง แล้วก้าวเดินสู่ยอดเขาคาลาปาทาร์

Kala Patthar, เอเวอเรสต์ Kala Patthar, เอเวอเรสต์

 

ในที่สุดเราก็ได้เห็นภาพพระอาทิตย์ขึ้นที่ด้านหลังยอดเขาเอเวอเรสต์ท่ามกลางเทือกเขาหิมาลัย มันสวยงาม ยิ่งใหญ่ และคุ้มค่ากับความทรมานตลอดหลายชั่วโมงที่ผ่านมา การเตรียมความพร้อมร่างกายที่ก่อนหน้านี้คิดว่าเพียงพอแล้วแต่ก็ยังไม่พอจนเกือบทำให้เราไม่ได้มายืนที่จุดนี้

การเดินเขาคือการพยายามด้วยตัวเอง ไม่มีทางลัด มีแต่ต้องเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ แล้วพาตัวเองผ่านความมุ่งมั่นไปให้ถึงจุดหมาย ภาพวิวครึ่งทางกับวิวบนยอดเหมือนหรือต่างกันนั้น เป็นสิ่งที่เราทุกคนล้วนมีคำตอบในใจที่ไม่เหมือนกัน เพราะการให้คุณค่าของสิ่งเหล่านั้นแตกต่างกัน ไม่มีคำตอบที่ถูกและคำตอบที่ผิด สิ่งที่เราทำได้คือการไปพิสูจน์ด้วยตัวเอง และหาคำตอบให้กับตัวเอง

ในตอนแรกเราคิดว่ารางวัลที่ยิ่งใหญ่จากคาลาปาทาร์คือภาพวิวสุดอลังการตรงหน้า แต่ที่จริงแล้วสิ่งที่เราได้รับคือ ‘การได้เห็นตัวเอง’ ในช่วงเวลาแห่งความสับสนตลอดเส้นทางนั้น ทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น เห็นด้านที่ดีที่สุดและด้านที่แย่ที่สุดของตัวเอง ทุกก้าวของการเดินขึ้นคือการถอดเปลือกสิ่งที่ติดอยู่กับตัวเรา ถอดเงื่อนไข ถอดภาพลักษณ์ ถอดพันธะในตัวเราออกไป เราไม่สามารถพาสิ่งใดติดตัวขึ้นไปบนยอดเขาได้ สุดท้ายสิ่งเดียวที่จะเหลืออยู่บนนั้นคือตัวตนที่แท้จริงของเรา

ที่จุดสูงสุดของคาลาปาทาร์เรายืนมองพระอาทิตย์ขึ้นที่หลังยอดเขาเอเวอเรสต์ด้วยความสงบ แสงแดดไล่ความหนาวและความมืดออกไปจากทุกพื้นที่ รวมทั้งจิตใจเราด้วยเช่นกัน เรายิ้มให้กับตัวเอง มีบางอย่างในตัวเราได้เปลี่ยนไปนิดหนึ่ง

Kala Patthar, เอเวอเรสต์ Kala Patthar, เอเวอเรสต์ Kala Patthar, เอเวอเรสต์

หลังจากที่เราเดินกลับลงมาถึงด้านล่าง จาหนักและลูกหาบคนอื่นๆ ยืนรอพวกเราอยู่ที่หน้าโรงแรม ทุกคนตื่นเต้นที่จะได้เจอกับเรา จึงไม่มีใครเข้าไปนั่งรอในห้องอาหารเลย เราโบกมือสุดแขนเพื่อบอกพวกเขาว่าเราปลอดภัยดี ทุกคนพากันตะโกนโห่ร้องเชียร์และปรบมือต้อนรับ ดีใจไปกับเรา จาหนักยิ้มกว้างให้พวกเรา นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 8 วันที่จาหนักไกด์รุ่นพ่อคนนี้ยิ้มกว้างอย่างจริงใจแบบไม่กวนประสาท
“You did it!!! Very very very good. Welcome back Jan.”

เราพยักหน้าตอบพร้อมน้ำตาคลอเบ้า

“Thank you Janak.”

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

สุธีรา โมรา

ชอบพาร่างกายและจิตใจไปทรมาน เพียงเพื่อเฝ้ามองการวิวัฒนาการของตัวเอง เสพย์ติดชา รักการอ่าน Manga และแพ้ทางอาม่าอากง