ตอนนี้เป็นช่วงบ่ายโมงของวันศุกร์ เวลาที่คนส่วนมากว้าวุ่นกับการทำงาน และเป็นเวลาที่ร้านอาหารส่วนใหญ่ไม่คึกคักเท่าช่วงเย็น แต่เมื่อเดินเข้าไปในร้านอาหารญี่ปุ่นสีขาวเหลืองแห่งนี้ กลับพบลูกค้ามากมายทั้งเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ จับจองที่นั่งเกือบเต็มร้าน และกำลังใจจดใจจ่อกับการหยิบซูชิคำโตเข้าปาก

ภายในร้านตกแต่งด้วยรูปปั้นมาสคอตเด็กชายชาวญี่ปุ่น ต้นซากุระสีชมพูกระจัดกระจายในร้านสร้างบรรยากาศความเป็นญี่ปุ่นให้แก่ผู้มาเยือนไม่น้อย

ที่นี่คือ ‘ไข่หวานบ้านซูชิ’

การเติบโตของ ไข่หวานบ้านซูชิ หลังการ Take Over ธุรกิจแฟรนไชส์ และ Drive-thru ครั้งแรก
การเติบโตของ ไข่หวานบ้านซูชิ หลังการ Take Over ธุรกิจแฟรนไชส์ และ Drive-thru ครั้งแรก

วันนี้เราได้นั่งพูดคุยกับ อัม-อมรา ไทยรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไข่หวานบ้านซูชิ (ประเทศไทย) ถึงเรื่องราวของร้านซูชิแห่งนี้ เริ่มจากบทบาทลูกแฟรนไชส์สาขาหนึ่ง สู่การเข้ามา Take Over กิจการเมื่อ 3 ปีก่อน เพราะมองเห็นศักยภาพของธุรกิจนี้ จึงพัฒนาการบริการ สร้างระบบจัดการหลังบ้าน และกำหนดมาตรฐานของทุกสาขา

จาก 70 สาขาแฟรนไชส์เดิมเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เติบโตจนมีมากกว่า 180 สาขาทั่วประเทศ และกำลังจะเปิดตัวซูชิ Drive-thru ที่แรกในไทย พร้อมวางแผนเจาะตลาดประเทศเพื่อนบ้าน และผลิตสินค้าใหม่ ๆ ตามมาเร็ว ๆ นี้

สูตรลับของซูชิร้านนี้คืออะไร

ทำไมเธอถึงมองเห็นโอกาสการเติบโตของร้านเล็ก ๆ ในวันที่ร้านอาหารญี่ปุ่นแข่งขันกันอย่างดุเดือด

เธอมีเคล็ดลับการบริหารธุรกิจอย่างไรให้เติบโตได้รวดเร็วเช่นนี้

และทำไมซูชิร้านนี้ถึงขายดีแม้ไม่ใช่เวลาคนเลิกงาน

การเติบโตของ ไข่หวานบ้านซูชิ หลังการ Take Over ธุรกิจแฟรนไชส์ และ Drive-thru ครั้งแรก
การเติบโตของ ไข่หวานบ้านซูชิ หลังการ Take Over ธุรกิจแฟรนไชส์ และ Drive-thru ครั้งแรก

จุดเริ่มต้น

เมื่อซูชิคำโตทำสดใหม่จากบาร์มาเสิร์ฟถึงโต๊ะ อัมก็เริ่มเล่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นให้เราฟัง

แต่เดิม ไข่หวานบ้านซูชิก่อตั้งโดย เจี๊ยบ-ปุณิกา ธรรมขันธ์ และ นิกร คลังทอง เจี๊ยบประกอบอาชีพพยาบาล ส่วนนิกรเชี่ยวชาญการทำอาหารญี่ปุ่นและซอสปรุงรสต่าง ๆ จึงตัดสินใจเปิดร้านซูชิ โดยบริหารแบบธุรกิจในครอบครัว

ทางร้านวางกลยุทธ์การขายโดยตั้งราคาตั้งแต่ 10 – 40 บาท แต่ใช้วัตถุดิบคุณภาพสูง รสชาติดี ให้น้ำส้มและโชยุเป็นตัวชูโรง มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ติดปากผู้บริโภค

กิจการภายใต้การบริหารของเจี๊ยบเติบโตอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางการรายล้อมของร้านอาหารญี่ปุ่นในไทย โดยมียอดขายเดือนละเกือบ 2 ล้านบาท ใช้แซลมอนเกือบ 3 ตันต่อเดือน ซึ่งยังไม่ได้รวมเมนูปลาอื่น ๆ เข้าไปด้วย

หากเทียบกับเนื้อหาภาพยนตร์ฮอลลีวูด คงเป็นเหมือนภาพยนต์เรื่อง Forrest Gump ที่ตัวเอกไปซื้อเรือกุ้ง ในวันที่มีเรือกุ้งเจ้าเก่าแล่นอยู่เต็มทะเลสาบ ใครจะไปนึกว่าวันหนึ่งเรือกุ้งลำใหม่นี้จะกลายเป็นบริษัทกุ้งที่เติบโตและมีรายได้อันดับต้น ๆ ของอเมริกา

จากร้านซูชิขนาดเล็กที่ศูนย์อาหารเมืองทองธานี ขยายตัวอย่างรวดเร็วจนมีศูนย์ฝึกอบรมลูกแฟรนไชส์ และสาขาแฟรนไชส์กว่า 20 สาขาภายในระยะเวลาไม่กี่ปี

วันหนึ่งอัมได้ทานซูชิที่ร้านของเจี๊ยบ เกิดเป็นความประทับใจแรกในคุณภาพของอาหารและการทำธุรกิจของร้าน

ซูชิที่นี่ชิ้นใหญ่ ใช้วัตถุดิบสดใหม่ และราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับเจ้าอื่นในตลาด

คุณภาพของอาหาร ยอดขายในแต่ละวัน ความนิยม เสียงตอบรับทางบวกจากผู้บริโภคจำนวนมาก และการมีผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารญี่ปุ่นอย่างนิกรคอยดูแลเรื่องสูตรอาหาร คือแรงดึงดูดให้นักศึกษาจบใหม่ผู้กำลังหาอาชีพที่มั่นคงคนนี้ เลือกลงทุนในธุรกิจที่มองด้วยตาก็รู้ว่าดี

“เราน่าจะเป็นแฟรนไชส์ประมาณลำดับที่ 22 เป็นรุ่นแรก ๆ”

การเติบโตของ ไข่หวานบ้านซูชิ หลังการ Take Over ธุรกิจแฟรนไชส์ และ Drive-thru ครั้งแรก

ยังเจ๋งได้มากกว่านี้

กิจการแฟรนไชส์เป็นไปด้วยดีเรื่อยมา ยอดขายในแต่ละวันอยู่ในระดับน่าพึงพอใจสำหรับผู้ประกอบการอย่างเธอ แต่ในทางธุรกิจไม่มีอะไรดีไปตลอด

2 ปีของการเป็นลูกแฟรนไชส์ อัมพบกับข้อจำกัดที่ทำให้กิจการเติบโตไปมากกว่านี้ไม่ได้

เดิมทีหากมีผู้สนใจเปิดแฟรนไชส์ จะได้รับการอบรมสอนสูตรการทำซูชิ ส่วนเรื่องการบริหารจัดการร้าน เมนูอาหาร โปรโมชัน การบริการ แต่ละสาขาจัดการได้เองโดยอิสระ ไม่ต้องขึ้นอยู่กับแบรนด์แม่ มาตรฐานจึงต่างกันเพราะไม่มีการควบคุมคุณภาพจากส่วนกลาง

แต่เธอยังมองว่าไข่หวานบ้านซูชิมีพื้นฐานแข็งแกร่ง เติบโตได้ในระยะยาว เพราะจุดแข็งด้านรสชาติยังครองใจลูกค้าเหนียวแน่น รวมถึงมีคนสอบถามเรื่องการขอซื้อแฟรนไชส์ตลอดเวลา เธอเชื่อว่าธุรกิจไปไกลกว่านี้ได้ หากมีระบบระเบียบในการบริหารจัดการที่ชัดเจนขึ้น

เธอจึงติดต่อเจ้าของเพื่อขอซื้อกิจการมาบริหารเองทั้งหมด

การเจรจาซื้อกิจการเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะเจ้าของเดิมคิดจะปล่อยธุรกิจให้คนอื่นมาบริหารต่อ เนื่องจากเหตุผลส่วนตัวหลายประการ

“แรกมีบริษัทใหญ่ ๆ มาติดต่อซื้อเหมือนกัน แต่เจ้าของเดิมยังเป็นห่วงสาขาที่เคยดูแลมา ว่ารูปแบบจะเปลี่ยนไปทิศทางไหน”

“น้องอัมน่าจะทำได้ดี” เป็นคำพูดที่เจี๊ยบบอกกับเธอ “เขาคงมองว่าเราจะทำธุรกิจแบบไม่ได้หวังผลประโยชน์อย่างเดียว”

เธอเป็นลูกแฟรนไชส์สาขาแรก ๆ จึงสนิทกันเหมือนพี่น้อง ประกอบกับความมั่นใจว่า ธุรกิจทางบ้านของเธอช่วยสนับสนุนด้าน Marketing และ Branding ให้กิจการนี้พัฒนาต่อไปได้

การเติบโตของ ไข่หวานบ้านซูชิ หลังการ Take Over ธุรกิจแฟรนไชส์ และ Drive-thru ครั้งแรก

ร้านเดิม คุณภาพใหม่

ประสบการณ์สั่งสมจากการเคยเป็นลูกแฟรนไชส์ ทำให้เข้าใจว่าร้านมีข้อจำกัดตรงไหน และสาขาต้องการอะไร ไข่หวานบ้านซูชิโฉมใหม่จึงต้องมีมาตรฐานเดียวกัน แต่การเข้ามาเปลี่ยน Mindset ลูกแฟรนไชส์เดิมที่ทำแบบเดิมจนอยู่ตัวไม่ใช่เรื่องง่าย

“เราพยายามทำให้เขาเห็นว่า วันนี้เราเข้ามาพัฒนาแบรนด์ให้เติบโตไปในทิศทางไหน แล้วมันจะส่งผลกับธุรกิจเขายังไง เราเข้ามาสร้างระบบการจัดการที่ดี เช่น การจัดการวัตถุดิบ การจัดเก็บ การคิดต้นทุน เป็นต้น”

เริ่มจากตั้งศูนย์ฝึกอบรมวิธีการทำอาหารที่ถูกต้อง เรียนทั้งหมด 13 วัน เพราะอาหารเปรียบเสมือนหน้าตาของร้าน จึงต้องมีคุณภาพทั้งแง่ความสดใหม่และกระบวนการทำ

ด้านวัตถุดิบ ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของธุรกิจนี้ ทางสาขาใหญ่สนับสนุนเรื่องการหาวัตถุดิบที่ดีในราคาเหมาะสม ผ่านการแนะนำซัพพลายเออร์ หรือช่วยต่อรองราคาช่วงที่ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น มาตรฐานนี้รับประกันได้ว่า หากผู้อ่านแวะทานไข่หวานบ้านซูชิสาขาใด ปริมาณ ราคา และรสชาติอาหารก็จะใกล้เคียงกัน

การเติบโตของ ไข่หวานบ้านซูชิ หลังการ Take Over ธุรกิจแฟรนไชส์ และ Drive-thru ครั้งแรก
การเติบโตของ ไข่หวานบ้านซูชิ หลังการ Take Over ธุรกิจแฟรนไชส์ และ Drive-thru ครั้งแรก

มาถึงด้านการตลาด เธอฝึกอบรมลูกแฟรนไชส์เรื่องการโฆษณา เทคนิคเรียกยอดขาย และสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง เพื่อให้สร้างยอดขายได้ตลอด แม้ช่วงที่ตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด

การออกโปรโมชันกระตุ้นยอดขายจากส่วนกลางก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การขาย หรือกรณีที่สาขาลูกแฟรนไชส์ออกเมนูใหม่ที่มีเฉพาะสาขานั้น สาขาใหญ่ก็พร้อมสนับสนุนด้านโฆษณาให้เช่นกัน

สุดท้ายคือการจัดการภายใน มีการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการ ฝึกอบรมลูกแฟรนไชส์ในเรื่องที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจ เช่น การบริหารต้นทุน การจัดการเรื่องต่าง ๆ ภายในร้าน พร้อมทั้งตรวจสอบสาขาเป็นระยะเพื่อความโปร่งใส หากเกิดปัญหาก็แก้ไขได้ทันทีและมีประสิทธิภาพ

“เรื่องวัตถุดิบ เราเน้นความสดใหม่ คุณภาพที่ดีคือต้องวันต่อวัน ถ้าวันนี้ใช้ปลาของเมื่อวาน ลูกค้าก็ไม่แฮปปี้แล้ว ต้องมีทักษะการจัดการ ควรจัดการกับแซลมอนยังไง ถ้าปลาเหลือควรทำยังไง จะนำกลับมาใช้ใหม่ยังไง คิดเมนูใหม่ ๆ ยังไง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากวัตถุดิบนั้น ๆ”

การเติบโตของ ไข่หวานบ้านซูชิ หลังการ Take Over ธุรกิจแฟรนไชส์ และ Drive-thru ครั้งแรก

เธอยกตัวอย่างเพิ่มว่า วิธีการหั่นก็มีส่วนอย่างมาก จะหั่นอย่างไร ใช้ส่วนไหน หั่นแบบนี้ ปลา 1 ตัวอาจขายได้แค่เมนูเดียว แต่ถ้าหั่นอีกแบบ จะเอาไปทำเมนูอื่น ๆ เพิ่มได้อีก และเป็นเหตุผลที่ทำให้ไข่หวานบ้านซูชิตรึงราคาไว้ที่คำละไม่เกิน 40 บาท

“รายละเอียดในการทำอาหารสำคัญมาก เพราะทำให้เกิดความเสียหายได้ วัตถุดิบบางอย่างเราอาจมองข้าม เช่น ก้างปลาที่นำมาใช้ประกอบเมนูอื่นได้ กำไรขาดทุนแต่ละชิ้นจะเฉลี่ยออกไป อย่างเมนูแซลมอน เราได้กำไรน้อยมาก ก็ไปถัวเฉลี่ยกับเมนูอื่น

“ลูกแฟรนไชส์หลายคนที่มาเพื่อต้องการอาชีพ ก็ต้องการระบบการจัดการด้วย ไม่ใช่แค่วันนี้จะปั้นซูชิยังไง”

อัมเปลี่ยนโมเดลธุรกิจจาก ‘แตะมือเแล้วปล่อย’ มาเป็น ‘เดินจับมือไปด้วยกัน’ จนทำให้ไข่หวานบ้านซูชิกลายเป็นแฟรนไชส์ที่มีมาตรฐานและเติบโตอย่างรวดเร็วในเวลาไม่นาน

อะไรอยู่ในซูชิ

หลังจากพาไปทัวร์ระบบการทำงานหลังบ้านของร้าน คราวนี้ถึงเวลาทำความรู้จักพระเอกของร้านอย่าง ‘ซูชิ’ ว่ามีอะไรที่ครองใจลูกค้าตลอดระยะเวลาหลายปีมานี้

วัตถุดิบสดใหม่ รสชาติดี ราคาคุ้มค่า ความหลากหลาย คือจุดเด่นของร้าน

“ซูชิคือหน้าตาของร้าน รสชาติที่ดีคือการสร้างความประทับใจ ให้ลูกค้ากลับมาทานที่ร้านเราอยู่เสมอ” เธอกล่าว

ทางร้านปฏิเสธการใช้เนื้อปลาแช่แข็งและเนื้อปลาเก่า เลือกใช้แต่เนื้อปลาที่สดใหม่วันต่อวัน และต้องราคาไม่เกิน 40 บาทต่อชิ้น ซึ่งเป็นราคาที่ผู้บริโภคทุกกลุ่มจับต้องได้ และอีกหนึ่งอาวุธลับของร้านคือ ซูชิสั่งหน้าได้เอง ลูกค้าเลือกวัตถุดิบหลายอย่างมาผสมรวมกันได้ โดยจะมีพนักงานประจำซูชิบาร์คอยบริการอย่างใกล้ชิด

และที่ขาดไม่ได้เลยคือน้ำส้ม น้ำซอส “น้ำส้มเป็นสูตรเฉพาะ เราหมักเอง ผลิตเอง ปรุงเอง สิ่งหนึ่งที่ทำให้ไข่หวานฯ เติบโตได้คือสิ่งนี้แหละ เป็นปัจจัยที่ลูกค้าทานแล้วถูกปากถูกใจ โชยุเราก็หมักเอง ปรุงเองทั้งหมด หรือเมนูอื่น ๆ นอกเหนือจากซูชิ อย่างน้ำดองแซลมอน ก็ทำจากโชยุของเราเอง ถึงขนาดมีลูกค้ามาถามว่ามีขายแยกหรือไม่”

ไข่หวานบ้านซูชิ หลังการ Take Over ธุรกิจของ อมรา ไทยรัตน์ พร้อม Drive-thru ครั้งแรกและระบบคุณภาพที่เหมือนกันทุกสาขา
ไข่หวานบ้านซูชิ หลังการ Take Over ธุรกิจของ อมรา ไทยรัตน์ พร้อม Drive-thru ครั้งแรกและระบบคุณภาพที่เหมือนกันทุกสาขา

ไปด้วยกัน ไปได้ไกล

เหมือนอย่างที่เธอบอก การบริหารสาขาเกือบ 200 แห่ง ให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกันไม่ใช่เรื่องง่าย

“ท้าทายมาก” เธอพูดลากเสียงเพื่อเน้นย้ำ “ปัญหาคือเรื่องต้นทุน บางคนไม่ยอมใช้น้ำส้ม น้ำซอสเรา เพราะอยากลดต้นทุน ซึ่งเราตรวจสอบอยู่แล้วว่าแต่ละสาขามียอดขายเท่าไหร่ ใช้น้ำส้ม น้ำซอสเท่าไหร่ แล้วตอนนี้มีจัดมีตติ้งให้ลูกแฟรนไชส์มาเจอกัน เพื่อทำความรู้จัก ให้ฟีดแบ็ก พอเขาเปิดใจ เราก็เริ่ม Audit เพื่อคุมคุณภาพให้เหมือนกันทุกสาขา แต่การ Audit ไม่ใช่การจับผิด มันคือการพัฒนาพร้อมเติบโตไปด้วยกัน ซึ่งสุดท้ายเขายินดีมาก ๆ เพราะนี่คืออาชีพของเขา เราเองก็เคยเป็นลูกแฟรนไชส์มาก่อน เราเห็นจุดอ่อน เห็นความต้องการ เรานำสิ่งนั้นมาพูดคุยกับเขา ให้รู้ว่าเราไม่ได้มาเพื่อหวังผลกำไร แต่มาเพื่อเติบโตไปพร้อมกัน”

โมเดลธุรกิจของที่นี่คือการซื้อแฟรนไชส์ครั้งแรก ไม่มีการเก็บ GP หรือส่วนแบ่งกำไรหลังจากนั้น การสนับสนุนทางการตลาดต่าง ๆ ก็ไม่คิดค่าใช้จ่าย เพราะรายได้หลักของธุรกิจนี้คือการขายน้ำส้ม น้ำซอสให้กับสาขาต่าง ๆ เมื่อแฟรนไชส์เติบโตและมีรายได้มั่นคงก็เป็นผลดีต่อบริษัทแม่ มันคือการพึ่งพากันและกัน

“เรามาเพื่อให้เติบโตไปด้วยกัน เขาขายได้ดี น้ำส้ม น้ำซอสเราก็ขายได้”

อัมเลือกทำธุรกิจอย่างช้า ๆ และยั่งยืน แม้จะเห็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดจนมีสาขาเพิ่มมานับร้อย แต่การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจการนี้ก็มีเงื่อนไขมากมาย และไม่ใช่ทุกคนที่จะผ่านการคัดเลือก

เริ่มแรกคือทำเล ทีมงานต้องพิจารณาจากที่ตั้งว่าอยู่ใกล้สถานที่สำคัญ เช่น หมู่บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล มากน้อยแค่ไหน มีกำลังซื้อของคนในพื้นที่เท่าไหร่ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายหลัก อย่างวัยทำงานและครอบครัวอายุประมาณ 26 – 30 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงระยะทางระหว่างสาขานี้และสาขาอื่น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันในพื้นที่ และเพิ่มความมั่นใจว่าสาขานี้จะสร้างกำไร รวมถึงดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน

อย่างที่สองคือเงินทุน ด้วยความที่เป็นธุรกิจร้านอาหาร จึงจำเป็นต้องมีกระแสเงินสดจำนวนมากไว้ใช้จัดการในแต่ละวัน แฟรนไชส์จึงต้องมีความพร้อมต่อราคาวัตถุดิบที่เปลี่ยนแปลงตลอด ส่งผลโดยตรงกับ Operating Cost ประจำวัน

อย่างที่สามคือความตั้งใจ อัมย้ำเสมอว่า “การซื้อแฟรนไชส์เหมือนการซื้อครอบครัว คือความเป็นครอบครัวที่ต้องทำทุกอย่างเพื่อดูแลกัน เราดูแลเขา เขาก็ต้องให้ความสำคัญกับแบรนด์ ทั้งสองอย่างต้องไปพร้อมกัน

“เคยมีนักลงทุนท่านหนึ่งมาถามว่า ขอแค่ลงทุนอย่างเดียว แต่ไม่ลงมาดูแลกิจการได้ไหม เราตอบได้ทันทีเลยว่า ไม่ได้เด็ดขาด ร้านจะเติบโตได้ ส่วนหนึ่งต้องมาจากความใส่ใจของผู้บริหาร หากเขาไม่ตั้งใจทำร้านจริง ๆ ทางเราก็ไม่ขายแฟรนไชส์”

Have a Drive-thru

ไข่หวานบ้านซูชิ สาขาเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา เปิดใช้งานครั้งแรกในฐานะสาขาใหญ่ ประกอบไปด้วยร้านอาหาร โรงงานผลิตซอส ศูนย์กระจายสินค้า และศูนย์ฝึกอบรมครบวงจร เปรียบเสมือนหัวใจหลักในการบริหารจัดการสาขาแฟรนไชส์ที่มีมากกว่า 180 สาขาทั่วประเทศ พร้อมระบบใหม่อย่าง Drive-thru ที่นับเป็นครั้งแรกของร้านซูชิ

เหตุผลที่เลือกใช้สาขานี้เป็นที่ทดลองระบบ เนื่องจากเป็นสาขาใหญ่เพียงสาขาเดียว และมีกลุ่มลูกค้าขับขี่รถยนต์จำนวนมาก

“สาขาเลียบด่วนเปรียบเสมือน Sandbox หากไม่ทดลองก่อนอาจเป็นความเสี่ยง ในอนาคตถ้าผลตอบรับเป็นไปในทางบวก อาจมีการขยายรูปแบบ Drive-thru ไปสู่ลูกแฟรนไชส์มากขึ้น”

ไข่หวานบ้านซูชิ หลังการ Take Over ธุรกิจของ อมรา ไทยรัตน์ พร้อม Drive-thru ครั้งแรกและระบบคุณภาพที่เหมือนกันทุกสาขา

ร้านซูชิคู่คนไทย

“ความตั้งใจของเราคือ อยากให้ไข่หวานบ้านซูชิอยู่คู่คนไทย มีหลายร้านอาหารมากมายที่มีชื่อเสียงขึ้นและหายลับไปกับกาลเวลา แต่ร้านของเราไม่ใช่แบบนั้น” อัมพูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

ร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งนี้ยังไม่หยุดพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้อย่างแข็งแกร่ง ทั้งด้านแบรนด์ดิ้งที่ทำให้ทุกสาขาเป็นภาพจำเดียวกัน การขยายไปในห้างสรรพสินค้าเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ การพัฒนาสูตรอาหารเพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไป และการนำน้ำซอสสูตรพิเศษไปวางขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าชั้นนำ พร้อมแผนธุรกิจระยะใกล้ที่มีเป้าหมายเปิดสาขาในประเทศใกล้เคียง 

ธุรกิจที่ดีจึงต้องยืนหยัดในพันธกิจแรก ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะปรับตัวตามบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงในทุก ๆ วัน และการมีโครงสร้างภายในที่แข็งแรงก็ทำให้มีชัยไปกว่าครึ่ง

เริ่มต้นจากลูกแฟรนไชส์สาขาหนึ่ง สู่การเข้ามาสานต่อธุรกิจ จนทุกวันนี้ร้านซูชิที่เธอรักมีมากกว่า 180 สาขาทั่วประเทศ

“ถ้าเราบอกว่าไม่สนใจร้านตั้งแต่แรก มันจะส่งผลระยะยาว การดูแลเอาใจใส่ลูกค้าเป็นหัวใจหลักที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน”

ก่อนจะทิ้งท้ายว่า

“200 สาขามาแน่ในปีนี้”

ไข่หวานบ้านซูชิ หลังการ Take Over ธุรกิจของ อมรา ไทยรัตน์ พร้อม Drive-thru ครั้งแรกและระบบคุณภาพที่เหมือนกันทุกสาขา

Lessons Learned

  • ซื่อสัตย์ จริงใจ เอาใจใส่ต่อผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ลูกค้า แฟรนไชส์ หรือแม้กระทั่งตัวเอง เพื่อเติบโตไปข้างหน้าแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
  • สร้างมาตรฐานที่แข็งแรงภายใน ระบบที่โปร่งใส เพื่อคุณภาพที่ดีของสินค้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญให้ธุรกิจเติบโตไปอย่างแข็งแรง
  • เปิดใจมองหาโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ แม้ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของลูกค้าและสร้างโอกาสให้ธุรกิจได้เติบโต
  • ไม่ทำธุรกิจเพราะหวังเพียงผลกำไร หาเป้าหมายของตัวเองให้เจอ
  • ทำธุรกิจแบบน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า เอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ว่าจะกับคู่ค้า ลูกค้า หรือพนักงาน เพื่อให้ความสำเร็จไม่ใช่แค่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของทุกคน

Writers

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Avatar

สตางค์ พูลสวัสดิ์

วัยรุ่นผู้ชื่นชอบอาหารเวียดนาม ภาษาเวียดนาม ชอบสะสมรองเท้าและหนังสือพิมพ์เก่า ฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์และมาดริด

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน