พูดถึงเนื้อวัวชั้นดีของญี่ปุ่น เรามักจะนึกถึงน้องวัวชื่อดังจากหลายท้องถิ่น เช่น เนื้อวัวโกเบ เนื้อวัวมัตซึซะกะ เนื้อวัวโยะเนะซะวะ แต่เมื่อเป็นเนื้อหมูล่ะก็ มีเพียงชื่อเดียวที่ผุดขึ้นมาในใจ นั่นคือ น้องหมูคุโระบุตะจากจังหวัดคะโกะชิมะ

คุโระ แปลว่า ดำ 

บุตะ แปลว่า หมู 

คุโระบุตะ แปลตรงตัวตามนั้นว่า หมูดำ 

แม้หมูดำจะไม่ใช่หมูสัญชาติญี่ปุ่นแท้ ๆ แต่ก็อยู่เคียงข้างกระเพาะอาหารชาวยุ่นมากว่า 400 ปี มีหลายทฤษฎีวิเคราะห์ว่าอาจจะข้ามทะเลมาจากจีน แล้วเข้าสู่ญี่ปุ่นผ่านทางโอกินาว่า ถึงจับพลัดจับผลูมาอยู่คิวชู สมัยก่อนที่จังหวัดคาโกะชิมะ แต่ละครัวเรือนจะเลี้ยงน้องหมูดำติดบ้านไว้บ้านละตัวสองตัว จนถึงกับมีอาชีพใหม่ขึ้นมา คือการพาหมูดำไปเดินเล่นเลยทีเดียว ในที่สุดความอร่อยก็ผลักดันให้ชาวเมืองขยับขยายมาทำฟาร์มหมูจริงจัง จนคุโระบุโตะจากคะโกะชิมะมีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ

แม้มีเนื้อวัวเลิศรสให้เลือกกินมากมาย แต่คุโระบุตะก็ป๊อปมากไม่น้อยหน้า ในยุค 1960 เคยเกิดกระแสคุโระบุตะฟีเวอร์ในโตเกียวจนหมูขาดตลาด เลี้ยงไม่ทัน ไม่มีขายไปช่วงหนึ่งเลยทีเดียว 

ความอร่อยอันโดดเด่นของน้องหมูดำนั้น คิดว่าหลายคนคงเข้าใจกันดีอยู่แล้ว ความนุ่มละมุนเหนือระดับที่กัดแล้วขาดอย่างง่ายดายแม้เป็นส่วนสันนอก อีกทั้งยังมีความหวานและรสอุมะมิในเนื้อมากกว่าเนื้อหมูขาวทั่วไป สมาคมผู้ผลิตหมูคุโระบุตะประจำจังหวัดคะโกะชิมะเคยทำวิจัย พบว่าคุโระบุตะของคะโกะชิมะนั้นมีอุมะมิมากกว่าหมูขาวเมดอินเจแปนถึง 3.7 เท่า และมากกว่าหมูนำเข้าถึง 4.5 เท่า มีความหวาน (​​Threonine ซึ่งเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่ง) มากกว่าหมูขาวเมดอินเจแปนถึง 6.7 เท่า รวมไปถึงเคี้ยวกัดขาดง่าย และเคี้ยวง่ายกว่าหมูขาวเกือบเท่าตัว

คะโกะชิมะเลี้ยงคุโระบุตะยังไง ให้กลายเป็นหมูทอดทงคัตสึที่อร่อย
คะโกะชิมะเลี้ยงคุโระบุตะยังไง ให้กลายเป็นหมูทอดทงคัตสึที่อร่อย

ที่มาของความอร่อยนั้นอยู่ที่จังหวัดคะโกะชิมะ ต้นกำเนิดของความป๊อป อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าหมูดำเป็นสายพันธุ์ที่มีอยู่แล้วทั่วไป แต่ Kagoshima Kurobuta นั้นเป็นชื่อทางการค้าที่จดทะเบียนไว้เรียบร้อย เพราะแตกต่างจากหมูดำอื่น ๆ อย่างพันธุ์ Berkshire หลายอย่างยากจะเลียนแบบ 

อันดับแรก Kagoshima Kurobuta ได้กินแต่ของดี ๆ อร่อย ๆ ในท้องถิ่น 

จังหวัดคะโกะชิมะมีภูเขาไฟที่ยังไม่สงบ ดินในท้องถิ่นจึงเป็นดินภูเขาไฟที่เต็มไปด้วยแร่ธาตุ พืชพรรณที่ปลูกในย่านนี้จึงมีคุณภาพดี เต็มไปด้วยโภชนาการ และหนึ่งในอาหารหลักของเจ้าหมู ก็คือของดังประจำจังหวัดอย่างมันหวาน

การได้ชื่อว่าเป็นคะโกะชิมะคุโระบุตะนั้น นอกจากต้องเกิดและเติบโตในจังหวัดแล้ว ยังต้องได้รับอาหารที่มีมันหวานเป็นส่วนผสมมากกว่า 10 – 20 เปอร์เซ็น ต่อเนื่องเกิน 60 วัน ก่อนนำหมูพร้อมส่ง นอกจากนี้หมูดำยังกินของอร่อยอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ข้าวโพดหรือปลาจากทะเลในท้องถิ่น แม้จะไม่ได้กินเบียร์แบบวะกิว แต่หมูดำคะโกะชิมะก็ได้กินของอร่อยจนน่าอิจฉาไม่แพ้กัน

อันดับสอง น้องหมูชีวิตดี มีความเป็นอยู่สะดวกสบาย ท่ามกลางอากาศอบอุ่นของคะโกะชิมะ

ภาพคอกหมูอาจจะดูแน่น ๆ แออัด แต่หมูดำคะโกะชิมะได้อยู่กันอย่างสบาย ๆ มีระยะห่างทางสังคมมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เพราะเคล็ดลับสำคัญของความอร่อยอีกอย่าง คือการที่น้องหมูไม่เครียด ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ยิ่งจังหวัดคะโกะชิมะมีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ อากาศอบอุ่นตลอดปี น้อง ๆ ยิ่งแฮปปี้ ถ้าอากาศร้อนหรือหนาวไป คนเลี้ยงก็สแตนด์บายรอปรับอุณหภูมิให้เสมอ

อันดับสาม เจ้าของฟาร์มหมูดำในจังหวัดคะโกะชิมะมีความเชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงดูและการพัฒนาสายพันธุ์มายาวนาน

กินของดี มีความสุข น้องหมูก็อร่อยแล้ว แต่เจ้าของฟาร์มยังไม่หยุดพัฒนาต่อ นอกจากพวกเขาจะถ่ายทอดเทคนิคและความรู้ เกี่ยวกับการเลี้ยงดูหมูดำสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นจนถึงปัจจุบัน คะโกะชิมะคุโระบุตะยังได้รับการพัฒนาสายพันธุ์มาเรื่อย ๆ แต่ละครั้งใช้เวลาวิจัยยาวนานถึง 10 ปี เพื่อให้ได้เนื้อสันนอกที่ใหญ่มากขึ้น ลดปริมาณไขมัน และเพิ่มคุณภาพของเนื้อหมู ปัจจุบันก็ยังมีการวิจัยต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงให้อร่อยขึ้นไปอีก 

คะโกะชิมะเลี้ยงคุโระบุตะยังไง ให้กลายเป็นหมูทอดทงคัตสึที่อร่อย
เจาะลึกความอร่อยกว่า 400 ปี ของ Kagoshima Kurobuta เนื้อหมูตัวท็อปจากญี่ปุ่น

เนื้อหมูคุณภาพดี อร่อยมาตั้งแต่แรกแบบนี้ แค่ทำให้สุกก็อร่อยแล้ว ไม่ว่าจะต้ม นึ่ง ทอด หรือแม้แต่นำไปแปรรูปเป็นไส้กรอกหรือแฮม แต่ชาวคะโกะชิมะแอบแนะนำเรามาว่า การนำไปทอด เช่น หมูทงคัตซึ ยิ่งทำให้เราสัมผัสความอร่อยของหมูดำได้ดีขึ้นไปอีก เพราะว่าไขมันในหมูดำจะละลายที่อุณหภูมิสูงกว่าหมูทั่วไป เมื่อนำมาทอดเลยไม่แฉะ ไม่เลี่ยน ในทางกลับกัน เราจะสัมผัสถึงรสหวานของมันหมูดำอันเป็นเอกลักษณ์ได้ชัดเจนขึ้นไปอีก 

เจาะลึกความอร่อยกว่า 400 ปี ของ Kagoshima Kurobuta เนื้อหมูตัวท็อปจากญี่ปุ่น

นุ่มอร่อยกินง่ายแบบนี้ ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมปริมาณการส่งออกหมูดำคะโกะชิมะต่อปีถึงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างปี 2020 ส่งหมูดำออกเกือบ 70 ตันเลยทีเดียว 

ที่ผ่านมาในไทยมีคุโระบุตะขายก็จริง แต่เป็นการนำสายพันธุ์หมูดำมาเลี้ยงในไทย ไม่ใช่ 1 ใน 70 ตันที่บินตรงมาจากญี่ปุ่น แต่ตอนนี้ใครอยากลองชิมหมูคุโระบุตะแท้ ๆ จากคะโกะชิมะ กำเงินไว้ได้เลย เพราะไมเซนนำหมูคะโกะชิมะคุโระบุตะเข้ามาให้ได้ลองกินกันถึง 3 เมนู ได้แก่ Kagoshima Kurobuta Loin Katsu Set, Kagoshima Kurobuta Loin Curry Rice Set และ Kagoshima Kurobuta Loin Katsu With Egg Bowl Set 

เจาะลึกความอร่อยกว่า 400 ปี ของ Kagoshima Kurobuta เนื้อหมูตัวท็อปจากญี่ปุ่น

นอกจากนี้ยังนำเข้าชิ้นส่วนสุดแรร์อย่าง Toku Rosu ซึ่งเป็นพาร์ตที่มีเพียงน้อยนิดในหนึ่งตัว ชิ้นส่วนนี้นุ่มเป็นพิเศษ เพราะมีมันลายหินอ่อนพาดอยู่ตรงกลาง นำมาซึ่งความฉ่ำหวานและนุ่มละมุนแต่ไม่เลี่ยน ใครอยากลองต้องไวหน่อย เพราะมีจำนวนจำกัด 5 ชามต่อวัน ต่อสาขาเท่านั้น

ตอนนี้บินไปเที่ยวไม่ได้ แต่กินหมูคะโกะชิมะคุโระบุตะได้นะ

Writer

Avatar

ณิชมน หิรัญพฤกษ์

นักศึกษาเอกภาษาญี่ปุ่นที่คิดเลขไม่ได้ อ่านแผนที่ไม่ออก แต่รักการเดินทาง / ผู้ประสานงานใน a day และ HUMAN RIDE ฉบับญี่ปุ่น / เจ้าของคอลัมน์ made in japan และหนังสือ 'ซะกะ กัมบัตเตะ!' ปัจจุบันใช้เวลาว่างจากการหาร้านคาเฟ่กรุบกริบไปนั่งเรียนปริญญาโทที่โตเกียว และโดนยัดเยียดความเป็นไกด์เถื่อนให้อยู่เป็นระยะ

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ