The Cloud x การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
คุณจำคำขวัญจังหวัดตัวเองได้ไหม
หากไม่ได้กำลังจะมีสอบวิชาสังคมศึกษาในวันรุ่งขึ้น หรือไม่ได้เป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งตอบปัญหาความรู้รอบตัว อาจไม่ได้จำข้อความจนขึ้นใจ
เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ชายชาวแพร่คนหนึ่งสังเกตว่าคำขวัญจังหวัดของตนเขียนว่า ‘ม่อฮ่อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผี คนแพร่นี้ใจงาม’
แต่ตอนนั้นแพร่แทบไม่หลงเหลือการย้อมฮ่อมแบบธรรมชาติอยู่เลย

ไกร-วุฒิไกร ผาทอง จึงคิดอยากรื้อฟื้นภูมิปัญญาแสนล้ำค่านี้ขึ้นมา เพื่อให้ผู้คนจดจำฮ่อมที่แท้จริงได้อีกครั้ง และคนเมืองแพร่จะได้ภูมิใจในมรดกสีน้ำเงินของจังหวัด
ก่อนกระแสจะมา
เรานัดคุยกับไกร กูรูเจ้าของแบรนด์ม่อฮ่อมชาวแพร่ และ พยอม คำวาง ผู้จัดการและมือย้อมอันดับหนึ่งของร้านแก้ววรรณา สิ่งแรกที่พวกเขาอยากพาไปดูคือโรงย้อมฮ่อมหลังร้าน โรงเรือนท่ามกลางธรรมชาติเต็มไปด้วยฝ้ายที่ผ่านการย้อมด้วยฮ่อมและมะเกลือเต็มราว และหม้อฮ่อมที่ผ่านสมรภูมิมานักต่อนักกว่า 10 หม้อ

แม้ไม่ได้เป็นสตูดิโอหรูหราแสนทันสมัย แต่ความเรียบง่ายและภาพตรงหน้าทำให้เราเข้าใจว่า หากจะคุยเรื่องม่อฮ่อม ทำไมทั้งสองจึงพาเรามาที่นี่ก่อน

ไกรเล่าว่า หลายปีก่อนเขาและพยอมได้เข้าร่วมเป็นอนุกรรมการจังหวัดแพร่ ทั้งคู่วิเคราะห์ว่านอกจากไม้สักแล้ว ของที่ระลึกประจำจังหวัดที่เป็นตัวแทนแท้ๆ ของแพร่คือ ‘ม่อฮ่อม’
“เราบอกว่าเราจะฟื้นเมืองแพร่ แต่ตอนนั้นคนแพร่ไม่รู้สึกภูมิใจในตัวเอง ถ้าถามว่ามาแพร่ต้องเที่ยวที่ไหน ก็ไม่รู้สิ ไม่มีที่เที่ยว เราเลยคิดสิ่งแรกสุดที่ควรทำคือเรื่องรากเหง้า คุณต้องเอาให้ชัดก่อนว่าคุณมีที่มายังไง”
ในตอนแรกไกรไม่คิดว่าแก้ววรรณาจะย้อมฮ่อมเอง คิดเพียงว่าจะนำเส้นด้ายไปย้อมตามชุมชนต่างๆ แล้วส่งให้ช่างทอในขั้นตอนถัดไป แต่กลับค้นพบความจริงที่ทำเอาคนแพร่อย่างเขาสะอึก ว่าแทบไม่มีชุมชนไหนที่ใช้วิธีการย้อมธรรมชาติเหลืออยู่เลย
คำถามถัดไปคือ ทั้งสองจะกลับไปทำตามวิธีเดิมหรือเริ่มต้นทุกอย่างใหม่ด้วยตนเอง ไกรและพยอมเลือกข้อสอง เลือกที่จะถางทางย้อมฮ่อมธรรมชาติด้วยตนเอง


กว่า 20 ปีที่แล้ว ในยุคที่กระแสรักษ์โลกและรักงานคราฟต์ยังไม่แพร่สะพัด มีหนุ่มสาวชาวแพร่กลุ่มเล็กๆ ที่หวังจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนกลับมาสนใจวิถีธรรมชาติ ทั้งสองคนตระเวนถามสูตรจากผู้เฒ่าผู้แก่ ทดลอง ผิดพลาด วันแล้ววันเล่ากว่าจะสำเร็จได้ผืนผ้าสีครามกลิ่นหอมจากฮ่อมมาครอบครอง
กว่า 20 ปีที่แล้ว ณ เวลาที่ทุกคนขายเสื้อตัวละร้อยกว่าบาท แล้วอะไรทำให้ทั้งสองคิดว่าการย้อมฮ่อมธรรมชาติจะทำให้อยู่รอด
“ก็ไม่มั่นใจหรอก แต่อยากทำ อยากพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าฮ่อมธรรมชาติ จากรูปแบบกุยเฮงเฉยๆ มันสามารถทำเป็นอย่างอื่นได้อีกไหม คุยกับพยอมว่า ถ้าเกิดปีนี้ไม่รอด อย่างน้อยที่สุดเราก็มีเสื้อผ้าใช้ตลอดชีพละ” ไกรตอบพร้อมหันไปมองเสื้อสีฟ้าครามที่ตนใส่
บางทีอาจเริ่มจากความกล้า และคงต้องมี ‘ความบ้า’ ประกอบ

กล้าไม่พอ ต้องบ้าด้วย
ในขั้นแรก ไกรไปตามหาฮ่อมจากหมู่บ้านบนดอย เนื่องจากฮ่อมต้องอาศัยร่มเงาของต้นไม้ชนิดอื่น และเจริญเติบโตได้ดีตามแนวป่า
“ฮ่อมต้องอาศัยที่ชุ่มชื้น ไม่งั้นจะไม่ขึ้น ถ้าเกิดจะให้ชุ่มชื้นต้องมีป่า ทีนี้ถ้าเราอยากได้รายได้จากป่า เราทำยังไงได้บ้างนอกจากตัดไม้ ก็ต้องปลูกกาแฟ ผักกูด พริก ฮ่อม ให้มันปนกันอยู่ แนวคิดป่าชุมชน ป่าได้ ชุมชนได้”

หลังจากพากเพียรหาแหล่งเนื้อฮ่อมมานาน ฮ่อมที่ได้จากหมู่บ้านนาตอง จังหวัดแพร่ ก็ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ไกรจึงต้องนำเข้าฮ่อมเปียกจากประเทศลาวด้วย
“เราไม่ได้หลอกใครว่าเราใช้แค่ฮ่อมจากแพร่เท่านั้น เรามองว่าการฟื้นเรื่องม่อฮ่อมคือการฟื้นกลับมาหาธรรมชาติ ภูมิภาคเดียวกัน เราไม่ได้ถือว่าเป็นประเทศฉันประเทศเธอ ถามคนปลูก ลูกชายแม่บุญตา ว่าดีไหมที่เรามาเอาฮ่อมไปใช้ เขาบอกว่าดีสิ ทำไมไม่ดี เพราะลูกเขา 4 – 5 คนเรียนจบ เพราะได้เงินจากที่เราไปซื้อฮ่อมนั่นแหละ เลยกลายเป็นญาติกันเลยทางนู้น” ไกรกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

แก้ววรรณาเลือกที่จะย้อมม่อฮ่อมด้วยกรรมวิธีธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์จริงๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการล้างเส้นฝ้าย ที่พยอมไม่ยอมใช้สารเคมีหรือผงซักล้างแม้แต่น้อย เธอเลือกใช้น้ำหมักจากผลไม้รอบตัวแทน
“ทำยังไงให้ทุกอย่างจบที่เรา พี่ไม่ใช้สารส้ม ก็เอาผลไม้มาทำเอนไซม์ ผลไม้ได้ทุกอย่างเลย ตั้งแต่มะเฟือง มะกรูด อะไรที่แถวบ้านมี ฤดูกาลมันออกมา เราก็หมักไป ปีสองปีค่อยเอาน้ำใสๆเขามาทำ ไม่ต้องรีบใช้ พี่มีโจทย์อยู่อย่างหนึ่งว่าเราทำวันนี้ พรุ่งนี้เราได้ ถ้าเราไม่ตายซะก่อนยังไงก็ได้ใช้อยู่แล้ว”
พยอมเล่าถึงกรรมวิธีหมักพลางหัวเราะ น้ำหมักที่แก้ววรรณาใช้จึงผ่านการหมักมานานตั้งแต่ 1 – 10 ปีเลยทีเดียว
กรรมวิธีแสนคราฟต์ในการย้อมฮ่อมยังไม่จบเพียงเท่านี้ การก่อหม้อฮ่อมต้องบำรุงด้วยกล้วย หมักไปเรื่อยๆ จนได้ที่เสมือนทำไวน์ ในขั้นตอนนี้ระยะเวลาจะเป็นตัวช่วย

“แต่ละวันคนย้อมต้องดูแลเขาด้วย ไม่ให้ขาดอากาศ ไม่ให้ขาดน้ำตาล ไม่ให้ขาดความเป็นด่าง ให้พอดีพอควรของเขา ถ้าด่างสูงเกิน สีก็จะขุ่นๆ ย้อมไม่สวย ถ้าด่างลดต่ำเป็นบูด ไม่มีสีให้ย้อม ด่างที่เข้มข้นของพี่มีขีดจำกัด พี่ใช้ขี้เถ้าที่หาได้จากชาวบ้าน จากฟืนที่ตัวเองต้มฝ้ายก่อนเพื่อทำความสะอาด เพราะพี่ไม่ใช้สารสังเคราะห์ ถึงงานของเราไม่ใช่ Zero Waste แต่ใกล้เคียง น้ำย้อมที่เราใช้ เราไม่ได้เททิ้ง เราใช้ซ้ำ ที่เทก็จะเป็นสารอินทรีย์ทั้งหมด”
“นั่นแหละค่ะ สิ่งที่ไม่ค่อยมีใครทำ แต่พี่บ้าทำ”
ส่งต่อถึงคนทอผ้า
เมื่อผ่านไป 3 – 4 เดือน จึงจะได้เส้นด้ายในปริมาณที่ต้องการแล้วจึงนำไปปรึกษาคนทอ (ซึ่งคือผู้เฒ่าผู้แก่ที่น่าจะมีอายุรวมกันเฉียด 500 ปีได้) ตกลงกันว่าจะทอเป็นอะไรได้บ้าง แล้วจึงให้ปราชญ์ด้านการทอเหล่านี้รับไม้ต่อต่อไป

“ผู้เฒ่าวัย 70 กว่าปีก็ทอผ้าคลุมไหล่ผืนเล็กๆ ให้แกสามารถเหวี่ยงได้ ก็ต้องยอมตามสภาพ อย่างน้อยก็มีพวกเขาทำงานให้เรา ถ้าเราไม่มีพวกเขาก็ใครจะทอให้ ถ้าเกิดพี่หยุดย้อม เขาก็บอกอย่าหยุดเลย ต่ออีกนิดหนึ่ง ก็เหมือนได้อยู่ร่วมกัน เสริมชีวิตให้กัน
“พี่คิดว่ามีความหมายในการดำรงอยู่ หายใจเพื่ออะไร อยู่เพื่อรู้ว่าชีวิตไม่ได้มีอะไรมาก ก็เป็นผลลัพท์จากการตัดสินใจว่าวันนี้มีชีวิตเพื่อย้อมผ้านี่แหละ”
ท่ามกลางฝ้ายย้อมสีน้ำเงิน นักย้อมผ้ามือฉมังกล่าวถึงโลกทั้งใบของเธอ

ของขวัญจากเมืองแพร่
จากการประคบประหงมฮ่อมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ผลลัพธ์คือ เสื้อ ซิ่น ผ้าคลุมไหล่ ผ้าขาวม้า หมอนอิง ผืนผ้า ทั้งหลายนอนสงบในร้าน หรือที่เราเรียกเอาเองว่าเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตขนาดย่อมนามว่า แก้ววรรณา ทั้งสองเลือกที่จะเน้นให้ผลิตภัณฑ์ของที่นี่มีดีไซน์ที่โล่ง โปร่ง สบาย เพราะเชื่อในการสัมผัสกับธรรมชาติให้มากที่สุด


“ล่าสุดมีชาวญี่ปุ่นเอาชุดชั้นในมาให้ย้อม เพราะเขาคิดว่าของที่ใกล้ชิดกับร่างกายที่สุดควรเป็นของจากธรรมชาติ แต่ลูกค้าประจำคือลูกค้าคนไทย ซื้อเพื่อสวมใส่ในทุกวัน ไม่ได้ซื้อแค่เอาไปโชว์ เพราะว่าสวมใส่สบาย” พยอมอธิบายข้อดีของผ้าฝ้ายย้อมฮ่อม
“เราดึงสิ่งที่อยู่ในอดีตกลับมาใช้ในชีวิตประจำวัน มันเป็นการอนุรักษ์อีกอย่างหนึ่ง มันไม่ใช่การอนุรักษ์แบบโชว์อยู่ในพิพิธภัณฑ์ ไม่มีการใช้” ไกรเสริม
มีชาวแพร่ซื้องานคราฟต์มรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดนี้มากไหม เราสงสัย
“ส่วนมากคนแพร่จะซื้อเป็นของฝาก เขารู้ว่าเราทำของดี ซึ่งเราประสบความสำเร็จที่ทำให้เขาเห็นว่าฮ่อมเป็นของที่ระลึกที่มีคุณค่า ปัจจุบันม่อฮ่อมดึงดูดคนแพร่รุ่นใหม่ให้กลับบ้านเกิดมาทำงานเรื่องนี้มากขึ้น



“เราก็ไม่ได้รู้มากหรอก แต่ก็เป็นหลักให้เขา ถ้าทำงานอย่างนี้ ก็มีแก้ววรรณาที่ทำได้ไง เรารอดมาแล้ว 20 ปีนะ” ไกรกล่าวพร้อมยิ้มกว้าง

ความพอใจสูงสุดเป็นเศรษฐศาสตร์
เมื่อได้ฟังกรรมวิธีล้านแปดเทียบกับจำนวนผลิตภัณฑ์ที่ได้มา เราชักสงสัยว่าเศรษฐศาสตร์สอนให้กำไรสูงสุด แต่ทำไมทิศทางของแบรนด์แก้ววรรณาดูจะตรงข้ามกับหลักคิดของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าโดยสิ้นเชิง
“มันไม่ใช่กำไรสูงสุด แต่มันเป็น ‘ความพอใจสูงสุด’ เศรษฐศาสตร์คือการเฉลี่ยทรัพยากร ลดความเหลื่อมล้ำ และเราก็ทำงานเพื่อความพอใจสูงสุดของเรา ก็ถือว่าได้กำไรแล้วนะ” ไกร-บัณฑิตเศรษฐศาสตร์ตัวจริงเสียงจริง ตอบเรา


รอบโรงย้อมและตัวร้านมีแผ่นป้ายมากมายที่บ่งบอกว่าทั้งสองได้รับเชิญให้ไปเวิร์กช็อปที่โตเกียว โอซาก้า สะหวันนะเขต ฟิลิปปินส์ ลาว หรือแม้กระทั่งสอนทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยตัวต่อตัวมาแล้ว
“พี่ยินดีสอนค่ะ พี่ก็ไม่ได้คิดว่าจะเอาไปด้วยหรอกความรู้พวกนี้ เพราะกว่าพี่จะได้มาพี่ก็ต้องตระเวนถามผู้เฒ่ามากมายกว่าจะสะสมความรู้ได้” พยอมกล่าวเมื่อเราถามถึงการเรียนวิชาฮ่อมที่นี่

การแบ่งปันความรู้ของแก้ววรรณาไม่จบแค่หน้าโรงย้อม แบรนด์สีธรรมชาติแห่งแพร่นี้พยายามผลักดัน GI ม่อฮ่อม (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ Geographical Indications) ว่าฮ่อมเป็นพืชท้องถิ่นประจำจังหวัดกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อส่งต่อมรดกภูมิปัญญานี้ให้ชาวแพร่รุ่นหลังต่อไป
เราเคยสงสัยว่าครามและฮ่อมคล้ายกันมาก ให้สีอินดิโก้เหมือนกัน มีเหตุผลอะไรที่ต้องสนับสนุน ‘ม่อฮ่อม’ ต่อไป

คำตอบอาจอยู่ที่การรักษามรดกทางวัฒนธรรมของแพร่
คำตอบอาจอยู่ที่การเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ
คำตอบอาจอยู่ที่เงินก้อนนี้จะกระจายให้ชุมชนชาวแพร่บนภูเขา และส่งไปไกลถึงคนปลูกต้นฮ่อมประเทศลาว ให้ลูกหลานพวกเขาได้โอกาสศึกษาจนจบมหาวิทยาลัย
คำตอบอาจจะอยู่ที่การสนับสนุนผู้เฒ่าผู้แก่อายุกว่า 70 ปีให้มีงานทำ แม้คนทอผ้าบางคนจะมีอายุมากจนสามารถทอได้แค่เพียงผ้าผืนเล็กๆ
บางทีคำตอบอาจอยู่ที่คุณเอง
*หมายเหตุ The Cloud สะกดคำว่า ม่อฮ่อม ตามสำนักงานราชบัณฑิตยสภาที่ระบุว่าเขียนได้ทั้ง ม่อห้อม หรือม่อฮ่อม

The Cloud Journey 06 : เผยแพร่
ใครสนใจเรียนรู้การย้อมเสื้อคลุมม่อฮ่อม The Cloud และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกำลังจัดทริป The Cloud Journey 06 : เผยแพร่ ที่ชวนคนไปทำความรู้จักฮ่อมตั้งแต่ที่ไร่ การก่อหม้อฮ่อม จนถึงการมัดย้อม แถมยังไปเยี่ยมเยียนสตูดิโอดีไซเนอร์ท้องถิ่นแพร่อีกมากมาย
