22 ธันวาคม 2020
4 K

The Cloud X BANPU

ชีวิตคนเมืองห่างไกลผืนป่าฉันใด กลับยิ่งโหยหาธรรมชาติฉันนั้น หากแต่สถานการณ์ COVID-19 ผลักผู้คนออกจากพื้นที่สีเขียวชั่วระยะเวลาหนึ่ง วันคืนร่วงโรยเปลี่ยนผัน เหตุการณ์เริ่มคลี่คลายลง พืชพรรณ และสัตว์นานาชนิดฟื้นตัวอีกครั้ง มิหนำซ้ำกลับมีชีวิตชีวามากกว่าเก่า 

ถึงคราลมหนาวพัดโชยมา เสียงผืนป่าเพรียกเรียกหาอีกครั้ง เหล่านักสำรวจไม่รอช้า เก็บกระเป๋าเตรียมย่างกรายเข้าป่าใหญ่หลังพักฟื้น มุ่งสู่อุทยานแห่งชาติขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ นามว่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

สำรวจ 7 ธรรมชาติฟื้นตัวหลัง COVID-19 กับ Jungle Rumble ที่ชี้ว่าแก่งกระจานยังสมบูรณ์

คราวนี้ออกเดินทางพร้อมกับเยาวชนผู้ผ่านคัดเลือกในกิจกรรมเดินป่า ‘Jungle Rumble – เสียงก้องจากป่าลึก’ กิจกรรมพิเศษจากค่ายเพาเวอร์กรีน (Power Green Camp) ที่พาเหล่านักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรุ่นใหม่เรียนรู้วิชาธรรมชาติในห้องป่าแก่งกระจาน นำทีมโดย นิว-ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต นักแสดงผู้มีใจรักธรรมชาติ ตลอดเส้นทางมีผู้คอยให้ความรู้ ทั้งคณาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักบันทึกธรรมชาติ และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 

สำรวจ 7 ธรรมชาติฟื้นตัวหลัง COVID-19 กับ Jungle Rumble ที่ชี้ว่าแก่งกระจานยังสมบูรณ์
สำรวจ 7 ธรรมชาติฟื้นตัวหลัง COVID-19 กับ Jungle Rumble ที่ชี้ว่าแก่งกระจานยังสมบูรณ์

กิจกรรมในครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานหลากหลายระดับนานาชาติ และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ตั้งใจปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนแก่เยาวชนมาแล้วกว่า 15 ปี

คาบเรียนวิชาธรรมชาติกำลังเริ่มต้นขึ้น กิจกรรมตลอดการเรียนรู้ล้วนลงมือปฏิบัติในห้องเรียนป่าใหญ่กว่า 2914.70 ตารางกิโลเมตร กว้างขวางจนไม่จำกัดขอบเขตการเรียนรู้ วันนี้ครูผู้สอนพาลูกศิษย์หัวใจอนุรักษ์ร่วมทำกิจกรรมส่องนก กิจกรรมนักสืบสายน้ำ กิจกรรมทำโป่งเทียม ปิดท้ายด้วยกิจกรรมศึกษาเส้นทางธรรมชาติ 

เมื่อสองเท้าก้าวเดินเข้าป่าใหญ่ สายตาก็พลันสำรวจธรรมชาติรอบกาย ความอุดมสมบูรณ์หลังการพักฟื้นรอการค้นพบ อย่าเพิ่งรีบเชื่อว่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพที่ยังอุดมสมบูรณ์หากยังไม่ได้อ่านบันทึก 7 ธรรมชาติรอบตัวที่พบเจอที่นี่ 

วันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า ฉันเจอ…

สำรวจ 7 ธรรมชาติฟื้นตัวหลัง COVID-19 กับ Jungle Rumble ที่ชี้ว่าแก่งกระจานยังสมบูรณ์

1

แรกพบนกยางกรอกพันธ์ุจีน

เมื่อแสงแรกของวันปรากฏ หมู่นกโผบินออกจากรัง ส่งเสียงร้องเจื้อยแจ้ว เป็นสัญญาณว่าพร้อมออกปฏิบัติหน้าที่หาอาหาร พวกเราเหล่านักสำรวจตื่นแต่เช้าตรู่ เดินมาบริเวณเขื่อนของอุทยาน เพื่อเสาะหานกบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ หากมองด้วยตาเปล่าอาจมองไม่ถนัดนัก จึงต้องใช้กล้องส่องนกเป็นตัวช่วย ความยากไม่ใช่การหานกให้เจอ หากแต่เป็นการจำแนกนกแต่ละชนิด เพราะแค่มีลักษณะต่างกันเล็กน้อยก็ต่างสายพันธ์ุแล้ว 

สำรวจ 7 ธรรมชาติฟื้นตัวหลัง COVID-19 กับ Jungle Rumble ที่ชี้ว่าแก่งกระจานยังสมบูรณ์

ระหว่างกิจกรรมพบนกหลายตัว แต่นกตัวแรกที่พบและจำแนกได้ คือนกยางกรอกพันธุ์จีน นกอพยพบินไกลมาจากจีนคราวฤดูหนาว กำลังเดินหาสัตว์น้ำขนาดเล็กตามพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นอาหาร ดังนั้นจะพบตามแหล่งชุ่มน้ำที่อุดมไปด้วยอาหาร หากมองขณะนิ่งอยู่จะมีลำตัวสีน้ำตาล หากโผบินจะมีใต้ปีกสีขาว ดูเผินๆ คล้ายนกคนละประเภท

สำหรับมือใหม่อย่างพวกเราต้องอาศัยสายตาการมองของเจ้าหน้าที่อุทยานเป็นผู้ช่วยระบุตำแหน่งกิ่งไม้ที่เจ้านกน้อยเกาะพักอยู่ เจ้าหน้าที่อธิบายพร้อมกับเปิดคู่มือนกเมืองไทยเพื่อความเข้าใจมากยิ่งขึ้น 

สำรวจ 7 ธรรมชาติฟื้นตัวหลัง COVID-19 กับ Jungle Rumble ที่ชี้ว่าแก่งกระจานยังสมบูรณ์

2

สืบหาแมลงตัวจิ๋วชี้คุณภาพน้ำ

สำรวจ 7 ธรรมชาติฟื้นตัวหลัง COVID-19 กับ Jungle Rumble ที่ชี้ว่าแก่งกระจานยังสมบูรณ์

กิจกรรมต่อมาเปลี่ยนมารับบทนักสืบสายน้ำ คอยสืบเสาะว่าน้ำที่นี่คุณภาพดีรึเปล่า สิ่งมีชีวิตตัวเล็กอย่างแมลงบ่งบอกคุณภาพน้ำได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ ถ้าหากอยากรู้ว่าบริเวณนี้มีระดับคุณภาพน้ำดีหรือไม่ สามารถบอกได้จากชนิดแมลงที่อาศัยบริเวณนั้น

สำรวจ 7 ธรรมชาติฟื้นตัวหลัง COVID-19 กับ Jungle Rumble ที่ชี้ว่าแก่งกระจานยังสมบูรณ์

รู้อย่างนี้แล้ว เหล่านักสืบไม่รีรอ ต่างย้ำเท้าลงในธารน้ำใส ก่อนสังเกตแมลงตัวเล็กๆ ที่เคยมองข้าม เพื่อหาเบาะแสบ่งชี้คุณภาพน้ำ เมื่อเจอแล้วต่างหยิบตาข่ายค่อยๆ ช้อนแมลงเหล่านั้นใส่ลงภาชนะพลาสติกใส พร้อมหยิบแว่นขยายส่องดูใกล้ๆ อย่างระมัดระวัง สังเกตแขนขาลักษณะจำเพาะเพื่อแบ่งแยกประเภท ครั้งนี้จับได้แมลงหนอนปลอกน้ำซองใบไม้ ซึ่งระยะตัวอ่อนบ่งชี้ว่าคุณภาพน้ำดีมาก เพราะแมลงประเภทนี้อยู่ได้ในน้ำสะอาดมากเท่านั้น ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติดังเดิม

สำรวจ 7 ธรรมชาติฟื้นตัวหลัง COVID-19 กับ Jungle Rumble ที่ชี้ว่าแก่งกระจานยังสมบูรณ์

3

สมอพิเภกกินได้

ลัดเลาะเดินตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ โอบล้อมด้วยพืชพรรณน้อยใหญ่ อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้นำเดินป่าครั้งนี้หยิบเมล็ดกลมสีน้ำตาลขึ้นมา ก่อนแกะเปลือกแข็งที่ห่อหุ้มภายนอก กัดบริเวณเนื้อใน พร้อมบอกนักอนุรักษ์รุ่นใหม่ที่เดินตามมาว่า “อันนี้กินได้” 

ทุกคนมองดูด้วยความฉงนปนสงสัย อาจารย์เชื้อเชิญด้วยการบอกว่าเมล็ดสมอพิเภกที่กินไปเมื่อครู่มีรสฝาดแต่หวานปลาย นักเรียนผู้สงสัยหยิบเมล็ดกลมขึ้นมาลิ้มลองบ้าง 

สำรวจ 7 ธรรมชาติฟื้นตัวหลัง COVID-19 กับ Jungle Rumble ที่ชี้ว่าแก่งกระจานยังสมบูรณ์

เมื่อกัดคำแรกก็รับรสขมฝาดมากกว่าหวานที่ปลายลิ้น ว่ากันว่าหวานเป็นลมขมเป็นยา สมอพิเภกคงเป็นยาอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะมีสรรพคุณแก้เสมหะจุกคอ ทำให้ชุ่มคอ แต่ก่อนจะหวานชุ่มคอต้องเจอรสขมฝาดเสียก่อน

4

ตะเคียนทองขึ้นข้างน้ำ

สำรวจ 7 ธรรมชาติฟื้นตัวหลัง COVID-19 กับ Jungle Rumble ที่ชี้ว่าแก่งกระจานยังสมบูรณ์

เคยได้ยินเรื่องเจ้าแม่ตะเคียนทองลอยน้ำรึเปล่า ความเชื่อเกี่ยวกับไม้มงคลชนิดนี้มีที่มาที่ไป เพราะต้นตะเคียนทองสูงใหญ่ที่พบเห็นจะขึ้นใกล้แหล่งน้ำเท่านั้น ต้นไม้ชนิดนี้จึงจัดเป็นไม้ดัชนีที่บ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของป่าดิบแล้ง และเติบโตสูงใหญ่ได้มากกว่า 30 เมตร ลำต้นใหญ่พอจะต้องใช้ 2 -3 คนโอบ

สำรวจ 7 ธรรมชาติฟื้นตัวหลัง COVID-19 กับ Jungle Rumble ที่ชี้ว่าแก่งกระจานยังสมบูรณ์

เสียงลำธารไหลขนาบเส้นทางการเดินป่า ไม่ห่างจากลำธารมากนัก มีต้นตะเคียนทองขนาดกลางสูงตรงให้ร่มเงาอยู่ ลำต้นเปลาตรง เนื้อไม้ทนทาน ไม้ไม่ผลัดใบ ก่อนที่อาจารย์จะหยิบใบตะเคียนทองขึ้นมาอธิบายลักษณะเด่น ใบรูปดาบ ปลายใบเรียว หลังใบจะมีตุ่มเล็กๆ ตามง่ามแขนงใบ เผื่อครั้งหน้าสังเกตจากใบก็รู้ทันทีว่าเป็นต้นตะเคียนทอง

5

รากมหึมาค้ำจุนพระเจ้าห้าพระองค์

“โอ้พระเจ้า” ตื่นตะลึงกับต้นไม้สูงขนาดมหึมา ลำต้นเปลาตรงระฟ้า หากส่วนที่คิดว่าเป็นลำต้นกลับกลายเป็นรากพูพอนไซส์ยักษ์ แผ่อาณาบริเวณเป็นวงกว้างจากโคนของลำต้น คอยค้ำจุนเพิ่มความแข็งแรงสมขนาด เมื่อลองเอามือจับบริเวณรากของต้น ก็สัมผัสได้ถึงความแข็งแกร่งที่มีชีวิต 

ต้นไม้ชนิดนี้มีชื่อเรียกว่า พระเจ้าห้าพระองค์ ไม่ได้แค่ตั้งตามความใหญ่โตมโหฬารจนอยากจะอุทานว่า โอ้พระเจ้าเท่านั้น แท้จริงแล้วตั้งจากลักษณะผลของต้น เมื่อกลายเป็นผลกลมแห้ง บริเวณผิวจะมีร่องรอยคล้ายพระพุทธรูปแกะสลัก 5 พระองค์ จึงกลายเป็นชื่อเรียกจนถึงทุกวันนี้

สำรวจ 7 ธรรมชาติฟื้นตัวหลัง COVID-19 กับ Jungle Rumble ที่ชี้ว่าแก่งกระจานยังสมบูรณ์

6

เต่าบกเดินดิน

“เต่าบกไม่ใช่เต่าน้ำ ถ้าเอาไปปล่อยน้ำอาจจะตายได้” 

อาจารย์เล่าถึงเต่าที่พบเจอระหว่างเดินผ่านดงป่าไผ่ ก่อนชี้ชวนให้เห็นลักษณะชัดเจน เต่าชนิดนี้เป็นเต่าบกซึ่งแตกต่างจากเต่าน้ำ สังเกตได้จากเท้ากลม ไม่มีพังผืด เล็บหนา และขามีเกล็ดแข็ง เล็บที่หนามีไว้สำหรับตะกุยตะกายรากไม้เป็นอาหาร อีกทั้งเนื่องจากมีกระดองที่หนักมาก เมื่อลงน้ำอาจจมในทันที 

สำรวจ 7 ธรรมชาติฟื้นตัวหลัง COVID-19 กับ Jungle Rumble ที่ชี้ว่าแก่งกระจานยังสมบูรณ์

นักอนุรักษ์ต่างตื่นเต้นเพราะไม่ค่อยได้ใกล้ชิดเจ้าเต่าบกมากขนาดนี้

คาดไม่ถึงว่าหากเพียงไม่มีความรู้ในการจำแนกประเภทของเต่า อาจทำให้เต่าตัวนี้ถึงแก่ชีวิตได้

7

นกกกบนยอดไม้ 

ระยะทางกว่า 2 กิโลเมตรบนเส้นทางศึกษาธรรมชาติแก่งกระจานจบลงด้วยการพบนกเงือกขนาดใหญ่พันธุ์หายาก หรือที่เรียกว่า นกกก ที่กล่าวว่าหายากเพราะอยู่ในต้องป่าใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ ต้องมีต้นไม้ใหญ่สำหรับทำรังอยู่อาศัยได้เท่านั้น นกกกคู่สวยอยู่บนเรือนยอดไม้กำลังหาอาหารสำหรับเย็นวันนี้ เป็นการพบเจอส่งท้ายอย่างงดงาม

บทเรียนการเดินป่าครั้งนี้ทำให้เรียนรู้ว่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นสถานที่ที่ยังอดุมสมบูรณ์ไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ที่พึ่งพาอาศัยกันในระบบนิเวศ เมื่อทีมเยาวชนได้เริ่มสังเกตเห็นสิ่งมีชีวิตรอบตัว เปิดโอกาสทำความรู้จักธรรมชาติรอบกาย ท่ามกลางห้องป่าใหญ่กลับพบความรู้มากกว่าห้องเรียนสี่เหลี่ยม ประสบการณ์ค่อยๆ ซึมซับให้เรียนรู้อย่างไม่ทันตั้งตัว แต่กลับติดตัวไปอย่างเนิ่นนาน 

“ระยะห่างระหว่างคนกับธรรมชาติจะลดลง”

“เขาจะเห็นว่ากว่าต้นไม้ต้นเล็กๆ ที่เดินเหยียบจะโตขึ้นมาสูงห้าสิบเมตรมันใช้เวลากี่ปี เขาจะเกิดความตระหนักตรงนั้นว่าต่อไปนี้ต้องระวัง ต้นไม้เล็กๆ อาจจะกลายเป็นที่อยู่ของนกเงือกได้ในอนาคต” ดร.พูนเพิ่ม วรรธนะพินทุ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและวิทยบริการ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมถึงข้อดีของโรงเรียนวิชาธรรมชาติภาคปฏิบัติ 

เพราะเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเป็นเรื่องสำคัญ พร้อมทั้งเยาวชนคือกำลังสำคัญในส่งต่อพลังอนุรักษ์ เวลากว่า 15 ปีจึงไม่เคยเสียเปล่า เมื่อได้จัดค่ายพาวเวอร์กรีนเพื่อปลูกจิตสำนึกรักธรรมชาติให้กับนักอนุรักษ์รุ่นใหม่ 

“จำนวนเยาวชนอาจจะไม่ได้เป็นร้อยเป็นพันแต่เราภาคภูมิใจในตัวเขา ไม่ว่าจะจบสาขาไหน เรียนเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือไม่ จะประกอบอาชีพอะไร พี่เชื่อว่าเรากำลังสร้างคนที่มีจิตสำนึกในสิ่งแวดล้อม” นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด(มหาชน) กล่าวทิ้งท้าย และยังคงมุ่งมั่นดำเนินตามความตั้งใจรักษ์สิ่งแวดล้อมสืบไป

สำรวจ 7 ธรรมชาติฟื้นตัวหลัง COVID-19 กับ Jungle Rumble ที่ชี้ว่าแก่งกระจานยังสมบูรณ์

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

Avatar

จิตาภา ทวีหันต์

ตอนนี้เป็นนักฝึกหัดเขียน ตอนหน้ายังสงสัย ชาติก่อน (คาดว่า) เป็นคนเชียงใหม่ แต่ชาตินี้อยากเป็นคนธรรมดาที่มีบ้านเล็กๆ อยู่ต่างจังหวัด

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ