นอกจากป่าและพื้นที่สีเขียว ตอนนี้ที่แก่งกระจานมีห้องสมุดแล้วนะ 

เวลาพูดถึงแก่งกระจาน คนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงผืนป่าสีเขียวของตัวอุทยานแห่งชาติ และพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติต่างๆ ตอนนี้ผืนป่าแก่งกระจานได้มีพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งแห่ง เป็นห้องสมุดสำหรับชุมชน สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่อ่านหนังสือ ทำการบ้านสำหรับเด็กๆ และสำหรับนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนผ่านไปได้ใช้เป็นเหมือนศาลาพักผ่อนในวันหยุด

จูน เซคิโน จากบริษัท Junsekino Architect and Design เจ้าของโปรเจกต์ห้องสมุดกลางป่าสุดเรียบง่าย แต่ผ่านการดีไซน์มาแล้วทุกขั้นตอน จะมาเล่าให้เราฟังถึงความเป็นมาและแนวคิดของห้องสมุดแห่งนี้

เพราะอยากแบ่งปันหนังสือ

Kaeng Krachan Library ห้องสมุดกลางหุบเขาในแก่งกระจานที่เชื่อมความรู้ ผู้คน และธรรมชาติ เข้าหากัน

ห้องสมุดแก่งกระจานเริ่มต้นจากเจ้าของโครงการเป็นคนรักการอ่านจนมีหนังสือเก็บไว้นับร้อยเล่ม และในขณะเดียวกันก็ต้องการสร้างพื้นที่สาธารณะคืนกลับสู่ชุมชน จึงเกิดเป็นไอเดียการทำห้องสมุดสาธารณะขึ้นมา เพื่อให้เด็กๆ ได้ใช้ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์และกลายเป็นศูนย์กลางชุมชนแห่งใหม่

คุณจูน เซคิโน สถาปนิก จึงออกแบบอาคารห้องสมุดขนาดชั้นเดียว ด้วยคอนเซปต์คืออยากให้ที่นี่กลายเป็นสถานที่ที่ทุกคนในพื้นที่เข้าถึงได้ง่าย ดีไซน์ของอาคารจึงให้ความรู้สึกสบายๆ คล้ายกับนั่งบนศาลาพักผ่อน รับลมเย็นๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน นอกจากนี้ กิจกรรมในชุมชนก็มาใช้พื้นที่ห้องสมุดจัดงานได้อีกด้วย

Kaeng Krachan Library ห้องสมุดกลางหุบเขาในแก่งกระจานที่เชื่อมความรู้ ผู้คน และธรรมชาติ เข้าหากัน
Kaeng Krachan Library ห้องสมุดกลางหุบเขาในแก่งกระจานที่เชื่อมความรู้ ผู้คน และธรรมชาติ เข้าหากัน

“โปรเจกต์เริ่มจาก Bookshelf Zone นั่นแหละ เวลาไปห้องสมุด เราต้องมองหน้ากันและอ่านหนังสือ ไม่เอา มันทางการไป อยากให้ห้องสมุดมันดูแบบกระท่อมอันหนึ่ง เด็กใส่เสื้อยืดคีบแตะรองเท้าหนีบต้องขึ้นไปอ่านได้”

ศาลาหลังใหม่ใจกลางป่า 

Kaeng Krachan Library ห้องสมุดกลางหุบเขาในแก่งกระจานที่เชื่อมความรู้ ผู้คน และธรรมชาติ เข้าหากัน

“ตัวพื้นที่มันวางอะไรก็สวย ทำไมเราไม่ใช่พื้นที่รอบนอกให้เกิดประโยชน์ แล้วแต่ละฤดูมันไม่เหมือนกัน ความน่าสนใจแต่ละฤดูก็ไม่เหมือนกัน เลยเกิดพื้นที่ที่ไม่เปียกฝนแต่ได้แสงธรรมชาติขึ้นมา” 

ตัวห้องสมุดตั้งอยู่ใจกลางพื้นที่ชนบทได้อย่างกลมกลืน มองเผินๆ แล้วเป็นเหมือนหนึ่งในบ้านเรือนที่รายล้อมอยู่ของชุมชนแถวนั้น เพราะตัวอาคารชั้นเดียวทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสและจัดวางอย่างง่ายๆ ลงบนพื้นที่ขนาดกำลังพอดี ไม่ใหญ่โตหรือเล็กจนคับแคบ ทำให้พื้นที่นี้ดูลงตัวในทุกๆ มุมมอง 

Kaeng Krachan Library ห้องสมุดกลางหุบเขาในแก่งกระจานที่เชื่อมความรู้ ผู้คน และธรรมชาติ เข้าหากัน

คุณจูนบอกว่า ต้องการให้ห้องสมุดกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ ไม่เป็นเหมือนสัตว์ประหลาดที่อยู่ๆ ก็ไปโผล่ขึ้นใจกลางป่าและทำลายความสวยงามของพื้นที่รอบด้านไปซะงั้น จึงตั้งใจออกแบบห้องสมุดขึ้นด้วยไอเดียที่เรียบง่าย สอดคล้องไปกับบริบทโดยรอบ เน้นความสวยงามของธรรมชาติให้คงอยู่มากที่สุด ลดทอนความจริงจังขึงขังของห้องสมุดออกไปให้ได้มากที่สุด

ออกแบบเพื่อใช้งานได้จริงในทุกวัน

โปรเจกต์นี้ไม่มีทางเข้าหรือทางออก ในพื้นที่สี่เหลี่ยมนี้คือเข้าทางเข้าไหนก็ได้ จะเข้าอาคารตรงมุมไหนก็ได้ ไม่มีอันไหนหน้าอันไหนหลังเพราะรูปด้านเท่ากันหมด กลายเป็นพาวิลเลียนที่มีชั้นหนังสือสี่ก้อนวางอยู่ และเห็นหนังสือจางๆ เป็นห้องสมุดที่ไม่สบายมาก บ้านๆ ศาลาธรรมดาๆ อยากให้ไม่แฟชั่นมาก คืออยากให้มันดูนิ่งๆ แล้วก็อยู่อย่างนั้นเป็นสิบปี ” 

Kaeng Krachan Library ห้องสมุดกลางหุบเขาในแก่งกระจานที่เชื่อมความรู้ ผู้คน และธรรมชาติ เข้าหากัน

นี่คือความตั้งใจที่สถาปนิกต้องการถ่ายทอดผ่านดีไซน์ออกมาถึงผู้ใช้งานจริง 

ตัวอาคารห้องสมุดชั้นเดียวแบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 ส่วนด้วยกัน โดยให้พื้นที่ใจกลางเชื่อมต่ออีก 4 ส่วนที่เหลือ เพื่อให้บรรณารักษ์เพียงคนเดียวของห้องสมุดดูแลทุกส่วนอย่างเท่าถึง ส่วนมุมอีก 4 ช่องกลายเป็นพื้นที่เก็บหนังสือร้อยกว่าเล่ม และให้พื้นที่ที่เหลือรอบด้านกลายเป็นสถานที่พักผ่อนและนั่งเล่น ทั้งหมดอยู่รวมกันภายใต้หลังคาใสที่ยื่นออกมานอกตัวอาคารเล็กน้อยเพื่อให้ใช้งานได้ในวันฝนตก และวันที่อากาศแจ่มใสก็จะได้แสงธรรมชาติเข้าไปตลอดวัน 

Kaeng Krachan Library ห้องสมุดกลางหุบเขาในแก่งกระจานที่เชื่อมความรู้ ผู้คน และธรรมชาติ เข้าหากัน

เนื่องจากตัวอาคารตั้งอยู่ใจกลางป่าที่ไม่ว่าจะมองออกไปมุมไหนก็สวยไปหมด เป็นเรื่องน่าเสียดายถ้าคนที่มาใช้งานเลือกนั่งอยู่เพียงมุมเดียวมุมเดิมของอาคาร สถาปนิกจึงเล่นกับแสงที่ตกกระทบต่างกันในแต่ละช่วงเวลาของวัน เพื่อให้คนเปลี่ยนที่นั่งไปเรื่อยๆ และได้ชื่นชมวิวสวยๆ ที่โอบล้อมอาคารอยู่ทุกด้านแทน 

เป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ

เพื่อให้ตัวห้องสมุดขนาด 200 ตารางเมตรได้แอบอยู่ในพื้นที่เนียนไปกับธรรมชาติและชุมชนโดยรอบมากที่สุด เหล็ก ไม้ และแผ่นลอนใส จึงกลายเป็นวัสดุหลักสำคัญที่เลือกใช้ในการก่อสร้าง นอกจากความคงทนแล้วยังเป็นวัสดุหาง่ายที่ชุมชนแถวนั้นใช้สำหรับการสร้างบ้านกันเป็นปกติ และสามารถลดค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลตัวอาคารระยะยาวอีกด้วย

เพราะว่าใช้วัสดุเป็นแผ่นใส ทำให้คนข้างนอกสามารถมองทะลุเข้าไปเห็นหนังสือหลายสิบเล่มถูกจัดวางเรียงกันอย่างสวยงามอยู่บนชั้นอย่างจางๆ ในศาลาหลังนี้ เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของสถาปนิกที่ต้องการลบความน่ากลัว มืดทึบและคร่ำเครียดของห้องสมุดแบบที่หลายๆ คนคิดออกไป

นอกจากนั้น ตัวอาคารยังก่อสร้างขึ้นด้วยโครงสร้างแบบที่เรียบง่ายและจำเป็นที่สุด พื้น เสา หลังคา ผนัง และเพดาน ถูกจัดเรียงกันอย่างง่ายๆ เน้นย้ำถึงคอนเซปต์ที่วางไว้ว่า ไม่ต้องการให้สิ่งก่อสร้างนี้ไปสร้างความรำคาญใจแก่ธรรมชาติมากนัก หากต้องมีการรื้อถอนเกิดขึ้นก็จะทิ้งร่องรอยไว้ให้น้อยที่สุด

Kaeng Krachan Library ห้องสมุดกลางหุบเขาในแก่งกระจานที่เชื่อมความรู้ ผู้คน และธรรมชาติ เข้าหากัน

ห้องสมุดแห่งใหม่ในพื้นที่สีเขียว

เพราะความเรียบง่ายและตรงไปตรงมาของโปรแกรมที่สถาปนิกได้จัดวางสะท้อนผ่านตัวอาคารออกมาได้อย่างชัดเจน ทำให้เขาบรรลุจุดประสงค์อย่างที่ตั้งใจไว้

จากพื้นที่โล่งๆ กลายเป็นห้องสมุดสำหรับทุกคน เป็นพื้นที่นั่งเล่นยามเย็น เป็นพื้นที่ส่วนกลางที่เรียบง่าย กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใครๆ ก็เข้าไปใช้ได้ทั้งวัน เพิ่มความเป็นกันเองและสบายๆ เข้าไปในตัวพื้นที่โดยรอบ ทำให้ห้องสมุดแก่งกระจานกลายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัยในชุมชน และยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวสำหรับเข้ามาแวะพักผ่อนเช่นกัน 

ภาพ : Spaceshift Studio

Writer

Avatar

ณัฐณิชา โอภาสเสรีผดุง

นิสิตสถาปัตย์ สนใจประวัติศาสตร์ สถาปัตย์ ไลฟ์สไตล์ เวลาว่างหมดไปกับแมวและของกิน