ถ้าพูดถึงเชียงใหม่ เชื่อว่าใคร ๆ ก็มักนึกถึงความเนิบช้า เพราะเป็นที่ที่ว่ากันว่าเข็มนาฬิกาหมุนไปอย่างไม่เร่งร้อน โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวที่อากาศยามเช้าเหมาะแก่การหาที่นั่งจิบกาแฟ แกล้มขนมโฮมเมดใต้แดดอุ่น  

‘กาดเกรียงไกรมาหามิตร’ รับอาสาทำหน้าที่นี้ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา 

ทันทีที่หักพวงมาลัยเลี้ยวเข้ามาในพื้นที่ของเกรียงไกรผลไม้ กองไห 3,000 ใบตั้งเป็นแลนด์มาร์กบริเวณทางเข้า เริ่มบอกเล่าเรื่องราวในอดีตของเกรียงไกรผลไม้ให้กับเรา ในฐานะกิจการผักผลไม้ดองที่ขับเคลื่อนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ก่อนจะเปลี่ยนมาอยู่ในมือของ ตุ้ย-เนรมิต สร้างเอี่ยม อดีต CEO ของ Grand Unity Development ที่หลงรักบรรยากาศค่อยเป็นค่อยไปของเชียงใหม่ แต่คิดไวทำไวแบบกรุงเทพฯ 

เขาตกหลุมรักเชียงใหม่ตอนที่โชคชะตาพาศิษย์เก่าเตรียมอุดมคนนี้ มาเรียนไกลในคณะวิศวกรรมศาสตร์ อันดับที่ 4 ที่เขาเลือกไว้ เหมือนฟ้าจงใจให้ต้องได้ลองใช้ชีวิตที่นี่ เพราะแม้เขาจะฮึดอ่านหนังสือสอบเอ็นทรานซ์อีกทีก็ยังหนีไม่พ้น 

ตุ้ย-เนรมิต สร้างเอี่ยม อดีต CEO ของ Grand Unity Development

“ชีวิตของผมเนี่ยแปลกมาก เราต้องล้มเหลวก่อนทุกครั้ง เราล้มแล้วก็ขึ้นไปสูงสุดแล้วก็ลง เป็นแบบนี้มาเสมอ” เขาพูดถึงการพลาดหวังจากวิศวะจุฬาฯ ทั้งที่มหาวิทยาลัยกับโรงเรียนห่างกันไปแค่รั้วกั้น แต่ในบางครั้งสิ่งที่เรามองว่ามันเป็นข้อผิดพลาด อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนที่เราคาดไม่ถึง 

การเรียนมหาลัยต่างจังหวัด ทำให้ตุ้ยได้หัดบริหารชีวิตด้วยตัวเอง และเข้าใจข้อสำคัญว่า 10 บาทของคนแต่ละคนไม่เท่ากัน ชีวิตเรียบง่ายติดอยู่ในใจเขามาตั้งแต่วันนั้น จนหมายมั่นว่าจะกลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่นี่ ถึงขนาดเก็บเงินซื้อที่ไว้ตั้งแต่ตอนทำงานในปีแรก ๆ

Busy-ness 

เมื่อได้เดินสำรวจทั้งส่วน Outlet และโกดังที่เพิ่งทำเสร็จใหม่ ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจน ทำให้เราอดถามไม่ได้ถึงความยากง่ายของการข้ามธุรกิจ

ตุ้ยไม่ตอบ ยิ้มมุมปาก แล้วเป็นฝ่ายถามกลับมาว่า ถ้าเป็นคุณ คิดว่าจะทำได้ไหม 

“เราไม่ได้เรียนบัญชี มาร์เก็ตติ้ง กฎหมายมา แต่เมื่อคิด Back to basic บรรทัดล่างสุดของมันคือทำรายได้ให้มากกว่ารายจ่าย นี่คือกฎข้อแรกของการทำธุรกิจ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยถ้าเราเปิดใจเรียนรู้ ผมว่าเราจะทำธุรกิจได้หมด หลักของผมมีนิดเดียวคือรีบ ๆ ล้มเหลว แล้วจะได้ประสบความสำเร็จ

“ทำธุรกิจ ผมโดนโกงมาเยอะ เมื่อก่อนก็มีโกรธ แต่พอถึงวัยหนึ่งใจเย็นลง เราก็บอกว่าโอเค เราคงติดหนี้เขาไว้ รีบ ๆ ใช้จะได้หมดกัน ไม่ต้องมาเจอกันอีก อย่างมากเขาก็โกงเราได้ครั้งเดียวถูกไหม มันจะกี่บาทก็ครั้งเดียว”

พลิกโฉมกิจการเกรียงไกรผลไม้ดองไร้ทายาท เป็นแลนด์มาร์กเชียงใหม่ รวมไว้ทั้งกาดชุมชน คาเฟ่ ร้านอาหาร และแกลเลอรี่

หลักคิดเหล่านี้ถูกหล่อหลอมผ่านประสบการณ์ทำงานร่วมสิบปีของแต่ละอาชีพที่ตุ้ยเคยทำ จากวิศวกรโยธาที่วิกฤตต้มยำกุ้งพาให้ต้องเปลี่ยนไปเป็นเจ้าของบริษัทซอฟต์แวร์ สะสมความรู้จากการให้บริการแบบ Customize กับบริษัทยักษ์ใหญ่แทบทุกวงการ ทำให้ได้เห็นจุดอ่อนจุดแข็ง วิธีแก้ปัญหาของแต่ละธุรกิจ และนำประสบการณ์เหล่านั้นมาปรับใช้ตอนที่เป็น CEO บริษัทอสังหาริมทรัพย์ 

การข้ามมาซื้อธุรกิจมูลค่าเกือบ 70 ล้านบาทในครั้งนี้จึงใช้เวลาตัดสินใจเพียงแค่ 2 วัน เป็นเพราะเขาเคยทำมากกว่านั้น อดีตซีอีโอคนเก่งทำให้เงินทุน 900 ล้านบาทคืนทุนได้ใน 3 ปีสมัยทำคอนโดฯ เขาบอกว่า SPEED คือคีย์สำคัญ

S Systematic / P Perform / E Economy / E Entrepreneur / D Decision 

โดยเฉพาะ D Decision ตัวสุดท้ายที่ตุ้ยบอกว่าเป็นส่วนสำคัญ

ตำราฝรั่งบอกว่าไว้ว่าส่วนใหญ่การตัดสินใจวันแรกหรือวันเดดไลน์ไม่ค่อยต่างกัน เพราะเรามักซื้อเวลาไปทำเรื่องอื่นเพื่อถ่วงการตัดสินใจ เขาเลยเปลี่ยนระบบประชุมโดยให้ทุกฝ่าย ทุกระดับ เข้าร่วมพร้อมกันทั้งหมด ไม่ตัดสินใจให้จบ ไม่เลิกประชุม วิธีนี้ทำให้งานเดินได้เร็ว ในระยะเวลา 2 ปีเท่ากัน เขาทำได้ 2 ตึก สร้างกำไรมากกว่าเจ้าอื่นเป็น 2 เท่า แต่ยอมลดลงมาครึ่งหนึ่งเพื่อเป็นส่วนลดให้ลูกค้า และเป็นโบนัสให้กำลังใจคนทำงาน เพราะนอกเหนือกำไรทางตรงที่ได้จากการขาย ยังมีกำไรอีกส่วนถูกทบกลับมาด้วยราคามาร์เก็ตติ้งที่น้อยลง เนื่องจากขายในราคาถูกและ Sold out อย่างรวดเร็ว โดยมีสถิติที่ดีที่สุดคือขายได้หมดภายใน 1 วัน เขาบอกว่ามันเป็นโมเดลที่วินกันทุกฝ่าย 

พอสร้างได้เร็วและขายถูก บางทีก็มีข้อกังขาจากลูกค้า เขาเลยสร้างความมั่นใจให้ด้วยการประกาศรับประกันตลอดชีวิต ฟังดูเหมือนต้องเตรียมเงินทุนเยอะเป็นพิเศษ แต่กลับกัน การรับประกันทำให้งานออกมาเรียบร้อย เพราะเป็นกลยุทธ์ที่จูงใจให้บริษัทรับเหมาทำงานให้ดีตั้งแต่เริ่ม เพื่อไม่ให้เกิดการซ่อมแซมภายหลัง ยิ่งรับประกัน ยิ่งผลักดันให้บริษัทได้กำไรเพิ่ม

Real Life – Realize

 ในขณะที่ชีวิตการงานกำลังประสบความสำเร็จได้อย่างดี ก็มีอีกจุดเปลี่ยนคือการเจ็บป่วยของคุณแม่ ที่ทำให้ตุ้ยตกผลึกได้ว่าชีวิตที่ดีมีองค์ประกอบ 5 ข้อคือ เดินให้ได้ นอนให้ได้ กินให้ได้ มีเพื่อน 3 – 4 คนที่คุยได้ทุกเรื่อง และมีคุณค่าต่อคนอื่น

 “ผมคิดว่าคุณแม่ตื่นมา คุณแม่คิดอะไร มีกำลังใจในการตื่นมั้ย เจ็บป่วยมั้ย เราก็มองว่าเวลาแก่ตัวไปตอนเช้าเราอยากตื่นขึ้นมาเพราะอะไร เรามองว่าถ้าตื่นมาเพราะเราจะทำอะไรให้คนอื่น เราน่าจะมีพลังในการตื่น ผมเลยสรุปข้อที่ห้าคือ เราต้องมีคุณค่าต่อคนอื่น อย่างเรามีคุณค่ากับคนในครอบครัวสองสามคน เราก็มีพลังตื่น แต่ถ้าเรามีคุณค่ากับคนอีกพันคนในชุมชน เรายิ่งมีพลังตื่นใหญ่ แล้วถ้ามีคุณค่ากับคนล้านคนในประเทศยิ่งทำให้เรามีพลังตื่น การมีพลังตื่นนี้จะทำให้เราแก่ช้า”

สรุปกับตัวเองได้ดังนี้ เขาตัดสินใจลาออก ทิ้งเงินเดือนหลายแสนบาท กลับมาสานฝันการอยู่เชียงใหม่ที่เคยพับไว้ในกระเป๋ามาเนิ่นนาน เลือกแม่ริมเป็นฐานที่มั่น ตั้งใจจะทำห้าข้อที่ตกผลึกให้ได้ที่นี่ 

เกรียงไกรผลไม้

กิจการเกรียงไกรผลไม้ดอง ถูกส่งไม้ต่อมาที่อดีต CEO เพราะคุณลุงเกรียงไกรไม่มีทายาทสืบกิจการ เขารับมาหมดทั้งแบรนด์ อาคาร โรงงาน โกดัง ที่ดิน 7 ไร่ ถึงจะไม่ตรงกับความคิดแรกที่ตั้งใจจะทำเกษตรต้นน้ำ แต่เมื่อมองดี ๆ กิจการกลางน้ำที่รับซื้อผลผลิตทางการเกษตร ก็น่าจะสานฝันในการทำ 5 ข้อของเขาได้ และในภายภาคหน้าจะกลับไปทำต้นน้ำก็ยังไม่สาย

พลิกโฉมกิจการเกรียงไกรผลไม้ดองไร้ทายาท เป็นแลนด์มาร์กเชียงใหม่ รวมไว้ทั้งกาดชุมชน คาเฟ่ ร้านอาหาร และแกลเลอรี่

“ผมไม่ได้รู้จักต้นกระเทียมหรืออะไรมาก แต่รู้สึกว่าเราใช้ที่นี่ทำความฝันของเราได้ โรงงานแปรรูปผลไม้นี้มันเป็นข้อที่ห้า ผมจะใช้มันทำเพื่อคนอื่น เพราะโรงงานต้องซื้อผลิตผลทุกปี ปีละหลายสิบล้าน ซึ่งการซื้อของนี้จะทำให้เกษตรกรในพื้นที่ ขายของได้ทุกปีเป็นวงจรต่อเนื่อง” เขาเล่าถึงมุมมองที่เห็นความเป็นไปได้ ก่อนกลับไประดมทุนจากเพื่อนสนิทในข้อสี่ โดยทิ้งท้ายเอาไว้ว่าหากไปไม่รอด เรายังเหลือที่ดิน 7 ไร่ ไว้เป็นมรดกให้ลูกหลาน

“เวลาลงทุนในธุรกิจเนี่ยต้องทำใจว่าเจ๊งได้ อย่าไปคาดหวัง ถ้ากำไรมาก็โอเค ซื้อลอตเตอรี่ก็ต้องคิดว่ามันทิ้งได้ใบนี้ ลงทุนในตลาดหุ้นก็มีวันที่มันตก คนจะไม่ค่อยคิดตรงนี้ แต่ผมจะคิดว่าให้เงินไปลงทุน ถ้าเจ๊งก็ตีศูนย์ อีกสิบปีค่อยมาดูอาจจะว้าว ตกใจทำไมเงินมันงอกเงย หรืออาจจะไม่เหลือ

“เพราะฉะนั้น ถ้าคิดว่าเราเจ๊งได้ เราจะไม่ลงทุนเกินตัว” 

ดองโกดังดอง

3 ปีแรกเขาวุ่นกับการปรับปรุงเกรียงไกร Outlet อาคารชั้นเดียวด้านหน้าที่ต่อเติมระเบียงไม้ให้ดูอบอุ่นเหมือนบ้าน ชวนเชิญให้ผู้มาเยือนขยับเท้าก้าวไปสำรวจได้อย่างไม่เคอะเขิน ส่วนพื้นที่ใช้สอยภายในจัดใหม่ให้เหมาะสมกับการนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของเกรียงไกรผลไม้ และสินค้าของคนในชุมชนที่เขาชักชวนมาวางขาย กิจการเป็นไปอย่างคึกคัก จนเริ่มมีคนทักว่าทำไมไม่ทำร้านเครื่องดื่มด้วย 

โกดังของดองที่ถูกดองเอาไว้ไม่ได้ใช้งานมาร่วม 3 ปี จึงมีโอกาสได้แง้มประตูออกมาเป็นครั้งแรก

พลิกโฉมกิจการเกรียงไกรผลไม้ดองไร้ทายาท เป็นแลนด์มาร์กเชียงใหม่ รวมไว้ทั้งกาดชุมชน คาเฟ่ ร้านอาหาร และแกลเลอรี่

“เราคิดว่าเอาโกดังมาทำดีกว่า แต่พื้นที่ตรงนี้มีพันตารางเมตร ทำร้านกาแฟบ้าอะไรวะพันตารางเมตร เลยคิดว่าทำเป็นกาดดีด้วยน่าจะดี เพราะตอนซื้อที่นี่ ผมตั้งใจอยากชวนชุมชนมาขายของ ทำเป็นกาดตรงสนามหญ้าข้างหน้า ตั้งแคร่กันง่าย ๆ

“จุดเปลี่ยนคือไปเจอ Borough Market ที่ลอนดอน เป็นตลาดขายของพื้นถิ่นบ้าน ๆ เหมือนกัน แต่สะอาดสะอ้าน นักท่องเที่ยวไปเดินกันสนุกสนาน มันคล้าย ๆ กับ อตก. กับบองมาเช่ ผมว่าตลาดแบบนี้ดี น่าจะเป็นพัฒนาการของตลาดในไทย เป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้อยากกลับมาอีก พื้นที่ในโกดังของเราเลยมีทั้งร้านกาแฟ กาดชุมชน ร้านขนมไทย แกลเลอรี่ กลายเป็นเกรียงไกรมาร์เก็ตขึ้นมา”

รสชาติของเวลา 

สำหรับเรากาดเกรียงไกรมาหามิตรไม่ได้มีดีแค่เป็นที่จิบกาแฟ ลิ้มรสอาหาร เพราะอีกสิ่งที่ที่นี่เตรียมไว้ให้ คือการจัดการกับองค์ประกอบของอาคารที่บ่มไว้จนได้ที่ ข้อดีอีกข้อของการมาที่นี่เลยเหมือนการได้ลิ้มรสชาติของเวลา

 “พอผมมาซื้อธุรกิจนี้ ผมตั้งใจเลยว่าอะไรที่เป็นของเดิมเราจะเก็บเอาไว้ อย่างตอนทำคอนโดมิเนียม มีโครงการหนึ่งเราบ้าเก็บต้นไม้ไว้ตั้งเก้าต้น ในแง่ของธุรกิจเนี่ยมันก็ไม่ได้ Maximize ได้เต็มที่หรอก แต่เรารู้สึกสุขใจที่ได้ทำ เพราะในขณะที่เราทำธุรกิจมันเป็นการช่วยโลกด้วยอย่างหนึ่ง”

ซึ่งถึงแม้วันนี้จะเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ แต่ความแน่วแน่ในข้อนี้ของตุ้ยยังคงเดิม ความตั้งใจเก็บของเก่าเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ต่อเติมของใหม่เท่าที่จำเป็น โดยแยกเลเยอร์วัสดุใหม่กับเก่าให้เห็นความต่างของเวลาอย่างชัดเจน เป็นโจทย์ที่เขาส่งต่อให้กับ pomballstudio สถาปนิกผู้ออกแบบโครงการนี้  

ภายนอกของโกดังคงสภาพเดิมเอาไว้ทั้งผนังหลังคาและอิฐบล็อกช่องลม ทำให้ดูเผิน ๆ ไม่ต่างอะไรกับโกดังเก็บของที่อื่นมากนัก แต่ทันทีที่ก้าวแรกเหยียบลงไปบนพื้นหินกรวด เรารู้ได้เลยทันทีว่าไม่ใช่ เพราะพื้นภายในเป็นพื้นดินเดิมที่โรยกรวดสีดำทับหน้า แทนที่จะเป็นพื้นปูนแบบโกดังอื่น ๆ ตุ้ยตั้งใจเก็บส่วนนี้เอาไว้ ให้คนที่เข้ามาได้เห็นร่องรอยวิธีดองแบบโบราณ ที่ต้องอาศัยองค์ประกอบอย่างพื้นดิน และการระบายอากาศจากบล็อกช่องลม เพื่อช่วยทำให้ของดองมีรสชาติดี

พลิกโฉมกิจการเกรียงไกรผลไม้ดองไร้ทายาท เป็นแลนด์มาร์กเชียงใหม่ รวมไว้ทั้งกาดชุมชน คาเฟ่ ร้านอาหาร และแกลเลอรี่

ไหดองร่วม 50,000 ใบเคยถูกจัดเก็บไว้ในนี้ ถ้านึกไม่ออกว่าเยอะขนาดไหน ให้จินตนาการสนามฟุตบอลที่มีไหวางแผ่ไว้เต็มพื้นที่หนึ่งสนาม แต่ในทางปฏิบัติจริง ๆ แล้ว คุณลุงเกรียงไกรใช้วิธีที่ประหยัดพื้นที่มากกว่าด้วยการทำเป็นขั้นบันได เรียงไห 20 x 20 ใบให้ครบ 2 ชั้น แล้วขยับไปทำชั้นแรกของกองถัดไป เพื่อเป็นบันไดสำหรับกลับมาเรียงชั้นที่ 3 ของกองแรก ทำแบบนี้วนไปจนได้กองไหที่ลดหลั่นกันลงมา 

พลิกโฉมกิจการเกรียงไกรผลไม้ดองไร้ทายาท เป็นแลนด์มาร์กเชียงใหม่ รวมไว้ทั้งกาดชุมชน คาเฟ่ ร้านอาหาร และแกลเลอรี่

“ในไหต้องใส่กระเทียม บ๊วย ผลไม้ และน้ำดองลงไป เป็นการดองเกลือเหมือนสมัยโบราณ จากนั้นปิดฝาไม้งิ้วที่ปาดมุมด้านล่างนิดหนึ่ง เพื่ออาศัยความยืดหยุ่นของไม้งิ้วดันตัวเองให้ล็อกแน่นกับไห ก่อนจะโบกปูนปิด ยกขึ้นบ่าเอาไปวางทีละชั้น ทิ้งไว้อย่างนี้อย่างน้อยสองเดือน ยกลงมาเคาะ ๆ เอาปูนออก เอาของข้างในเทออกมาล้าง แล้วปรุงรสใส่ขวดใสขาย”

เจ้าของกิจการคนใหม่ อยากให้ทุกคนได้เห็นภาพแบบนั้นอีกครั้ง เลยไปตามซื้อไห 50,000 ใบกลับมา แต่ก็หาได้แค่ 3,000 ใบที่ส่วนใหญ่มีรอยรั่ว เลยกลายไปเป็นรั้วและกองไหบริเวณทางเข้า ส่วนที่เหลือกลับมาประจำทำหน้าที่เดิม เปิดโอกาสให้มิตรสหายได้ลิ้มรสชาติของเวลาจากไหโบราณแท้ที่ไม่ได้ทำกันง่ายๆอีกครั้ง 

พลิกโฉมกิจการเกรียงไกรผลไม้ดองไร้ทายาท เป็นแลนด์มาร์กเชียงใหม่ รวมไว้ทั้งกาดชุมชน คาเฟ่ ร้านอาหาร และแกลเลอรี่

เพราะใคร ๆ ก็กินข้าว 

‘โกเมะกุระ’ คือชื่อร้านกาแฟที่ทำขึ้นมาใต้โครงสร้างไม้เดิมของหลองข้าว เป็นภาษาญี่ปุ่น แปลตรงตัวว่าสถานที่เก็บข้าว เป็นส่วนที่เขาตั้งใจใช้มันเล่าเรื่องราวทั้งเก่าและใหม่ 

หลองข้าวขนาด 8 เสาหลังนี้ ตุ้ยรับซื้อต่อมาจากชาวบ้าน เพราะต้องการเก็บคุณค่างานไม้พื้นถิ่นที่นับวันจะหายาก แต่ยังหาที่ไปให้ไม่ได้เลยฝากเจ้าของเก่าไว้ถึง 3 ปี ก่อนมีโอกาสมาอวดโฉมในใหม่ในฐานะร้านกาแฟ 

พลิกโฉมกิจการเกรียงไกรผลไม้ดองไร้ทายาท เป็นแลนด์มาร์กเชียงใหม่ รวมไว้ทั้งกาดชุมชน คาเฟ่ ร้านอาหาร และแกลเลอรี่

เขาบอกว่าความเป็นญี่ปุ่นที่เห็นผ่านการประดับธงและโครงสร้างต่าง ๆ ที่ต่อเติม เป็นเพราะอยากเชื่อมกับคนรุ่นใหม่ ที่สมัยนี้สนใจความเป็นญี่ปุ่น เลยอยากเชื่อมต่อผ่านวัฒนธรรมข้าวที่มีร่วมกัน เพราะนับวันคนที่รู้จักหลองข้าว หรือกระบวนการเกี่ยวกับข้าวมีน้อยลงทุกที สวนทางกับเทคโนโลยีที่วิ่งไปข้างหน้า เขาเลยมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไปเป็นยุค Metaverse ไปอยู่ในโลกเสมือน แต่สุดท้ายข้าวก็ยังเป็นสิ่งที่เรากินทุกวันอยู่ดี 

นอกจากนั้นยังตั้งใจชวนคิดเกี่ยวกับการเก็บข้าวกับเกษตรกร ในสมัยนี้ เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว สีข้าวเสร็จแล้วต้องขายผลผลิตออกไป เพื่อซื้อกลับมาบริโภคในราคาที่สูงขึ้นเกือบ 4 เท่าจากต้นทุนที่เพิ่มมาในค่าขนส่ง มาร์เก็ตติ้ง โมเดิร์นเทรด การเก็บไว้บริโภคก่อนขายอาจเป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้ประหยัดขึ้นและทำให้ได้กินข้าวที่อร่อย 

พลิกโฉมกิจการเกรียงไกรผลไม้ดองไร้ทายาท เป็นแลนด์มาร์กเชียงใหม่ รวมไว้ทั้งกาดชุมชน คาเฟ่ ร้านอาหาร และแกลเลอรี่

เขาอยากให้ผู้คนได้เห็นความงามแบบวะบิซะบิ เลยเลือกที่จะไม่เคลือบหน้าเคาน์เตอร์ไม้ประสานสีอ่อน แทรกตัวอย่างพอดีอยู่ระหว่างโครงสร้างของหลองข้าว และไม่ลบรอยเลขที่เขียนเอาไว้ข้างเสา 

“จริง ๆ ก็เถียงกับมัณฑนากรว่าขอปล่อยทิ้งไว้ได้ไหม มันเป็นประวัติศาสตร์ ไม่ได้ถอดง่าย ๆ เวลาย้ายมาประกอบ แต่ละเสามันย้ายตำแหน่งไม่ได้ เพราะช่างเอาขวานจามถากเสา มันจะเข้ามุมกันพอดี เราเลยอยากปล่อยไว้ เพราะมันเล่าได้ แต่มัณฑนากรขอลบให้มันจางลงนิดหนึ่ง”

บันไดทางขึ้นชั้นสองต่อเติมใหม่ เป็นบันไดเหล็กปิดผิวด้วยไม้แทนที่บันไดพาดแบบเดิม เพื่อให้ทุกคนเดินขึ้นไปได้สะดวก ตุ้ยกระซิบว่าเพราะชั้นแรกเป็น Espresso Bar มินิมอลเรียบง่าย การเปิดประตูเข้าไปชั้นสองเลยต้องว้าว

พลิกโฉมกิจการเกรียงไกรผลไม้ดองไร้ทายาท เป็นแลนด์มาร์กเชียงใหม่ รวมไว้ทั้งกาดชุมชน คาเฟ่ ร้านอาหาร และแกลเลอรี่
พลิกโฉมกิจการเกรียงไกรผลไม้ดองไร้ทายาท เป็นแลนด์มาร์กเชียงใหม่ รวมไว้ทั้งกาดชุมชน คาเฟ่ ร้านอาหาร และแกลเลอรี่

ภายในชั้นสองเน้นบรรยากาศความสลัวด้วยการใช้บานโชจิที่ทำจากไม้เมเปิ้ล ตีปิดระหว่างช่องโครงไม้เดิมร่วมกับมู่ลี่ไม้ไผ่แบบเหนือ ๆ ช่วยกรองแสงให้ภายในมืด และส่งให้แสงจากหลังคาใสที่ต่อเติมในฝั่งด้านหลัง ทอดลงมาช่วยเน้นสวนเซนที่จัดไว้เป็นไฮไลต์ของห้องให้มีมิติสวยงามมากขึ้น การนั่งในที่สลัวร่วมกับธรรมชาติ เลยทำให้บรรยากาศบนชั้นสองเนิบช้า และสงบแตกต่างกับชั้นล่างได้อย่างที่ตั้งใจ

เติมของในช่องว่าง 

ผนังสีขาวฝั่งซ้ายถัดจากหลองข้าวเดิมส่วนนี้เคยปิดทึบเป็นพื้นที่เก็บสินค้า ซึ่งถึงไม่รู้มาก่อน แต่คิดว่าทุกคนน่าจะพอเดาได้ เมื่อเงยหน้าขึ้นไปเจอตงเหล็กวางเรียงกันถี่ทำหน้าที่รับน้ำหนักสินค้า ตุ้ยยังคงเก็บองค์ประกอบที่บ่งบอกถึงการใช้งานเดิมนี้เอาไว้ โดยใช้ Water Jet ทำความสะอาดผนัง และพ่นทับตงด้วยสีขาวที่ทำให้มองแล้วสบายตา 

กาดเกรียงไกรมาหามิตร จิบกาแฟในหลองข้าว ใต้เงาโรงงานผลไม้ดอง ซื้อของคราฟต์จากกาดชุมชน

ช่องผนังเจาะใหม่และระเบียงที่ยื่นออกมา ได้ไอเดียมาจากคาเฟ่อพาร์ตเมนต์ในเวียดนาม เดิมตั้งใจใส่บันไดไว้ข้างหน้าให้เหมือนเกมบันไดงู แต่ระยะความชันไม่พอ เลยขอใช้บันไดเหล็กที่มีอยู่แล้ว โดยเปลี่ยนผิววัสดุผิวหน้าพร้อมจมูกบันไดใหม่ คนที่มาจึงขึ้นลงสำรวจจุดต่าง ๆ ที่ให้มุมมองแตกต่างกันอย่างน่าสนใจได้ปลอดภัยมากขึ้น 

กาดเกรียงไกรมาหามิตร จิบกาแฟในหลองข้าว ใต้เงาโรงงานผลไม้ดอง ซื้อของคราฟต์จากกาดชุมชน

ชั้นล่าง มินิม่วน มาจากคำว่ามินิมอลบวกกับคำว่าม่วนในภาษาเมืองที่แปลว่าสนุก สุขใจ เป็นร้านน้ำแข็งไสและขนมไทย ที่อยากให้ทุกคนได้ลิ้มรสมือแม่อุ๊ยในชุมชน ชุดหน้าต่างและประตูไม้ต่อเติมมาเพื่อสร้างบรรยากาศความเป็นบ้านร่วมกับพื้นซึ่งถูกยกเป็นที่นั่ง ทำให้นึกถึงการกินข้าวขันโตกและเชื่อมโยงการวัฒนธรรมการนั่งพื้นแบบญี่ปุ่นไปพร้อม ๆ กัน 

“ความสุขของเราคือเอาขนมไทยมาให้คนได้รู้จักในมุมมองที่เปลี่ยนไป มีคุณค่าเพิ่มขึ้น ขนมไทยหลาย ๆ อย่าง คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่ เราจะคอยแนะนำ ส่วนขนมนี้เราซื้อขาดจากแม่อุ๊ยเลยนะ แม่อุ๊ยไม่ต้องกังวลเพราะขายได้ทุกวัน ความสุขมันก็เกิดขึ้นกับคนทำ แล้วเราเองก็มีความสุขที่ได้เอาสินค้าดี ๆ ให้ลูกค้าทาน”

นอกจากขนมไทยที่น่าสนใจแล้ว ถ้าใครร้อน เราขอแนะนำน้ำแข็งไส ตุ้ยตั้งใจเลือกให้แทนไอศกรีม ที่นี่มีเครื่องให้เลือกหลากหลายตั้งแต่ถั่วแดงไปจนถึงขนุน หนึ่งในเครื่องเคียงหาทานยาก ให้ลองนั่งทานพร้อมอ่านเรื่องราวที่มาของขนมไทย ตั้งแต่ต้นมะพร้าวจนถึงมือเราผ่านลวดลายกราฟิกน่ารักบนผนัง

กาดเกรียงไกรมาหามิตร จิบกาแฟในหลองข้าว ใต้เงาโรงงานผลไม้ดอง ซื้อของคราฟต์จากกาดชุมชน

ชั้นสอง เป็นพื้นที่ที่เตรียมไว้สำหรับร้านอาหาร 25 ที่นั่งเขาชักชวน เชฟกิ๊ก-กมล ชอบดีงาม จากร้านเลิศทิพย์ วังหิน มาปรุงอาหารในให้ทานในคอนเซ็ปต์ Novel Oriental Wisdom หรือเรียกสั้น ๆ ว่าร้าน Now Social ที่กำลังจะเริ่มในอีกไม่นาน แต่เราเชื่อว่าสเปซน่าจะสวยงามน่านั่ง เพราะมีต้นทุนที่ดีจากผนังและพื้นไม้เดิม ซึ่งเป็นอีกส่วนที่แสดงถึงมิติความต่างของเวลา ทำให้เห็นว่าเมื่อ 40 ปีก่อน ไม้เป็นวัสดุที่หาง่าย ราคาไม่แพง จนเอามาปูเป็นพื้นโกดังเก็บของได้ ต่างจากปัจจุบันที่หายากขึ้นและมีราคาสูง จึงใช้เฉพาะในส่วนที่มีความสำคัญหรือเน้นความสวยงามเท่านั้น 

“เป็นผมตอนนี้คงเทปูนเอาอย่างเดียว” เจ้าของคนใหม่ว่าพร้อมกลั้วหัวเราะ

กาดเกรียงไกรมาหามิตร จิบกาแฟในหลองข้าว ใต้เงาโรงงานผลไม้ดอง ซื้อของคราฟต์จากกาดชุมชน

ชั้นสาม เป็นพื้นที่จัดแสดงงานของภูเขาไหแกลเลอรี่ เขาบอกว่าข้อเสียคือมันเดินไกล แต่ได้ความสงบ เหมาะกับกิจกรรมที่ต้องการสมาธิในการโฟกัส และเป็นอะไรที่คนมาชอบจริง ๆ ที่นี่เก็บความเรียบร้อยเพิ่มเติมด้วยการทำฝ้าเมทัลชีทสีดำ ช่วยปกปิดบางส่วนของโครงสร้าง Truss ของหลังคา อาจมีรอยต่อที่ไม่เรียบอยู่บ้างแต่ยอมรับได้ เพราะตั้งใจใช้สล่าหรือช่างท้องถิ่นเพื่อให้เงินไหลเวียนอยู่ในชุมชน 

ไฟ Tracklight ติดเพิ่มเข้าไปเพื่อคุณภาพแสง เหมาะกับการจัดแสดงงาน แต่รางเก็บสีเนียนไปกับโครงสร้างเดิม เพื่อให้สเปซนิ่งและสบายตา เหมาะกับการเป็นผืนผ้าใบสนับสนุนงานศิลปะที่โฟกัสศิลปินรุ่นใหม่ เพื่อให้ผลงานดี ๆ มีพื้นที่ได้แสดง เขาใส่ใจกับมันเพราะเชื่อว่าศิลปะจะทำให้ใจละเอียด  

“ผมเคยอยากเป็นสถาปนิกนะ แต่สอบความถนัดทางสถาปัตย์ไม่ผ่าน เลยกลายมาเป็นวิศวะที่สนใจเรื่องงานทางศิลปะ” เขาเล่าต่อว่าอาร์ตเวิร์กบางอย่างก็ทำเองกับทีม ตั้งแต่บิลล์บอร์ดสมัยทำคอนโดฯ จนถึงป้ายในกาดเกรียงไกร ในพื้นที่ที่ไม่จำเป็นต้องใช้กราฟิกดีไซน์เจ๋ง ๆ 

“บางทีทำดึก ๆ ดื่น ๆ มันก็เหนื่อย แต่พอเสร็จออกมาสวยตรงใจ มันชุ่มชื่น เรารู้สึกว่าศิลปะช่วยจรรโลงใจและทำให้เราเป็นคนละเอียด พอเราละเอียดแล้วเราจะหาความสุขได้ง่ายขึ้นจากเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ

“คนในปัจจุบันนี้ บางทีมีเงินเยอะ ความสุขเลยเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ต้องใส่นาฬิกาเรือนละล้านถึงจะมีความสุข แต่พอคนชมไปหมดแล้ว ความสุขมันหายไป ไม่รู้จะสุขอะไรอีกแล้ว ซึ่งในอีกมุมหนึ่งความสุขอาจมาจากการเดินไปเจอแม่ค้าขายของ แล้วเราซื้อเขาห้าบาท แต่ของเขามันอร่อยเกินราคา เราเลยแถมเขาไปอีกห้าบาทจนเขายิ้มกว้าง เรารู้สึกว่าทำไมเรามีความสุขอย่างงี้วะ ทำให้อีกคนยิ้มไม่หุบเลย หรืออย่างตอนอยู่กรุงเทพฯ เท้าเราไม่เคยติดดิน แต่อยู่ที่นี่ได้ถอดรองเท้าเหยียบน้ำค้างตอนเช้า เหยียบไปเรื่อย ๆ เรารู้สึกนิ่งขึ้น เราโฟกัสกับปัจจุบันได้ดีขึ้นเพราะใจมันละเอียด”

กาดเกรียงไกรมาหามิตร จิบกาแฟในหลองข้าว ใต้เงาโรงงานผลไม้ดอง ซื้อของคราฟต์จากกาดชุมชน

 คราฟต์ ขยับ ขยาย

ตุ้ยบอกกับเราว่าตั้งแต่ซื้อกิจการมา เขาตั้งปณิธานเอาไว้ว่าอยากทำน้อยได้มาก แบบที่ญี่ปุ่นใช้แพ็กเกจจิ้งเพิ่มมูลค่าให้สินค้า ซึ่งสวนทางกับการทำธุรกิจส่วนใหญ่ในประเทศไทยที่เน้นทำมากได้มาก ทำให้ไม่ว่าจะขยายไซส์เพิ่มราคาขึ้นไปเท่าไหร่ แต่ส่วนต่างกำไรยังเท่าเดิม นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่เขามองว่าเป็นทางออก เพราะถ้าอาศัยแต่การลงแรง ในอนาคตหุ่นยนต์ที่ควบคุมคุณภาพและเวลาได้มากกว่าจะมาแทนที่เราในที่สุด 

“เราต้องหาอะไรที่ต่าง อย่างกินกาแฟจากหุ่นยนต์ทุกวันอาจจะเบื่อ หรือกินอาหารฟรีซที่รสชาติเหมือนกันเป๊ะเลยจากโรงงานก็ไม่ตื่นเต้น มันต้องมีรสมือ วันนี้อาจอร่อยน้อยกว่าเมื่อวานหน่อย ก็จะได้ทักว่าวันนี้แม่ค้าอารมณ์ไม่ดีเหรอถึงทำอร่อยน้อยลง นี่คือชีวิต มันมีเสน่ห์คือความเป็นธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเราต้องขายความไม่เป๊ะ เพราะเป๊ะใครทำก็ได้

กาดเกรียงไกรมาหามิตร จิบกาแฟในหลองข้าว ใต้เงาโรงงานผลไม้ดอง ซื้อของคราฟต์จากกาดชุมชน

“อย่างกระเทียมดองอันนี้ เขาทำมาดีมากเลยตั้งแต่สี่สิบปีที่แล้ว ตัดก้านกระเทียมเจ็ดเซนติเมตร วางเรียงขัดกัน เอาหัวออกข้างนอก โปร่งใส ทุกคนเห็นหัวกระเทียมว่าทุกหัวดีหมด เขย่าแล้วไม่ขยับเลยเพราะมันขัดกันแน่น มันคืองานคราฟต์ ผมบอกว่าทำแบบนี้ต่อเนื่องไปเลยนะ ส่วนเรามีหน้าที่สนับสนุน ต้องเอาไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้ ให้คนเห็นว่านี่คืองานคราฟต์ให้ได้ ผมอยากทำแบบนี้

กาดยะด้วยใจ๋

“งานคราฟต์ส่วนใหญ่เราเลือกมา ดูเป็นพื้นถิ่น มีภูมิปัญญาและความประณีตซ่อนอยู่”

เพราะเชื่อว่าความคราฟท์มีคุณค่า สินค้าในกาดชุมชนภายในโกดังแห่งนี้จึงคัดสรรอาหาร ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก และงานคราฟต์ โดยเน้นพ่อกาด แม่กาด ที่เป็นคนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง

กาดเกรียงไกรมาหามิตร จิบกาแฟในหลองข้าว ใต้เงาโรงงานผลไม้ดอง ซื้อของคราฟต์จากกาดชุมชน

พื้นปูนต่างระดับดูสะอาดสะอ้านจัดไว้สำหรับขายอาหาร มีให้เลือกตั้งแต่อาหารพื้นถิ่นที่อยากแนะนำให้คนได้รู้จักอย่างข้าวหนุกงาและไข่ป่าม ไปจนถึงอาหารต่างชาติแบบพิซซ่าโฮมเมด และไก่ทอดคาราเกะแบบญี่ปุ่น

Grocery Shop อยู่ถัดไปบริเวณด้านใน ตั้งใจนำวัตถุดิบทั้งไทยและอินเตอร์ที่ผลิตได้ในท้องถิ่นอย่างชีสและโกโก้มาวางให้ลูกค้าเลือกซื้อกลับไปปรุงอาหาร ส่วนใครที่ไม่ถนัดทำเอง ที่นี่ก็มีแพลนอจะทำแซนด์วิชอาหารเช้าไว้บริการเช่นกัน

กาดเกรียงไกรมาหามิตร จิบกาแฟในหลองข้าว ใต้เงาโรงงานผลไม้ดอง ซื้อของคราฟต์จากกาดชุมชน
กาดเกรียงไกรมาหามิตร จิบกาแฟในหลองข้าว ใต้เงาโรงงานผลไม้ดอง ซื้อของคราฟต์จากกาดชุมชน

นอกจากของปรุงสุกแล้ว ยังมีสินค้าจากผู้ผลิตมาวางขายโดยตรง อย่างร้านผักผลไม้ออร์แกนิก ไปจนถึงคอมบูฉะและเทียนหอม ที่นอกจากจะสดแล้วยังราคาดี เพราะส่งตรงจากมือผู้ผลิตถึงผู้ซื้อโดยไม่มีช่องว่างสำหรับการถ่างราคา 

“ร้านนี้ผมชอบมากเลย ที่เขาเอาสาด (เสื่อ) วางไว้บนหลังคา คืออันเดียวกับที่อยู่ด้านบนร้านกาแฟ บางทีคนไปเห็นแล้วชอบก็มาซื้อ มันก็เหมือนเป็นโชว์รูมไปด้วย เพราะเห็นวิธีใช้มัน” ตุ้ยชี้ชวนให้เรามองขึ้นไปบนโครงไม้ไผ่ด้านบนของบูทขายสินค้า ม้วนเสื่อสานมือถูกวางเอาไว้บนนั้นเพื่อการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า แต่ก็พร้อมหยิบลงมาเมื่อมีคนถาม 

กาดเกรียงไกรมาหามิตร จิบกาแฟในหลองข้าว ใต้เงาโรงงานผลไม้ดอง ซื้อของคราฟต์จากกาดชุมชน
กาดเกรียงไกรมาหามิตร จิบกาแฟในหลองข้าว ใต้เงาโรงงานผลไม้ดอง ซื้อของคราฟต์จากกาดชุมชน

เขาเล่าถึงแต่ละร้านให้เราฟังด้วยดวงตาเป็นประกาย เพราะเชื่อว่างานทำมือแต่ละชิ้นมีคุณค่าและมีชิ้นเดียวในโลก การจิบกาแฟผ่านแก้วเซรามิกเลยไม่ใช่แค่การลิ้มรสเครื่องดื่ม แต่เป็นการสัมผัสประสบการณ์จากงานปั้นที่คราฟต์ผ่านมือของศิลปิน หรือแม้กระทั่งร้านแผ่นเสียงที่อาจไม่ใช่งานคราฟต์โดยตรง แต่เป็นของสะสมที่มีความรักอยู่ในนั้น ก็เป็นประสบการณ์อย่างหนึ่งที่มีคุณค่า สามารถแลกเปลี่ยนความสุขกันได้ระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ 

ไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์ในชุมชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย แต่คนวัยเกษียณก็เป็นอีกกลุ่มที่เขาสนับสนุนให้มาขายในพื้นที่ เพราะมองว่าการได้ขายของที่ดีให้ลูกค้า รอยยิ้มที่ได้กลับมาทำให้รู้สึกมีคุณค่าและสุขใจ

มาหามิตร มหามิตร

“ฟีดแบ็กดี ถือว่าเกินคาดในส่วนคนสูงวัยที่เป็นคนท้องถิ่นเข้ามาเที่ยวเยอะมากเลย ผมก็ไม่แน่ใจว่าเขาชอบอะไร แต่สิ่งที่ผมรู้สึกผิดต่อเขามากคือ เราไม่ได้เตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงวัยเอาไว้มากนัก”

ตุ้ยเล่าถึงฟีดแบ็กหลังจากเปิดประตูต้อนรับแขกมาได้ยังไม่ถึงเดือนดี จากภาพตอนแรกที่คิดว่าส่วนใหญ่น่าจะเป็นกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน แต่กลายเป็นว่ากาดเกรียงไกรได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากรุ่นใหญ่ด้วยเช่นกัน เลยตั้งใจว่าในอนาคตจะปรับปรุงพื้นที่ให้ทุกเพศทุกวัยเข้าถึงได้ง่ายขึ้น 

“ผนังสีขาวเราจะชวนโรงเรียนในแม่ริมมาวาดภาพในหัวข้อ Unseen แม่ริม เพราะเราอยากให้คนได้รู้จักที่เที่ยวในเแม่ริมมากกว่าโป่งแยง ม่อนแจ่ม มันน่าจะมีมุมอื่นที่เปิดศักยภาพให้แม่ริม ผมว่ามีอะไรหลายอย่างที่ซ่อนอยู่” อดีตซีอีโอว่าพลางวาดมือให้เราดูกำแพงที่หมายตาเอาไว้ ตรงส่วนที่กั้นระหว่างกาดกับพื้นที่สำนักงานที่ใช้แพ็กผลิตภัณฑ์ 

เขาบอกว่าเขาเป็นคนเน้นฟังก์ชัน ไม่เน้นฟอร์ม เลยจัดวางอ่างล้างมือและถังขยะที่กำลังเซ็ตระบบแยกขยะทั้งหมด 6 ชนิดไว้ตรงกลางลานที่นั่ง เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานของทุกคน 

กาดเกรียงไกรมาหามิตร จิบกาแฟในหลองข้าว ใต้เงาโรงงานผลไม้ดอง ซื้อของคราฟต์จากกาดชุมชน
กาดเกรียงไกรมาหามิตร จิบกาแฟในหลองข้าว ใต้เงาโรงงานผลไม้ดอง ซื้อของคราฟต์จากกาดชุมชน

นอกจากองค์ประกอบทางกายภาพแล้ว เรื่องผลิตภัณฑ์ก็เป็นอีกสิ่งที่นี่ส่งต่อความใส่ใจ

แพ็กเกจอาหารบางส่วนถูกเปลี่ยนใหม่ให้เหมาะสมกับการใช้งานมากขึ้น อย่างกระเทียมดอง ที่ส่วนใหญ่ใช้ทีละ 2 – 3 หัว ก็ทำเป็นแพ็กเล็กแยกไว้ในห่อใหญ่ เพื่อให้หยิบใช้งานสะดวกและเก็บได้นาน หรือแม้แต่ขวดน้ำดื่มของกาดเกรียงไกร เขาก็ไม่ปล่อยโอกาสไปง่าย ๆ ใส่แผนที่ท่องเที่ยวในแม่ริมไว้ในฉลาก เพิ่มโอกาสให้นักท่องเที่ยวเดินทางต่อเพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน 

กาดเกรียงไกรมาหามิตร จิบกาแฟในหลองข้าว ใต้เงาโรงงานผลไม้ดอง ซื้อของคราฟต์จากกาดชุมชน

เราไม่แน่ใจว่าในวันแรกว่าตุ้ยคิดถึงเรื่องการทำให้คนอื่นไว้แค่ไหน แต่หลังจากได้ใช้เวลาสำรวจพื้นที่กาดเกรียงไกร เรารับรู้ได้ถึงความใส่ใจในข้อที่ 5 แบบที่เขาตั้งปณิธานเอาไว้ผ่านหลายสิ่งที่ทำ และเชื่อว่าจะพัฒนาต่อยอดไปได้ดีขึ้นอีกเรื่อย ๆ ในอนาคต เลยอยากปักหมุดให้เหล่ามิตรที่มีโอกาสผ่านไปผ่านมาแถวแม่ริมแล้วยังนึกไม่ออกว่าจะเริ่มเที่ยวที่ตรงไหน ลองมาลิ้มรสชาติของเวลา ลองมาหามิตร ที่กาดเกรียงไกรมาหามิตร

Writer

Avatar

นิปุณ แสงอุทัยวณิชกุล

สถาปนิกที่สนใจในงานเขียน สถาปัตยกรรม ที่ว่าง เวลา และหมาฟลัฟฟี่

Photographer

Avatar

ฉัตรชัย วงค์เกตุใจ

อยากเรียนรู้การเกษตรปลอดภัย ชอบท่องเที่ยวธรรมชาติกับครอบครัว และชอบออกกำลังกาย