ในยุคที่กล้องถ่ายรูปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ใครต่อใครต่างบันทึกภาพความทรงจำ ณ ขณะหนึ่งไว้ เพื่อโพสต์ลงสื่อโซเชียลหรือเก็บไว้ดูเล่นเมื่อกาลเวลาผันผ่าน

แต่สำหรับ คาเดีย ฟัน โลฮูสเซิน (Kadir van Lohuizen) นักข่าวชาวดัตช์ผู้เล่าเรื่องผ่านภาพวัย 59 ปี กล้องเป็นมากกว่านั้น

เขาเชื่อเสมอว่ากล้องถ่ายรูปเป็นอาวุธอันทรงพลัง เปี่ยมไปด้วยอำนาจในการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้คน และสรรสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงได้

หลังริเริ่มโครงการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่าง ‘Wasteland’ เมื่อ 7 ปีก่อน คาเดียหมายมั่นปั้นมือที่จะออกเดินทางเพื่อตามเก็บภาพกองขยะ และเรียนรู้แนวทางการจัดการสิ่งปฏิกูลของประเทศทั่วโลก 

Kadir van Lohuizen ช่างภาพดัตช์ กับนิทรรศการภาพถ่ายภูเขาขยะจากทั่วโลก จัดแสดงในสวนลุม

ถึงตอนนี้เขาแบกเป้สะพายกล้องคล้องคอ ตระเวนข้ามน้ำข้ามทะเลไปสำรวจประเด็นเรื่องขยะ ตามเมืองใหญ่นานาทวีปมาแล้วถึง 6 เมือง ทั้งจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เลกอส ประเทศไนจีเรีย อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เซาเปาโล ประเทศบราซิล และนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

รางวัลชนะเลิศ World Press Photo ปี 2018 สาขาสิ่งแวดล้อม น่าจะเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จของงานนี้ได้

ในโอกาสที่คาเดียได้รับเชิญจากทางสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ ประจําประเทศไทย มาจัดแสดงงานนิทรรศการถึงสวนลุมพินี เราก็ไม่รอช้า ขอสนทนาแลกเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติเกี่ยวกับเบื้องหลังภาพถ่ายกองขยะที่เขาทำทันที

ภาพอดีต

“ผมเกิดในเมืองอือเตร็คต์ (Utrecht) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ตอนเด็กผมไม่ได้คิดว่าจะมาเป็นช่างภาพ แต่ตอนใกล้จบมัธยมปลายถึงรู้ว่าอยากเรียนถ่ายภาพ เลยสมัครเรียนไปถึง 2 มหาวิทยาลัยด้วยกัน แต่ก็โดนปฏิเสธหมด” คาเดียเริ่มต้นบทสนทนากับเราผ่านหน้าจอแบบข้ามทวีป

แต่ 3 ปีให้หลัง คาเดียก็ได้จับกล้องถ่ายรูปผ่านความสนใจในงานสื่อสารมวลชนและวิชาเคมี

“ผมชอบกระบวนการทำงานในห้องมืดล้างฟิล์ม มันเหมือนมีเวทมนตร์บางอย่าง ในตอนนั้นการถ่ายรูปเป็นงานคราฟต์ และไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีกล้อง แต่ตอนนี้ทุกคนมีกล้องและเป็นช่างภาพได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเป็นนักข่าวได้อยู่ดี”

Kadir van Lohuizen ช่างภาพดัตช์ กับนิทรรศการภาพถ่ายภูเขาขยะจากทั่วโลก จัดแสดงในสวนลุม

เขาเริ่มต้นการทำงานในฐานะช่างภาพอาชีพครั้งแรกในปี 1988 กับประเด็นการลุกฮือต่อต้านการยึดครองเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาของอิสราเอล ตามมาด้วยการสำรวจพื้นที่ความขัดแย้งในหลากหลายภูมิภาค เช่น แอฟริกา ในประเทศแองโกลา โมซัมบิก และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก รวมถึงเป็นผู้ริเริ่มงานภาพถ่ายต่อต้านความรุนแรงต่อสตรีทั่วโลก ร่วมกับช่างภาพข่าวอเมริกัน สแตนลีย์ กรีน (Stanley Greene) และช่างภาพอีก 6 คน 

ภาพขยะ

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คาเดียตัดสินใจเบนเข็มจากภาคสนามความขัดแย้งมาโฟกัสกับปัญหาสิ่งแวดล้อม เกิดจากการเล็งเห็นว่า มันเป็นเรื่องที่ใครหลายคนต่างหลับตาข้างเดียวมาโดยตลอด

“ผมสนใจเกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อม เพราะมันเป็นปัญหาหลักที่ไม่ได้รับการกล่าวถึงมากพอ รัฐบาลในหลายประเทศให้สัญญาว่าจะจัดการ แต่ก็ทำตามที่รับปากไว้ไม่ได้ จนทุกวันนี้เรื่องของสิ่งแวดล้อมและวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศกลายเป็นเรื่องนามธรรม

“ตอนนี้ฤดูร้อนของเราอุณหภูมิเกิน 40 องศาเซลเซียสไปแล้ว ช่วงนี้ในเนเธอร์แลนด์ฝนเพิ่งตก จากที่เคยไม่ตกมา 3 เดือนจึงแห้งแล้งมาก ผมอยากให้ภาพถ่ายของผมเป็นเหมือน Wake-up Call สำหรับคนทั่วไป” คาเดียกล่าวด้วยแววตามุ่งมั่น

Kadir van Lohuizen ช่างภาพดัตช์ กับนิทรรศการภาพถ่ายภูเขาขยะจากทั่วโลก จัดแสดงในสวนลุม

จากโครงการศึกษาผลกระทบของระดับน้ำทะเลที่หนุนสูงในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก (Where Will We Go? : The human consequences of rising sea levels) ต่อยอดกลายมาเป็นโครงการสำรวจกองขยะ Wasteland

“ในพื้นที่ห่างไกลอย่างเกาะมาร์แชลล์และคิริบาส เต็มไปด้วยพลาสติกตามชายหาด ผมซักถามคนละแวกนั้น จนรู้ว่าขยะมาจากที่อื่น แล้วมารวมกันตรงนี้ ผมเลยเห็นว่าปัญหามันหนักขนาดไหน”

เขาอธิบายต่อว่า พอมองกลับมา เมืองอัมสเตอร์ดัมดูสะอาดสะอ้านอย่างเห็นได้ชัด 

ความย้อนแย้งของ 2 สถานที่นี้ กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นที่สะกิดให้ช่างภาพดัตช์ตระหนักว่า แท้จริงแล้วปัญหามันเชื่อมโยงกัน และเขาเป็นคนหนึ่งที่เคยมองข้ามขยะในส่วนที่เกิดจากตัวเขาเอง 

คาเดียจึงมุ่งหน้าตามรอยเส้นทางขยะ เพื่อสืบหาสาเหตุและศึกษาวิธีจัดการขยะที่เหมาะสม

ข้างหลังภาพ

“เราสร้างขยะเยอะกว่าที่เคย เพราะเดี๋ยวนี้คนสั่งอาหาร สั่งของออนไลน์จากเว็บไซต์ ไหนจะกระบวนการทำบรรจุภัณฑ์ที่ส่งมาในกล่องขนาดใหญ่ และด้านในซ้อนด้วยกล่องย่อยอีกหลายชั้น” คาเดียพูดถึงปัญหารูปแบบใหม่ที่ใกล้ตัวเรามาก

พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use) กลายเป็นสาเหตุหลักของกองขยะที่เราเห็นอยู่ทั่วไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรานำพลาสติกมาใช้สอยในชีวิตประจำวัน จนแทบจะขาดมันไม่ได้แล้ว

“นิวยอร์กเป็นเมืองที่เล็กกว่าเม็กซิโกซิตี้เกือบ 2 เท่า แต่กลับผลิตขยะมากที่สุดในโลก ถ้าคุณไปซูเปอร์มาร์เก็ต เขาจะใส่สินค้าทุกอย่างลงในถุงพลาสติกแล้วกลายเป็นขยะ”

Kadir van Lohuizen ช่างภาพดัตช์ กับนิทรรศการภาพถ่ายภูเขาขยะจากทั่วโลก จัดแสดงในสวนลุม

ตรงกันข้ามกับโตเกียวที่คาเดียยกให้เป็น ‘เมืองที่จัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด’ ในบรรดา 6 เมือง

“พวกเขาจะคอยคำนวณว่า พื้นที่ฝังกลบสิ่งปฏิกูลจะเต็มเมื่อไหร่ และพบว่าพื้นที่จะรองรับได้อีกประมาณ 40 ปี พวกเขาเลยตัดสินใจรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีพื้นที่เพียงพอสำหรับขยะ”

คาเดียยกตัวอย่างเมืองเลกอส ที่ภาพลักษณ์อาจจะติดลบในสายตาคนส่วนใหญ่ แต่ในความเป็นจริงกลับผลิตขยะน้อยมากโดยเฉลี่ย เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองอื่น

 “หนึ่งในคนที่ทำงานที่นั่นบอกกับผมว่า ในไนจีเรีย พวกเราพยายามกินอาหารให้หมดจาน และไม่เคยทิ้งเศษอาหารเลย อาหารเหลือต่าง ๆ จะถูกนำไปให้สัตว์กิน แต่ไม่เคยเอามาลงกับกองขยะที่นี่แน่ 

“คุณอาจจะเคยไปกองขยะแล้วรู้ว่ากลิ่นมันไม่ดีเลย แต่เลกอสไม่ได้แย่ขนาดนั้น”

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเดินทางสำรวจเมืองครั้งนี้ ยังส่งผลให้มุมมองต่อคนเก็บขยะของวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพเปลี่ยนไป 

“ผมคิดว่าคนเก็บขยะเป็นฮีโร่ของเรื่องราวทั้งหมด เพราะถ้าไม่มีพวกเขา เมืองก็คงจมลงไปนานแล้ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเมืองเซาเปาโล คนเก็บขยะที่นั่นเป็นอาชีพที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย พวกเขาไม่ใช่ตัวปัญหา แต่พวกเขาคือทางออก”

ภาพหวัง

ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม การเจริญเติบโตเป็นสิ่งสำคัญ 

หากเปรียบโมเดลการเติบโตจากนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายดั่งเครื่องบินที่พาทุกคนบนโลกทะยานสู่ความยั่งยืน เชื้อเพลิงคือความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ แต่ในไม่ช้า ปัญหาของเครื่องบินลำนี้ที่ชื่อว่าโลก คือจะร่อนลงอย่างไรไม่ให้เสียหาย  

เศรษฐกิจที่มุ่งแต่การเติบโต กอปรกับกลไกการตลาด ส่งผลต่อปริมาณขยะที่แปรผันโดยตรง หนำซ้ำยังกระทบกับสิ่งแวดล้อม

“ขยะไม่ใช่ปัญหาแค่ตัวขยะเท่านั้น แต่มันไปขวางกั้นทางน้ำ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเมืองถึงเกิดน้ำท่วม”

Kadir van Lohuizen ชวนตั้งคำถามถึงเส้นทางชีวิตขยะ ผ่านนิทรรศการ Wasteland ที่เวียนมาจัดแสดงครั้งแรกถึงสวนลุมพินี

เราถามเขาว่า จุดกึ่งกลางระหว่างระบบเศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อมคืออะไร

ช่างภาพดัตช์กล่าวถึงทฤษฎี ‘เศรษฐศาสตร์โดนัท (Doughnut Economics)’ ของ เคธ เรเวิร์ธ (Kate Raworth) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นโมเดลทางเศรษฐกิจที่ตีความการจัดสรรและการให้คุณค่าของทรัพยากรบนโลกใหม่ ภายใต้แนวคิด ‘จัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอกับทุกคน โดยไม่เกินกว่าทรัพยากรที่โลกนี้จะมีได้’

เศรษฐศาสตร์โดนัท ต่อยอดแผนภูมิที่คิดค้นโดยนักวิทยาศาสตร์จากนานาชาติ 28 ท่านในปี 2009 โดยแบ่งขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกออกเป็น 9 ด้าน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปรากฏการณ์มหาสมุทรเป็นกรด มลภาวะจากสารเคมี ปริมาณไนโตรเจนและฟอสฟอรัส การดึงน้ำจืดมาใช้งาน การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากดิน การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มลพิษทางอากาศ และการสูญเสียโอโซนในชั้นบรรยากาศ 

Kadir van Lohuizen ชวนตั้งคำถามถึงเส้นทางชีวิตขยะ ผ่านนิทรรศการ Wasteland ที่เวียนมาจัดแสดงครั้งแรกถึงสวนลุมพินี

“เศรษฐศาสตร์โดนัทถกว่า เราต้องรู้จักลดการใช้ทรัพยากร หากเศรษฐกิจเติบโตไปมากกว่านี้ โลกจะถึงจุดสิ้นสุด โจทย์คือเราจะจัดการระบบอย่างไรให้อยู่ในระดับที่ผู้คนจะรับได้ แต่ไม่ให้โตอย่างบ้าคลั่งแบบที่มันกำลังเป็น” 

โดยในปีนี้ โลกของเราพ้นขีดจำกัดความปลอดภัยไปแล้วถึง 5 ด้านจากทั้งหมด 9 ด้าน

ภาพอนาคต

ขยะล้นโลก ปัญหานี้คิดทางแก้อย่างไรก็คิดไม่ออก เพราะมันใหญ่เกินกว่าผู้คนตัวเล็ก ๆ จะรับมือไหว แต่สำหรับคาเดีย ทุกอย่างเริ่มได้ที่ตัวคุณเอง

เขาแนะนำให้ลองมองลงไปในถังขยะของเราเอง เราจะเห็นว่ายังพอมีอะไรที่ใช้การได้ นำมารีไซเคิลได้ หรือยังกินได้อยู่ เพราะแบบนั้น เราจะลดการผลิตขยะไปได้เยอะ 

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงแค่ตัวเองไม่สามารถเปลี่ยนภาพใหญ่ของสังคม จำต้องร่วมกับนโยบายจากภาครัฐที่ช่วยส่งเสริมและเร่งให้เป้าหมายนั้นเกิดขึ้นเร็วและได้ผลจริง 

ในช่วงกลางปี 2020 ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 อัมสเตอร์ดัมนำโมเดลเศรษฐศาสตร์โดนัทมาปรับใช้เพื่อผลักดันเมืองสู่ความยั่งยืน โดยวางแผนที่จะลดการใช้วัตถุดิบใหม่ลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 และตั้งเป้าเป็นเมืองตัวอย่างการหมุนเวียนอย่างครบวงจรภายในปี 2050 

“ผมทำงานกับบริษัทใหญ่ในอัมสเตอร์ดัม เขาเก็บอาหารหมดอายุจากซูเปอร์มาร์เก็ตมาทำให้กลายเป็นก๊าซชีวภาพ (Biogas) มีประมาณ 15,000 ครัวเรือนที่ได้รับกระแสไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ และพวกเขาก็ผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas, LNG) จากเศษอาหารสำหรับรถบรรทุกด้วย” นี่คือตัวอย่างของการสร้างเมืองที่ส่งต่อวัตถุดิบให้เกิดวงจรการหมุนเวียนอย่างสมบูรณ์

ก่อนจากกัน เราถามคาเดียถึงทิศทางการทำงานในอนาคตของเขา 

“ผมยังคงทำโปรเจกต์ Where Will We Go? : The human consequences of rising sea levels ซึ่งทำมาเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปีแล้ว พูดง่าย ๆ คือผมทำเกี่ยวกับเรื่องฉุกเฉิน คนชอบคิดว่าปัญหาจะเกิดผลกระทบกับคนยุคถัดไป แต่ในความเป็นจริง เมืองชายทะเลรวมถึงกรุงเทพฯ รับรู้ถึงผลกระทบของการที่น้ำทะเลหนุนสูงแล้ว รวมถึงชาวนาที่เพาะปลูกไม่ได้อีก

Kadir van Lohuizen ชวนตั้งคำถามถึงเส้นทางชีวิตขยะ ผ่านนิทรรศการ Wasteland ที่เวียนมาจัดแสดงครั้งแรกถึงสวนลุมพินี

 “ผมคิดว่าคนในยุคผมไร้ความหวังแล้ว ยากมากที่จะเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนรุ่นผม แต่เด็ก ๆ เป็นเหมือนอนาคตที่น่าจะตระหนักมากกว่า เพราะคนรุ่นใหม่คือคนที่ต้องอาศัยอยู่กับโลกใบนี้ต่อไป”

คาเดียยังมีอีกหนึ่งงานที่ทำควบคู่กันไป

“ผมกำลังศึกษาว่า ระบบการผลิตอาหารมีกระบวนการอย่างไร โดยเริ่มจากเนเธอร์แลนด์ ซึ่งส่งออกอาหารมากเป็นอันดับ 2 รองจากอเมริกา คุณอาจจะรู้ว่าเนเธอร์แลนด์เล็กขนาดไหน มันน่าทึ่งเหมือนกันว่าเป็นไปได้ยังไง” คาเดียหัวเราะหลังคำตอบ

“ผมคิดว่าโควิดทำให้รู้ว่าระบบของอาหารมันเปราะบางแค่ไหน โดยเฉพาะตอนนี้ที่มีสงครามในยูเครน เรามองข้ามความมั่นคงทางอาหารจนมันกลายเป็นความไม่มั่นคงแทน”

Kadir van Lohuizen ชวนตั้งคำถามถึงเส้นทางชีวิตขยะ ผ่านนิทรรศการ Wasteland ที่เวียนมาจัดแสดงครั้งแรกถึงสวนลุมพินี

ภาพ : Kadir van Lohuizen

นิทรรศการภาพถ่าย Wasteland โดย คาเดีย ฟัน โลฮูสเซิน (Kadir van Lohuizen) จัดแสดง ณ ลานตะวันยิ้ม สวนลุมพินี เข้าชมได้ฟรีตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2565

Writers

Avatar

กชพรรณ ก่อสุวรรณวงศ์

เด็กนิเทศแดนกิมจิ เอ็นดูแมวทุกตัวบนโลก ชื่นชอบการอ่านนิยายในวันฝนพรำ และหลงรักเทศกาลคริสต์มาสเป็นพิเศษ

Avatar

คณิศร สันติไชยกุล

นักเรียนนิเทศศาสตร์ อยากเห็นโลกที่ดีกว่าเดิม ให้ความสำคัญกับการมีอยู่ไม่ต่างจากการจากไป

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์