อุบลฯ เคยเกือบไม่เหลือคนทอผ้าแล้ว

เป็นประโยคที่ฟังดูไม่น่าเชื่อ เมื่อตอนนี้เรากำลังเดินดูผ้าทอสุดสวยหลายผืนบนผนังของ ‘พิพิธภัณฑ์บ้านคำปุน’ โรงทอผ้าที่ตั้งชื่อตาม คำปุน ศรีใส ช่างทอผ้ามือเอกของอุบลราชธานีผู้ที่เพิ่งได้รับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติประจำปี 2561 ไปหมาดๆ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ไม่ใช่แค่นั้น ล่าสุด ผ้ากาบบัวจากโรงทอผ้าแห่งนี้ได้ส่งผ่านมือคิง เพาเวอร์ นำไปทูลเกล้าฯ ถวายเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงเคท ณ สหราชอาณาจักร ในโอกาสที่พระองค์เสด็จฯ เยือนเมืองเลสเตอร์อีกด้วย โดยได้ถวายผ้าคลุมพระอังสาแด่เจ้าชาย และซิ่นแด่เจ้าหญิง ซึ่งเป็นของขวัญที่ว่ากันว่าทั้งสองพระองค์ทรงโปรดมาก แม้ทรงปิดกล่องแล้ว ก็ยังทรงเปิดกล่องกลับมาพิจารณา

ผ้ากาบบัวที่ว่าต้องเจ๋งขนาดไหนถึงได้รับความไว้วางใจให้เป็นของขวัญตัวแทนประเทศไทยไปอยู่ในพระหัตถ์ของราชวงศ์อังกฤษ ความสงสัยดังกล่าวพาเรามาไกลถึงอำเภอวารินชำราบ ในจังหวัดอุบลราชธานี
เราได้คุยกับ มีชัย แต้สุจริยา ลูกชายของแม่คำปุน ผู้อยู่เบื้องหลังผ้าผืนนี้

เขาเริ่มจากการอธิบายนิยามของผ้ากาบบัว ว่าคือผ้าที่ใช้เทคนิค 4 เทคนิคผสมกัน เริ่มจากเส้นยืนที่ต้องใช้ 2 สีขึ้นไป เพื่อให้เกิดลายทิวหรือลายแนวนอนขวางลำตัวเวลานุ่งซิ่น ส่วนเส้นพุ่งประกอบด้วย 3 เทคนิค นั่นคือยก (หรือ ‘ขิด’ ภาษาอีสาน แปลว่า การสะกิดเส้นยืนเพื่อให้เกิดลวดลายแค่บางจุด) หางกระรอก (หรือ ‘มับไม’ ภาษาอุบลคือการนำเส้นไหม 2 เส้นมาพันเกลียวกันก่อนใส่กระสวยทอ) และมัดหมี่ (คือการใช้เชือกมัดบางจุดก่อนย้อม ทำให้สีติดบางส่วนจนเกิดลวดลาย)

แค่นี้ก็น่าทึ่งแล้ว

แต่นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เราได้ฟังวิธีคิดเจ๋งๆ ที่ซ่อนอยู่ระหว่างใยผ้ากาบบัวอีกมากมาย จนขอนำมาเล่าให้ฟังต่อ ณ ที่นี้

ผ้ากาบบัว ผ้ากาบบัว ผ้ากาบบัว ผ้ากาบบัว ผ้ากาบบัว

เริ่มจากร่องรอยในอดีต

อุบลราชธานีเคยเป็นเมืองทอผ้าที่ยิ่งใหญ่

จังหวัดนี้เคยเป็นจังหวัดขนาดใหญ่อันดับหนึ่งของอีสาน ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงมีรับสั่งให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระอนุชาต่างพระมารดาของพระองค์ รับผิดชอบดูแลมณฑลอีสาน โดยตั้งกองบัญชาการที่จังหวัดอุบลราชธานีในฐานะข้าหลวงต่างพระองค์

พระองค์ทูลเกล้าฯ ถวายผ้าทอจากอุบลราชธานีให้สมเด็จพระเชษฐา และรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระหัตถเลขาตอบกลับเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ร.ศ.114 ความว่า “ส่งผ้าเยียรบับลาวมาให้นั้นได้รับแล้ว ผ้านี้ทอดีมาก เชียงใหม่สู้ไม่ได้เลย ถ้าจะยุให้ทอมาขายคงจะมีผู้ซื้อ ฉันจะรับเป็นนายหน้า ส่วนที่ส่งมาจะให้ตัดเสื้อ ถ้ามีเวลาจะถ่ายรูปให้ดู แต่อย่าตั้งใจคอยเพราะจะถ่ายเมื่อใดบอกไม่ได้”

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ในช่วงหลังๆ มีสินค้าและแฟชั่นจากต่างประเทศเข้ามา ทำให้ชาวอุบลฯ หันไปใช้ผ้าเมืองนอก และหลงลืมมรดกอันทรงคุณค่านี้ไป

หนึ่งในไม่กี่ร่องรอยที่ยังหลงเหลือคือที่บ้านของ คุณยายน้อย จิตตะยโศธร ยายของมีชัย

ยายน้อยเป็นทายาทตระกูล ‘จิตตะยโศธร’ สืบเชื้อสายจากเจ้าเมืองยโสธร เจ้านายผู้หญิงในสมัยก่อนต้องทอผ้าใช้เอง และครอบครัวนี้ก็สืบทอดความรู้ด้านการทอผ้ากันมาหลายรุ่น จนลงมาถึงมีชัยในยุคที่คนอื่นเลิกทอกันไปหมดแล้ว

มีชัยเล่าเรื่องในสมัยเด็กว่า “สมัยนั้นคุณตาเป็นคนเดียวที่นุ่งผ้าโสร่ง เวลาใครพูดถึงตาก็จะบอกว่า ผู้บ่าวที่นุ่งผ้างามๆ ใช่มั้ย คือตานุ่งผ้าที่งามที่สุดในยโสธร เพราะเป็นผ้าปูมของทวดซึ่งมีบรรดาศักดิ์”

เพราะรับรู้ถึงมรดกที่ล้ำค่าของตระกูลมาตั้งแต่เด็กๆ เขาจึงแน่วแน่ว่าจะหาทางสืบทอดวัฒนธรรมนี้สู่ลูกหลานให้ได้

ชุบชีวิต เรียกคืนตัวตน

“แค่ดูผ้าที่นุ่งเราก็มองออกว่าผู้นุ่งเป็นคนจากไหน” มีชัยอธิบาย

คนสุรินทร์ชอบผ้าเบาบาง ในขณะที่คนอุบลฯ จะชอบผ้าหนาเล็กน้อย ผ้ายโสธรมักย้อมเป็นสีชมพูกับเขียว ส่วนผ้าอำนาจเจริญจะออกเหลืองๆ จังหวัดเหล่านี้อยู่ใกล้กันนิดเดียว แต่เมื่อข้ามจังหวัดลักษณะผ้ากลับเปลี่ยน ผ้าจึงเป็นเครื่องบ่งชี้ตัวตนได้อย่างชัดเจน

มีชัยมองเห็นคุณค่าของผ้าในด้านนี้ และเก็บความเป็นอุบลฯ ไว้ในผ้ากาบบัว

อันดับแรกคือเรื่องลายทิวหรือลายแนวนอน ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มไทและไทยวน รวมถึงชาวอุบลสมัยก่อนด้วย มีชัยก็เห็นว่าควรเป็นคุณสมบัติที่ผ้ากาบบัวทุกผืนต้องมี

ไม่เพียงเท่านั้น ผ้ากาบบัวรุ่นต่อมายังมีการเพิ่มลวดลายจกดาวที่ตีนซิ่น การจกดาวคือการเอานิ้วจกลงไประหว่างเส้นด้ายที่ขึงทออยู่ แล้วปักลวดลายเฉพาะจุดออกมาเป็นรูปดาวระยิบระยับ นี่คือลักษณะเด่นที่ไม่มีในผ้าเก่าของจังหวัดอีสานอื่นใดเลยนอกจากอุบลฯ

ผ้ากาบบัว ผ้ากาบบัว ผ้ากาบบัว

และที่บันทึกตัวตนไว้ชัดเจนที่สุดคือ ผ้ากาบบัวคำ ผ้ากาบบัวรุ่นที่เพิ่มเทคนิคยกทองเข้าไป การยกทองคือการตีโลหะให้เป็นเส้นบางมากๆ แล้วทอแทรกเข้าไประหว่างไหม ทำให้ได้ผ้าออกมาแวววาวและหนักสุดๆ นี่เป็นเทคนิคที่เคยเกือบสูญหายไปจากอุบล เพราะคนธรรมดาสมัยก่อนห้ามใส่ผ้ายกทอง ทำให้มีทอในวังเจ้าวังนายเท่านั้น โชคดีที่ตระกูลของมีชัยสืบทอดเชื้อสายมา ทำให้ยังคงมีภูมิปัญญานี้อยู่

ผ้ากาบบัว ผ้ากาบบัว ผ้ากาบบัว

ชัดเจนแต่ยืดหยุ่น

การรักษาตัวตนเดิมว่ายากแล้ว ก็ยังยากไม่เท่าการคงตัวตนนั้นให้รอดได้ในโลกปัจจุบัน

มีชัยถอดบทเรียนให้เราฟังว่า “การฟื้นวัฒนธรรมผ้าทอไทยจะไม่ประสบความสำเร็จ หากผลผลิตออกมาไม่มีเอกลักษณ์ เช่น การยกผ้าหางกระรอกมาเป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัด แต่เทคนิคหางกระรอกนี่ใช้เยอะทุกจังหวัด ทำให้ไม่โดดเด่นชัดเจนพอ”

นั่นคือสาเหตุที่มีชัยคิดให้ผ้ากาบบัวมีเอกลักษณ์ชัดเจน กล่าวคือการใช้ 4 เทคนิคในผ้าผืนเดียว

แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็มองเห็นว่าวงการแฟชั่นนั้นอนิจจัง สิ่งที่อินเทรนด์อยู่ได้ไม่นานก็ต้องเปลี่ยนใหม่ เขาเลยตั้งกฎกติกาให้ผ้ากาบบัวอย่างยืดหยุ่น ผู้ทอจะเลือกใช้สีอะไรก็ได้ มัดหมี่เป็นลายอะไรก็ได้ ขิดตรงไหนเป็นรูปอะไรก็ได้ ส่วนเส้นยืนที่ต้องมี 2 สีขึ้นไป จะใช้ร้อยสีก็ได้

ผ้ากาบบัวจึงมีเพียงหนึ่งเดียว และมีได้เป็นร้อยเป็นพันแบบไปพร้อมกัน

หนึ่งในตัวอย่างการปรับใช้คือผ้ากาบบัวรุ่นล่าสุด ภายใต้ชื่อ ‘ผ้ากาบบัวแสงแรก’

เรื่องเริ่มมาจากว่า บ้านซะซองเป็นหมู่บ้านที่ได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย มีชัยจึงใช้หมู่บ้านนี้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบเป็นผ้ากาบบัวแสงแรก เขาเก็บสีสันส้มตัดกับฟ้ามาจากพระอาทิตย์ยามเช้า และใช้ลวดลายคล้ายผ้าขาวม้า เพื่อเล่าถึงวิถีชีวิตชาวประมงของหมู่บ้าน ส่วนการมีมัดหมี่เพียงแค่แถบเดียว ก็เพราะหมู่บ้านนี้ยังไม่ชำนาญด้านการทอผ้า เลยฝึกให้ทอมัดหมี่ที่แสนยากทีละน้อยๆ ก่อน

งดงามทั้งภายหน้าและเรื่องราวเบื้องหลัง จนได้ไปอยู่ในพระหัตถ์ของราชวงศ์อังกฤษเลยทีเดียว

ผ้ากาบบัว ผ้ากาบบัว ผ้ากาบบัว ผ้ากาบบัว ผ้ากาบบัว ผ้ากาบบัว

แบบฝึกหัดทอผ้า

ไม่ว่าจะออกแบบผ้ามาดีแค่ไหน แต่ส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือคนทอ

“ตอนที่เราเริ่มทำผ้ากาบบัวยังไม่มีกลุ่มทอผ้าเลย มีบ้านปะอาวบ้านเดียวที่ทอเป็น เราต้องขอทุนจังหวัดเพื่อจัดซื้อเครื่องมือทอผ้าให้หมู่บ้านนำร่อง 5 หมู่บ้าน เพื่อสร้างผ้ากาบบัวขึ้นมาให้ได้” มีชัยเล่าระลึกอดีต ก่อนบอกต่อไปว่า บ้านคำปุนได้ฝึกช่างทอผ้ารุ่นใหม่มาคนแล้วคนเล่า บางคนทอมัดหมี่ไม่เป็นก็ค่อยๆ ฝึกไป ขิดไม่เป็น แรกๆ ก็ให้คนอื่นมาเก็บขิดให้

เป้าหมายของโรงทอผ้าแห่งนี้คือ ฝึกอบรมช่างทอผ้าที่ไม่มีความชำนาญด้านใดด้านหนึ่งให้ทำได้ทุกอย่าง เรียกว่ารวมสรรพวิชาไว้ในผ้ากาบบัวผืนเดียว

การอบรมแต่ละครั้งมีคนมาร่วมมากถึงร้อยสองร้อยคน เพราะมาจากหลายหมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านมีความถนัดต่างกันไป เช่น บ้านหนองบ่อถนัดจกดาวและมีแปลงหม่อนที่สวย บ้านละสมดีถนัดทำซิ่นทิวมุก แต่ตอนแรกเหลือคนเดียวทั้งหมู่บ้านที่ทำลายจกดาวได้ บ้านจากจังหวัดอื่นที่ถนัดใช้กี่กระตุก ทำให้ทอเร็ว ได้วันละ 15 เมตร เทียบกับคนอุบลฯ ที่ได้วันละ 1 เมตรเท่านั้น

20 ปีผ่านไป มีคนหลายร้อยคนทั่วอีสานที่ทอผ้ากาบบัว

ไม่เหลือไหมเหลือ

ข้อดีอีกอย่างหนึ่งที่คนนึกอาจไม่ถึง คือผ้ากาบบัวใช้ไหมคุ้มสุดๆ

โดยทั่วไปแล้ว การจะทอผ้าให้ได้ 1 ผืนนั้นต้องใช้ไหมที่สีอยู่ในเซ็ตเดียวกันเป็นจำนวนมาก เวลาย้อมก็ต้องย้อมเผื่อเหลือ เพราะหากไหมหมดก่อนเสร็จผืน ย้อมใหม่แล้วจะไม่ได้สีเดิม ยกตัวอย่างเช่นผ้ามัดหมี่ต้องใช้ไหมมากถึง 24 – 25 หลอด เพื่อให้ได้ผ้าเป็นผืน คือ 2 หลา หากทอเสร็จผืนแล้ว สมมติว่าไหมเหล่านั้นเหลืออยู่ 5 หลอด ก็จะต้องเสียไปเฉยๆ เพราะการทอได้แค่ 5 คืบนั้นนำไปใช้ทำผ้าอะไรไม่ได้เลย

ผ้ากาบบัวแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ด้วยการเอาไหมเหลือๆ มารวมกัน สีหนึ่งทำขิด อีก 2 สีพันกันเป็นหางกระรอก แล้วแทรกระหว่างไหมมัดหมี่ จนทอยาวออกมาเป็นผ้าซิ่น 1 ผืนได้

“ไหมมันมีค่ามาก กว่าจะปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ฟูมฟัก กินใบหม่อนวันละ 8 ครั้ง น้ำยาถูพื้นกลิ่นแรงก็ตาย คือเราเลี้ยงดีกว่าลูก เราเลยอยากนำของเหลือมาใช้ให้คุ้มค่า” เถ่าบอก

การถ่ายทอดวิธีนี้ให้กลุ่มทอผ้าทั่วอีสาน จึงเป็นการถ่ายทอดแนวคิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าไปพร้อมกัน

ผ้ากาบบัว ผ้ากาบบัว

ซื้อขายด้วยใจ ไม่ใช่ด้วยเงิน

คุณอาจคิดว่าผ้าดีขนาดนี้ต้องมีแต่คนรวยซื้อแน่ๆ

แต่ในความเป็นจริง ผ้ากาบบัวของคำปุนมีตั้งแต่สนนราคา 150 – 200 บาท หรือแม้แต่ผ้าซิ่นผืนใหญ่ในราคา 400 บาทก็ยังหาได้

มีชัยเล่าให้ฟังว่า ผู้ที่มาซื้อผ้าของคำปุนมีตั้งแต่ครอบครัวชาวนาจะแต่งงาน มาหาซื้อผ้าสำหรับไหว้ผู้ใหญ่ ไปจนถึงร้านกวยจั๊บญวนในเมืองที่จะแต่งงานลูกสาว ก็ขอซื้อผ้าซิ่นผืนเป็นแสนเพื่อให้ตนสวยที่สุดในงานของลูก
“ถามว่าใครกล้าใช้ผ้าผืนเป็นแสน คำตอบคือแม่ค้าพ่อค้าในตลาดสดธรรมดานี่แหละ” มีชัยบอก “มันอยู่ที่คุณค่าว่าเขาให้ความสำคัญกับสิ่งนั้นขนาดไหน”

เพราะมองเห็นความจริงข้อนี้ ผ้ากาบบัวจึงมีราคาหลากหลาย ตั้งแต่ผ้าของดีที่เป็นไหมล้วน ไปจนถึงของที่ใครๆ ก็ใช้ได้อย่างฝ้ายผสมไหมและฝ้ายล้วน โดยมีชัยย้ำอย่างชัดเจนว่า การกำหนดราคาของผ้าทุกผืนเหมาะสมกับมูลค่าแล้ว ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ตามต้นทุนของผ้าผืนนั้นๆ

“ธุรกิจมีความสำคัญนะ แต่ไม่ใช่อันดับแรก เป็นอันดับสองรองจากใจ” ปรมาจารย์ผ้าพูดด้วยรอยยิ้ม

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล