26 กุมภาพันธ์ 2020
5 K

ใครจะไปเชื่อว่าในห้องจัดแสดงขนาดไม่ใหญ่ไม่โต ณ ตึกใจกลางย่านสยาม กำลังซุ่มจัดงานแสดงขุมทรัพย์นักสะสมของเมืองไทยระดับเทพไว้ด้วยกันอย่างอลังการ ตั้งแต่แจกันฝีมือปิกัสโซ ภาพเขียนที่หาดูได้ยากของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี หินอุกาบาต ไปจนถึงโครงกระดูกไดโนเสาร์สายพันธุ์ Siamosaurus Suteethori ขนาด 1:1! 

เรากำลังพูดถึงนิทรรศการ In search of other times: reminiscence of things collected ณ JWD Art Space พื้นที่แสดงงานศิลปะเปิดใหม่ ให้การบริการตั้งแต่ขนส่งยันจัดเก็บผลงานศิลปะ ซึ่งโชว์นี้ได้รับเกียรติจาก กิตติมา จารีประสิทธิ์ ภัณฑารักษ์รุ่นใหม่ไฟแรงมารับหน้าที่เสาะหา คัดสรร และออกแบบการจัดแสดง ผ่านของ 60 ชิ้นสุดพีกจากนักสะสม 22 ท่าน ให้พวกเราได้ชมกันเป็นบุญตา

ว่าแต่ว่า เรื่องราวของวัตถุเหล่านี้ร้อยเรียงกันอย่างไร แต่ละชิ้นสื่อถึงความสัมพันธ์กับผู้สะสมหรือไม่ กระบวนการกว่าจะได้มาซึ่งของเหล่านี้มีอะไรบ้าง เราเก็บคำถามเหล่านี้ไปถามภัณฑารักษ์ของนิทรรศการแบบเอ็กซ์คลูซีฟ เพื่อให้ผู้อ่านได้ถอดรหัสสิ่งเหล่านี้ไปกับเราอย่างมีอรรถรสมากขึ้น ไม่มากก็น้อย

In search of other times: reminiscence of things collected
In search of other times: reminiscence of things collected

  กิตติมาตั้งต้นจากการอธิบายคอนเซปต์ของงาน เริ่มด้วยคุณลักษณะของพื้นที่จัดแสดงที่รองรับวัตถุที่มีลักษณะหลากหลาย อีกทั้งความต้องการของแกลเลอรี่ที่จะสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ ระหว่างผู้ชม ศิลปิน และนักสะสมผลงานศิลปะในนิทรรศการแรกของสเปซนี้ เธอจึงต้องการนำเสนอภาพกว้างของการสะสมในวงการนักสะสมบ้านเรา

“การจะเดินดุ่มๆ ไปขอดูชุดสะสมเขาเนี่ย ปกติแล้วไม่น่าจะมีใครเขาให้ดูกันง่ายๆ อย่าพึ่งคิดถึงการยืมมาแสดงเลย มันต้องอาศัยการพูดคุย อธิบาย เข้าไปเล่าให้นักสะสมแต่ละคนฟังว่าเรากำลังทำอะไรและจะทำมันอย่างไร บางคนแวะไปหาเขาอยู่หลายทีมาก แต่เขาก็ยังไม่อยากร่วมก็มี” กิตติมาเล่า

“ความยากอีกอย่างหนึ่งคืออาร์ตคอลเลกเตอร์ส่วนใหญ่มีลิสต์รายชื่อศิลปินในคอลเลกชันที่คล้ายๆ กัน ศิลปินระดับอาจารย์อย่างอาจารย์ถวัลย์นี้มีเกือบทุกบ้าน แล้วผลงานของอาจารย์ถวัลย์ชิ้นไหนที่จะเหมาะกับนิทรรศการเรา นี่แหละคือการบ้านของภัณฑารักษ์”

นิทรรศการของสะสมที่ JWD Art Space กลางสยามซึ่งมีแจกันปิกัสโซยันโครงกระดูกไดโนเสาร์ขนาด 1:1

แน่นอนว่านี้ไม่ใช่งานแรกของกิตติมา เธอเคยนำเสนอนิทรรศการที่ใช้กระบวนการคัดสรรชิ้นงานจากคอลเลกชันมาแล้วหลายงาน อาทิ Temporal Topography หรือ แดนชั่วขณะ: ศิลปะสะสมใหม่เอี่ยมจาก พ.ศ. ๒๕๕๓ จนถึงปัจจุบัน ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม จังหวัดเชียงใหม่ แต่สำหรับงานนี้เธอต้องทำงานกับนักสะสมจำนวนมากและมีเพียงศิลปวัตถุเพียงอย่างเดียว ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง 

  “เราเชื่อว่าโดยทั่วไปนอกจากสะสมงานศิลปะแล้ว คอลเลกเตอร์น่าจะสะสมอย่างอื่นด้วย ความโชคดีคือคนแรกที่ไปเจอเลยคือคุณพิ (พิริยะ วัชจิตพันธ์) เขานัดไปคุยที่บ้าน แล้วก็ช็อกไปเลย คือคุณพิเขาเก็บตั้งแต่ต้นไม้ประหลาด อุกกาบาต ไปจนถึงกระดูกฟอสซิล ซึ่งเขาชอบมากเป็นพิเศษอยู่แล้วแบบที่จับปุ๊บก็แยกได้ทันทีเลยว่าสายพันธุ์ไหนโดยเฉพาะฟอซซิลช้าง

วิธีการที่เขาทำงานร่วมกับนักบรรพชีวินวิทยาก็น่าสนใจ หลังจากที่เขาเจอกระดูกจากบ่อขุด ซึ่งส่วนใหญ่เจอโดยบังเอิญจากการก่อสร้างหรือบางทีชาวบ้านเอามาให้บ้าง ถ้าเขาคิดว่ามันเป็นสายพันธุ์ใหม่ เขาก็จะส่งไปให้นักวิทยาศาสตร์ นักบรรพชีวินวิทยาตรวจสอบ ถ้าเป็นสปีชีส์ใหม่ เขาก็จะมอบกระดูกจริงอันนั้นให้ทางศูนย์เก็บไว้เป็นกรณีศึกษาเลย ส่วนตัวเขาขอเก็บแค่แคสกระดูกเท่านั้น ที่สนุกคือเขามีเปเปอร์วิทยาศาสตร์เยอะมาก มีลิงสายพันธุ์ที่ตั้งชื่อตามเขาด้วย ซึ่งชิ้นส่วนที่ค้นพบคือกรามล่างของ Khoratpithecus Piriyai ที่ได้นำมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้ด้วย การทำงานของเขานอกเหนือจากเป็นนักสะสมแล้ว ยังเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการค้นพบทางบรรพชีวินใหม่ๆ เป็นองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ในแวดวงการศึกษาบรรพชีวินวิทยาอีกด้วย” 

นิทรรศการของสะสมที่ JWD Art Space กลางสยามซึ่งมีแจกันปิกัสโซยันโครงกระดูกไดโนเสาร์ขนาด 1:1

ส่วนของงานศิลปะ ภัณฑารักษ์ของเราก็เลือกชิ้นที่น่าสนใจมาจัดแสดงเช่นกัน ทั้งผลงานที่มีลายเส้นโดดเด่นจากมาสเตอร์ดังๆ อย่างจิตรกรรมชื่อ Lost ของ ชาติชาย ปุยเปีย หรือ Marine Forms ของ ถวัลย์ ดัชนี รวมไปถึงงานที่หลายคนอาจจะไม่คุ้น อย่าง Do We Learn Something From This Yet ของ เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล ซึ่งเป็นหลอดแก้วใส่น้ำจากเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2011 ที่ศิลปินไปตวงมาจากจุดต่างๆ ติดตั้งบนผนังตามความสูงของระดับน้ำในจุดนั้น ชิ้นนี้มาจากนักสะสมคือศักดา ฉันทนาวานิช ผลงานในครอบครองของเขามีไม่น้อยที่เป็นศิลปินรุ่นใหม่และสะท้อนประเด็นทางสังคมการเมืองอย่างชิ้นนี้ จนเกือบจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของสภาวะสังคมร่วมสมัยก็ว่าได้ 

นอกจากนี้ เรายังได้เห็นชิ้นงานที่แสดงความสัมพันธ์เกื้อหนุนกันระหว่างศิลปินและนักสะสม อย่างงาน Palm Tree โดย เต้ ภาวิต มาจาก ศุภมาศ พะหุโล หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Bangkok CityCity Gallery ที่เคยจัดแสดงงานครั้งใหญ่กับศิลปิน หรืองานที่ยืมมาจาก ATTA Gallery ล้วนมีลักษณะเป็นจิวเวลรี่ร่วมสมัย ตามสไตล์ของแกลเลอรี่ด้วย

  “ในการทำนิทรรศการจึงต้องศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลก่อนว่า ในแวดวงการสะสมผลงานศิลปะไทยนั้นเขาเก็บอะไรกันบ้าง และผลงานศิลปะของศิลปินแต่ละท่านมีคุณค่าอย่างไรนอกเหนือไปจากคุณค่าเชิงสุนทรียะแล้ว จากนั้นเราก็มีลิสต์ของผลงานอยู่ในใจ แล้วค่อยๆ เลือกเข้าเลือกออกอยู่อย่างนั้น บางชิ้นคือคิดไว้แล้วว่าต้องมีแน่ๆ ก็เอาชิ้นนั้นเป็นแกนหลักแล้วค่อยหมุนตามเส้นเรื่องหลักของนิทรรศการ” 

กิตติมาบอกว่า วิธีจัดแสดงของงานนี้ไม่ได้เรียงตามเส้นเวลา (Chronicle Timeline) หรือเรียงตามอายุจากเก่าไปใหมแบบที่พิพิธภัณฑ์ทั่วไปชอบทำกัน แต่เธอเลือกวางให้ทุกอย่างปะปนกัน ด้วยนิยามความเป็นศิลปะร่วมสมัยสำหรับเธอนั้นไร้กรอบที่แบ่งด้วยประเภท สิ่งของทั้งโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ไปจนถึงงานดีไซน์จึงถูกวางคละกัน จงใจให้คนตั้งคำถาม และพยายามจะเชื่อมโยงพวกมันเข้าด้วยกันเองตามความเข้าใจของแต่ละคน 

นิทรรศการของสะสมที่ JWD Art Space กลางสยามซึ่งมีแจกันปิกัสโซยันโครงกระดูกไดโนเสาร์ขนาด 1:1

บางคนอาจจะมองถึงโทนสีที่เข้ากัน บางคนอาจจะมองถึงมูลค่า หรือสำหรับของบางกลุ่ม หากพินิจพิเคราะห์ดีๆ อาจสาวความได้ถึงวัฒนธรรมทางวัตถุที่ปรากฏในอารยธรรมมนุษย์ตั้งแต่ดึกดำบรรพเลยก็ได้ อาทิ ภาพวาดกำไลที่ขุดพบที่บ้านเชียง โดยดุษฎี ฮันตระกูล และไหจากวัฒนธรรมดงเซิน วัฒธรรมในยุคสำริดของตอนเหนือเวียดนาม ล้อไปกับไหที่มีเทคนิคการเคลือบสองแบบจากญี่ปุ่น จวบจนไหของศิลปินโมเดิร์นร่วมสมัย อย่างปิกัสโซ และลูซี ริเอะ เป็นต้น

อีกโซนที่น่าสนใจ คือโซนที่อุทิศแด่ อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ จัดแสดงทั้งงานจิตรกรรมฝีมือของท่านเคียงคู่กับแผนที่ประเทศไทยที่ท่านวาดเอง บนนั้นมีการระบุจุดของสถานที่ที่ท่านเดินทางไปลอกลายกำแพงวัดเป็นสีแดงทั่วไปหมด 

“ตอนแรกเราคิดว่าจะจัดแสดงภาพที่ท่านลอกลายกำแพง แต่พอได้พูดคุยกับนักสะสม (คุณธีระ วานิชธีระนนท์) จึงพบว่าคุณธีระเก็บ Archive ของอาจารย์เฟื้ออยู่เยอะมาก นอกจากสเกตช์สมุดบันทึกตลอดช่วงเวลาที่อาจารย์อยู่ที่อินเดียแล้ว ยังเก็บลังฟิล์มของอาจารย์เฟื้อ ซึ่งอาจารย์เขาถ่ายรูปเยอะมาก ความสนุกคือการไปนั่งไล่ดูรูปที่ละแผ่นฟิล์ม เราได้เห็นภาพการบันทึกของเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงบันทึกเรื่องราวชีวิตประจำวันของอาจารย์เฟื้อด้วย”

ทั้งแผนที่ งานวาด และฟิล์มเหล่านี้ จึงสะท้อนให้เห็นมุมมองของลื่นไหลระหว่างความเป็นทั้งศิลปิน นักสะสม และนักสำรวจ ในเวลาเดียวกัน

นิทรรศการของสะสมที่ JWD Art Space กลางสยามซึ่งมีแจกันปิกัสโซยันโครงกระดูกไดโนเสาร์ขนาด 1:1

  ในตอนท้ายเราชวนกิตติมาพูดคุยถึงเรื่องการสะสม โดยเธอให้ความเห็นว่า ใครๆ ก็เป็นคอลเลกเตอร์ได้ ขึ้นอยู่กับว่าสะสมอะไร เช่นสะสมพระเครื่องซึ่งก็น่าจะมีเป็นหมื่นเป็นแสนคน สะสมรถ สะสมตุ๊กตา สะสมแสตมป์ เหรียญ นาฬิกา โมเดลกันดั้ม ฯลฯ (ส่วนตัวเธอชอบสะสมหนังสือศิลปินและเดี๋ยวนี้ชอบเก็บเทปกาวลายน่ารักๆ) พฤติกรรมการสะสมมันมีอยู่ในทุกคน ทุกวงการ รวมถึงวงการศิลปะ โบราณคดีสังคมศาสตร์ ตามที่เห็นกันในนิทรรศการนี้ นักสะสมทุกคนต่างเป็นส่วนหนึ่งของวงล้อที่จะขับเคลื่อนวงการที่ตนสนใจไปข้างหน้าได้ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี ตำแหน่งพระเอกของงานนี้ต้องยกให้กับพื้นที่ของ JWD Art Space ซึ่งเธอคิดว่าเป็นที่แรกและที่เดียวในภาคเอกชนที่มีการเก็บรักษาอย่างเป็นระบบ ทั้งเรื่องความปลอดภัยของตัวศิลปะวัตถุเอง ในเชิงกายภาพของพื้นที่ทั้งระบบควบคุมอุณหภูมิ แสง ความชื้น ในระดับมาตราฐานสากล ทั้งหมดล้วนสำคัญมากสำหรับวงการพิพิธภัณฑ์และศิลปะบ้านเรา เพราะถ้าจะสะสมและแสดงวัตถุระดับโลกได้ ก็ต้องรักษาความปลอดภัยให้แก่งานได้ด้วยเช่นกัน

นิทรรศการของสะสมที่ JWD Art Space กลางสยามซึ่งมีแจกันปิกัสโซยันโครงกระดูกไดโนเสาร์ขนาด 1:1

หากใครสนใจงานนี้ เข้าชมได้ฟรีที่ JWD Art Space วันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00 – 19.00 น. และถ้าอยากฟังเรื่องราวสนุกๆ จากภัณฑารักษ์เพิ่มเติม เข้าร่วม Curator’s Tour ได้ในวันเสาร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 มี 2 รอบ คือเวลา 14.00 น. กับ 17.00 น. 

สำรองที่นั่งได้ที่เพจเฟซบุ๊ก JWD Art Space หรืออีเมล [email protected] โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

Writer & Photographer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร