การแข่งขันกีฬาของคนพิการ หรือแม้กระทั่งมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดของพวกเขาอย่างพาราลิมปิก ไม่เคยได้รับความนิยมในประเทศไทย นี่คือความจริงที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีผลงานที่ได้รับการยอมรับในเวทีระดับโลก และมีผู้ให้การสนับสนุนอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งการมาถึงของ คุณจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี หรือที่น้อง ๆ ในวงการกีฬาคนพิการเรียกอย่างสนิทสนมว่า ‘นาย’ พร้อมด้วยทีมงานคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทยได้ก้าวเข้ามา พร้อมกับตั้งภารกิจที่เรียกได้ว่าเรียกร้องต่อตัวนักกีฬา ผู้ชมอย่างเรา ๆ รวมไปถึงคณะผู้บริหารอย่างตัวเขาเองอย่างมาก ด้วยประโยคสั้น ๆ แต่ทรงพลังและสร้างความคาดหวัง

ความสำเร็จของพาราลิมปิกไทย จากแนวคิดของผู้ที่มองว่าการพัฒนาสำคัญกว่าผลการแข่งขัน

“เราจะต้องดีขึ้นกว่าเดิม”

น่าสนใจว่าพวกเขาและประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทยอย่าง จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ฝันอะไร และคาดหวังแค่ไหนกับวงการนี้

“การแข่งขันครั้งที่ผ่านมา ถ้ามองในเรื่องจำนวนเหรียญ เราได้สิบแปดเหรียญ ซึ่งเท่ากับพาราลิมปิกครั้งที่แล้ว ที่ Rio ปี 2016”

เขาเริ่มด้วยสถิติที่ทัพนักกีฬาไทยทำได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผลงานของนักกีฬาเป็นสิ่งที่เขาให้ความสนใจอย่างจริงจัง 

“ถ้ามองจำนวนเหรียญทอง เหรียญเงิน เราลดลงหนึ่งเหรียญ แต่ถ้ามองในอันดับ ผมเห็นว่าเราทำได้ดี ครั้งนี้เราอยู่ที่อันดับยี่สิบห้า ใกล้เคียงกับครั้งที่ผ่านมา

ถึงแม้จำนวนเหรียญจะลดลง แต่อันดับที่ทำได้ รวมถึงผลงานนักกีฬาโดยรวม แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการอย่างชัดเจน เพราะหลายชนิดกีฬามีการปรับเปลี่ยน หลายประเทศพัฒนาขีดความสามารถของตัวเองให้ใกล้กับหัวแถวได้ แม้จีนจะยังครองตำแหน่งเจ้าเหรียญทอง แต่เหรียญที่ทำได้ก็ลดลง แสดงให้เห็นถึงการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งทำให้เหรียญรางวัลกระจายกันมากขึ้น และก็อาจทำให้คณะกรรมการพาราลิมปิกตั้งเป้าหมายได้ง่ายขึ้นด้วย

“พูดได้ว่าเรายังคงเป็นที่หนึ่งในอาเซียนและเป็นแถวหน้าของเอเชีย ผมถือว่าเราทำได้ดี” เขากล่าวอย่างมั่นใจ ซึ่งไม่ได้ลอยมาจากอากาศ แต่มาจากการที่เขามีประสบการณ์การเป็นผู้จัดการทีมนักกีฬาไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 ก่อนจะรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทยใน พ.ศ. 2552 ซึ่งผ่านมากว่า 10 ปี จากทีมที่เคยต้องรอนักกีฬาปกติซ้อมเสร็จก่อนถึงจะได้ใช้สนามซ้อม ทีมที่เคยได้เก็บตัวแค่เดือนเดียว เทียบกับนักกีฬาปกติ 6 เดือน คุณจุตินันท์ผลักดันให้ทัพนักกีฬาคนพิการไทยขึ้นมาเป็นแถวหน้าของเอเชียอย่างภาคภูมิ

ความสำเร็จของพาราลิมปิกไทย จากแนวคิดของผู้ที่มองว่าการพัฒนาสำคัญกว่าผลการแข่งขัน

“ครั้งแรกที่ได้รู้จักกีฬาคนพิการ ผมยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ ยังไม่รู้ถึงความเป็นกีฬา พอได้คลุกคลีอยู่สองถึงสามปี ไปดูการซ้อม การเก็บตัว ไปดูการแข่งขัน อยู่ข้างสนาม กินนอนด้วยกัน ทำให้ผมเข้าใจมากขึ้น กว่าที่นักกีฬาพาราลิมปิกจะเดินทางมาถึงจุดที่พวกเขาอยู่ตรงนี้ ต้องเสียสละอะไรมาบ้าง ผ่านอะไรมาบ้าง ต้องฝึกฝนตัวเองมากแค่ไหน ไม่ใช่แค่ฝึกด้านร่างกาย แต่ต้องฝึกจิตใจด้วย ไม่ต่างจากนักกีฬาปกติเลย” 

การเป็นผู้บริหารไม่ใช่การทำหน้าที่ในการจัดการปัจจัยภายนอก เช่น การจัดหาการแข่งขันให้นักกีฬาหน้าใหม่ได้มีสนามลับฝีมือ หรืออำนวยความสะดวกยิบย่อยเช่น ที่ซ้อม ที่พัก เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเข้าไปอยู่ในชีวิตของพวกเขา เข้าใจความหวัง ความฝัน ความกลัว อารมณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับคนปกติ ที่ไม่เข้าใจความยากลำบากที่คนพิการกำลังเผชิญได้เลย

“ยกตัวอย่างนะ สนามกีฬาของนักกีฬาปกติไม่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่คอยช่วยเหลือคนพิการ เช่น ทางลาดสำหรับรถเข็น ห้องน้ำคนพิการ ผมเลยเข้ามาช่วยเขาทุกเรื่อง ทั้งเรื่องชีวิต ความเป็นอยู่ เรื่องหมอ เรื่องกฎหมาย เรื่องทนาย ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน เราดูแลชีวิตกันและกัน เลยมีความผูกพันกัน” เขาย้ำประเด็น “ผมก็เป็นนักกีฬา ผมมีประสบการณ์ทั้งเคยเป็นนักกีฬา เป็นโค้ช เป็นผู้บริการสมาคมกีฬา ผมถึงเข้าไปช่วยเขา ตั้งแต่ยังไม่มีใครให้ความสำคัญเลย ผมเข้าใจเขา จึงต้องทำให้เกิดความรู้สึกว่า เราพวกเดียวกัน ถ้ามีอะไรที่ต้องช่วย ผมจะช่วยอย่างเต็มที่ ทั้งในฐานะประธานฯ และฐานะคนกีฬาเหมือนกัน”

ความสำเร็จของพาราลิมปิกไทย จากแนวคิดของผู้ที่มองว่าการพัฒนาสำคัญกว่าผลการแข่งขัน

สำหรับเป้าหมายของพาราลิมปิกปารีส ปี 2024 เขาให้ความสำคัญเรื่องการแข่งขันน้อยกว่าการวางแผน ซึ่งเขามองว่าเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ทุกความฝันและความคาดหวังเป็นจริงได้

“วันนี้พาราลิมปิกเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในโลกมากขึ้น ทำให้มีกีฬาใหม่ ๆ เกิดขึ้น กฎกติกาก็พัฒนาไป นักกีฬาหน้าใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก ความสำเร็จจะแพร่กระจายสู่ประเทศต่าง ๆ เยอะขึ้น ซึ่งมันเป็นพัฒนาการของกีฬา การแข่งขันในระดับอาเซียนและเอเชียจะดุเดือดมากขึ้น เพราะทุกประเทศหันมาให้ความสำคัญกับกีฬาคนพิการมากขึ้น ทุ่มงบประมาณมากขึ้น การวางแผนการสร้างทีมและการใช้งบประมาณต้องสอดคล้องกัน และใช้ให้ถูกวิธี”

เป้าหมายของแต่ละสมาคมแตกต่างกันออกไป แต่หลักใหญ่ที่ทุกสมาคมมีร่วมกัน คือความเชื่อที่ว่า “เราจะต้องดีขึ้น” ซึ่งคุณจุตินันท์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาตลอดเวลา ทั้งในแง่การจัดการและการแข่งขัน 

“สำหรับพาราลิมปิกครั้งหน้าที่ฝรั่งเศส ถ้าเราให้ความสำคัญเรื่องเหรียญอย่างเดียวคงไม่ถูกต้องนัก ด้วยเหตุผลสองประการ คือ รายการการแข่งขันของกีฬาคนพิการจะมีการปรับลด-เพิ่มตลอดเวลา ทำให้โอกาสในการการทำเหรียญเปลี่ยนไปตามรายการ การแข่งขันที่ถูกตัดออก หรือ เพิ่มเข้ามาตลอด อีกประการหนึ่งคือ หลัก ๆ ของการแข่งขันพาราลิมปิก เน้นที่การมีส่วนร่วม ไม่ใช่การสร้างสถิติ ทำให้ทุกการแข่งขันต้องพยายามปรับ เพื่อเพิ่มโอกาสให้นักกีฬามีส่วนร่วมในเกมมากขึ้น”

หลาย ๆ ชนิดกีฬา เริ่มมีนักกีฬาหน้าใหม่ที่เติบโตมาช่วยรุ่นพี่สร้างผลงานแล้ว เช่น ยกน้ำหนัก ว่ายน้ำ และฟันดาบ รวมไปถึงเทเบิลเทนนิสและยิงปืน แต่ไฮไลต์สำคัญคือ ทัพนักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่ง

‘จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี’ เบื้องหลังความสำเร็จของทัพนักกีฬาพาราลิมปิกไทย และความเชื่อว่าวงการกีฬาคนพิการไทยดีได้กว่าที่เคยฝันไว้

“ผมยังเชื่อว่าทีมวีลแชร์เรซซิ่งจะทำผลงานได้ดี พัฒนามาตลอด ตั้งแต่ได้เหรียญทองในปี 2000 เป็นต้นมา จนถึงตอนนี้กว่ายี่สิบเอ็ดปี พวกเขาทำได้ยังไง มีการสร้างนักกีฬารุ่นใหม่ ๆ ขึ้นมาเสริมทีมตลอด ตั้งแต่ เรวัตร์ ต๋านะ, ประวัติ วะโฮรัมย์, สายชล คนเจน เรื่อยมาจนถึง พงศกร แปยอ อธิวัฒน์ แพงเหนือ ซึ่ง โค้ชสุพรต เพ็งพุ่ม เป็นคนเก่ง สร้างทีม สร้างความเป็นครอบครัวในทีมให้เกิดขึ้นได้” 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พงศกร แปยอ หรือ ‘เจ้ากร’ เจ้าของ 3 เหรียญทองและสถิติโลกคนล่าสุด คนที่ติดตามการแข่งขัน T53 800 เมตร จะเห็นว่าเจ้ากรปล่อยให้ เบรนท์ ลาคาทอส คู่แข่งชาวแคนาดา เจ้าของสถิติโลก ณ ตอนนั้นแซงไปก่อนในรอบแรก ก็เพราะเขารู้ว่าร่างกายที่ฝึกฝนมาจะทำหน้าที่ของมันโดยไม่ต้องคิดมาก โดยเขาแซงหน้าคว้าเหรียญทองและทำลายสถิติโลกได้ในท้ายที่สุด โดยเจ้ากรเปิดเผยว่า เขาได้ข้อมูลเรื่องสนามแข่งและตารางการฝึกซ้อมที่เข้มข้น ทำให้ฝึกซ้อมได้อย่างตรงเป้าและประสบความสำเร็จอย่างงดงาม อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นผลงานและแรงสนับสนุนที่คณะกรรมการพาราลิมปิกทำมาอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปี

สำหรับคุณจุตินันท์ ผลการแข่งขันเป็นน่าภาคภูมิใจ แต่ความสำคัญอยู่ที่การสนับสนุนที่คงเส้นคงวา และเป้าหมายที่มีร่วมกันอย่างชัดเจน 

“สำคัญคือสิ่งเหล่านี้จะสร้างความสำคัญกับการมีอยู่ของคนพิการ ความสำเร็จของนักกีฬาคนพิการจะเป็นตัวอย่างทั้งกับคนพิการและคนปกติทั่วไป สำหรับพาราลิมปิกเกมส์ที่ฝรั่งเศส ผมยังเชื่อว่าเราจะยังทำได้ดี อันดับคงอยู่ใกล้เคียงเดิม ไม่น่าจะต่ำกว่าอันดับที่สามสิบ แต่ก็อย่างที่บอกครับ ถ้าจะนับความสำเร็จที่จำนวนเหรียญทอง อาจจะไม่แน่นอน เพราะรายการการแข่งขันจะมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด รวมทั้งการพัฒนาของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่ตื่นตัวกับกีฬาคนพิการ”

เรื่องจิตใจที่จะทุ่มเทให้ทีมนักกีฬาคนพิการ และความรักในกีฬาที่ทำให้ดำรงตำแหน่งมายาวนานมากกว่า 10 ปี คงไม่มีใครตั้งคำถาม แต่ในความเป็นจริง ทุกการแข่งขันต้องมีการวัดผลเพื่อรางวัล คุณจุตินันท์ได้วางเป้าหมายสำคัญ เพื่อเป็นหลักชัยให้ทั้งกับตัวเองและทีมนักกีฬาคนพิการไทยทุกคน เพื่อให้มีเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งเขาเชื่อว่าเมื่อเราทำเพื่อส่วนรวมโดยมีการสนับสนุนที่ถูกต้อง เราจะไปได้ไกลกว่าเดิม และอาจจะไกลกว่าที่เคยฝันไว้

‘จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี’ เบื้องหลังความสำเร็จของทัพนักกีฬาพาราลิมปิกไทย และความเชื่อว่าวงการกีฬาคนพิการไทยดีได้กว่าที่เคยฝันไว้

“ขั้นต้นคือความสำเร็จด้านผลงาน ตัวนักกีฬาเองต้องการการสนับสนุนหลาย ๆ อย่าง เพื่อให้พวกเขาสร้างผลงานได้ดีขึ้นเทียบเคียงกับต่างประเทศ ซึ่งเราก็ทำมาโดยตลอด และมันเริ่มออกดอกผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแข่งขันพาราลิมปิก ในปัจจุบันเราทำได้แล้ว เราเป็นที่หนึ่งของอาเซียน เป็นหัวแถวของเอเชีย และมีหลายชนิดกีฬาที่เราเป็นแชมป์โลก เจ้าของเหรียญทองพาราลิมปิก มากไปกว่านี้ คือการสานต่อความสำเร็จต่อเนื่องไปยังนักกีฬาคลื่นลูกใหม่ ให้ก้าวขึ้นมาสานต่อความสำเร็จจากนักกีฬารุ่นพี่ที่ทำไว้ นักกีฬารุ่นพี่ก็นำประสบการณ์ที่มีมาต่อยอดสู่การเป็นโค้ช ดูแลนักกีฬารุ่นต่อไป มีพื้นที่ให้เขาได้แสดงฝีมือ” 

แผนการขั้นต้นของเขาแสดงให้เห็นว่า เขาต้องการให้นักกีฬาคนพิการมีเส้นทางไปต่อหลังเลิกเล่น หลายครั้งที่เราพบเห็นตามข่าวว่า นักกีฬาที่เคยสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไม่ได้รับการเหลียวแล เขาไม่อยากให้เกิดเรื่องเช่นนั้นอีก

“ส่วนต่อไปก็คือ ผมสัมผัสนักกีฬามา ผมทราบดีว่าเขาใช้ความพยายามมาก ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่คนพิการจะประสบความสำเร็จในด้านกีฬา เมื่อพวกเขาทำได้ ย่อมต้องการคนในสังคมร่วมชื่นชมยินดีกับความสำเร็จของเขา ความสำเร็จของเขาเป็นมากกว่าความภูมิใจในตัวเอง แต่แสดงออกถึงการยอมรับจากสังคม เป็นที่รู้จัก และเป็นโอกาสในการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับคนปกติ ซึ่งมีความหมายกับพวกเขามาก และความสำเร็จของพวกเขาเป็นตัวอย่างที่ดีให้คนพิการอีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งคนปกติด้วย ให้ลุกขึ้นมาสู้กับการดำเนินชีวิต หรือแม้กระทั่งการจะลุกขึ้นมาเล่นกีฬาก็ตาม” คุณจุตินันท์ไม่ได้มองแค่ในแง่ความสำเร็จด้านอาชีพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะเขารู้ดีว่าที่ยืนในสังคมสำหรับคนพิการโดยทั่วไปยังมีอยู่ไม่มากนัก ถึงแม้ผู้พิการทุกคนจะไม่ใช่นักกีฬา แต่เขาก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลงานที่พวกเขาทำได้ จะจุดประกายให้เกิดการแรงกระเพื่อมในสังคม

สิ่งสุดท้ายที่เขาฝัน คือความสำเร็จในด้านการดูแลและตอบแทนจากภาครัฐ 

“ผมคิดว่าความสำเร็จของนักกีฬาคนพิการไม่แตกต่างจากนักกีฬาปกติ และการเดินบนเส้นทางสู่ความสำเร็จ ก็ต้องการการสนับสนุนดูแลจากภาครัฐไม่ด้อยกว่านักกีฬาทั่งไป วันนี้ผมสู้เพื่อนักกีฬาผู้พิการ และได้ทำให้หลายอย่างดีขึ้น เงินอัดฉีดต่อเหรียญรางวัลจากรัฐบาลดีขึ้นกว่าเดิมมาก อยู่ในระดับประมาณหกสิบเปอร์เซ็นต์ของนักกีฬาปกติ แต่ผมก็ยังอยากผลักดันให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับนักกีฬาปกติมากกว่านี้ ยิ่งถ้าอยู่ในระดับเดียวกันได้ยิ่งดี เพราะผมรู้ว่าพวกเขาพยายามอย่างมากกว่าจะมาถึงวันที่ประสบความสำเร็จ ไม่น้อยไปกว่านักกีฬาปกติเลย ต้องใช้ความพยายามมากกว่าด้วยซ้ำ ด้วยความไม่สมบูรณ์ของร่างกาย” 

เป้าหมายของคุณจุตินันท์ทำไม่ได้ง่าย แต่หากได้มองย้อนจากการลงแรง ความทุ่มเท การทำเพื่อส่วนรวม และผลงานที่ปรากฏตลอดกว่า 10 ปีที่อยู่ในตำแหน่งนี้ พูดได้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน สำหรับทัพนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทยและคนไทยทุกคน

‘จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี’ เบื้องหลังความสำเร็จของทัพนักกีฬาพาราลิมปิกไทย และความเชื่อว่าวงการกีฬาคนพิการไทยดีได้กว่าที่เคยฝันไว้

Writer

Avatar

นรินทร์ จีนเชื่อม

จบรัฐศาสตร์ ชอบอ่านวรรณกรรมคลาสสิค หลงใหลการโต้เถียงแบบมีอารยะ กินกาแฟดำเหมือนนักเขียนรุ่นใหญ่ แต่ใจจริงชอบแฟรบปูชิโน่คาราเมลเพิ่มไซรัป