ณ ดินแดนใต้สุดของประเทศไทยอย่างยะลา ปัตตานี นราธิวาส มีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั้งหมด 215 แห่ง

ตัวเลขนี้อาจไม่ได้น่าตกใจอะไร แต่หากลองพลิกกระดาษดูรายชื่อนายก อบต. จะพบว่ามีเพียง 6 ใน 215 แห่งเท่านั้นที่มีผู้นำระดับนายก อบต. เป็นผู้หญิง

ภายใต้สังคมของอิสลามิกชนที่มีข้อถกเถียงเรื่องบทบาทหน้าที่สตรี ความเชื่อว่าผู้หญิงควรประกอบภารกิจในบ้านเรือนให้ดีครบถ้วนเสียก่อนจะไปทำอะไรอื่น และข้อจำกัดที่เคร่งครัดกว่าผู้ชาย ทั้งการเข้าสถานที่ต่างๆ การแต่งกาย และการประกอบอาชีพ การดำรงตำแหน่งนายก อบต. ของ จุฑามณี หามะ หรือที่ชาวบ้านชุมชนแว้งเรียกเธออย่างเป็นกันเองว่า ‘กะนิง’ (กะหรือก๊ะในภาษามลายูหมายถึง ‘พี่สาว’) คือปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ยาก

จุฑามณี หามะ นายก อบต. หญิงคนแรกของตำบลแว้ง นราธิวาส ผู้ชนะใจประชาชนตลอด 16 ปี

ไม่เพียงเป็นผู้นำหญิงเท่านั้น เธอได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้ดูแลสารทุกข์สุขดิบของสมาชิกราว 7,200 คนในตำบล ต่อเนื่องมายาวนาน 3 สมัย รวมทั้งหมด 16 ปี

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้นำยุคสมัยใหม่จะยืนระยะครองใจพลเมืองได้นานถึงเพียงนี้

จากตำบลห่างไกลแห่งหนึ่งในแผนที่ที่เข้าไม่ถึงโอกาสนานับประการ กะนิงยกระดับแว้งให้กลายเป็นศูนย์เชี่ยวชาญการสร้างโอกาสทางสังคม ที่ผู้นำหลายตำบลต้องขอแวะเวียนมาเยี่ยมชมเป็นตัวอย่าง แว้งมีกลุ่มสังคมกลมเกลียวแน่นแฟ้นแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สร้างอาชีพให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้ด้วยรอยยิ้ม ในจังหวัดที่ถูกจัดอันดับให้มีอัตราความยากจนสูงติด 5 อันดับแรกของประเทศ และรวมพลังคนในชุมชนกันเพื่อฝ่าภัยครั้งแล้วครั้งเล่า รวมถึงภัยวิกฤตอย่าง COVID-19

จุฑามณี หามะ นายก อบต. หญิงคนแรกของตำบลแว้ง นราธิวาส ผู้ชนะใจประชาชนตลอด 16 ปี

ในสังคมที่ปากเสียงส่วนใหญ่มาจากผู้ชาย ผู้นำหญิงคือตัวแทน แรงบันดาลใจ และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจไปข้างหน้า และเป็นผู้ช่วยยืนยันให้ประจักษ์ชัดว่า พลังของสตรีนั้นยิ่งใหญ่ไม่แพ้ใคร

เธอปรับเปลี่ยนชุมชนได้อย่างไร เราขอชวนคุณเก็บสัมภาระลงใต้พร้อมสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่ลงไปทำงานร่วมกับชุมชน มุ่งหาคำตอบถึงการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SEP for SDGs) ที่ชัดเจน จับต้องได้ ตามไปดูกันว่าผู้นำหญิงคนนี้บริหารด้วย ‘สไตล์แว้ง แว้ง’ อย่างไรให้ยั่งยืน และเชื่อมผู้คนเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยสันติและความสุขในใจ

01

หญิงแว้ง

“เราเป็นผู้หญิง แต่ค่อนข้างซุกซน ถ้าเพื่อนผู้ชายคนไหนเกเร แกล้งเพื่อน เราจะเป็นคนคอยห้ามปราม อยู่แบบห้าวๆ ครูประถมเจอกันตอนนี้ก็บอกว่าไม่แปลกที่เราโตมาเป็นนายก อบต.” ผู้นำวัย 47 ปีเล่าถึงช่วงเยาว์วัยที่เธอฝึกหัดการเป็นผู้นำของโรงเรียนและเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้คนที่แตกต่างได้อย่างสบายๆ

ในความทรงจำของเธอ แว้งคือโรงเรียนและทุ่งนาผืนกว้าง ชวนให้วิ่งเล่นเลียบผ่านรวงข้าว กระโดดลงน้ำจับปลา และแม้ผู้คนนับถือความเชื่อแตกต่าง แต่พลเมืองแว้งดูรักใคร่กลมเกลียว เอื้ออาทรต่อกันอย่างดี

จุฑามณี หามะ นายก อบต. หญิงคนแรกของตำบลแว้ง นราธิวาส ผู้ชนะใจประชาชนตลอด 16 ปี

เวลาผ่านไป กะนิงเข้าสู่ชีวิตการทำงานด้วยตำแหน่งคุณครูวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน สอนหนังสืออยู่ราว 6 ปี เมื่ออายุถึงเกณฑ์ 30 ปี และมีการจัดการเลือกตั้งนายก อบต. โดยตรงจากประชาชนเป็นครั้งแรกตามแผนกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เธอตัดสินใจลงสมัครและได้รับแรงสนับสนุนมากมายจากผู้คนรอบข้าง

“ตอนนั้นเป็นช่วง พ.ศ. 2547 ที่เหตุการณ์การเมืองกำลังคุกรุ่น คนรอบตัวก็ถามว่าไม่กลัวเหรอ บางคนก็พูดว่าผู้หญิงจะลงสมัครไปทำไม มันไม่เหมาะ แต่เรามาด้วยใจอยู่แล้ว อยากทำให้ดีที่สุด และพิสูจน์ให้คนเห็นว่าเราทำได้ไม่แพ้ผู้ชาย”

อีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เธอตัดสินใจเช่นนี้คือ การเห็นตัวอย่างจากพ่อแม่ที่ชอบพบปะพูดคุยและช่วยเหลือชาวบ้านโดยรอบอยู่เสมอแม้ไม่ได้มีตำแหน่ง เป็นแรงบันดาลใจให้เธอคิดอยากทำอะไรเพื่อคนอื่น

แม้ไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน แต่เธอเดินหน้าอย่างมุ่งมั่น จนได้รับการเลือกตั้งให้เป็นนายก อบต. หญิงคนแรกของแว้ง พร้อมภารกิจที่ต้องแสดงฝีมือให้คนยอมรับ

จุฑามณี หามะ นายก อบต. หญิงคนแรกของตำบลแว้ง นราธิวาส ผู้ชนะใจประชาชนตลอด 16 ปี
02

ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เมื่อรับตำแหน่งอันท้าทาย สิ่งที่กะนิงเลือกจัดวางให้อยู่ลำดับความสำคัญแรกๆ คือการรวมกลุ่มชุมชนให้เข้มแข็ง เพราะมองว่าแว้งมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมาอย่างต่อเนื่องพอสมควร แต่ยังขาดการจัดกิจกรรมรวมพลังของผู้คนเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“เราอยากสร้างกลุ่มคนต่างๆ ในแว้งให้มีความชัดเจน เช่น กลุ่มอาชีพ กลุ่มสตรี สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดกิจกรรมขึ้นในพื้นที่ มีความแข็งแรง และพลังพอที่จะดึงคนอื่นๆ มาเข้าร่วมด้วยกัน” นายก อบต. ผู้ยิ้มแย้มอย่างเป็นมิตรเผยแนวคิด

จุฑามณี หามะ นายก อบต. หญิงคนแรกของตำบลแว้ง นราธิวาส ผู้ชนะใจประชาชนตลอด 16 ปี

เพื่อให้การดำเนินงานตอบโจทย์ชุมชนอย่างแท้จริง กะนิงร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) วิจัยและจัดเก็บข้อมูลของชุมชนอย่างละเอียด การสำรวจนี้ทำให้เห็นปัญหา ชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนแต่ละกลุ่มจริงๆ 

เช่น กลุ่มชุมชนดั้งเดิมมีการทำงานที่ผูกพันกับหลักปฏิบัติทางศาสนา กะนิงจึงมักเชิญชวนผู้นำทางศาสนาที่ผู้คนนับถืออย่างโต๊ะอิหม่ามเข้ามามีบทบาทช่วยรวมมวลชน และแปลงมัสยิดเป็นศูนย์กลางจัดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่าง ‘สภาซูรอ’ สำหรับรับฟังปัญหาและวางแผนพัฒนาชุมชนร่วมกัน

จุฑามณี หามะ นายก อบต. หญิงคนแรกของตำบลแว้ง นราธิวาส ผู้ชนะใจประชาชนตลอด 16 ปี

ข้อมูลจากพื้นที่เหล่านี้ต่อมาพัฒนากลายเป็นระบบสวัสดิการ กองทุน และนโยบายต่างๆ ที่คำนึงถึงคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกเงื่อนไขชีวิต โดยไม่หลงลืมกลุ่มคนเปราะบางใด

เช่น กองทุนซารีกัตมาตี ที่ชวนคนมาบริจาคเข้ากองทุนกลาง เพื่อนำไปช่วยเหลือค่าทำศพคนละ 3,000 – 6,000 บาทแบบไร้ดอกเบี้ยตามหลักอิสลาม ให้แก่ครอบครัวที่ต้องการ 

อีกทั้งกองทุนอัลอัยตามเพื่อเด็กกำพร้า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนผู้สูงอายุที่ไม่เพียงแต่เบิกจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุและทำกิจกรรมทั่วไป แต่ปฏิบัติตามหลัก 5 อ. คือ อาหาร อาชีพ ออกกำลังกาย อาสา และออมทรัพย์ มีการชวนกันเก็บเงินร่วมกับเพื่อนๆ อย่างสนุกสนานทุกสัปดาห์เพื่อเก็บไว้ใช้ตามฝันวัยเก๋า ให้ความรู้ด้านสุขภาพและการประกอบอาชีพ มีอาสาสมัครคอยดูแลเยี่ยมเยียน ไม่ต้องเหงาอยู่บ้านเพียงลำพังอีกต่อไป

จุฑามณี หามะ นายก อบต. หญิงคนแรกของตำบลแว้ง นราธิวาส ผู้ชนะใจประชาชนตลอด 16 ปี

ด้วยลักษณะนิสัยของกะนิงที่ไม่ถือตัว ทำงานแบบติดดิน พร้อมอยู่เคียงข้างแม้มีภัยอย่างน้ำท่วมสูงถึงเข่าในยามวิกาล ประชาชนจึงยินดีร่วมมือ ให้ความไว้วางใจถึงขั้นเปิดบ้านให้เธอเดินเข้าไปเอ่ยอัสลามุอะลัยกุม (ขอความสันติสุขจงประสบแด่ท่าน เป็นคำทักทายของชาวมุสลิม) ถึงห้องครัว ทานข้าวร่วมกันแบบไม่ต้องเกร็ง และเกิดเป็นกลุ่มที่เข้มแข็ง

เป็นมิตรภาพที่อาจหาได้ไม่ง่ายนักระหว่างผู้ปกครองและพลเมือง

03

สร้างคนรุ่นใหม่

เมื่อชุมชนร่วมมือกันอย่างดี คนรุ่นใหม่ก็เกิดแรงบันดาลใจอยากช่วยกันขับเคลื่อนไปข้างหน้าผ่านการเลือกใช้เวลาอย่างสร้างสรรค์

“วันนี้มีเยาวชนหลายคนลุกขึ้นมามีบทบาท จัดตั้งกองทุนใหม่ๆ ดูแลจัดการตัวเองในหมู่บ้าน เป็นหลักประกันที่ทำให้เกิดความมั่นคงมากขึ้น” กะนิงเล่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมแสดงความเชื่อมั่นที่มีต่อคนรุ่นใหม่ ว่าพวกเขาจะเป็นอนาคตสำคัญของชุมชนและสังคม

การสนับสนุนอย่างเต็มที่จาก อบต. ทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของพื้นที่ (Sense of Ownership) เหมือนกัน เกิดกลุ่มอย่างเยาวชนสร้างสุขกำลังสาม รวมตัวกันเพื่อทำงานจิตอาสา จัดค่ายและกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้คน และเกิดการพัฒนาเป็นกลุ่มอื่นๆ ต่อยอด เช่น กลุ่มกุมปัง ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม ฝึกหัดและเล่นดนตรีด้วยกัน จนเกิดเป็นรายได้ที่นำมาจัดสรรให้สมาชิก

เห็นได้ว่าการทำงานของ อบต.แว้ง พยายามนึกถึงคนทุกฝ่าย ชุมชนชาวแว้งจึงมั่นใจว่าตัวเองจะได้รับการดูแล ตั้งแต่เกิดจนสิ้นใจ และมีโอกาสเป็นส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมของพวกเขา

04

กลับมาที่รากฐาน

อีกหนึ่งเรื่องที่ผู้นำชุมชนทุกคนต้องทำการบ้านอย่างหนักคือ การพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมอาชีพให้มีรายได้ยั่งยืน

ที่แว้ง อาชีพหลักเดิมของชุมชนคือเกษตรกรรม การทำนา แต่ราว 10 กว่าปีก่อน ชาวบ้านหันไปผลิตและรับจ้างกรีดยางพาราเพราะผลตอบแทนที่ดึงดูดใจ ผืนนาที่มีกลับกลายเป็นพื้นที่ร้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ราคายางตกต่ำลงถึงขั้นวิกฤต กะนิงจำเป็นต้องหาทางออกใหม่ให้แก่ชุมชน

“สิ่งที่ต้องทำคือการให้ความรู้แก่ชาวบ้าน ส่งเสริมการลดรายจ่ายให้พอดีกับตัวเอง ผลักดันให้ปลูกพืชผักสวนครัวที่ปลอดภัยไว้กินเอง รวมถึงสนับสนุนโรงเรียนชาวนา และฟื้นฟูนาร้างให้คนกลับมาประกอบอาชีพ” อดีตคุณครูตอบด้วยจิตวิญญาณอาชีพเดิม เธอเชื่อว่าการส่งต่อความรู้เป็นหัวใจสำคัญของสังคมที่ยั่งยืน

จุฑามณี หามะ นายก อบต. หญิงคนแรกของตำบลแว้ง นราธิวาส ผู้ชนะใจประชาชนตลอด 16 ปี

กะนิงขับเคลื่อนให้คนกลับมาดูแลนาอีกครั้งผ่านการฟื้นฟูโรงเรียนชาวนา เพื่อถ่ายทอดความรู้และเน้นย้ำการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ให้คนปลูกสิ่งที่ตัวเองจะกล้ากิน และช่วยส่งเสริมให้อนุรักษ์ 2 พันธุ์ข้าวท้องถิ่นอย่างชือรีบูกันตัง และมะจานู สร้างรายได้พร้อมเกิดความมั่นคงทางอาหารที่เป็นเสมือนภูมิคุ้มกันของชุมชน เมื่อเกิดน้ำท่วมช่วงที่ฝนตกชุกเป็นพิเศษ 3 – 4 เดือนในจังหวัด ชาวบ้านยังมีข้าวเก็บไว้กินเอง 

วัตถุดิบที่ได้จากการหันมาทำเกษตรยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นอย่างอื่นต่อ เช่น ขนมนีเล็งที่ทำจากใบเหลียง สูตรลับของกลุ่มสตรีสร้างสุขเสริมรายได้ และชาเจ๊ะเหมที่ขึ้นชื่อและหาได้เพียงที่นราธิวาส ถือเป็นการสร้างเอกลักษณ์ให้ท้องถิ่น

จุฑามณี หามะ นายก อบต. หญิงคนแรกของตำบลแว้ง นราธิวาส ผู้ชนะใจประชาชนตลอด 16 ปี

“เมื่อก่อนเราเคยเน้นการสนับสนุนงบประมาณให้ลองทำไปก่อน แต่ปรากฏว่าไม่ยั่งยืน เพราะไม่ได้มาจากความสมัครใจสักเท่าไร เราต้องลงไปคุยว่ารักที่จะทำสิ่งนี้จริงไหม และกระตุ้นให้รู้สึกว่าอยากทำให้สำเร็จ” กะนิงเล่า สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจด้วยว่าคนอยากทำอะไร

นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนอีกหลากหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มส้มโชกุน ปุ๋ยอินทรีย์ กลายเป็นแหล่งรายได้ใหม่ๆ จากสิ่งเดิมที่พอมีอยู่ ที่ทำให้คุณภาพชีวิตชาวแว้งดีขึ้น

05

ชนะภัยแว้ง

แว้งอยู่ในพื้นที่ที่เผชิญภัยพิบัติเสมอมา ทั้งพายุเข้า น้ำท่วม

และล่าสุด หนีไม่พ้นการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้แว้งเป็นพื้นที่สีแดงเมื่อปีก่อน แต่โชคดีที่แว้งมีประสบการณ์การรวมกลุ่มที่เหนียวแน่น ทั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานของภาครัฐ ผู้นำศาสนา ผู้ใหญ่บ้าน กำนันและ อสม. เพื่อรับมือกับภัยต่างๆ ทำให้พวกเขารู้จักมักคุ้นและประสานงานกันเพื่อรับมือวิกฤตได้อย่างรวดเร็ว ปิดพื้นที่ ช่วยกันประชาสัมพันธ์ แจกจ่ายหน้ากากอนามัย ข้าวสาร และอาหาร เปิดห้องประชุมของตำบลให้กลายเป็นสถานที่กักกันผู้ป่วย (Local Quarantine) 

จุฑามณี หามะ นายก อบต. หญิงคนแรกของตำบลแว้ง นราธิวาส ผู้ชนะใจประชาชนตลอด 16 ปี

“จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เรามีความพร้อมที่จะจัดเตรียมแผนรับมือได้เป็นลำดับว่าต้องทำอะไรก่อนหลังบ้าง หนึ่ง สอง สาม อยู่เสมอ” แม่ทัพผู้คลี่คลายสถานการณ์ตึงเครียดให้ผ่านพ้นไปได้กล่าว

เธอยืนยันว่าจะผ่านวิกฤตไปไม่ได้เลย หากไม่ได้รับความช่วยเหลือของชุมชนที่ร่วมปลูกฝังกันมาเป็นเวลานาน

“ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่พร้อมทำงานร่วมกัน หากเปิดอกคุยและทำความเข้าใจกัน เราจะมีทีมเวิร์กที่แข็งแกร่ง ฝ่าฟันทุกปัญหาไปได้” กะนิงสรุปหัวใจสำคัญที่ทำให้แว้งเป็นแว้งทุกวันนี้

ไม่มีวิกฤตอะไรน่ากลัว ถ้าผู้นำมีความรู้คู่คุณธรรม ประชาชนย่อมยินดีช่วยเหลือและร่วมฝ่าฟันไปด้วยกัน

06

สมัยต่อไป

“นายก อบต. รับฟังความคิดเห็นของทุกท่าน ชอบให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์งานต่างๆ แต่ถึงเวลาตัดสินใจก็เด็ดขาดเหมือนกัน” สะอารี ดีมูเละ ปลัดชายของตำบลที่ทำงานร่วมกับกะนิงเล่าสิ่งที่ผู้คนประทับใจในตัวผู้นำชุมชนคนนี้ ที่ผสมผสานทั้งความอ่อนโยนและแน่วแน่ไว้ในตัวคนเดียว

จุฑามณี หามะ นายก อบต. หญิงคนแรกของตำบลแว้ง นราธิวาส ผู้ชนะใจประชาชนตลอด 16 ปี

ผ่านมา 16 ปี ตั้งแต่วันแรกที่เธอเข้ารับตำแหน่ง กะนิงยังคงทำงานอย่างขยันขันแข็ง และหาหนทางพัฒนาชุมชนอันเป็นที่รักของเธอ นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งาน มีการเก็บข้อมูลชุมชนอย่างละเอียดทุกหลัง เป็นแผนที่สำหรับทำความรู้จัก ช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด

“ทำนานๆ ก็มีเบื่อบ้างเหมือนกัน ช่วงสมัยที่สองเจออะไรซ้ำๆ เดิม แต่ก็คิดว่าเป็นโอกาสให้เราได้เริ่มทำอะไรใหม่ๆ พอเริ่มทำแล้ว มันหยุดไม่ได้ ต้องเดินหน้าต่อ แต่ไม่ได้เครียดเลยนะ”

จุฑามณี หามะ นายก อบต. หญิงคนแรกของตำบลแว้ง นราธิวาส ผู้ชนะใจประชาชนตลอด 16 ปี

กะนิงพร้อมลุย สู้กับปัญหารูปแบบต่างๆ เสมอ ทำให้สิ่งที่เธอทำสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติในหลายประเด็น 

แม้ยังเหลืออีกหลายแง่มุมที่ต้องพัฒนาแก้ไขในแว้ง เช่น การจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพที่กวนใจกะนิงอยู่เรื่อยมา แต่เราเชื่ออย่างยิ่งว่า เมื่อผู้นำวางรากฐานที่เข้มแข็ง สร้างสายใยระหว่างคนในชุมชนไว้อย่างดี เมล็ดพันธุ์นี้จะช่วยให้ตำบลเล็กๆ อย่างแว้งเติบโตและแสดงศักยภาพในแบบของตัวเอง ให้เป็นกรณีศึกษาที่ประจักษ์ชัดและน่าเรียนรู้

เหมือนที่กะนิงได้พิสูจน์มาแล้วทั้งชีวิตการทำงานของเธอ ในฐานะ นายก อบต. หญิงแว้ง คนแรก

และเราหวังว่าจะไม่ใช่เธอแค่เพียงคนเดียว

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ภาพ : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป