‘การได้เห็นเรือนร่างของตัวเองผ่านฝีแปรงของศิลปินนั้น ถือเป็นประสบการณ์ที่น่าแปลกประหลาด’

ผมคิดเช่นนี้ขณะที่เพ่งพินิจรูปของตัวเองที่แขวนไว้บนผนังในนิทรรศการ JUST HUMAN ของ มิร์ทิลล์ ทิแบย์เรงซ์ (Myrtill Tibayrenc) Mini Xspace Gallery ย่านพระโขนง 

มิร์ทิลล์เติบโตในโบลิเวีย สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส จบการศึกษาจากสถาบัน École des Beaux-Arts ในดังเคิร์ก และเข้าศึกษาต่อที่สถาบัน École des Beaux-Arts ในมาร์แซย์ ก่อนจะย้ายมาพำนักที่ประเทศไทยในปี 2006 ผมรู้จักกับเธอในฐานะเพื่อนมาหลายปี และเคยเป็นแบบให้เธอมาหลายครั้ง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ได้มาเห็นภาพที่เธอวาดผมกับตาตัวเอง 

ในงานนี้มิร์ทิลล์เลือกวาดแค่ช่วงลำตัวของผม ประกอบกับมือปริศนาที่กำลังแหย่นิ้วเข้าไปใต้ราวอกด้านซ้าย หากคุณคุ้นเคยกับสัญศาสตร์ของประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ก็คงจะถึงบางอ้อทันทีว่า เธอได้วาดผมเป็นพระเยซูคริสต์ ผู้กำลังถูกโธมัสพิสูจน์การกลับคืนชีพโดยการแยงนิ้วเข้าไปในแผลของพระองค์ 

โอ๊ต มณเฑียร สัมภาษณ์ มิร์ทิลล์ ทิแบย์เรงซ์ หลังเป็นแบบให้เธอวาดในนิทรรศการ JUST HUMAN
โอ๊ต มณเฑียร สัมภาษณ์ มิร์ทิลล์ ทิแบย์เรงซ์ หลังเป็นแบบให้เธอวาดในนิทรรศการ JUST HUMAN
ภาพ : Xspace 

ผมใช้เวลายืนดูรูปภาพนั้นอยู่พักใหญ่ ไม่ใช่เพราะว่าตัวเองหุ่นดี น่าพิศมัย แต่ภาพนั้นเผยอารมณ์ที่ผมไม่เคยรู้สึกมาก่อน จะว่าเป็นเกียรติก็ไม่ใช่ ขยะแขยงก็ไม่เชิง มันไม่เหมือนการถ่ายเซลฟี่หรือแม้แต่ตอนส่งกระจก เพราะบนผ้าใบนั้น ร่างกายของผมถูกทำให้เป็นของคนอื่นผ่านมุมมองของศิลปิน โชคดีที่ผมได้รับเชิญไปในวันเปิดงาน เมื่อได้โอกาส ผมจึงขออนุญาตลักพาตัวมิร์ทิลล์จากกลุ่มผู้คนที่หนาแน่น เข้าไปพูดคุยกันในห้องส่วนตัวเล็ก ๆ เธอเทเครื่องดื่มสีอำพันให้ผมในแก้วพลาสติก และแล้วบทสนทนาที่พาเราดำดิ่งลงไปในโลกของเธอจึงเริ่มขึ้น

ก่อนอื่นขอแสดงความยินดีด้วยกับโชว์นี้ วันเปิดมีคนมาเยอะมาก คุณรู้สึกยังไงบ้าง

บรรยากาศนี้ทำให้ฉันตระหนักว่า สิ่งแวดล้อมทุกอย่างของโชว์นั้นสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นวิธีการจัดแสดง หรือการที่ผู้คนเข้ามาล้อมรอบงานศิลปะ มันเหมือนพิธีกรรมที่พวกเรายกระดับจิตวิญญาณขึ้นไปสู่อีกสภาวะหรือภวังค์ที่เราเสพศิลปะตรงหน้าด้วยกัน อย่างงานชุดนี้ ฉันนึกภาพว่ามันจัดแสดงในห้องเก็บไวน์ หรือในโบสถ์มืด ๆ แถวฝรั่งเศสตอนใต้ได้ พอ ๆ กับในพื้นที่ร่วมสมัยแบบนี้

น่าสนใจดีนะที่งานของคุณทำให้กำแพงสีขาวจั๊วะ รู้สึกเหมือนวิหารแห่งจิตวิญญาณได้อย่างอัศจรรย์ แล้วโชว์นี้รวบรวมผลงานของคุณไว้มากกว่า 113 ชิ้น คุณรู้สึกยังไงเมื่อได้มองพวกมันรวม ๆ กัน

พูดตรง ๆ นะ ฉันเพิ่งสร้างงานทั้งหมดไม่นานมานี้ ยังไม่มีเวลาตกตะกอนความรู้สึกเกี่ยวกับมันสักเท่าไร วันนี้เป็นวันแรกที่ฉันได้ดูมันบนกำแพงขาวพร้อมกับเธอ ไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมาพวกมันยังกองพะเนินอยู่บนโต๊ะทำงานของฉันอยู่เลย ตอนนี้มันถูกใส่กรอบแขวนแบบเรียบร้อยมาก ฉันยังรู้สึกช็อกอยู่พอสมควร

สิ่งแรกที่ผมรู้สึกตอนได้เห็นงานคุณคือ โอ้พระเจ้า นี่คือวินัย นี่คือการทำงานอย่างสม่ำเสมอ มันดูเป็นกิจวัตร 

ใช่เลย ฉันมีวินัยอย่างสุดโต่ง เหมือนกับพระสงฆ์ ฉันมีบุคคลต้นแบบในฐานะจิตรกรคือ ฟราอันเจลีโก (Fra Angelico) (ค.ศ. 1395 – 1455) เป็นนักบวชที่วาดภาพทางศาสนาในต้นยุคเรเนสซองส์ ฉันอยากเป็นแบบเขามาก คือ สนใจ ‘ข้างใน’ ของมนุษย์ เพื่อถ่ายทอดออกมาสู่สายตาของคนข้างนอก เขาเป็นแรงบันดาลใจยิ่งใหญ่ที่สุดของฉัน จำได้ว่ารู้จักงานเขาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น อายุ 16 – 17 ได้มั้ง ฉันเคยไปคอนแวนต์ของเขาที่อิตาลีด้วยนะ

โอ๊ต มณเฑียร สัมภาษณ์ มิร์ทิลล์ ทิแบย์เรงซ์ หลังเป็นแบบให้เธอวาดในนิทรรศการ JUST HUMAN

แต่ละภาพของคุณให้ความรู้สึกเหมือนบทสวด มันสร้างความสะเทือนใจ (Moving) ซึ่งฟังดูตลก เพราะในเชิงกายภาพแล้วมันเป็นเพียงเม็ดสีบนไม้ที่อยู่นิ่งๆ ไม่ได้มีการเคลื่อน (Move) ไปไหน 

นั่นคือสิ่งที่ฉันรักมากในภาพเพนต์ วัสดุของมันช่างเบสิกเรียบง่าย ไม่ได้มีราคาแพงอะไรเลย โดยเฉพาะศิลปะแบบรูปลักษณ์ (Figurative) อาจจะเป็นความกบฏของฉันเองด้วย เพราะตอนฉันเรียนอยู่มหาวิทยาลัยศิลปะที่ฝรั่งเศส พวกเขาไม่มีที่ทางให้ศิลปะแบบนี้เลย 

ครูของฉันเป็นรุ่นบุกเบิกพวก Conceptual Art, Performance Art แล้วพวกเขาก็อยากให้เราเดินตามรอยเท้าของเขา ฉันเลยเป็นขบถในแบบของฉัน คือหันไปสนใจภาพวาดและเทคนิคแบบคลาสสิกซะเลย เอาจริง ๆ ฉันอยู่ในกระแสมาตลอดนะ แต่พวกครูของฉันตามฉันไม่ทัน (หัวเราะ)

อยากให้คุณอธิบายเรื่องการวาดสรีระ เรือนร่างมนุษย์เพิ่มเติมสักหน่อย คุณเห็นด้วยไหมว่า มันเป็นสัญชาตญาณดิบในตัวเราที่พยายามมองหาภาพสะท้อนความเป็นมนุษย์ของพวกเราเอง

ในอดีต ภาพวาดสร้างขึ้นเพื่อเข้าไปจับใจผู้คน มันต้องสะเทือนใจ และในขณะเดียวกันก็สื่อสารและเล่าเรื่องแบบเข้าถึงง่าย เหมือนโฆษณาชวนเชื่อ แต่ฉันชอบนะ น่าสนใจที่เราโยงมันมาเปรียบเทียบกับการทำงานของรูปภาพโฆษณาในปัจจุบันได้ มันมีจุดประสงค์ที่จะล้างสมองเรา ขายสินค้าให้เรา ซึ่งสมัยก่อนสินค้านั้นคือศาสนา ส่วนตอนนี้เป็นไอโฟน

การวาดรูปคนอาจจะดูเชยในยุคนี้ ที่ความเป็นไปได้ของศิลปะนั้นกว้างมาก ขณะเดียวกันมันก็เป็นความท้าทายที่จะนำเสนอสิ่งที่ดูล้าสมัย แต่บิดให้โมเดิร์นสุด ๆ ให้ได้ ฉันรักความท้าทายนี้ งานของฉันอยู่กึ่งกลางระหว่างความเฉิ่ม Kitsch (ศิลปะที่ดูไร้ค่าหรือมีค่าต่ำ) กับสุดขอบของความร่วมสมัย

คุณนิยามความสัมพันธ์ของคุณกับ Kitsch อย่างไร

ฉันรัก Kitsch! (หัวเราะ) เป็นสิ่งที่ฉันรักมากเกี่ยวกับประเทศนี้! ชาวต่างชาติหลายคนบอกกับฉันว่า โอ้ย คิดถึงยุโรป คิดถึงวัฒนธรรม คิดถึงพิพิธภัณฑ์โน่นนี่ ฉันบอกพวกเขาว่า ไปเดินตลาดนัดสิ มันยิ่งกว่า The Palais de Tokyo ที่ปารีสอีกนะ แม่ค้าที่นี่แต่งตัวแบบ Vivienne Westwood เลยนะ ทั้งรองเท้ายางสีจี๊ด เสื้อลายใบกัญชา หมวกสานด้วยมือ มันโคตรจะร็อกแอนด์โรลเลย 

ชีวิตที่เชียงใหม่เป็นยังไงบ้าง คุณย้ายไปที่นั้นเกือบ 5 ปีแล้วสินะ

ฉันชอบมาก เหมือนได้กลับไปที่บ้านในชนบทตอนเป็นเด็กหญิงตัวเล็ก ๆ และฉันกำลังได้ใช้ชีวิตตามความฝันของเด็กหญิงคนนั้น มันเป็นความงดงามที่สุดของชีวิตตอนนี้ ตอนเด็ก ๆ พ่อของฉันเป็นนักธรรมชาติวิทยา เขามักจะพาลูก ๆ ไปทำงานด้วย ตอนนั้นเขาศึกษาเรื่องแมลง เราก็ขึ้นเขาลงห้วยกับเขาด้วย ตามหาแมลงสายพันธุ์ต่าง ๆ เขาเป็นนักชีววิทยาที่เก่งกาจ มักจะอธิบายให้เราฟังเกี่ยวกับแมลงแต่ละชนิด แถมฉันโตมากับหนังสือวิทยาศาสตร์ในบ้าน ภาพเหล่านั้นทั้งให้แรงบันดาลใจและสะเทือนขวัญ

โอ๊ต มณเฑียร สัมภาษณ์ มิร์ทิลล์ ทิแบย์เรงซ์ หลังเป็นแบบให้เธอวาดในนิทรรศการ JUST HUMAN
โอ๊ต มณเฑียร สัมภาษณ์ มิร์ทิลล์ ทิแบย์เรงซ์ หลังเป็นแบบให้เธอวาดในนิทรรศการ JUST HUMAN
โอ๊ต มณเฑียร สัมภาษณ์ มิร์ทิลล์ ทิแบย์เรงซ์ หลังเป็นแบบให้เธอวาดในนิทรรศการ JUST HUMAN

พูดถึงสะเทือนขวัญ งานของคุณทั้งที่ผ่านมาและบางส่วนของโชว์นี้ บางชิ้นว่าด้วยเรื่องที่คนทั่วไปอาจจะขยะแขยง เช่น โรคร้ายหรือความเจ็บป่วยพิการ

ใช่เลย มันเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์นะ อันที่จริงมันเป็นส่วนหนึ่งของตัวฉันด้วยแหละ ทั้งพ่อที่เป็นนักวิทยาศาสตร์และความหลงใหลที่ฉันมีต่อ ‘ความผิดปกติ’ เช่น เนื้อหนังที่เน่าหรือแผลเหวอะวะบนร่างกาย การวาดมันออกมาเป็นจิตรกรรม คือกระบวนการที่หาความงดงาม แม้ในสิ่งที่น่ากลัว ซึ่งนั่นเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของฉันตอนเรียนเลยละ

คุณรู้สึกว่าผู้ชมในไทยตอบรับงานคุณอย่างไร คิดว่าคนไทยเข้าใจเนื้อหาของงานคุณไหม

ฉันรู้สึกว่าได้เจอกลุ่มคนดูของฉันในประเทศไทยนี่แหละ มันเป็นเหมือนพรหมลิขิตนะ ในฝรั่งเศสคนจะตั้งคำถามกับงานของฉัน แต่ที่นี่ทุกคนโอบรับมัน ไม่รู้ว่าเป็นเพราะฉันเป็นชาวต่างชาติ หรือเป็นเพราะพวกเขาอาจไม่คุ้นเคยกับภาพแนวนี้ แต่พวกเขาดูจะหลงใหลงานของฉันมาก

สิ่งที่วิเศษคือ ศิลปะนั้นมีหลายเลเยอร์ แต่ละคนเข้าถึงศิลปะได้ในขั้นที่เขาสนใจหรือเข้าใจ มันเหมือนขนมชั้น คุณอาจจะได้กินสีเขียว ฉันกินสีขาว ไม่มีใครผิด

อันที่จริงวันนี้มีหลายคนมาคุยกับฉันเกี่ยวกับหลาย ๆ แง่มุมที่พวกเขารับรู้จากภาพเขียนของฉัน ที่ขนาดฉันเองยังนึกไม่ถึง มันว้าวมาก บางชิ้นฉันเฉย ๆ แต่คนดูชอบมาก บางชิ้นที่ฉันรักมาก คนดูกลับมองข้ามไป

อย่างชิ้นที่เป็นเด็กสาวอุ้มหมู (ภาพชื่อ The Offering) ถ้าฉันเป็นคนดูฉันจะซื้อชิ้นนี้เลย อวัยวะเพศของเธอสวยมาก 

จะบอกว่ามันอื้อฉาวก็ได้ ฉันชอบเล่นกับความย้อนแย้งนี้นะ อย่างการแขวนภาพที่เป็นแถวตรงเผง เทคนิคที่ดั้งเดิมมาก ๆ ฉันเลือกชุดสีที่จำกัดมาก ๆ ฉันชอบที่สิ่งเหล่านี้ช่วยซ่อนเนื้อหาที่รุนแรงในงานไปในตัว

โอ๊ต มณเฑียร สัมภาษณ์ มิร์ทิลล์ ทิแบย์เรงซ์ หลังเป็นแบบให้เธอวาดในนิทรรศการ JUST HUMAN

เวลาผมดูนิทรรศการคุณ ผมรู้สึกเหมือนกำลังดูหนังอาร์ตฝรั่งเศส ทุกอณูปกคลุมด้วยความละเอียดอารมณ์ ความเหงา เซ็กส์ รวมถึงสัญลักษณ์ทางศาสนา การตั้งคำถามเชิงปรัชญา ฯลฯ

(หัวเราะ) ใช่เลย บางภาพฉันเอามาจากฉากของภาพยนตร์ฝรั่งเศส คนเราหนีจากสิ่งที่เราเป็นไม่ได้สินะ ฉันก็ยังเป็นคนฝรั่งเศสวันยังค่ำ

ไม่รู้ว่าคุณจงใจรึเปล่า แต่ชุดรูปบนแต่ละผนัง เหมือนจะร้อยเรียงกันเป็นเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง ยิ่งผนังที่มีรูป มาริลิน มอนโร ชุดภาพนั้นเหมือนเป็นบทกวีเลย

ฉันดีใจมากที่คุณสังเกตเห็น! ผนังที่มีรูปมาริลินนั้นตั้งคำถามว่า “What it is to be a woman?” อีกผนังที่คนชอบกันมาก คือชุดภาพที่ฉันวาดประติมากรรมกรีกโบราณ ซึ่งฉันได้แรงบันดาลใจมาด้วยความบังเอิญ เพราะวันหนึ่งฉันไปเดินตลาดนัดที่เชียงใหม่ มีผู้ชายคนหนึ่งกำลังขายหน้ากระดาษที่เขาฉีกออกมาจากหนังสือ พอฉันก้มลงไปดูเลยเห็นว่าเป็นรูปที่สวยมาก ๆ มาจากแคตตาล็อกคอลเลกชันรูปปั้นกรีกในพิพิธภัณฑ์ Met Museum ที่นิวยอร์ก เขาขายให้ฉันแผ่นละไม่กี่บาท ฉันเลยเหมามาปึกหนึ่ง แล้วมาเลือกเอารูปที่โดนใจไปวาดต่อเป็นภาพวาด มันเป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการของฉัน ก่อนอื่นเลยฉันต้องหลงรักรูปลักษณ์ของมัน แต่ละวันฉันตกหลุมรักรูปภาพเยอะแยะมาก (หัวเราะ) 

แปลว่าคุณโอเคที่จะสร้างงานจากรูปถ่ายหรือรูปภาพที่คุณ ‘ตกหลุมรัก’ จากที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ หนังสือ หรืออินเทอร์เน็ต 

เป็นเพราะฉันชอบทำงานคนเดียว ถ้ามีคนอื่นอยู่ด้วย แม้จะมาเป็นแบบให้ฉัน ฉันก็จะถ่ายรูปไว้แล้ววาดทีหลัง กระบวนการของฉันคือการดำดิ่งเข้าไปข้างในตัวเองอย่างสมบูรณ์ 

เวลาคุณพูดถึงการ ‘เข้าไปข้างใน’ ผมรู้สึกถึงร่างกายในฐานะเปลือก โดยเฉพาะกับชุดภาพประติมากรรมของคุณ เห็นได้ชัดว่าคุณแยกวิญญาณกับร่างกายออกจากกัน 

คุณเลือกคำว่า ‘เปลือก’ ได้ถูกต้องมาก โดยเฉพาะกับงานชุดนั้น มันสื่อถึงความสำคัญของรูปทรงในวัฒนธรรมเรา รูปปั้นเหล่านั้นเคยเป็นนิยามของความงาม รูปทรงของเทพเจ้า เป็นรูปทรงที่หล่อหลอมและส่งต่อค่านิยมและตัวตนของเราในปัจจุบันด้วย อย่าลืมว่ารูปปั้นแรก ๆ ของพระพุทธเจ้าก็ได้รับอิทธิพลมาจากรูปปั้นเทพเจ้าแบบกรีก

ฉันรู้สึกว่ารูปทรงกับคุณค่าที่เราให้กับพวกมัน มีประวัติยาวนานพอ ๆ กับการดำรงอยู่ของมนุษย์โลก ทำไมเราถึงหลงใหลทรวดทรงของดาราอย่าง คิม คาร์ดาเชียน มันย้อนไปได้ถึงยุคหิน Neolithic โน่น และยังโยงใยมาถึงทุกวันนี้อย่างไม่จบไม่สิ้น

ในขณะที่สังคมเรามักจะบอกว่า การมีอยู่ของ เรือนร่าง (Body) กับ วิญญาณ (Soul) นั้นแยกกัน แต่จากแนวคิดของคุณ มันอาจจะหล่อหลอมกันและกันมากกว่าที่เราคิด 

เป็นคำถามทางปรัชญาเหมือนกันนะ ว่ามาตรฐานความงามของมนุษย์ถูกกำกับโดยกายภาพหรือจิตวิญญาณ ซึ่งสำหรับฉันทั้งสองสิ่งอาจเป็นคนละด้านของเหรียญเดียวกันด้วยซ้ำ สังคมปัจจุบันหลอกให้เรารู้สึกว่า ถ้าคุณไปวัด ทำพิธีทางศาสนา หรือถ้าคุณจ่ายเงินซื้อของบางอย่าง คุณจะเข้าใกล้มิติทางจิตวิญญาณมากขึ้น แต่เอาจริง ๆ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีจิตวิญญาณ (Spitritual Being) อยู่แล้วตั้งแต่ต้น มันดำรงอยู่ควบคู่ในแต่ละเซลล์ของร่างกายเราอยู่แล้ว แต่สังคมเราพยายามแยกเราออกจากมิตินี้ พยายามหักเหเราไปจากความจริงที่ว่า ทุกคนเป็นอิสระทางวิญญาณได้ด้วยตัวเอง 

บทสนทนาระหว่างแบบกับศิลปิน เมื่อ โอ๊ต มณเฑียร เห็นภาพตัวเองวาดเป็นพระเยซู โดยศิลปินฝรั่งเศส มิร์ทิลล์ ทิแบย์เรงซ์ ในนิทรรศการ JUST HUMAN
โอ๊ต มณเฑียร สัมภาษณ์ มิร์ทิลล์ ทิแบย์เรงซ์ หลังเป็นแบบให้เธอวาดในนิทรรศการ JUST HUMAN

คุณคิดว่าภาพวาดมีวิญญาณไหม

แน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ เหตุผลที่ฉันรักจิตรกรรมเพราะมันมีร่องรอยของวิญญาณ ฉันจะไม่มีวันให้ผู้ช่วยหรือใครก็ตามสร้างงานแทนฉัน อย่างเวลาฉันไปดูงานระดับมาสเตอร์ในพิพิธภัณฑ์ มันน่าอัศจรรย์ที่ฉันยังรู้สึกถึงพวกเขาผ่านฝีแปรงตรงหน้าของฉัน แม้ว่าเขาจะตายไปแล้วเป็นร้อย ๆ ปี มันอยู่ในสสาร ในกายภาพของศิลปะ ประเด็นนี้ละมั้งทำให้ฉันไปทำงานดิจิทัลไม่ได้ 

แปลว่าคุณไม่สนใจทำศิลปะ NFT

ไม่ล่ะ กายภาพของศิลปะเป็นแก่นสำคัญสำหรับฉัน 

คุณกำลังพูดถึงร่องรอยวิญญาณของตัวคุณเองในผลงาน

สำหรับฉัน วิญญาณ หรือ Soul เป็นสิ่งที่เราแชร์กันนะ เราทุกคนล้วนมีวิญญาณเดียวกัน แต่เราแค่สะท้อนคนละแง่มุม ฉันกำลังจะบอกว่าวิญญาณในที่นี้ไม่ใช่ปัจเจก ยกตัวอย่างว่า หลาย ๆ ครั้งฉันไปเอาภาพถ่ายของใครก็ไม่รู้มาจากอินเทอร์เน็ต จาก Getty Images พวกมันเป็นรูปพลาสติกที่ตื้นเขินมาก ๆ ไร้อารมณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น แล้วฉันก็เลือกภาพที่จืดชืดที่สุดมาเป็นแบบในงานเพนต์ ซึ่งพอถูกแปรให้เป็นงานจิตรกรรม พวกมันกลับแสดงอารมณ์ที่โรแมนติก ลึกซึ้ง ประหนึ่งภาพทางศาสนา ฉันโคตรชอบวินาทีนั้นนะ วินาทีที่ ‘วิญญาณ’ ปรากฏขึ้นในภาพวาดของฉัน นั่นคือจุดที่ฉันจะวางแปรงของฉันและถือว่างานของฉันเสร็จ จุดที่ภาพจิตรกรรมนั้นมีชีวิตของมันเอง 

ก่อนกลับผมเดินขึ้นไปดูภาพวาดของตัวเองอีกครั้ง ครั้งนี้ผมมองเห็นจิตวิญญาณในภาพที่มิร์ทิลล์พูดถึง มันโยงกลับไปถึงชื่อนิทรรศการ JUST HUMAN ที่ชวนเราครุ่นคิดถึงและตั้งคำถามว่า ความเป็นมนุษย์ของเรานั้นกอปรขึ้นจากสิ่งใด คำถามที่ทั้งเรียบง่ายและยิ่งใหญ่ในเวลาเดียวกัน 

จะมีสิ่งใดอีกหนอที่ชวนให้เราครุ่นคิดถึงปรัชญานี้ หากไม่ใช่จิตรกรรม 

บทสนทนาระหว่างแบบกับศิลปิน เมื่อ โอ๊ต มณเฑียร เห็นภาพตัวเองวาดเป็นพระเยซู โดยศิลปินฝรั่งเศส มิร์ทิลล์ ทิแบย์เรงซ์ ในนิทรรศการ JUST HUMAN

JUST HUMAN

นิทรรศการแสดงเดี่ยวโดย มิร์ทิลล์ ทิแบย์เรงซ์

6 สิงหาคม – 30 กันยายน 2022

Mini Xspace gallery, กรุงเทพฯ

เข้าชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Xspace

 

Writer

Avatar

โอ๊ต มณเฑียร

ศิลปินวาดรูปนู้ด แม่มด คนรักพิพิธภัณฑ์ และนักเขียนหนังสือ 'London Scene' กับ 'Paris Souvenir'

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ