พลาสติก พลาสติก พลาสติก! หันไปทางไหนก็เจอแต่พลาสติก หนียังไงก็หนีไม่พ้น แม้จะลด ละ เลิก อย่างไร พลาสติกเหลือใช้ที่โดนทิ้งขว้างก็ยังมีอยู่ทุกหนทุกแห่งอยู่ดี งั้นลองนำความถนัดเฉพาะตัวมาบวกความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้พลาสติกพวกนั้นดีกว่า

สตูดิโอชั่วคราวของ Hiroshi Fuji ศิลปินผู้เก็บของเล่นเหลือใช้นับพันต่อเป็นโลกดึกดำบรรพ์ในไทย

ใช่แล้ว นั่นคือไอเดียของ ฮิโรชิ ฟูจิ ศิลปินชาวญี่ปุ่นที่ตัดสินใจเปลี่ยนของเล่นพลาสติกที่โดนทิ้งขว้าง เมื่อเด็กๆ เติบโตเกินกว่าจะเล่นของเล่นอีกต่อไป ให้กลายเป็นผลงานศิลปะที่เขารัก ไม่เฉพาะของเล่นพลาสติก ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ฟูจิสร้างผลงานศิลปะจากขยะพลาสติกหลากหลายชนิดมาแล้วมากมายที่ประเทศญี่ปุ่น 

ฟูจิเป็นศิลปินที่รณรงค์ให้คนหันมาตระหนักถึงความคุ้มค่าในการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน และสร้างคอมมูนิตี้เล็กๆ ที่กำลังขยายใหญ่ขึ้น เพื่อให้เด็กๆ และผู้ปกครองมาแลกเปลี่ยนของเล่นพลาสติกกัน เพื่อยืดอายุการใช้งานและคุณค่าของเล่นแต่ละชิ้นให้ยาวนานยิ่งขึ้น

ล่าสุด เขาบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาไกลจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างสรรค์ผลงาน ‘Jurassic Plastic’ นิทรรศการศิลปะที่ชุบชีวิตของเล่นพลาสติกเหลือใช้นับพันเป็นไดโนเสาร์และโลกดึกดำบรรพ์ที่ประเทศไทย

เราเดินทางมาถึงช่างชุ่ย สถานที่จัดนิทรรศการ ในวันที่ฟูจิและทีมงานยังคงเร่งมือสร้างผลงานกันอย่างขะมักเขม้น 

ฮิโรชิ ฟูจิ ศิลปินชาวญี่ปุ่น
สตูดิโอชั่วคราวของ Hiroshi Fuji ศิลปินผู้เก็บของเล่นเหลือใช้นับพันต่อเป็นโลกดึกดำบรรพ์ในไทย

เบื้องหน้าเราคือ ไดโนเสาร์ตัวโตหลากสีสันที่ถูกสร้างขึ้นจากของเล่นแตกหักและไม่เป็นที่ต้องการ ยิ่งเดินเข้าไปใกล้ๆ ยิ่งเห็นรายละเอียดของวัสดุต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นดินแดนดึกดำบรรพ์แห่งนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น พลาสติกที่ไม่มีใครต้องการกลายเป็นผลงานศิลปะที่งดงามขนาดนี้ได้ด้วยหรือ

ก่อนจะไปชมนิทรรศการ เราอยากชวนคุณไปพูดคุยกับ ฮิโรชิ ฟูจิ เพื่อฟังความในใจของเขาที่มีต่อขยะพลาสติกในฐานะศิลปิน และคนคนหนึ่งที่รัก หวงแหน และอยากเห็นโลกใบนี้สวยงามต่อไปนานแสนนาน

01

เป็นมากกว่าศิลปิน

ฮิโรชิ ฟูจิเกิด ค.ศ. 1960 ที่จังหวัดคาโกชิมะ จังหวัดเล็กๆ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะญี่ปุ่น สมัยนั้นไม่มีพลาสติกเลย แต่เมื่อเขาโตขึ้นจนเข้าชั้นประถมศึกษา บ้านเมืองเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง แถวบ้านเขาเริ่มมีซูเปอร์มาร์เก็ตขึ้น หลังจากนั้นหีบห่อและถุงพลาสติกก็ค่อยๆ เข้ามามีบทบาทในชีวิตเขา 

เมื่อเขาเติบโตจนเข้ามหาวิทยาลัย เขาเข้าเรียนศิลปะที่มหาวิทยาลัยศิลปะของเกียวโต ที่ญี่ปุ่นเริ่มมีห้างสรรพสินค้าขึ้น ตามมาด้วยบะหมี่ถ้วยสำเร็จรูป ในตอนนั้นเขาเองเริ่มรู้สึกว่าไม่ว่าหันไปทางไหนก็เจอแต่พลาสติก พลาสติก พลาสติกเต็มไปหมด! ไม่ว่าจะพยายามหลีกเลี่ยงยังไง ก็หนีไม่พ้น 

ฮิโรชิ ฟูจิ ศิลปินชาวญี่ปุ่น

จนเขาตัดสินใจออกเดินทางไปยังปาปัวนิวกินี รัฐเอกราชที่อยู่บริเวณทางเหนือของประเทศออสเตรเลีย เมื่อเขาได้ลองไปใช้ชีวิตที่นั่น ได้กลับไปยังสภาพแวดล้อมที่อุดมด้วยธรรมชาติอีกครั้ง 

ผู้คนให้ความสำคัญกับขวดพลาสติกมาก ราวกับของล้ำค่า เพราะที่นั่นแทบจะไม่มีพลาสติกอยู่เลย และด้วยแรงบันดาลใจนั้นเอง ฟูจิหอบความตั้งใจกลับมายังประเทศญี่ปุ่น เขาตระหนักแล้วว่า ต่อให้หนีไปไกลแค่ไหน เขาก็ไม่อาจจะหนีพ้นไปจากพลาสติกได้ 

เขากลับมาทำงานหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน นักวางผังเมือง นักพัฒนาชุมชม คุณครู และบทบาทสำคัญที่สุดก็คือ พ่อของลูก

02

ศิลปินกับงานพัฒนาชุมชน

แม้จะไม่ชอบพลาสติกมากแค่ไหน แต่ก็ไม่อาจหนีไปได้ เขาเลยเปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่ว่า ทำไมเราถึงไม่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับมันให้ได้ล่ะ? 

หลังจากลองนำพลาสติกมาทำกระเป๋าและทอเสื้อแล้ว เขาและภรรยา ฟูจิ โยโกะ ริเริ่มความคิดที่จะนำของที่ไม่ใช้แล้วมาจัดกิจกรรมอะไรสักอย่างที่สอดคล้องกับการพัฒนาชุมชน และในตอนนั้นเองเขาก็นึกถึงของเล่นพลาสติกที่ลูกนำมาใช้เล่นขายของ 

เกิดเป็นไอเดีย ‘คาเอโกะ บาซาร์’ พื้นที่สำหรับเด็กๆ โดยให้พวกเขานำเอาของเล่นพลาสติกเก่าที่ไม่ต้องการ นำมาแลกเป็นพอยต์สะสมในการ์ดพอยต์ที่มีค่าราวกับเงิน มาแลกเอาของเล่นชิ้นใหม่กลับไป 

สตูดิโอชั่วคราวของ Hiroshi Fuji ศิลปินผู้เก็บของเล่นเหลือใช้นับพันต่อเป็นโลกดึกดำบรรพ์ในไทย
สตูดิโอชั่วคราวของ Hiroshi Fuji ศิลปินผู้เก็บของเล่นเหลือใช้นับพันต่อเป็นโลกดึกดำบรรพ์ในไทย

เริ่มจากการจัดกิจกรรมที่สวนสาธารณะใกล้บ้าน สถานที่ในชุมชน โรงเรียน ผลการตอบรับเป็นไปด้วยดี หลังจากกิจกรรมนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ของเล่นจากทั่วประเทศหลั่งไหลเข้ามาสู่ออฟฟิศของฟูจิ 

แม้กิจกรรมนี้จะมุ่งเน้นไปยังเด็กๆ เรานึกอยากรู้ว่าเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมต้องมีอายุเท่าไหร่กัน ฟูจิยิ้ม และตอบกลับมาว่า เด็กในที่นี้ไม่มีการกำหนดอายุ จะเป็นเด็กจริงๆ หรือผู้ใหญ่ที่ยังมีหัวใจเป็นเด็กก็ได้ทั้งนั้น 

หลังจากที่เขาคัดของเล่นที่มีสภาพดีและคิดว่าน่าจะเป็นที่ต้องการของเด็กๆ ออกไปแล้ว ก็จะพบกับของเล่นที่แตกหักเสียหาย ไม่สามารถส่งต่อไปยังคนอื่นได้ หรือของเล่นที่ซ้ำๆ กันเป็นจำนวนมาก เรามองไปยังกองของเล่นที่ฟูจิชี้ ถามไปว่า เยอะที่ว่ามันคือเท่าไหร่กัน ฟูจิตอบกลับมาเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า ごまんとある (go man to aru) และถามเราว่าเข้าใจความหมายนั้นไหม เอ๊ะ มันไม่ได้แปลว่า 50,000 ชิ้นอย่างนั้นหรือ 

สตูดิโอชั่วคราวของ Hiroshi Fuji ศิลปินผู้เก็บของเล่นเหลือใช้นับพันต่อเป็นโลกดึกดำบรรพ์ในไทย
สตูดิโอชั่วคราวของ Hiroshi Fuji ศิลปินผู้เก็บของเล่นเหลือใช้นับพันต่อเป็นโลกดึกดำบรรพ์ในไทย

ตอนนั้นเองที่ฟูจิพยายามอธิบายให้เราฟังถึงคำเปรียบเทียบที่คนญี่ปุ่นมักใช้กัน แท้จริงแล้วความหมายของประโยคนั้นคือ มีอยู่มากมาย เยอะจนไม่หวาดไม่ไหว เมื่อไหร่ที่มีคนมาถามคุณฟูจิถึงจำนวนของของเล่นแล้ว เขามักจะใช้ประโยคนี้ตอบอยู่ร่ำไป เพราะมันเยอะจนคร้านจะนับ แต่หลังจากประเมินคร่าวๆ มันมากกว่า 50,000 ชิ้นและอาจจะเยอะถึงแสนชิ้นเลยทีเดียวล่ะ

03

ไดโนเสาร์กลับมาครองโลก

เมื่อของเล่นที่ไม่มีใครต้องการเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ฟูจิเองไม่อยากจะทิ้งให้กลายเป็นขยะ ทำให้เขาคิดอยากจะนำของเล่นเหล่านั้นมาทำอะไรสักอย่าง 

เขาตัดสินใจสร้างไดโนเสาร์จากขยะพลาสติก เหตุผลที่เป็นไดโนเสาร์ก็เพราะว่าเจ้าพลาสติกเหล่านี้ผลิตมาจากน้ำมันดิบ ซึ่งพบในชั้นธรณีวิทยาใต้ผิวโลก เป็นเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ เกิดจากซากสิ่งมีชีวิตทับถมกันเป็นเวลายาวนาน 

สตูดิโอชั่วคราวของ Hiroshi Fuji ศิลปินผู้เก็บของเล่นเหลือใช้นับพันต่อเป็นโลกดึกดำบรรพ์ในไทย

ฟูจิคิดว่าหนึ่งในซากสัตว์เหล่านั้นก็คือเจ้าไดโนเสาร์ตัวโต ดังนั้น เมื่อนำพลาสติกเหล่านี้มาสร้างไดโนเสาร์ เขารู้สึกราวกับว่าได้ฟื้นคืนชีวิตไดโนเสาร์กลับขึ้นมาอีกครั้งนั่นเอง 

หลังจากผ่านยุคไดโนเสาร์ ก็กลายเป็นยุคของมนุษย์และพลาสติก ฟูจิคาดเดาว่าทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกขุดออกมาใช้ผลิตพลาสติก ในอนาคตอาจจะหมดลง ยุคพลาสติกนี้อาจจะหมดลงแล้วเกิดเป็นยุคใหม่ก็เป็นได้

ฮิโรชิ ฟูจิ ศิลปินชาวญี่ปุ่น

“ผมรู้สึกสนุกกับการสร้างจริงๆ นะ ไม่ว่าจะสร้างอะไรผมก็สนุกกับมันทุกอย่างจนลืมเวลาเลยล่ะ อย่างเช่น ตอนหาชิ้นส่วนมาเพื่อประกอบฟัน ผมจะหาพวกโรบ็อตตัวเล็กๆ ที่น่าจะต่อเป็นฟันได้พอดี ชิ้นนี้แข็งแรงเหมาะจะประกอบเป็นเขี้ยว ยิ่งนำสิ่งที่ประดิษฐ์มาเรียงกันแล้วดูสวยงามเข้ากัน ผมยิ่งรู้สึกสนุก”

04

Jurassic Plastic

เราหันมองของเล่นที่กองเรียงกันมากมายอีกครั้ง สงสัยว่ากระบวนการทำงานของฟูจิทำยังไง เขาจึงอธิบายให้เราฟังถึงลำดับขั้น 

เนื่องจากงาน Jurassic Plastic ครั้งนี้จัดขึ้นที่ประเทศไทย ฟูจิยังไม่มีคอมมูนิตี้ในการรับและแลกเปลี่ยนของเล่นพลาสติก ช่างชุ่ยจึงรับหน้าที่เป็นพื้นที่รับบริจาคของเล่นเหลือใช้จากทั่วประเทศไทยตั้งแต่เมื่อกลางปีที่ผ่านมา  

จากนั้น ขั้นแรก ฟูจิจะแยกของเล่นที่ยังดี ยังใช้ได้ และของที่คิดว่าเด็กๆ ยังรู้สึกต้องการ อยากเล่น (ขั้นตอนนี้มีเด็กนักเรียนอาสาสมัครมาช่วยแยกด้วย) 

สตูดิโอชั่วคราวของ Hiroshi Fuji ศิลปินผู้เก็บของเล่นเหลือใช้นับพันต่อเป็นโลกดึกดำบรรพ์ในไทย

หลังจากนั้นจึงจะหันกลับมาจัดการกับของเล่นที่แตกหักหรือมีซ้ำกันเป็นจำนวนมาก แยกตามขนาดและตามมาด้วยสี เท่านี้ของเล่นก็จะแบ่งออกได้เป็นกองเท่าภูเขา ภูเขาสีฟ้าเอย สีเหลืองเอย 

สุดท้ายจึงค่อยๆ ให้ทีมงาน อาสาสมัครและตัวฟูจิเองนำสิ่งต่างๆ มาประดิษฐ์ ประกอบให้เข้ากันตามจินตนาการต่อไป เมื่อมองไปยังกองของเล่นที่รวมกันแล้วจะเห็นได้ชัดเลยว่ามีของซ้ำกันเยอะมาก

สตูดิโอชั่วคราวของ Hiroshi Fuji ศิลปินผู้เก็บของเล่นเหลือใช้นับพันต่อเป็นโลกดึกดำบรรพ์ในไทย
สตูดิโอชั่วคราวของ Hiroshi Fuji ศิลปินผู้เก็บของเล่นเหลือใช้นับพันต่อเป็นโลกดึกดำบรรพ์ในไทย

“รู้ไหมว่าที่ญี่ปุ่นหลังจากผมคัดแยกแล้ว ตัวการ์ตูนตัวไหนที่มีเยอะที่สุด” ฟูจิถามขึ้น ผู้อ่านลองมาจินตนาการคำตอบไปพร้อมกันดีไหมคะ?

สตูดิโอชั่วคราวของ Hiroshi Fuji ศิลปินผู้เก็บของเล่นเหลือใช้นับพันต่อเป็นโลกดึกดำบรรพ์ในไทย

  คำตอบก็คือ ‘โดราเอมอน’ เจ้าตัวการ์ตูนโรบ็อตแมวสีฟ้านั่นเอง เพราะว่าที่ญี่ปุ่น โดราเอมอน มีมานานมาก (โดราเอมอนตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1969) และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังได้รับความนิยมอยู่ไม่เสื่อมคลาย

05

เล่นอย่างรักษ์โลก

“ถ้าไม่ใช่ของเล่นพลาสติก อยากให้เด็กๆ เล่นอะไรเหรอคะ” เราถามกลับไปด้วยความสงสัย และคำตอบก็ไม่เกินไปจากที่เราคาดการณ์ไว้นัก เขาเล่าย้อนกลับให้ฟังถึงยุคสมัยที่ยังเป็นเด็ก ซึ่งไม่ต่างกันกับคนไทยมากนัก เด็กสมัยก่อนเขาเล่นดิน เล่นทราย เล่นใบไม้ เล่นกับธรรมชาติ ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปอะไรๆ ก็กลายเป็นของเล่นได้ทั้งนั้น 

จริงด้วย เราคิดถึงตัวเองในวัยเด็ก เด็ก Gen Y อย่างเราที่เกิดมาระหว่างยุคเก่าและยุคใหม่ ตอนเราเป็นเด็ก เราเคยเล่นขายข้าวแกง เอาใบไม้มาต้ม ใส่น้ำเล่นนู่นนี่ ก่อนที่เจ้าเกมหรือพลาสติกคาแรกเตอร์จะเข้ามามีบทบาทโดยที่เราไม่ทันได้รู้ตัว  

สตูดิโอชั่วคราวของ Hiroshi Fuji ศิลปินผู้เก็บของเล่นเหลือใช้นับพันต่อเป็นโลกดึกดำบรรพ์ในไทย

ฟูจิบอกว่า เขาไม่ปลื้มของเล่นพลาสติกสมัยนี้สักเท่าไหร่ เพราะมักมีวิธีการเล่น วิธีการใช้ ที่จิ้มตรงนั้นจะออกมาเป็นแบบนั้น จิ้มตรงนี้ออกมาเป็นแบบนี้ ของเล่นเหล่านี้ปิดกั้นจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ เราเองเผลอพยักหน้าเห็นด้วย  

แต่ถึงอย่างไร โลกเราก็เดินทางมาไกลเกินกว่าจะย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น หนทางที่ดีที่สุดที่เราจะทำได้ คือยืดอายุการใช้งานของเล่นพลาสติกแต่ละชิ้นออกไปให้ยาวนานที่สุด ด้วยการแลกเปลี่ยนหรือนำไปแปรรูปการใช้งานในลักษณะอื่นๆ เพื่อไม่ให้ของเล่นพลาสติกเป็นเพียง Single-use Plastic เล่นวันเดียวแล้วทิ้งอย่างที่เคยเป็นมา 

06

ชุบชีวิตใหม่อีกครั้ง

“แล้วถ้าไม่ใช่ไดโนเสาร์ จากนี้อยากสร้างตัวอะไร?” ฟูจิยิ้มและเริ่มเล่าถึงแรงบันดาลใจใหม่ของเขา ที่จริงเหมือนเขาจะคิดเอาไว้อยู่แล้วว่าต่อจากนี้อยากลองสร้างมังกร “ที่ไทยเองก็มีมังกรเหมือนกันใช่ไหมล่ะ ผมรู้สึกว่าคนทั่วโลกรู้จักมังกร เพียงแต่มังกรในแต่ละประเทศมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป” 

“ทำไมครั้งนี้ถึงเลือกมาประเทศไทยคะ ต่อจากนี้จะมีไปที่ไหนอีกหรือเปล่า” เหตุผลที่คุณฟูจิมาที่นี่เพราะทาง Japan Foundation เล็งเห็นว่าธีมของทางช่างชุ่ยและแนวคิดของฟูจิคล้ายคลึงกัน 

ช่างชุ่ย

พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ และยังมีการนำของเก่ามาชุบให้มีชีวิตใหม่อีกครั้ง และอีกครั้งที่ฟูจิทำให้เราประหลาดใจ “ผมสนใจประเทศไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อราวสิบปีที่แล้วผมเคยมาที่ประเทศไทย ไปจังหวัดลำพูน ตอนนั้นผมนำพลาสติกที่ไม่ใช้แล้วมาทำเป็นชุดและกระเป๋าให้เด็กๆ ที่ลำพูนใส่เดินแบบ ทำแฟชั่นโชว์เลยล่ะ นอกจากประเทศไทยแล้วผมไม่ได้อยากไปที่ไหนเป็นพิเศษเลยครับ”

ความตั้งใจอีกอย่างหนึ่งของคุณฟูจิคืออยากให้นักออกแบบวัยเยาว์ได้มาดูงานของเขา เพื่อเกิดเป็นไอเดียให้คนรุ่นใหม่ได้สรรค์สร้างสิ่งใหม่ๆ ต่อไป และหวังว่าพวกเขาจะให้ความสำคัญต่อสิ่งของมากขึ้น และที่สำคัญคือ “พลาสติกมันมีมากขนาดนี้เลยหรือนี่!”

สตูดิโอชั่วคราวของ Hiroshi Fuji ศิลปินผู้เก็บของเล่นเหลือใช้นับพันต่อเป็นโลกดึกดำบรรพ์ในไทย

Jurassic Plastic

จัดโดยเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ และช่างชุ่ย ครีเอทีฟพาร์ก

สนับสนุนโดยสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยและสมาคมญี่ปุ่นในประเทศไทย

ช่วงเวลา : วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม – วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม 2562

วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 13.00 – 22.00 น. (ปิดวันพุธ)

วันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 11.00 – 22.00 น.

อาคารอาเหนก ป้าสง, ช่างชุ่ย

ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม

Writer

Avatar

ปิยธิดา กังวานกิจวาณิช

สาว (ไม่) น้อยที่หลงรักในภาษา หลงใหลในละครเวที ว่างเป็นหลับ ขยับเป็นกิน ดิ่งก็ติ่งเอาเดี๋ยวก็ฟื้นมาดำเนินชีวิตต่อไป เย่!

Photographer

Avatar

ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

เรียนวารสาร เที่ยวไปถ่ายรูปไปคืองานอดิเรก และหลงใหลช่วงเวลา Magic Hour ของทุกๆวัน