“จุนจิ อิโต้ คือนักเล่าเรื่องสยองขวัญผู้มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ความดุดัน ความละเอียดถี่ถ้วน และความน่าสะพรึงกลัวของเขานั้นช่างวิเศษ ควรค่าแก่การรับชมเป็นอย่างยิ่ง เขาคือปรมาจารย์ตัวจริงผู้ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ สตีเวน คิง อลันโพ และ อุเมซุ คาซึโอะ เลยทีเดียว” กิเยร์โม เดล โตโร (Guillermo del Toro) ผู้กำกับชื่อดังกล่าวชมชายที่ชื่อ จุนจิ อิโต้ (Junji Ito)

จำได้ว่าตื่นเต้นมาก ๆ ครับเมื่อรู้ว่าเรื่องสั้นที่คัดสรรโดยอาจารย์จุนจิ อิโต้ จะดัดแปลงเป็นอนิเมะลง Netflix และในที่สุดก็ได้ชมเรียบร้อย Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre คือผลงานที่ประกอบไปด้วย 20 เรื่องสั้น ใน 12 อีพี มีทั้งแบบเต็มอีพีหรือตอนละ 20 กว่านาที และ 2 ตอนต่อ 1 อีพี (ตอนละ 10 กว่านาที) โดยเรื่องสั้นส่วนใหญ่มาจาก คลังสยองขวัญลงหลุม เล่มต่าง ๆ มีมาจาก เศษซากอสูร และเล่ม เจาะลึก อิโต้ จุนจิ ด้วยเช่นกัน

ซีรีส์ประกอบไปด้วยตอนสั้นขนาดยาว อย่าง พี่น้องฮิคิซึริป่วนพิสดาร ลูกโป่งหัวมนุษย์ เมืองแห่งป้ายสุสาน โทมิเอะ: รูปถ่าย และตอนสั้นขนาดสั้น อย่าง อุโมงค์พิศวง รถไอศกรีม ห้องสี่ชั้น ห้องแห่งนิทรา ผู้บุกรุก ผมยาวแห่งห้องใต้หลังคา รา กองหนังสือหลอน สยองหลายชั้น เกยตื้น ทางวงกตสุดจะทนไหว เด็กขี้แกล้ง ข้างหลังตรอก รูปปั้นไร้หัว หญิงกระซิบ และ สัตว์เลี้ยงแสนรักของโซอิจิ ทั้งหมดนี้สร้างสรรค์ผลงานโดยที่เคยทำ Junji Ito Collection ไปเมื่อปี 2018 

ก่อนจะเล่าถึงภาพรวมและแสดงความเห็นเกี่ยวกับบางตอน ถือเป็นโอกาสดีที่จะพูดถึงตัวตนของอาจารย์จุนจิ แรงบันดาลใจ เบื้องหลังไอเดีย และประสบการณ์ก่อนมาเป็นปรมาจารย์และมังงะสยองขวัญอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้

**บทความต่อไปนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์ **

เจาะลึกปรมาจารย์ความสยอง จุนจิ อิโต้ กับเรื่องเขย่าขวัญฉบับอนิเมะใน Junji Ito Maniac

จุดกำเนิด จุนจิ อิโต้ 

พูดถึงปรมาจารย์สยองขวัญของญี่ปุ่น 2 คนที่ผมนึกถึงและชื่นชอบผลงานมาก คือ อุเมซุ คาสึโอะ (Umezu Kazuo) ผู้แต่ง ฝ่ามิตินรก และ 14 อาถรรพ์ปริศนา กับ อาจารย์จุนจิ อิโต้ ที่ปลูกฝังให้ผมชอบความสยองลึกลับตั้งแต่สมัยมีร้านเช่าการ์ตูน ซึ่งไม่เคยนึกเลยครับว่าคนแรกจะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับคนหลัง และเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมสนใจด้านนี้ของ จุนจิ อิโต้

จุนจิ อิโต้ เกิดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ปี 1963 การเข้าสู่โลกแห่งความสยองของเขาเริ่มตั้งแต่ 4 – 5 ขวบจากการอ่านนิยายเล่มแรกคือ Mummy Teacher ของ อุเมซุ คาซึโอะ ในนิตยสารตามพี่สาว 2 คน นอกจากนี้การเติบโตมาในต่างจังหวัดที่เมืองนากัตสึงาวะมีส่วนในการหล่อหลอมเขาเช่นกัน 

ด้วยความที่ห้องน้ำของบ้านเขาอยู่ใกล้กับอุโมงค์ใต้ดิน เขาจึงโตมากับสิงสาราสัตว์จำพวกแมลง เช่น จิ้งหรีดถ้ำ ตะขาบ กิ้งกือ แมงมุม และแมลงสาบ ซึ่งเขาบอกว่าตัวเองกลัวอะไรพวกนี้กับห้องน้ำบ้านตัวเองยิ่งกว่ามังงะหรือหนังสยองซะอีกครับ แต่วันหนึ่งรู้ตัวอีกทีก็ชินแล้ว (แต่ก็ยังไม่ชอบและเจอทีไรก็สะดุ้งอยู่ดี) และด้วยบรรยากาศที่ขมุกขมัวของห้องน้ำสมัยนั้น กับอุโมงค์ดิน ไม่ใช่คอนกรีตเหมือนทุกวันนี้ รวมกันทั้งหมดจึงกลายเป็นรากฐาน Mood & Tone และแรงบันดาลใจในงานของอาจารย์

อาจารย์จุนจิเริ่มเขียนมังงะตั้งแต่ 4 ขวบ ด้วยการวาดตามลายเส้นอาจารย์อุเมซุ ซึ่งเริ่มแรกอาชีพของเขาไม่ใช่นักเขียนมังงะอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ เขาเป็นช่างทันตกรรมมาก่อน แต่ก็ไม่เคยละทิ้งความชอบของตัวเอง จึงทำทั้ง 2 อย่างควบคู่กันไป

จนกระทั่งวันหนึ่งในปี 1987 เขาส่งมังงะตอนสั้นส่งประกวดในนิตยสาร Gekkan Halloween และได้รับรางวัลชมเชย ความน่ายินดีปรีดาอยู่ตรงที่หนึ่งในผู้ตัดสินรางวัล คือ อาจารย์อุเมซุ คาสึโอะ ไอดอลและแรงบันดาลใจที่มอบจุดเริ่มต้นให้เขา ต่อมามังงะตอนสั้นนั้นได้ถูกตีพิมพ์ กลายมาเป็นซีรีส์ขนาดยาวและหนึ่งในผลงานที่โด่งดังที่สุดของจุนจิ อิโต้ เรื่องนั้นคือ โทมิเอะ หลังจากที่เขียนเป็นเรื่องเป็นราวได้ประมาณ 3 ปี โดยทำงานด้านทันตกรรมไปด้วย เขาก็ออกมาเป็นนักเขียนการ์ตูนเต็มตัว

เจาะลึกปรมาจารย์ความสยอง จุนจิ อิโต้ กับเรื่องเขย่าขวัญฉบับอนิเมะใน Junji Ito Maniac

แรงบันดาลใจและสไตล์ของ จุนจิ อิโต้

แน่นอนว่า อุเมซุ คาสึโอะ เป็นหนึ่งในนั้น ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการเล่าเรื่อง ความสยอง และลายเส้นที่ลงเส้นแบบเข้ม ๆ มีน้ำหนัก ให้อารมณ์ดิบ ๆ อาจารย์กล่าวว่า ฝ่ามิตินรก (The Drifting Classroom) เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่เขารู้สึกผูกพันตั้งแต่ครั้งแรกที่อ่าน เหมือนเป็นพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดอย่างไรอย่างนั้น นอกเหนือจากนี้ยังมี ฮิเดชิ ฮิโนะ, ชินอิจิ โคกะ, ยะสุทากะ สึสึอึ ผู้แต่งนิยาย Paprika และ เอโดงาวะ รัมโปะ อีกด้วย

ด้วยความที่อาจารย์จุนจิชอบเสพผลงานอย่างกว้างขวาง แรงบันดาลใจของเขาจึงมาจากซีกโลกตะวันตกด้วย นั่นคือปรมาจารย์ด้าน Cosmic Horror อย่าง เอช. พี. เลิฟคราฟต์ (H.P. Lovecraft) เลิฟคราฟต์ทำให้เขาสนใจเกี่ยวกับชีวิตนอกโลก ซึ่งไม่ใช่คนหรือสัตว์ที่เราเคยพบเจอ ความสยองถึงแก่น เหตุการณ์หรือปรากฏการณ์เหนือความเข้าใจ สภาวะจนมุมของตัวละคร การจบแบบสิ้นหวังหรือการตายทั้งเป็น และการตายศพไม่สวย เป็นต้น

เอช. อาร์. ไกเกอร์ (H.R. Giger) ผู้ออกแบบงานศิลป์สุดพิสดารอันเป็นเอกลักษณ์ประเภท Biomechanical อย่าง Xenomorph และองค์ประกอบอื่น ๆ ในหนัง Aliens (1979) กับศิลปินชื่อดังอย่าง ซัลวาดอร์ ดาลี (Salvador Dalí) ก็เป็นแรงบันดาลใจของเขาเช่นกัน กับหนังสยองขวัญคลาสสิกอย่าง Dracula และ Frankenstein และไม่เพียงแค่ผลงานส่วนบุคคล บางผลงานของอาจารย์ยังปรากฏองค์ประกอบของงานศิลป์ในยุคบาโรกและอิมเพรสชันนิสม์ฝรั่งเศสอยู่ด้วย 

เจาะลึกปรมาจารย์ความสยอง จุนจิ อิโต้ กับเรื่องเขย่าขวัญฉบับอนิเมะใน Junji Ito Maniac

สไตล์งานของอาจารย์จุนจิจัดอยู่ในประเภท Cosmic Horror และ Body Horror หรือความสยองเชิงกายวิภาคที่ดูสะอิดสะเอียน ซึ่งเป็นงานประเภทเดียวกับ เอช. พี. เลิฟคราฟต์ อีกส่วนคืออาจารย์ศึกษาเรื่องกล้ามเนื้อ ผิวหนัง และการทำงานของร่างกายจากหนังสือกายวิภาคสำหรับนักเรียนแพทย์ จึงนำมันมาต่อยอด อีกทั้งการเป็นช่างทันตกรรม น่าจะมีส่วนในการหล่อหลอมสไตล์ของเขา

แต่ถึงจะมีคำว่า ‘Horror’ แปะอยู่ ก็ไม่ใช่แนวสยองขวัญเพียว ๆ ซะทีเดียวครับ เพราะที่จริงเขาเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบไซไฟและเรื่องลี้ลับเหนือความเข้าใจเอามาก ๆ นอกจากหนัง หนังสือ และมังงะสยองขวัญ อาจารย์จุนจิยังโตมากับการอ่านเรื่องสั้นไซไฟแบบรวมเล่มและดูหนังไซไฟด้วยเช่นกัน ผลงานของเขาจึงเห็นได้ชัดว่าผสมสานระหว่างความสยองกับไซไฟ จนออกมาเป็น ‘สไตล์ จุนจิ อิโต้’ ดังเช่นที่เราจะเห็นเรื่องราวที่สอดแทรกไปด้วยเรื่องโลกคู่ขนาน เอ็กโทพลาสซึม รังสีคอสมิก ฯลฯ นอกจากนี้บางตอนยังมีความตลกร้ายและคอเมดี้ ซึ่งเป็นไปตามสไตล์ของแกอยู่ดี

จุนจิ อิโต้ มองว่าผลงานของตัวเองไม่ใช่เรื่องผีหรือเรื่องสยองขวัญ แต่เป็นแนวมอนสเตอร์กับ Supernatural มากกว่า และคำว่ามอนสเตอร์ไม่จำเป็นต้องมาในรูปสัตว์ประหลาดน่าเกลียดน่ากลัวและหลอกหลอนเสมอไป เราจึงได้เห็นทั้งงานแนวนี้กับแนวที่เป็นเรื่องราวของคนล้วน ๆ เช่นความสัมพันธ์ระหว่างเหยื่อ-ผู้ล่า ความหมกหมุ่นและหลงผิดจนเลยเถิด การสูญสิ้นศรัทธาในมนุษยชาติ การเป็นเหยื่อของปรากฏการณ์พิสดารที่หาคำตอบไม่ได้ จนได้พบจุดจบอย่างน่าอนาถและไม่รู้ว่าทำยังไงถึงจะรอด การถูกลงโทษจากบาป และความกลัวสุดขีด โดยอาจารย์เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่ได้อยากให้ตัวละครตายและหลายครั้งพยายามช่วยตัวละคร แต่เขียนไปเขียนมาแล้วหาทางออกให้ไม่ได้ ผลลัพธ์คือตัวละครตายกันเป็นเบืออย่างที่เห็นนั่นเอง โดยเฉพาะเมื่อเขียนไปเขียนมาแล้วหน้าหมด ชะตากรรมตัวละครต้องขาดอย่างเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

แต่ถึงแม้จะเป็นเจ้าความสยองขวัญและชื่อดังแค่ไหน อาจารย์ก็พูดอย่างตรงไปตรงมาว่า ไม่คิดว่าตัวเองเหมาะกับการเขียนเรื่องยาวสักเท่าไหร่ครับ เขาถนัดเขียนเรื่องสั้น เขารู้สไตล์ตัวเองว่าทำได้ ทำง่ายกว่า และเอ็นจอยในการสำรวจไอเดียใหม่ ๆ อยู่เสมอ ด้วยการสร้างเนื้อเรื่องก่อน จากนั้นค่อยคิดว่าตัวละครแบบไหนถึงเหมาะกับเนื้อเรื่องนั้น ๆ โดยทุกตอนโฟกัสไปที่ ‘ความพิลึก’ ส่วน ‘ความน่ากลัว’ เป็นเรื่องรอง

เจาะลึกปรมาจารย์ความสยอง จุนจิ อิโต้ กับเรื่องเขย่าขวัญฉบับอนิเมะใน Junji Ito Maniac

เปลี่ยนความกลัวเป็นผลงาน

อาจารย์จุนจิ อิโต้ เคยให้สัมภาษณ์ว่า การที่เขาดูเป็นคนสนใจและเต็มไปด้วยผลงานสยองชวนแหวะ ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่กลัว แต่วิธีการคือเขานำความกลัวเหล่านั้นมาต่อยอดเป็นผลงาน และสารภาพตรง ๆ ว่านิสัยชอบสงสัยใคร่รู้ของตัวเองมีมากกว่าความกลัว นั่นทำให้เขาอยากสำรวจปริศนาว่ามีความเป็นไปได้อะไรบ้างจากไอเดียตั้งต้นของตัวเอง และลองให้คำตอบกับมันดู

ความหวาดกลัวหลัก ๆ ของอาจารย์คือแมลงอย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ ความตายที่ใกล้เข้ามา สงคราม การแอบซุ่ม การถูกจับตามอง และความรู้สึกไม่ปลอดภัย เขาเปลี่ยนความรู้สึกเหล่านั้นออกมาเป็นรูปธรรมให้ผู้อ่านสัมผัสได้เช่นกัน เพราะเชื่อว่าเป็นการดีที่สุดหากจะถ่ายทอดเรื่องที่ตัวเองอิน

ความกลัวและความปรารถนาบางประการของเขาถูกนำมาสร้างเป็นผลงาน เช่น โทมิเอะ ลูกโป่งหัวมนุษย์ หรือ Gyo มังงะ ปลามรณะ ที่มาจากหนังเรื่อง Jaws และประสบการณ์ของพ่อแม่สมัยสงครามโลก ซึ่งสมมุติว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากความกลัวในทะเลตามมาบนบกได้ และ ฝันยาว (Long Dream) ที่มาจากบทสนทนากับพี่สาว ฯลฯ

เจาะลึกปรมาจารย์ความสยอง จุนจิ อิโต้ กับเรื่องเขย่าขวัญฉบับอนิเมะใน Junji Ito Maniac

Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre

ก่อนหน้าจะเป็นอนิเมะรวมผลงานชุดนี้ เรื่องที่เคยสร้างเป็นผลงานภาพเคลื่อนไหวสุดติดตามาแล้วคือ ปลามรณะ และ Junji Ito Collection ในปี 2018 เป็นการรวมผลงานจากมังงะสยองเป็น 12 อีพี ประกอบไปด้วย 24 ตอน กับ 2 OVA ของ โทมิเอะ มาถึงเรื่องนี้ ไม่ผิดนักครับถ้าจะเรียกว่าเป็น ‘Junji Ito Collection ซีซั่น 2’ เพราะทำโดยสตูดิโอเดียวกัน ในรูปแบบที่คล้ายคลึงกันกับเรื่องก่อนหน้า แตกต่างกันตรงที่ชุดนี้มีลายเส้นที่เปลี่ยนไปและหาดูบน Netflix ได้ 

สำหรับความเห็นของผม ทั้ง Junji Ito Collection และ Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre (หลังจากนี้ขอเรียกสั้น ๆ ว่า Junji Ito Maniac แทนนะครับ) ยังถ่ายทอดความสยองจากทั้งลายเส้นและความรู้สึกแบบเปิดอ่านจากหน้ากระดาษไม่ได้ พูดง่าย ๆ และอาจดูแรงไปหน่อยคือ ยัง ‘ทำได้ไม่ถึง’ ทั้งด้วยลายเส้น การนำเสนอ การลดทอนรายละเอียด และข้อจำกัดเรื่องเวลา โดยเฉพาะอย่างหลังสุด เพราะอาจารย์เคยกล่าวว่า เขาเขียนบางงานแบบจบไม่ลง หรือรู้ตัวอีกทีหมดหน้าก่อนเลยเลือกจบมันแบบนั้น แต่อนิเมะเรื่องนี้บางเรื่องมีเวลาเพียงแค่ประมาณ 12 นาที จึงต้องตัดให้สั้นลงไปอีก ผลลัพธ์คือบางตอนดูห้วน ๆ ไปมาก และดูแล้วรู้สึกไม่ครบถ้วนเท่าไหร่นัก

ถึงอย่างนั้นก็ต้องบอกว่าโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ชอบนะครับ ในขั้นต้นอนิเมะเรื่องนี้ทำหน้าที่ขยายฐานแฟนให้อาจารย์มากขึ้น และในมุมของตัวมันเอง มีหลายตอนที่นับคร่าว ๆ น่าจะเกินครึ่งที่มองว่าทำได้ในระดับโอเคถึงดีในการสร้างความบันเทิง แต่ก็แอบสับสนว่า ที่ชอบเพราะเนื้อเรื่องดั้งเดิมที่มีอยู่แล้ว หรือเพราะการนำเสนอของอนิเมะ

จะเสียดายก็ตรงลายเส้นดิบ ๆ ของมังงะหายไป แต่ข้อดีคือ บางตอนอย่าง เขาวงกตสุดจะทนไหว รา และ ผมยาวแห่งห้องใต้หลังคา มีการวาดลายเส้นที่ดูใหม่และทันสมัยขึ้น และเมื่อนำไปเทียบกับ Junji Ito Collection แล้ว ถือว่ามีพัฒนาการ แม้จะรู้สึกว่าลายเส้นนั้นมีเสน่ห์ในทางหนึ่งเหมือนกัน แต่ Junji Ito Maniac นำเสนอได้สมูทกว่า (ปนการใช้ Transition ที่งง ๆ อยู่หลายจังหวะ และแอบรู้สึกว่าเลือกตอนเปิดที่เซต Mood & Tone ได้ไม่ดีเท่าไหร่) และบางตอนถือว่ารวบประเด็นกับสรุปจบได้ดีในระยะเวลาของตอนที่มีเพียงเท่านั้น เพียงแต่ดูแล้วยังคงไม่เปลี่ยนใจครับว่า การ ‘อ่าน’ ยังคงเป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการเสพผลงานของจุนจิ อิโต้

พูดถึงรายละเอียดปลีกย่อย จากการสังเกตพบว่า ตอนส่วนใหญ่ที่จัดอยู่ในประเภทสนุก คือตอนที่มีความยาว 24 นาที หรือตอนที่เป็น 1 : 1 ไม่ว่าจะเป็น พี่น้องฮิคิซึริป่วนพิสดาร แนวสนุก ๆ ที่ชวนนึกถึง The Addams Family ไม่น้อย เมืองแห่งป้ายสุสาน เป็นตอนนึงที่ดาร์กที่สุด ด้วยเนื้อเรื่องแนวกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเกี่ยวกับการทำ ‘บาป’ และ ‘ความรู้สึกผิด’ โทมิเอะ: รูปถ่าย ที่เป็นตัวชูโรงของอาจารย์ และ ลูกโป่งหัวมนุษย์ ซึ่งผมมองว่าทำได้ดีที่สุดในอนิเมะชุดนี้ โดยตอนที่อยากพูดถึงแบบไฮไลต์คือ 2 ตอนหลัง

สำหรับ ลูกโป่งหัวมนุษย์ เป็น 1 ใน 3 ตอนที่อาจารย์จุนจิชอบที่สุด เขาได้รับแรงบันดาลใจจากความฝันวัยเด็ก จนกลายเป็นหนึ่งในตอนที่น่ากลัวและ Iconic ที่สุดเมื่อพูดถึงผู้เขียนมังงะคนนี้กับ Adaptation อนิเมะชุดนี้จึงขาดเรื่องนี้กับซิกเนเจอร์อย่าง โทมิเอะ ไปไม่ได้ อีกอย่างคือการเติบโตมาในแถบชนบทและเข้าเมืองเป็นครั้งคราว ทำให้เขาเห็นบอลลูนลอยฟ้าเหนืออาคารบ้านเรือนและฉุกคิดขึ้นได้ว่าบอลลูนพวกนี้เหมือนเป็นตัวแทนเหล่าชีวิตในเมืองใหญ่ บวกกับความชอบในเรื่องลี้ลับอย่าง UFO กับวัตถุประหลาดบนฟากฟ้า เขาจึงรวมองค์ประกอบเหล่านั้นเข้าด้วยกันเป็นลูกโป่งหัวมนุษย์

จุนจิ อิโต้ คิดพล็อตเรื่องนี้ด้วยไอเดียกับความฝันที่ว่า ให้มีลูกโป่งลอยอยู่บนท้องฟ้าทั่วโลก แล้วลูกโป่งแต่ละลูกจะมีเชือกผูกศพห้อยต่องแต่งไปมา ซึ่งในตอนแรกเป็นเพียงลูกโป่งเฉย ๆ แต่พอขบคิดแล้วว่าจะทำให้มันประหลาดยังไง จึงเกิดเป็นไปเดียลูกโป่งโจมตีคนขึ้นมา แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังรู้สึกว่าขาดบางอย่าง องค์ประกอบสุดท้ายที่นึกขึ้นได้คือ “ถ้างั้นก็ให้ลูกโป่งเป็นหน้าคน ๆ นั้นซะเลยสิ” ตรงนี้มาจากแนวคิดของอาจารย์เองที่ว่า บางครั้งสิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือตัวเราเอง เหมือนกับโอชิคิริตอนตัวเองจากอีกโลก และโทมิเอะกับการตั้งคำถามว่าอะไรคือตัวเรา และการกลัวการส่องกระจกของอาจารย์เอง เลยออกมาเป็นลูกโป่งหน้าคนที่พุ่งเอาเชือกมาแขวนคอตัวละครอย่างที่เห็นครับ

เจาะลึกปรมาจารย์ความสยอง จุนจิ อิโต้ กับเรื่องเขย่าขวัญฉบับอนิเมะใน Junji Ito Maniac

สำหรับ โทมิเอะ ซึ่งเป็นผลงานเดบิวต์และเป็นเหมือนมาสคอตของจุนจิ อิโต้ มาตลอด (พอ ๆ กับปลาและหอย) อาจารย์ไม่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากผู้หญิงคนไหนเป็นพิเศษ แต่ต้นกำเนิดมาจากการเป็นอมนุษย์ที่ถูกฆ่าตายแล้วเหมือนไม่ตาย ไม่ว่ากี่ครั้งก็จะกลับมา มาจากการที่เขาสูญเสียเพื่อนผู้ชายคนหนึ่งสมัย ม.ต้น จากอุบัติเหตุรถชน อาจารย์อธิบายว่ามันเป็นความรู้สึกแปลกที่วันหนึ่ง คน ๆ หนึ่งก็หายตัวไปจากโลก และเขาคาดหวังว่าจู่ ๆ เพื่อนคนนั้นจะกลับมาปรากฏตัวเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น จึงถ่ายทอดความรู้สึกนี้มาสู่มังงะ และถ่ายทอดมันผ่านตัวละครโทมิเอะ 

จุนจิ อิโต้ ใส่ความปรารถนาของมนุษย์ลงไปในตัวโทมิเอะ ทั้งความเป็นอมตะ (จะเรียกแบบนี้ก็ได้) ไม่มีวันตาย แถมยังเพิ่มจำนวนได้ เป็นที่ต้องการเสมอ ชีวิตสมปรารถนา มักได้ในสิ่งที่ต้องการ มีเสน่ห์เย้ายวน น่าดึงดูด บริวารรายล้อมเหมือนราชินี แต่ในเวลาเดียวกันก็อันตรายและน่าสะพรึง สิ่งที่โทมิเอะมีคือทุกอย่างและความสามารถจะทำอะไรก็ได้ตามชอบ เพื่อความสนุก สะใจ ยั่วยวนด้วยการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศตัวละครชาย ยั่วยวนให้คนมัวเมาในกิเลส จนทำเรื่องบ้า ๆ แล้วพบกับความวินาศ ส่วนเธอนั้นหัวเราะคิกคัก แม้กระทั่วยั่วยวนให้ผู้อื่นฆ่าตัวเอง เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องข้อจำกัดของการมีเพียงชีวิตเดียว

การวาดโทมิเอะคืออีกหนึ่งผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากไอดอลอย่าง อุเมซุ คาสึโอะ เพราะในมังงะของอาจารย์คาสึโอะมีแนวทางการวาดที่เรียกว่า ‘สาวงามกับอสูร’ อยู่ครับ ก็คือการวาดให้สิ่งมีชีวิตดูสวยงามและอัปลักษณ์ในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องยากและท้าทาย แต่ท้ายที่สุดจุนจิก็สร้างตัวละครนี้โดยมองว่าโทมิเอะมีคุณสมบัตินี้อยู่ นอกจากนี้เธอยังเป็น ‘ผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลก’ สำหรับเขาด้วย ตัวละครหญิงอื่น ๆ จึงพยายามไม่วาดให้คล้ายโทมิเอะมากเกินไป แต่พอจะต้องวาดให้ออกมาสวย วาดไปวาดมาดันไปคล้ายกับโทมิเอะอีก

สำหรับตอนรูปถ่ายที่อยู่ใน Junji Ito Maniac ตอนนี้นับเป็นตอนที่สะท้อนธีมของโทมิเอะและความตั้งใจของอาจารย์จุนจิเต็ม ๆ คือใช้ความสวยเล่นสนุกด้วยการปั่นหัวตัวเอกหญิงที่ชื่อสึกิโกะ จากนั้นปล่อยให้สึกิโกะถ่ายรูป จนออกมาเป็นรูปที่สวยด้วยใบหน้าด้านหน้า และน่าเกลียดน่ากลัวจากหน้าที่งอกออกมาข้างหลัง ซึ่งนั่นคือความอัปลักษณ์ภายใต้ความสวยงามของตัวละครนี้ 

แรงบันดาลใจก่อนจะมาเป็นความสยองใน Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre ของ จุนจิ อิโต้

สำหรับตอนสั้นที่ความยาว 10 กว่านาที ต้องพูดว่าคละคุณภาพกันไปครับ

ตอนที่ดูจบแล้วเฉย ๆ หรือสนุก แต่รู้สึกว่าจบแบบค้างคาเกินไปหรือไม่ครบถ้วน คือตอน รา ทางวงกตสุดจะทนไหว รถไอศกรีม เกยตื้น ผู้บุกรุก และ ตอนอุโมงค์พิศวง ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากอุโมงค์บ้านเกิดของอาจารย์จุนจิที่นาคัตสึงาวะ ตอนเหล่านี้บางตอนถือว่าเพียงพอ แต่บางตอนก็ต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า หากดูจบแล้วไปอ่านมังงะหรือยังไม่ได้ดูแล้วอ่านมังงะเลย จะได้รายละเอียดครบถ้วนและมีน้ำหนักกว่า การลำดับเรื่องที่แตกต่างแบบลงตัวกว่าครับ แต่ก็นับว่าทำได้ดีไม่น้อยสำหรับบางตอนที่แม้จะตัดให้สั้นลงแต่สารยังครบถ้วน กับบางตอนมีการลำดับใหม่ได้ดีกว่ามังงะ

ต่อมาเป็นตอนที่ขอนิยามว่า จดจำแบบฝังลึกลงไปในจิตใจ ได้แก่ ตอน ห้องแห่งนิทรา กองหนังสือหลอน รูปปั้นไร้หัว ผมยาวแห่งห้องใต้หลังคา และ ข้างหลังตรอก ที่เคยได้คะแนนอันดับ 1 และเป็นที่นิยมมาก ถึงแม้อาจารย์จะยังรู้สึกว่าตัวเองทำได้ไม่เต็มที่ก็ตาม และตอน เด็กขี้แกล้ง ที่ไม่มีสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่ขับเน้นความน่ากลัวของมนุษย์ออกมาได้ดี ทุกตอนที่กล่าวไปในประเภทนี้อนิเมะทำได้ในขั้นดี 

สำหรับประเภทจำฝังลึกยังมีอีก ซึ่งผมเลือกแยกมาพูดถึง คือ หญิงกระซิบ จากเล่ม เศษซากอสูร และ สยองหลายชั้น ที่ตีพิมพ์เป็นฉบับพิเศษในหนังสือ เจาะลึก อิโต้ จุนจิ หญิงกระซิบ เป็นตอนที่ต้องชมว่าอนิเมะถือว่าทำได้ดี เพราะถ่ายทอดเสียงทั้งพากย์และอารมณ์ความรู้สึกจากมังงะออกมาแทบครบ รวมถึงเป็นตอนที่ไม่รู้เหมือนกันว่าควรรู้สึกยังไงดี (ในแง่ดี และรู้แต่ว่าตอนนี้ดี) 

ส่วน สยองหลายชั้น ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กผู้หญิงที่ค้นพบว่าตัวเองมีหลายชั้นเหมือนวงปีต้นไม้ ก็เป็นอะไรที่สยองและเป็นหนึ่งในตอนที่ดีกับจำฝังตาฝังใจที่สุดเช่นกัน และถ่ายถอดความรู้สึกหดหู่ชวนอึ้งผ่านงานด้านภาพได้อย่างดีทั้งฉบับอนิเมะและมังงะ 

แรงบันดาลใจก่อนจะมาเป็นความสยองใน Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre ของ จุนจิ อิโต้

ในขณะที่ตอน ห้องสี่ชั้น และ สัตว์เลี้ยงแสนรักของโซอิจิ เป็นตอนที่ดูสนุก ๆ เบาสมอง ซึ่งถือว่าอาจารย์จุนจิเลือกมาเพื่อตัดมู้ดกับตอนหนัก ๆ ได้ค่อนข้างดี เด็กหนุ่มคาบตะปูตัวแสบสายปั่นอย่างโซอิจิ ที่ชอบสาปคนอื่นและมาพร้อมกับวลี “เดี๋ยวแกได้เจอความสยองขวัญแน่” ในแง่หนึ่งแม้ออกจะน่ารำคาญอยู่บ้าง แต่ก็เป็นตัวละครที่มีเสน่ห์มาก ๆ และพอเข้าใจได้เลยครับว่า ทำไมนอกจาก โทมิเอะ แล้ว โซอิจิ ถึงเป็นซีรีส์ยาวและเป็นที่นิยมในหมู่ผู้อ่านผลงานอาจารย์จุนจิ อิโต้ 

อาจารย์เคยเล่าตอนให้สัมภาษณ์ว่า โซอิจิเป็นเหมือนร่างแยกของอาจารย์ และมีองค์ประกอบบางอย่างของอาจารย์อยู่ในตัว แม้นิสัยจะไม่เหมือนกันเป๊ะ ซึ่งเดิมที โซอิจิไม่ใช่ตัวเอก แต่ตั้งใจให้เป็นแค่ตัวละครสุดเกรียนที่ไปป่วนทริปหน้าร้อนคนอื่น ในขณะที่ มิจินะ ที่เป็นญาติคือตัวเอกดั้งเดิม แต่หลังจากที่เขียนไปเขียนมา หมอนี่ก็ดูมีเอกลักษณ์และน่าจดจำ จนกลายเป็นเหมือนพระเอกของจักรวาลจุนจิ อิโต้ ไปซะอย่างนั้นเลยครับ ส่วนตอน สัตว์เลี้ยงแสนรักของโซอิจิ เราก็จะได้เห็นความเป็นทาสแมวของปรมาจารย์สยองขวัญท่านนี้ด้วยเช่นกัน

แรงบันดาลใจก่อนจะมาเป็นความสยองใน Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre ของ จุนจิ อิโต้

โดยรวมแล้วใช้คำว่า Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre เป็นผลงานประเภท ‘ดีที่มี’ แล้วกันครับ อาจจะยังไม่สมบูรณ์ทางความรู้สึก แต่หากพูดถึงหน้าที่ของมันที่ทำแฟน ๆ ซึ่งลืมไปแล้วเพราะเคยอ่านล่าสุดตอนมัธยมต้นอย่างผม คนที่อ่านอยู่บ่อย ๆ และรอดูอนิเมะด้วย กับคนไม่รู้จักและไม่เคยดูมาก่อน หันมาชื่นชอบหรือชวนกลับไปอ่านและสนใจงานอาจารย์จุนจิ อิโต้ อีกครั้งได้ ก็นับว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งเลยครับ ยิ่งติดอันดับแรก ๆ ในหลายประเทศทั่วโลกด้วยแล้ว ส่วนสำหรับผมถือว่าเพลิดเพลิน ดูแล้วอยากไปไล่อ่านผลงานอาจารย์ทั้งหมดใหม่อีกครั้ง

พอมานึก ๆ ดู ถึงตอนนี้ก็คงพูดได้แล้วล่ะครับว่า หลังจากที่อาจารย์จุนจิ อิโต้ มีศิลปินหลายคนเป็นไอดอล มาวันนี้เขากลายเป็นนักเขียนมังงะคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของวงการและของฝั่งซีกโลกตะวันออก เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการประกาศสร้างผลงานหรือหยิบผลงานเก่า ๆ ที่เคยตีพิมพ์มาบอกเล่าในอีกฟอร์ม มักจะมีกระแสตอบรับที่ดีและผู้คนรอคอยกันเสมอ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้นเมื่อดูจากปฏิกิริยาของผู้คนตอนลงข่าวเกี่ยวกับอนิเมะเรื่องนี้

ขอปิดท้ายด้วยการพูดถึงผลงานของจุนจิ อิโต้ นอกเหนือจากนี้และที่กำลังจะมาหลังจากนี้ เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ก่อนหน้านี้โปรเจกต์เกม Silent Hills ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างตัวเทพที่ยกย่องและนับถือกันและกันอย่างอาจารย์จุนจิ, กิเยร์โม, เดล โตโร และ ฮิเดโอะ โคจิม่า (Hideo Kojima) จะถูกพับไป แต่เราก็กำลังจะได้ดู Uzumaki หรือ ก้นหอยมรณะ ที่จะสร้างเป็นอนิเมะขาวดำภาพดิบ ๆ แบบต้นฉบับ ออนแอร์ทางช่อง Adult Swim (ช่องที่มี Rick and Morty) กับ โทมิเอะฉบับ Live-action ของฝั่งฮอลลีวูดครับ และหวังอย่างยิ่งว่าจะได้ดูผลงานดัดแปลงจากมังงะเรื่องอื่น ๆ ของอาจารย์อีก ในคุณภาพที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ 

ข้อมูลอ้างอิง
  • เจาะลึก อิโต้ จุนจิ
  • www.youtube.com
  • grapee.jp
  • www.mentalfloss.com
  • www.cbr.com
  • sabukaru.online
  • netflixlife.com

Writer

Avatar

โจนี่ วิวัฒนานนท์

แอดมินเพจ Watchman ลูกครึ่งกรุงเทพฯ-นนทบุเรี่ยน และมนุษย์ผู้มีคำว่าหนังและซีรีส์สลักอยู่บนดีเอ็นเอ