Haus (n.) อ่านว่า เฮาส์ 

เห็นผ่านตาครั้งแรกอาจจะงงนิดๆ จากการเรียงตัวอักษรเรียบง่ายที่ไม่คุ้นตานัก เพราะ Haus แปลว่า ‘บ้าน’ ในภาษาเยอรมัน

ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่กับคำว่า ‘บ้าน’ ในภาษาไทย ที่เกิดจากเรียงของตัวอักษรธรรมดา 4 ตัวเช่นเดียวกัน 

แต่ไม่ว่าคำว่าบ้านจะถูกเขียนในภาษาไหน เรียบง่ายเพียงใด ความเป็นบ้านมักกินความหมายลึกซึ้งมากกว่าการเป็นอาคารหลังหนึ่งเสมอ เพราะความเป็นบ้านไม่ได้เกิดขึ้นเพียงจากวัสดุก่อสร้าง ทว่าเกิดจากเรื่องราวเบื้องหลัง วันเวลา และผู้คนที่ประกอบสร้างขึ้นมาร่วมกัน

อาคารหลังหนึ่งจึงมีชีวิต และกลายเป็น ‘บ้าน’ ในที่สุด บ้านทุกหลังจึงเป็นบ้านที่มีเพียงหลังเดียวในโลก

และในครั้งนี้ก็เป็นโอกาสดีที่เพื่อนเปิดบ้านที่เพิ่งรีโนเวตเสร็จใหม่ ให้เราได้ขยับเท้าก้าวเดินไปพร้อมกับคุณผู้อ่าน เข้าไปสำรวจบ้านใหม่ในบ้านเก่า ลานสเก็ตใหม่ในตึกเก่า ‘Jump Master Skate Haus

ลานสเก็ตใหม่ในโกดังเก็บรองเท้าอายุร่วมร้อยปีย่านเจริญกรุง

(First) Jump 

“เมื่อก่อนคุณตาผมเป็นพาร์ตเนอร์ร่วมก่อตั้งบริษัทนันยาง บริษัทอยู่แถวย่านตลาดน้อยนี่แหละ ซึ่งคุณตาผมผูกพันกับย่านนี้ อยากได้มาทำธุรกิจ เลยพยายามติดต่อกับเจ้าของเพื่อเข้าซื้อ แล้วออกมาทำแบรนด์ของตัวเองชื่อ Jump Master ขายรองเท้าประเภทไลฟ์สไตล์ รองเท้ากีฬาที่มันทันสมัย ดูวัยรุ่นมากขึ้น”

แชมป์-สุกฤษฐิ์ ศรหิรัญ หนึ่งใน Co-founder และทายาทเจ้าของอาคารชัยพัฒนสิน เล่าถึง ‘ก้าวแรก’ ของคุณตา เสริมชัย ศรีสมวงศ์ ผู้ริเริ่มกิจการรองเท้าของครอบครัวในตึกเก่าสีส้มอมน้ำตาล บริเวณหัวมุมถนนเจริญกรุง ทอดตัวขนานไปกับคลองผดุงกรุงเกษมแห่งนี้ 

“เราเห็นภาพคุณตาสร้างแบรนด์มาตั้งแต่เด็กๆ เลยรู้สึกผูกพันกับแบรนด์และที่แห่งนี้ จนถึงวันหนึ่งที่คุณตาเสียชีวิต แบรนด์ Jump Master ก็หยุดนิ่งไปเลยยี่สิบถึงสามสิบปีได้ อาคารนี้ก็ด้วย

“เรารู้สึกว่าคุณตาอุตส่าห์สร้างขึ้นมา จะทำยังไงให้แบรนด์นี้กลับขึ้นมามีชีวิตอีกครั้ง เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้อยากสานต่อแบรนด์รวมถึงอาคารนี้ด้วย ซึ่งถ้านับตามอายุถนนจริงๆ ก็น่าจะประมาณหนึ่งร้อยสิบเอ็ดปี” แชมป์เล่าพร้อมพาเราเดินดูอาคารที่ผ่านการชุบชีวิตแล้ว

ลานสเก็ตใหม่ในโกดังเก็บรองเท้าอายุร่วมร้อยปีย่านเจริญกรุง

(The) Master

“คุณตาเป็นผู้นำแฟชั่น”

ปิ๊ง-ฐิติภา ศรหิรัญ Co-founder ควบตำแหน่งน้องสาวของแชมป์ เปรยขึ้นมาระหว่างเดินผ่านชานพักบันได ที่เต็มไปด้วยกล่องรองเท้าสลับสีเรียงกันเป็นแบกกราวนด์ และตัวอักษรคำว่า JUMP บนผนัง

“เป็นกล่องที่ Jump Master ใช้ขายในสมัยก่อนจริงๆ พวกกราฟิกบนกล่องมันตรงกับเทรนด์ที่สมัยนี้เอากลับมาใช้”

เมื่อสังเกตดูดีๆ เราพบว่านอกจากดีเทลของกล่องรองเท้าที่ทันสมัยข้ามยุคแล้ว ตัวดีไซน์รองเท้าที่อยู่บนโปสเตอร์ ซึ่งจัดวางโชว์ไว้ข้างๆ ก็ทันสมัยไม่แพ้กัน ดู Timeless ขนาดที่ว่าหยิบไปวางบนชั้นร่วมกับรองเท้าแบรนด์อื่นในสมัยนี้ได้อย่างไม่น้อยหน้าใคร

และเมื่อเล็งเห็นถึงความน่าสนใจที่มาก่อนกาลของดีเทลเหล่านี้ เราจึงขอชวนทั้งคู่พูดคุยถึงเบื้องหลังการออกแบบของ Jump Master กันอีกสักนิด

“ผมคิดว่าน่าจะมีผู้ช่วยออกแบบนะ แต่คุณตาเป็นคนเคาะเอง” พี่ชายว่า

“คุณยายก็ด้วย เป็นคนที่มีรสนิยมฝรั่งมาก เพราะแกเป็นคนชอบเสพ ชอบดูบ้าน” น้องสาวเสริม “แกเป็นคนชอบเที่ยว หนึ่งปีเที่ยวมากกว่าสี่ครั้ง ถ้านับจริงๆ ผมว่าแกเที่ยวรอบโลกแล้ว เลยเทสต์ดีเพราะไปเจอมาเยอะ”

“คุณยายชอบแต่งตัว เรื่องสีนี่แม่นมาก ไม่ได้ไปห้างแล้วซื้อ แต่เสาร์-อาทิตย์ ไปช้อปปิ้งซื้อผ้าเองที่ห้างนายจันทร์ แล้วไปตัดเองกับช่างประจำ”

ปิ๊งและแชมป์เล่าถึงอีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่มีส่วนทำให้งานของแบรนด์ Jump Master มีดีไซน์มาก่อนกาลอย่างที่เราได้เห็น

Skate

“ตัวผมกับพาร์ตเนอร์มองว่ามันไม่ใช่กีฬา” แชมป์เกริ่นขึ้นเมื่อเราถามถึงที่มาของการเลือกทำสนามสเก็ตใหม่ในตึกเก่า 

“เพราะสนามกีฬาเข้าแล้วออกเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ที่นี่คือคุณจองเข้ามาแล้วรับประสบการณ์กลับไป เหมือนเป็นการแฮงก์เอาต์กับเพื่อนอีกแบบหนึ่ง เพราะช่วงหนึ่งชั่วโมงห้าสิบนาทีของเรา คุณไม่ต้องเล่นตลอดหรอก คุณมานั่งคุยกับเพื่อน มาเจอเพื่อน เรามองว่ามันน่าจะเหมาะกับอะไรที่ทำได้นานๆ ไม่ได้ทำเพราะมันเป็นกระแส

“ในต่างประเทศ เซิร์ฟสเก็ต มันคือ Culture คนเล่นตั้งแต่เด็กตัวนิดเดียว จนแก่อายุห้าสิบก็เล่นได้ ไม่จำเป็นว่าคุณต้องประกอบอาชีพอะไร อายุเท่าไหร่ เลยเป็นหนึ่งในเหตุผลตอบโจทย์ของเราที่อยากจะทำอะไรให้เข้าถึงคนทุกคน

“สำหรับเมืองไทยมันเพิ่งมา ตอนแรกคนไทยจะเล่นสเก็ตบอร์ด คนก็มองในด้านลบตลอด เพราะมัน Underground เป็นกีฬาของเด็กแอบเล่น ด้วยตรงนั้น เราอยากสร้างความเข้าใจและมุมมองใหม่ๆ ให้กับคน”

Haus 

‘Feel Like Home’ ได้รับเลือกให้เป็นคอนเซ็ปต์หลักในการปรับปรุงพื้นที่ เพราะ ‘บ้าน’ เป็นอะไรที่ใกล้ตัวและเข้าถึงได้ทุกคน ซึ่งน่าจะช่วยเปลี่ยนภาพจำจากพื้นที่ของกีฬาเฉพาะกลุ่ม ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย ไม่ว่าใครก็เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกันในพื้นที่แห่งนี้ได้ เหตุนี้เองนำไปสู่ Tagline ที่ว่า ‘Not your typical barn ramp’ ของ Jump Master Skate Haus 

และความรู้สึกเหมือนได้เล่นสเก็ตที่บ้าน ถูกถ่ายทอดสู่องค์ประกอบต่างๆ ที่ต่อเติมเข้าไปในพื้นที่ด้วยความใส่ใจ เริ่มต้นจากวัสดุ เมื่อคิดทบทวนจากทางเลือกต่างๆ แล้ว ก็พบว่า ‘ไม้’ ลงตัวและเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ทำให้ภาพของความเป็นบ้านฉายชัด ไม่ใช่เพียงโทนสีที่ทำให้นึกถึงความอบอุ่นของบ้าน แต่ความสามารถในการดูดซับแรงของไม้ที่มีมากกว่าปูน ก็เป็นอีกส่วนที่ทำให้เราอุ่นใจขึ้นมาว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุ วัสดุไม้จะช่วยโอบอุ้มเราให้บาดเจ็บน้อยลง เช่นเดียวกับที่บ้านปกป้องเราจากลมฟ้าอากาศ

การออกแบบแสงเป็นอีกส่วนสำคัญและเป็นส่วนที่ยาก จากข้อดีของอาคารแห่งนี้คือ มีแนวหน้าต่างยาวตลอดช่วงตึก จึงเปิดรับแสงธรรมชาติเข้ามาได้มาก แต่ด้วยเวลาในการเปิดทำการตั้งแต่ 10.00 – 19.30 น. ทำให้บางช่วงเวลาแสงภายในและภายนอกแตกต่างกันค่อนข้างเยอะ

การเติมแสงเข้าไปในพื้นที่ จึงคำนึงถึง 2 เรื่อง คือ ความยืดหยุ่นในการใช้งาน โดยเลือกใช้ Track Light ที่เลื่อนตำแหน่ง เปลี่ยนดวงโคมได้อย่างอิสระ รองรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทุกประเภท ควบคู่ไปกับหลอดไฟที่อุณหภูมิ 4000 k ตามคำแนะนำของ Lighting Designer เพื่อให้ได้แสงที่ดูมีมิติเดียวกัน ไม่ขาวหรือเหลืองจนเกินไป อบอุ่นพอดี ช่วยขับให้มู้ดโดยรวมของพื้นที่ มีความ Feel Like Home แบบที่ตั้งใจเอาไว้

กราฟิกสีสันน่ารัก เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราสังเกตเห็นว่าเป็นองค์ประกอบใหม่เพิ่มเข้ามา โดยเฉพาะเจ้าตัวการ์ตูนที่วาดลวดลายไถสเก็ตอยู่บนป้ายประชาสัมพันธ์และ Signage

“ตัวคาแรกเตอร์มีท่าทางมาจากการเล่นเซิร์ฟสเก็ต โดยขั้นพื้นฐานของการเล่นเซิร์ฟสเก็ต จะตั้งกรวยเอาไว้สองมุม ซึ่งทำให้การเล่นเหมือนเลี้ยวโค้งไปตาม Infinity Loop แบบไม่มีที่สิ้นสุด เราเลยเอาเลข 8 คล้ายตัว Infinity มาลดทอนเป็นคาแรกเตอร์ลักษณะฟรีฟอร์ม ไหลลื่นคล้ายกับการเล่นเซิร์ฟสเก็ต และมีความเฟรนด์ลี่ อบอุ่น เพื่อสื่อสารกับทุกคน”

นับ-พิชญา คำพูล นักวาดภาพประกอบผู้ออกแบบคาแรกเตอร์ และอีกหนึ่ง Co-founder เล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังที่มาของการออกแบบ Mr.Jump ผู้มีชื่อเดียวกับแบรนด์

ดูเหมือนว่า Mr.Jump เองจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเป็นอย่างดี เพราะแชมป์แชร์ประสบการณ์ตรงให้ฟังเพิ่มเติมว่า

“ลูกค้าที่เป็นครอบครัว กลุ่มเด็ก เห็นอะไรมีสีสันหรือตัวการ์ตูนแบบนี้แล้วชอบ เราก็แจกสติกเกอร์ให้ แทนที่จะเก็บกลับบ้าน บางทีเห็นผมนั่งเล่นคอมอยู่ เขาก็เอามาแปะที่คอม ซึ่งน่ารักดี และช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกค้า แล้วกิจกรรมแบบนี้ทำให้รู้สึกเหมือนเวลามีพี่น้องมาเยี่ยมบ้านเราจริงๆ”

Space

“จริงๆ ก่อนหน้าที่เราจะทำ มันมีฝ้าปิดคาน แต่เราเห็นว่ามีฝ้าช่วงหนึ่งผุพังไปแล้ว มองขึ้นไปแล้วคานมันสวย ยิ่งพอเอาบันไดปีนขึ้นไปดู เลยเห็นว่าโครงสร้างมันสวยมาก” แชมป์เล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ทำให้เห็นความเป็นไปได้บางอย่างในโครงสร้างเดิมของอาคารแห่งนี้ 

ก่อนเป็นตึกขายรองเท้า อาคารชัยพัฒนสินเคยเป็นโรงงานน้ำอัดลม มีชื่อเรียกในสมัยนั้นว่า ‘น้ำมะเน็ด’ (เป็นเสียงที่ตัดทอนมาจากคำว่า Lemonade ในภาษาอังกฤษ) จึงถูกออกแบบให้โครงสร้างรับน้ำหนักได้มากกว่าอาคารทั่วไป ด้วยการวางช่วงเสาที่ไม่กว้างมาก ประกอบกับคานหลักลึกร่วมกับคานซอยถี่ เพื่อรับน้ำหนักแทงก์หล่อคอนกรีต สำหรับเก็บน้ำที่อยู่บนชั้น 4 บริเวณใต้หลังคา 

หลังจากคุยถึงที่ไปที่มาของอาคารเรียบร้อย เราจึงขออนุญาตให้เจ้าของบ้าน พาสำรวจลึกไปในพื้นที่แต่ละส่วน เพื่อไปดูดีเทลต่างๆ อันน่าสนใจ

ลานสเก็ตใหม่ในโกดังเก็บรองเท้าอายุร่วมร้อยปีย่านเจริญกรุง
ลานสเก็ตใหม่ในโกดังเก็บรองเท้าอายุร่วมร้อยปีย่านเจริญกรุง

บริเวณชั้น 1 เดิมเคยเป็นพื้นที่โกดังเก็บสินค้ามาก่อน แต่ได้รับการปรับปรุงโดยทุบผนังบางส่วนออก เปลี่ยนให้เป็นที่จอดรถสำหรับแขกผู้มาเยือน ส่วนด้านหน้าอาคารฝั่งติดถนน เป็นโชว์รูมที่เมื่อย่างเท้าเข้าไปแล้ว ราวกับหมุนทวนเข็มนาฬิกา เพราะข้าวของที่ใช้งานในสมัย Jump Master ยังถูกเก็บไว้อย่างดี ทั้งชั้นกระจก ตู้โชว์ หรือแม้กระทั่งเคาน์เตอร์ Reception ที่ในอนาคตก็มีแผนจะปรับปรุง และใช้พื้นที่บริเวณนี้เป็นส่วนต้อนรับทุกคนอีกครั้ง

ลานสเก็ตใหม่ในโกดังเก็บรองเท้าอายุร่วมร้อยปีย่านเจริญกรุง

นอกจากตัวกล่องรองเท้าที่เรียงเป็นตัวอักษร JUMP บริเวณชานพักบันไดอย่างที่เล่าไปตอนต้นแล้ว กล่องไฟซึ่งทำหน้าที่เป็น Signage ค่อยๆ นำทางเราจากประตูหน้าสู่ชั้นต่อไปก็น่าสนใจเช่นกัน เพราะแท้จริงแล้วมันไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นไฟบนฝ้าเพดานจากสำนักงานที่อยู่ชั้นสอง ตัวกล่องไฟถูกเติมกราฟิกของ Jump Master Skate Haus เข้าไปให้ใช้งานในฟังก์ชันใหม่ พร้อมบอกเล่าเรื่องราวในยุคก่อนไปพร้อมกัน

ลานสเก็ตใหม่ในโกดังเก็บรองเท้าอายุร่วมร้อยปีย่านเจริญกรุง

พื้นที่ชั้น 2 เป็นส่วนของออฟฟิศที่เคยรองรับพนักงาน Jump Master กว่า 60 ชีวิต ปัจจุบันยังคงเหลือร่องรอยให้เห็นถึงเลเยอร์ของกาลเวลา จากเหล็กดัดหน้าต่างที่น่าจะมีมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของอาคาร การแบ่งพื้นที่ด้วยชุดกระจกอะลูมิเนียมสีเงิน ฝ้าเพดานฉลุลายตามสมัย เฟอร์นิเจอร์สำนักงานหน้าตาตรงยุคซึ่งเพิ่มเข้ามาในสมัยของคุณตา นอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์สำนักงาน เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่บางส่วนก็มาจากการที่คุณตาขยายกิจการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ 

ดีเทลที่กระจายอยู่ในพื้นที่ส่วนต่างๆ ของอาคารเหล่านี้ เป็นเสมือนจิ๊กซอว์ชั้นดี ทำให้เราปะติดปะต่อรูปแบบการใช้งานในสมัยที่ยังเป็นสำนักงานของ Jump Master ได้

บริเวณชั้น 3 เคยเป็นโกดังเก็บสินค้า ก่อนปรับพื้นที่ให้กลายเป็นสนามสเก็ต โดยองค์ประกอบส่วนใหญ่ยังคงถูกเก็บไว้อย่างครบถ้วน

ร่องรอยของสีที่ต่างกัน เผยให้เห็นการเปลี่ยนผ่านฟังก์ชันในแต่ละยุคสมัย แชมป์ตั้งข้อสังเกตว่า สีเหลืองบริเวณผนังและท้องพื้นเหนือ Wave Bank น่าจะเป็นสีจากสมัยโรงงานน้ำอัดลม ส่วนสีเทาอ่อนน่าจะเป็นการปรับปรุงพื้นที่ในสมัยของคุณตา

ลานสเก็ตใหม่ในโกดังเก็บรองเท้าอายุร่วมร้อยปีย่านเจริญกรุง
ลานสเก็ตใหม่ในโกดังเก็บรองเท้าอายุร่วมร้อยปีย่านเจริญกรุง

ส่วนลิฟต์ที่คนชอบมาถ่ายรูปคู่ ก็เป็นลิฟต์ตัวเดิมและทุกวันนี้ยังใช้ขนของอยู่ แต่ไม่แนะนำให้ใช้ขนคน เพราะเป็นลิฟต์โบราณที่ไม่มีเซฟตี้

พื้นที่ชั้น 3 นี้ เป็นพื้นที่ที่เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนที่สุด เพราะทีมเลือกทำการปรับปรุงเป็นโปรเจกต์แรก ผนังส่วนใหญ่ถูกทุบออกไป เหลือไว้เพียงชุดเฟรมกระจกอะลูมิเนียมพ่นสีดำทับ และปูพื้นไม้ใหม่เพื่อทำให้ดูทันสมัย เป็นห้องรับรองสำหรับคนที่มาเล่นและผู้ติดตาม

ลานสเก็ตใหม่ในโกดังเก็บรองเท้าอายุร่วมร้อยปีย่านเจริญกรุง
ลานสเก็ตใหม่ในโกดังเก็บรองเท้าอายุร่วมร้อยปีย่านเจริญกรุง

ส่วนความยากของการออกแบบสนาม คือการจัดวางอุปกรณ์และ Flow การเล่นให้ต่อเนื่อง ภายใต้ข้อจำกัดของพื้นที่และโครงสร้างอาคารเดิม 

Wave Bank ถูกวางติดกับห้องรับรอง เพื่อใช้ข้อดีของช่วงเสาที่ยาวตลอดแนวอาคารติดริมหน้าต่างให้เล่นได้ต่อเนื่อง

Giant Slope ทำหน้าที่เป็นไหล่อีกข้างของ Wave Bank เพื่อให้ Drop-in จากบริเวณนี้ และมีแรงส่งมากพอเพื่อเข้าไปเล่นใน Half Bowl ที่อยู่บริเวณมุมของอาคารฝั่งตรงข้ามได้ ก่อนจะวนกลับเข้ามาในลูปพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งมีตัว Pump Track ไม้อยู่ในเลนกลางของสนาม เป็นทางเลือกเพิ่มความท้าทายให้กับผู้เล่น 

ลานสเก็ตใหม่ในโกดังเก็บรองเท้าอายุร่วมร้อยปีย่านเจริญกรุง
ลานสเก็ตใหม่ในโกดังเก็บรองเท้าอายุร่วมร้อยปีย่านเจริญกรุง

“ตอนแรกบริเวณตรงมุมตึกกะจะทำ Ramp ให้เป็นเนินขึ้นไปเฉยๆ แต่ลูปจะไม่ครบ เลยคิดว่าเป็นทำเป็น Half Bowl ดีกว่า แต่ตอนทำก็ยากอยู่นะ เพราะอาคารเราเอียงตามโค้งถนน ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าจุดกึ่งกลางมันเบี้ยวอยู่ เพราะอาคารเราโค้งมาจากด้านซ้าย ถ้าจะถ่ายแบบเซนเตอร์เลย ต้องใช้มุมช่วยนิดหนึ่ง ไม่งั้นต้องถ่ายให้ไม่เห็นไฟ มุมนี้คนมาแล้วชอบถ่าย มันจะได้ Daylight เข้าด้านข้าง

ปัดฝุ่นโกดังเก็บรองเท้ารุ่นคุณตาเป็น Jump Master Skate Haus ลานสเก็ตที่ตั้งใจเป็นแลนด์มาร์กแห่งย่านเจริญกรุง

“ตัว Ramp เราดีไซน์เอง พัฒนาร่วมกับช่างเฟอร์นิเจอร์ Built-in ที่มีความถนัดในเรื่องงานไม้ และเราศึกษาจากการไปเล่นหลายๆ ที่ อย่างพวกองศาก็ทำให้มันไม่ชันเกินไปและไม่แบนเกินไป เล่นกำลังสนุก แล้วให้ขอบด้านบนมันแฟลตนิดหนึ่ง ให้พอขึ้นไปแล้วมันยังไต่ได้” แชมป์เล่าถึงการออกแบบ Ramp ที่แม้แต่ Beginner ก็เล่นได้ ระดับโปรแข่งขันก็บอกว่าสนุกดี

ส่วนพื้นที่ครึ่งหลังของอาคาร นับเล่าให้ฟังว่ากำลังปรับปรุงเพื่อขยายพื้นที่ โดยตั้งใจนำส่วนเฟรมอะลูมิเนียมหน้าบันไดออก เพื่อให้ผู้เล่นเล่นได้อย่างต่อเนื่องทุกอุปกรณ์ทั่วทั้งชั้น 

ปัดฝุ่นโกดังเก็บรองเท้ารุ่นคุณตาเป็น Jump Master Skate Haus ลานสเก็ตที่ตั้งใจเป็นแลนด์มาร์กแห่งย่านเจริญกรุง
ปัดฝุ่นโกดังเก็บรองเท้ารุ่นคุณตาเป็น Jump Master Skate Haus ลานสเก็ตที่ตั้งใจเป็นแลนด์มาร์กแห่งย่านเจริญกรุง

พื้นที่ส่วนนี้เราเข้าไปเจอช่วงที่ทีมพี่ช่างกำลังทาสีเก็บความเรียบร้อย ไปพร้อมๆ กับเก็บร่องรอยของกาลเวลา แชมป์ชี้ชวนให้ดูว่าตั้งใจเว้นบางส่วนไว้เป็นแลนด์มาร์ก เช่น รางไฟไม้เดิมที่มีร่องรอยการเดินไฟเจาะทะลุคาน หรือรอยรูปวงกลมบนพื้นกับท้องพื้นด้านบน ที่ตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นหัวแทงก์น้ำเก่าหรือช่องท่อส่งน้ำ เพราะมีรอยการก่อผนังต่อเนื่องกันระหว่างชั้น

ปัดฝุ่นโกดังเก็บรองเท้ารุ่นคุณตาเป็น Jump Master Skate Haus ลานสเก็ตที่ตั้งใจเป็นแลนด์มาร์กแห่งย่านเจริญกรุง
ปัดฝุ่นโกดังเก็บรองเท้ารุ่นคุณตาเป็น Jump Master Skate Haus ลานสเก็ตที่ตั้งใจเป็นแลนด์มาร์กแห่งย่านเจริญกรุง

ส่วนภายนอกของอาคาร หลังจากได้หารือกับคุณลุงและทดลองกับบริษัทสีเรียบร้อย ก็ได้ข้อสรุปว่า จะบอกลาภาพตึกสีฟ้าอมเขียวบริเวณหัวมุมสะพานพิทยเสถียรเชื่อมกับถนนเจริญกรุง แล้วพาสีส้มอมน้ำตาลมาแทนที่ ซึ่งเข้าได้กับทั้งความเก่าและความใหม่ เชื่อมโยงคนได้ทุกเพศ ทุกวัย และในส่วนแบรนดิ้งเอง ก็พยายามดึงสีไปใช้ด้วยเหมือนกัน

(Creative) District

จาก ‘บ้าน’ สู่ ‘ย่าน’ 

“พื้นฐานของเราสามคนเป็นดีไซเนอร์กันหมดเลย เป็นคนชอบงาน Art งาน Design” 

ปิ๊งจั่วหัวถึงพื้นเพของแต่หุ้นส่วนละคนที่มีพื้นฐานมาจากการเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ช่างภาพ และนักวาดภาพประกอบ ผู้อยากทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งกับย่านเจริญกรุง ที่กำลังพัฒนาไปเป็น Creative District 

“เราอยากสนับสนุนย่านนี้ด้วย แถวนี้มีร้านรวงเล็กๆ เจ๋งๆ ซ่อนอยู่เยอะมาก ถ้าเรารีโนเวตอาคารให้เป็นแลนด์มาร์กหนึ่งของย่านนี้ได้ ก็น่าจะดึงคนจากหลายๆ ย่านเข้ามาได้ ซึ่งปิ๊งเชื่อว่า ถ้าตึกนี้กลับมามีชีวิต ย่านนี้จะต้องกลับมาคึกคักแน่นอน

“อย่างเราขยับแค่ส่วนลานสเก็ต คนก็เริ่มสนใจในย่านมากขึ้น ซึ่งร้านค้าเล็กๆ หรือโฮสเทลตรงนี้ก็ยินดีไปกับเราด้วย เขาเห็นสตอรี่หรือสื่อที่ลงให้ ก็แชร์ให้โดยที่เราไม่ต้องบอกหรือขออะไรเลย

“เรารู้สึกว่าพอ Respect เขา เขาก็ Respect เรา เพราะเราไม่ได้ทำตึกสี่สิบห้าสิบชั้นเพื่อให้เราได้อย่างเดียว เรารู้สึกว่าตึกมีเสน่ห์ของมันอยู่แล้ว แล้วก็ไม่ได้อยากทำให้มันแตกต่าง โดดออกมาจากคนอื่น” แชมป์แชร์เพิ่มถึงทิศทางที่ทีมกำลังพาอาคารชัยพัฒนสินเดินทางไปต่อพร้อมๆ กับเพื่อนบ้านในย่าน 

ปัดฝุ่นโกดังเก็บรองเท้ารุ่นคุณตาเป็น Jump Master Skate Haus ลานสเก็ตที่ตั้งใจเป็นแลนด์มาร์กแห่งย่านเจริญกรุง

Future Space Planning

“แปลนที่กำลังวางใหม่จะคล้ายกับตอนที่คุณตาทำ Jump Master”

ปิ๊งในฐานะผู้ดูแลแบรนดิ้งของ Jump Master Skate Haus แชร์ไอเดียสำหรับแผนการระยะยาวให้เราฟัง หลังจากเราสอบถามถึงมุมมองต่อความยั่งยืนในการทำสนามสเก็ต 

ชั้นแรกถูกวางให้เป็นคอมมูนิตี้เกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ ตอนนี้เลยเริ่มทุบผนังชั้น 1 ให้มองทะลุถึงกัน ทำให้พื้นที่โดยรวมโปร่งขึ้น และตั้งใจจะเจาะผนังฝั่งติดคลองผดุงกรุงเกษมเพิ่มเติม เพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติให้เข้ามาในสเปซ รวมถึงเปิดมุมมองให้เกิดพื้นที่นั่งเล่นริมคลองที่น่าสนใจ 

ในขณะที่ชั้น 2 ทำเป็นพื้นที่สำนักงานเหมือนเดิม แต่จะเปลี่ยนจากสำนักงานของบริษัทรองเท้า เป็นบริษัทที่ทำงานออกแบบ ซึ่งจะเชื่อมโยงและตอบโจทย์ความเป็น Creative District 

ชั้น 3 ทางทีมมองว่าอยากให้ชั้นนี้เป็นชั้นไลฟ์สไตล์ เลยพยายามออกแบบพื้นที่ไว้ให้ยืดหยุ่นในการใช้งานที่สุด สนามสเก็ตที่เป็นเหมือน Active Exhibition จะถูกเก็บไว้ในฐานะโปรเจกต์แรกของทีมที่ทำในตึกนี้ นอกจากนั้นยังเตรียมพื้นที่สำหรับรองรับกิจกรรมอื่นๆ เช่น แฟชั่นโชว์ การจัดอีเวนต์ ไปจนถึงมินิคอนเสิร์ต เพราะคิดว่าสเปซที่ทำขึ้นมาตอบโจทย์กลุ่มคนและกิจกรรมที่หลากหลาย 

ส่วนชั้น 4 เป็นชั้นใต้หลังคา มีร่องรอยของแทงก์น้ำเดิมให้เราเดินสำรวจ และมีโครงสร้างหลังคาไม้โบราณที่ค่อนข้างสวยงามสมบูรณ์เป็นฉากหลัง ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของฟังก์ชันใหม่ แต่เราขอแอบกระซิบไว้นิดว่า บรรยากาศดาดฟ้าข้างนอกเจ๋งมาก โปรดติดตามอย่างใกล้ชิด

ปัดฝุ่นโกดังเก็บรองเท้ารุ่นคุณตาเป็น Jump Master Skate Haus ลานสเก็ตที่ตั้งใจเป็นแลนด์มาร์กแห่งย่านเจริญกรุง
ปัดฝุ่นโกดังเก็บรองเท้ารุ่นคุณตาเป็น Jump Master Skate Haus ลานสเก็ตที่ตั้งใจเป็นแลนด์มาร์กแห่งย่านเจริญกรุง

(Un) Expect

เพราะการรีโนเวตอาคารไม่ใช่เรื่องง่าย เราเลยชวนเจ้าบ้านคุยถึงช่วงเวลาจากวันแรกจนถึงวันนี้ ว่าจุดไหนเป็นส่วนที่ยากที่สุด และมีส่วนไหนที่ตรงหรือไม่ตรงกับภาพที่วาดเอาไว้ตอนแรกบ้าง 

“ตั้งแต่เริ่มทำ เราคิดอย่างเดียวคือทำให้สุด แล้วอะไรที่ตามมาเดี๋ยวมันจะดีเอง”

แชมป์เล่าถึงมุมมองก่อนตัดสินใจที่จะเริ่มโปรเจกต์ ในยุคสมัยที่อะไรๆ ก็ไม่ค่อยแน่นอน

“จุดที่ยากที่สุดน่าจะเป็นการที่เรามิกซ์เก่ากับใหม่ อย่างเซิร์ฟสเก็ต คนจะมองว่ามันเป็น Fast Fashion ซึ่งเราไม่ได้มองแบบนั้น การผสานกิจกรรมที่คนมองว่ามันเป็นกระแสอย่างเซิร์ฟสเก็ต ให้เข้ากับอาคารเก่าที่มีเรื่องราวของตัวมันเอง เลยเป็นอะไรที่ท้าทายมากที่จะทำให้ดี และไม่ใช่แค่ Copy and Paste

“เราอยากให้มันเป็นจุดเริ่มต้น เพื่อให้คนมีมุมมองใหม่ๆ กับการเล่นเซิฟสเก็ต ซึ่งเราพยายามสื่อผ่านสิ่งที่ทำเพื่อให้คนรู้สึก มากกว่าการออกไปป่าวประกาศ เวลาลูกค้ามา เราก็พยายามไปรับลูกค้าจากข้างล่าง พาขึ้นมา อธิบายที่มาที่ไป เพราะเรามีเรื่องราวที่อยากให้คนเข้ามาสัมผัส เพราะรู้สึกว่ามันอิมแพคกว่าการโฆษณา 

“ตึกนี้อยู่ในเมืองและเราขายรอบเป็น Private ทำให้มีกลุ่มลูกค้าหลากหลายมาก ทั้งวัยรุ่น วัยทำงาน คนไทย ฝรั่ง ทูต และกลุ่มครอบครัว ซึ่งตอนแรกไม่ได้ตั้งเป้ากลุ่มครอบครัวขนาดนั้น เพราะคิดเอาไว้ว่าความ Feel Like Home คือเหมือนเพื่อนมาเล่นที่บ้าน แต่กลายเป็นกลุ่มครอบครัวเยอะกว่าที่คิด อย่างบางคนอยู่แถวนี้ก็หากิจกรรมให้ลูกเล่น มันตอบโจทย์ที่ไม่ต้องกังวลว่าจะชนกับคนอื่น ลูกจะเป็นอะไรมั้ย เขานั่งดูอยู่ข้างสนามก็เห็น และในขณะเดียวกันก็ยิ่งตอบโจทย์ความเป็นบ้านที่เราตั้งเอาไว้ไปใหญ่ อันนี้คือเหนือความคาดหมายมาก และเราว่ามันดี

“ช่วง Soft Opening เราให้ลูกค้ามาลองสนามฟรี แล้วถามว่าใครรู้สึกยังไง เป็นการเรียนรู้แล้วก็ ค่อยๆ ปรับไปเรื่อยๆ เพราะเราอยากทำตัวให้เหมือนเป็นผืนผ้าใบที่มีเรื่องราวมาประมาณหนึ่ง แต่ยังไม่เสร็จ เพราะฉะนั้น ลูกค้าจะเป็นอีกคนสำคัญที่เข้ามาช่วยเติมเต็มความสมบูรณ์ของพื้นที่นี้ให้เกิดขึ้น”

ปัดฝุ่นโกดังเก็บรองเท้ารุ่นคุณตาเป็น Jump Master Skate Haus ลานสเก็ตที่ตั้งใจเป็นแลนด์มาร์กแห่งย่านเจริญกรุง

Writer

Avatar

นิปุณ แสงอุทัยวณิชกุล

สถาปนิกที่สนใจในงานเขียน สถาปัตยกรรม ที่ว่าง เวลา และหมาฟลัฟฟี่

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน