5 พฤศจิกายน 2020
6 K

“ป่านดูโตขึ้นจริงๆ เหรอ… โตขึ้นยังไงนะ”

Juli Baker and Summer หรือ ป่าน-ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา ตั้งคำถามกับช่างภาพสาวประจำ The Cloud ขณะส่งยิ้มให้กล้อง หลังจากโลดแล่นอยู่ในวงการศิลปะมาราวๆ 6 ปี คุณอาจเคยเห็นลายเส้นแสนซนของเธอบนเสื้อผ้า กระเป๋า หมวก มีดพับ ไฟแช็ก ไปจนถึงงานตกแต่งตามห้างสรรพสินค้า

การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของ Juli Baker and Summer ที่มีพู่กันเป็นเครื่องมือ, ป่าน - ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา

เด็กน้อยที่ชอบวาดภาพการ์ตูนจนครอบครัวเห็นแวว ฝึกวิชาวาดภาพทุกวันแต่เด็ก เบนเข็มไปเรียนแฟชั่นดีไซน์อยู่พักใหญ่ ก่อนได้คำตอบว่าเธออยากเป็นนักวาดรูปที่เข้าใจตัวเอง 

คนมักเห็นภาพ Juli Baker and Summer เป็นศิลปินอายุน้อยที่เปี่ยมสีสันและมองโลกในแง่บวกสุดๆ แต่ขวบปีนี้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงอันก้าวกระโดดของป่าน สาวน้อยสดใสเป็นนักวาดภาพประกอบมีชื่อคนแรกๆ ที่กล้าเปิดเผยจุดยืนทางการเมือง ล่าสุดป่านร่วมมือกับ Spacebar Design Studio ในโครงการ What is happening in Thailand Illustration Zine Project โดยจัดทำการ์ดภาพจำหน่าย เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือคณะราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมือง 

เมื่อมาเยี่ยมนักวาดภาพถึงสตูดิโอ เราไม่ได้เจอแค่วัยรุ่นที่วาดภาพสวยจับใจ แต่ได้พบลูกสาวนักวิชาการด้านแรงงานที่ใส่ใจความเป็นไปของบ้านเมือง พบคนรุ่นใหม่ที่มีความหวังกับวันรุ่งขึ้นอย่างแรงกล้า

คำตอบว่า Juli Baker and Summer เติบโตอย่างไร อยากให้คุณลองทำความเข้าใจจากคำบอกเล่าของเธอเอง 

การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของ Juli Baker and Summer ที่มีพู่กันเป็นเครื่องมือ, ป่าน - ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา

ปีนี้งานของ Juli Baker and Summer เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

รู้สึกว่าอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องข้างนอก แต่เรื่องข้างในของเราเองด้วย แล้วก็รู้สึกว่าสไตล์งานไม่ต้องไปยึดติดว่าต้องเป็นแบบนี้แบบนั้น ก่อนหน้านี้ความคิดเรามีแค่นั้นมันก็ขายได้ดีนะ ลูกค้าชอบ แต่ว่าปีนี้เราลองทำงานหลากหลายขึ้น เล่าเรื่องที่เราสนใจหลายๆ มุมมากขึ้น ลองเอาอารมณ์ที่เป็นอารมณ์ลบมาใส่ในงานมากขึ้น

เราสนใจอะไร มันก็เข้ามาอยู่ในงานเราโดยธรรมชาติ ออกมาเองโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจให้ใครรู้สึกยังไง ถ้าใครมาเห็นแล้วรู้สึก เราก็ยินดีนะ ศิลปะมันก็เป็นอย่างนี้แหละ สะท้อนตัวตนของศิลปินช่วงเวลานั้น แต่ก่อนเราเป็นคนแบบนั้น งานเราก็เป็นแบบนั้น วันพรุ่งนี้มันอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ 

ปกติเวลาคนมาซื้องานของ Juli Baker and Summer เขาซื้ออะไรในภาพ

แล้วแต่คนค่ะ บางคนก็ซื้อด้วยเหตุผลทางการค้า มีป้ายแปะว่าเป็น Juli Baker แล้วขายได้มากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ซื้อเพราะชอบ อยากมีไว้ในบ้านเขา เพราะเห็นแล้วอารมณ์ดี มีความสุข ทำให้เขาเย็น บางชิ้นเราก็ไม่ได้ทำด้วยพลังบวก แต่เขาเห็นแล้วเขารู้สึกแบบนั้นก็มี 

Zine นี้ป่านตั้งใจใช่ไหมว่าไม่ได้อยากทำให้คนรู้สึกเย็นอีกแล้ว

จริงๆ งานชิ้นนี้มีที่มาต่างกัน ภาพสี่ภาพนี้ป่านไม่ได้ตั้งใจให้เป็นซีรีส์เดียวกัน ป่านทำ Zine กับ Spacebar Design Studio สองสามชิ้นแล้ว เขาทักมาว่าขอเอาไปทำได้มั้ย เพราะว่ามีโปรเจกต์แลกซีนกับกลุ่มซีนฮ่องกงที่ทำเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตยเหมือนกัน เราเลยทำซีนราคา 112 บาทเพื่อหาเงินไปช่วย TLHR ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธิสิทธิเพื่อความยุติธรรม เพราะช่วงทำคือวันที่ 16 ตุลาคม มีคนถูกจับเยอะมาก 

การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของ Juli Baker and Summer ที่มีพู่กันเป็นเครื่องมือ, ป่าน - ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา

ใน Zine ประกอบไปด้วยภาพอะไรบ้าง 

ชิ้นแรกที่ทำคือเป็นรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ป่านเป็นนักเขียนคอลัมนิสต์รายเดือนของ a day เขียนคอลัมน์ท่องเที่ยวชื่อ nowhere girl มาจากหนังสือท่องเที่ยวที่เราเคยทำขายเหมือนประมาณสี่ปีที่แล้ว ปรากฏว่าปีนี้ไปเที่ยวไม่ได้เลยเพราะ COVID-19 แล้วจะเขียนอะไรลงดี 

ช่วงนั้นเรื่องที่เราสนใจคือความเคลื่อนไหวนี้ในสังคม ก็เลยชวนคุณพ่อไปเดินถนนราชดำเนิน ให้คุณพ่อเป็นหัวหน้าไกด์ทัวร์ พาไปเที่ยวถนนราชดำเนินว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เพราะคุณพ่อเขาก็ผ่านมาตั้งแต่ยุค 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ เสื้อเหลืองเสื้อแดง จนปัจจุบัน เขาพาเดินมาตั้งแต่ถนนพระบรมรูปทรงม้าจบที่ธรรมศาสตร์ค่ะ จากราชดำเนินในสู่ราชดำเนินนอก ไกลมากเลย แล้วป่านก็เอาเรื่องที่พ่อเล่ามาเขียน ภาพนี้เป็นภาพประกอบคอลัมน์เดือนนั้น 

เดือนถัดไปป่านก็เขียนอีก ยังอินอยู่ ไปม็อบมา เป็นม็อบครั้งแรกที่ไปด้วยตัวเอง ไม่ใช่พ่อแม่ลากไป แล้วก็เกิดเป็นงานชิ้นนี้ที่เล่าเรื่องผู้คน เรื่องม็อบ ป่านเล่าประสบการณ์ตัวเองต่อม็อบนั้น เราเห็นอะไร รู้สึกยังไง บางคนข้างนอกเขารู้สึกยังไงต่อม็อบ แล้วเราที่อยู่ข้างในนั้นรู้สึกแตกต่างยังไง

สองชิ้นถัดมาเกิดขึ้นฉับพลันมาก ทำแค่สองสามนาที ในวันที่ทนายอานนท์ (อานนท์ นำภา) โดนจับตัวครั้งแรก ประมาณเดือนที่แล้ว คือทำก่อนต้องออกจากบ้านเลย เห็นแล้วรู้สึกโกรธแค้นมาก รู้สึกว่าเราอยากทำอะไรสักอย่าง ความรู้สึกเราคือตามข้อความที่เขียนเลยค่ะ 

“When injustice becomes law, resistance becomes duty – เมื่อความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมาย การลุกขึ้นต่อต้านก็เป็นหน้าที่” คือคำพูดของ Thomas Jefferson (ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐอเมริกา) เราเห็นในฟีดแล้วรู้สึกว่าคำนี้ถูกต้องที่สุดแล้ว ในเมื่อกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง เราทนอยู่เฉยๆ หรือทนเป็นกลางไม่ได้ มันเป็นหน้าที่ที่เราต้องออกมาพูด ป่านอยากให้คำพูดนี้ถูกแชร์ต่อไปอีกเรื่อยๆ ก็เลยวาดลงในงานของเราเป็นสองภาษา เพราะพอเป็นงานศิลปะ เรารู้สึกว่าคนน่าจะสบายใจที่ได้แชร์มากขึ้น ซึ่งคนก็แชร์เยอะมาก

หลังจากนั้นพี่คนหนึ่งชื่อพี่ไก่ เขาเคยทำงานกับคุณพ่อ ก็ขอใช้รูปไปทำเสื้อยืดสำหรับ Fund Raising เพราะมีคนถูกจับ ม็อบเองก็ต้องใช้เงินในการจัดเวที ป่านก็โอเค ให้งานสองอันนี้ไปทำขาย ขายดีมาก ได้เงินมาเจ็ดหมื่น เพราะว่าน้องอั่งอั๊ง (อัครสร โอปิลันธน์) เอาไปใส่ (หัวเราะ) เขาก็แบ่งบริจาคไปหลายที่ แต่ว่าตอนหลังเขาทำขายไม่ไหว แล้วคนก็อยากซื้อเรื่อยๆ ป่านก็เลยแจกไฟล์สี่ไฟล์นี้เลย ใครอยากเอาไปพรินต์ลงเสื้อ ทำป้ายไปติดที่ม็อบ แปะโปสเตอร์หน้าบ้านก็ทำได้ 

การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของ Juli Baker and Summer ที่มีพู่กันเป็นเครื่องมือ, ป่าน - ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา
การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของ Juli Baker and Summer ที่มีพู่กันเป็นเครื่องมือ, ป่าน - ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา

ไม่กลัวหรอว่าคนจะเอาไปหาผลประโยชน์

ป่านวงเล็บไว้ด้านล่างว่าอย่าไปเอาไปใช้ในเชิงพาณิชย์ แต่ว่าเราตรวจสอบไม่ได้หรอก แล้วเราก็ไม่ได้ซีเรียสตรงนั้น เราไม่ได้ทำสิ่งนี้เพราะอยากหาเงิน เราทำเพราะเราอยากจะเล่าเรื่องค่ะ แต่คนที่ขอไฟล์ บางทีก็ส่งใบเสร็จมาให้เราว่า เนี่ย โอนจริงๆ นะ 

พอเราให้ฟรีแล้ว ศิลปะได้ทำหน้าที่ของมันและมีชีวิตของมันเอง มีน้องคนหนึ่งเอาไปไดคัทเป็นกรอบรูปในเฟซบุ๊ก เพื่อนเห็นก็นึกว่าเราทำทั้งหมด แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ คนอื่นเอาไปทำ ป่านว่ามันเจ๋งมากเลยที่มันไปต่อยอดแล้วมีชีวิตหลายๆ แบบได้ 

ตั้งแต่กล้าพูดเรื่องการเมือง มีเหตุการณ์อะไรทำให้รู้สึกประทับใจบ้าง

(นิ่งคิด) เราประทับใจตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่แชร์เรื่องราวเกี่ยวกับสังคมการเมืองแล้วมีคนเข้าไปอ่าน ปีที่แล้วป่านได้รางวัล Thailand Influencer Award 2019 สาขา Art and Design จาก Tellscore งงมาก เพราะไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นอินฟลูเอนเซอร์ งานส่วนใหญ่ที่ทำเป็นงาน Commercial ด้วยซ้ำ อย่างมากเราก็แค่บอกว่าเธอซื้อสินค้านี้นะ มีงานนี้นะ กระเป๋านี้ดีนะ สวย 

ตอนนั้นป่านยังไม่เข้าใจว่าเราสร้างอิทธิพลต่อคนได้ จนได้ทำงานศิลปะหรือแชร์เรื่องที่เรารู้สึกแล้วปรากฏว่ามีคนสนใจ ก็เลยเริ่มเข้าใจว่างานศิลปะเป็นเครื่องมือของเราที่ใช้สื่อสารเรื่องที่เราคิดว่ามีประโยชน์หรือจำเป็นได้จริงๆ ด้วย 

แล้วมีผลกระทบด้านลบไหม คนที่ชอบภาพวาดประเภทเห็นแล้วมีความสุขของ Julie Baker คิดยังไง

ก็คงมีผลกระทบค่ะ คน Unfollow เราเยอะมาก แต่คนมา Follow ใหม่ก็เยอะ ตกใจเหมือนกัน แต่ป่านคงไม่ได้รับผลกระทบแบบดาราที่อาจมีสินค้าไม่จ้างเรา ลูกค้าหรือคนที่ทำงานกับเราบางคนอาจผิดหวังที่เราหยิบเรื่องนี้มาพูด บางคนก็ส่งข้อความมาคุย ป่านพยายามตั้งใจตอบทุกคนอย่างใจเย็นๆ พูดเพราะๆ ใช้เหตุผลคุยกับเขา บางคนโกรธไม่คุยต่อก็มี บางคนอ่านแล้วฟังก็มี 

ป่านคิดว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติของประชาธิปไตย ไม่ใช่ว่าคนต้องคิดเหมือนกันหมดทั้งประเทศ แต่เราคุยกันได้ว่าเธอไม่ชอบอะไร ส่วนเราชอบตรงไหน ซึ่งเราว่าเป็นเรื่องดี หลายคนอาจจะไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้เลย แล้วพอเห็นที่เราแชร์บ่อยๆ ก็ต้องเผลอกดลิงก์เข้าไปบ้างแหละ ไม่ต้องชอบก็ได้ แค่ได้ข้อมูลตรงนั้นก็ดีมากๆ แล้ว

การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของ Juli Baker and Summer ที่มีพู่กันเป็นเครื่องมือ, ป่าน - ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา

มีศิลปินคนไหนมั้ยที่เราชื่นชมผลงาน แล้วเขากล้าออกมาพูดเรื่องการเมือง

มีค่ะ จริงๆ ก็หลายคนนะ ส่วนใหญ่เป็นแบบนักเขียน แต่นักวาดคนไทยมีน้อย (หยุดคิด) เออ คนที่ป่านรู้จักมีน้อยมาก สายงานอาร์ตแบบแมสๆ หน่อย เราไปงานศิลปะปลดแอก หวังว่าจะเจอคนคุ้นหน้าคุ้นตา แต่ปรากฏว่าเจอคนกันเองแค่เพื่อนสนิทเราคนหนึ่งกับรุ่นพี่เรา แค่นั้นเลย เห็นแต่สายกราฟฟิตี้ที่เขาพูดเรื่องนี้กันอยู่แล้ว ส่วนศิลปินต่างประเทศที่เราชื่นชอบ ส่วนใหญ่เขาพูดเรื่องสังคมการเมืองอยู่แล้ว พูดมานานแล้วด้วยซ้ำ

ยกตัวอย่างหน่อยได้มั้ย

เช่น เดวิด ฮอกนีย์ (David Hockney) ที่ป่านชอบมากๆ เขาเป็นคนที่ทำให้ป่านชอบงานศิลปะ เขาเป็นศิลปินอังกฤษที่เป็น LGBT ในยุค 70 ซึ่งเอาจริงๆ ใช้ชีวิตยากมาก เพราะในยุคนั้นยังไม่เป็นที่ยอมรับ เดวิด ฮอกนีย์ ไม่ได้พูดตรงๆ แต่ว่าเขาเล่าเรื่องชีวิตประจำวันของตัวเองเหมือนเป็นเรื่องปกติธรรมดา เราเห็นความสวยงามจากภาพ แม้ตัวคนวาดไม่ได้รับการยอมรับ ป่านคิดว่าแค่นี้ก็เป็น Activist แล้ว เมื่อเช้าเพิ่งฟังพอดแคสต์ของ The Cloud เรื่อง Ai WeiWei อันนั้นก็ชัดเจน 

การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของ Juli Baker and Summer ที่มีพู่กันเป็นเครื่องมือ, ป่าน - ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา

คิดว่าเหตุผลอะไรที่เพื่อนในวงการของป่านไม่ค่อยพูดเรื่องนี้กัน

เราก็เคยคุยกับรุ่นพี่ ป่านว่าส่วนหนึ่งอาจเพราะเขาไม่ได้สนใจขนาดนั้น แล้วพอเขาไม่ได้รับผลกระทบก็ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา ส่วนใหญ่เขาเป็นคนนิสัยดีกันทั้งนั้น เพื่อนเรา พี่เรา ไม่ใช่คนใจร้ายอะไร บางคนเขาเข้าร่วมโปรเจกต์ การกุศลตลอด บางคนเอารูปไปให้ขายฟรีๆ เพื่อเอาเงินมาช่วยโรงพยาบาล ช่วยเด็ก ช่วยผู้ด้อยโอกาส แต่พอเป็นเรื่องของโครงสร้างจริงๆ เขากลับถอยลงมา ป่านงงมาก เพราะมันคือต้นตอ ถ้าเราแก้ปัญหาโครงสร้างให้ทุกคนได้รับสวัสดิการ เราก็ไม่ต้องไปเสียเวลาทำงานการกุศลขนาดนี้ 

ป่านเคยได้ยิน Comadian คนหนึ่งพูดว่าประเทศเยอรมนีไม่มี Charity เลย เพราะว่าในประเทศที่ดี ประชาชนจะได้รับบริการที่ดี ไม่ต้องรู้สึกเป็นบุญเป็นคุณเวลาไปช่วยใคร ไม่ต้องรู้สึกสงสารเขา 

คนอื่นเขาอาจจะคิดคล้ายๆ กัน แต่เขากลัวที่จะแสดงออก แล้วป่านไม่กลัวเหรอ

รู้ บางคนเขาไม่อยากจะแลกอะไรเนอะ แต่ป่านก็ไม่เห็นโดนอะไรขนาดนั้น ถ้ากลัวก็ไม่แปลก แต่ว่าถ้ากลัวมันก็ยิ่งแย่ ส่วนตัวรู้สึกว่ามันเล็กน้อยมาก สมมติโดนแบนพรุ่งนี้ หรืองานที่ทำอยู่ยกเลิก มันเทียบไม่ได้กับคนที่เขาถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ถูกจับไปอยู่ในคุก หรือคนที่โดนอุ้มแล้วอาจจะหายไปเลย อย่างวันเฉลิม (วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์) ไม่รู้ยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่าด้วยซ้ำ มันเทียบไม่ได้เลยจริงๆ กับสิ่งที่เขาโดน 

แล้วพอป่านขยับตัวเรื่องนี้ มีคนอื่นอีกมั้ยที่รู้สึกว่า Juli Baker ทำได้ ฉันก็ทำได้ 

ป่านว่ามี ตอนแรกก็ไม่กล้านะ เห็นข่าวแล้วโกรธอยู่ในใจ แต่ไม่กล้าพูดเพราะไม่อยากเสียเพื่อนในกลุ่มไป จริงๆ ต้องยกเครดิตให้น้องๆ ที่ออกมาพูดก่อนเลย เรานับถือมาก ทั้งกล้าหาญ ทั้งมีจิตใจที่คิดถึงแต่คนอื่น 

หลายคนที่ออกมาพูดไม่ต้องพูดก็ได้ อยู่เฉยๆ ชีวิตก็ดีอยู่แล้ว อย่างน้องรุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) ชีวิตดี เรียนธรรมศาสตร์ แต่เขาเสียสละถึงขั้นยอมติดคุก ขนาดนั้นแล้วเราอยู่เงียบไม่ได้ เขาปูทางไว้ขนาดนั้นอยู่แล้ว 

มันไม่ควรเป็นเรื่องน่ากังวล เราควรพูดเรื่องการเมืองในที่สาธารณะได้ ถกเถียงกันใน Facebook แล้วเจอหน้ากันก็ยังคุยกันได้ ทุกวันนี้เราว่าการพูดคุยเปิดกว้างขึ้นมากๆ 

การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของ Juli Baker and Summer ที่มีพู่กันเป็นเครื่องมือ, ป่าน - ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา
การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของ Juli Baker and Summer ที่มีพู่กันเป็นเครื่องมือ, ป่าน - ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา

ครอบครัวเห็นด้วยมั้ยกับการที่ป่านออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการเมือง 

โอย (หัวเราะ) คุณพ่อเนี่ยดีใจมาก เพราะว่าคุณพ่อผิดหวังในตัวป่านมากก่อนหน้านี้ พ่อป่านเป็นนักวิชาการอิสระที่เน้นเรื่องกระบวนการแรงงาน เขาสนใจเรื่องการเมืองมาตลอดอยู่แล้ว เมื่อก่อนไม่เคยเข้าใจเลยนะว่าพ่อทำไร ป่านเพิ่งมาสนใจหลังเรียนจบ เรารู้สึกแอนตี้สิ่งที่พ่อเราทำ แล้วพ่อก็ประชาธิปไตยมาก ไม่บังคับลูก พ่อบอกว่าประชาธิปไตย ถ้าคนเขาจะสนใจ เขาจะสนใจด้วยตัวเองค่ะ

ในวันที่ป่านเดินไปถามพ่อ ให้พ่ออธิบายให้ฟังหน่อยว่าระบบโครงสร้างสังคมมีอะไรบ้าง จากซ้ายไปถึงขวา สังคมนิยม สังคมนิยมประชาธิปไตย คอมมิวนิสต์ ต่างกันยังไง พ่ออธิบายแล้วก็ดูดีใจ ในที่สุดลูกก็สนใจสักที วันก่อนไปม็อบมา พอกลับมาไขกุญแจหน้าบ้าน พ่อบอกว่าพ่อดีใจนะที่เรามีวันนี้ที่เราไปต่อสู้ด้วยกัน (ยิ้ม) พ่อคงไม่คิดว่าเราจะมาสนใจเรื่องนี้เลยจริงๆ 

ส่วนคุณแม่เป็นฝ่ายตามข้อมูล วันที่มีการสลายม็อบ (16 ตุลาคม 2563) แม่โทรมาบอกก่อนแป๊บเดียว แล้วก็วิ่งหนีออกมาด้วยกัน 

วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม ในสายตาป่านเป็นยังไงบ้าง

แย่มาก รู้สึกโกรธมาก ป่านวิ่งออกมากับเพื่อนคนหนึ่งแล้วก็พ่อ แล้วก็มีน้องคนหนึ่งเป็นเด็กปีหนึ่ง เขานั่งฟังปราศรัย ถอดรองเท้า กินขนมอยู่ ทีนี้มีเสียงกรี๊ดแล้วคนเขาก็วิ่งกัน น้องเขากลัวแล้วก็วิ่งเท้าเปล่าออกมาหลบหลัง BACC ด้วยกัน สุดท้ายเขาต้องเดินเท้าเปล่ากลับหอ 

เรารู้สึกว่า โห มันต้องกลัวขนาดนี้เลยเหรอ แค่เราต้องการประชาธิปไตย อีกฝั่งแค่ออกมาฟัง ออกมาเจรจา ตั้งโต๊ะคุยกับเราไม่ได้เหรอ ทำไมต้องจับตัวกัน มันไม่ปกตินะ อย่าไปชินกับการที่เขาไปจับหรือเขาไปฆ่าใครแล้วไม่ได้รับโทษ 

การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของ Juli Baker and Summer ที่มีพู่กันเป็นเครื่องมือ, ป่าน - ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา
การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของ Juli Baker and Summer ที่มีพู่กันเป็นเครื่องมือ, ป่าน - ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา

ป่านทำงานกับความโกรธ อยู่อย่างสันติกับคนที่ไม่คิดเหมือนเรายังไง

ยากเหมือนกันนะ บางทีเราหัวร้อนจนปวดหัวเลย แต่เคยอ่านเจอที่ครูลูกกอล์ฟ (คณาธิป สุนทรรักษ์) เขียน เขาแชร์ว่าเวลาเราอยากจะชักจูงใคร บางคนเรา Convince เขาด้วยอารมณ์ล้วนๆ เขาก็มา บางคนต้องการข้อเท็จจริงและเหตุผลอย่างเดียว คือเราก็ต้องมีศิลปะในการชักจูงคน แล้วมันจริงมากนะ 

ในช่วงเวลาที่เปราะบาง มีความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจกัน ศิลปะมีบทบาทอะไรได้บ้าง

ศิลปะก็คือสื่อกลางอย่างหนึ่งนะ เครื่องมือในมือคุณคือบทความที่เขียนและรูปถ่าย เครื่องมือของป่านคือพู่กันวาดภาพ ป่านคิดว่ามันอาจอ่อนโยนแล้วก็ไพเราะกว่าในการเล่าเรื่อง 

เราเห็นศิลปินหลายคนโดนตามลบงาน อย่าง Headache Stencil กับพี่มือบอน แล้วสองสามปีก่อนก็มีนิทรรศการศิลปะที่ทหารมาถอดรูปออก นี่เหมือนถอยหลังไปยุคฮิตเลอร์เลยนะ เราคิดว่าศิลปินไม่ควรจะเงียบเรื่องนี้ เพราะนี่มันคืออาชีพเรานะ เขามาจำกัดกรอบในการเล่าเรื่องของเรา ไม่ออกมาทวงสิทธิของตัวเองหน่อยเหรอ 

ถ้าเราไม่ใช่คนสายแข็ง จะแสดงจุดยืนด้านการเมืองของเราอย่างไรดี 

มีหลายวิธีมากในการพูด ไม่ต้องออกมาปราศรัยบนเวทีก็ได้ แค่ส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องให้เพื่อนก็ได้ ป่านมีเพื่อนคนหนึ่ง บอกชื่อไม่ได้ แม่เขาไม่ให้ยุ่งเรื่องการเมือง เขาเป็น Illustrator วาดดอกไม้นุ่มนิ่มมาก แต่ว่าฉลาดมาก ทุกครั้งที่ป่านไปม็อบเขาจะตามข่าวในทวิตเตอร์ให้ โทรบอกข่าวว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วเขาจะคอยแชร์สิ่งต่างๆ เงียบๆ นุ่มนวลผ่านงานดอกไม้เล็กๆ ของเขาไปเรื่อยๆ

พ่อเคยพูดถึง จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ที่เขาบอกว่า “In a time of deceit, telling the truth is a revolutionary act.” แค่นั้นก็เพียงพอแล้วด้วยซ้ำ ป่านแอบหวังว่าคนที่เสียงดังหน่อย หรือมีเครื่องมือที่ทำให้คนฟังเยอะๆ จะเห็นว่าตัวเองมีสิทธิพิเศษในมือแล้วใช้ประโยชน์ค่ะ

การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของ Juli Baker and Summer ที่มีพู่กันเป็นเครื่องมือ, ป่าน - ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล