The Cloud x การท่องเที่ยวมาเก๊าประจำประเทศไทย x Air Asia

มาเก๊าเป็นเขตปกครองพิเศษเล็กๆ ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทางตะวันออกของจีน และอยู่ทางตะวันตกของพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล ทั้งเมืองมีพื้นที่เพียง 32 ตารางกิโลเมตร เท่านั้น แต่ความน่าสนใจของเมืองเล็กๆ แห่งนี้ คือประวัติศาสตร์การพบกันของวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตกที่ยังคงทิ้งร่องรอยไว้ให้เราได้เห็นกันทุกวันนี้

ชาวโปรตุเกสคือชาวยุโรปชาติแรกที่เดินเรือเข้ามาทำการค้ากับมาเก๊าใน ค.ศ. 1550 และทำให้มาเก๊ากลายเป็นหนึ่งในเมืองท่าสำคัญของเส้นทางสายไหมเพราะการส่งออกชาและผ้าไหม จากเมืองท่าที่โปรตุเกสเข้ามาตั้งคลังสินค้า จนตกอยู่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกสตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 ก่อนที่โปรตุเกสจะส่งคืนให้สาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1999

ตลอด 460 ปี ที่มาเก๊าอยู่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกส เราจึงได้เห็นการผสมผสานวัฒนธรรม ทั้งด้านสถาปัตยกรรม ศาสนา อาหาร และการแต่งงานข้ามเชื้อชาติ เกิดชนพื้นเมืองที่เรียกว่า ชาวมาเก๊า หรือชาวแมคกานีส (Macanese) และทำให้มาเก๊ามีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้

ในเดือนธันวาคมปี 2562 นี้ มาเก๊ากำลังจะมีวาระครบรอบ 20 ปี ที่โปรตุเกสคืนเขตปกครองพิเศษมาเก๊าให้แก่จีน เดือนกันยายนที่ผ่านมา The Cloud การท่องเที่ยวมาเก๊าแห่งประเทศไทย และแอร์เอเชีย จึงจัดกิจกรรม The Cloud Journey 07 : Macanese Culture และเปิดรับสมัครเพื่อนร่วมทริปเดินทางไปทำความรู้จักมาเก๊าและวัฒนธรรมแมคกานีสด้วยกันที่มาเก๊าตลอด 3 วัน 2 คืน

ถ้าจะให้รู้จักมาเก๊าแบบลงลึกจริงๆ คงต้องฟังจากปากคนมาเก๊า เราจึงเชิญวิทยากรพิเศษ Nero Lio ซึ่งเป็น Vice Chair of Assembly จาก Macao Heritage Ambassadors Association องค์กรที่ให้การสนับสนุนคนรุ่นใหม่ในมาเก๊าศึกษาประวัติศาสตร์ และช่วยผลักดันเรื่องการขึ้นทะเบียนสถานที่สำคัญให้เป็นมรดกโลก เป็นผู้นำชมสถานที่สำคัญและเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ให้เราได้ฟังในทริปนี้

แม้ว่ามาเก๊าจะเป็นเมืองเล็กๆ แต่กลับมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์จำนวนมาก ซึ่งถูกอนุรักษ์ไว้ด้วยการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกจาก UNESCO แล้วกว่า 25 แห่ง และยังมีสถานที่ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลอีกกว่า 128 แห่ง แต่จะให้ไปทั้งหมดในเวลา 3 วัน คงไม่พอ เราจึงขอเก็บเรื่องเล่าจาก 10 สถานที่ ที่น่าสนใจมาให้อ่านกัน เผื่อว่าใครที่มีแพลนกำลังจะไปมาเก๊าจะได้ไปตามรอยกันได้

1

ย้อนเวลาไปทำความรู้จักกับ ‘มาเก๊า’ ที่ Macao Museum

ตามรอยประวัติศาสตร์ มาเก๊า ผ่าน 10 สถานที่สำคัญที่ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมแมคกานีส

ใครที่มามาเก๊าครั้งแรกและอยากเข้าใจความเป็นมาของมาเก๊า เราอยากชวนมาย้อนเวลาด้วยกันที่ Macao Museum ที่นี่คือพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมเรื่องราวของมาเก๊าเอาไว้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และทำให้เราเห็นการเข้ามาของวัฒนธรรมโปรตุเกสในมาเก๊าได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ในอดีต มาเก๊าถูกเรียกว่า ‘โอหมูน’ หรือ ‘ประตูแห่งการค้าขาย’ เนื่องจากเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ ณ ปากแม่น้ำจูเจียงหรือแม่น้ำเพิร์ลทางตอนใต้ของมณฑลกวางเจา ในขณะนั้นมาเก๊าเป็นเพียงหมู่บ้านเกษตรกรรมและประมงเล็กๆ มีชาวประมงจากมณฑลฝูเจี้ยนและชาวนาจากมณฑลกวางตุ้งเป็นกลุ่มแรกๆ ที่มาตั้งรกราก

ตามรอยประวัติศาสตร์ มาเก๊า ผ่าน 10 สถานที่สำคัญที่ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมแมคกานีส
ตามรอยประวัติศาสตร์ มาเก๊า ผ่าน 10 สถานที่สำคัญที่ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมแมคกานีส

ชาวโปรตุเกสคือชาวยุโรปชาติแรกที่เดินเรือมาพบมาเก๊าใน ค.ศ. 1550 ในอดีต ชาวโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่เดินเรือรอบโลกสำเร็จ จึงมีการล่าอาณานิคมและทำการค้ากับหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น หรือประเทศในทวีปแอฟริกา เพื่อสร้างคลังสินค้าและทำการค้ากับชนพื้นเมืองต่างๆ ที่ไปถึง สินค้าที่เป็นที่นิยมและขายได้ราคาดีที่สุดจากมาเก๊าคือชาและผ้าไหม จึงทำให้มาเก๊าเป็นอีกหนึ่งเมืองท่าสำคัญของการทำการค้าบนเส้นทางสายไหม ภายในพิพิธภัณฑ์มาเก๊าจึงมีการจำลองเส้นทางการเดินเรือของโปรตุเกสและการลำเลียงสินค้าภายในเรือให้เราได้เห็นกัน 

เมื่อมีชาวโปรตุเกสเดินทางมาทำการค้าที่มาเก๊ามากขึ้น มีการเช่าพื้นที่คนท้องถิ่นเพื่อก่อตั้งคลังสินค้าและทำธุรกิจร่วมกัน ทำให้ชาวมาเก๊าและชาวโปรตุเกสมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและกันมากขึ้น กระทั่งแต่งงานข้ามเชื้อชาติ ซึ่งเป็นที่มาของชนพื้นเมืองมาเก๊าตั้งแต่นั้นมา

การเข้ามาปกครองมาเก๊าของโปรตุเกสไม่ได้เกิดขึ้นจากการทำสงคราม แต่เกิดจากความสัมพันธ์ทางการค้าที่ค่อยๆ พัฒนาและขยายขอบเขตการเช่าพื้นที่ไปเรื่อยๆ ในอดีต เนื่องจากในอดีตมาเก๊าไม่ได้เป็นเมืองสำคัญของจีน จึงทำให้โปรตุเกสขอเช่าพื้นที่ทั้งหมดของมาเก๊าตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นไป การตกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสจึงทำให้สถาปัตยกรรมในย่านสำคัญใจกลางเมืองมาเก๊าเต็มไปด้วยตึกสไตล์โคโลเนียลอย่างที่เราเห็นกันในทุกวันนี้ ในช่วงแรกตึกเหล่านี้ไม่มีการกำหนดสีเอาไว้ แต่ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 มีการกำหนดให้สีชมพูเป็นตึกที่เกี่ยวข้องกับการทหาร ตึกสีเหลืองเกี่ยวข้องกับศาสนา และตึกสีเหลืองแดงเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม 

ตามรอยประวัติศาสตร์ มาเก๊า ผ่าน 10 สถานที่สำคัญที่ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมแมคกานีส

ภายในพิพิธภัณฑ์ยังจำลองวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนมาเก๊าในอดีตเอาไว้ บ้านของคนมาเก๊าจะเป็นบ้านอิฐหรือปูนหลังเล็กๆ เพราะคนมาเก๊าส่วนใหญ่เป็นชาวประมงและเป็นแรงงาน ไม่ได้มีฐานะดีมาก จุดสังเกตคือจะมีประตูไม้ 3 ชั้น ปรับเปลี่ยนการใช้งานตามสภาพอากาศที่ร้อนชื้นของเมืองริมอ่าว ในขณะที่บ้านของคนโปรตุเกส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าและข้าราชการในสมัยนั้น เป็นบ้านปูน 2 ชั้น มีระเบียงโอ่โถง สีสันสดใส มีบานประตูและบานหน้าต่างโค้งตามสไตล์โคโลเนียล

ตามรอยประวัติศาสตร์ มาเก๊า ผ่าน 10 สถานที่สำคัญที่ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมแมคกานีส

เรายังคงเห็นโรงน้ำชาแบบดั้งเดิมที่เป็นเครื่องยืนยันว่าชาคือสิ่งที่คนมาเก๊าโปรดปราน เพราะในปัจจุบันนี้คนมาเก๊ายังคงไปร้านน้ำชาเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารบ้านเมืองกันเหมือนเดิม และยังมีโรงงานผลิตประทัดและดอกไม้ไฟ ซึ่งเคยเป็นสินค้าส่งออกจากมาเก๊าไปขายในเมืองอื่นๆ ในจีนอีกด้วย 

2

ดูวิวมาเก๊า 360 องศาที่ป้อมปราการมองเต้

ตามรอยประวัติศาสตร์ มาเก๊า ผ่าน 10 สถานที่สำคัญที่ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมแมคกานีส

ป้อมปราการมองเต(Monte Fort) เป็นป้อมปราการเก่าแก่ใจกลางเมืองที่ทำให้เราเห็นความผสมผสานของเมืองแบบ 360 องศา เราจะได้เห็นทั้งวิวเมืองเก่าที่ผสมผสานระหว่างความเป็นจีนและโปรตุเกส เห็นย่านที่พักอาศัยของคนมาเก๊าในปัจจุบัน คาสิโนของเจ้าพ่อมาเก๊า ไปจนถึงเมืองจูไห่ ประเทศจีน 

ในอดีต ป้อมปราการแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโบสถ์เซนต์ปอล (Ruins of St. Paul’s) สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1616 และตั้งป้อมปืนใหญ่เอาไว้รอบด้าน เพื่อเป็นฐานป้องกันโบสถ์เซนต์ปอลจากการโจมตีของเหล่าโจรสลัดและการรุกรานจากต่างชาติ

ครั้งหนึ่งชาวดัตช์เคยเดินเรือมารุกรานมาเก๊าบริเวณปากแม่น้ำเพิร์ล คณะบาทหลวงเยซูอิตซึ่งเป็นผู้ดูแลป้อมปราการช่วงที่ทหารชาวโปรตุเกสออกไปเดินเรือ จึงยิงปืนใหญ่เพื่อป้องกันเมืองเอาไว้ และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะในครั้งนั้น สถานที่ที่ชาวดัตช์บุกเข้ามาในอดีตจึงถูกเรียกว่า Victory Park ปัจจุบันเป็นสวนสาธารณะอยู่ใกล้กับป้อมปราการเกีย ป้อมปราการที่สูงที่สุดในมาเก๊า

ตามรอยประวัติศาสตร์ มาเก๊า ผ่าน 10 สถานที่สำคัญที่ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมแมคกานีส
ตามรอยประวัติศาสตร์ มาเก๊า ผ่าน 10 สถานที่สำคัญที่ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมแมคกานีส

ใน ค.ศ. 1838 ป้อมปืนใหญ่ถูกไฟไหม้พร้อมกับวิทยาลัย Jesuit และโบสถ์เซนต์ปอล เมื่อหมดยุคล่าอาณานิคม ใน ค.ศ. 1965 บางส่วนของป้อมปืนใหญ่ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสำนักงานของกรมอุตุนิยมวิทยามาเก๊า

จนกระทั่งใน ค.ศ. 1998 จนถึงปัจจุบัน ชั้นล่างของป้อมปราการถูกเปลี่ยนไปเป็นพิพิธภัณฑ์มาเก๊า พื้นที่โดยรอบป้อมปราการกลายเป็นสวนสาธารณะสำหรับออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจของชาวมาเก๊า ใครอยากสัมผัสวิถีชีวิตของคนมาเก๊ามากขึ้น เราแนะนำให้มาลองวิ่งที่นี่ตอนเช้าดูนะ เป็นเส้นทางวิ่งที่ได้เห็นวิวมุมสูงไม่ซ้ำกันเลยสักด้าน

3

ตามรอยศาสนาคริสต์ที่หน้าประตูโบสถ์เซนต์ปอล

ตามรอยประวัติศาสตร์ มาเก๊า ผ่าน 10 สถานที่สำคัญที่ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมแมคกานีส

ใครมามาเก๊าก็ต้องมาดูซากประตูโบสถ์เซนต์ปอล (Ruins of St. Paul’s) แลนด์มาร์กสำคัญของมาเก๊าที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางเมืองมาตั้งแต่ ค.ศ. 1602 แต่เราอยากชวนมองรายละเอียดและประวัติศาสตร์ที่ลึกลงไปมากกว่านั้น

โบสถ์นี้ออกแบบโดยนักบวชคณะเยซูอิตชาวอิตาลี โดยความช่วยเหลือของคริสตชนชาวญี่ปุ่น ในอดีตเคยเป็นวิทยาลัยสอนศาสนาและวิทยาการต่างๆ ให้คณะนักบวชเยซูอิตก่อนจะเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในเอเชีย ที่นี่จึงเป็นสถานที่สำคัญในการเผยแพร่ศาสนาและวิทยาการต่างๆ จากโปรตุเกส 

ก่อนที่จะเหลือเพียงฟาซาด (Facade) หรือผนังด้านหน้าของตัวโบสถ์ โบสถ์แห่งนี้ถูกไฟไหม้ถึง 3 ครั้ง หลังจากบูรณะมา 2 ครั้ง ก็เกิดพายุไต้ฝุ่นครั้งที่ใหญ่ที่สุดในมาเก๊าใน ค.ศ. 1835 และเกิดเพลิงไหม้อีกเป็นครั้งที่ 3 ทำให้ตัวอาคารเสียหายทั้งหลัง เหลือเพียงผนังด้านหน้าที่ยังคงสมบูรณ์ และถูกบูรณะให้เป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

หากแหงนหน้ามองลึกลงไปที่รายละเอียดของฟาซาด จะพบการผสมผสานทางวัฒนธรรมอยู่ในนั้น รูปปั้นเทพทั้งเจ็ดเเห่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาคริสต์ ได้แก่ นกพิราบ พระเยซู พระแม่มารีย์ The Beautified Francisco de Borja, St.Lgnatius, St.Francisco Xavier และ The Beautified Luis Gonzaga และยังมีรูปปั้นที่สื่อถึงตำนานจีนโบราณ เช่นเรือสำเภาและมังกรอยู่บนผนังโบสถ์ด้วยเช่นกัน เป็นสิ่งที่ยืนยันให้เราเห็นว่ามาเก๊าไม่ได้แค่รับวัฒนธรรมมา แต่ยังเติมความเป็นตัวเองเข้าไปด้วย

4

 เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ห้องใต้ดินหลังประตูโบสถ์เซนต์ปอล

ตามรอยประวัติศาสตร์ มาเก๊า ผ่าน 10 สถานที่สำคัญที่ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมแมคกานีส

ก่อนจะไปที่อื่นต่อ เราอยากชวนไปตามรอยที่หลังประตูโบสถ์เซนต์ปอล เพราะที่นี่ยังมีพิพิธภัณฑ์ศาสนศิลป์และห้องใต้ดิน (Museum of Sacred Art and Crypt) ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์การเผยแผ่ศาสนาคริสต์ของนักบวชเยซูอิตนิกายโรมันคาทอลิกในมาเก๊า ซึ่งมีหลุมฝังศพของ วาลิควาโน (Father Alessandro Valignano) ผู้ก่อตั้งโบสถ์เซนต์ปอลแห่งนี้ มีโครงกระดูกของชาวคริสต์ญี่ปุ่นและเวียดนามที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ไฟไหม้โบสถ์ทั้งสามครั้ง และภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีอุปกรณ์ทางศาสนา รูปปั้นนักบวชคนสำคัญ และภาพวาดต่างๆ จัดแสดงไว้ให้ชมอีกด้วย

ตามรอยประวัติศาสตร์ มาเก๊า ผ่าน 10 สถานที่สำคัญที่ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมแมคกานีส
ตามรอยประวัติศาสตร์ มาเก๊า ผ่าน 10 สถานที่สำคัญที่ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมแมคกานีส

5

ขึ้นบันไดไปห้องใต้หลังคาโบสถ์เซนต์ดอมินิก

ตามรอยประวัติศาสตร์ มาเก๊า ผ่าน 10 สถานที่สำคัญที่ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมแมคกานีส
ตามรอยประวัติศาสตร์ มาเก๊า ผ่าน 10 สถานที่สำคัญที่ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมแมคกานีส

โบสถ์เซนต์ดอมินิกคือ 1 ใน 3 โบสถ์เก่าแก่ที่สุดในมาเก๊า สร้างขึ้นในปี 1587 โดยบาทหลวงชาวสเปนทั้งสามคนที่เดินทางจากเม็กซิโกมาเผยแผ่ศาสนา โบสถ์จึงมีรูปแบบงานสถาปัตยกรรมแบบบาโรกในยุคศตวรรษที่ 16 มีการผสมผสานระหว่างสไตล์โปรตุเกสและสเปน และรูปแบบทางสถาปัตยกรรมในท้องถิ่นของชาวมาเก๊า ได้แก่ กระเบื้องหลังคาสไตล์จีน ฝ้าไม้กระดาน ประตูที่ทำจากไม้สัก รูปปั้นของพระแม่มารีย์และพระบุตรถูกขนาบด้วยรูปปั้นของเหล่านักบุญ แกะสลักด้วยไม้และงาช้าง เป็นต้น 

ในทุกๆ วันที่ 13 พฤษภาคมของทุกปี ที่โบสถ์แห่งนี้จะจัดงานเลดี้ฟาติมา (Fatima’s Statue) เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลสำคัญและทำพิธีแด่พระแม่ฟาติมา

และโบสถ์แห่งนี้ยังเคยเป็นสถานที่ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์โปรตุเกสฉบับแรกในมาเก๊าอีกด้วย (ปัจจุบันหนังสือพิมพ์ฉบับแรกถูกเก็บไว้ที่ห้องสมุด Leal Senado ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ Senado Square)

ตามรอยประวัติศาสตร์ มาเก๊า ผ่าน 10 สถานที่สำคัญที่ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมแมคกานีส
ตามรอยประวัติศาสตร์ มาเก๊า ผ่าน 10 สถานที่สำคัญที่ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมแมคกานีส

บริเวณด้านหลังโบสถ์ในอดีตเคยเป็นหอนาฬิกา แต่ในปี 1990 ได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นพิพิธภัณฑ์ห้องใต้หลังคา (Treasure of Sacred Art) ที่เก็บรวบรวมงานศิลปะของศาสนาคริสต์กว่า 300 ชิ้น จากศตวรรษที่ 17 – 19 และนำมาจัดแสดงไว้ เช่น เครื่องเงิน เครื่องทอง รูปแกะสลักไม้ ภาพวาดของ St. Augustine และชุดนักบวชในอดีตที่ยังคงเก็บไว้ในสภาพสมบูรณ์

6

ตามรอยการเทียบท่าของชาวโปรตุเกสที่วัดอาม่า

ตามรอยประวัติศาสตร์ มาเก๊า ผ่าน 10 สถานที่สำคัญที่ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมแมคกานีส

วัดอาม่า (A-Ma Temple) หรือศาลเจ้าแม่ทับทิม คือหนึ่งตัวอย่างของความเป็นมาเก๊าที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่เราเห็นทุกวันนี้

ในอดีต วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ริมอ่าวมาก่อนที่จะมีเมืองมาเก๊า สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี 1488 มีตำนานเล่าว่า มีคนเรือรับหญิงสาวคนหนึ่งชื่อว่า หลิงม่า มาขึ้นฝั่งบริเวณที่ตั้งของวัดซึ่งเคยเป็นท่าเรือมาก่อน ก่อนที่เธอจะลอยหายไป ชาวมาเก๊าจึงเชื่อกันว่าเธอเป็นเทพธิดาผู้ดูแลท้องทะเลแถบนี้ ผู้คนจึงสร้างศาลไว้กราบไหว้เธอตั้งแต่นั้นมา และเรียกวัดนี้ว่า A Ma Goa ที่แปลว่า อ่าวของอาม่า เมื่อชาวโปรตุเกสเดินเรือมาเทียบท่าที่วัดอาม่า จึงเรียกดินแดนแห่งนี้ว่า A Ma Goa และเพี้ยนเสียงมาเป็นชื่อเมืองมาเก๊าจนทุกวันนี้

วัดอาม่าเปรียบเสมือนสัญลักษณ์สำคัญทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของมาเก๊า เนื่องจากรูปเคารพภายในวัดผสมผสานทั้งความเชื่อของทั้งพุทธ เต๋า และคติพื้นบ้าน แต่ในขณะเดียวกัน ละแวกใกล้เคียงก็มีโบสถ์คริสต์และชุมชนชาวโปรตุเกสที่อยู่ร่วมกันมาหลายร้อยปี สะท้อนให้เห็นถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนาของชาวมาเก๊าจนถึงปัจจุบันนี้

7

เดินชมตึกเหลืองบนเขาของชาวมัวร์ที่ Moorish Barracks 

ตามรอยประวัติศาสตร์ มาเก๊า ผ่าน 10 สถานที่สำคัญที่ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมแมคกานีส
ตามรอยประวัติศาสตร์ มาเก๊า ผ่าน 10 สถานที่สำคัญที่ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมแมคกานีส

ค่ายทหารชาวมัวร์ (Moorish Barracks) สร้างขึ้นในปี 1874 เพื่อเป็นค่ายของทหารอินเดียจากเมืองกัว (Goa) ในยุคกลาง คำว่า มัวร์ เป็นคำที่หมายถึงชนมุสลิมที่อาศัยอยู่ที่คาบสมุทรไอบีเรียและแอฟริกาเหนือ ซึ่งเดิมเป็นชนอาหรับ และเป็นชาติอาณานิคมของโปรตุเกสที่ถูกส่งให้มาเป็นทหารรักษาการในมาเก๊า 

อาคารนี้สร้างอยู่บนเนินเขา Barra Hill จึงทำให้มีบางส่วนเป็นอาคารแบบชั้นเดียวและบางส่วนเป็นอาคาร 2 ชั้น และหน้าตาตึกค่อนข้างแปลกตาไปจากอาคารอื่นๆ ในมาเก๊า เนื่องจากเป็นสไตล์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ออกแบบโดยชาวอิตาลีชื่อ คาสซูโต (Cassuto) ตัวอาคารแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมอิสลามที่มีต่อการออกแบบ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิกผสมกับศิลปะของชาวมัวร์ ผนังทาด้วยสีเหลืองอ่อนและตกแต่งด้วยปีกปูนสีขาวทรงแหลมบนซุ้มประตูและหน้าต่าง ซึ่งต่างจากตึกสไตล์โปรตุเกสที่เป็นซุ้มประตูโค้งเสียส่วนใหญ่ ทำให้เห็นการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่หลากหลายมากกว่าสถาปัตยกรรมจีน-โปรตุเกส

ปัจจุบันที่นี่เป็นกองบังคับบัญชาคณะฝ่ายบริหารเดินเรือของมาเก๊า แม้ว่านักท่องเที่ยวจะเข้าชมภายในไม่ได้ แต่เดินชมและถ่ายภาพรอบๆ อาคารได้นะ

8

ชมคฤหาสน์ขุนนางจีนในมาเก๊าที่ ‘แมนดารินเฮาส์’

ตามรอยประวัติศาสตร์ มาเก๊า ผ่าน 10 สถานที่สำคัญที่ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมแมคกานีส
ตามรอยประวัติศาสตร์ มาเก๊า ผ่าน 10 สถานที่สำคัญที่ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมแมคกานีส

หลังจากชมตึกสไตล์ยุโรปกันไปเยอะแล้ว เราไปชมคฤหาสน์ขุนนางจีนในมาเก๊าที่ แมนดารินเฮาส์ (Mandarin House)  บ้านที่สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1881 โดยนักประพันธ์จีนผู้ยิ่งใหญ่นามว่า เฉิง กวนยิ่ง (Zheng Guanying) เป็นตัวอย่างของที่อยู่อาศัยของเศรษฐีชาวจีนโบราณที่มีพื้นที่ในบ้านกว้างขวาง ตัวบ้านเป็นอาคารหลายหลังประกอบกัน มีลานตรงกลางที่ใช้ร่วมกัน โดยผสมผสานรายละเอียดต่างๆ ในแบบจีนดั้งเดิมผสมผสานกับสไตล์ตะวันตก ทางเดินจะมีช่องประตูทรงกลมเหมือนสถาปัตยกรรมจีน กระจกทุกบานในบ้านทำจากเปลือกหอยตามสไตล์ดั้งเดิมของมาเก๊า และบ้านบางหลังจะมีหน้าต่างและระแนงไม้ในสไตล์ตะวันตก นอกจากนี้ ยังตกแต่งมุมหน้าต่างและประตูด้วยลวดลายแบบอินเดียเข้าไปด้วย ทำให้เห็นว่าสถาปัตยกรรมที่นี่ได้รับอิทธิพลมาจากหลากหลายวัฒนธรรมเพราะการเข้ามาของโปรตุเกส

9

กินอาหารแมคกานีสที่ร้าน Riquexo 

และฟังเรื่องเล่าการผสมผสานของ 2 วัฒนธรรม

กินอาหารแมคกานีสที่ร้าน Riquexo

หากจะบอกว่าอาหารแมคกานีสคืออาหารที่ปรุงจากความรักก็คงไม่เกินจริงไปนัก

คำว่า แมคกานีส (Macanese) หมายถึง การผสมผสานของวัฒนธรรมโปรตุเกสและมาเก๊า ซึ่งมาจากการแต่งงานข้ามเชื้อชาติของชาวโปรตุเกสและชาวจีนดั้งเดิมซึ่งอาศัยอยู่ในเขตมาเก๊า เมื่อมีชาวโปรตุเกสเดินทางมาทำการค้าที่มาเก๊ามากเข้า จึงเกิดครอบครัวแบบผสมขึ้นจำนวนมากเช่นกัน รูปแบบการแต่งงานในมาเก๊าจึงมีทั้งพิธีแบบจีนและตะวันตกในวันเดียวกัน 

อาหารแมคกานีสจึงเป็นอาหารที่เกิดขึ้นในครัวของครอบครัวที่มีคู่สามีภรรยาเป็นชาวโปรตุเกสและชาวจีน

สมัยก่อน อาหารและเครื่องเทศจากตะวันตกต้องใช้เวลานานกว่าจะขนส่งมาถึง หรืออาจจะไม่มีมาเลย

ภรรยาที่ตั้งใจจะปรุงอาหารโปรตุเกสให้สามีและลูกๆ จึงต้องใช้ส่วนผสมที่หาได้ในท้องถิ่นแทนส่วนผสมดั้งเดิมจากโปรตุเกส เช่น ใช้กุนเชียงแทนไส้กรอกโปรตุเกส ไปจนถึงการคิดค้นรสชาติใหม่ๆ ให้อาหารออกมากลมกล่อม โดยเติมเครื่องปรุงรสแบบเอเชียลงไป เช่น พริก ขมิ้น ซอสถั่วเหลือง 

ความพยายามและความคิดสร้างสรรค์ในการปรุงอาหารนี้ทำให้เกิดเป็นการผสมผสาน 2 วัฒนธรรมเข้าด้วยกัน ออกมาเป็นอาหารแมคกานีสที่ได้รับการขนานนามกลายๆ ว่าเป็นอาหารฟิวชันแรกของโลก

Sonia Palmer เจ้าของ ร้าน Riquexo เล่าให้เราฟังอย่างนั้น เธอและแม่คือคนกลุ่มน้อยในมาเก๊าที่สืบเชื้อสายแมคกานีส ที่มีความตั้งใจอยากแบ่งปันรสชาติอาหารสุดพิเศษที่ปรุงอย่างพิถีพิถันตามแบบฉบับของคนในบ้านให้คนอื่นๆ ได้กิน และที่สำคัญคือ เธออยากช่วยสืบสานอาหารแมคกานีสให้คงอยู่ต่อไป

ด้วยเอกลักษณ์ทางรสชาติและสูตรอาหารแมคกานีสแบบดั้งเดิม ทำให้ร้านอาหารเก่าแก่เล็กๆ นี้อยู่มายาวนานกว่า 30 ปี และดึงดูดให้ผู้คนในท้องถิ่น ทั้งคนมาเก๊าและคนจีนที่อาศัยอยู่ในมาเก๊า ยังแวะเวียนมาฝากท้องอยู่เสมอ

กินอาหารแมคกานีสที่ร้าน Riquexo

นอกจากมาเก๊าแล้วก็ไม่มีที่ไหนที่เราจะลิ้มลองอาหารแมคกานีสดั้งเดิมได้อีกแล้ว เมนูแนะนำคือ Curry Chicken แกงไก่รสชาติหวานมันตัดเลี่ยนด้วยความเผ็ด คล้ายกับมัสมั่น แต่ก็มีเสี้ยวรสชาติที่แตกต่าง อีกเมนูกินง่ายคือ Minchi เนื้อบดนึ่งซอสถั่วเหลือง หอมใหญ่ มันฝรั่งที่มีรสชาติแบบ Comfort Food เป็นจานที่เป็นที่ชื่นชอบของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และ African Chicken ไก่อบราดซอสแกงเผ็ดเข้มข้น เมนูสูตรลับเฉพาะของคุณแม่ของ Sonia ตบท้ายด้วยของหวานอย่างเค้กช็อกโกแลตและพุดดิ้งลูกเกด ที่แม้จะเป็นขนมหวานยุโรป แต่ก็ปรุงด้วยสไตล์แมคกานีส

ที่เน้นการดึงรสชาติของส่วนผสมธรรมชาติออกมาให้มากที่สุด

10

Lord Stow’s Bakery ทาร์ตไข่เจ้าดังที่ทำโดยชาวอังกฤษ

Lord Stow’s Bakery ทาร์ตไข่เจ้าดังที่ทำโดยชาวอังกฤษ

ทาร์ตไข่เป็นอีกเอกลักษณ์ของมาเก๊าที่ใครมาก็ต้องลองสักครั้ง หลายคนคิดว่าทาร์ตไข่โด่งดังในมาเก๊าเพราะเคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส และเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พ่อค้าชาวโปรตุเกสนำเข้ามา แต่จริงๆ แล้ว Lord Stow’s Bakery เจ้าของทาร์ตไข่เจ้าแรกในมาเก๊าถูกคิดค้นโดยชาวอังกฤษ ผู้ได้แรงบันดาลใจมาจากการไปเที่ยวโปรตุเกส เป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบกลมกล่อมที่ทำให้เราคิดว่ามาเก๊าเป็นเมืองแห่งการผสมผสานวัฒนธรรมที่หลากหลายมากจริงๆ 

การมามาเก๊าครั้งนี้เราได้พบกับ Audrey Stow ลูกสาวของเจ้าพ่อทาร์ตไข่ชื่อดัง ที่จะมาเล่าเรื่องราวความเป็นมาของ Lord Stow’s Bakery ให้เราฟัง 

Lord Stow’s Bakery ทาร์ตไข่เจ้าดังที่ทำโดยชาวอังกฤษ

Lord Stow’s Bakery คือร้านทาร์ตไข่เจ้าแรกของมาเก๊า ก่อตั้งโดย Andrew Stow เมื่อ ค.ศ. 1989 มีสาขาแรกอยู่ที่เกาะโคโลอาน

Andrew Stow เป็นหนุ่มอังกฤษที่ย้ายมาตั้งรกรากที่มาเก๊าและทำงานในแวดวงเภสัชกร ช่วงปลายยุค 80 เขาได้เดินทางไปโปรตุเกสและหลงใหลใน Pastel de Nata หรือทาร์ตไข่โปรตุเกสขึ้นมา จึงนึกอยากแบ่งปันรสชาตินี้ให้คนมาเก๊าได้ชิม เขากลับมามาเก๊าเพื่อคิดค้นสูตรขนมกับเพื่อนแบบเริ่มต้นจากศูนย์ จนออกมาเป็นทาร์ตไข่ที่แป้งบางกรอบ ทำด้วยมือทุกชิ้น สอดไส้คัสตาร์ดรสชาติละมุนตามสไตล์อังกฤษ โรยหน้าด้วยอบเชยและอบในอุณหภูมิพอเหมาะให้ออกมาเป็น Crème Brûlée ตามแบบฉบับโปรตุเกส

รสชาติที่แปลกใหม่และกลิ่นหอมนวลที่มาจากการอบสดใหม่ออกจากเตาในทุกวัน ทำให้ทาร์ตไข่ของร้านเบเกอรี่เล็กๆ ในเกาะโคโลอานนี้กลายเป็นขนมที่คนมาเก๊านิยมกินกันอย่างแพร่หลาย ทั้งๆ ที่เบเกอรี่ไม่ใช่อาหารหลักของคนท้องถิ่นมาก่อน และนับแต่นั้นทาร์ตไข่ก็กลายมาเป็นเอกลักษณ์ของมาเก๊า และเป็นส่วนหนึ่งที่จุดกระแสความนิยมทาร์ตไข่ในเอเชียมากว่า 30 ปี

Lord Stow’s Bakery ทาร์ตไข่เจ้าดังที่ทำโดยชาวอังกฤษ

ทุกวันนี้ Lord Stow’s Bakery ขยายออกไปหลายสาขา แต่สาขาแรกที่เกาะโคโลอานยังเป็นจุดหมายที่นักท่องเที่ยวต้องเดินทางมาสัมผัสบรรยากาศดั้งเดิมกันถึงถิ่น ในหนึ่งวันช่างทำขนมต้องอบทาร์ตไข่กว่า 21,000 ชิ้น เพื่อส่งไปตามสาขาต่างๆ แค่สำหรับสาขาโคโลอานก็มากถึง 8,000 ชิ้นเลยทีเดียว 

แม้ Andrew จะไม่อยู่แล้ว แต่เขาก็ส่งต่อความรักในทาร์ตไข่มายังน้องสาว ลูกสาว และพนักงานในร้าน เพื่อให้ขนมทุกชิ้นยังคงความพิเศษเหมือนในวันวาน คงเอกลักษ์ความอบอุ่นเหมือนทำให้คนที่รักทาน และให้ได้รสสัมผัสที่แตกต่างจากทาร์ตไข่เจ้าอื่นๆ ในมาเก๊า

Writers

Avatar

ธนาวดี แทนเพชร

ครีเอทีฟประจำ The Cloud ชอบใช้หลายทักษะในเวลาเดียวกัน จึงพ่วงตำแหน่งนักเขียนมาด้วยเป็นบางครั้ง ออกกองตามฤดูกาล จัดทริปและเดินทางเป็นงานอดิเรก

Avatar

ฟ้าใหม่ พงศกรเสถียร

อดีตสาวโฆษณาที่ตอนนี้รับงานอิสระอยู่บ้าน เพื่อทุ่มเทเวลาให้เต็มที่กับการแบ่งปันวิธีเป็น นักช้อปแฟชั่นที่ยั่งยืนเป็นมิตรต่อโลกผ่านเพจ Famai Disorder

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล