The Cloud x การท่องเที่ยวมาเก๊าประจำประเทศไทย x Air Asia
มาเก๊าเป็นเขตปกครองพิเศษเล็กๆ ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทางตะวันออกของจีน และอยู่ทางตะวันตกของพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล ทั้งเมืองมีพื้นที่เพียง 32 ตารางกิโลเมตร เท่านั้น แต่ความน่าสนใจของเมืองเล็กๆ แห่งนี้ คือประวัติศาสตร์การพบกันของวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตกที่ยังคงทิ้งร่องรอยไว้ให้เราได้เห็นกันทุกวันนี้
ชาวโปรตุเกสคือชาวยุโรปชาติแรกที่เดินเรือเข้ามาทำการค้ากับมาเก๊าใน ค.ศ. 1550 และทำให้มาเก๊ากลายเป็นหนึ่งในเมืองท่าสำคัญของเส้นทางสายไหมเพราะการส่งออกชาและผ้าไหม จากเมืองท่าที่โปรตุเกสเข้ามาตั้งคลังสินค้า จนตกอยู่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกสตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 ก่อนที่โปรตุเกสจะส่งคืนให้สาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1999
ตลอด 460 ปี ที่มาเก๊าอยู่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกส เราจึงได้เห็นการผสมผสานวัฒนธรรม ทั้งด้านสถาปัตยกรรม ศาสนา อาหาร และการแต่งงานข้ามเชื้อชาติ เกิดชนพื้นเมืองที่เรียกว่า ชาวมาเก๊า หรือชาวแมคกานีส (Macanese) และทำให้มาเก๊ามีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้
ในเดือนธันวาคมปี 2562 นี้ มาเก๊ากำลังจะมีวาระครบรอบ 20 ปี ที่โปรตุเกสคืนเขตปกครองพิเศษมาเก๊าให้แก่จีน เดือนกันยายนที่ผ่านมา The Cloud การท่องเที่ยวมาเก๊าแห่งประเทศไทย และแอร์เอเชีย จึงจัดกิจกรรม The Cloud Journey 07 : Macanese Culture และเปิดรับสมัครเพื่อนร่วมทริปเดินทางไปทำความรู้จักมาเก๊าและวัฒนธรรมแมคกานีสด้วยกันที่มาเก๊าตลอด 3 วัน 2 คืน
ถ้าจะให้รู้จักมาเก๊าแบบลงลึกจริงๆ คงต้องฟังจากปากคนมาเก๊า เราจึงเชิญวิทยากรพิเศษ Nero Lio ซึ่งเป็น Vice Chair of Assembly จาก Macao Heritage Ambassadors Association องค์กรที่ให้การสนับสนุนคนรุ่นใหม่ในมาเก๊าศึกษาประวัติศาสตร์ และช่วยผลักดันเรื่องการขึ้นทะเบียนสถานที่สำคัญให้เป็นมรดกโลก เป็นผู้นำชมสถานที่สำคัญและเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ให้เราได้ฟังในทริปนี้
แม้ว่ามาเก๊าจะเป็นเมืองเล็กๆ แต่กลับมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์จำนวนมาก ซึ่งถูกอนุรักษ์ไว้ด้วยการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกจาก UNESCO แล้วกว่า 25 แห่ง และยังมีสถานที่ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลอีกกว่า 128 แห่ง แต่จะให้ไปทั้งหมดในเวลา 3 วัน คงไม่พอ เราจึงขอเก็บเรื่องเล่าจาก 10 สถานที่ ที่น่าสนใจมาให้อ่านกัน เผื่อว่าใครที่มีแพลนกำลังจะไปมาเก๊าจะได้ไปตามรอยกันได้
1
ย้อนเวลาไปทำความรู้จักกับ ‘มาเก๊า’ ที่ Macao Museum

ใครที่มามาเก๊าครั้งแรกและอยากเข้าใจความเป็นมาของมาเก๊า เราอยากชวนมาย้อนเวลาด้วยกันที่ Macao Museum ที่นี่คือพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมเรื่องราวของมาเก๊าเอาไว้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และทำให้เราเห็นการเข้ามาของวัฒนธรรมโปรตุเกสในมาเก๊าได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ในอดีต มาเก๊าถูกเรียกว่า ‘โอหมูน’ หรือ ‘ประตูแห่งการค้าขาย’ เนื่องจากเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ ณ ปากแม่น้ำจูเจียงหรือแม่น้ำเพิร์ลทางตอนใต้ของมณฑลกวางเจา ในขณะนั้นมาเก๊าเป็นเพียงหมู่บ้านเกษตรกรรมและประมงเล็กๆ มีชาวประมงจากมณฑลฝูเจี้ยนและชาวนาจากมณฑลกวางตุ้งเป็นกลุ่มแรกๆ ที่มาตั้งรกราก


ชาวโปรตุเกสคือชาวยุโรปชาติแรกที่เดินเรือมาพบมาเก๊าใน ค.ศ. 1550 ในอดีต ชาวโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่เดินเรือรอบโลกสำเร็จ จึงมีการล่าอาณานิคมและทำการค้ากับหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น หรือประเทศในทวีปแอฟริกา เพื่อสร้างคลังสินค้าและทำการค้ากับชนพื้นเมืองต่างๆ ที่ไปถึง สินค้าที่เป็นที่นิยมและขายได้ราคาดีที่สุดจากมาเก๊าคือชาและผ้าไหม จึงทำให้มาเก๊าเป็นอีกหนึ่งเมืองท่าสำคัญของการทำการค้าบนเส้นทางสายไหม ภายในพิพิธภัณฑ์มาเก๊าจึงมีการจำลองเส้นทางการเดินเรือของโปรตุเกสและการลำเลียงสินค้าภายในเรือให้เราได้เห็นกัน
เมื่อมีชาวโปรตุเกสเดินทางมาทำการค้าที่มาเก๊ามากขึ้น มีการเช่าพื้นที่คนท้องถิ่นเพื่อก่อตั้งคลังสินค้าและทำธุรกิจร่วมกัน ทำให้ชาวมาเก๊าและชาวโปรตุเกสมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและกันมากขึ้น กระทั่งแต่งงานข้ามเชื้อชาติ ซึ่งเป็นที่มาของชนพื้นเมืองมาเก๊าตั้งแต่นั้นมา
การเข้ามาปกครองมาเก๊าของโปรตุเกสไม่ได้เกิดขึ้นจากการทำสงคราม แต่เกิดจากความสัมพันธ์ทางการค้าที่ค่อยๆ พัฒนาและขยายขอบเขตการเช่าพื้นที่ไปเรื่อยๆ ในอดีต เนื่องจากในอดีตมาเก๊าไม่ได้เป็นเมืองสำคัญของจีน จึงทำให้โปรตุเกสขอเช่าพื้นที่ทั้งหมดของมาเก๊าตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นไป การตกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสจึงทำให้สถาปัตยกรรมในย่านสำคัญใจกลางเมืองมาเก๊าเต็มไปด้วยตึกสไตล์โคโลเนียลอย่างที่เราเห็นกันในทุกวันนี้ ในช่วงแรกตึกเหล่านี้ไม่มีการกำหนดสีเอาไว้ แต่ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 มีการกำหนดให้สีชมพูเป็นตึกที่เกี่ยวข้องกับการทหาร ตึกสีเหลืองเกี่ยวข้องกับศาสนา และตึกสีเหลืองแดงเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม

ภายในพิพิธภัณฑ์ยังจำลองวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนมาเก๊าในอดีตเอาไว้ บ้านของคนมาเก๊าจะเป็นบ้านอิฐหรือปูนหลังเล็กๆ เพราะคนมาเก๊าส่วนใหญ่เป็นชาวประมงและเป็นแรงงาน ไม่ได้มีฐานะดีมาก จุดสังเกตคือจะมีประตูไม้ 3 ชั้น ปรับเปลี่ยนการใช้งานตามสภาพอากาศที่ร้อนชื้นของเมืองริมอ่าว ในขณะที่บ้านของคนโปรตุเกส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าและข้าราชการในสมัยนั้น เป็นบ้านปูน 2 ชั้น มีระเบียงโอ่โถง สีสันสดใส มีบานประตูและบานหน้าต่างโค้งตามสไตล์โคโลเนียล

เรายังคงเห็นโรงน้ำชาแบบดั้งเดิมที่เป็นเครื่องยืนยันว่าชาคือสิ่งที่คนมาเก๊าโปรดปราน เพราะในปัจจุบันนี้คนมาเก๊ายังคงไปร้านน้ำชาเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารบ้านเมืองกันเหมือนเดิม และยังมีโรงงานผลิตประทัดและดอกไม้ไฟ ซึ่งเคยเป็นสินค้าส่งออกจากมาเก๊าไปขายในเมืองอื่นๆ ในจีนอีกด้วย
2
ดูวิวมาเก๊า 360 องศาที่ป้อมปราการมองเต้

ป้อมปราการมองเต้ (Monte Fort) เป็นป้อมปราการเก่าแก่ใจกลางเมืองที่ทำให้เราเห็นความผสมผสานของเมืองแบบ 360 องศา เราจะได้เห็นทั้งวิวเมืองเก่าที่ผสมผสานระหว่างความเป็นจีนและโปรตุเกส เห็นย่านที่พักอาศัยของคนมาเก๊าในปัจจุบัน คาสิโนของเจ้าพ่อมาเก๊า ไปจนถึงเมืองจูไห่ ประเทศจีน
ในอดีต ป้อมปราการแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโบสถ์เซนต์ปอล (Ruins of St. Paul’s) สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1616 และตั้งป้อมปืนใหญ่เอาไว้รอบด้าน เพื่อเป็นฐานป้องกันโบสถ์เซนต์ปอลจากการโจมตีของเหล่าโจรสลัดและการรุกรานจากต่างชาติ
ครั้งหนึ่งชาวดัตช์เคยเดินเรือมารุกรานมาเก๊าบริเวณปากแม่น้ำเพิร์ล คณะบาทหลวงเยซูอิตซึ่งเป็นผู้ดูแลป้อมปราการช่วงที่ทหารชาวโปรตุเกสออกไปเดินเรือ จึงยิงปืนใหญ่เพื่อป้องกันเมืองเอาไว้ และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะในครั้งนั้น สถานที่ที่ชาวดัตช์บุกเข้ามาในอดีตจึงถูกเรียกว่า Victory Park ปัจจุบันเป็นสวนสาธารณะอยู่ใกล้กับป้อมปราการเกีย ป้อมปราการที่สูงที่สุดในมาเก๊า


ใน ค.ศ. 1838 ป้อมปืนใหญ่ถูกไฟไหม้พร้อมกับวิทยาลัย Jesuit และโบสถ์เซนต์ปอล เมื่อหมดยุคล่าอาณานิคม ใน ค.ศ. 1965 บางส่วนของป้อมปืนใหญ่ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสำนักงานของกรมอุตุนิยมวิทยามาเก๊า
จนกระทั่งใน ค.ศ. 1998 จนถึงปัจจุบัน ชั้นล่างของป้อมปราการถูกเปลี่ยนไปเป็นพิพิธภัณฑ์มาเก๊า พื้นที่โดยรอบป้อมปราการกลายเป็นสวนสาธารณะสำหรับออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจของชาวมาเก๊า ใครอยากสัมผัสวิถีชีวิตของคนมาเก๊ามากขึ้น เราแนะนำให้มาลองวิ่งที่นี่ตอนเช้าดูนะ เป็นเส้นทางวิ่งที่ได้เห็นวิวมุมสูงไม่ซ้ำกันเลยสักด้าน
3
ตามรอยศาสนาคริสต์ที่หน้าประตูโบสถ์เซนต์ปอล

ใครมามาเก๊าก็ต้องมาดูซากประตูโบสถ์เซนต์ปอล (Ruins of St. Paul’s) แลนด์มาร์กสำคัญของมาเก๊าที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางเมืองมาตั้งแต่ ค.ศ. 1602 แต่เราอยากชวนมองรายละเอียดและประวัติศาสตร์ที่ลึกลงไปมากกว่านั้น
โบสถ์นี้ออกแบบโดยนักบวชคณะเยซูอิตชาวอิตาลี โดยความช่วยเหลือของคริสตชนชาวญี่ปุ่น ในอดีตเคยเป็นวิทยาลัยสอนศาสนาและวิทยาการต่างๆ ให้คณะนักบวชเยซูอิตก่อนจะเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในเอเชีย ที่นี่จึงเป็นสถานที่สำคัญในการเผยแพร่ศาสนาและวิทยาการต่างๆ จากโปรตุเกส
ก่อนที่จะเหลือเพียงฟาซาด (Facade) หรือผนังด้านหน้าของตัวโบสถ์ โบสถ์แห่งนี้ถูกไฟไหม้ถึง 3 ครั้ง หลังจากบูรณะมา 2 ครั้ง ก็เกิดพายุไต้ฝุ่นครั้งที่ใหญ่ที่สุดในมาเก๊าใน ค.ศ. 1835 และเกิดเพลิงไหม้อีกเป็นครั้งที่ 3 ทำให้ตัวอาคารเสียหายทั้งหลัง เหลือเพียงผนังด้านหน้าที่ยังคงสมบูรณ์ และถูกบูรณะให้เป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
หากแหงนหน้ามองลึกลงไปที่รายละเอียดของฟาซาด จะพบการผสมผสานทางวัฒนธรรมอยู่ในนั้น รูปปั้นเทพทั้งเจ็ดเเห่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาคริสต์ ได้แก่ นกพิราบ พระเยซู พระแม่มารีย์ The Beautified Francisco de Borja, St.Lgnatius, St.Francisco Xavier และ The Beautified Luis Gonzaga และยังมีรูปปั้นที่สื่อถึงตำนานจีนโบราณ เช่นเรือสำเภาและมังกรอยู่บนผนังโบสถ์ด้วยเช่นกัน เป็นสิ่งที่ยืนยันให้เราเห็นว่ามาเก๊าไม่ได้แค่รับวัฒนธรรมมา แต่ยังเติมความเป็นตัวเองเข้าไปด้วย
4
เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ห้องใต้ดินหลังประตูโบสถ์เซนต์ปอล

ก่อนจะไปที่อื่นต่อ เราอยากชวนไปตามรอยที่หลังประตูโบสถ์เซนต์ปอล เพราะที่นี่ยังมีพิพิธภัณฑ์ศาสนศิลป์และห้องใต้ดิน (Museum of Sacred Art and Crypt) ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์การเผยแผ่ศาสนาคริสต์ของนักบวชเยซูอิตนิกายโรมันคาทอลิกในมาเก๊า ซึ่งมีหลุมฝังศพของ วาลิควาโน (Father Alessandro Valignano) ผู้ก่อตั้งโบสถ์เซนต์ปอลแห่งนี้ มีโครงกระดูกของชาวคริสต์ญี่ปุ่นและเวียดนามที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ไฟไหม้โบสถ์ทั้งสามครั้ง และภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีอุปกรณ์ทางศาสนา รูปปั้นนักบวชคนสำคัญ และภาพวาดต่างๆ จัดแสดงไว้ให้ชมอีกด้วย


5
ขึ้นบันไดไปห้องใต้หลังคาโบสถ์เซนต์ดอมินิก


โบสถ์เซนต์ดอมินิกคือ 1 ใน 3 โบสถ์เก่าแก่ที่สุดในมาเก๊า สร้างขึ้นในปี 1587 โดยบาทหลวงชาวสเปนทั้งสามคนที่เดินทางจากเม็กซิโกมาเผยแผ่ศาสนา โบสถ์จึงมีรูปแบบงานสถาปัตยกรรมแบบบาโรกในยุคศตวรรษที่ 16 มีการผสมผสานระหว่างสไตล์โปรตุเกสและสเปน และรูปแบบทางสถาปัตยกรรมในท้องถิ่นของชาวมาเก๊า ได้แก่ กระเบื้องหลังคาสไตล์จีน ฝ้าไม้กระดาน ประตูที่ทำจากไม้สัก รูปปั้นของพระแม่มารีย์และพระบุตรถูกขนาบด้วยรูปปั้นของเหล่านักบุญ แกะสลักด้วยไม้และงาช้าง เป็นต้น
ในทุกๆ วันที่ 13 พฤษภาคมของทุกปี ที่โบสถ์แห่งนี้จะจัดงานเลดี้ฟาติมา (Fatima’s Statue) เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลสำคัญและทำพิธีแด่พระแม่ฟาติมา
และโบสถ์แห่งนี้ยังเคยเป็นสถานที่ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์โปรตุเกสฉบับแรกในมาเก๊าอีกด้วย (ปัจจุบันหนังสือพิมพ์ฉบับแรกถูกเก็บไว้ที่ห้องสมุด Leal Senado ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ Senado Square)


บริเวณด้านหลังโบสถ์ในอดีตเคยเป็นหอนาฬิกา แต่ในปี 1990 ได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นพิพิธภัณฑ์ห้องใต้หลังคา (Treasure of Sacred Art) ที่เก็บรวบรวมงานศิลปะของศาสนาคริสต์กว่า 300 ชิ้น จากศตวรรษที่ 17 – 19 และนำมาจัดแสดงไว้ เช่น เครื่องเงิน เครื่องทอง รูปแกะสลักไม้ ภาพวาดของ St. Augustine และชุดนักบวชในอดีตที่ยังคงเก็บไว้ในสภาพสมบูรณ์
6
ตามรอยการเทียบท่าของชาวโปรตุเกสที่วัดอาม่า

วัดอาม่า (A-Ma Temple) หรือศาลเจ้าแม่ทับทิม คือหนึ่งตัวอย่างของความเป็นมาเก๊าที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่เราเห็นทุกวันนี้
ในอดีต วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ริมอ่าวมาก่อนที่จะมีเมืองมาเก๊า สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี 1488 มีตำนานเล่าว่า มีคนเรือรับหญิงสาวคนหนึ่งชื่อว่า หลิงม่า มาขึ้นฝั่งบริเวณที่ตั้งของวัดซึ่งเคยเป็นท่าเรือมาก่อน ก่อนที่เธอจะลอยหายไป ชาวมาเก๊าจึงเชื่อกันว่าเธอเป็นเทพธิดาผู้ดูแลท้องทะเลแถบนี้ ผู้คนจึงสร้างศาลไว้กราบไหว้เธอตั้งแต่นั้นมา และเรียกวัดนี้ว่า A Ma Goa ที่แปลว่า อ่าวของอาม่า เมื่อชาวโปรตุเกสเดินเรือมาเทียบท่าที่วัดอาม่า จึงเรียกดินแดนแห่งนี้ว่า A Ma Goa และเพี้ยนเสียงมาเป็นชื่อเมืองมาเก๊าจนทุกวันนี้
วัดอาม่าเปรียบเสมือนสัญลักษณ์สำคัญทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของมาเก๊า เนื่องจากรูปเคารพภายในวัดผสมผสานทั้งความเชื่อของทั้งพุทธ เต๋า และคติพื้นบ้าน แต่ในขณะเดียวกัน ละแวกใกล้เคียงก็มีโบสถ์คริสต์และชุมชนชาวโปรตุเกสที่อยู่ร่วมกันมาหลายร้อยปี สะท้อนให้เห็นถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนาของชาวมาเก๊าจนถึงปัจจุบันนี้
7
เดินชมตึกเหลืองบนเขาของชาวมัวร์ที่ Moorish Barracks


ค่ายทหารชาวมัวร์ (Moorish Barracks) สร้างขึ้นในปี 1874 เพื่อเป็นค่ายของทหารอินเดียจากเมืองกัว (Goa) ในยุคกลาง คำว่า มัวร์ เป็นคำที่หมายถึงชนมุสลิมที่อาศัยอยู่ที่คาบสมุทรไอบีเรียและแอฟริกาเหนือ ซึ่งเดิมเป็นชนอาหรับ และเป็นชาติอาณานิคมของโปรตุเกสที่ถูกส่งให้มาเป็นทหารรักษาการในมาเก๊า
อาคารนี้สร้างอยู่บนเนินเขา Barra Hill จึงทำให้มีบางส่วนเป็นอาคารแบบชั้นเดียวและบางส่วนเป็นอาคาร 2 ชั้น และหน้าตาตึกค่อนข้างแปลกตาไปจากอาคารอื่นๆ ในมาเก๊า เนื่องจากเป็นสไตล์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ออกแบบโดยชาวอิตาลีชื่อ คาสซูโต (Cassuto) ตัวอาคารแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมอิสลามที่มีต่อการออกแบบ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิกผสมกับศิลปะของชาวมัวร์ ผนังทาด้วยสีเหลืองอ่อนและตกแต่งด้วยปีกปูนสีขาวทรงแหลมบนซุ้มประตูและหน้าต่าง ซึ่งต่างจากตึกสไตล์โปรตุเกสที่เป็นซุ้มประตูโค้งเสียส่วนใหญ่ ทำให้เห็นการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่หลากหลายมากกว่าสถาปัตยกรรมจีน-โปรตุเกส
ปัจจุบันที่นี่เป็นกองบังคับบัญชาคณะฝ่ายบริหารเดินเรือของมาเก๊า แม้ว่านักท่องเที่ยวจะเข้าชมภายในไม่ได้ แต่เดินชมและถ่ายภาพรอบๆ อาคารได้นะ
8
ชมคฤหาสน์ขุนนางจีนในมาเก๊าที่ ‘แมนดารินเฮาส์’


หลังจากชมตึกสไตล์ยุโรปกันไปเยอะแล้ว เราไปชมคฤหาสน์ขุนนางจีนในมาเก๊าที่ แมนดารินเฮาส์ (Mandarin House) บ้านที่สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1881 โดยนักประพันธ์จีนผู้ยิ่งใหญ่นามว่า เฉิง กวนยิ่ง (Zheng Guanying) เป็นตัวอย่างของที่อยู่อาศัยของเศรษฐีชาวจีนโบราณที่มีพื้นที่ในบ้านกว้างขวาง ตัวบ้านเป็นอาคารหลายหลังประกอบกัน มีลานตรงกลางที่ใช้ร่วมกัน โดยผสมผสานรายละเอียดต่างๆ ในแบบจีนดั้งเดิมผสมผสานกับสไตล์ตะวันตก ทางเดินจะมีช่องประตูทรงกลมเหมือนสถาปัตยกรรมจีน กระจกทุกบานในบ้านทำจากเปลือกหอยตามสไตล์ดั้งเดิมของมาเก๊า และบ้านบางหลังจะมีหน้าต่างและระแนงไม้ในสไตล์ตะวันตก นอกจากนี้ ยังตกแต่งมุมหน้าต่างและประตูด้วยลวดลายแบบอินเดียเข้าไปด้วย ทำให้เห็นว่าสถาปัตยกรรมที่นี่ได้รับอิทธิพลมาจากหลากหลายวัฒนธรรมเพราะการเข้ามาของโปรตุเกส
9
กินอาหารแมคกานีสที่ร้าน Riquexo
และฟังเรื่องเล่าการผสมผสานของ 2 วัฒนธรรม

หากจะบอกว่าอาหารแมคกานีสคืออาหารที่ปรุงจากความรักก็คงไม่เกินจริงไปนัก
คำว่า แมคกานีส (Macanese) หมายถึง การผสมผสานของวัฒนธรรมโปรตุเกสและมาเก๊า ซึ่งมาจากการแต่งงานข้ามเชื้อชาติของชาวโปรตุเกสและชาวจีนดั้งเดิมซึ่งอาศัยอยู่ในเขตมาเก๊า เมื่อมีชาวโปรตุเกสเดินทางมาทำการค้าที่มาเก๊ามากเข้า จึงเกิดครอบครัวแบบผสมขึ้นจำนวนมากเช่นกัน รูปแบบการแต่งงานในมาเก๊าจึงมีทั้งพิธีแบบจีนและตะวันตกในวันเดียวกัน
อาหารแมคกานีสจึงเป็นอาหารที่เกิดขึ้นในครัวของครอบครัวที่มีคู่สามีภรรยาเป็นชาวโปรตุเกสและชาวจีน
สมัยก่อน อาหารและเครื่องเทศจากตะวันตกต้องใช้เวลานานกว่าจะขนส่งมาถึง หรืออาจจะไม่มีมาเลย
ภรรยาที่ตั้งใจจะปรุงอาหารโปรตุเกสให้สามีและลูกๆ จึงต้องใช้ส่วนผสมที่หาได้ในท้องถิ่นแทนส่วนผสมดั้งเดิมจากโปรตุเกส เช่น ใช้กุนเชียงแทนไส้กรอกโปรตุเกส ไปจนถึงการคิดค้นรสชาติใหม่ๆ ให้อาหารออกมากลมกล่อม โดยเติมเครื่องปรุงรสแบบเอเชียลงไป เช่น พริก ขมิ้น ซอสถั่วเหลือง
ความพยายามและความคิดสร้างสรรค์ในการปรุงอาหารนี้ทำให้เกิดเป็นการผสมผสาน 2 วัฒนธรรมเข้าด้วยกัน ออกมาเป็นอาหารแมคกานีสที่ได้รับการขนานนามกลายๆ ว่าเป็นอาหารฟิวชันแรกของโลก
Sonia Palmer เจ้าของ ร้าน Riquexo เล่าให้เราฟังอย่างนั้น เธอและแม่คือคนกลุ่มน้อยในมาเก๊าที่สืบเชื้อสายแมคกานีส ที่มีความตั้งใจอยากแบ่งปันรสชาติอาหารสุดพิเศษที่ปรุงอย่างพิถีพิถันตามแบบฉบับของคนในบ้านให้คนอื่นๆ ได้กิน และที่สำคัญคือ เธออยากช่วยสืบสานอาหารแมคกานีสให้คงอยู่ต่อไป
ด้วยเอกลักษณ์ทางรสชาติและสูตรอาหารแมคกานีสแบบดั้งเดิม ทำให้ร้านอาหารเก่าแก่เล็กๆ นี้อยู่มายาวนานกว่า 30 ปี และดึงดูดให้ผู้คนในท้องถิ่น ทั้งคนมาเก๊าและคนจีนที่อาศัยอยู่ในมาเก๊า ยังแวะเวียนมาฝากท้องอยู่เสมอ

นอกจากมาเก๊าแล้วก็ไม่มีที่ไหนที่เราจะลิ้มลองอาหารแมคกานีสดั้งเดิมได้อีกแล้ว เมนูแนะนำคือ Curry Chicken แกงไก่รสชาติหวานมันตัดเลี่ยนด้วยความเผ็ด คล้ายกับมัสมั่น แต่ก็มีเสี้ยวรสชาติที่แตกต่าง อีกเมนูกินง่ายคือ Minchi เนื้อบดนึ่งซอสถั่วเหลือง หอมใหญ่ มันฝรั่งที่มีรสชาติแบบ Comfort Food เป็นจานที่เป็นที่ชื่นชอบของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และ African Chicken ไก่อบราดซอสแกงเผ็ดเข้มข้น เมนูสูตรลับเฉพาะของคุณแม่ของ Sonia ตบท้ายด้วยของหวานอย่างเค้กช็อกโกแลตและพุดดิ้งลูกเกด ที่แม้จะเป็นขนมหวานยุโรป แต่ก็ปรุงด้วยสไตล์แมคกานีส
ที่เน้นการดึงรสชาติของส่วนผสมธรรมชาติออกมาให้มากที่สุด
10
Lord Stow’s Bakery ทาร์ตไข่เจ้าดังที่ทำโดยชาวอังกฤษ

ทาร์ตไข่เป็นอีกเอกลักษณ์ของมาเก๊าที่ใครมาก็ต้องลองสักครั้ง หลายคนคิดว่าทาร์ตไข่โด่งดังในมาเก๊าเพราะเคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส และเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พ่อค้าชาวโปรตุเกสนำเข้ามา แต่จริงๆ แล้ว Lord Stow’s Bakery เจ้าของทาร์ตไข่เจ้าแรกในมาเก๊าถูกคิดค้นโดยชาวอังกฤษ ผู้ได้แรงบันดาลใจมาจากการไปเที่ยวโปรตุเกส เป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบกลมกล่อมที่ทำให้เราคิดว่ามาเก๊าเป็นเมืองแห่งการผสมผสานวัฒนธรรมที่หลากหลายมากจริงๆ
การมามาเก๊าครั้งนี้เราได้พบกับ Audrey Stow ลูกสาวของเจ้าพ่อทาร์ตไข่ชื่อดัง ที่จะมาเล่าเรื่องราวความเป็นมาของ Lord Stow’s Bakery ให้เราฟัง

Lord Stow’s Bakery คือร้านทาร์ตไข่เจ้าแรกของมาเก๊า ก่อตั้งโดย Andrew Stow เมื่อ ค.ศ. 1989 มีสาขาแรกอยู่ที่เกาะโคโลอาน
Andrew Stow เป็นหนุ่มอังกฤษที่ย้ายมาตั้งรกรากที่มาเก๊าและทำงานในแวดวงเภสัชกร ช่วงปลายยุค 80 เขาได้เดินทางไปโปรตุเกสและหลงใหลใน Pastel de Nata หรือทาร์ตไข่โปรตุเกสขึ้นมา จึงนึกอยากแบ่งปันรสชาตินี้ให้คนมาเก๊าได้ชิม เขากลับมามาเก๊าเพื่อคิดค้นสูตรขนมกับเพื่อนแบบเริ่มต้นจากศูนย์ จนออกมาเป็นทาร์ตไข่ที่แป้งบางกรอบ ทำด้วยมือทุกชิ้น สอดไส้คัสตาร์ดรสชาติละมุนตามสไตล์อังกฤษ โรยหน้าด้วยอบเชยและอบในอุณหภูมิพอเหมาะให้ออกมาเป็น Crème Brûlée ตามแบบฉบับโปรตุเกส
รสชาติที่แปลกใหม่และกลิ่นหอมนวลที่มาจากการอบสดใหม่ออกจากเตาในทุกวัน ทำให้ทาร์ตไข่ของร้านเบเกอรี่เล็กๆ ในเกาะโคโลอานนี้กลายเป็นขนมที่คนมาเก๊านิยมกินกันอย่างแพร่หลาย ทั้งๆ ที่เบเกอรี่ไม่ใช่อาหารหลักของคนท้องถิ่นมาก่อน และนับแต่นั้นทาร์ตไข่ก็กลายมาเป็นเอกลักษณ์ของมาเก๊า และเป็นส่วนหนึ่งที่จุดกระแสความนิยมทาร์ตไข่ในเอเชียมากว่า 30 ปี

ทุกวันนี้ Lord Stow’s Bakery ขยายออกไปหลายสาขา แต่สาขาแรกที่เกาะโคโลอานยังเป็นจุดหมายที่นักท่องเที่ยวต้องเดินทางมาสัมผัสบรรยากาศดั้งเดิมกันถึงถิ่น ในหนึ่งวันช่างทำขนมต้องอบทาร์ตไข่กว่า 21,000 ชิ้น เพื่อส่งไปตามสาขาต่างๆ แค่สำหรับสาขาโคโลอานก็มากถึง 8,000 ชิ้นเลยทีเดียว
แม้ Andrew จะไม่อยู่แล้ว แต่เขาก็ส่งต่อความรักในทาร์ตไข่มายังน้องสาว ลูกสาว และพนักงานในร้าน เพื่อให้ขนมทุกชิ้นยังคงความพิเศษเหมือนในวันวาน คงเอกลักษ์ความอบอุ่นเหมือนทำให้คนที่รักทาน และให้ได้รสสัมผัสที่แตกต่างจากทาร์ตไข่เจ้าอื่นๆ ในมาเก๊า

