วรรณกรรมเรื่อง ไซอิ๋ว เป็นที่รู้จักกันดีผ่านหนังสือ ภาพยนตร์ ซีรีส์ ไปจนถึงการ์ตูนแอนิเมชัน เรื่องราวของพระถังซัมจั๋งและลูกศิษย์ทั้งสาม ตือโป๊ยก่าย อดีตแม่ทัพบนสวรรค์ เจ้าของวลี “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” ซัวเจ๋ง เทวดาตกสวรรค์ที่กลายเป็นปีศาจปลากลับใจ และซุนหงอคง ลิงที่เกิดจากก้อนหินซึ่งได้รับไอฟ้าดินมาเป็นเวลาพัน ๆ ปี ได้ร่วมกันออกเดินทางไปยังชมพูทวีป (อินเดีย) เพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎกฉบับออริจินอลกลับสู่แผ่นดินจีน ระหว่างเดินทางทั้งคณะต้องผ่าฟันอุปสรรค การขัดขวางของเหล่ามารปีศาจ และก้าวผ่านเคราะห์กรรมน้อยใหญ่ก่อนจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ 

สวรรค์ นรก บาดาล การออกแบบฉากในซีรีส์ไซอิ๋ว 1996 ที่สะท้อนความเชื่อพุทธศาสนาแบบจีน

ดังที่ท่าน เขมานันทะ ศิลปินแห่งแห่งชาติ ตีความไว้ในหนังสือ เดินทางไกลกับไซอิ๋ว จาก พ.ศ. 2531 ใจความว่า “การเดินทางแสวงบุญของคณะพระถังซัมจั๋งในวรรณกรรมนั้น เปรียบเหมือนการเดินทางภายในจิตใจของผู้ปฏิบัติธรรม เพื่อมุ่งสู่การหลุดพ้น (นิพพาน) ที่จะต้องพร้อมไปด้วยศีล สมาธิ และปัญญา เปรียบเปรยถึงนิสัยของลูกศิษย์ทั้งสามที่ค่อย ๆ ถูกขัดเกลาผ่านการผจญอุปสรรคจากเหล่าปีศาจ”

ความนิยมของนวนิยายเรื่องนี้การันตีได้จากจำนวนภาพยนตร์และซีรีส์ที่ผลิตออกมาหลากหลายเวอร์ชัน รับบทโดยนักแสดงมากหน้าหลายตา ตั้งแต่ปี 1957 จนถึงปัจจุบัน ถ้าพูดถึงเวอร์ชันที่ตราตรึงในดวงใจของเหล่าเด็กยุค 1990 ที่ต้องนั่งรถกระป๋องซูบารุออกไปเช่าม้วนวีดีโอกลับมาดูแล้วล่ะก็ หนีไม่พ้นฉบับในปี 1996 – 1998 ไซอิ๋ว ศึกเทพอสูรสะท้านฟ้า ภาค 1 และ 2 ของค่าย TVB ฮ่องกง ที่มี เจียง หัว รับบทพระถังซัมจั๋ง และ จาง เหว่ยเจี้ยน รับบทซุนหงอคง

สวรรค์ นรก บาดาล การออกแบบฉากในซีรีส์ไซอิ๋ว 1996 ที่สะท้อนความเชื่อพุทธศาสนาแบบจีน

อิทธิฤทธิ์ของหงอคงนั้นสะท้านไปทั้ง 3 โลก จากนรกภูมิ วังบาดาล พื้นพิภพ ไปจนถึงสรวงสวรรค์ ความคลาสสิกของฉากนรกสวรรค์ที่จินตนาการขึ้นในละคร องค์ประกอบของฉากที่ถ่ายทอดสภาพแวดล้อมตามชุดความเชื่อพุทธนิกายมหายาน เผยให้เห็นการผนวกเข้าด้วยกันของศิลปวัฒนธรรมของชาวจีนและพุทธศาสนาที่แผ่ขยายเข้ามา จากอุปกรณ์ประกอบฉาก แสงไฟ พรรณไม้ เมฆหมอกควัน สถาปัตยกรรม ไปจนถึงเครื่องแต่งกายของเหล่าทวยเทพนางฟ้า เค้าโครงในภาพวาดพุทธจิตรกรรมจีนถูกนำมาใช้ถ่ายทอดสภาพแวดล้อมของอาณาจักรสวรรค์และนรก

สวรรค์ นรก บาดาล การออกแบบฉากในซีรีส์ไซอิ๋ว 1996 ที่สะท้อนความเชื่อพุทธศาสนาแบบจีน

ต้นกำเนิดนวนิยาย ไซอิ๋ว หรือ ซีโหยวจี้ (西遊記) ในภาษาจีนกลาง แปลเป็นภาษาไทยว่า ‘บันทึกการเดินทางสู่ตะวันตก’ ประพันธ์ขึ้นประมาณปี 1590 โดย อู๋ เฉิงเอิน

ผู้เขียนหยิบยกเรื่องราวของบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ ปรากฏอยู่ในพงศาวดารจีนช่วง พ.ศ. 1143 – 1207 ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างปลายราชวงศ์สุยกับต้นราชวงศ์ถัง นั่นก็คือการเดินทางไปอินเดียอันเป็นแหล่งกำเนิดพระพุทธศาสนาของ สมณะเสวียนจั้ง หรือพระถังซัมจั๋งตามเส้นทางสายไหม (Silk Road) เส้นทางการค้าที่เชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนอารยธรรมระหว่างโลกตะวันตก-ตะวันออก

ช่วงเวลาที่พระถังซัมจั๋งเดินทางไปอินเดีย เป็นช่วงที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากในจีน แต่พุทธศาสนาในอินเดียกลับกำลังอิ่มตัวและเสื่อมถอยลง 

สวรรค์ นรก บาดาล การออกแบบฉากในซีรีส์ไซอิ๋ว 1996 ที่สะท้อนความเชื่อพุทธศาสนาแบบจีน
ถ้ำหลงเหมินในเมืองลั่วหยาง

สิ่งปลูกสร้างทางศาสนาบ่งบอกถึงความเลื่อมใสของชาวเมือง และความยิ่งใหญ่ของศาสนาพุทธในยุคสมัยหนึ่ง และเส้นทางสายไหม เส้นทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อมต่อผู้คนทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกันก็เป็นมากกว่าเส้นทางการค้า ตลอดเส้นทางยังคงหลงเหลือโบราณสถานหลายแห่ง เช่น ‘ถ้ำหลงเหมิน’ ในเมืองลั่วหยาง ศาสนสถานเก่าแก่ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระเสวียนจั้ง เป็นถ้ำพระที่ฝังตัวเข้าไปในภูเขาเป็นแนวยาวกว่า 1 กิโลเมตร มีห้องปฏิบัติธรรมเล็ก ๆ มากมาย โถงสูงมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่และเหล่าประติมากรรมหินแกะสลักประดิษฐานกระจายตัวอยู่ตลอดแนวหน้าผา

รวมระยะเวลาเดินทาง 17 ปี จากเมืองฉางอาน (ซีอานในปัจจุบัน) เมืองหลวงในอดีตของจีน สู่นาลันทามหาวิหาร ประเทศอินเดีย ภิกษุเสวียนจั้งนั้นหมายมุ่งจะศึกษาและอัญเชิญพระคัมภีร์ฉบับภาษาสันสกฤตกลับมาแปลเป็นภาษาจีน เพื่อเผยแผ่หลักธรรมคำสอนตามแบบฉบับดั้งเดิมต่อไป ทั้งนี้ก็เพื่อลดปัญหาความแตกแยกและการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายระหว่างคณะเหนือและใต้ อันเนื่องมาจากการตีความหลักธรรมที่มองต่างกัน 

ในช่วงเวลาหนึ่ง พระไตรปิฎกที่อันเชิญมานั้นถูกเก็บรักษาไว้ในเจดีย์ห่านป่าใหญ่ ในวัดต้าฉือเอิน เมืองซีอาน เป็นเจดีย์ทรงเหลี่ยมที่ไต่ระดับไป 7 ชั้น พระถังซัมจั๋งอุทิศตนในการแปลพระคัมภีร์ตลอดชีวิตของท่าน ซึ่งพระคัมภีร์เหล่านั้นมีส่วนสำคัญที่ทำให้พุทธศาสนาเผยแผ่ออกไปกว้างไกลขึ้น

สวรรค์ นรก บาดาล การออกแบบฉากในซีรีส์ไซอิ๋ว 1996 ที่สะท้อนความเชื่อพุทธศาสนาแบบจีน
อารามต้าฉือเอิน (大慈恩寺) และเจดีย์ห่านป่าใหญ่
สวรรค์ นรก บาดาล การออกแบบฉากในซีรีส์ไซอิ๋ว 1996 ที่สะท้อนความเชื่อพุทธศาสนาแบบจีน

แม้ว่าสิ่งที่เหมือนกันระหว่างการเดินทางตามประวัติศาสตร์จริงของพระถังซัมจั๋งกับตามตำนานในวรรณกรรม ไซอิ๋ว มีเพียงการเดินทางไปอินเดีย นอกเหนือจากนั้นคือสิ่งที่ผู้เขียนแต่งเติมขึ้น แต่ในละครก็มีสถานที่จริงบางแห่งปรากฏอยู่ สถานที่แรกคือ เขาฮัวกั่วซาน (花 果 山) ในมณฑลเจียงซู ถ้ำม่านน้ำเขาผลไม้ บ้านเกิดของซุนหงอคงและบริวารวานรลูกหลานของเขา 

ฉากในละครเผยให้เห็นถึงความอุดสมบูรณ์ของป่าไม้ พืชพรรณ และผลไม้ป่านานาชนิดในระบบนิเวศที่ไม่มีมนุษย์อยู่ ฝูงลิงและเห้งเจียอาศัยอยู่ในถ้ำหลังม่านน้ำตก หากลองคิดดู การใช้น้ำตกเป็นประตูก็ช่วยอำพรางตัวจากภัยอันตรายได้ กิจกรรมแต่ละวันภายในถ้ำเน้นไปที่การกินและเล่น จนกระทั่งหงอคงในวัยเด็กตัดสินใจออกทะเลไป เพื่อตามหายาอายุวัฒนะที่จะทำให้เขาอยู่ยงคงกระพัน

ส่องเส้นทางสู่ชมพูทวีปของพระถังซัมจั๋งในชีวิตจริง กับการออกแบบฉากในไซอิ๋วฉบับอมตะที่เด็กยุค 90 จดจำได้ดีในซีรีส์ไซอิ๋ว 1996
โห่วเยี่ยนซาน (火焰山) ภูเขาเปลวเพลิง

‘โห่วเยี่ยนซาน’ (火焰山) ภูเขาเปลวเพลิงแห่งเมืองถูหลู่ฟาน ในเขตปกครองตนเองซินเจียง คือสถานที่ที่ปรากฏทั้งในซีรีส์และในบันทึกการเดินทางของพระถังซัมจั๋ง ภูเขาทะเลทรายสีแดงเพลิง ในฤดูร้อนอาจมีอุณภูมิสูงถึง 40 – 89 องศาเซลเซียส ด้วยลักษณะกายภาพของร่องหินและดินของของภูเขาที่มีหน้าตาคล้ายเปลวเพลิงขนาดใหญ่กำลังแผดเผาอยู่กลางทะเลทรายร้อนระอุ ซากโครงกระดูกบนพื้นทรายเป็นคำเตือนถึงความอันตรายของสถานที่นี้จากผู้ที่เดินทางมาก่อนหน้า 

หากยังจำได้ ฉากภูเขาเปลวเพลิงแห่งนี้ คือหนึ่งในฉากที่เมื่อคณะพระถังเดินมาถึง มีไฟลุกโชนออกมาจากปล่องภูเขาจนร่างกายมนุษย์ไม่มีทางรับไหว ซุนหงอคงจึงรีบออกไปตามหาพัดวิเศษขององค์หญิงพัดเหล็ก พี่น้องร่วมสาบานมาดับไฟ เพื่อให้คณะแสวงบุญเดินทางต่อไปได้ 

เนื่องจากเป็นหนึ่งในสถานที่ถ่ายทำซีรีส์ ปัจจุบันที่นี้จึงได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับแฟนละครที่อยากมาสัมผัสความร้อนระอุ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นเศษเสี้ยวความยากลำบากของการเดินทางข้ามทวีปในสมัยนั้น หรือจะมาเยือนเพียงเพื่อถ่ายรูปกับประติมากรรมรูปปั้นคณะเดินทางก็ได้

ส่องเส้นทางสู่ชมพูทวีปของพระถังซัมจั๋งในชีวิตจริง กับการออกแบบฉากในไซอิ๋วฉบับอมตะที่เด็กยุค 90 จดจำได้ดีในซีรีส์ไซอิ๋ว 1996
ส่องเส้นทางสู่ชมพูทวีปของพระถังซัมจั๋งในชีวิตจริง กับการออกแบบฉากในไซอิ๋วฉบับอมตะที่เด็กยุค 90 จดจำได้ดีในซีรีส์ไซอิ๋ว 1996

นอกเหนือจากสถานที่จริงในการถ่ายทำแล้ว เมื่อวิเคราะห์บริบทของการถ่ายทำเมื่อช่วงทศวรรษที่ 90 การสร้างภูมิประเทศในจินตนาการของยมโลก วังบาดาล และสรวงสวรรค์ ถือเป็นต้นฉบับหนึ่งของวงการในการถ่ายทอดสภาพแวดล้อมตามกรอบวัฒนธรรมความเชื่อพุทธ-จีน ราวกับเทพเจ้าในภาพวาดจิตรกรรมนั้นออกมาเคลื่อนไหวเลยก็ว่าได้ ฉากเหล่านั้นถูกสร้างอย่างตรงไปตรงมา โดยอ้างอิงความหมายเชิงสัญลักษณ์ของวัตถุตามความเชื่อทางพุทธศาสนา

ใน ไซอิ๋ว ครั้งหนึ่งเมื่อพญาวานรซุนหงอคงยังขนานนามตนว่าเป็น ‘ฉีเทียนต้าเซิ่ง’ แปลว่า มหาเทพผู้ยิ่งใหญ่เสมอฟ้า และบุกไปอาละวาดในยมโลก ทำลายบัญชีมรณะเพื่อยุติการเวียนว่ายตายเกิด เขาได้ไปป่วนวังบาดาลของเจ้าสมุทรตงไห่ รีดไถเสาค้ำทะเลไปเป็นกระบองวิเศษคู่กาย และแน่นอนว่าเขาได้ขึ้นไปป่วนสรวงสวรรค์ในโถงบัญชาการของเง็กเซียนฮ่องเต้ จนในท้ายที่สุดก็ถูกพระยูไลใช้ฝ่ามือสะกดไว้ใต้ภูเขา 500 ปี

ส่องเส้นทางสู่ชมพูทวีปของพระถังซัมจั๋งในชีวิตจริง กับการออกแบบฉากในไซอิ๋วฉบับอมตะที่เด็กยุค 90 จดจำได้ดีในซีรีส์ไซอิ๋ว 1996

ฉากห้องโถงในยมบาลนั้นมืดมนและน่ากลัว นรกเป็นที่ขังดวงวิญญาณก่อนจะกลับไปเวียนว่ายตายเกิดการใช้หนามแหลมจากเขางอกเขาย้อยภายใน แสดงให้เห็นถึงความทรมานและการชดใช้กรรม สัญลักษณ์ของวงล้อชีวิตที่เก็บบัญชีมรณะ การข้ามสะพาน และการดื่มน้ำชาลืมอดีตชาติ สร้างขึ้นเพื่อสื่อสารถึงหลักการเวียนว่ายตายเกิด และในท้ายที่สุด ไซอิ๋ว ก็ถ่ายทอดเรื่องราวการเดินทางของจิตใจที่แสวงหาความสงบจากความว่างเปล่านั่นเอง 

ต่อมาฉากของวังบาดาล โลกใต้ทะเลแบ่งได้อย่างมีเอกลักษณ์ มีทั้งความมืดของทะเลลึก ความสว่าง หลากสีสันสดใสของปะการัง และสิ่งมีชีวิตในน้ำต่าง ๆ ในเวลาเดียวกัน โลกใต้ทะเลปกครองด้วยพี่น้องพญามังกรเจ้าสมุทรทั้งสี่ ซึ่งปกปักษ์รักษามหาสมุทรทั้ง 4 ทิศตามความเชื่อของชาวจีน

ส่วนฉากสรวงสวรรค์ แสดงถึงพระราชวังที่ยิ่งใหญ่และสง่างาม เมฆและหมอกควันสีขาวที่ลอยไปมา ตัดกับฉากของพระราชวัง ซึ่งฐานตกแต่งด้วยสีทองและสีแดง โดยมีหลังคาหยกสีเขียว 

การออกแบบฉากยังรวมถึงการใช้รูปปั้นและประติมากรรมขนาดใหญ่ แสดงถึงสิ่งมีชีวิตบนท้องฟ้าต่าง ๆ การตกแต่งด้วยลวดลายเชิงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับเทพปกรณัมและศาสนาของจีน อย่างต้นไม้มงคลทั้งดอกบัว มังกร ต้นโสมพันปี เป็นต้น

ส่องเส้นทางสู่ชมพูทวีปของพระถังซัมจั๋งในชีวิตจริง กับการออกแบบฉากในไซอิ๋วฉบับอมตะที่เด็กยุค 90 จดจำได้ดีในซีรีส์ไซอิ๋ว 1996

แน่นอนว่าสวรรค์ในจินตนาการของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันออกไป ตามความเชื่อทางศาสนาที่หลากหลาย องค์ประกอบและวัตถุที่จินตนาการผ่านความเชื่อเป็นปัจเจก การเชื่อมต่อเชิงสัญลักษณ์ เครื่องประดับตกแต่งในพุทธศาสนา และสถาปัตยกรรมในฉากของ ไซอิ๋ว เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเติมเต็มความหมายเชิงพื้นที่ในจินตนาการของผู้ศรัทธา กล่าวคือ รั้วลายดอกบัวหรือเสาลายมังกรเองก็มีเรื่องราวของพุทธชาดกมากมายที่เกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์เหล่านั้น สิ่งที่แฝงในวัตถุศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น ช่วยสร้างพื้นที่ในการสื่อสารระหว่างโลกกายภาพกับโลกผ่านความเชื่อ

เช่นเดียวกับเมื่อวันตรุษจีนมาถึง ประเพณีที่ลูกหลานชาวจีนปฏิบัติกันโดยทั่วไปคือ เผากระดาษเงิน กระดาษทอง เสื้อผ้า รถยนต์ บ้านกระดาษ และสิ่งของต่าง ๆ เพื่อเซ่นไหว้บรรพบุรุษและบุคคลที่ตนรักผู้ล่วงลับ เพื่อให้พวกเขานำไปในชีวิตหลังความตาย ไม่ว่าดวงวิญญาณจะไปอยู่โลกภูมิใด

กระดาษเงิน-กระดาษทอง กลายเป็นวัตถุเชิงลัญลักษณ์ที่เชื่อมต่อความคิดถึงของดวงจิตแม้จะอยู่เหนือโลกทางกายภาพ ในขณะที่เราดูกระดาษเหล่านั้นกำลังมอดไหม้เป็นเถ้าถ่าน เรากลับค่อย ๆ รู้สึกโล่งใจที่ได้รู้ว่าบรรพบุรุษและบุคคลอันเป็นที่รักของเราจะอยู่กับเราตลอดไปด้วยจิตวิญญาณ คอยช่วยนำทางเราในช่วงเวลานี้ของทุกปี

ข้อมูลอ้างอิงและที่มาภาพประกอบ
  • Lo, Lun-seung director. Journey to the West I & II “西游记”, Lau, Sze-yu, Producer. TVB (Television Broadcasts Limited). , 1996-1998
  • เขมานันทะ. (2531). เดินทางไกลกับไซอิ๋ว (วิเคราะห์ปริศนาธรรมจากมหากาพย์ ไซอิ๋ว). กรุงเทพ: กองทุนวุฒิธรรม เพื่อการศึกษาและการปฏิบัติธรรม.
  • พื้นที่ชีวิต : ตามรอยพระถังซัมจั๋งบนเส้นทางสายไหม ตอน เส้นทางแห่งความหมาย
  • ตำนานเรื่องไซอิ๋ว เปรียบเทียบกับสภาพภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์ในยุคถังไท่จง
  • www.silpa-mag.com/history/article_39055
  • themindcircle.com

Writer

Avatar

วีรสุ แซ่แต้

เนิร์ดสถาปนิกสัญชาติไทยที่จบการศึกษาและทำงานอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ หลงใหลในสถาปัตยกรรมและแสวงหาความหมายของสถาปัตยกรรมที่มีจิตวิญญาณ