เมื่อต้นเดือนห้า The Cloud อาสาพาผู้สนใจเดินทางเข้าป่าไปเรียนรู้เรื่องน้ำผึ้งด้วยกัน ณ หมู่บ้านหินลาดใน จังหวัดเชียงราย หมู่บ้านที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งอากาศที่บริสุทธิ์ วัตถุดิบอาหารตามธรรมชาติที่ดี รวมถึงความสุขในวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้าน เมื่อถึงฤดูกาลที่เหมาะสม ชาวบ้านหินลาดในจะออกหาวัตถุดิบที่เป็นผลผลิตที่ได้จากธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์นั้น โดยเฉพาะน้ำผึ้ง ที่ชาวบ้านหินลาดในมีความสัมพันธ์กับผึ้งมาอย่างยาวนาน

The Cloud Journey ครั้งนี้ถือเป็นการเดินทางมาเพื่อเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างผึ้ง ป่า และคนที่ดูแลป่า เพราะเชื่อว่ารสหวานปานน้ำผึ้งเดือนห้าได้มาจากป่าอันสมบูรณ์ที่ชาวบ้านหินลาดในช่วยกันดูแลนั่นเอง

ยินดีต้อนรับกลับบ้าน

หมู่บ้านหินลาดใน

“คนที่นี่ดูแลป่าผืนนี้ไว้สำหรับทุกคน ทั้งต้นไม้ ดิน น้ำ ไม่ใช่ของคนที่นี่ แต่เป็นของทุกคน ขอให้สูดอากาศกลับไปให้เต็มที่ เพราะอากาศที่นี่ก็เป็นของทุกคน”

พ่อหลวงชัยประเสริฐ ผู้อาวุโสชาวปกาเกอะญอของหมู่บ้านหินลาดใน จังหวัดเชียงราย เริ่มต้นทริปน้ำผึ้งเดือนห้าด้วยถ้อยคำแสนอบอุ่น ทำให้การอยู่กลางป่ากลางเขาที่ไร้ร่องรอยสัญญาณโทรศัพท์และเสาไฟฟ้าดูไม่มีอะไรให้ต้องกังวล

ห้องเรียนวิชาการเก็บน้ำผึ้งเดือนห้า ณ โรงเรียนกลางป่าที่ชื่อหมู่บ้านหินลาดใน เชียงราย

ทริปนี้เรามีกันทั้งหมด 20 ชีวิต บวกรวมกับชาวบ้านหินลาดในที่คอยให้ความรู้ หุงหาอาหารและให้ที่หลับนอน พร้อมด้วยเจ้าถิ่นสี่ขาชื่อแหนมเนืองและเพื่อนๆ ของมัน

ทริป 3 วัน 2 คืนนี้มีทั้งเรื่องที่ทำให้ร้องอ้าว ร้องโอ๊ย แล้วก็ร้องอ๋อ สนุกมากจนแทบจะรอไม่ไหว อยากเอามาเล่าให้ทุกคนฟัง ว่าแล้วก็มาเริ่มกันเลย

ไร่หมุนเวียนคือความยั่งยืน ไม่เลื่อนลอย  

ก่อนจะฝากเนื้อฝากตัวขอเรียนรู้เรื่องน้ำผึ้งและวิถีชีวิตของคนบ้านห้วยหินลาดใน เราต้องรู้จักวิธีทำมาหากินของเขากันก่อน ดร.ประเสริฐ ตระการศุภกร และ พี่ทศ หัวหน้าทีมเยาวชนบ้านหินลาดใน พาพวกเราขึ้นรถกระบะ แล้วเดินเท้าต่ออีกนิดหน่อย ตลอดทางที่เราเดินไปมีห้วยน้ำใสปิ๊ง ไหลเอื่อยๆ เป็นเสียงกล่อมระหว่างเราเดินชมนกชมไม้กันไปเพลินๆ

หมู่บ้านหินลาดใน

“มาหยุดคุยกันตรงนี้ก่อน” ดร.ประเสริฐชวนพวกเราหยุดมองไปที่เนิน 4 ลูกตรงหน้าเรา “ตรงนี้เป็นที่ที่เราใช้ทำไร่หมุนเวียน การทำไร่หมุนเวียนเป็นภูมิปัญญาของชนเผ่าปกาเกอะญอที่จะทำให้เรามีกิน คงความยั่งยืนและหลากหลายเอาไว้ได้ แต่คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นการทำไร่เลื่อนลอย”

พอฟังสิ่งที่ ดร.ประเสริฐ เล่าแล้วก็ได้ความว่า ไร่หมุนเวียนคือการใช้พื้นที่หมุนไปอย่างเป็นระบบ มีอาณาเขตชัดเจนแยกออกมาเพื่อใช้ทำกิน แล้วก็หยุดพักให้ผืนดินได้ฟื้นฟูตัวเองตามธรรมชาติอย่างเป็นระบบ ผิดกับไร่เลื่อนลอยที่ชาวบ้านใช้พื้นที่ทำกินในฤดูกาลหนึ่งๆ จนดินตรงนั้นใช้ปลูกอะไรไม่ได้แล้วก็ย้ายถิ่นไปเรื่อยๆ ทำให้ป่าถูกบุกรุกและพื้นที่ไม่ถูกพัฒนา

หมู่บ้านหินลาดใน หมู่บ้านหินลาดใน

ดร.ประเสริฐชี้ให้เห็นว่าด้านหน้าไกลๆ เป็นพื้นที่ที่กำลังพัก พักมาเป็นปีที่ 7 แล้ว มีต้นไม้ใหญ่ พืชพันธุ์ และสัตว์ หลากหลาย ในแต่ละรอบเราจะได้เห็นพืชพันธ์ุและสัตว์ที่แตกต่างกันไป ขึ้นกับสภาพแวดล้อมของรอบนั้นๆ ส่วนที่ที่เรากำลังยืนอยู่เป็นพื้นที่ที่กำลังใช้ทำกิน นอกจากจะมีนาข้าว พืชพันธุ์ต่างๆ ให้เราเห็นและส่งเสียงถามชื่อเสียงเรียงนามของต้นต่างๆ กันไปมาแล้ว ยังมีร่องรอยของพิธีกรรมที่เป็นกุศโลบายในการดูแลรักษาพืชผลต่างๆ ทิ้งไว้ให้เราเห็นด้วย

ที่น่าสนใจที่สุดคือทางด้านขวาของพวกเรา เป็นพื้นที่สีดำเขม่าแบบเพิ่งจะถูกเผา ตรงส่วนนี้นี่แหละที่ทำให้พวกเราร้องอ้าวหนักมาก!

“การเผาเป็นวิธีทำให้ระบบไร่หมุนเวียนเกิดขึ้น” ดร.ประเสริฐบอกพวกเราให้หายข้องใจ การเผาไฟของพี่น้องบ้านหินลาดในไม่ได้ทำกันได้ง่ายๆ แต่ต้องพิถีพิถันมากๆ ก่อนอื่นต้องเลือกตัดต้นไม้อย่างเชี่ยวชาญ เพื่อให้ต้นไม้งอกใหม่ได้หลังจากโดนไฟแล้ว

ก่อนจะเริ่มจุดไฟ ผู้มากประสบการณ์ต้องคาดการณ์ว่าเมื่อไหร่ฝนจะตก โดยต้องฟังเสียงจากธรรมชาติอย่างพวกจักจั่น ซึ่งแม่นกว่าทุกแอพพลิเคชันในทุกระบบปฏิบัติการ เมื่อเริ่มจุดไฟแล้วฝนจะได้ตกลงมาดับได้แบบพอดีๆ พร้อมจะลงเมล็ดพันธุ์ประเภทหัวในดินอุ่นๆ เอาไว้เป็นอาหารชุดแรก

ความเจ๋งที่สุดของเรื่องนี้คือ พื้นที่รอบๆ เขม่าดำๆ นั้นต้นไม้ยังเขียวชอุ่ม ไม่โดนการเผาไหม้รบกวนแต่อย่างใด เพราะมีการสร้างแนวกันไฟไว้เป็นอย่างดี และที่สำคัญ การเผานี้จะยิ่งทำให้ฝนตกดีขึ้นอีกด้วย

หมู่บ้านหินลาดใน หมู่บ้านหินลาดใน

ฟังดูก็รู้ว่าฤดูกาลเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับขั้นตอนต่างๆ ในการเตรียมพื้นที่และการเพาะปลูกไร่หมุนเวียน สถานการณ์โลกร้อนที่ทำให้ฤดูกาลปั่นป่วนมันมีผลกับคนที่อยู่กับป่ามากกว่าคนเมืองมากนะ

จบกิจกรรมวันแรก พวกเราเดินกลับไปที่หมู่บ้านกันอย่างครุ่นคิด ดร.ประเสริฐก็ส่งเสียงมาจากหัวแถวว่า “ระหว่างเดินกลับใครเห็นอาหารเย็นฝากหยิบติดมือไปด้วยนะ”

พวกเราก็เลยเด็ดยอดผักกูดจากริมห้วยเอามากินกับน้ำพริก แล้วก็สะสมลูกมะไฟที่เก็บมาจากต้นกินสดๆ มาเต็มกระเป๋าเอาไว้รองท้องก่อนอาหารเย็น มันอร่อยมากมากเลยล่ะ

ผึ้งหลวง ขาใหญ่ประจำป่า

เช้าวันที่ 5 ช่างเหมาะเจาะกับการเข้าป่าไปเก็บน้ำผึ้งเดือนห้าของชาวทริป เราเริ่มจากการฟังบรรยายสั้นๆ จากพ่อหลวงกับพี่ทศ แล้วก็ออกเดินเท้ากันด้วยความครึกครื้น

เก็บน้ำผึ้ง เก็บน้ำผึ้ง

เก็บน้ำผึ้ง

เก็บน้ำผึ้ง

หลังจากทั้งข้ามห้วย ย่ำโคลน แล้วไต่ขึ้นไต่ลงตามทางพอให้ได้สนิทสนมกับป่ามากขึ้นอีกหน่อย เราก็มาหยุดที่ต้นไม้ใหญ่สูงระดับต้องแหงนคอ 90 องศาเพื่อมองยอดไม้อันเป็นที่ที่มีรังผึ้งหลวงอาศัยอยู่

พี่ขุนพล นักมวยประจำบ้านหินลาดในสวมอุปกรณ์กันผึ้งต่อยแบบ DIY ประกอบไปด้วยเสื้อหลายๆ ชั้น หน้ากากที่ทำจากมุ้งลวด แล้วก็ถุงมือยาง อาศัยความเชี่ยวชาญปีนขึ้นไปที่ยอดไม้ท่ามกลางความตื่นตาตื่นใจของพวกเรากองเชียร์เบื้องล่าง

พอพี่ขุนพลไปถึงรังผึ้ง กองเชียร์ก็เริ่มจะอยู่ไม่สุขเพราะมีผึ้งบินลงมาส่งเสียงหึ่งๆ บ้างก็มาเกาะที่โทรศัพท์ซึ่งกำลังใช้ถ่ายรูปอยู่ประหนึ่งว่ามาสำรวจวัตถุประสงค์การมาเยือนของพวกเรา พี่ทศบอกให้ทุกคนอยู่นิ่งๆ

“อยู่นิ่งๆ ครับ นิ่งๆ เดี๋ยวมันก็ไป” ทุกคนก็เชื่อฟังแต่โดยดี

แต่ยืนนิ่งๆ แทบกลั้นหายใจกันอยู่ไม่นานก็ได้ยินเสียงร้องโอ้ยออกมาจากหมู่พวกเรา หลังจากโอ้ยนั้นพี่ทศก็กลับคำทันที แล้วส่งสัญญาณว่า

“วิ่งเลยครับ วิ่งเลย”

แม้ว่าสมาชิกทริปเราจะมีนักวิ่งอยู่หลายท่าน ร่างกายก็ฟิตกันใช้ได้ แต่พอเจอคำสั่งที่ชวนให้ทำตัวไม่ถูกแบบนี้ การจะก้าวขาออกวิ่งแบบไม่ทันได้วอร์มมันก็เลยจะติดขัดหน่อยๆ จนพี่ทศตะโกนอีกทีว่า “ถ้าโดนต่อยต้องวิ่งหนี” โอเค เคลียร์ ทีนี้แหละพวกเราถึงออกวิ่งกันอย่างกระเจิดกระเจิงเพราะไม่รู้ทาง และผึ้งหลวงก็ชวนพวกให้บินตามเรามากันอย่างกับเครื่องบินรบ

รังผึ้ง รังผึ้ง

หลังจากสะบักสะบอมกันพอสนุกสนานเหมือนโดนรับน้องจากผืนป่า พวกเราก็หอบร่างอาบเหงื่อกลับมาที่หมู่บ้านเพื่อทานอาหารกลางวันจากฝีมือชาวบ้าน ประกอบกับเรื่องเล่าการวิ่งหนีผึ้งของแต่ละคน พอท้องอิ่มแรงเริ่มกลับมา เราก็ออกเดินกันอีกครั้งไปดูรังของผึ้งโพรง

ผึ้งโพรง ผู้เอาจริงเอาจัง

ผึ้งโพรงเป็นผู้ที่อยู่ในรังที่อยู่ตามโขดหินไม่ก็อยู่ในกล่องที่คนสร้างให้ ลักษณะเป็นกล่องไม้ทรงสูงมีทางเข้าเป็นรูกลมๆ ด้านหน้า ในกล่องและตรงประตูรูทางเข้าจะมีการทาขี้ผึ้งเอาไว้เป็นตัวล่อให้ผึ้งโพรงเข้ามาทำรัง พอถึงรังผึ้งโพรงรังแรก กองเชียร์ผู้มีประสบการณ์อย่างพวกเราก็ร้อนๆ หนาวๆ ว่าจะต้องวิ่งหนีกองทัพผึ้งอีกไหม แต่พี่ทศก็ให้ความสบายใจว่า “ผึ้งโพรงไม่ต่อยหรอก…ถ้าไม่จำเป็น”

รังผึ้ง

รังผึ้งโพรงมีลักษณะเป็นรูปเป็นร่างมากกว่ารังผึ้งหลวงที่ค่อนข้างจะฟรีฟอร์มเพราะมีกล่องเป็นเหมือนแม่พิมพ์ครอบอยู่ การเอารังผึ้งออกจากกล่องชาวบ้านจะไม่ตัดออกมาทั้งหมด จะยังคงเหลือบางส่วนเอาไว้เพื่อให้ผึ้งยังคงทำรังต่อไปได้ เราไปเก็บผึ้งโพรงกัน 3 รัง พ่อหลวงที่เป็นคนนำพวกเราไปเก็บน้ำผึ้งจากผึ้งโพรงขู่แล้วขู่อีกว่ารังนี้ดุกว่ารังนั้น แต่จนแล้วจนรอดพวกเราก็รอดพ้นจากการโดนผึ้งรุมรอบบ่ายกันมาได้

เก็บน้ำผึ้ง รังผึ้ง

การเก็บรังผึ้งโพรงไม่ค่อยวุ่นวายมากและเก็บกันหลายกล่อง เราเลยได้พินิจพิเคราะห์รังผึ้งกันมากหน่อย ที่เขาว่ากันว่ารังผึ้งเป็นสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบมากนั้นไม่ผิดเลย เราว่ามันสวยทั้งรูปร่างและครบถ้วนในฟังก์ชันการใช้งาน เป็นทั้งที่ฟักตัว ที่อยู่ แล้วก็ที่เก็บอาหาร ในห้องเดียวกัน

รังผึ้ง รังผึ้ง รังผึ้ง

แต่ก็ไม่ใช่ผึ้งทุกตัวจะได้อยู่ในรังเสมอไป รังผึ้งโพรงรังหนึ่งที่พวกเราเจอมีผึ้งตัวผู้ที่โดนอัปเปหิออกมาอยู่นอกกล่อง พี่ทศเล่าว่าผู้ตัวผู้เหล่านี้ผสมพันธุ์เรียบร้อยแล้ว เลยไม่ได้รับอนุญาตให้กลับเข้าไปอยู่ในรังอีก โถ… เราน่าจะแนะนำให้ผึ้งตัวผู้เหล่านั้นรู้จักกับเพจพ่อบ้านใจกล้าเนอะว่าไหม

ผึ้งชันโรงไม่ร้าย แต่กวน

บ่ายแก่ๆ พวกเราก็ไปรู้จักกับผึ้งชันโรง ผู้ซึ่งสร้างรังอยู่ในกล่องที่คนสร้างให้เหมือนกัน ผิดแค่รังที่ว่าเป็นรังที่ปิดตาย เข้าออกไม่ได้ พอมีผึ้งเข้าไปทำรังแล้วชาวบ้านเลยสามารถเอากล่องผึ้งชันโรงมาไว้ใกล้ๆ บ้านได้ เราเลยไม่ต้องเดินกันไกลนัก

รังผึ้ง รังผึ้ง

ก่อนจะกล้าตีวงล้อมเข้าไปดูกันใกล้ๆ พวกเราก็ยังต้องหันรีหันขวางถามผู้รู้ว่าเราจะต้องเตรียมวิ่งอีกไหม หรือยังไง พี่ทศก็บอกว่า “ผึ้งชันโรงไม่มีเหล็กในครับ ไม่ต้องห่วงเลย” แต่พอจะเริ่มเปิดรัง พี่วง เจ้าของรังผึ้งชันโรงที่มาช่วยเปิดรังผึ้ง ก็เอาหมวกตาข่ายใบเก่งของเขาขึ้นมาใส่ด้วย

อ้าว ไหนพี่ว่าไม่ต้องห่วงไง… กองเชียร์อย่างเราได้แต่มองหน้ากันตาปริบๆ

เก็บน้ำผึ้ง

ผึ้งชันโรงไม่มีเหล็กในก็จริงแต่เป็นผึ้งตัวเล็กๆ ที่ก่อกวนได้น่ากลัวมาก เพราะมันจะมาเกาะอยู่ตามเส้นผม พร้อมพาชันหรือยางไม้เหนียวๆ มาติดเส้นผมเราด้วย กว่าจะดูการเก็บน้ำผึ้งจากรังผึ้งชันโรงเสร็จ พวกเราหลายคนก็มีผึ้งชันโรงกับยางไม้ติดอยู่ตามเส้นผมและเสื้อผ้ากันเต็มไปหมด

น้ำผึ้งของผึ้งชันโรงมีคุณสมบัติเป็นยา สีสันของน้ำผึ้งชันโรงไม่ได้เป็นสีเหลืองทองอย่างน้ำผึ้งอื่นทั่วไป ออกจะสีเข้มๆ แสดงลักษณะของยาได้ดี น้ำผึ้งพิเศษแบบนี้มีน้อยและราคาสูงมาก

เราจะรู้อะไรได้บ้างจากน้ำผึ้งหยดเดียว

เก็บน้ำผึ้ง

ที่รอบกองไฟในคืนสุดท้ายของทริป จัมพ์-ณัฐดนัย ตระการศุภกร ชาวปกาเกอะญอรุ่นใหม่ หัวหน้าทีมผู้รวบรวมชาวบ้านให้เปิดรับและให้ความรู้กับคนเมืองอย่างพวกเรา ก็เอาน้ำผึ้ง 9 ขวดมาตั้งตรงหน้า แล้วแจกไม้ให้เราคนละอันพร้อมแก้วน้ำล้างไม้เพื่อทำการ Honey Tasting

เก็บน้ำผึ้ง

น้ำผึ้ง

“ขวดนี้เป็นน้ำผึ้งหลวงจากเชียงดาว ปี 2557” จัมพ์ขานที่มาและปี พ.ศ. ของน้ำผึ้งแต่ละขวด ก่อนจะให้พวกเราเอาไม้จุ่มมาลองชิมกันคนละหยด พอพิจารณาโดยละเอียดแล้ว ไม่ใครก็ใครก็ต้องพบว่าน้ำผึ้งมันซับซ้อนกว่าที่คิด รสชาติที่แตะลิ้นครั้งแรกอาจเปลี่ยนได้ถ้าเราอมเอาไว้สักพักก่อนจะกลืน และมันก็อาจจะทิ้งรสชาติแปลกๆ เอาไว้อีกต่างหาก

รสชาติที่เคยคิดว่าจะมีแต่ความหวานก็ไม่จริงไปซะทั้งหมด เพราะบางขวดก็เปรี้ยวนำจนนึกว่าเป็นน้ำสตรอว์เบอร์รี่เลยทีเดียว บางขวดก็สีเข้มจนเกือบจะดำและมีรสขม ดูไม่เหมือนน้ำผึ้งที่เคยรู้จักมาทั้งชีวิตเลยแหละ

จัมพ์อธิบายให้ฟังว่าการที่น้ำผึ้งมีสีและรสชาติแตกต่างกันไปตามปี ที่มาก็เป็นเพราะว่าผึ้งทำน้ำผึ้งจากเกสรของดอกไม้ที่มันได้มา ถ้าบริเวณป่านั้นมีความหลากหลาย รสชาติที่ได้ก็จะมีความซับซ้อนน่าสนใจ ปีไหนน้ำน้อย ก็เป็นไปได้ว่าน้ำผึ้งจะมีความข้นและหนืด น้ำผึ้งบางขวดที่ไม่ได้มีสีทองแบบพิมพ์นิยมทั่วไปก็อาจจะเป็นเพราะปีนั้นมีพืชพันธุ์ที่ให้สีและรสเหมือนยาแบบนี้ก็เป็นได้

ความซับซ้อนของน้ำผึ้งมันทำให้น้ำผึ้งดูมีเสน่ห์มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม แต่ข่าวร้ายคือความหลากหลายของมันทำให้บอกได้ยากมากว่าน้ำผึ้งป่าแท้ๆ กับน้ำผึ้งปลอมมันตัดสินกันที่ตรงไหน

คืนรัง

กิจกรรมส่งท้ายคือเรียนรู้เรื่องการสร้างรังผึ้งโพรงเพื่อให้ผึ้งได้มาทำรัง รังผึ้งโพรงประกอบจากเศษไม้มาต่อกันเป็นกล่อง พร้อมทำฝาปิดที่ต้องปิดสนิทกันไม่ให้ศัตรูของผึ้งหรือแมลงอื่นๆ เข้าไปแย่งรัง ด้านหนึ่งของฝากล่องเจาะรู้ที่ไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป เพื่อให้ผึ้งใช้เป็นทางเข้าออกรัง หากใหญ่เกินไปอาจจะมีด้วง หรือแมลงสาบเข้าไปอยู่แทน

ขี้ผึ้ง รังผึ้งโพรง ขี้ผึ้ง

พี่วงเอากระทะเหล็กตั้งบนกองขี้เถ้าอุ่นๆ เพื่อละลายขี้ผึ้ง แล้วนำขี้ผึ้งที่ละลายทาลงบนฝากล่องเป็นเส้นๆ แนวยาวๆ ขนานกันหลายเส้น และทาภายในตัวกล่องเพื่อล่อให้ผึ้งเข้ามาทำรัง ผึ้งจะทำรังตามแนวที่เราป้ายขี้ผึ้งนำร่องเอาไว้ ก่อนที่จะเอาขี้ผึ้งมาทารอบๆ รูด้วย

ผึ้งเป็นสัตว์ที่รักสะอาด และต้องสำรวจแหล่งที่อยู่ของมันอย่างละเอียดก่อนจะทำรัง หากกล่องอับชื้นหรือสกปรกผึ้งก็จะไม่เข้าไปอาศัย วิธีการของชาวบ้านคือเอาขี้ผึ้งมาปั้นหุ้มเชือกให้เป็นเทียน จุดไปแล้วยัดใส่เข้าไปในรู เป็นการไล่ทั้งกลิ่น อากาศ และความชื้น เพื่อให้ผึ้งรู้สึกว่ากล่องนี้ปลอดภัยและสะอาดพร้อมที่จะทำรังแล้ว

น้ำผึ้ง น้ำผึ้ง

น้ำผึ้งป่าไม่ได้ผลิตจากโรงงาน แต่เป็นการสร้างสรรค์จากธรรมชาติ น้ำผึ้งก็เลยเป็นอาหารที่บอกเล่าเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมได้ดีมากเลยนะ คิดดูสิว่ากว่าจะมาเป็นน้ำผึ้งหนึ่งหยด ผึ้งเก็บเรื่องราวจากป่ามากับเกสรเล็กๆ นั้นมากแค่ไหน ถ้ามีกล้องวิเศษส่องลงไปดูได้ น้ำผึ้งแต่ละหยดคงมีเรื่องราวน่าสนใจที่จะเล่าให้เราฟังเยอะเลย

อย่างหยดน้ำผึ้งจากป่าหินลาดใน เดือนห้า ปีสองห้าหกหนึ่ง ก็คงจะมีเรื่องเล่าว่ามีกลุ่มคนจากเมืองหลวงมาเยือนพื้นที่แห่งนี้ พวกเขาได้แลกเปลี่ยนมิตรภาพกันท่ามกลางป่าเขา สายน้ำใสๆ อาหารอร่อยๆ เสียงเด็กเล่นกันและหมาเจ้าถิ่นที่มาคอยคุ้มภัย มันเป็นมิตรภาพที่หอมหวานปานน้ำผึ้งเดือนห้าเลยทีเดียว

ไว้ไปเที่ยวด้วยกันอีกนะ

หมู่บ้านหินลาดใน ห้องเรียนวิชาการเก็บน้ำผึ้งเดือนห้า ณ โรงเรียนกลางป่าที่ชื่อหมู่บ้านหินลาดใน เชียงราย

Writer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น

Photographer

Avatar

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2