The Cloud Journey ครั้งที่ 1 คือทริปที่ชวนผู้อ่านเที่ยวกรุงศรีอยุธยาแบบไม่เหมือนใครผ่านตัวละครจาก บุพเพสันนิวาส จัดโดย The Cloud และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคกลาง สนับสนุนโดยน้ำแร่มิเนเร่ ที่มีแหล่งน้ำอยู่ใต้พื้นดินของอยุธยา มีวิทยากรคือ จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา มัคคุเทศก์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม

ทริปนี้จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา แต่แฟนพี่หมื่นและแม่หญิงการะเกดที่พลาดมาร่วมเดินทางไม่ต้องเสียใจ เราบันทึกข้อมูลสนุกและน่าสนใจจากทริปไว้ให้ออเจ้าตามรอยกันเองได้เลย

The Cloud Journey

01

หมู่บ้านญี่ปุ่นและหมู่บ้านโปรตุเกส

เยี่ยมบ้านต้นตระกูลมารี กีมาร์ และเรียนรู้ประวัติการค้าสมัยอยุธยาที่ฟอลคอนเชี่ยวชาญ  

อยุธยา อยุธยา อยุธยา อยุธยา มารี กีมาร์ มารี กีมาร์

หมู่บ้านญี่ปุ่นและหมู่บ้านโปรตุเกสที่อยู่ตรงข้ามกันคนละฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้ คือถิ่นที่อยู่ของพ่อและแม่ของมารี กีมาร์ หรือแม่มะลิ พ่อของมารีเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น โปรตุเกส และเบงกอล ส่วนแม่เป็นญี่ปุ่นและโปรตุเกส ทั้งสองคนเป็นชาวคริสต์ที่ต้องลี้ภัยจากบ้านเกิดจากความขัดแย้งเรื่องศาสนามาอยู่ที่หมู่บ้าน 2 แห่งนี้

ภายในหมู่บ้านญี่ปุ่นมีภาพแผนที่แสดงเส้นทางการเดินทางของชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขาย และสร้างประโยชน์จนได้รับพระราชทานที่ดินเพื่อตั้งชุมชนในอยุธยา ซึ่งมีมากมายจนนับได้ว่าสยามในยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเป็นสังคมนานาชาติ โดยชุมชนแต่ละแห่งตั้งอยู่นอกเขตใจกลางเมือง เพราะเกิดเหตุการณ์ทหารอาสาต่างชาติบางกลุ่มก่อกบฏ พระเจ้าแผ่นดินเลยไล่ให้ชาวต่างชาติออกมาอยู่ด้านนอก ซึ่งการสร้างเมืองยุคต่อมาคือกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ก็ใช้ผังแบบเดียวกัน

มารี กีมาร์ เติบโตบนแผ่นดินไทย ก่อนจะสมรสกับออกญาวิชาเยนทร์ หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน ขุนนางต่างชาติชาวกรีกที่สร้างความดีความชอบในราชสำนักจนได้ตำแหน่งดูแลการค้าขายกับชาติต่างๆ และช่วยให้ยุคสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มีการติดต่อค้าขายกับต่างแดน

สินค้าของอยุธยานั้นมีหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือหนังสัตว์ เหตุผลก็เพราะว่าแม้อยุธยาเป็นเมืองท่าที่ไม่ได้อยู่ติดทะเล ตั้งอยู่ลึกเข้ามาในแผ่นดิน แต่ตำแหน่งที่ตั้งก็ทำให้คุม 3 ลำน้ำได้ เพราะอยุธยาล้อมรอบด้วยลำน้ำ 3 สายคือ เจ้าพระยา ป่าสัก และลพบุรี ต่างชาติที่เข้ามาซื้อของป่าซึ่งมีเยอะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปทำกำไร จึงเลือกซื้อสินค้าผ่านอยุธยาเพราะจะได้ไม่ต้องเดินเรือไปเอง ส่วนญี่ปุ่นซึ่งเป็นบ้านเกิดของพ่อแม่มารีนั้นอยู่ในฐานะพ่อค้าคนกลาง รับซื้อของป่าจากอยุธยาแล้วนำไปขายต่อ เรือสินค้าที่เดินทางมาจากญี่ปุ่นต้องมีคนไม่ต่ำกว่าร้อยคนต่อลำ การค้าระหว่างญี่ปุ่นกับอยุธยาเฟื่องฟูมากที่สุดในสมัยโชกุนโตกุกาวา อิเอยาสึ โชกุนที่ปรากฏตัวในการ์ตูนเรื่อง อิกคิวซัง นั่นเอง

ที่หมู่บ้านญี่ปุ่นยังมีแผ่นโลหะรูปเรือหลากหลายชนิดเพื่อเล่าเรื่องเรือสินค้าสมัยอยุธยา คำว่า ‘สำเภา’  นั้นใช้เรียกเรือที่แล่นในฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยและทะเลจีน ท้องทะเลบริเวณนี้ไม่ลึกมาก สำเภาจึงมีท้องเรือกว้าง ส่วน ‘สลุป’ คือเรือที่วิ่งในทะเลอันดามัน มีท้องแหลมเป็นตัววีเพราะท้องทะเลส่วนนี้ลึก และ ‘กำปั่น’ คือเรือที่มาจากเมืองฝรั่ง ลักษณะเป็นเรือไม้ผสมเหล็ก

ส่วนท้ายหมู่บ้านเกือบติดริมแม่น้ำ มีนิทรรศการเล่าเรื่องมารี กีมาร์ ภายหลังการผลัดแผ่นดินที่ออกญาวิชาเยนทร์ต้องโทษจนเสียชีวิต มาดามฟอลคอนก็ถูกขังกว่า 2 ปี ก่อนที่ในบั้นปลายจะได้รับหน้าที่เป็นวิเสทหลวงหรือผู้ดูแลการครัวหลังจากรัชสมัยของพระเพทราชา (คำว่าท้าวทองกีบม้าที่เราคุ้นเคยนั้นเป็นชื่อตำแหน่งนี้) ชาวสยามสมัยนั้นไม่บริโภคไข่ไก่ นม เนย เพราะรู้สึกว่ามีคาว ส่วนน้ำตาลนั้นรู้จักแค่น้ำตาลโตนดกับน้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลจากอ้อยเริ่มมาจากจีนและญี่ปุ่น ส่วนขนมที่มารีประยุกต์ขึ้นจากขนมโปรตุเกสนั้น สมัยอยุธยาเรียกทองหยิบว่า ทองกีบม้า และการจับจีบสมัยก่อนทำแค่ 3 จีบ ส่วนฝอยทองเรียกว่า ทองพยศ และขนมหม้อแกงเรียกกันว่า กุมภมาศ

เวลาทำการ | เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08.00 – 20.00 น.
02

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

เห็นความรุ่งเรืองของอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ยุคที่ฝรั่งเข้ามาทำการค้า

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

นอกจากเป็นโลเคชันถ่ายทำฉากห้องเรียนของเกศสุรางค์และเรืองฤทธิ์แล้ว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ยังเป็นที่รวมของชั้นเลิศของอยุธยาซึ่งสะท้อนความรุ่งเรืองในหลายยุคสมัย รวมถึงรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์

เมื่อก้าวเข้าด้านในจะพบเศียรพระพุทธรูปยุคอู่ทองตอนต้นตั้งตระหง่าน การที่ช่างสมัยนั้นสร้างเศียรพระพุทธรูปใหญ่ขนาดนี้ได้ สะท้อนว่านอกจากเป็นศูนย์กลางการค้า อยุธยายังเป็นศูนย์รวมช่างฝีมือ วิธีสังเกตว่าพระพุทธรูปนี้เป็นศิลปะอยุธยาตอนต้นคือ พระพักตร์เคร่งขรึม มีโครงเหลี่ยมคล้ายศิลปะเขมร พราะเกศาเป็นเม็ดละเอียดเหมือนหนามขนุน

ขณะที่พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยจะต่างไป มีรัศมีเป็นรูปเปลวไฟเหนือพระเศียรซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของปัญญา รวมถึงมีพระเกศาขมวดเป็นรูปก้นหอย พระขนงโก่ง พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์แย้มเล็กน้อยคล้ายอมยิ้ม พระศอเป็นปล้อง พระอังสา (บ่า) ใหญ่ บั้นพระองค์ (เอว) เล็ก และประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานเตี้ย ในทางศิลปะบอกว่าพระพุทธรูปแบบนี้มีความงามในทางสรีระเพราะไม่มีเส้นตรงเลย แต่ในทางศิลปะอีกเช่นกันที่บอกว่าพระสุโขทัยงามเฉพาะหน้าตรงเท่านั้น ด้านข้างไม่งาม แต่พระอยุธยานั้นงามทั้งสามด้านคือซ้าย กลาง และขวา

นอกจากพระพุทธรูปอันงดงาม โบราณวัตถุอีกชิ้นที่ไม่ควรพลาดคือ โขนเรือรูปครุฑ เพราะนี่คือหนึ่งในโขนเรือเก่าแก่ที่สร้างสรรค์โดยช่างฝีมือเยี่ยมซึ่งยังหลงเหลือมาถึงยุคปัจจุบัน ในยุคสมัยนั้นกระบวนเรือพระราชพิธียิ่งใหญ่อลังการมาก ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มีฝรั่งบันทึกไว้ว่ามีเรือไม่ต่ำกว่า 300 ลำ และมีฝีพายไม่ต่ำกว่า 20,000 คนเลยทีเดียว

เวลาทำการ | เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 09.00 – 16.00 น.
ค่าเข้าชม | ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างประเทศ 150 บาท
*หมายเหตุ สำหรับกรณีเข้าชมเป็นหมู่คณะ กรุณาทำหนังสือติดต่อเข้ามาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เพื่อขอละเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชม เป็นเวลาล่วงหน้าก่อน 3 วันทำการ โดยส่งมาตามที่อยู่ โทรสาร หรือที่อีเมล [email protected]
03

เรือนไทยในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

ไปดูว่านายและบ่าวอย่างพี่ผิน พี่แย้ม อยู่อย่างไรในเรือน และชมเครื่องกรองน้ำแม่หญิงการะเกด

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เครื่องกรองน้ำ เครื่องกรองน้ำ ชุดไทย

ชีวิตของตัวละครในเรื่อง บุพเพสันนิวาส เชื่อมโยงอยู่กับเรือนไทย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ของบ้านเรา จุดเด่นของเรือนไทยคือหลังคาจั่วตั้ง ด้านข้างลาดลงเล็กน้อย เพราะอยุธยาเป็นเมืองฝนตกชุก จั่วทรงนี้จึงช่วยชะลอน้ำฝนในยามฝนตกหนัก ทำให้น้ำฝนไม่ไหลแรงลงตัวบ้าน ไม่ไหลทิ้ง รองเก็บไว้กินได้ และความสูงของหลังคาทรงนี้ยังทำให้อากาศถ่ายเทได้ดีด้วย ส่วนตัวบ้านล้มผนังลงนิดเกิดลักษณะการยึดโยง ใต้ถุนสูง พื้นกระดานปูไม่ติดกัน เพื่อให้ลมถ่ายเท อากาศปลอดโปร่งเย็นสบาย

เรือนไทยนี้เป็นแบบเดียวกับเรือนของออกญาโหราธิบดีในละครที่เรียกว่า เรือนเครื่องสับ หรือเรือนที่มีลักษณะคุมเข้าด้วยกันด้วยวิธีเข้าไม้โดยใช้สลักลิ่มและเดือย ตัวเรือนมีลักษณะอยู่รวมกันเป็นหมู่เรือน ตรงกลางคือหอนั่ง แยกจากหอนั่งคือห้องนอนของสมาชิกในครอบครัว เหมือนที่พี่หมื่นฯ และแม่การะเกดมีห้องของตัวเองเรียกว่า หอนอน ส่วนเรือนครัวกับเว็จ (ส้วม) ปกติจะแยกออกไปไม่อยู่ในบ้าน ตัวห้องครัวจะทำฝาเป็นไม้ไผ่เพื่อให้ลมผ่านได้ เรียกว่า ฝาสำหรวด เรือนบ่าวหรือที่พักทาสอย่างจ้อยก็แยกไปอยู่ด้านล่างเช่นกัน ยกเว้นพี่ผิน พี่แย้ม ที่ในละครนั้นอยู่ในฐานะบ่าวพี่เลี้ยงของแม่หญิงการะเกด จึงได้นอนอยู่หน้าหอนอน

บริเวณด้านบนของหน้าต่างและตามชายคาเรือนไทยนี้มีตัวอย่างเครื่องแขวนดอกไม้สดแขวนอยู่ เหมือนที่เห็นได้ในเรือนของออกญาโหราธิบดี โดยในสมัยอยุธยาจะใช้ดอกไม้สดมากรอง เพราะถือเป็นน้ำหอมปรับอากาศชั้นดีรวมถึงเป็นการอวดฝีมือการทำเครื่องแขวนอีกด้วย

ภายในเรือนมียกพื้นหลายระดับ ตรงส่วนชานบ้านจะเป็นที่นั่งของบ่าวอย่างพี่ผิน พี่แย้ม ส่วนคนเป็นนายจะนั่งสูงขึ้นไปและนั่งบนตั่ง เหตุผลของการทำธรณีประตูให้สูงก็เพื่อป้องกันสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์มีพิษเข้าบ้านเมื่อฝนตกชุก         

บนเรือนนี้ยังมีเครื่องกรองน้ำซึ่งเป็นเรื่องที่คนพูดถึงกันทั่วโลกโซเชียล เครื่องกรองน้ำที่นี่เป็นเครื่องโบราณทำจากหินทรายของจริง วิธีการกรองก็ไม่ต่างจากที่แม่หญิงการะเกดเคยสาธิต นั่นคือใส่นุ่น ถ่าน ทรายละเอียด ทรายหยาบ กรวดเล็ก และกรวดใหญ่ลงในเครื่อง (ลำดับนี้เรียงตามชั้นล่างสุดถึงชั้นบนสุด)  นุ่น ทราย และกรวด จะทำให้น้ำที่ตักมาใส่สะอาดมากขึ้นจนดื่มได้ ส่วนถ่านช่วยดับกลิ่นไม่พึงประสงค์ แต่ถ้าคิดว่าการประดิษฐ์เครื่องกรองน้ำดูยุ่งยากไป แนะนำให้ดื่มน้ำแร่ธรรมชาติ 100% ตรามิเนเร่ จากแหล่งน้ำใต้พื้นดินเมืองอโยธยา ที่สะอาดมีประโยชน์ และมีแบบฝา Active Cap ที่เปิดได้ 180 องศา รวมถึงปิดสนิทไม่หก

เวลาทำการ | เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 09.00 – 16.00 น.
ค่าเข้าชม | ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างประเทศ 150 บาท
*หมายเหตุ สำหรับกรณีเข้าชมเป็นหมู่คณะ กรุณาทำหนังสือติดต่อเข้ามาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เพื่อขอละเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชม เป็นเวลาล่วงหน้าก่อน 3 วันทำการ โดยส่งมาตามที่อยู่ โทรสาร หรือที่อีเมล [email protected]
04

สุสานเจ้าพระยาบวรราชนายก-เฉกอะหมัด

คารวะท่านตาของหลวงศรียศ

สุสานเจ้าพระยาบวรราชนายก-เฉกอะหมัด สุสานเจ้าพระยาบวรราชนายก-เฉกอะหมัด สุสานเจ้าพระยาบวรราชนายก-เฉกอะหมัด น้ำดื่ม

หลวงศรียศ ตัวละครมุสลิมในละครมีประวัติน่าสนใจทีเดียว เขาเป็นจุฬาราชมนตรี หรือผู้นำศาสนาอิสลามคนที่ 2 ของราชอาณาจักรสยาม โดยปฐมจุฬาราชมนตรีคือเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) คุณตาของเขานั่นเอง

ร่อยรอยของตระกูลนี้อยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏอยุธยา สุสานเจ้าพระยาบวรราชนายกตั้งเด่นเป็นสง่าในสถานศึกษา เฉกอะหมัดเป็นชีก (Sheikh) ผู้นำของกลุ่มคนที่เร่ร่อนไปในทะเลทราย ที่เดินทางนำสินค้าจากเปอร์เซียเข้ามาขายในราชสำนักอโยธยา ทำงานจนได้รับหน้าที่เป็นล่ามให้หมู่พ่อค้าแขกต่างชาติ ช่วงแรกที่เฉกอะหมัดเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักร ท่านมีบทบาทสำคัญในการช่วยพระเจ้าทรงธรรมปราบกบฏญี่ปุ่น เลยตั้งถิ่นฐานบริเวณตะเกี่ย อยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะเมือง มีคนอยู่ประมาณเกือบ 3,000 ครัวเรือน

เฉกอะหมัดเป็นหัวหน้าชาวมุสลิม กลุ่มคนเหล่านี้ส่วนใหญ่นับถือนิกายชีอะห์ ต่อมาในสมัยพระเจ้าทรงธรรม พระยาเพ็ชร์พิไชย ลูกหลานในตระกูลของเฉกอะหมัดเปลี่ยนศาสนาเป็นพุทธเมื่อตามเสด็จพระเจ้าอยู่หัวไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่สระบุรี ตระกูลนี้จึงแบ่งเป็นสายนับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม โดยรับราชการในตำแหน่งสำคัญๆ สืบเนื่องมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์

ปัจจุบันตระกูลที่สืบทอดมาจากเฉกอะหมัดและหลวงศรียศ คือตระกูลบุนนาคนั่นเอง

05

วัดบรมพุทธารามและป่าดินสอ

เยี่ยมบ้านเก่าของพระเพทราชา และตลาดที่แม่การะเกดซื้อดินสอ

วัดบรมพุทธารามและป่าดินสอ วัดบรมพุทธารามและป่าดินสอ วัดบรมพุทธารามและป่าดินสอ ชุดไทย อยุธยา

ถัดจากสุสานเจ้าพระยาบวรราชนายกไปนิดเดียวจะพบวัดบรมพุทธาราม เดิมเป็นที่ตั้งนิวาสถานของพระเพทราชา 

วัดโบราณนี้มีชื่อเล่นว่าวัดกระเบื้องเคลือบ เพราะแทนที่จะมุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา ที่นี่มุงหลังคาพระอุโบสถด้วยกระเบื้องเคลือบ แม้ปัจจุบันร่องรอยจะหายไปเกือบหมดแล้ว แต่เราก็ยังเห็นสถาปัตยกรรมสวยงามอ่อนช้อยของยุคที่ศิลปะอยุธยารุ่งเรืองเกือบถึงขีดสุด ไม่ว่าจะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ยอดทรงปรางค์เหมือนฝักข้าวโพดแบบศิลปะเขมร มีซุ้มจรนำสวยงามสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป และซุ้มประตูที่ยังเหลือร่องรอยปูนปั้นอันประณีตบรรจง ซึ่งเหลือเพียงไม่กี่แห่งในเมืองไทยเท่านั้น

วัดบรมพุทธารามและป่าดินสอ

ข้างวัดมีสะพานที่เรียกว่าสะพานข้ามคลองฉะไกรน้อย เป็นศิลปกรรมเปอร์เซีย สังเกตบริเวณโค้งใต้สะพานที่ทำเป็นแบบอินโด-อิหร่าน คือเป็นซุ้มกลีบบัว บริเวณหน้าสะพานคือป่าดินสอ หรือตลาดที่แม่การะเกดมาซื้อดินสอหินเขียนกระดานชนวนนั่นเอง ตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยปรับพื้นที่ให้กลายเป็นตลาดเล็กๆ ในตอนเย็น ใครผ่านมาตามรอยแม่การะเกดที่นี่ก็จะได้ช้อปปิ้งหน้าวัดโบราณแสนร่มรื่นแบบเดียวกับแม่หญิงคนงาม

06

วัดสุวรรณดาราราม

ชมจิตรกรรมฝาผนังที่เฉลยเรื่องที่เราไม่เคยรู้ของโกษาเหล็ก โกษาปาน และพบเหตุผลว่าทำไมจ้อยชอบตีไก่

วัดสุวรรณดาราราม วัดสุวรรณดาราราม วัดสุวรรณดาราราม วัดสุวรรณดาราราม

ชื่อวัดที่ไพเราะเพราะพริ้งคล้ายกับวัดหนึ่งย่านบางกอกน้อย คือวัดสุวรรณดาราราม นิวาสสถานเดิมพระราชบิดาของรัชกาลที่ 1 ท่านชื่อว่าท่านทองดี แม่ท่านชื่อดาวเรือง เมื่อนำมาผนวกกันจึงเป็นชื่อสุวรรณดาราราม เป็นวัดที่พระเจ้าแผ่นดินในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์บูรณะอย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่ไม่น่าพลาดคือจิตรกรรมในพระวิหารเรื่องพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชซึ่งวาดในสมัยรัชกาลที่ 7 คนวาดคือจิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่มีชื่อเสียงมาจนถึงช่วงรัชกาลที่ 7 คือพระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ความเข้าใจเกี่ยวกับพระนเรศวรของเราส่วนใหญ่ก็มาจากที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตีไก่ชนกับนันทบุเรง หรือสงครามชนช้าง ซึ่งรายละเอียดถูกแต่งเติมในพงศาวดารชั้นหลัง

วัดสุวรรณดาราราม

ภาพตีไก่ชนแสดงให้เห็นกีฬาบันเทิงที่ชายสมัยโบราณนิยมชมชอบ เป็นมรดกตกทอดมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ และนี่คือเหตุผลที่บ่าวผู้รักความสนุกสนานอย่างจ้อยชอบอุ้มไก่ไปไหนมาไหน

ในภาพจิตรกรรมยังมีการกล่าวถึงเหตุการณ์ประกาศอิสรภาพของสมเด็จพระนเรศวรฯ ที่สืบเนื่องมาจากขุนนางมอญ 2 คนคือพระยาเกียรติและพระยารามได้รับคำสั่งให้มาลอบปลงพระชนม์พระนเรศวร แต่ทั้งคู่เป็นศิษย์อาจารย์เดียวกับพระนเรศวร จึงลอบนำข่าวมาบอกพระมหาเถรคันฉ่องผู้เป็นอาจารย์ เมื่อพระนเรศวรทรงทราบจึงทรงตัดสัมพันธไมตรีกับทางพม่าโดยการหลั่งทักษิโณทก

วัดสุวรรณดาราราม

พระยาเกียรติมีบุตรคนหนึ่งที่ต่อมาได้สมรสกับสนมในสมเด็จพระเอกาทศรถ มีธิดาชื่อท่านบัว ต่อมาท่านบัวได้เป็นพระนมดูแลสมเด็จพระนารายณ์ รู้จักกันในนาม ‘เจ้าแม่วัดดุสิต’ ท่านบัวมีลูกชายชื่อเหล็กและปาน ต่อมาลูกๆ ของท่านกลายเป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ดูแลพระคลังสินค้าให้สมเด็จพระนารายณ์ และ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีที่ประเทศฝรั่งเศส

คนส่วนใหญ่อาจไม่ทราบว่าโกษาปานเกี่ยวเนื่องกับราชวงศ์จักรีโดยตรง เนื่องจากรัชกาลที่ 1 (พระนามเดิมทองด้วง) มีพ่อชื่อทองดี มีปู่ชื่อทองคำ มีทวดชื่อขุนทอง และมีเทียดชื่อปาน ดังนั้น ราชทูตผู้เดินทางไปฝรั่งเศสคนนี้ก็คือต้นตระกูลของปฐมกษัตริย์แห่งรัตนโกสินทร์นั่นเอง

07

ชมวิถีชีวิตชาวอยุธยาที่ผูกพันกับน้ำ

ล่องเรือดูจุดที่เรือพี่หมื่นฯ และแม่หญิงการะเกดล่ม ชมวัดไชยฯ ที่เป็นจุดเริ่มต้นรักข้ามภพ

แม่น้ำ

เรือ

ลอดช่อง

คนอยุธยาเมื่อก่อนอยู่กับน้ำ จึงเหมาะอย่างยิ่งที่ช่วงบ่ายเราได้ล่องเรือเอี้ยมจุ๊นจำลองวิถีชาวน้ำแบบคนสมัยก่อน ในอดีตนั้นเรือเอี้ยมจุ๊นใช้บรรทุกข้าวและเกลือ แต่พอถึงยุคปัจจุบันสมัยของเกศสุรางค์และเรืองฤทธิ์ เรือเอี้ยมจุ๊นที่ความหมายแปลว่าเรือเกลือก็ถูกใช้เป็นเรือท่องเที่ยว เรือรับประทานอาหาร

พอได้ล่องเรือสมมติว่าตัวเองเป็นชาวกรุงเก่า จึงได้เรียนรู้ว่าเวลาคนสมัยก่อนพายเรือไปไหนมาไหนนั้นดูอย่างไรว่าตรงไหนเป็นบ้านคน ตรงไหนเป็นศาสนสถาน ตรงไหนเป็นวังเจ้า

เฉลยให้ออเจ้าร้องอ๋อว่า ดูสิ่งที่โผล่พ้นยอดไม้

ศาสนสถานจะมียอดเจดีย์ ถ้าต้องการให้มองเห็นได้แต่ไกลก็ปิดทอง ประดับกระจก จนสะท้อนแสงและเห็นจากที่ไกลๆ ได้

คนโบราณเชื่อว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นเทวดาอวตารมายังโลกมนุษย์เพื่อทำหน้าที่ เมื่อเชื่อว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นสมมติเทพ ที่ประทับของพระองค์จึงต้องมี ‘มหาปราสาท’ อย่างเทวดาบนสวรรค์

ในรัชสมัยพระนารายณ์ก็มีพระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท สถานที่ประกอบพิธีสำคัญของราชสำนักและที่รับแขกบ้านแขกเมืองของพระมหากษัตริย์ เห็นได้จากฉากที่เชอวาลิเยร์ เดอ โชมองต์ ผู้แทนพระองค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เข้าเฝ้าและถวายพระราชสาส์นแด่สมเด็จพระนารายณ์

ส่วนบ้านคนที่ไม่มียอดปรางค์ ยอดมหาปราสาท ก็ให้ดูต้นไม้ที่มีความสูงเป็นพิเศษอย่างต้นตาล ต้นมะพร้าว ต้นหมาก ใน 3 อย่างนี้มะพร้าวนำมาใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่เกิดยันตาย จึงอยู่ใกล้เรือนที่สุด

แม่น้ำ ป้อมเพชร

เรือเอี้ยมจุ๊นแล่นผ่านป้อมเพชร ป้อมที่มีความสำคัญมากที่สุดในเชิงยุทธศาสตร์ เมื่อก่อนมีป้อมเรียงรายออกมาเป็นปีกกา แต่ทุกวันนี้เหลือเพียงบางส่วนเท่านั้น ตลาดประตูจีนในละคร บุพเพสันนิวาส ก็คือบริเวณหน้าป้อมเพชรนี้

ป้อมเพชรตั้งอยู่ตรงจุดที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลมาบรรจบกับแม่น้ำป่าสักพอดี จึงมีวังน้ำวนขนาดใหญ่และมักมีเรือถูกดูดลงไป ตำบลฝั่งตรงข้ามจึงได้ชื่อว่า ‘สำเภาล่ม’ เรือของพี่หมื่นฯ และการะเกดเองก็เคยเผลอผ่านเข้ามาในเขตน้ำวนจนพลาดท่าตกน้ำ กลายเป็นฉากเมาท์ทูเมาท์ที่ลือกระฉ่อนไปทั่วอยุธยา

จากนั้นก็มาถึงจุดสุดท้ายที่น่าสนใจคือ วัดไชยวัฒนารามอันงดงาม

อยุธยา

อยุธยา

“บ้านเราอยู่ใกล้ๆ วัดไชยหรือคะเนี่ย” ถ้ายังจำกันได้ คงรู้ว่าแม่หญิงการะเกดนั้นตื่นเต้นนักหนาที่เรือนออกญาโหราธิบดีนั้นอยู่ละแวกวัดไชยวัฒนาราม อันเป็นจุดเริ่มต้นของการข้ามภพ

แล้วทำไมการะเกดต้องตื่นเต้นขนาดนี้? …ก็เพราะวัดไชยวัฒนารามตั้งอยู่บริเวณโค้งน้ำอันโดดเด่น มีผังที่จำลองมาจากรูปแบบของจักรวาลคล้ายพระเมรุมาศที่เราเคยเห็นกัน และยังมีความสำคัญในฐานะเป็นนิวาสสถานเดิมของพระเจ้าปราสาททอง 

ความงามของที่นี่ไม่ได้มีแค่พระปรางค์ประธานอย่างเดียว แต่มีอาคารทรงปราสาทยอดที่เรียกว่า เมรุทิศเมรุราย รายรอบระเบียงคดทั้งแปดทิศ ซึ่งหาดูที่ไหนในอยุธยาไม่ได้ มีเพียงที่ปราสาทนครธมในเมืองพระนครของกัมพูชาเท่านั้น โดยมีลักษณะต่างกันแค่ที่ปราสาทนครธมสร้างเป็นรูปพรหมพักตร์

เวลาทำการ | เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08.30 – 16.30 น.
ค่าเข้าชม | ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท (หรือสามารถซื้อบัตรรวมราคา ชาวไทย 60 บาท ชาวต่างประเทศ 180 บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมวัดและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ภายในระยะเวลา 30 วัน อันได้แก่วัดพระศรีสรรเพชญ์และพระราชวังหลวง วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม วัดไชยวัฒนาราม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม)
*หมายเหตุ ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30 – 21.00 น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน

เรื่องราวประวัติศาสตร์และวิถีของชาวอยุธยาผ่านหลากหลายตัวละครใน บุพเพสันนิวาส และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยระหว่างทางของ ‘The Cloud Journey : เมื่อคิดให้ดีโลกนี้ประหลาด…’ น่าจะช่วยให้ผู้ที่ตั้งใจไปตามรอยละครประวัติศาสตร์ บุพเพสันนิวาส ท่องเที่ยวได้อย่างมีอรรถรสมากขึ้น

เวลาเพียงวันเดียวอาจไม่เพียงพอให้เก็บเกี่ยวเรื่องราวทั้งหมดของประวัติศาสตร์อยุธยาที่ดำเนินมากว่า 417 ปีได้ แต่ก็ถือว่าเป็นเสี้ยวหนึ่ง ช่วงเวลาหนึ่ง ที่เราได้ฟังประวัติศาสตร์จากผู้รู้

ตลอดทริปเราถูกย้ำเสมอว่า ก่อนจะเชื่อเรื่องอะไรให้อ่านพงศาวดารหลายๆ ฉบับเปรียบเทียบกัน หากกล่าวตรงกันหลายฉบับแสดงว่าพอจะเชื่อถือได้ ข้อมูลบางอย่างที่เรารับรู้กันทุกวันนี้อาจมาจากแหล่งข้อมูลเดียว ซึ่งเขียนขึ้นเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง ออเจ้านักท่องเที่ยวที่มีใจรักในประวัติศาสตร์จึงพึงเปิดใจให้กว้าง อ่านและฟังข้อมูลจากหลายๆ ที่ (รวมข้อมูลของ The Cloud ไปด้วยนะ) และอย่าลืมติดน้ำแร่แก้กระหายกันไปด้วย ถ้าจะให้ดีต้องเป็นน้ำแร่ธรรมชาติ 100% ตรามิเนเร่นะ จากนั้นก็ออกเดินทางไปเที่ยวอยุธยากันเถอะ

Supported By

Writer

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแนวไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง เป็น introvert ที่ชอบงานสัมภาษณ์ รักหนังสือ ซื้อไวกว่าอ่าน เลือกเรียนปริญญาโทในสาขาที่รู้ว่าไม่มีงานรองรับคือมานุษยวิทยาอาหาร มีความสุขกับการละเลียดอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายเก่าและประวัติศาสตร์สังคม

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล