“แค่คิดก็มีความสุขแล้ว ความสุขไม่ใช่ตอนที่บ้านเสร็จ” คือคำบอกเล่าความรู้สึก ตั้งแต่บ้านยังไม่ได้สร้าง ของ พี่หมอ-รศ.นพ.คมกริช ฐานิสโร ผู้เติบโตจากแดนใต้ หลงเสน่ห์ของธรรมชาติและวัฒนธรรมเมืองเหนือ จนตัดสินใจมาปลูกบ้านที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
ก้าวแรกเกิดจากความสนใจในกสิกรรมธรรมชาติ การอยู่ การใช้พื้นที่ร่วมกับธรรมชาติ พึ่งพาตนเอง และแบ่งปันให้กับผู้อื่น สิ่งเหล่านั้นนำพี่หมอมาสู่ความตั้งใจอยากจะสร้างพื้นที่ศึกษาธรรมชาติในพื้นที่ขนาดกว่า 7 ไร่ที่มีพุ่มสีเขียวขนาดใหญ่ของป่าต้นฉำฉาเป็นแบ็กกราวนด์ให้บ้าน สร้างพื้นที่ให้ผู้คนได้ทิ้งเวลาและเฝ้าสังเกตธรรมชาติอย่างสงบนิ่ง ก่อนที่จะก้าวไปยังดอยอินทนนท์ซึ่งเป็นหมุดหมายยอดนิยมของนักเดินทาง
นี่เป็นเพียงการเติบโตก้าวแรกของที่ผืนนี้เท่านั้น
ก้าวแรก ก้าวเริ่มต้น
“ตั้งแต่ยังไม่ได้ซื้อที่ แค่มายืนดูก็เป็นกำไรตั้งแต่เราคิดแล้ว ความสุขมาตั้งแต่เรายังไม่เสียตังค์สักบาท” พี่หมอเล่าไปยิ้มไปกับไอเดียหลักของพื้นที่ผืนนี้ เขาอยากสร้างเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ตัวเองและเพื่อน ๆ น้อง ๆ หรือคนที่สนใจได้มาเรียนรู้ ซึมซับบรรยากาศของธรรมชาติไปด้วยกัน โดยในช่วงเฟสแรกเขาและครอบครัวจะมาทดลองอยู่ก่อน
ลำดับแรก เราเลยมองหาที่ตั้งบ้านกัน ซึ่งพี่หมอร่วมคิดกับทีมสถาปนิก Sher Maker โดยเห็นตรงกันว่าตำแหน่งบ้านที่ดีที่สุดควรเป็นหัวมุมที่โล่งที่สุด ติดกับถนนหน้าโครงการ ทั้งยังมองเห็นเพื่อนบ้าน และหลังบ้านก็จะได้มุมมองเปิดสู่แนวเขาดอยอินทนนท์ด้วย นั่นเลยเป็นที่มาว่า ทำไมบ้านจึงมีรูปร่างเป็นแท่งยาว ๆ ยื่นเข้าไปในป่า
เมื่อเดินเข้ามาในบ้าน สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนเลยคือ ‘ไหว้’ ต้องไหว้ก่อน เพราะพระพุทธรูปที่ตั้งอยู่ปากประตูทางเข้าบ้าน “เคารพบ้านคืออันดับแรก แต่อีกอย่าง เราเอาไว้ขู่โจรด้วย” พี่หมอบอก หลังจากนั้นก็พาเดินเข้ามาโถงทางเดินที่แจกเข้าไปแต่ละห้อง ให้ความรู้สึกคล้ายกับตอนเดินเข้าไปหาห้องพักในโรงแรม
“โจทย์เราคือทำแปลนให้เหมือนโรงแรมเลย พี่ไม่มีของทิ้งไว้เลยนะ มีแค่หนังสือ ใครมาก็ได้ เพื่อนมา แม่มา เราไม่ได้อยู่ตลอด เลยอยากให้ใช้ประโยชน์ได้เยอะ ๆ” พี่หมออธิบายเสริมถึงความเรียบง่ายของการจัดแปลนบ้านให้สะดวกต่อการดูแลรักษาและการใช้งานพื้นที่ในแต่ละห้อง
“อยากเน้นธรรมชาติที่เรามีอยู่”
หลังลงจากรถ ทันทีที่เท้าสัมผัสพื้น จะเห็นว่าพื้นปกคลุมไปด้วยใบไม้ของต้นฉำฉาสลับกับต้นมะขามหน้าบ้านที่แห้งแล้วร่วงหล่นใต้ต้นเต็มไปหมด บ่งบอกว่าฤดูร้อนมาเยือนแล้ว
ใบไม้เล็ก ๆ ร่วงหล่นละลานตารอบบริเวณบ้านจนเป็นพื้นสีส้มทั้งผืน ตัดกับตัวบ้านที่มีสีดำเข้มพอ ๆ กับลำต้นของต้นฉำฉาที่มีอยู่หลายต้น จนดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับแนวป่าเชิงดอย นั่นก็เป็นสุนทรียภาพแรกพบที่ได้เจอจากบ้านหลังนี้
“เวลาทำงานเครียด ๆ พอคิดถึงธรรมชาติ เดี๋ยวสัปดาห์นี้กลับบ้านที่เชียงใหม่ แค่คิดก็มีความสุขแล้ว” การรอคอยธรรมดาที่แสนพิเศษ ได้กลับมาอยู่กับพื้นที่ที่พี่หมอเริ่มปลูกขึ้นมา
พอได้นั่งคุยกันสักพักก็เริ่มอยากจะเห็นภาพฝันที่พี่หมอเล่าให้ฟัง เลยชวนพากันไปเดินดูรอบบ้านภายนอกที่ยังคงเห็นอยู่เป็นบริบทเดิมของพื้นที่ทั้งหมด ไม่ได้ปรับแต่งผิวดินอะไรเพิ่ม ป่าต้นฉำฉาจำนวนเกือบจะเต็มผืนที่ดินและระดับพื้นดินที่มีความชัน ไล่ระดับตั้งแต่ถนนหน้าบ้านไปยังเกือบท้ายที่หนองน้ำหลังบ้าน
ในส่วนนี้พี่หมอเล่าเสริมว่า “อยากเน้นธรรมชาติที่เรามีอยู่ ไม่ต้องปรุงแต่งเยอะ” ระหว่างทางที่เดินไป พี่หมอก็เล่าไป ชี้ให้ดูแนวทางเส้นทางเดิน (Trail) เล็ก ๆ ที่ทอดยาวตั้งแต่จากตัวบ้าน ลัดเลาะแนวต้นไม้ มีบางช่วงได้กระโดดข้ามทางน้ำผุดเล็ก ๆ พี่หมอชี้ที่ลาดบริเวณที่มีแผนก่อสร้างในอนาคตให้ดู ก่อนจะเลี้ยวไปเยี่ยมบ่อน้ำผุด (เราเรียกกันเล่น ๆ ว่าบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์) ตรงหัวมุมที่ของอีกฝั่ง
มาถึงตรงนี้ เราคิดในใจเล่น ๆ ว่า ถ้ามีเด็กน้อยอยู่ด้วยคงจะสนุกมากแน่ ๆ ขนาดเป็นผู้ใหญ่ยังตื่นตาตื่นใจกับมุมต่าง ๆ ขนาดนี้
จนเราเดินไปถึงเกือบ ๆ ท้ายที่มีเกาะต้นไม้ มีต้นไม้อยู่กันเป็นกลุ่มกระจุก เกาะนี้อยู่กลางหนองน้ำ พี่หมอเล่าต่อว่า “บางครั้งก็มีควายเข้ามาใช้บริการหนองบ้าง” พอได้ยินแบบนี้ เราเองก็รู้สึกว่า ถ้าได้เป็นควายที่นี่คงสบายมีความสุขดีไม่ใช่น้อย
และเมื่อมองซูมออกดูกายภาพโดยรวมของพื้นที่ ที่ตั้งของบ้านอยู่บนรอยต่อระบบนิเวศระหว่างแนวเขาดอยอินทนนท์กับเส้นแม่น้ำปิง ทำให้ความหลากหลายทางระบบนิเวศของพื้นที่เชิงดอยมีความรุ่มรวยเป็นอย่างมาก หลาย ๆ มุมในที่ดินผืนนี้ให้พลังงานที่ดี ความมีชีวิตชีวาแก่พื้นที่ เจ้าของ และผู้ที่เข้าไปสัมผัส
เราหยุดมองดูแนวเขาอินทนนท์และทิ้งช่วงเวลากับพื้นที่นี้สักพัก ก่อนหันกลับมองไปยังบ้าน
INSIDE OUT + OUTSIDE IN
ห้องโถงต้อนรับธรรมชาติ
ถ้าพูดถึงพื้นที่ในดวงใจของบ้านที่พี่หมอชอบใช้งานที่สุด หากได้มาเยี่ยมเยือนบ้านหลังนี้สักครั้ง คงเดาคำตอบได้ไม่ยาก แน่นอนว่าห้องนั้นก็คือ ‘ห้องนั่งเล่น + ระเบียงต้นไม้’
“ช่วงเช้าพี่จะมาดื่มกาแฟ อ่านหนังสือที่ระเบียงต้นไม้ ใช้งานได้หลายอย่าง กิน เล่น นั่ง นอน” ในหลากหลายช่วงเวลาของวัน เป็นจุดยืดหยุ่นให้ทำกิจกรรมได้หลากหลายตามแต่ใจจะนึกคิด
ในขณะที่เรายังพูดคุยอยู่ภายในห้องนั่งเล่น ไม่ว่าจะมองไปมุมไหนของห้องก็เห็นเฟรมภาพสีเขียวที่มีชีวิตขนาดใหญ่ นั่นคือยอดพุ่มต้นฉำฉาแผ่กิ่งก้านใบ มีแสงลอดตามใบอ่อน ๆ โปร่งแสงบ้าง ทึบแสงบ้าง เล่นแสงเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา เช้า สาย บ่าย เย็น มีกรอบรูประเบียงเป็นเฟรมขนาดใหญ่ ขับงานศิลปะชั้นยอดไว้สำหรับต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยี่ยมบ้านได้เป็นอย่างดี
‘ห้องนั่งเล่น + ระเบียงต้นไม้’ ในมุมของเรา ถึงแม้สเปซของ 2 พื้นที่นี้จะแบ่งด้วยช่องว่างที่เว้นให้ต้นมะค่า ต้นไม้เดิมของพื้นที่ได้เหยียดแข้งเหยียดขาแผ่กิ่งก้านสาขา แต่ในด้านความรู้สึกแล้ว เราแยกพื้นที่ทั้ง 2 นี้ออกจากกันไม่ได้เลย เพราะเปรียบเสมือนเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ เมื่อนับความกว้างของห้องแล้ว นับได้ตั้งแต่ผนังภายในห้องนั่งเล่น ไปจนถึงช่องว่างระหว่างอาคารที่มีต้นไม้และลำเหมืองลำไยไหลผ่านอยู่ด้านล่าง ยาวไปถึงระเบียงต้นไม้ และยาวเลยต่อไปอีกหน่อยจนถึงแนวป่าเชิงดอย ความกว้างของห้องโถงนี้นับว่ามีขนาดใหญ่เกินกว่าที่คิดไว้มาก
สเปซภายในห้องยอมให้ธรรมชาติภายนอกเข้ามา ในทางเดียวกัน สเปซภายในห้องก็ลื่นไหลไปสู่ภายนอก โดยเชื่อมความสัมพันธ์ของพื้นที่เข้าไว้ด้วยกัน ไม่ได้มีเพียงแค่ห้องนั่งเล่นและระเบียงต้นไม้เท่านั้น
พื้นที่หน้าบ้านและทางเข้าบ้านที่มีผนังเป็นระแนงไม้สีดำก็ทำหน้าที่นี้ไม่ต่างกัน โดยสีดำของระแนงไม้ได้มาจากการทาน้ำมันขี้โล้ น้ำมันเครื่องยนต์ใช้แล้ว เพื่อช่วยรักษาเนื้อไม้ ป้องกันปลวก มอด มารบกวน แล้วยังนำน้ำมันที่ไม่ได้ใช้แล้วกลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์อีกด้วย
ด้วยความที่ยังมีหน้าที่การงาน มีภารกิจที่กรุงเทพฯ อยู่ พี่หมอจึงไม่ได้อยู่บ้านตลอด
การอนุญาตให้คนภายนอกหรือเพื่อนบ้านได้สอดส่อง มองเห็น คอยช่วยดูซึ่งกันและกันได้บ้างนั้น เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ ทำให้รู้สึกเป็นส่วนเดียวกับพื้นที่สังคมภายนอก ดังนั้น ‘พื้นที่หน้าบ้านและทางเข้าบ้าน’ เลยออกแบบมาให้เป็นระแนงไม้เว้นร่อง อากาศ ลม แสงแดด สาดส่องถึง แต่ยังคงความรู้สึกเป็นส่วนตัว อยู่ในอาณาเขตบริเวณบ้านตนเองอยู่
“เราคิดว่าทำผนังบ้านยังไงให้เป็นรั้วไปในตัวด้วย” พี่ตุ๋ย สถาปนิก Sher Maker เล่าให้ฟังถึงที่มาการออกแบบของระแนงรอบตัวบ้านที่จงใจให้ผนังระแนงไม้ชุดนี้ทำหน้าที่เป็นรั้วบ้านไปในตัว เรียกได้ว่า ยิงผนังชุดเดียว ได้ประโยชน์ถึง 2 ต่อ
ซึ่งพี่หมอก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน “เพราะแท้จริงแล้ว รั้วของบ้านเป็นเพื่อนบ้านเรานี่เอง”
เคารพ เกรงใจ ชุมชน และพื้นที่ (อยู่)
พี่หมอเล่าต่อถึงเรื่องของ ‘ภูมิสังคม’ ที่ต้องปรับตัวเมื่อเราเป็นผู้มาอยู่ (ใหม่) ความต่างกันของภูมิศาสตร์ นิสัยใจคอผู้คน และวิถีชีวิตที่เราต้องเคารพ เกรงใจ ชุมชนและพื้นที่เดิม การให้เกียรติซึ่งกันและกันไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือธรรมชาติ เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
ในช่วงบ่ายแก่ ๆ พี่โม (ภรรยาพี่หมอ) เสิร์ฟแตงโมเย็น ๆ ฉ่ำ ๆ ชื่นใจ ในหน้าร้อนนี้ยังพอมีลมพัดเบา ๆ ผ่านตรงระเบียงต้นไม้ให้ได้เย็นใจขึ้นมาบ้าง พี่หมอชี้ให้ดูดอยพระเจ้าที่อยู่เยื้องไปทางซ้ายของกรอบระเบียง แม้ว่าบ้านจะตั้งอยู่ไม่ใกล้กับเชิงดอย แต่ความรู้สึกเชื่อมโยง ความเคารพ ความศรัทธาของผู้มาเยือน สัมผัสได้จากการที่เราแค่ได้ยืนดู ณ ขอบระเบียงต้นไม้นี้
ก้าวต่อไป ก้าวที่เติบโต
ระหว่างเดินวนเล่นที่ระเบียง เรามีคำถามอีกนิดหน่อยว่า ตั้งแต่สร้างบ้านมาพี่หมอชอบช่วงไหนที่สุด เขาตอบว่า “มีความสุขมาตลอด ตั้งแต่ตอนออกแบบบ้าน ช่วยกันออกแบบ ช่วยกันคิด มีปัญหาก็ช่วยกันแก้ไป และก็เป็นความสนุกอีกแบบ”
ได้ฟังเรื่องเล่าของพี่หมอตั้งแต่ก้าวแรกที่ได้เริ่มคิด เริ่มทำ เริ่มหาที่ เริ่มสร้าง จนมาถึง ณ วันนี้ เราได้ยินคำพูดติดปากเสมอว่า “มีความสุข” อยู่ในทุกช่วงของการปลูกพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งเป็นอะไรที่เรียบง่าย แค่ได้มีพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง เท่านี้ก็เป็นแรงผลักดันให้เขาได้เริ่มทำตามความตั้งใจได้สักที
เข้าใกล้ช่วงเย็น แดดเริ่มออมแรงให้ บ้านเริ่มมีแสงสีส้ม ๆ เข้ามาเป็นฟิลเตอร์บาง ๆ
ก่อนจะลาพี่หมอและพี่โมกลับบ้าน เรานึกถึงคำพูดหนึ่งที่เคยได้ยินจากที่ไหนสักแห่ง แดดเช้าคือความหวัง แดดเย็นคือกำลังใจ ประโยคนี้ใช้กับระเบียงต้นไม้ของบ้านรอก้าวได้ดี การหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความตั้งใจ ความรัก ความทุ่มเทลงไปในบ้านที่ปลูกขึ้นมา เหมือนผลตอบแทนจะค่อย ๆ ผลิดอกออกผลให้เห็นทีละนิด โดยที่อาจจะมาในรูปแบบของ ‘ความสุข’ ที่อยู่ในใจ
ขอให้บ้านรอก้าวได้เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น ๆ และรอดูการเติบโตของบ้านรอก้าวแห่งนี้ต่อไปค่ะ