2 เดือนพอดี

นับจากวันแรกที่ติดต่อขอสัมภาษณ์ จนถึงวันที่บทสัมภาษณ์นี้เผยแพร่

จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ บอกว่าช่วงนี้เธอยุ่งมาก และประเด็นข่าวที่เธอทำช่วงนี้ก็หนักมาก พอจัดรายการเสร็จก็หมดพลัง

ไม่กี่วันหลังจากติดต่อกันครั้งแรก รายการ ถามตรงๆ กับจอมขวัญ ก็เป็นที่พูดถึงทั่วบ้านทั่วเมือง เพราะทำประเด็นที่ทุกคนสนใจได้ลึกซึ้งถึงใจ

ผมแอบเสียดาย ถ้าได้สัมภาษณ์ตั้งแต่วันนั้น บทสัมภาษณ์นี้ก็จะออกพร้อมกับกระแสนั้นพอดี

แต่ก็เลิกเสียดาย เพราะสัปดาห์ต่อมา รายการของเธอ (รวมถึงภาพสีหน้าแววตาท่าทางของเธอ) ก็ถูกแชร์ว่อนโลกออนไลน์อีกครั้ง และเป็นอย่างนั้นเสมอมาในช่วง 2 เดือน

กระแสรายการของเธอไม่เคยหาย

เธอทำรายการด้วยสูตรไหน ถึงเป็นที่พูดถึงได้ต่อเนื่องยาวนานขนาดนี้

จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ พิธีกรนอกขนบ ถามเพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่ถามเอาดราม่าสะใจ

แล้วลีลาการถามตรงๆ เข้าแสกหน้า กับสีหน้าท่าทางที่หลายคนนิยามว่า ‘เล่นใหญ่’ เป็นความตั้งใจหรือเปล่า

ผมไม่น่าเกริ่นอะไรเยอะ เก็บพื้นที่ไว้เล่าประสบการณ์การทำรายการข่าวเกือบ 20 ปี ของเธอดีกว่า

แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องบอกกันก็คือ จอมขวัญตัวจริงไม่เหมือนจอมขวัญในรายการ เธอไม่ได้จริงจังและดุดันแบบนั้น อาจจะตรงข้ามด้วยซ้ำ เธอเป็นคนเฮฮา เล่นมุกได้ตลอดการสนทนา เราคุยกันแบบนั้น จนบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ผมพิมพ์ (หัวเราะ) ได้ฟุ่มเฟือยที่สุดในชีวิต

(ตัดออกไปเยอะมากแล้วด้วย)

หากไม่ใส่ใว้ อาจเข้าใจว่า เธอพูดน้ำเสียงเหมือนในรายการ

ประโยคแรกเธอก็หัวเราะแล้ว

(หัวเราะ) – อันนี้ของผมเอง

ช่วงวิกฤตแบบนี้เป็นโอกาสให้นักข่าวได้แสดงฝีมือมากกว่าช่วงปกติหรือเปล่า

ไม่นะ เราเป็นคนขี้เกียจโดยพื้นฐาน (หัวเราะ) การแสดงความสามารถไม่ต้องใช้ต้นทุนสูงขนาดนี้ก็ได้ เพราะเป็นต้นทุนที่คนอื่นต้องจ่ายด้วยไง ไม่จำเป็นต้องเกิดเหตุการณ์อะไรนักข่าวก็พิสูจน์ฝีมือตัวเองได้อยู่แล้ว คนพูดกันเยอะว่านักข่าวหากินกับความผิดปกติของสังคม ความขัดแย้ง เรื่องลบ เราไม่ได้อยากให้เกิดเรื่องไม่ดี เพราะไม่จำเป็น แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้ว เราก็ควรส่งเสียงเรื่องที่ผิดปกติหรือเรื่องที่ไม่ถูกไม่ควรมากกว่า เมื่อเกิดเรื่องไม่ดีขึ้น เราจะทำยังไงกับเรื่องพวกนี้ จะใช้ความรู้วิชาชีพของตัวเองกับเรื่องพวกนี้ยังไง จะตีโจทย์ในการทำข่าวยังไง จะเลือกมุมไหนมานำเสนอ

เช่น มีคนถูกฆาตกรรม ญาติไปร้องหน่วยงานต่างๆ แล้วกลัวจะไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะคู่กรณีเป็นลูกหลานคนใหญ่คนโต เราอาจจะเลือกข่าวเดียวกับทุกที่ เพราะเวลามีข่าวดังๆ ทุกที่ก็เล่นหมด แต่เราจะเลือกเข้าไปที่โครงสร้างความขัดแย้ง ก็ไม่รู้ว่าทำได้ดีแค่ไหนนะ เป็นกรอบคิดของนักข่าวที่มาจากสายโครงสร้าง

ถามตรงๆ กับจอมขวัญ ถือเป็นรายการประเภทไหน

เป็นรายการสัมภาษณ์ แต่มีกลิ่นอายของความเป็นไทยรัฐ คือเป็นข่าวที่มีสีสัน และพื้นที่ข่าวที่กว้างมาก เราเลยได้สัมภาษณ์ในหัวข้อที่เราไม่เคยฝึกเลยตอนอยู่เนชั่น เราเป็นสายซีเรียส บางเรื่องอาจจะมีสีสันได้กว่านี้ แต่เราก็ยังดำดิ่งลงไปได้ แล้วดันเจอโปรดิวเซอร์สไตล์เดียวกันอีก

รายการคุณไม่เน้นขยี้เอาดราม่า

ส่วนตัวขวัญเป็นคนไม่ค่อยชอบดราม่า เพราะมันเป็นสีสันไม่ใช่แกนกลาง ตัวอย่างที่ยกบ่อยๆ คือ หวยสามสิบล้าน เนื้อเรื่องมันสนุกมากเลย ไม่ได้บอกว่าเราสนุกบนความขัดแย้งหรือความลำบากใครนะ คือมันเป็นเรื่องจริงที่มีการพิสูจน์ว่าใครเป็นเจ้าของ แต่รายการดิฉันก็พยายามอิงกฎหมายว่าตกลงมันของใครคะ ต้องถูกพิสูจน์ขั้นไหนคะ เรื่องการฟ้องร้องกันก็นั่งไล่ดูคดีว่าทั้งสองฝ่ายมีคดีอะไร แพ่งเท่าไหร่ อาญาเท่าไหร่ กี่สำนวน ใครฟ้องใคร นั่งไล่แบบนี้ แล้วก็ไม่ได้ใช้ในรายการนะ ใช้แค่ครั้งเดียวเพื่อจะตามว่าคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ พิธีกรนอกขนบ ถามเพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่ถามเอาดราม่าสะใจ
จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ พิธีกรนอกขนบ ถามเพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่ถามเอาดราม่าสะใจ

เชิญแขกมาออกรายการยากไหม

หืดเหมือนกันนะ เป็นงานที่โหดมากของโปรดิวเซอร์ การเชิญคนมาออกโทรทัศน์มันใช้ต้นทุนของแขกเยอะ เช่น เขาต้องมาพูดในเรื่องที่เขาก็ไม่แน่ใจว่าจะพูดได้มากน้อยแค่ไหน ต้องเดินทางมา ต้องเจอบรรยากาศที่ไม่ได้เจอทุกวัน ผนวกเข้าไปกับความเป็นจอมขวัญ จะคุยกับมันดีไหมวะ (หัวเราะ)

เคยมีคนปฏิเสธเพราะต้องคุยกับจอมขวัญไหม

ก็มีบ้างนะ บุคลิกแบบจอมขวัญก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งของโปรดิวเซอร์นะ ต้องขอโทษโปรดิวเซอร์ด้วย (หัวเราะ) เราไม่รู้ตัวจริงๆ ว่าเป็นคนถามดุ เราถามเพราะคิดว่าเรื่องนี้อยากรู้ เรื่องนี้ต้องถาม เวลาเราคุยกับใครในเรื่องที่เราไม่รู้ แล้วเขารู้ เราก็บุคลิกนี้แหละ พอมาเป็นนักข่าวมันก็อาจจะดูน่าอึดอัดหรือโหด จริงๆ เราไม่มีอะไรเลย เราเป็นแค่เด็กอยากรู้เฉยๆ

แขกรับเชิญกลุ่มไหนเชิญยากที่สุด

ขวัญแบ่งแขกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรก เป็นคนที่โดนซักค้านตรวจสอบ ก็ยาก แม้กระทั่งขอโฟนอิน ซึ่งเราก็เข้าใจนะ แต่เราอยากให้เขาเปลี่ยนมุมมอง ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าจะสังกัดใด การให้ข้อมูลกับประชาชนเป็นหน้าที่หนึ่งนะ เราเป็นผู้จ่ายภาษีย่อมมีสิทธิ์รู้ คลาสสิกมาก (หัวเราะ) ไม่ได้ทวงนะ เงื่อนไขในการได้สิทธิ์นี้มาโดยตัวมันเอง เดี๋ยวนี้ดีกว่าเมื่อก่อนเยอะ เพราะมีการพูดคุยเรื่องพวกนี้หรือชี้แจงกันจนคุ้นเคย เจ้าหน้าที่รัฐรุ่นใหม่ก็มีวิธีคิดที่ใหม่ขึ้น เป็นแบบแผนที่ลำลองขึ้น

อีกแบบคือเป็นผู้เสียหาย อันนี้เชิญง่าย เขายินดีมาเพราะต้องการพื้นที่เรียกร้องความเป็นธรรม ไม่ได้แปลว่าคนที่มาจะเป็นฝ่ายถูกนะ เพราะหน้าที่ของเราไม่ได้ตรวจสอบ ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นทางการ เราแค่เปิดพื้นที่ให้เขาใช้เป็นกระบอกเสียง ในทางกลับกัน ตัวละครในคดีเดียวกันที่อยู่อีกฝั่งซึ่งไม่ได้อยากออกสื่อ เมื่อเราติดต่อไปว่า มีเรื่องนี้ ฝั่งนี้มาออกนะ อยากใหัอีกฝั่งมาด้วย ก็แล้วแต่ว่าเขาจะมาพูดไหม กรณีที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐหรือข้าราชการนะ

แล้วก็มีกลุ่มที่เป็นหัวข้อต่างๆ นอกเหนือจากคดี เช่นเรื่องที่ใช้ความเห็น ใช้ข้อมูล ไม่ได้ซักค้านใคร อันนี้ไม่ยาก

การเชิญแขกมาให้จอมขวัญซักค้านในรายการ ต้องโน้มน้าวยังไง

ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย โปรดิวเซอร์จะพูดตรงไปตรงมาว่า ทำไมเราถึงคิดว่าเขาควรจะพูด แล้วเขาจะเจอสถานการณ์ยังไง เมื่อก่อนอาจจะยากกว่านี้นะ แต่แขกรับเชิญหมวดนี้จำนวนมากมีวิธีคิดเปลี่ยนไป อาจจะเห็นการโต้แย้งกันแสดงความคิดเห็นกันในโซเชียลมีเดียจนคุ้นเคย

จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ พิธีกรนอกขนบ ถามเพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่ถามเอาดราม่าสะใจ

สิบปีก่อนรายการทอล์กอยู่ช่วงสี่ทุ่ม แล้วขยับลงมาเป็นหัวค่ำ เย็น บ่าย ตอนนี้เริ่มตั้งแต่เที่ยงแล้ว เวลามีผลอะไรกับรายการบ้าง

เรายังเคยคุยกันเลยว่า ต่อไปรายการทอล์กไม่ต้องมาตีห้าเลยเหรอ ได้สัมภาษณ์แล้วนะเว้ย (หัวเราะ) บริบทของรายการทอล์กคือ เวลาคุณมองว่าเรื่องไหนควรทำ ใครควรเป็นแขกรับเชิญ ทุกช่องก็มองเหมือนกันหมด ใช้แขกก็กลุ่มเดียวกัน พอมีโซเชียลมีเดีย รายการไหนได้แขกไปก่อนก็โพสต์ลงโซเชียลมีเดียก่อน หลายสถานีก็ปรับเวลารายการทอล์ก ซึ่งมีผลเหมือนกันในการได้แขกรับเชิญมา

มีคนถามเรื่องเลื่อนเวลาเยอะ เรายังไม่เคยอธิบายเรื่องนี้เหมือนกัน เท่าที่ได้รับการบอกมาคือ เป็นเรื่องการจัดลำดับเวลาของผังรายการ ซึ่งเราว่ามีผลหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตลาด ยุทธศาสตร์การดึงคนดู หรือดึงแขก ถ้าถามว่าเวลาของรายการเรามีผลต่อการเชิญแขกไหม ก็มีทั้งบวกและลบ ทำให้ได้แขกก่อนก็จริง แต่แขกบางหมวดก็ยังไม่เลิกงาน

หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของพิธีกรคืออะไร

ถามในสิ่งที่คนอยากรู้ เพราะหลายเรื่องเรารู้อยู่แล้ว หลายเรื่องเราก็ไม่ได้อยากรู้ (หัวเราะ) เราเป็นคนแบบถ้ำๆ อยู่ในโลกส่วนตัว ไม่ค่อยจะอยากรู้อะไร ถ้าไม่ใช่เรื่องที่เราสนใจจริงๆ ไม่ใช่พื้นฐานของคนที่ควรจะมาเป็นนักข่าวเลย (หัวเราะ)

พอต้องทำหน้าที่พิธีกร เราก็ตีโจทย์ให้ง่ายที่สุด ซับซ้อนน้อยที่สุด เราจะถามในสิ่งที่คนอยากรู้ มีสิทธิ์รู้ ต้องรู้ เท่านั้นเอง เราเป็นคนรู้น้อย ก็ต้องเตรียมตัวทำการบ้านให้มาก บางเรื่องก็รู้คำตอบอยู่แล้ว แต่ถามเพื่อให้ผู้พูดเป็นคนพูดเอง เราพยายามเป็นผู้ถามที่ดีนะ ซึ่งไม่ได้แปลว่าผู้ตอบจะชอบผู้ถามคนนี้ (หัวเราะ)

ผู้ถามที่ดีเป็นยังไง

ต้องอยากรู้และเป็นนักฟังที่ดี อยากรู้ไม่ได้แปลว่า อยากรู้ไปซะทุกเรื่อง สิ่งสำคัญที่สุดในการเป็นนักสัมภาษณ์ที่ดีคือการฟัง ไม่ใช่คิดแต่จะถามให้คมยังไง ลึกยังไง ต้อนยังไง การถามที่ดีมาจากการฟัง ฟังอย่างเปิดใจ พร้อมฟังเขา ทำให้เขาอยากคุยกับเรา อยากบอกเรา เราไม่รู้สึกว่าเป็นการสัมภาษณ์นะ เหมือนมานั่งคุยกัน

ถ้าไม่ใช่เรื่องปัญหาโครงสร้าง รายการเราจะมีบรรยากาศของการนั่งคุยกัน บางเรื่องเราไม่ได้ถามเพราะอยากได้คำตอบ แต่ถามเพื่อสื่อสารกับเขา ว่ามีคนพร้อมฟังให้เขาระบาย มีคนอยากเข้าใจความทุกข์ของเขา มีคนเข้าใจนะว่าทำไมต้องออกมาพูดเรื่องนี้ ต้องออกมาสู้ มันเป็นมิติของความเป็นมนุษย์

เราจึงเป็นทั้งคนถามและเพื่อนมนุษย์ แล้วการเป็นคนฟังที่ดีต้องอาทรนะ มันอาจจะมีคนผิดในบางเรื่องจริง แต่เราก็ยังให้ความสำคัญกับการพูดคุย เพราะการพิสูจน์ถูกผิดมันต้องเข้าสู่กระบวนการอย่างเป็นทางการ แต่การสื่อสารผ่านสื่อ เราอยากให้สังคมคุ้นกับการพูดคุยกันได้ แม้จะเป็นเรื่องความขัดแย้ง หรือคิดต่างกัน คนสองกลุ่มนั้นต้องคุยกันได้ และไม่ได้แปลว่ากลุ่มใดต้องเปลี่ยนไปคิดเหมือนกลุ่มใด บางหัวข้อไม่ต้องมีใครชนะหรือเป็นฝ่ายถูกก็ได้

ถ้าแขกตอบไม่เหมือนสิ่งที่คุณรู้มา คุณทำยังไง

แล้วแต่ว่าเป็นเรื่องอะไร ถ้าเป็นเรื่องการเมือง มีคนถามเราเยอะว่า ไม่รู้เหรอว่าเขาโกหก บางเรื่องก็รู้อย่างชัดแจ้ง แต่นั่นคือสิทธิ์ที่เขาจะใช้ ในภาวะแบบนี้ หน้าที่ของเราคือพยายามถามเพื่อให้เขาอธิบายสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วว่าไม่จริงให้มากที่สุด เราจะเจาะเข้าไปให้ลึกที่สุด เรื่องที่แต่งขึ้นมันจะไปไม่สุด จะตันของมันเอง

ถ้าเรื่องส่วนตัว เราอาจจะบอกได้แค่ คนนี้มองมุมนี้ เขามีคำตอบชุดนี้ เราถึงบอกว่า ทำไมทุกคนที่เกี่ยวข้องถึงควรได้พูด เอาข้อมูลจากทุกมุมมาพิสูจน์กัน แต่อย่าคิดว่ารายการข่าวเป็นที่พิสูจน์ความถูกผิด ไม่ใช่ทุกคนจะพูดทุกเรื่องผ่านสื่อ ซึ่งเราก็ไม่เห็นความจำเป็นนั้น เราบอกแขกรับเชิญเสมอว่า บอกเท่าที่สบายใจ บอกเท่าที่อยากบอก รายการเราไม่ได้มีเป้าหมายให้ใครมาสารภาพอะไรกับเรา เราเป็นใคร เขาถึงต้องมาสารภาพกับเรา

ในเรื่องที่เป็นหัวข้อมาร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือ ถ้าคิดว่าอะไรเป็นประโยชน์ที่สื่อจะขับเคลื่อนให้ได้ก็ใช้ ถ้าคิดว่าไม่ควร ไม่ต้อง ไม่สบายใจจะตอบ ก็ไม่เป็นไรเลย ต่อให้เป็นคดีอาชญากรรม คนที่มาร้องขอความเป็นธรรมกับสื่อก็ไม่ต้องบอกเราทุกเรื่องนะ บางเรื่องเป็นแค่เรื่องส่วนตัวที่จะสร้างสีสันความลึกซึ้งให้เรื่อง ถ้าไม่เกิดประโยชน์อะไรกับตัวเขา ขวัญก็จะไม่ถามเข้าไป บางคนมากับทนาย ขวัญจะเตือนเขาในรายการด้วยซ้ำว่า ให้ทนายลองฟังนะคะ ถ้าคำถามมันจะนำไปสู่คำตอบซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อเขาเตือนได้เลย

ถ้วยรางวัลของเราไม่ได้มาจากการเข้าไปลึกที่สุดในพื้นที่ที่ไม่ควรจะเข้านะ แต่ถ้วยรางวัลของเราคือ คนได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่การทำงานของเราได้มากที่สุด อันนี้สำหรับคนที่มาร้องเรียน

ถ้าแขกบอกว่า ผมไม่ตอบ ขอให้การในชั้นศาล จะดำเนินรายการต่อกันไปยังไง

ได้ เราให้สิทธิ์นั้น เรามีทริกที่จะดำเนินรายการต่อได้ เราเจอแบบนี้น้อยนะ เพราะก่อนเข้าสู่รายการสดจะมีกระบวนการทำความเข้าใจกรอบร่วมกัน แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง โดยเฉพาะคดีส่วนตัว เราเข้าใจ แต่ถ้าเป็นคดีประโยชน์สาธารณะ อันนี้ปล่อยยาก ไม่ต้องศาลค่ะ เดี๋ยวดิฉันเนี่ยแหละค่ะจะเข้าไปหาเอง (หัวเราะ)

จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ พิธีกรนอกขนบ ถามเพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่ถามเอาดราม่าสะใจ

หน้าที่พิธีกรของคุณครอบคลุมถึงการสร้างความสนุกสีสันในรายการด้วยไหม

ทีวีมีสิ่งที่ช่วยดึงดูดเยอะทั้งภาพและเสียง ถ้าเราได้สัมภาษณ์คนที่เป็นแกนกลางเรื่อง ก็ไม่ต้องทำหน้าที่สร้างแรงดึงดูดมาก แต่เราก็ต้องทำให้มันเปล่งประกายกว่าเดิม สไตล์ขวัญไม่ได้เน้นสีสันเท่าเนื้อหา แต่สีสันที่ผ่านมาอาจจะถูกเน้นโดยบุคลิกของเราเอง (หัวเราะ) ทั้งมือไม้ สีหน้า แววตา ซึ่งเราเป็นคนแบบนั้น นั่งคุยกันอยู่นี่เราก็โยกตัวตลอดเวลา คนหรือลูกข่างวะเนี่ย (หัวเราะ) เราเป็นคนเสียงดัง ขี้เล่น ตลกท่าทาง แอคติ้งเยอะ เล่นใหญ่ ซึ่งเพื่อนจะคุ้นกันอยู่แล้ว

เมื่อก่อนคุณก็ไม่ได้เล่นใหญ่ขนาดนี้นะ

เพราะเราแก่ขึ้นเลยไม่ค่อยสนใจสิ่งเหล่านี้มั้ง (หัวเราะ) พอเราเปลี่ยนมาทำเรื่องคดี ต้องสัมภาษณ์คนธรรมดาไม่ใช่คนดัง เราต้องลดความเป็นทางการของเราลงมา ไม่งั้นเขาจะเกร็ง แต่พอทำบ่อยๆ แล้วมันติดน่ะ (หัวเราะ)

เราเป็นผู้ดำเนินรายการที่หลุดแบบแผนมาก ไม่ใช่ผู้ดำเนินรายการที่ดูเป็นทางการ ดูเท่ ดูเจ๋ง เพราะเราบ้านมากเลย เวลาเรานึก หน้าเราก็นึกเลย ไม่ได้สนใจกล้องใดๆ ไม่ได้คิดว่าต้องนั่งท่าให้สวย เราต้องการสร้างบรรยากาศคนคุยกัน นี่ขนาดพยายามเป็นคนคุยกัน คนยังรู้สึกว่าเราน่ากลัวเลย ถ้าอยู่ในโหมดถามตอบตรงๆ จะน่ากลัวกว่านี้อีก ไม่มีเสียงหัวเราะ ไม่มีแซวเลย

เราแก่เกินกว่าจะเปลี่ยนบุคลิกได้แล้ว ทั้งเวลาจะเอ๊ะ จะเล่นใหญ่ เราก็เลยบอกน้องผู้กำกับว่า ไม่ต้องตัดหน้าพี่ออกจอมาก บางทีเราไม่รู้ตัวหรอกว่ากำลังทำหน้าอะไร บางครั้งช่างภาพต้องพูดเข้าหูฟังว่า พี่ถอยลงมาหน่อยได้ไหม หน้าพี่เข้าเฟรมแขกแล้ว คือเราถลึงหน้าเข้าไปเพราะเราอยากฟังเขา มันก็เข้าไปใกล้ขึ้นเรื่อยๆ (หัวเราะ)

นอกจากทีมงานคุณไม่ได้ตัดสีหน้าคุณออกแล้ว ตอนทำภาพปกวิดีโอรายการในยูทูบทุกตอน ครึ่งภาพยังเป็นรูปคุณกำลังทำสีหน้าต่างๆ ดูเหมือนสีหน้าของคุณจะเป็นที่ชื่นชอบของทีมงานนะ

(มองบน) ข้อแรกนะคะ เราไม่ได้แอคติ้ง เวลาคุยกับคนมันไม่มีเวลาแอคติ้ง ไม่งั้นสมาธิคุณจะหลุดจากสิ่งที่เขาพูด แล้วไม่รู้จะถามอะไรต่อ เพราะเราไม่มีสคริปต์คำถาม ช่วงทำรายการใหม่ๆ ขวัญถูกสอนให้มีประเด็นคำถาม พอทำมาถึงจุดหนึ่งมันไม่เวิร์กสำหรับเรา เพราะเราถามแข็งมาก เลยมีแค่เช็กลิสต์ว่า รายการวันนี้ต้องตอบสองประเด็นนี้ แต่ละประเด็นมีประเด็นย่อยๆ อะไรบ้าง คำถามของเราจะมาจากสิ่งที่เขาตอบ

ตอนอยู่ในรายการ เราไม่ได้ชักสีหน้าหรือพยายามแสดงออกทางสีหน้า เราเป็นคนขมวดคิ้วอยู่แล้ว เราเข้าใจอะไรยาก เข้าใจช้ากว่าคนอื่น บางสีหน้าเหมือนเรากำลังโกรธคำตอบแขก แต่ตอนนั้นเราคุยกันเรื่องที่เซนซิทีฟ แล้วเรากังวลเรื่องอื่น ทั้งการถามของเราและคำตอบของเขา ความเครียดไม่ได้มาจากความรู้สึกต่อคำตอบ แต่มาจากบริบททั้งหมด

คนจำนวนมากเอาสีหน้าของคุณไปใช้สรุปสิ่งที่แขกรับเชิญพูด

คนพูดกันเยอะว่า จอมขวัญมีสีหน้าแบบนี้ แสดงออกแบบนี้ เพราะรู้สึกกับแขกรับเชิญแบบนี้ พยายามทำให้แขกรับเชิญเป็นแบบนั้นแบบนี้ นั่นไม่ใช่ความตั้งใจของเราเลย เราไม่เคยมีความรู้สึกนั้น เราแทบไม่ได้รู้สึกอะไรกับตัวบุคคลด้วยซ้ำ ใจของเราไปอยู่ที่ประเด็นไม่ได้อยู่ที่คนพูด เราถูกฝึกมานานจนแยกได้จริงๆ นะ

บางสีหน้าก็ไม่ใช่ไม่เชื่อนะ แค่ เอ๊ะ เฉยๆ สงสัยว่าเป็นแบบนี้ก็ได้เหรอ การถามซ้ำๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราคิดว่าคนที่คุยด้วยโกหก เราแค่เอ๊ะ ยังไงต่อ

จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ พิธีกรนอกขนบ ถามเพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่ถามเอาดราม่าสะใจ

คุณเคยตั้งใจเชือดแขกในรายการไหม

เราไม่เคยมีความตั้งใจนั้นเลยจริงๆ เราสอนน้องโปรดิวเซอร์ด้วยซ้ำว่า ไม่ว่าหัวข้อไหน แขกคนนั้นจะเป็นใคร ทีมงานเรามีความรู้สึกส่วนตัวยังไง ต้องตัดออกให้หมด เราต้องปฏิบัติกับแขกทุกคนเหมือนกันหมด

เราเคยมีความเข้าใจผิดตั้งแต่ทำรายการสัมภาษณ์แรกๆ บริบทแวดล้อมทำให้เราเข้าใจผิดว่า ความเท่คือการที่คนสัมภาษณ์บี้ให้แขกจนมุม แต่เราไม่เคยมีธงแบบนี้ เพราะวิธีการนี้ไม่เวิร์ก จะทำไปเพื่ออะไร ถ้าเขามาแล้วถูกปฏิบัติแบบนั้น เขาก็จะไม่มาอีก นอกรายการเขาก็จะไม่คุยกับคุณ ไม่แม้แต่จะเป็นเพื่อนคุณด้วย เราไม่ทำแบบนั้น

ถ้าวิธีการถามและบุคลิกเราทำให้เขารู้สึกว่าเขาโดนทำแบบนั้น เราก็พร้อมจะขอโทษ เราไม่มีความตั้งใจนั้นแน่ๆ เราเป็นคนคุ้นเคยกับความขัดแย้ง แต่ไม่ชอบเอาตัวไปอยู่ในความขัดแย้งโดยไม่จำเป็น ถ้าใครมารายการเราแล้วรู้สึกว่าโดนเชือด เราไม่ได้ตั้งใจจริงๆ

เวลาแขกจนมุมในรายการรู้สึกสงสารไหม

ถ้าเป็นหมวดความขัดแย้งทั่วไป เราไม่เคยเจอภาวะแบบนั้นมากนัก แต่ถ้าเป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะที่ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตอบให้ได้ว่า ทำไมแบบนั้นแบบนี้ เราจะไม่ใช้ความสงสารในการสัมภาษณ์ แต่เมื่อได้คำตอบแล้ว สุดแล้ว ไปต่อไม่ได้แล้ว เราก็พอ เราจะไม่แบบ เอาอีกหน่อยให้สะใจ ถ้าเราสัมผัสได้ว่าเขากำลังเข้ามุม เราจะพยายามดึงเขากลับมา แต่ไม่รู้ว่าเขารู้สึกหรือเปล่านะ เมื่อได้คำตอบแล้วไม่ต้องทิ้งเขาไว้ตรงมุมก็ได้ เพราะเราไม่ได้ต้องการให้คนจนมุม หลังพิงกำแพงไปไหนไม่ได้

บางคนต้องพูดแทนหน่วยงานตัวเอง เขาอาจจะมีสองด้านที่ต้องรับมือ เขาอาจจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พูดก็ได้ แต่เขาจะทำยังไงได้ล่ะ เราไม่รู้สึกว่าเขาคือจำเลย เราจะรู้สึกตัวตลอดเวลาว่าเราถามเฉยๆ ไม่ได้ตัดสิน เราไม่ต้องการให้เกิดการตัดสินในรายการ เพราะมันไม่ถูกต้อง มันไม่ใช่กระบวนการที่ควรจะเป็น

ตั้งแต่ทำมา ตอนไหนที่คุณชอบสุด

ตอนที่ปัญหาถูกคลี่คลาย มันพิสูจน์ได้ว่าพื้นที่ของรายการช่วยเขาได้จริงๆ อย่างเป็นรูปธรรม เช่น คดีของแม่น้องพลอย ลูกสาวหายไปสองสามปี หาไม่เจอ ก็มาร้องกับทนาย ร้องสื่อ จนได้มาออกในรายการ แล้วก็หาลูกเจอ พบว่าลูกถูกกระทำจริงๆ เป็นหน้าที่บนพื้นที่ที่เราควรจะใช้ ไม่ว่าจะเป็นคดีไหน ก็ไม่ได้เกิดจากรายการถามตรงๆ เพียงรายการเดียว แต่ทุกสื่อช่วยกัน ที่สำคัญคือ สังคม โซเชียลมีเดียเป็นกลไกที่เดินเรื่องให้ทุกคนเร็วมาก เราไม่ได้ต้องการตัดสินในรายการ แต่รายการควรจะไปหยอดน้ำมันฟันเฟืองให้เดินได้อย่างที่ควรจะเดิน

จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ พิธีกรนอกขนบ ถามเพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่ถามเอาดราม่าสะใจ

ตอนที่ชอบกับตอนที่เรตติ้งดีเป็นตอนเดียวกันไหม

ไม่ (หัวเราะเสียงดัง) ไม่ใกล้กันเลย เราเป็นคนสายเครียด ตอนที่ชอบมีสองแบบ คือถนัดเข้าปากมาก กับเรื่องนี้ต้องถูกพูด เรื่องประเภทหลังนี่ท้าทายสภาพจิตใจในการรับเรตติ้งมาก (หัวเราะ) เรื่องที่เรตติ้งดีมักจะเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแส ซึ่งไม่ใช่การวัดคุณค่าข่าวนะคะ เพราะทุกข่าวมีมุมและคุณค่าในตัวเอง แต่ก็ต้องยอมรับว่าเรตติ้งเป็นกลไกในการเดิน ในการอยู่ของสื่อในโลกทุนนิยม ถ้าคุยเรื่องนี้อีกยาวเลย (หัวเราะ)

ตอนที่เรตติ้งดีก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้นะ แต่ต้องประยุกต์หลายชั้นหน่อยเพราะเราเป็นคนถนัดเชื่อมแบบบ้านๆ อยู่แล้ว ส่วนเรื่องที่ควรจะถูกพูดถึงนี่คือการเขย่าตอม่อเลย เป็นการทำงานคนละแบบ เราอาจจะถนัดเขย่าตอม่อเป็นส่วนใหญ่

ช่วงก่อนหรือหลังรายการ มีเหตุการณ์อะไรสนุกๆ ที่คนดูนึกไม่ถึงบ้าง

มีเยอะเลย (หัวเราะ) มีคนบางหมวดที่เวลาออกสื่อแล้วคนจะหมั่นไส้ว่าพูดแบบนี้ได้ยังไง บางคนตัวจริงไม่ได้เป็นแบบนั้นนะ เขาแค่รู้สึกว่าเมื่อขึ้นเวทีเขาต้องมีบุคลิกนี้ เราถึงกับต้องถามเขานอกรอบว่า ทำไมพี่ต้องทำขนาดนี้ (หัวเราะ)

บางครั้งคุณก็เรียกแขกรับเชิญในรายการว่า พี่ ซึ่งพิธีกรส่วนใหญ่ไม่ทำกัน

ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในรายการเราไม่ได้เผลอนะ ตั้งใจ กรองแล้ว เพราะมันทำให้แขกสบายขึ้น คุยกันง่ายขึ้น บางครั้งคุยไปคุยมา จากคำว่าดิฉัน ก็กลายเป็นจอมขวัญ ไม่รู้ว่าควรทำหรือไม่ควรทำนะ แต่การทำแบบนี้ทำให้แขกรับเชิญรู้สึกโล่งขึ้น

ชีวิตคุณในแต่ละวันทำอะไรบ้าง

เราขอเขาทำรายการเดียวเพราะแก่แล้ว (หัวเราะ) เราคุยไลน์กับน้องๆ โปรดิวเซอร์ตลอด คุยมากหน่อยช่วงเย็นกับเช้า คุยประเด็น คุยว่าแขกรับเชิญเป็นใคร น้องๆ ก็เตรียมไป เราก็นั่งอ่านข้อมูล ช่วงบ่ายก็เข้าออฟฟิศ ไปเตรียมจัดรายการสด เราได้ประเด็นที่จะจัดรายการวันพรุ่งนี้ตั้งแต่ตอนเย็นวันนี้ แต่พรุ่งนี้เช้ามาทบทวนอีกทีว่า เอาประเด็นนี้แน่นะ เหลี่ยมนี้แน่นะ ยังเป็นแขกคนนี้อยู่ไหม ช่วงข้ามคืนถึงเช้าอาจมีอะไรเปลี่ยนแปลง

จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ พิธีกรนอกขนบ ถามเพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่ถามเอาดราม่าสะใจ

ดูเหมือนทำงานไม่เยอะ

ถ้าดูผ่านหน้าจอก็ใช่ แต่ต้องมาดูเรานั่งอ่านข้อมูล สมัยที่เราจัดรายการคู่กับ คุณสุทธิชัย หยุ่น รายการสั้นมากสิบกว่านาทีต่อวัน เราต้องนั่งอ่านข้อมูลสามชั่วโมงเพื่อตอบคุณสุทธิชัยแค่สองประโยค มันต้องใช้เวลา เวลาใครบอกว่าทำงานแค่นี้เอง อยากให้มาทำจัง (หัวเราะ) มันเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนะ ที่ต้องคุยกับคนที่ไม่เคยเจอกันมาก่อนในชีวิต แล้วทำให้เขาสบายใจ อยากคุย อยากบอก

กว่าจะมานั่งคุยยิ้มๆ ได้ เราผ่านอะไรมาเยอะมาก ระหว่างทางก็ถามตัวเองตลอดว่า ใช่ไหมเนี่ย อยู่ถูกที่หรือเปล่า จะไปต่อยังไง เราถามตัวเองบ่อยมาก ตอนนี้ก็เข้าใจมากขึ้น

เคยทำงานหนักที่สุดในชีวิตแค่ไหน

ทำสัปดาห์ละเจ็ดแปดรายการ มีทั้งอ่านสั้นๆ แต่สั้นๆ ก็ต้องเตรียมเยอะมาก มีรายการรายวัน รายสัปดาห์ แล้วก็รายการที่สลับกับคนอื่นบ้าง ที่รู้สึกว่าเยอะเพราะเหลือเวลานอนน้อยมาก ที่รู้สึกว่าพอแล้วต้องหยุดก็คือ แม่โทรมาก็บอกเดี๋ยวโทรกลับ ไม่ได้โทรมาตอนที่เรากำลังทำงานสำคัญด้วยนะ อาจจะเป็นช่วงเตรียมตัว หรือตอนกำลังเหนื่อย กว่าจะโทรกลับก็นานมาก นี่คือสัญญาณเตือนว่าเสียสมดุลแล้ว

งานเยอะขนาดเราถามตัวเองว่า ทำขนาดนี้ไปเพื่ออะไร ตอนรับเราก็ไม่ได้คิดอะไร งานมันถูกมอบหมายเข้ามาพร้อมๆ กัน ตอนนั้นเราเป็นเด็กรุ่นใหม่ เขาให้ทำอะไรก็ทำ ไม่ได้รู้สึกว่าต้องเลือก ต้องเรียงลำดับความสำคัญ มันเริ่มหนักตั้งแต่อายุยี่สิบหก จนเราถามตัวเองว่า จะหนักแบบนี้อีกกี่ปี ก็ตอบว่า อีกสิบปี พออายุเริ่มสามสิบก็ตั้งใจผ่อนเลย พอสามสิบห้าเราก็ต้องการการเปลี่ยนแปลงเพื่อบาลานซ์แล้ว

พออายุสามสิบห้า คุณเลือกเก็บอะไรไว้ ตัดอะไรออก

ขอทำแต่รายการสัมภาษณ์ ขอทำรายการเดียวในด้านที่เราสนใจ ทำให้มันเข้มข้นไปเลย ไม่ใช่ว่าไม่อยากเล่าข่าว ไม่อยากทำงานอื่นนะ แต่รายการสัมภาษณ์มันหนักมาก ต้องเตรียมตัวแบบที่คนนึกไม่ออก เราเลยเลือกสิ่งที่ทำแล้วคุ้มเหนื่อย การสัมภาษณ์ทำให้เราโตขึ้นเยอะ อาจเพราะได้เจอคนหลากหลายรูปแบบ หลากหลายหัวข้อ ต้องคุยกับคู่ขัดแย้งที่อยู่ตรงหน้าเรา ได้เห็นว่าสังคมโลกและมนุษย์มันเป็นยังไง ไม่ใช่แค่ได้ชั่วโมงบิน แต่ได้ขัดเกลาชีวิตเราไปด้วย

โจทย์ของการสัมภาษณ์ยังเหลืออีกเยอะเลยที่เราจะจินตนาการได้ เรายังไม่เคยมีอันนั้น อันนี้เลย ทั้งตัวบุคคลและประเด็น ก็เลยเลือกสัมภาษณ์ ตอนเลือกเป็นช่วงที่เราถูกท้าทายจากสิ่งรอบข้างจำนวนมากด้วย ถ้าเล่าข่าวอาจจะสบายใจกว่านี้ ไม่โดนวิจารณ์ขนาดนี้ ไม่ถูกจับตาขนาดนี้

คุณยังไม่ชินกับการเป็นบุคคลสาธารณะหรือ

เราไม่ชอบอยู่ในสปอตไลต์เลย จะยี่สิบปีแล้วเรายังปรับตัวอยู่เลยนะ ความยากคือเมื่อคุณทำมาถึงจุดหนึ่งที่คนคุ้นหน้าคุ้นชื่อคุณแล้ว คุณก็จะโดนวิพากษ์วิจารณ์ได้ง่ายกว่า คุณจะรับมือมันยังไง มันเป็นสิ่งที่บุคคลสาธารณะทุกคนต้องเจอ บางคนอาจจะจัดการได้ดีกว่าเรา แต่สำหรับเราซึ่งเป็นมนุษย์ถ้ำถือเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก

จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ พิธีกรนอกขนบ ถามเพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่ถามเอาดราม่าสะใจ

ถือว่าคุณแจ้งเกิดในวงการข่าวจากการจัดรายการคู่คุณสุทธิชัยได้ไหม

ถ้าคนนอกมองเข้ามาก็ใช่ เป็นรายการที่ออกฟรีทีวีด้วย คนเลยเห็นเด็กคนหนึ่งนั่งอยู่กับคุณสุทธิชัย ขวัญเรียนจบเอกภาษาอังกฤษ สมัครเข้าไปเป็นนักข่าวเศรษฐกิจ แต่แสดงความจำนงว่าอยากอยู่ข่าวต่างประเทศเพราะเรียนมาด้านนี้ วันหนึ่งที่จะทำรายการข่าวต่างประเทศ ต้องหาคนมาดำเนินรายการคู่กับคุณสุทธิชัย หยุ่น และคุณเทพชัย หย่อง เลยเรียกเราไปแคสต์ แล้วก็เลือกสองคน อีกคนเป็นพี่ที่อยู่โต๊ะต่างประเทศอยู่แล้ว

กดดันไหม

กดดันสิ ไม่ไช่เรื่องคนจะมองว่าเราเก่งหรือไม่เก่งนะ กดดันว่าวันนี้คุณสุทธิชัยจะถามว่าอะไร เขาชอบโยนมาในสิ่งที่ไม่ได้เตี๊ยม โดยบทบาทคุณสุทธิชัยคือคนวิเคราะห์ ขวัญเป็นลูกคู่ คุณสุทธิชัยร้องท่อนหลัก ขวัญก็ฮู้เยๆ ไป แต่เป็นลูกคู่ที่อย่าทำเพลงกูเพี้ยนนะ (หัวเราะ) น้อยมากที่แกจะบอกว่า ผมจะเล่นมุมนี้นะ คุณพูดเรื่องนี้ ส่วนใหญ่จะโยนสดเลย น่ากลัวไหมล่ะ เราก็ต้องนั่งอ่านข้อมูลสามชั่วโมงเพื่อตอบคุณสุทธิชัยให้ได้สองประโยค

บางทีแกจะโยนมาแบบ อ้า คุณจอมขวัญ อันนี้สบาย แต่ถ้าต้องเสียบเข้าไปเอง เราต้องจับจังหวะการพูดของแกให้ได้ ต้องรู้ว่าพูดอันนี้เสร็จแล้ว จบประเด็นแล้ว ซึ่งเราต้องอ่านมา ถ้าพูดถึงตรงนี้แปลว่าจบ เข้าไปเลย แรกๆ ก็มีพูดทับนิดหน่อย เราก็ผวาเลย ตายห่า เข้าผิดทาง (หัวเราะ) แต่คุณสุทธิชัยจะไม่ตำหนิเรื่องนี้ เลยทำให้กล้าเสียบ คุณสุทธิชัยก็ทราบแหละว่าทีมงานเกร็งแค่ไหน ก็พยายามให้ความคุ้นเคย ชวนคุยนอกรอบจะได้เกร็งน้อยลง

ได้วิชาอะไรมาบ้าง

สิ่งที่ได้ก็คือ ต้องเตรียมตัวให้ดี เวลาคุณจะทำอะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าคุณจะใช้หรือไม่ใช้ข้อมูลนั้น คุณต้องอ่าน ต้องรู้ไว้ บางทีขวัญอ่านเยอะมาก นึกในใจว่า เฮ้ย ไม่ถามเลยเหรอ นี่เตรียมมาแบบมั่นใจเลยนะ แต่เตรียมไว้ก็ไม่เสียหาย ไม่ใช่ว่าเราเตรียมมาแล้วต้องโชว์ว่ารู้ อ่านไว้แค่ให้รู้ก็ได้ เหมือนวัตถุดิบ บางอย่างคุณอาจจะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้ แต่ถ้าต้องใส่คือเตรียมไว้แล้ว ไม่ต้องซื้อ

มีช่วงที่เรียกว่าทำงานด้วยความสนุกไหม

ไม่มีนิยามของการทำงานแล้วสนุกเลย (หัวเราะ) ถ้าสนุกปนเหนื่อยคือ ช่วงน้ำท่วมใหญ่ เหนื่อยจนไม่รู้ว่าจะผ่านไปได้ยังไงในแต่ละวัน เหนื่อยจนไม่รู้จะบรรยายออกมาเป็นคำพูดอะไร อีกเรื่องที่ตอนนี้พูดถึงได้อย่างสนุกคือ ช่วงการเมืองแรงๆ ตอนนั้นสะบักสะบอม โอ้ย พร้อมจะใช้ถังออกซิเจน แต่วันนี้พูดได้แล้วว่าตอนนั้นมีสีสันที่ฉูดฉาดมาก

การทำงานในช่วงนี้ต่างจากช่วงที่ผ่านๆ มายังไง

ตอนนี้อยู่ในช่วงที่คิดว่าจะออกจากคอมฟอร์ตโซนดีไหม คิดว่าเราทำอะไรได้มากกว่านี้อีกไหม ไม่ใช่เพราะเราคิดว่าตัวเองเจ๋งแล้ว สุดแล้ว แต่เราคิดว่าต้องรู้จักพื้นที่ซึ่งขยายไปมากกว่านี้แล้ว เราควรจะลองขยับออกไปอีกไหม เราอยู่กับข่าวมาเกือบยี่สิบปี ก็นึกไม่ออกว่าจะขยับไปทางด้านไหน เพราะถ้าเป็นด้านเนื้อหาข่าวเราก็ทำครบแล้ว หลังจากนี้ยังคิดไม่ออกเลย

ถ้ารายการ ถามตรงๆ กับจอมขวัญ เชิญจอมขวัญไปออก คิดว่าจะคุยเรื่องอะไร

อาจจะถามคล้ายๆ The Cloud มั้ง ทำมาตั้งนาน คิดยังไง ตอนเกิดเหตุนี้สัมภาษณ์นี้คิดยังไง แล้วทั้งหลายทั้งปวงที่ทำมาทั้งหมดคิดเห็นประการใด ขอลอกเลย (หัวเราะ)

จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ พิธีกรนอกขนบ ถามเพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่ถามเอาดราม่าสะใจ

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan