เมื่อพูดถึงประเทศนอร์เวย์ หลายคนอาจนึกถึงความหนาว หิมะ หรือแสงเหนือ แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างที่นอร์เวย์มีเยอะไม่แพ้กันก็คือ ‘พื้นที่สีเขียว’ และ ‘ต้นไม้’ จากข้อมูลใน ค.ศ. 2018 พบว่ากรุงออสโล (เมืองหลวงของประเทศนอร์เวย์) มีพื้นที่สีเขียวต่อคนถึง 39.05 ตารางเมตร ในขณะที่กรุงเทพฯ มีแค่ 6.9 ตารางเมตร

John Didj Coles รุกขกรราชสำนักนอร์เวย์ ผู้ดูแลต้นไม้ในราชสำนักทุกต้นกับสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในออสโล

Royal Palace Park คือสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในกรุงออสโล แม้ว่าสวนแห่งนี้จะเป็นของราชสำนักและอยู่ล้อมรอบพระราชวัง แต่ที่นี่ก็เปิดให้คนทั่วไปมาใช้ประโยชน์ตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งต้นไม้ทุกต้นก็ได้รับการดูแลอย่างดี เบื้องหลังความสวยงามของต้นไม้ที่นี่ คือผลงานของ จอห์น ดิดส์ โคลส์ (John Didj Coles)  รุกขกรประจำราชสำนักนอร์เวย์ (ใช่แล้ว ที่นี่มีรุกขกรประจำพระราชวัง) โดยเขามีหน้าที่ดูแลต้นไม้ในเขตราชสำนักทุกต้น ตั้งแต่วางแผนการปลูก ไปจนถึงการดูแลรักษาและตัดแต่ง

John Didj Coles รุกขกรราชสำนักนอร์เวย์ ผู้ดูแลต้นไม้ในราชสำนักทุกต้นกับสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในออสโล

“คนนอร์เวย์มีความใกล้ชิดและผูกพันกับธรรมชาติ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะภูมิประเทศที่มีป่าเขาและพื้นที่ธรรมชาติเยอะ แค่ขับรถครึ่งชั่วโมงจากเมืองหลวงออสโลก็ไปอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติได้แล้ว ส่วนในเขตเมือง เราก็ให้ความสำคัญกับสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียว”

เมื่อต้นไม้ถือเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของผู้คนที่นี่ อาชีพหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ ‘รุกกร

ทำไมต้นไม้ต้องการรุกขกร

“โดยทั่วไปต้นไม้ในป่าไม่ต้องการมนุษย์หรอก ต้นไม้อยู่บนโลกมาเป็นล้านๆ ปีก่อนจะมีมนุษย์อีก แต่ถ้าพูดถึงต้นไม้ในเมืองที่ต้องอยู่คู่กับสิ่งปลูกสร้าง อยู่ใกล้บ้านเรือน มันจำเป็นต้องมีคนที่มีทักษะความรู้มาดูแล”

จอห์นเล่าให้ฟังถึงความแตกต่างระหว่างต้นไม้ในป่ากับต้นไม้ในเมือง ถ้าเราปล่อยให้ต้นไม้ในเมืองโตตามธรรมชาติโดยไม่ตัดแต่งดูแล รากของต้นไม้ก็จะขยายแผ่กว้างไปเรื่อยๆ จนอาจรบกวนฐานรากสิ่งปลูกสร้างหรือท่อประปา ส่วนกิ่งก้านก็จะแผ่ไปทุกทิศทาง อาจไปพันสายไฟฟ้า เข้าไปในอาคาร หรือกิ่งหักเป็นอันตรายต่อผู้สัญจร

“ตามธรรมชาติ ต้นไม้จะโตเข้าหาแสง ถ้าเป็นในป่าที่ต้นไม้หนาแน่น การเติบโตของต้นไม้จะเป็นไปในทางเพิ่มความสูงเพื่อแข่งกันหาแสง ซึ่งไม่มีปัญหากับแรงโน้มถ่วง แต่ต้นไม้ในเมืองซึ่งมักอยู่ในพื้นที่เปิดโล่ง การเติบโตมักเป็นการแผ่กิ่งก้านไปด้านข้างทุกทิศทาง หากการแตกกิ่งไม่สมดุล แม้ต้นไม้จะแข็งแรง แต่ก็สู้แรงโน้มถ่วงไม่ได้ สุดท้ายอาจล้มหรือกิ่งหัก เป็นอันตรายต่อผู้คนและทรัพย์สิน”

แม้โดยอาชีพ รุกขกรคือคนที่ดูแลต้นไม้ แต่หากมองให้ลึกจริงๆ แล้ว อาจเรียกได้ว่าเป็นคนที่ดูแลความปลอดภัยของมนุษย์ด้วยเช่นกัน

John Didj Coles รุกขกรราชสำนักนอร์เวย์ ผู้ดูแลต้นไม้ในราชสำนักทุกต้นกับสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในออสโล

“หลายประเทศในยุโรป ถ้าต้นไม้ไม่ได้รับการดูแลและเกิดอุบัติเหตุขึ้น เช่นถ้าถนนสายหนึ่งมีต้นไม้สวยมากๆ ตลอดสองข้างทาง แต่ไม่ได้รับการดูแล วันหนึ่งบังเอิญกิ่งไม้หักลงมาทับผู้หญิงที่กำลังเข็นรถเข็นลูก เหตุการณ์นั้นจะทำให้ทุกคนกลัว และต้นไม้ทั้งหมดจะถูกตัด เพียงเพราะมัน ‘อาจจะ’ ไม่ปลอดภัย นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดบ่อยในยุโรปช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ซึ่งต้นไม้ถูกตัดด้วยเหตุผลแค่ว่าไม่มีใครอยากเสี่ยง โดยที่ไม่ได้มีผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบหรือประเมินก่อนเลย”

จอห์นพูดถึงความจริงที่น่าเศร้า ทั้งที่จริงแล้ว หากเพียงแค่ต้นไม้เหล่านั้นได้รับการตัดแต่งดูแลอย่างถูกวิธีจากผู้เชี่ยวชาญ ต้นไม้ก็จะไม่เป็นอันตราย แถมสร้างประโยชน์มากกว่าการตัดทิ้งหลายเท่า

“หน้าที่ของเราคือ Save trees from people และ Save people from trees (ช่วยต้นไม้ให้ปลอดภัยจากคน และช่วยคนให้ปลอดภัยจากต้นไม้) โดยเราเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างต้นไม้กับผู้คน เราพูดแทนต้นไม้เพราะเราเข้าใจต้นไม้ เราไม่อยากให้ต้นไม้ทำให้คนบาดเจ็บ เมื่อผู้คนไม่ต้องกังวลว่าต้นไม้จะไม่ปลอดภัย ก็ไม่มีใครคิดจะตัดต้นไม้” จอห์นสรุป

John Didj Coles รุกขกรราชสำนักนอร์เวย์ ผู้ดูแลต้นไม้ในราชสำนักทุกต้นกับสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในออสโล

การดูแลต้นไม้ในฐานะรุกขกร 

เขาเล่าว่า ต้องเริ่มตั้งแต่รู้จักสายพันธุ์ต้นไม้และความต้องการที่ต่างกันของต้นไม้แต่ละชนิด การเลือกปลูกในที่ที่เหมาะสม โดยประเมินว่าต้นไม้จะมีดิน น้ำ แสงแดด เพียงพอต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพหรือไม่ หลังจากปลูกแล้วต้องมีการตัดแต่งดูแล ประเมินสุขภาพรายปี ไม่ต่างจากคุณหมอที่ดูแลสุขภาพของคนไข้

“เวลาผมปลูกหรือตัดแต่งดูแลต้นไม้ ผมไม่ได้มองแค่ว่าสิ่งที่ผมทำจะส่งผลอะไรในวันพรุ่งนี้ มะรืนนี้ แต่มองว่ามันจะส่งผลอะไรในหนึ่งร้อยปีหรือสองร้อยปีข้างหน้า ถ้าผมปลูกตรงนี้ มันจะมีพื้นที่เพียงพอสำหรับเติบโตถึงร้อยปีข้างหน้าไหม เพื่อที่จะได้ตัดสินใจได้ถูกต้อง”

ท่ามกลางการขยายตัวของเมืองและการเพิ่มของประชากร แน่นอนว่าพื้นที่สำหรับต้นไม้ย่อมมีน้อยลง ซึ่งนับเป็นปัญหาสำคัญของต้นไม้ในเมืองทั่วโลก การจัดหาสมดุลระหว่างสองสิ่งนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ

John Didj Coles รุกขกรราชสำนักนอร์เวย์ ผู้ดูแลต้นไม้ในราชสำนักทุกต้นกับสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในออสโล

“ต้นไม้ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางสี่สิบเจ็ดเซนติเมตร สูงแปดถึงสิบเมตร ซึ่งถือเป็นต้นไม้ขนาดกลาง ต้องการดินถึงสามสิบลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าเยอะมากเมื่อเทียบกับราคาของที่ดินในเมือง ทำให้ต้นไม้ใหญ่หลายต้นมีดินและน้ำไม่เพียงพอ เพราะเมื่อพื้นในเมืองส่วนใหญ่เป็นคอนกรีต น้ำซึมทะลุลงไปไม่ได้ ฝนที่ตกมาก็ไหลลงท่อแทนที่จะได้กักเก็บไว้ใต้ดิน”

ผลก็คือสุขภาพต้นไม้ย่ำแย่ ทางออกหนึ่งก็อาจเป็นการเลือกชนิดต้นไม้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่มี แต่ข้อเสียก็คือ ตามอาคารบ้านเรือนก็จะมีแต่ต้นไม้เล็กๆ ที่ไม่ได้ให้ประโยชน์เชิงนิเวศมากนัก นอกจากความสบายตา ทางออกที่ดีกว่าที่จอห์นแนะนำคือ การแบ่งพื้นที่เมืองส่วนหนึ่งให้เป็นพื้นที่สำหรับต้นไม้ใหญ่โดยเฉพาะ

“วิธีคือสร้างพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ เช่นสวนสาธารณะที่ต้นไม้ใหญ่เติบโตได้โดยมีดินเพียงพอ และที่สำคัญคือ ในการสร้างอาคาร ควรมีการวางแผนร่วมกันระหว่างสถาปนิก รุกขกร และนักนิเวศวิทยา เพื่อจัดสรรให้ต้นไม้อยู่ร่วมกับเมืองอย่างเหมาะสม เพราะคนไม่สามารถอยู่ในป่าคอนกรีตอย่างเดียว”

John Didj Coles รุกขกรราชสำนักนอร์เวย์ ผู้ดูแลต้นไม้ในราชสำนักทุกต้นกับสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในออสโล

ความสุขของรุกขกร

จากเด็กชายที่เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่พ่อเป็นรุกขกร ได้ตามพ่อไปทำงาน ได้เป็นลูกมือช่วยส่งเครื่องมือให้พ่อ ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาเลือกเส้นทางสายนี้เมื่อโตขึ้น

“เป็นธรรมชาติของเด็กผู้ชายอยู่แล้วที่สนุกกับการได้วิ่งเล่น ทำอะไรที่น่าตื่นเต้น มีเครื่องมือต่างๆ ได้ปีนต้นไม้ แล้วพอคุณใช้เวลากับอะไรมากๆ มันก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของคุณ ซึ่งผมดีใจมากที่ผมเลือกเส้นทางสายนี้”

จากในอดีตที่เด็กชายจอห์นเคยยืนดูพ่อปีนต้นไม้ มาวันนี้เขาก็กลายเป็นชายบนต้นไม้ที่มีเด็กๆ มายืนล้อมดูอยู่ข้างล่างด้วยความตื่นเต้น หลายครั้งเมื่อเขาลงมา ก็มีเด็กๆ มารุมล้อมพร้อมคำถามมากมาย ซึ่งจอห์นก็ยินดีตอบคำถามเด็กๆ ด้วยความเต็มใจ เขาชอบเล่าให้เด็กๆ ฟังว่าต้นไม้เจ๋งแค่ไหน เช่น ต้นไม้ช่วยสร้างออกซิเจนให้เราหายใจ ช่วยกักเก็บน้ำในระบบราก ทำให้น้ำไม่ท่วม รวมถึงการที่ต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก

“ผมรู้สึกว่าเด็กๆ เขามีความสามารถในการเข้าใจสิ่งต่างๆ ในระดับที่ต่างจากเรา เมื่อพูดถึงต้นไม้ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก เขาจะมีจินตนาการ ซึ่งผมคิดว่าถ้ามีการสอนเรื่องต้นไม้ให้เขาเข้าใจตั้งแต่เด็กๆ โตมาเขาก็จะเคารพต้นไม้ เคารพธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้โลกเรามีปัญหาน้อยลงมาก”

เมื่อถามถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จอห์นได้เรียนรู้จากการทำอาชีพนี้ เขาก็ตอบว่า คือการได้ตระหนักถึงความไม่ยั่งยืนของชีวิตมนุษย์

John Didj Coles รุกขกรราชสำนักนอร์เวย์ ผู้ดูแลต้นไม้ในราชสำนักทุกต้นกับสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในออสโล

“ผมทำงานกับสิ่งมีชีวิตที่มีอายุหลายร้อยปี และอาจจะมีชีวิตอยู่ไปอีกหลายร้อยปีข้างหน้าจากการช่วยเหลือของเรา แต่เราไม่สามารถอยู่จนเห็นวันนั้น นี่จึงเป็นเหมือนมรดกที่เราทิ้งไว้ เป็นความรับผิดชอบที่ไปไกลกว่าอายุขัยของเรา เหมือนผมมีโอกาสเห็นอนาคตที่คนทั่วไปไม่มีโอกาสได้เห็น

“ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นขยะในมหาสมุทร มลพิษ โลกร้อน ทั้งหมดก็มาจากการที่มนุษย์คิดระยะสั้น มองแค่อายุขัยตัวเอง แต่ไม่ได้มองถึงอนาคตของโลกในอีกสองร้อยปีข้างหน้า สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ต้นไม้ถูกตัดเพื่อสร้างตึกสร้างอาคาร ความยากคือการทำให้คนเข้าใจ ว่ามนุษย์ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดของโลก เราเป็นแค่ส่วนหนึ่ง”

ตลอดชีวิตการทำงานของรุกขกรชาวนอร์เวย์คนนี้ เขาไม่เพียงแต่ดูแลต้นไม้ในราชสำนักนอร์เวย์เท่านั้น แต่เขายังทำงานกับรุกขกรทั่วโลก และได้เดินทางไปทำงานช่วยต้นไม้ในหลายๆ ประเทศ อีกทั้งยังมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะกรรมการการแข่งขันปีนต้นไม้ระดับนานาชาติ (International Tree Climbing Championships)

John Didj Coles รุกขกรราชสำนักนอร์เวย์ ผู้ดูแลต้นไม้ในราชสำนักทุกต้นกับสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในออสโล

“เมื่อคุณทำงานกับต้นไม้ที่อายุหลายร้อยปี หรือต้นไม้ใหญ่ที่ไม่รู้กี่คนโอบ เช่น ต้นสนยักษ์ (Giant Sequoia) เป็นสิ่งที่คุณจะไม่มีวันลืม การได้เห็นต้นไม้เหล่านี้ ทำให้เรารู้สึกถ่อมตัว รู้สึกว่าตัวเองตัวเล็กราวกับมด อายุสั้นนิดเดียว และการได้เห็นความเกี่ยวโยงของระบบนิเวศ ได้เห็นสิ่งมีชีวิตนักปีนป่ายตัวจิ๋วๆ ตามกิ่งก้านต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นแมลง ไลเคน ไม้อากาศ (Air Plants) ก็เป็นสิ่งที่น่าประทับใจ ผมรู้สึกโชคดีมากที่มีโอกาสได้เห็นต้นไม้ที่น่ามหัศจรรย์มากมายบนโลกใบนี้ และผมจำได้ทุกต้น”

รุกขกรชาวนอร์เวย์เล่าความรู้สึก ซึ่งทุกครั้งที่ได้ปีนขึ้นไปยืนบนกิ่งก้านของคุณปู่ต้นไม้ใหญ่ นั่นคือความรู้สึกที่ประเมินค่าไม่ได้

“มันเป็นความรู้สึกที่พิเศษมาก สำหรับต้นไม้บางต้น ผมคิดว่ามีคนได้ไปเหยียบดวงจันทร์มากกว่าคนที่ได้มายืนบนยอดของต้นไม้ต้นนี้เสียอีก มันเป็นความพิเศษที่คุณเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่คนบนโลกที่ได้เห็นความสวยงามในมุมนี้”

จากนอร์เวย์ถึงเชียงใหม่ และภารกิจช่วยต้นยางนา

นับตั้งแต่ยุค 90 ที่จอห์นมาเมืองไทยครั้งแรกในฐานะนักท่องเที่ยวแบกแพ็กเกอร์ หลังจากนั้น โชคชะตาก็พาให้เขาได้พบกับภรรยาชาวไทยซึ่งเป็นคนเชียงใหม่ และนับจากนั้น เชียงใหม่ก็เปรียบดังบ้านหลังที่สองของเขา ซึ่งหนึ่งในหลายสิ่งที่เขาประทับใจเกี่ยวกับเมืองไทย ก็คือการได้เห็นต้นไม้ใหญ่อยู่ร่วมกับผู้คนในเขตเมืองได้ โดยเฉพาะต้นยางนาขนาดใหญ่ตลอดถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน

“มีไม่กี่ที่ในโลกที่มีต้นไม้ใหญ่ขนาดนี้ในเขตเมือง ผมเคยอ่านบันทึกในยุค 1996 ที่พูดถึงประวัติของต้นยางนาที่นี่ว่ามีทั้งหมด 1,047 ต้น ผมรู้สึกว่านี่เป็นความพิเศษมากที่มีต้นไม้ใหญ่ขนาดนั้นบนถนนที่ตัดผ่านเมือง

“ผมรู้สึกว่านิสัยสบายๆ ‘ไม่เป็นไร’ ของคนไทย อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยชีวิตต้นไม้ใหญ่หลายๆ ต้นไว้ เพราะเขาไม่กังวลว่าต้นไม้จะโค่นหรือกิ่งหักมาทับบ้านหรือเปล่า ทำให้คนอยู่ร่วมกับต้นไม้ใหญ่ได้ ในขณะที่ถ้าเป็นอเมริกาหรือยุโรปบางประเทศ ต้นไม้นั้นอาจถูกตัดไปแล้วเพราะอยู่ใกล้บ้านเรือน ไม่มีใครอยากเสี่ยง เพราะถ้ากิ่งหักหรือโค่นมาทำคนบาดเจ็บ อาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนมาก แต่ในยุคหลังๆ มีแนวคิดตะวันตกเข้ามาเยอะขึ้น คนเริ่มตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นที่เชียงใหม่ มีคนอยากให้ต้นไม้ใหญ่ถูกตัดเพราะความกลัว”

และนั่นก็อาจเป็นชะตากรรมในอนาคตของยางนาบนถนนสายนี้ ซึ่งจอห์นก็คิดมาตลอดว่า อยากให้ยางนาเหล่านี้ได้รับการดูแลที่ดี จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้ว จอหน์ได้รับเชิญเป็นหนึ่งในคณะกรรมการและวิทยากรเรื่องความปลอดภัยในการปีนต้นไม้ ในงานแข่งขันปีนต้นไม้ชิงแชมป์ประเทศไทย ค.ศ. 2019 ทำให้เขาได้มีโอกาสพูดคุยกับคนที่ทำงานสายนี้ในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นรุกขกร ทีมจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่ม BIG Trees และเครือข่ายต้นไม้ในเมือง ซึ่งนั่นก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ฟื้นฟูสุขภาพต้นยางนา

John Didj Coles รุกขกรราชสำนักนอร์เวย์ ผู้ดูแลต้นไม้ในราชสำนักทุกต้นกับสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในออสโล
John Didj Coles รุกขกรราชสำนักนอร์เวย์ ผู้ดูแลต้นไม้ในราชสำนักทุกต้นกับสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในออสโล

“ผมได้เจอกับคนไทยหลายกลุ่มที่ทำงานหนักมากเพื่อช่วยต้นไม้ ทั้งติดต่อหน่วยงานราชการ หาทุน ซึ่งผมรู้ว่าไม่ง่าย ผมชื่นชมในความทุ่มเทของพวกเขามาก ผมชอบเวลาที่เห็นคนทำอะไรที่มาจากหัวใจ และนั่นก็ทำให้ผมยินดีมากๆ ที่จะมาช่วยและทำงานร่วมกัน”

แม้สถานการณ์ COVID-19 จะทำให้แผนนี้ถูกเลื่อนออกไป แต่เขายืนยันว่าเมื่อ COVID-19 หมด ก็จะกลับมาแน่นอน

“นี่คือสิ่งแรกในลิสต์ที่อยากทำ คนที่นี่รู้จักต้นไม้ในเขตร้อนดีกว่าผม เป็นโอกาสดีที่จะได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน คุณอาจสอนผมบางอย่าง และผมก็อาจสอนคุณบางอย่าง”

แม้ว่าหนทางข้างหน้าในการดูแลสุขภาพต้นไม้ใหญ่ในเมืองไทยยังอีกยาวไกล แต่หากเทียบกับอดีตที่ผ่านมา จอห์นก็มองว่ามีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้นมาก

“อย่างเมื่อยี่สิบปีก่อน ครอบครัวฝั่งภรรยาผมไม่รู้เลยว่าอาชีพผมทำอะไร แต่ตอนนี้เขาเข้าใจแล้ว ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น มีคนทำงานด้านนี้มากขึ้น และอีกอย่างที่ผมสังเกตคือ คนที่ทำอาชีพนี้ในไทยหลายคนเรียนจบสูง จบปริญญา ซึ่งต่างจากตะวันตกที่คนทำงานภาคสนามมักไม่ได้มาทางสายวิชาการ ส่วนคนที่มาทางสายวิชาการก็ไม่มาปีนต้นไม้ นี่คือข้อได้เปรียบที่เมืองไทยมีเหนือหลายๆ ประเทศ”

จอห์นปิดท้ายถึงความหวังในอนาคตของต้นไม้ใหญ่ในเมืองไทย

John Didj Coles รุกขกรราชสำนักนอร์เวย์ ผู้ดูแลต้นไม้ในราชสำนักทุกต้นกับสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในออสโล

ภาพ : The Royal Court

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’