เมื่อก่อน จิตร์ ตัณฑเสถียร เป็นนักกลยุทธ์โฆษณาแห่งยุค

เขาเป็นเจ้าของบริษัททำวิจัยผู้มีตำแหน่งบนนามบัตรว่า Human Expert เป็นผู้อยู่เบื้องหลังแคมเปญโฆษณาที่โดนใจทั้งเจ้าของสินค้า ผู้บริโภค และกรรมการในงานประกวดมากมาย ถ้าอยากจะร่วมงานกับเขา บางทีคุณอาจต้องรอเป็นเดือนๆ

พระจิตร์ จิตฺตสํวโร อดีตนักกลยุทธ์โฆษณากับโปรเจกต์การใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือตีโจทย์ชีวิต

วันนี้ จิตร์ จิตฺตสํวโร เป็นพระ ท่านอยู่ที่วัดป่าธรรมอุทยานในจังหวัดขอนแก่น มีหน้าที่รับผิดชอบเป็นพี่เลี้ยงสามเณร เขียนหนังสือ ไปบรรยายและเป็นจิตอาสาบ้างตามแต่จะมีใครมานิมนต์

คนคุ้นเคยเรียกท่านว่า หลวงพี่โก๋

หลายคนเข้าใจว่าการทำโฆษณาต่างกันลิบลับกับการเผยแผ่ธรรมะ แต่นักกลยุทธ์ที่เก่งจะบอกว่า การทำโฆษณาให้มีประสิทธิภาพ คุณต้องเข้าใจสิ่งที่คุณจะสื่อสารเป็นอย่างดี ทำเรื่องนั้นให้เข้าใจง่ายๆ และบอกผู้รับสารได้อย่างตรงประเด็นว่าสินค้าหรือบริการนี้จะแก้ปัญหาให้เขาได้อย่างไร การเผยแผ่ธรรมะก็เช่นกัน

หลวงพี่โก๋เก่งเรื่องนี้ ทั้งในวันที่เป็นฆราวาสและวันที่ท่านมาเป็นพระ อาจจะกลับกันแค่ ในงานโฆษณา หลวงพี่เน้นตรงการสื่อสาร แต่ในงานธรรมะ หลวงพี่เน้นที่การทำความเข้าใจ

เรื่องราวการละทิ้งทุกสิ่งของคนหนุ่มที่ประสบความสำเร็จและมีพร้อมทุกอย่างเพื่อไปออกบวชอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การที่เรารู้ว่าคนคนนี้เคยได้ครอบครองความรู้สึกที่น่าหลงใหล และเคยเผชิญความท้าทายต่างๆ มาไม่ต่างจากเรา ทำให้การที่เขาทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่มี และสละสิทธิ์ทุกความเป็นไปได้ในทางโลก เพื่อไปหาคำตอบให้ตัวเอง เป็นเรื่องที่สร้างทั้งคำถามและแรงบันดาลใจให้แก่คนมากมาย ทั้งที่เคยและไม่เคยรู้จักหลวงพี่มาก่อน

เรานัดหมายเพื่อสนทนากับหลวงพี่ เป็นการสนทนาธรรมกับพระที่ห่างไกลจากที่เราคิดเอาไว้มาก เริ่มจากการนัดหมายผ่านกล่องข้อความในเฟซบุ๊ก การพบกันที่บ้านกลางเมืองใหญ่ การนั่งสัมภาษณ์บนโต๊ะ รวมถึงการพูดคุยเพิ่มเติมทางโทรศัพท์

หลวงพี่บอกว่า “ไม่ต้องเกรงใจเลยครับ อะไรที่จะเป็นประโยชน์ หลวงพี่ยินดี”

พระจิตร์ จิตฺตสํวโร อดีตนักกลยุทธ์โฆษณากับโปรเจกต์การใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือตีโจทย์ชีวิต

สิ่งที่ยากที่สุดตอนตัดสินใจบวชเมื่ออายุ 45 ปี คืออะไรคะ

ไม่ยากเลยนะ หลวงพี่ตั้งใจจะบวชแค่สองปี และเป็นการบวชครั้งที่ห้า มันไม่ได้เกิดขึ้นปุบปับ แต่ผ่านการไตร่ตรองและวางแผนมาแล้ว หลวงพี่มองการบวชเป็นการพักร้อน คนทั่วไปอาจพักร้อนด้วยการไปเที่ยว แต่การพักร้อนของหลวงพี่ คือการได้อยู่กับตัวเอง

หลวงพี่จัดการเรื่องงาน เรื่องบริษัท หมดแล้วตั้งแต่การบวชรอบที่สาม ตอนนั้นเตรียมตัวก่อนบวชประมาณแปดเดือน เราอยากให้สิทธิ์ตัวเองที่จะไม่กลับมาก็ได้ ก็เลยไม่มีอะไรยาก ไม่มีอะไรต้องห่วง

ชีวิตทางโลกของหลวงพี่ร้อนเรื่องอะไรคะ ถึงต้องไปพักร้อน

ความรับผิดชอบ ทั้งต่อลูกค้า ต่องาน ต่อทีม เรามีความรับผิดชอบที่ต้องรักษามาตรฐานที่เราตั้งและตกลงกับคนอื่นไว้ การพยายามทั้งสร้างงานและสร้างคนตลอดเวลามันหนักและเหนื่อยมาก หลวงพี่เกษียณตอนอายุสี่สิบห้า แต่ถ้านับจำนวนชั่วโมงทำงานแล้ว ก็พอๆ กับคนที่เกษียณตอนหกสิบนะ มันเหนื่อยจนเราอนุญาตให้ตัวเองพักผ่อนได้แล้ว

แค่พักเฉยๆ ไม่หายเหนื่อยหรือคะ ทำไมถึงต้องบวช 

การพักร้อนคือการหยุดพักจากเรื่องอะไรบางเรื่อง การเดินทางก็เป็นทางออกที่ดี แต่ตอนนั้นหลวงพี่อายุสี่สิบกว่าแล้ว ที่ผ่านมา หลวงพี่ได้ใช้ชีวิตจริงๆ ได้เดินทาง ได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ จนถึงจุดที่อิ่มแล้ว การเดินทางเพิ่มอีกสักที่สองที่ไม่ได้เติมเต็มเรามาก สิ่งที่หลวงพี่ต้องการคือความสงบ หลวงพี่เลยเลือกทางนี้

อีกอย่าง หลวงพี่มีโปรเจกต์แห่งชีวิต คืออยากตีโจทย์ชีวิตหลวงพี่เองให้แตก หลวงพี่ทำงานวิจัยสินค้าตัวแล้วตัวเล่า ทำความเข้าใจชีวิตใครต่อใครมาแล้วมากมาย ตอนนี้อยากตีโจทย์ชีวิตของตัวเอง

ทำไมถึงเลือกใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือตีโจทย์คะ

วิธีการของธรรมะมันหมดจด ธรรมะมีหลายนิยามมากนะ แต่นิยามเหล่านั้นทำให้คนงงและคิดว่าธรรมะยาก แต่จริงๆ แล้วธรรมะก็พูดเรื่องธรรมชาติของใจนั่นแหละ ธรรมชาติของใจก็คือ เปลี่ยนตลอดเวลา

ธรรมะจึงสอนให้เราเป็นอิสระจากใจตัวเอง ไม่ไหลไปตามความคิด ความเชื่อ และอารมณ์ ของเรา เรามักจะโดนใจลากจูงไปไหนต่อไหนเสมอ ธรรมะสอนให้อย่าเชื่อใจตัวเอง อย่าไปวิ่งตามเขา เพราะเขาไม่นิ่ง เขาไม่แน่นอน วิ่งตามเขายังไงเราก็เป็นทุกข์ เมื่อเราเป็นอิสระจากการลากจูงนั้นได้ เราจะเข้าใจตัวเองได้จริงๆ แบบไม่มีความคิดและอารมณ์มาเกี่ยวข้อง

การหยิบใช้ธรรมะไม่ได้เกิดชั่วข้ามคืนนะ มันมีความแตกต่างระหว่างความรู้กับการตระหนักรู้ ตอนนี้เรารู้แล้วว่าธรรมะคือเรื่องธรรมชาติของใจ แต่เราต้องหมั่นฝึกฝนเพื่อให้ตระหนักรู้และเข้าใจเรื่องนี้ซ้ำๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรา

ทำไมเราต้องเข้าใจตัวเองคะ 

ถ้าชีวิตนี้มีใครเข้าใจเราอย่างถ่องแท้ เราจะสบายใจแค่ไหน แล้วถ้าเราได้เป็นคนคนนั้นให้ตัวเอง เป็นคนที่เข้าใจตัวเราเอง ให้อภัยตัวเองได้ ให้กำลังใจตัวเองได้ ยอมรับตัวเองได้ มันจะดีแค่ไหน

มันเป็นคุณภาพชีวิตเราโดยตรง ลองคิดถึงคนที่ไม่รู้จักตัวเองสิ มันต้องน่าเศร้ามากถ้าเรารู้จักคนรอบตัวหมดเลย แต่เราไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักข้อดี ไม่รู้จักข้อเสีย ของตนเอง ไม่รู้จักระมัดระวังตนเอง

การที่เราไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวเอง ไม่รู้จักตัวเอง อาจทำให้เราเผลอไปปฏิบัติตัว หรือมีความคิดที่ไม่ดีกับคนที่มีความสำคัญกับเรา เช่น พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน คนรัก หรือแม้กระทั่งเพื่อนร่วมงาน ซึ่งจะทำให้เราไม่สบายใจ ลึกๆ แล้วไม่มีใครรู้สึกดีจากการกระทำเรื่องพวกนี้หรอก

จิตร์ ตัณฑเสถียร อดีตนักกลยุทธ์โฆษณากับโปรเจกต์การใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือตีโจทย์ชีวิต
จิตร์ ตัณฑเสถียร อดีตนักกลยุทธ์โฆษณากับโปรเจกต์การใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือตีโจทย์ชีวิต

การบวชรอบนี้ อะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนไปมากที่สุดจากตอนเป็นฆราวาสคะ

ความเชี่ยวชาญในการบอกให้ตัวเองปล่อยมือจากความคิด และการบอกได้ว่าอะไรคือความปกติของใจ พอมาบวช เรามีโอกาสศึกษาเรื่องใจ และทำความรู้จักตัวเองเป็นงานหลักของชีวิต เรื่องนี้ไม่มีใครสอนเราได้ แต่เราต้องฝึกฝนจนรู้ด้วยตัวเองว่าอะไรคือความคิด อะไรคือความจริง เรียนรู้ถูกผิดจากการกระทำของตัวเองซ้ำๆ

บางครั้งเราเพลิดเพลินกับการปรารถนาดีต่อผู้อื่น แต่ก็พบว่าเราไม่ได้มีความสุข วันนี้หลวงพี่รู้แล้วว่า ความไม่สงบสุขไม่ได้เกิดจากความปรารถนาดี แต่มันเกิดจากความคาดหวังที่แนบมากับความปรารถนาดีนั้นต่างหาก

ทุกข์ของพระเหมือนทุกข์ของฆราวาสไหมคะ 

มันก็คือความทุกข์แบบมนุษย์ทั่วไป ทุกข์จากความเจ็บป่วย จากการห่วงหาอาทร จากความหลงว่าเราถูกคาดหวัง จากความสับสนในตัวเองก็มี หรือจากความรับผิดชอบ ก็ไม่ต่างจากคนทั่วไป แต่ไหวพริบที่เรามีต่อความทุกข์มันดีขึ้น เราเริ่มเข้าใจว่าความทุกข์เกิดได้อย่างไร แล้วจะไม่ทุกข์ได้อย่างไร ซึ่งนั่นก็คือการเข้าใจชีวิตในอีกมิติหนึ่ง

ทำไมการสอนสามเณรครั้งแรก สามเณรถึงกับวิ่งหนีไม่อยากเรียนคะ

มันไม่ใช่วัยเขาน่ะ อย่างค่ายคุณธรรมที่โรงเรียนส่งมา เขาไม่ได้อยากมา นี่ไม่ใช่สิ่งที่เขาเลือก อยู่ดีๆ ต้องมาอยู่ที่ร้อนๆ ไม่สะดวกสบาย แล้วต้องมาฟังเรื่องอะไรก็ไม่รู้

หลวงพี่ถนัดการวิเคราะห์อินไซต์คนอยู่แล้ว การเอาชนะใจเด็กไม่น่าเป็นเรื่องยากนะคะ

การอยู่กับเด็กไม่ได้ยากนะ แต่ยากที่เราไม่อยากอยู่กับเขา เรามีคำถามตลอดว่าทำไมต้องทำสิ่งเหล่านี้ มันอยู่ในหน้าที่ของพระด้วยเหรอ เรามาบวชเพื่อเรียนรู้เรื่องตัวเอง ไม่เคยคิดว่ามาบวชเพื่อทำอะไรหรือเพื่อใคร แล้วเราเคยอยู่กับคนที่พูดรู้เรื่อง คนที่พร้อมจะสื่อสารกัน เราไม่เคยสื่อสารกับเด็ก ทำได้ไม่ดีด้วย หลวงพี่ไม่ชอบทำอะไรที่ทำได้ไม่ดี

แล้วทำยังไงเมื่อต้องทำสิ่งที่ไม่ชอบคะ

เปลี่ยนที่ใจครับ จากที่เคยเครียดตอนรู้สึกว่าต้องทำหน้าที่นี้ด้วยเหรอ จนไปผลักไสงาน รู้สึกกดดันที่ทำได้ไม่ดี พอเราได้สติก็เอาใจไปวางที่ใหม่ ละตัวตนความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ แล้วทำเท่าที่ทำได้ ก็ผ่อนคลายขึ้น ไม่รู้สึกว่ามีใครมานั่งกดดันเรา พอใจโล่งจากความกังวล เราก็อยู่กับงานตรงหน้าได้อย่างมีไหวพริบ

หลวงพี่สอนเด็กๆ อย่างไรคะ

เริ่มจากการเข้าใจว่าเราให้เขาทำอะไรที่เกินความพร้อมไม่ได้ ฉะนั้น เราต้องปูพื้นฐานให้เขา อารมณ์ของเด็กเติบโตแทบจะเท่าอายุเขา แต่ส่วนของเหตุผลจะโตตามมาทีหลังมาก ก่อนให้เขารับฟังหรือเข้าใจอะไรสักอย่าง หลวงพี่จะเริ่มจากการชวนทำอะไรที่เขาจะสนุกก่อน เราจะไม่บังคับเขาจนเกินความพร้อมของเขา จากนั้นเราจะเริ่มมองออกว่าจะทำอะไรกันต่อดี

พระจิตร์ จิตฺตสํวโร อดีตนักกลยุทธ์โฆษณากับโปรเจกต์การใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือตีโจทย์ชีวิต

ทำอะไรบ้างคะ

สารพัดรูปแบบเลยครับ ดูหนังก็มี แต่เราต้องแม่นยำในวัตถุประสงค์ว่าเราดูอะไรเพื่ออะไร อะไรก็ตามที่ทำให้เด็กเข้าใจ เราน่าจะใช้วิธีนั้น อย่างหนังที่เราดูกันคือ มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง (Inside Out) หลวงพี่ใช้หนังเรื่องนี้เพื่อให้เกิดภาษากลางในการคุยกับเด็ก สร้างอารมณ์ให้มันเป็นตัวๆ มีสีๆ แล้วต่อยอดไปได้ว่ามีตัวอะไรอยู่ในนั้น ตัวโอ้เอ้หรือเปล่า หรือตัวโกรธ มันดีตรงไม่มีการตำหนิบุคคลว่าใครมาทำให้เรารู้สึกยังไง แต่เป็นการมองเห็นว่าตัวอารมณ์ต่างๆ ต่างหากที่ทำให้เรามีทีท่าแบบนี้

วิธีที่อาจจะไม่ค่อยเข้าเรื่องก็มีนะ เวลาที่เด็กถูกอารมณ์บางอย่างครอบเขาจนมิด จนเขาไม่เห็นความสุข ไม่เห็นทางออกอะไรเลย มันไม่ใช่เวลาที่เราจะคุยกันด้วยเหตุด้วยผล หลวงพี่เลยเปิดการ์ตูนหมีสามตัวเรื่อง We Bare Bears ให้ดู ยาวประมาณ​แปดถึงสิบนาที แล้วพอเขาหัวเราะได้ เราก็บอกว่าเห็นไหม ความโมโหมันไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป เห็นไหม เราตั้งหลักใหม่ได้ หลวงพี่ใช้มันเป็นตัวเปลี่ยนอารมณ์เพื่อให้เด็กเข้าใจความจริงเกี่ยวกับอารมณ์ตัวเอง เป็นจุดพักอารมณ์ก่อนที่เราจะคุยเรื่องบางเรื่องกันได้

หนังอีกเรื่องที่หลวงพี่มักจะชวนสามเณรดูคือ Wonder เรื่องที่เด็กๆ มักหยิบมาพูดถึงคือ แม้ออกัสจะโดนเพื่อนที่โรงเรียนแกล้ง แต่ก็มีครูใหญ่คอยช่วย แต่โรงเรียนในต่างจังหวัดบ้านเราอาจจะจัดการเรื่องการกลั่นแกล้งในโรงเรียนได้ไม่ทั่วถึง หลวงพี่ก็จะบอกเขาว่า ถ้าครูช่วยไม่ได้ เราก็ต้องช่วยตัวเอง บางทีก็วิ่งหนีไปเลย เขาจะต่อยหนูอยู่แล้ว หนูรู้ว่าสู้ไม่ไหวก็ไม่ต้องไปสู้เขา อย่าให้เขาเอาความสุขหนูไป ถ้าโดนขโมยของก็ให้เขาเอาไปแต่ของ อย่าให้เขาเอาความสุขเราไป จะไปเสียใจ โกรธ อยู่ทำไม เราก็จะได้พูดคุยกันว่าทำไมถึงรู้สึกแบบนั้น พอเราเห็นแบบนั้นเราได้เรียนรู้อะไร

นอกจากสอนเณรแล้ว พ่อแม่ยังชอบส่งเด็กเกเรมาให้หลวงพี่สอนด้วย หลวงพี่จัดการเด็กกลุ่มนี้ยังไงคะ 

หลวงพี่ไม่จัดการเขา แต่หลวงพี่จัดการตัวเอง ทัศนคติที่เราคิดไม่ดีกับเขาเป็นอุปสรรคมาก แต่ถ้าเราเห็นว่าเขาเป็นชีวิตที่มีค่า เห็นศักยภาพในตัวเขา ความสัมพันธ์จะเปลี่ยนไปเลย ไม่ว่าใครจะบอกว่าเขาเกเรยังไง เราลบตรงนั้นไปก่อน ให้เขาได้อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ถูกตัดสินบ้าง ไม่ว่าจะอยู่กับใคร หลวงพี่จะอยู่กับศักยภาพของเขามากกว่าจะคิดจัดการกับปัญหาของเขา

เขาจะพบศักยภาพตัวเองในเวลาสิบกว่าวันนี้หรือเปล่าเป็นเรื่องของเขา แต่อย่างน้อย เราต้องแสดงทีท่าในการอยู่กับเขาให้เป็นตัวอย่าง หลวงพี่ไม่เคยคิดเปลี่ยนเด็กเลยด้วยซ้ำ หลวงพี่คิดว่าฝึกตัวเองมากกว่า เมื่อก่อนเวลาเรามองหน้าต่าง เราเคยพยายามจัดการเรื่องข้างนอก เดี๋ยวนี้เหมือนเรามองกระจกเงา เราเห็นข้างในว่าสิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกยังไง แล้วเราจะจัดการกับตัวเองอย่างไร

บางครั้งผู้ปกครองเห็นว่าเด็กอยู่กับเราแล้วสบายใจ ก็มาถามว่าอยู่กันยังไง เราต้องให้เขารู้จักรักตัวเอง ในวันที่ถูกตีกรอบความเป็นไปได้ของตัวเอง เราทำให้ลูกเรามีความสุขได้นะ แค่เขาได้รับความเข้าใจจากคนที่มีความหมายกับเขา เขาจะมีความสุข จะมีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่าการที่พ่อแม่เข้าใจเรา

หลวงพี่พูดเสมอว่า สิ่งที่ทำให้มีความสุขที่สุดคือพ่อแม่พี่น้องเข้าใจหลวงพี่ อยู่เคียงข้างเราเสมอทั้งวันขึ้นและวันลง เขาอดทนได้เวลาที่เราทดลอง โดยไม่พูดกับเราว่า “แม่บอกแล้วไม่ใช่เหรอ” หลวงพี่ทำสิ่งเหล่านี้กับเด็กๆ คืออยู่ข้างเขา

แล้วกับเด็กออทิสติกล่ะคะ แนวทางการสอนของหลวงพี่เป็นอย่างไร

หลวงพี่เรียนรู้ที่จะอยู่กับเขาฉันมนุษย์กับมนุษย์ ภาษาในการสื่อสารอาจจะไม่ใช่แบบเดิม เพราะเขามีชุดความสนใจหรือวิธีการสื่อสารที่จำกัดมาก เราต้องพูดภาษาเขา เมื่อเราเข้าใจภาษาเขา พูดภาษาเขาได้ ก็หมดปัญหา เพราะปัญหากับเด็กออทิสติกคือสื่อสารกันไม่ได้

เวลาหลวงพี่อยู่กับเขา บางทีก็ไม่ใช่เด็กนะที่ได้ประโยชน์ แต่พ่อแม่ได้กำลังใจ บางทีพ่อแม่ต้องพยายามบอกตัวเองว่าลูกเขาดี ลูกเขาน่ารัก ต้องรับมือกับสายตาของคนรอบข้าง เวลาที่หลวงพี่ปฏิบัติกับเด็กในฐานะมนุษย์กับมนุษย์ แล้วอยู่กับความเป็นไปได้มากกว่าข้อจำกัด เด็กบางคนอาจจะไม่ได้รับบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ แต่แม่เขาได้กำลังใจว่าไม่ใช่แม่เขาคนเดียวที่รักลูกเขาได้ เวลาที่คนอื่นเห็นหลวงพี่อยู่กับคนที่เป็นออทิสติก เขาจะเปลี่ยนทัศนคติว่าอยู่กันแบบนี้ได้

 หลวงพี่คิดว่าชีวิตเด็กออทิสติกไม่มีปัญหาเลยด้วยซ้ำ คนรอบตัวเขามากกว่าที่มีปัญหากับเขา ตัวเขาเองส่วนใหญ่เขาจะมีความสุข ไม่คิดมาก เป็นคนซื่อๆ ตรงๆ โกหกไม่เป็น ไม่มีแง่เงื่อน ไม่สลับซับซ้อน การที่เรามีโอกาสอยู่กับคนที่โกหกไม่เป็นมันดีนะ

พระจิตร์ จิตฺตสํวโร อดีตนักกลยุทธ์โฆษณากับโปรเจกต์การใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือตีโจทย์ชีวิต
พระจิตร์ จิตฺตสํวโร อดีตนักกลยุทธ์โฆษณากับโปรเจกต์การใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือตีโจทย์ชีวิต

บทบาทของพระคืออะไรคะ

บทบาทของพระ ต่อตัวเองก็คือการทำความเข้าใจชีวิต องค์ประกอบของชีวิต ทำไมมนุษย์คนหนึ่งถึงเป็นทุกข์ ทุกข์เกิดจากอะไรบ้าง แล้วถ้าจะไม่ทุกข์ต้องทำตัวยังไง

บทบาทต่อผู้อื่นคือ การคลี่คลายความทุกข์ แต่เราก็ต้องดูให้เหมาะสม ถ้ามีคนหิวน้ำ เราจะเอาธรรมะให้เขาได้ไหม หิวน้ำก็ให้น้ำก่อนไหม ถ้าต้องการความเป็นเพื่อน ให้ความเป็นเพื่อนก่อนไหม เด็กๆ อายุเท่านั้นเองนะ จะให้เขาปล่อยวางอะไรล่ะ คนวัยเรากล้าปล่อยวางเพราะว่าเราเข้าใจโลกมาระดับหนึ่งแล้ว เรารู้แล้วว่าความสำเร็จหน้าตาเป็นยังไง รสชาติเป็นยังไง แต่เราจะไปบอกคนที่ยังไม่เคยรู้จักความว่างเปล่าของความสำเร็จได้ยังไงว่ามันไม่ได้มีอะไรมากมาย เขาไม่มีวันเชื่อ แล้วกับเด็กๆ ที่ยังไม่ได้ลิ้มรสโลกมาสักเท่าไหร่ จะบอกอะไรที่ลึกซึ้งเขาก็คงไม่เข้าใจ

งานคลายทุกข์ของพระกับจิตแพทย์ต่างกันยังไงคะ

ใกล้เคียงกันมาก จิตแพทย์มีองค์ความรู้ที่ถูกต้องมากๆ พระเองก็ไม่ใช่ทุกรูปที่จะเข้าใจถึงจิตใจ แม้จะห่มผ้าเหลืองก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะศึกษาและพร้อมที่จะถ่ายทอดเรื่องนี้ได้ดี หลวงพี่คิดว่าสะดวกใจที่ไหนก็ไปที่นั่น

แล้วทำไมคนเมืองยุคนี้นึกถึงจิตแพทย์ก่อนพระล่ะคะ

คนอาจจะนึกถึงพระเมื่อจะไปทำบุญมากกว่าไปปรึกษาเรื่องความทุกข์ ถ้าไปพบจิตแพทย์ เขารู้ว่าจะไปที่ไหน แต่ถ้าอยากพบพระที่รู้เรื่องนี้ อาจจะไม่รู้ว่าพระรูปไหนจะให้คำปรึกษาได้

ทำไมหลวงพี่ชอบคุยกับคนใกล้ตายมากกว่าไปสวดศพคะ

หลวงพี่สวดศพไม่เป็นเลย หลวงพี่มีโอกาสเป็นจิตอาสาไปคุยกับคนป่วยระยะสุดท้าย เราเรียนรู้เรื่องกายกับใจ ได้เห็นว่าสิ่งนี้ก็มีวาระของมัน ทำให้เราตระหนักว่าวันนั้นต้องมาถึงสักวัน แล้วหลวงพี่ก็เคยอยู่ตรงนั้น ในช่วงโค้งสุดท้ายของพ่อ หลวงพี่พบว่าสติมีประโยชน์จริงๆ เราถึงอยากอยู่ตรงนั้นเพื่อครอบครัวอื่นๆ เรารู้ว่าลูกที่อยู่ตรงนั้นรู้สึกยังไง หลวงพี่เคยเห็นแม่เหนื่อยกับการอยู่ข้างๆ พ่อมาหกปี หลวงพี่เข้าใจ บางคนที่ตัดสินใจหยุดรักษา มันเจ็บ เขาต้องการใครสักคนที่จะบอกว่า เขามีสิทธิ์ตัดสินใจได้จริงๆ

ถ้าวันนี้คุณจะตัดสินใจแบบนี้ เพราะถึงจุดที่ครอบครัวต้องเดินต่อไปในอีกลักษณะหนึ่ง หลวงพี่อยากจะเป็นคนหนึ่งที่บอกเขาว่า เราเข้าใจคุณ ทำให้เขาหมดข้อกังขาว่าเราได้ทำสิ่งที่เหมาะสมที่สุดให้แก่กันและกันแล้ว

พระจิตร์ จิตฺตสํวโร อดีตนักกลยุทธ์โฆษณากับโปรเจกต์การใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือตีโจทย์ชีวิต

หลวงพี่คุยอะไรกับคนเหล่านั้นคะ

หลวงพี่ได้ไปทั้งที่โรงพยาบาลและที่บ้าน ไปเตรียมความพร้อมก่อนวาระสุดท้ายของชีวิต แต่ละคนมีสภาพจิตใจต่างกัน บางคนยังดิ้นรนต่อสู้กับชีวิต บางคนยังโกรธ โกรธครอบครัว โกรธโรงพยาบาล โกรธโชคชะตา หลวงพี่ไปทำความเข้าใจเขา แล้วดูว่าพอสื่อสารอะไรได้บ้าง คนที่ไม่พร้อมจะฟังอะไรเลยก็มีนะ หลวงพี่ก็ไม่ได้ทำอะไรกับเขา แต่จะไปพูดกับญาติหรือคนที่อยู่ตรงนั้นที่กำลังทุกข์ ว่าทำไมคนที่เขาเคารพเป็นอย่างนี้ในวาระสุดท้าย

ทำไมช่วงเวลานั้นคนป่วยถึงต้องการพระมากกว่าหมอคะ

ผู้ป่วยมีบางเรื่องที่อยากคุยกับพระ เช่นตายแล้วไปไหน หมอบางท่านที่มีธรรมะก็อาจจะบอกได้ แต่ด้วยชุดผ้าเหลือง เขาคงรู้สึกว่าน่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ บางคนก็อยากบอกบางเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องน่าภาคภูมิใจกับใครสักคน ขอให้ใครสักคนเป็นพยานว่าเขาได้กล่าวมันออกมาแล้ว และเขาจะไม่จำมันอีกแล้ว บางคนก็แค่อยากประกอบพิธีกรรม อยากถวายสังฆทาน

ตอนหลวงพี่ได้รับเชิญให้ไปพูดที่งาน TEDxBangkok เลือกเรื่องที่จะพูดอย่างไรคะ

เลือกที่จะไม่พูดครับ หลวงพี่พยายามมากที่จะไม่ไป ตอนนั้นหลวงพี่บวชได้สองพรรษาเอง มันไม่ใช่สิ่งที่น่ารักสำหรับพระที่ไม่มีพรรษา ไม่มีคุณสมบัติ ไม่มีคุณวุฒิใดๆ ทางพระเลย จะไปทำตัวเปิ่นๆ ในที่สาธารณะให้เสียผ้าเหลืองเปล่าๆ บ้านเรามีพระดีๆ เยอะเลย จะมาเอาพระหมิ่นเหม่ไปพูดทำไม

หลวงพี่ไปกราบหลวงพ่อกล้วย (พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร) เพราะหวังว่าท่านจะยืนยันว่าความคิดหลวงพี่ถูกต้อง แต่หลวงพ่อกลับบอกว่า “ไปเถอะ คนเขาเป็นทุกข์ เรากล่าวเท่าที่เราพบมันมา น่าจะเป็นประโยชน์”

หลวงพี่บอกหลวงพ่อตรงๆ ว่า ลูกไม่อยากไปเลย ไม่อยากได้คำชมและไม่อยากให้ใครมาว่า ไม่รู้ว่าจะเปลืองตัวทำไม หลวงพ่อก็บอกว่า “ก็มีตัวตนอย่างนี้ เลยยังมีอะไรให้ห่วง” เท่านั้นแหละ หลวงพี่ถึงได้รู้ว่าผิดไปแล้ว ฉะนั้น จะไปขายหน้าหรืออะไรก็ตาม เราจะไปเรียนรู้ คือตอนนั้นคิดแต่ว่าจะไปเรียนรู้

กติกาของ TEDx คือต้องเตรียมสไลด์ แต่ตามหลักธรรมแล้วพระไม่ควรมีบทพูด มันไม่ใช่วิถีของนักบวช ทีมงานแนะนำให้หลวงพี่เล่าชีวิตประจำวันของตัวเอง ทำสไลด์เล่าว่าเราเป็นยังไงมายังไง วัดเราเป็นอย่างไร หลวงพี่ทำอะไรในชีวิตประจำวัน บอกสิ่งที่เกิดกับชีวิตเราซื่อๆ ตรงๆ เท่านั้นเอง

เวลามีคนในวงการโฆษณามาปรับทุกข์กับหลวงพี่ ทำไมถึงชวนพวกเขาปลูกผักคะ

เพื่อนๆ หลวงพี่เขาคิดเยอะ การปลูกผัก ปลูกต้นไม้ ต้องมาตั้งใจกับจอบกับเสียมที่ไม่ถนัด ก็จะลืมเรื่องที่ออฟฟิศไป ได้อยู่ในที่โล่งแจ้งบ้าง ก็เปลี่ยนบรรยากาศ ได้กลับมาอยู่กับตัวเองสักพัก ทำให้เขาพบว่ามีช่วงขณะที่เขาไม่ต้องคิดอะไรมากก็ได้ เป็นการพักผ่อน เป็น Retreat จริงๆ

มีคนที่มาสนทนาธรรมกับหลวงพี่แล้วอยากบวชไหมคะ

ก็เยอะอยู่นะ

หลวงพี่ทำให้คนไกลวัดหันมาสนใจธรรมะได้ยังไงคะ

หลวงพี่ไม่เรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นธรรมะ แต่เรียกว่าความสบายใจ เพราะคำว่าธรรมะ คนมักเข้าใจว่าต้องห่มขาวอดข้าวเย็นหรือเปล่า ต้องบวชไหม ส่วนความสบายใจคือ แค่เราเข้าใจว่าเราไม่ต้องคิด รู้จักใส่ใจในเรื่องที่ควรใส่ใจ ไม่ปล่อยให้จิตใจล่องลอยไปเรื่องอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทุกข์ ไม่จำเป็นต้องคิดตลอดเวลา ก็ไม่ยาก 

หลวงพี่มักจะบอกว่า คุณมารู้จักวิธีการที่นี่ แล้วเอาไปใช้ได้ตลอดชีวิตกับทุกกิจกรรม ถ้าคุณกวาดใบไม้ที่วัดได้ คุณลองกลับไปทำความสะอาดที่บ้านดูสิ ถ้าคุณพูดกับพระดีๆ ได้ คุณลองพูดกับครอบครัวแบบนี้ดีไหม

หลวงพี่จะไม่มานั่งจี้ว่าเขายังไม่ได้ทำอะไร แต่จะบอกว่าเขาทำสิ่งนั้นอยู่แล้ว แค่ต้องพยายามทำสิ่งเหล่านี้ในกิจกรรมอื่นๆ มากขึ้น เช่นเวลาคุณพูดกับลูกค้าหรือพูดในที่ประชุม คุณรู้ว่าคุณคิดอะไร อันนี้เรียกว่า สติ แล้วคุณก็รู้ว่าอะไรไม่ควรพูด นั่นเรียก ปัญญา คุณอาจรู้ว่าควรพูดอะไร เมื่อไหร่ ฟังคนอื่นเป็น แต่น้องๆ บางคนอาจพูดผิดจังหวะ นั่นคือวุฒิภาวะของสติและปัญญา น้องเขายังทำได้เท่านั้น เขายังเรียนรู้อยู่ ทักษะแบบนี้เอามาใช้กับครอบครัวได้ไหม ใช้พูดกับคนที่มารับออร์เดอร์อาหารเราจะดีหรือเปล่า ขยายมันออกไป คนส่วนใหญ่ปฏิบัติธรรมอยู่แล้วนะ เขาแค่ไม่รู้ว่าคือธรรมะ

จิตร์ ตัณฑเสถียร  อดีตนักกลยุทธ์โฆษณากับโปรเจกต์การใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือตีโจทย์ชีวิต
จิตร์ ตัณฑเสถียร อดีตนักกลยุทธ์โฆษณากับโปรเจกต์การใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือตีโจทย์ชีวิต

ทำไมหลวงพี่ถึงรีแบรนด์ธรรมะให้เป็นความสบายใจคะ

บางทีการที่เราติดป้ายให้ตัวเองว่าเป็นคนธรรมะธัมโมก็ทำให้เราคิดว่าเราพิเศษ เป็นผู้ทรงศีล หรืออะไรสักอย่าง บางทีธรรมะก็มีหลุมพรางนะ ธรรมะคือการที่เราฝึกเป็นมนุษย์ปกติคนหนึ่ง เข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น อยู่กับตัวเองเป็น อยู่กับผู้อื่นอย่างชาญฉลาด เติบโตจากความสัมพันธ์กับตัวเอง เราเข้าถึงการฝึกตนได้โดยไม่ต้องมีคำว่าธรรมะ ไม่ใช่ว่ามีแล้วจะผิด หรือไม่มีแล้วจะถูก มันแค่ไม่จำเป็น

ทำไมหลวงพี่ไม่ค่อยสอนด้วยภาษาบาลีคะ

อย่างที่หนึ่ง เวลาเราสื่อสารไปแล้วเขาไม่เข้าใจจะมีประโยชน์อะไร อย่างที่สอง เป้าหมายของเราไม่ได้ต้องการให้เขาเข้าใจเรา แต่เราต้องการให้เขาเข้าใจตัวเอง เพราะฉะนั้น เราต้องพาเขาไปเข้าใจตัวเองในแง่มุมต่างๆ เขาถึงจะมีศรัทธาต่อการฝึกหัด เห็นไหม คุณเคยทำได้ คุณให้เกียรติลูกค้าได้ ทำไมคุณไม่ค่อยให้เกียรติลูกล่ะ มันเป็นไปได้นะ คุณมีทักษะนั้นอยู่แล้ว และอย่างที่สาม หลวงพี่พูดภาษาบาลีไม่เป็น

เพจวิชาใจเกิดขึ้นได้อย่างไรคะ

เพจนี้เกิดขึ้นจากการที่หลวงพี่ใช้เฟซบุ๊ก แต่หลวงพี่ไม่เคยใช้เพราะสนใจเรื่องชาวบ้าน หรืออวดว่าเราไปทำคุณงามความดีที่ไหน หลวงพี่ใช้เพื่อสื่อสารเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ และใช้รับข่าวสารที่หลวงพี่กด See First ไว้สามสิบเปอร์เซ็นต์

หลวงพี่อยากจะพูดกับคนอื่นถึงวิธีรับมือกับความทุกข์ที่เข้ามาในรูปแบบต่างๆ ในชีวิตประจำวัน แต่ไม่อยากพูดในนามตัวเอง เพราะไม่มีประโยชน์ แล้วหลวงพี่ก็ไม่ต้องการทำการตลาดให้ตัวเอง เพราะฉะนั้น ไม่ต้องใช้ชื่อหลวงพี่ เนื้อหาเหล่านี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับใจ เป็นเรื่องราวที่เป็นสากล เลยสร้างเพจวิชาใจขึ้นมา

เนื้อหาเกี่ยวกับใจในมุมไหนคะ

เป็นเรื่องที่หลวงพี่ตอบคนที่แวะมาหา ประเด็นที่มีคนมาถามบ่อยๆ เราก็จะรู้ว่ามันเป็นประเด็นร่วม น่าจะมีอีกหลายคนที่อยากถามคำถามนี้ ก็จะเลือกเรื่องนั้นมาโพสต์ หลวงพี่ตั้งใจทำเนื้อหามาก คราฟต์ทีเดียว เลือกใช้ภาษาให้ดีที่สุดเท่าที่ศักยภาพของตัวเองจะมี หลวงพี่อยากให้ผู้คนได้คลายทุกข์ ได้กำลังใจ จึงพยายามรับผิดชอบเนื้อหาให้ดี ไม่ให้มีผลกระทบที่ไม่ดีตามมา จึงใส่ใจเลือกถ้อยคำที่จะไม่ทิ่มแทง ไม่พาดพิงคนอื่น ไม่ทำให้คนที่เป็นเจ้าของเรื่องเสียหาย และตั้งใจเลือกภาพมาประกอบ

เราเป็นพระใหม่ก็ไม่รู้ว่ามีอะไรมากกว่าที่เรารู้ไหม บางทีเราก็ไม่ได้แจ่มแจ้งในธรรมอะไรมากมาย แต่วันนี้เรารู้วิธีคลี่คลายความทุกข์ได้จำนวนหนึ่งและอยากจะแบ่งปัน

หลวงพี่สนใจยอดแบบที่คนโฆษณาสนใจไหมคะ

ไม่สนเลยครับ ไม่เคยดูคอมเมนต์ด้วย หลวงพี่ใช้วิธีตั้งเวลาโพสต์ล่วงหน้า แล้วก็ปล่อยไปแบบอัตโนมัติ ได้รู้ว่าเพจเรามีประโยชน์ก็ตอนที่เซเว่น อีเลฟเว่น มาขอเนื้อหาในเพจไปทำหนังสือขาย หลวงพี่เลยเอาเนื้อหามาปัดฝุ่นเรียบเรียงใหม่ให้เป็นหนังสือชื่อ ดีต่อใจ ขายเล่มละยี่สิบห้าบาทที่เซเว่น อีเลฟเว่น รายได้ทั้งหมดบริจาคให้โรงพยาบาลในจังหวัดขอนแก่นเพื่อไปซื้ออุปกรณ์ใช้ในห้องฉุกเฉินของเด็ก เป็นเรื่องดีที่เนื้อหาที่หลวงพี่ตั้งใจทำจะกลายเป็นอุปกรณ์ที่คุณหมอต้องการ และดีใจที่มันจะได้รับใช้คนมากขึ้น

พระจิตร์ จิตฺตสํวโร อดีตนักกลยุทธ์โฆษณากับโปรเจกต์การใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือตีโจทย์ชีวิต

หลวงพี่เป็นพระที่เคร่งไหมคะ

หลวงพี่เคร่งกับใจตัวเองมาก ส่วนข้างนอกหลวงพี่เคร่งพอประมาณ เคร่งกับใจตัวเองคือพยายามดูแรงจูงใจที่จะทำสิ่งต่างๆ สำรวจตั้งแต่จุดตั้งต้นซึ่งก็คือ เจตนา อย่างจะทำเพจ ก็ถามตัวเองว่า ต้องทำไหม ไม่ทำได้ไหม ถามตัวเองให้ชัดว่าเราต้องการอะไร แล้วก็ทำตามวัตถุประสงค์นั้นอย่างเคร่งครัด

ส่วนเรื่องข้างนอกก็มีบางอย่างที่หลวงพี่ไม่ถือเป็นสาระ อย่างการนั่งเสมอกับญาติโยม หลวงพี่ไม่ต้องเอาแผ่นอาสนะมารอง หรือการสอนเณรผ่านการดูหนัง หลวงพี่รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ และรู้ว่าควรทำแค่ไหนถึงจะพอดี หลวงพี่ไม่ให้กฎกติกามาเป็นอุปสรรค แต่ก็เคารพกฎกติกา

หลวงพี่บวชเพื่อจะรู้จักตัวเอง ผ่านไป 6 ปีแล้ว ได้รู้จักตัวเองดีขึ้นไหมคะ

ดีขึ้นมากครับ

หลวงพี่คือใครคะ

เราไม่จำเป็นต้องเป็นอะไร เราเข้าใจชีวิตมากขึ้น เข้าใจชีวิตตัวเอง เข้าใจชีวิตคนอื่น ทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนๆ กัน  ต่างคนเคยผ่านชีวิตมาอย่างไรเขาก็จะมีร่องรอยแบบนั้น แล้วก็มีปฏิสัมพันธ์กับตัวเองดีขึ้นมากๆ ไม่เอาอะไรมากมายกับตัวเอง แล้วก็ไม่ค่อยหวังอะไรมากมายกับคนอื่น ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนอย่างเคย

พอรู้จักตัวเองแล้ว อยากเปลี่ยนไปทำความเข้าใจเรื่องอื่นแทนไหมคะ

หลวงพี่เคยคิดว่าอยากลาสิกขาเมื่อเข้าใจตัวเองแล้ว อยากใช้ชีวิตเรียบง่ายในพื้นที่เล็กๆ ของตัวเอง อยู่ตรงนั้นไปจนตาย ทุกวันนี้อยู่กับการทำสวน ปลูกดอกไม้ ต้นไม้ วันๆ เรารู้เนื้อรู้ตัวกับสิ่งเหล่านี้ มันสงบ ก็อยากทำสิ่งเหล่านี้เป็นหลัก 

แต่ชีวิตคนเราถ้าให้ประโยชน์กับผู้อื่นได้ด้วยก็ดี หลวงพี่ไม่คิดว่าตัวเองเป็นผู้รู้ธรรมะหรือพูดธรรมะรู้เรื่องนะ แต่หลายคนบอกว่าเรามีประโยชน์ต่อเขา เราก็อยู่เพื่อประโยชน์ของเขาเพิ่มเติมจากประโยชน์ต่อตัวเอง

สิ่งที่จะทำต่อไปจากนี้คงทำเพื่อประโยชน์คนอื่นมากกว่าตัวเอง แต่เรายังมีหน้าที่ต่อตนเองอยู่ ก็คือเข้าใจตนให้แตกฉานกว่านี้ ต้องมีไหวพริบต่อจิตใจเราเองซึ่งมันเจ้าเล่ห์เพทุบาย มันยังมีอะไรให้ศึกษาอีกเยอะ เราก็จะทำสิ่งเหล่านี้ต่อไป แล้วแบ่งปันให้คนที่สนใจ

เรื่องล่าสุดที่หลวงพี่ได้ค้นพบจากการบวชคืออะไรคะ

การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องง่าย การใช้ชีวิตปกติเป็นเรื่องง่ายมากๆ และมนุษย์ทุกคนมีสิ่งนี้อยู่แล้ว แค่เราไปยอมให้ความไม่ปกติเป็นใหญ่ในชีวิตเรา เพราะเราเห็นความไม่ปกติเป็นเรื่องปกติ

พระจิตร์ จิตฺตสํวโร อดีตนักกลยุทธ์โฆษณากับโปรเจกต์การใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือตีโจทย์ชีวิต

การเป็นนักโฆษณาบนตึกสูงใจกลางเมือง บริหารงบประมาณจำนวนมหาศาล มีวิถีชีวิตที่ต้องก้าวให้ทันเรื่องราวใหม่ๆ อยู่เสมอ มันช่างดูไม่เข้ากับความสงบนิ่ง สมถะ และเรียบง่าย ในวิถีของพุทธศาสนา แต่หลวงพี่กลับบอกเราว่า นักคิดในธุรกิจสร้างสรรค์ทั้งหลาย รวมทั้งนักโฆษณานี่แหละที่มีแต้มต่อในการจะเข้าใจธรรมะได้มากกว่าคนอื่นๆ เพราะเป็นนักคิดก็เลยรู้ที่มาที่ไปของความคิด อันเป็นต้นเหตุของความทุกข์ทั้งหลาย แล้วก็ยังมีความสามารถพิเศษในการจัดการความคิดที่ผุดขึ้นมาในสมอง ซึ่งจะเป็นหนทางให้เราจัดการกับความทุกข์เหล่านั้นได้อย่างลงตัว

เราได้พูดคุยกับหลวงพี่หลายเรื่องในบทบาทของนักโฆษณา และนี่คือ 6 คำแนะนำ จากนักโฆษณาท่านนี้ที่บวชมาแล้ว 6 พรรษา ซึ่งเราไม่อยากเก็บเอาไว้คนเดียว

  1. อำนาจที่อยู่ในมือไม่ว่าจะใหญ่โตหรือเล็กน้อย จงใช้มันให้ดี
  2. จงพยายามทำให้ทุกการสื่อสารมันมีคุณค่า และสร้างแต่แรงขับเคลื่อนดีๆ
  3. อย่ายึดติดกับความคิดของตัวเอง อย่าคิดว่าเขาต้องเข้าใจ คิดว่าเขาควรทำอย่างนั้น เขาควรเป็นอย่างนี้ เพราะความคิดความเห็นมันคืออารมณ์ และอารมณ์คือความไม่แน่นอน
  4. ถ้าเราคิดไม่ดี มันจะมีคำพูดที่ไม่ดีหลุดออกมา ไม่ว่าเราจะระวังแค่ไหน
  5. อย่าทำให้งานมีความยากที่ไม่จำเป็น
  6. ลูกค้าไม่ใช่พระเจ้า เขาเป็นคน และเขาก็มีทุกข์มีสุขไม่ต่างจากเรา

Writer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ