เมื่อโควิด-19 แพร่ระบาดไปกระทบชีวิตประชาชนทุกสารทิศ แพลตฟอร์ตแผนที่เรียลไทม์อย่าง Jitasa.Care เปิดให้คนเข้ามาปักหมุดขอความช่วยเหลือเมื่อเผชิญโควิด-19 และใช้พลังของ Crowdsourcing ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาช่วยเหลือกัน ทั้งอัปเดตจุดสำคัญต่างๆ เช่น จุดตรวจโควิด จุดเติมออกซิเจน และประสานงานให้คนเข้าถึงการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่รวบรวมข้อมูลและรักษาชีวิตคนไว้ไม่ให้เกิดความสูญเสียอันน่าสลด

แพลตฟอร์มนี้เกิดขึ้นในเวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น เริ่มตั้งแต่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ร่วมพัฒนาโดยทีมงานอาสาสมัครกว่า 20 ชีวิต ทั้งจากภาคเอกชนและประชาสังคม ทำงานกันอย่างสุดกำลัง เพื่อสร้างแพลตฟอร์มให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน พวกเขาทราบเป็นอย่างดีว่า เวลาเพียงไม่กี่นาทีก็อาจต่อชีวิตใครสักคนได้

เมื่อนับเวลาจากวันที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางบนโซเชียลมีเดียในวันที่ 26 กรกฎาคม จนถึงวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา ระบบมีผู้ใช้งานเข้ามามากกว่า 3,500,000 คน ทั้งเข้ามาขอความช่วยเหลือกว่า 6,275 รายการ และได้ติดต่อช่วยเหลือไปแล้วอย่างน้อยกว่า 2,000 ชีวิต 

ในวันที่หมุดสีแดงที่แสดงการรอความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแค่พื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่ยังกระจายไปทั่วประเทศ The Cloud นัดหมายพูดคุยกับ สรณ์-สรณ์สกุล เถาหมอ หนึ่งในตัวแทนทีมพัฒนา Jitasa.Care เพื่อสอบถามถึงเบื้องหลังการทำงานในภารกิจเร่งด่วนนี้ และหนทางการช่วยเหลือกันต่อไปในสภาวะวิกฤต

เพื่อให้หมุดสีแดงกลายเป็นหมุดสีเทาที่ได้รับการช่วยเหลือแล้วอย่างรวดเร็วที่สุด 

และป้องกันให้ไม่มีอีกหนึ่งชีวิต ต้องกลายเป็นหมุดสีแดงบนแผนที่

เบื้องหลังแผนที่จุดสำคัญและคนที่รอการช่วยเหลือจากโควิด-19 โดยทีมอาสาสมัครที่พัฒนาเครื่องมือให้คนไทยช่วยกันง่ายขึ้น

เครื่องมือที่ช่วยให้คนช่วยเหลือกัน

“จุดเริ่มต้นของเราเกิดขึ้นจากกลุ่ม ThaiFightCOVID นำโดย รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา และ ไก่-ดร.ปิยพรรณ หันนาคินทร์ ที่ช่วยเหลือสถานการณ์โควิดมาตั้งแต่ปีก่อน มีโจทย์ขึ้นมาว่า จะแก้ปัญหาให้ผู้ตามหาวัดที่รับณาปนกิจผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพราะเริ่มมีผู้เสียชีวิตมากขึ้น และไม่ใช่ทุกวัดที่เปิดรับ” สรณ์เล่าจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์

เมื่อโจทย์นี้เกิดขึ้น ทีม ThaiFightCOVID จึงชักชวน Developer มากฝีมืออย่าง วิว-วสันชัย วงศ์สันติวนิช และทีม SOAR (Strategic and Operation Aerospace Research Center) ผู้ทำงานด้านดาวเทียมและอวกาศ รวมถึงสรณ์และอาสาสมัครไฟแรงด้านต่างๆ ที่อยากช่วยเหลือ เข้าร่วมภารกิจ 

“หลายคนไม่เคยเจอกันมาก่อน เป็นงานอาสาที่แต่ละวันเราเริ่มประชุมกันตอนสองทุ่มและทำงานกันไปจนดึก เมื่อตื่นเช้ามาก็แยกย้ายไปทำภารกิจของแต่ละคน และตอนกลางคืนก็ประชุมกันใหม่เพื่ออัปเดตสถานการณ์ ทำอย่างนี้เรื่อยๆ เกือบทุกคนมีงานประจำตอนกลางวัน แต่เรามีความคิดตรงกัน และอยากเอาความสามารถของแต่ละคนมาช่วยแก้ปัญหา”

แนวคิดหลักของ Jitasa.Care คือเครื่องมือเสมือนกระดาษทด ให้คนหรือหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบ ค้นหา หรือเพิ่มสถานที่จำเป็นลงบนแผนที่ เดิมเริ่มจากแสดงวัดที่ณาปนกิจผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ก่อน แล้วค่อยๆ ขยายให้ครอบคลุมทั้งโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม จุดฉีดวัคซีน จุดพักคอย (Isolation Center) จุดตรวจโควิด-19 จุดเติมออกซิเจน (เข้าไปเลือกประเภทได้ที่มุมขวาบนของเว็บไซต์) 

ส่วนใครต้องการความช่วยเหลือ เพียงกรอกข้อมูลออนไลน์ ระบุสิ่งที่ต้องการ เช่น หาเตียง ถังออกซิเจน ยา ข้าวของเครื่องใช้ และรอการยืนยัน จะมีหมุดปรากฏขึ้นบนแผนที่ เมื่อมีคนเห็นและเข้าไปช่วยเมื่อไร สถานะของหมุดก็จะเปลี่ยน เพื่ออัปเดตสถานการณ์แบบเรียลไทม์ และไม่เกิดความซ้ำซ้อนในการช่วยเหลือ

ความท้าทายใหญ่คือ ข้อมูลที่มีอยู่ล้วนกระจัดกระจายและอัปเดตกันคนละช่วงเวลา ทีม Developer นำโดยวิวและทีม SOAR จึงมองว่าวิธีที่ดีที่สุดคือการใช้ Crowdsourcing เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาช่วยอัปเดตข้อมูลได้ด้วยตัวเอง โดยใส่เพียงข้อมูลที่จำเป็นเท่านั้น สอดคล้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และเพื่อให้การขอและเข้าช่วยเหลือเป็นไปอย่างง่ายที่สุด ไม่ต้องส่งเอกสารหรือกรอกข้อมูลอะไรให้ยุ่งยาก 

แม้ว่าการเปิดกว้างให้ใครเข้ามาใช้ก็ได้ อาจทำให้มีผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามาสร้างความปั่นป่วน แต่จริงๆ แล้ว พวกเขาออกแบบระบบและการดำเนินการเพื่อป้องกันกรณีเหล่านี้ได้อย่างรัดกุม และผู้ที่ได้รับประโยชน์จากวิธีการนี้มีเยอะกว่ามาก

“สิ่งที่เราประทับใจมากคือความมีน้ำใจของคนไทย ก่อนหน้านี้เราแค่ไม่รู้ว่าคนที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่ที่ไหนบ้าง แต่ปรากฏการณ์ที่เห็นจากเครื่องมือนี้คือ คนเริ่มสำรวจรอบบ้านของเขาว่ามีจุดสำคัญ หรือใครต้องการความช่วยเหลือบ้าง เราไม่ได้มีทีม Operation เป็นของตัวเอง ข้อมูลแทบทั้งหมดมาจากอาสาสมัคร เราเพียงช่วยอำนวยความสะดวกให้คนช่วยเหลือกันได้ง่ายขึ้น ต้องขอบคุณทุกคนที่ช่วยกัน” 

เบื้องหลังแผนที่จุดสำคัญและคนที่รอการช่วยเหลือจากโควิด-19 โดยทีมอาสาสมัครที่พัฒนาเครื่องมือให้คนไทยช่วยกันง่ายขึ้น
ทีม Developer ของ Jitasa.care

ร่วมอาสา

การสมัครเข้าเป็นอาสาสมัครของ Jitasa.Care ทำได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่นาที โดยแบ่งประเภทของอาสาสมัครเป็น 4 แบบคือ

หนึ่ง อาสาข้อมูล ช่วยเพิ่มและอัปเดตสถานะของจุดต่างๆ เช่น จุดฉีดวัคซีนนี้ยังเปิดให้บริการอยู่ มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

สอง อาสาติดต่อ ทั้งบุคคลทั่วไปและบุคลากรสาธารณสุข ช่วยสอบถามและประเมินอาการของผู้ป่วย เพื่อดำเนินการต่อได้อย่างเหมาะสม และยืนยันข้อมูลในกรณีที่บางคนอาจไม่สะดวกพิมพ์ เช่นผู้สูงอายุ หรือไม่ทราบอาการที่แท้จริงของตัวเอง รวมถึงประสานงานกับจุดหมายปลายทาง ช่วยลงทะเบียนในระบบ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ด้วย

“ตอนนี้อาสาติดต่อที่ต้องการเพิ่มเติมอย่างยิ่งคือบุคลากรสาธารณสุข ที่จะช่วยติดต่อเพื่อเช็กอาการผู้ป่วย เข้าใจว่าด่านหน้าตอนนี้หนักมาก แต่หากใครไม่ได้อยู่ด่านหน้าและพอมีเวลา เรายินดีเป็นอย่างยิ่งถ้าสะดวกมาช่วยเหลือตรงนี้”

สาม อาสาพาไป ช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต แรกเริ่มเป็นมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งและร่วมกตัญญูที่เข้ามาช่วยเหลือในนามบุคคล แต่ตอนนี้มีอาสาส่งข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ให้ถึงที่หมายแล้ว เช่น ถังออกซิเจน อาหาร ยา

สุดท้าย อาสาทั่วไปที่เข้ามาเติมเต็มความต้องการอื่นๆ 

ปัจจุบัน มีอาสาสมัครกว่า 6,000 คนเข้าไปลงทะเบียนบนเว็บไซต์ แต่ยังคงต้องการกำลังช่วยเหลืออีก โดยเฉพาะบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น แพทย์หรือเจ้าหน้าที่กู้ภัย 

ทุกคนคือทีมเดียวกัน

การทำงานแบบออนไลน์ในบริษัทที่คนพอรู้จักกันมาก่อนยังถือว่ายาก แต่ Jitasa.Care บริหารจัดการให้เกิดผลลัพธ์ได้ในเวลาอันสั้น เพราะทุกคนมีเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกัน และเคารพความรู้ความสามารถแต่ละฝ่าย

“ในทีมของเรามีตั้งแต่น้องๆ Developer วัยยี่สิบต้นๆ ไปจนถึงพี่ๆ ผู้ใหญ่ระดับผู้บริหารองค์กรเอกชน สิ่งสำคัญในเวลาแบบนี้คือการสื่อสาร เราแบ่งอย่างชัดเจนว่าในการคุยแต่ละครั้ง เราจะคุยเรื่องอะไรบ้าง ใครต้องเข้าร่วม พอจบเรื่องนี้ ใครที่ไม่เกี่ยวข้องแยกไปคุยห้องอื่นกันต่อได้ เพื่อให้ต่างคนต่างทำงานของตัวเองแล้วมาต่อจิ๊กซอว์กัน ไม่ต้องเสียเวลามานั่งประชุมนานๆ ไม่อย่างนั้นคนจะล้ามาก พอเป็นแบบนี้การทำงานเลยลื่นไหล”

เป็นเรื่องน่าคิดว่า หน่วยงานต่างๆ จะปรับตัว เปลี่ยนระบบให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ไม่ติดอยู่กับกลไกที่วุ่นวาย เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้ประชาชนแบบอาสาสมัครเหล่านี้ได้อย่างไร

เบื้องหลังแผนที่จุดสำคัญและคนที่รอการช่วยเหลือจากโควิด-19 โดยทีมอาสาสมัครที่พัฒนาเครื่องมือให้คนไทยช่วยกันง่ายขึ้น

นอกจากบริหารจัดการภายในแล้ว ทีมงานยังประสานกับหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงภาครัฐ ตั้งแต่เริ่มต้นโปรเจกต์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มร่วมกันให้ได้มากที่สุด โดยในอนาคตอาจมีการต่อยอดไปใช้งานในเรื่องอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้แผนที่แบบนี้ เช่น การรับมือกับภัยพิบัติ

ส่วนในเชิงการออกแบบแพลตฟอร์ม Jitasa.Care คำนึงถึงการใช้งานแบบต่อยอดเสมอ เช่น เมื่อกรอกข้อมูลขอความช่วยเหลือเสร็จ ผู้กรอกจะได้รับ QR Code นำไปแชร์บนแพลตฟอร์มอื่นได้อย่างง่ายดาย เพื่อให้คนอื่นสแกนและช่วยเหลือ โดยไม่ต้องเสียเวลาพิมพ์หรืออธิบายข้อมูลซ้ำๆ 

“การช่วยเหลือไม่มีการแบ่งว่าใครเป็นฝ่ายไหน ใครจะเข้ามาใช้ก็ได้ เรายินดีอย่างยิ่ง บางกลุ่มอาสาที่ทำงานอยู่บน Excel ก็เพียงย้ายข้อมูลเข้ามาปักหมุดบนแผนที่ ทำงานสะดวกและสื่อสารง่ายขึ้นด้วย 

“ตอนนี้อาสาสมัครหลายกลุ่มกำลังคุยกันว่าแต่ละคนจะช่วยอะไรกันได้บ้าง ทุกคนอยากทำให้เหตุการณ์กลับสู่ปกติเร็วที่สุด” สรณ์กล่าว พร้อมเล่าว่าจากข้อมูลตอนนี้ สิ่งที่ควรเร่งดำเนินการคือการเพิ่มจำนวน Isolation Center ในชุมชน เพราะเตียงในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามแทบจะไม่เพียงพอแล้ว รวมทั้งควรเร่งตรวจเชิงรุก และกระจายยาให้มากที่สุด เพื่อให้มีระบบรองรับผู้ป่วยที่จะทำ Home Isolation อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

ส่วนทาง Jitasa.Care จะยังคงมุ่งมั่นพัฒนา และดูแลแพลตฟอร์มนี้ต่อไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

หากใครยังพอมีเวลาและกำลัง ขอเชิญชวนมาเป็นอาสาสมัคร ใช้เครื่องมือนี้เพื่ออำนวยความสะดวก บรรเทาความทุกข์ยาก และรักษาชีวิตของคนไทยไปด้วยกัน

ตรวจสอบสถานการณ์ กรอกข้อมูลเพื่อขอความช่วยเหลือ หรือสมัครเป็นอาสาสมัครได้ที่ คลิก

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : @Jitasa.Care

ภาพ: Jitasa.Care

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป