เมื่อ 12 ปีก่อน ตั้ม-ดร.ศุภพงศ์ สอนสังข์ คือนักออกแบบผลิตภัณฑ์วัย 30 มือฉมังที่ผ่านการสร้างสรรค์ผลงานให้แบรนด์ระดับสากล เขาเคยชนะการประกวดใหญ่ บินข้ามทวีปไปจัดแสดงงานที่ยุโรปอยู่บ่อยครั้ง และเป็นหนึ่งในผู้ได้รับรางวัล Designer of the Year เมื่อ พ.ศ. 2547 และ 2548

แต่แล้วชีวิตก็พลิกผัน ในวันที่กำลังขยับเข้าใกล้ความฝันการเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์ไทยที่ได้รับการยอมรับบนเวทีโลก ตั้มตัดสินใจพักรับงานออกแบบให้ลูกค้าทุกประเภท เพื่อมาเริ่มเป็นเกษตรกร ปลูกป่าบนผืนดินของครอบครัว

Jird Design Gallery, ตั้ม-ดร.ศุภพงศ์ สอนสังข์

หลายคนบ่น บางคนคิดว่าเขาบ้า ปลูกป่าไปแล้วจะได้อะไรขึ้นมา

1 รอบชีวิตผ่านไป ตั้มในวัย 43 ปีและภรรยา เดียร์-นริศรา สอนสังข์ นำทางเราเข้าสู่อาณาจักรต้นไม้บนแปลงหมายเลข 2 ขนาด 4 ไร่ครึ่ง ย่านหนองโพ จังหวัดราชบุรี ปกคลุมพื้นที่ที่เคยเป็นเพียงทุ่งหญ้าเปล่าไว้ให้ร่มเย็น เขาเริ่มบทสนทนาด้วยการแนะนำให้รู้จักชื่อเสียงเรียงนามและสรรพคุณของต้นไม้แต่ละต้น ตั้งแต่สัก ประดู่ พะยูง แดง มะค่าแต้ มะคำดีควาย มะเกลือ มะฮอกกานี ยางนา สมอพิเภก จันทน์กะพ้อ อินจัน และอีกหลายสิบชื่อในบริเวณเล็กๆ ที่ล้วนเพาะปลูกด้วยมือตัวเองจนเราแทบจดไม่ทัน

“เราเริ่มปลูกด้วยความเป็นนักสะสม อยากมีต้นไม้ทุกแบบในไทยรวมไว้ที่นี่ ตอนแรกมีมากกว่าสี่ร้อยสายพันธุ์เลย แต่ตอนนี้เหลือรอดอยู่ประมาณร้อยสี่สิบสายพันธุ์ตามความเหมาะสมกับพื้นที่ เน้นไปที่ไม้เศรษฐกิจและไม้ภูมิปัญญาไทยโบราณมากขึ้น” ตั้มอธิบายจักรวาลของต้นไม้บนพื้นที่นี้

Jird Design Gallery แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่ชุบชีวิตที่ 3 ให้ไม้เก่าและปลูกป่าใหม่ไว้ใช้ในอีก 20 ปี

ภายในป่า ตั้มยังสร้างบ้านและห้องทำงานไม้เล็กๆ ที่ชุบชีวิตไม้เก่าจากชุมชนมาผลิตเฟอร์นิเจอร์ในชื่อแบรนด์ Jird Design Gallery หรือเรียกย่อๆ ว่า ‘เจิด’ ควบคู่ไประหว่างรอต้นไม้ในป่าเติบโต

เจิดมีแนวคิดเบื้องหลังบรรเจิดสมชื่อ แบรนด์นี้ตั้งใจไม่มีหน้าร้าน ไม่ฝากขายที่อื่น ไม่ขายออนไลน์ ลูกค้าจะพบพวกเขาได้ในงานนิทรรศการเท่านั้น ส่วนสินค้าที่ขายก็แสนทนทาน อายุของวัสดุอยู่ยืนยาวรวมนับร้อยปี

อีกไม่ช้า วัสดุที่จะนำมาใช้ผลิตคือต้นไม้รอบๆ ที่ปลูกขึ้นใหม่ด้วยมือนักออกแบบเอง แต่ละต้นมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เป็นผลงานที่จะมีเพียงชิ้นเดียวในโลก

สร้างธุรกิจที่ฉีกตำราการตลาดแบบเดิมๆ ไปพร้อมสร้างป่าและอยู่ได้อย่างยั่งยืนครบ 1 ทศวรรษ เป็นเกษตรกรควบคู่กับนักออกแบบงานไม้ เรื่องราวเหล่านี้นำพาเรามานั่งบนโต๊ะไม้ที่มีเพียงหนึ่งเดียว เพื่อสนทนากับชายที่เคยถูกสงสัยว่าจะปลูกป่าไปทำไม

ถึงตรงนี้ น่าสนใจไม้ล่ะ

Jird Design Gallery แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่ชุบชีวิตที่ 3 ให้ไม้เก่าและปลูกป่าใหม่ไว้ใช้ในอีก 20 ปี

01

ไม้ออกแบบแล้ว

“เรารู้สึกไม่ค่อยมีประโยชน์ต่อวิชาชีพ” นักออกแบบมือรางวัลเผยความรู้สึกในใจ ในวันที่ประกาศหยุดรับงานออกแบบ

หลังเรียนจบด้านออกแบบผลิตภัณฑ์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้มมุ่งใช้ชีวิตการทำงานราว 8 ปีแรกไปกับการพิสูจน์ฝีมือ เปิดบริษัทรับออกแบบและขยันส่งงานประกวดที่ต่างประเทศ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากนักออกแบบอย่าง ฟิลิปส์ สตาร์ค (Philippe Starck) และ นาโอโตะ ฟุคาซาวะ (Naoto Fukasawa) แต่เขาก็ค้นพบว่าวิธีการนี้ไม่เหมาะกับตัวเองเท่าไร

“การจัดแสดงงานทั่วโลกไม่ได้แปลว่าคุณประสบความสำเร็จ เหมือนไปชุบตัวมากกว่า และพอมาสังเกตดีๆ นักออกแบบระดับโลกที่เราชื่นชมก็เริ่มจากเก่งในประเทศก่อน เลยคิดว่าวิธีที่ตอบโจทย์อาจเป็นการทำให้คนไทยหันมาซื้อและใช้งานออกแบบแบรนด์ของคนไทยก่อน” ตั้มอธิบาย ความคิดนี้ทำให้เขาอยากรื้อระบบการคิดงานของตัวเองใหม่ และถ้าจะทำ ก็ควรเป็นตอนนี้เลย

“ช่วงนั้นเราได้งานใหญ่ที่มีค่าแบบเป็นล้าน รู้สึกเลยว่าถ้าทำต่อไปเรื่อยๆ นิสัยเสียแน่ ใครจ่ายเราแค่หลักแสน เราคงไม่รับ เหมือนขึ้นแล้วลงไม่ได้ นาทีนั้นเลยตัดสินใจว่าต้องเริ่มจากศูนย์” ตั้มเสริม หลังจบงานนั้น เขานำเงินที่มีมาปลูกป่าบนแปลงหมายเลข 1 ที่จังหวัดกำแพงเพชร และบนแปลงหมายเลข 2 ที่เรายืนอยู่ทันที

Jird Design Gallery แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่ชุบชีวิตที่ 3 ให้ไม้เก่าและปลูกป่าใหม่ไว้ใช้ในอีก 20 ปี

แล้วทำไมต้องเริ่มใหม่กับต้นไม้ เราสงสัย

“เวลาชนะงานประกวด เราจะรู้สึกดีใจประมาณนี้ (ทำมือประกอบ) อยู่มาวันหนึ่ง เราเห็นต้นกระเจี๊ยบเขียวที่ปลูกไว้เล่นๆ โตจนออกดอกออกผลให้กิน จู่ๆ การเห็นต้นไม้โตแบบนี้ก็ทำให้เราดีใจในระดับใกล้เคียงกับที่ชนะการประกวด เลยคิดว่าจริงๆ ใจเราอาจชอบต้นไม้ก็ได้ ส่วนงานออกแบบเป็นสิ่งที่ทำได้ดีตามหน้าที่” ตั้มตอบ เขายังจินตนาการว่าถ้ามีป่า ถึงชีวิตการทำงานล้มเหลว ก็คงยังพอกลับบ้านมีข้าวกินเหมือนศิลปินที่ปลีกวิเวกไปคิดงานในป่า

ช่วง 2 ปีหลังจากนั้น เขาจึงพักเพื่อตั้งหลักและทุ่มเทชีวิตให้การปลูกต้นไม้

02

ไม้ตาย

เมื่อผ่านพ้นช่วง 2 ปีแรกที่วัดใจคนว่าจะทนต่อความยากลำบากในการดูแลต้นกล้าที่เติบโตอย่างช้าๆ ไปได้ ในปีที่ 3 ตั้มคิดว่าถึงเวลาหวนคืนสู่วงการออกแบบแล้ว เพื่อสร้างแบรนด์มาทดลองตลาดไทย เตรียมรองรับวันที่ต้นไม้เติบโตพร้อมใช้ในอีก 20 ปีข้างหน้า 

แล้วก็ยิ่งดีขึ้นไปอีก หากเขาแก้ไขปัญหาน่ากวนใจให้นักออกแบบคนอื่นๆ ไปพร้อมกัน

โดยทั่วไป จุดบอดที่นักออกแบบไม่ถนัดคือการขายของ ทำให้ต้องรับงานจากบริษัทที่ไม่ได้เป็นผู้ใช้สินค้าเอง แต่เป็นตัวกลางคัดเลือกแบบที่ถูกใจในราคาสบายกระเป๋า นำไปขายต่อให้ลูกค้าอีกทีหนึ่ง ซึ่งถ้าขายไม่ดี ก็มักกล่าวโทษนักออกแบบ 

ถ้าอยากหลุดพ้นจากวงจรนี้ นักออกแบบควรเป็นผู้ผลิต ผู้ขายสินค้า และเจอผู้ใช้งานด้วยตัวเอง ตั้มจึงริเริ่ม ‘เจิด’ และรวมพลนักออกแบบฝีมือดีที่หลงใหลในงานไม้ 3 – 5 แบรนด์ สร้างเป็นกลุ่มชื่อ hat ขึ้นมา

“การรวมกลุ่มทำให้เราไม่เหงาและมีพลัง เวลาไปออกงานอยู่รวมกันจะดูใหญ่ เรียกลูกค้าได้ง่ายกว่า ส่วนสินค้าที่ขาย เราจะหาช่องว่างที่ไม่ต้องแข่งขันสูง บริษัทเฟอร์นิเจอร์ใหญ่ๆ ไม่อยากทำ เพราะถ้าขายได้น้อยจะเหมือนคนกินไม่อิ่ม แต่สำหรับเรา ขายของดีๆ ได้สักร้อยตัว กำไรตัวละพัน เราก็รอดแล้ว” ตั้มแจงยุทธศาสตร์ที่คิดในหัวเมื่อ 10 ปีก่อน ในช่วงแรก เจิดรับหน้าที่ผลิตโคมไฟห้อยจากไม้สำเร็จรูป มีรูปลักษณ์แปลกใหม่และเปล่งแสงเจิดจ้า ส่วนรายอื่นๆ ผลิตเฟอร์นิเจอร์ตามที่ตัวเองถนัด

แม้วันนี้จะยุติการรวมกลุ่มไปแล้ว แต่แบรนด์ภายใต้ hat ก็ยังอยู่รอดหรือเติบโตได้อย่างงดงามในเส้นทางอื่นตามที่ตั้มวางแผนไว้อย่างดี

Jird Design Gallery แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่ชุบชีวิตที่ 3 ให้ไม้เก่าและปลูกป่าใหม่ไว้ใช้ในอีก 20 ปี
Jird Design Gallery แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่ชุบชีวิตที่ 3 ให้ไม้เก่าและปลูกป่าใหม่ไว้ใช้ในอีก 20 ปี

03

ไม้เหลือเศษ

ในมุมมองของตั้ม บนโลกนี้มีไม้ที่เสียชาติเกิดหรือไม่ได้ถูกใช้งานอย่างเต็มอายุขัยอยู่จำนวนมาก ส่วนใหญ่มีเพียงสองชีวิตเท่านั้น หนึ่งเป็นต้นไม้ สองเป็นบ้านที่อยู่ราว 40 – 50 ปี แล้วคนก็รื้อทิ้งไปปรับเปลี่ยนสร้างเป็นบ้านปูนตามยุคสมัย โดยไม่ได้นำไม้มากมูลค่าเหล่านั้นไปทำอะไรต่อ

ในปีที่ 5 ของการปลูกป่า ตั้มเล็งเห็นว่า เราสามารถชุบชีวิตไม้ให้มีชีวิตที่ 3 จนอายุครบร้อยปี ด้วยการออกแบบเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่แข็งแรงและสวยจนคนไม่กล้าทิ้ง เขาจึงเริ่มขยายมาผลิตเฟอร์นิเจอร์จากไม้เก่า คิดเป็นปริมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของงานทั้งหมด

“เราเลือกไม้เก่าที่แกร่ง เนื้อแข็ง โดนน้ำหรือปลวกก็ไม่เสียหาย และพยายามเลี่ยงไม้ที่คนใช้เยอะเช่น ไม้โอ๊ก ไม้แอช เพื่อสร้างจุดเด่นของเจิดว่าเรามีเฟอร์นิเจอร์จากไม้เนื้อแข็งหายากที่คนอื่นไม่มี และจะอยู่ในบ้านคุณได้นาน” ตั้มอธิบาย พร้อมแนะนำให้เรารู้จักชุมชนบางแพ แหล่งไม้เก่าชั้นดีที่เขายอมจ่ายราคาแพงเพื่อให้ได้ไม้คุณภาพสูง และช่วยส่งเสริมธุรกิจของชุมชนไปในตัว

Jird Design Gallery แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่ชุบชีวิตที่ 3 ให้ไม้เก่าและปลูกป่าใหม่ไว้ใช้ในอีก 20 ปี
Jird Design Gallery แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่ชุบชีวิตที่ 3 ให้ไม้เก่าและปลูกป่าใหม่ไว้ใช้ในอีก 20 ปี

04

ไม้นิมอล

หัวใจสำคัญของเจิดไม่ได้มีเพียงไม้ แต่ยังมีเหล็กที่ทำให้เฟอร์นิเจอร์แต่ละตัวเจิดจรัส

“ในวงการ เราถือเป็นช่างไม้มือใหม่มาก แต่เราพอมีทักษะด้านการออกแบบ ก็คิดว่าทำอย่างไรให้โต๊ะไม่เทอะทะ ขนส่งไม่ยาก เลยแก้ปัญหาด้วยการทำโครงเหล็กเจาะรูสองโมเดลเป็นตัวกลางไว้ยึดชิ้นไม้ทุกส่วนแทนการเข้าเดือยและสลักยากๆ ถอดประกอบและต่อยอดเป็นอย่างอื่นได้อีกหลายร้อยแบบ เปลี่ยนสี ชนิด และขนาดไม้แทน เป็นวิธีการออกแบบเชิงระบบของที่นี่” พูดเสร็จตั้มก็หยิบเหล็กที่อยู่เบื้องหลังชิ้นงานตั้งแต่เริ่มสร้างแบรนด์มาให้เราดูประกอบ

และถึงแม้มีโมเดลใหม่อีก 5 แบบรออยู่ในโปรแกรมออกแบบ ตั้มตัดสินใจทิ้งไว้อยู่อย่างนั้น จากที่เมื่อก่อนเขาจะเป็นกังวล เกรงว่าถ้าไม่รีบผลิต จะมีคนคิดเหมือนกันและปล่อยสินค้าสู่ตลาดตัดหน้า แต่ในวันนี้ เขารู้ชัดแล้วว่าไม่จำเป็นต้องเร่งรีบทำอะไรมากมาย

“นักออกแบบที่ลงมือผลิตเองต้องมีตัวตนชัด ถ้าทำสะเปะสะปะ คนจะจำเราไม่ได้ เมื่อก่อนเราบ้าพลัง อยากโชว์ไปหมด ปล่อยงานทีละสิบแบบ ปรากฏว่าลูกค้างง เขายังไม่ทันคุ้นกับของเดิมเลย” ตั้มสรุปบทเรียนที่เขาเคยเจ็บมาก่อน ด้วยเหตุนี้ งานออกแบบของเจิดจึงมีน้อยประเภท เน้นที่โต๊ะและม้านั่งที่คู่แข่งไม่มากเป็นหลัก และทำให้ประณีตที่สุด

Jird Design Gallery แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่ชุบชีวิตที่ 3 ให้ไม้เก่าและปลูกป่าใหม่ไว้ใช้ในอีก 20 ปี

05

ไม้เก็ตติ้ง

เจิดขายของตามแบบเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวและขายผลผลิตตามฤดูกาล ใครอยากซื้อเฟอร์นิเจอร์ของพวกเขาจะต้องไปพบกันตามงานนิทรรศการ โดยปีหนึ่งนำออกขายประมาณ 3 ครั้งเท่านั้น

“เรามีปรัชญาว่า หน้าที่ของนักออกแบบคือการเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณชน ลูกค้าเป็นเหมือนผู้จ่ายค่าเข้าชมงาน เป้าหมายเราคือขายแล้วมีกำไรไปลงทุนขยายบูทครั้งต่อไป คนจะรู้สึกว่าเราเติบโตและสำเร็จไปด้วยกัน” ตั้มเล่า การขายเช่นนี้เป็นเหมือนสัญญาใจ ที่สร้างความสัมพันธ์โดยตรงกับลูกค้าด้วยเฟอร์นิเจอร์ที่หาจากที่อื่นในโลกไม่ได้ ต้องมาพบกันในวาระพิเศษ ซึ่งที่ผ่านมาเจิดไม่เคยขาดทุนเลยในแต่ละครั้ง

อาจเพราะกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของเจิดเป็นกลุ่มคนที่เติบโตมาในยุคสมัยที่ไม้รุ่งเรือง พวกเขาจึงเห็นคุณค่าและรู้สึกผูกพันกับแบรนด์ อีกส่วนหนึ่งคือคนที่ต้องการสนับสนุนเฟอร์นิเจอร์ที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม รวมแล้วปีหนึ่งเจิดผลิตงานให้ลูกค้าได้ประมาณ 200 ครัวเรือน

นอกเหนือจากการขายวิธีนี้แล้ว การตลาดแบบเจิดคือการแทบไม่ทำการตลาด พวกเขาไม่พุ่งเข้าหาลูกค้า ไม่เร่งรัดป่าวประกาศให้ซื้อ เพราะตั้มอยากวัดผลว่างานออกแบบจะเปล่งเสียงด้วยตัวเองดังแค่ไหน

“เวลาขายของ เราจะอยู่ท่ามกลางงานชิ้นอื่นอีกเป็นร้อย โจทย์คือต่อให้ถูกปิดปากไม่ให้อธิบาย คนก็หยุดดู รู้สึกว้าว รักและซื้อในแบบที่มันเป็น ถ้าเดินดูแล้วเห็นงานหน้าตาและราคาพอกัน คนจะเริ่มถามข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบ ถึงจุดนั้นเราค่อยเล่าคุณค่าที่ซ่อนอยู่” ตั้มเผย พร้อมยอมรับว่าแนวคิดนี้ย่อมทำให้เดียร์ที่ดูแลด้านการขายลำบากบ้าง แต่ทั้งสองเห็นร่วมกันว่านี่คือตัวตนของแบรนด์

06

ไม้ใกล้ตัว

เมื่อธุรกิจเริ่มเติบโต พนักงานคือเรื่องสำคัญ

ที่เจิด พวกเขาสรรหาบุคลากรจากคนที่ขาดโอกาสในชุมชนใกล้ๆ มาช่วยทำงาน และปฏิบัติต่อพวกเขาเหมือนเป็นศิลปิน เช่น ให้เริ่มและเลิกงานได้อย่างอิสระ ไม่หยุดวันแรงงาน แต่ให้หยุดในวันศิลป์ พีระศรี

“เราพยายามปั้นชุมชนให้เติบโตไปพร้อมกัน ข้อดีคือเราได้งานทั้งจากวัสดุและผู้ผลิตในท้องถิ่นแท้ๆ เกิดมิตรภาพและความยั่งยืน ส่วนคนทำงานก็ไม่ต้องเดินทางเยอะ งานไม้เป็นงานที่เหนื่อย ถ้านอนไม่พอจะอันตราย เอาเวลาไปนอนดีกว่า” ตั้มเล่า ปัจจุบันศิลปิน 4 – 5 คนในสังกัดจังหวัดราชบุรีของเขาช่วยดูแลกิจการและลดความเหนื่อยล้าไปได้มาก

Jird Design Gallery แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่ชุบชีวิตที่ 3 ให้ไม้เก่าและปลูกป่าใหม่ไว้ใช้ในอีก 20 ปี

07

ไม้ป่าปลูก

ในปีที่ 12 ของการปลูกป่านี้ ตั้มเริ่มตัดไม้เบิกนำอย่างกระถินเทพา 40 ต้นที่โตเร็วจนโอบแทบไม่มิด จากทั้งหมดราว 400 ต้นมาทดลองผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ และเตรียมปล่อยขายปีหน้าภายใต้แบรนด์ใหม่

สาเหตุที่ต้องแยกแบรนด์เป็นเพราะคุณค่าที่ต่างกัน ไม้ป่าปลูกจะมีความแข็งแรงทนทานน้อยกว่าไม้เก่า และควรขายในราคาที่ต่ำกว่า แต่การซื้อหนึ่งครั้งของลูกค้าจะหมายถึงการช่วยสร้างตลาดสินค้าจากไม้ป่าปลูก และกระตุ้นให้คนเห็นข้อดีของการปลูกป่า

“อยากทำให้พื้นที่ป่าในประเทศเพิ่มขึ้น ถ้าเราขายสินค้าใหม่นี้ได้ จะเป็นข้อพิสูจน์ว่าการปลูกต้นไม้ทันใช้ชาตินี้ไม่ใช่เรื่องพูดเล่น ซึ่งตอนนี้ลูกค้าส่วนหนึ่งที่มาซื้อเฟอร์นิเจอร์ก็เริ่มถามเรื่องการปลูกต้นไม้ด้วย” ตั้มประกาศเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ ในวันที่ผืนป่าเริ่มน้อยลงไปทุกที จนต้องมีการประกาศ พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2562 ที่ปลดล็อกให้คนนำต้นไม้ในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ถูกต้องมาใช้งานได้โดยไม่ถูกหวงห้าม

ส่วนด้านการออกแบบ แม้ตั้มจะผลิตเฟอร์นิเจอร์จากไม้เก่าอยู่ แต่ตัวแบบนั้นคิดคำนวณไว้เผื่อการใช้ไม้ป่าปลูกเรียบร้อย เมื่อถึงเวลาที่ต้นไม้โต เขาพร้อมผลิตด้วยแบบที่มีทันที

Jird Design Gallery แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่ชุบชีวิตที่ 3 ให้ไม้เก่าและปลูกป่าใหม่ไว้ใช้ในอีก 20 ปี
Jird Design Gallery แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่ชุบชีวิตที่ 3 ให้ไม้เก่าและปลูกป่าใหม่ไว้ใช้ในอีก 20 ปี

08

ไม้เปลี่ยนไปตามเวลา

“เราเป็นเหมือนเต่า จะชนะกระต่ายได้คงไม่ใช่ด้วยความเร็ว เราต้องออกแบบให้การแข่งขันมีระยะเวลาเดินทางนานกว่าอายุขัยของกระต่าย แต่จะทำอย่างนี้ได้ใจต้องนิ่งนะ” ตั้มตอบ เมื่อเราถามว่าเขากังวลกับการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของโลกธุรกิจยุคสมัยนี้บ้างหรือไม่ เขาเชื่อว่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อมนุษย์ และต่อให้เวลาผ่านไป คนก็ยังคงต้องการไม้ไว้ใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่ดีด้วยราคาที่สูงขึ้น เพราะจะยิ่งหายาก 

เขาเพียงแค่ต้องรอเวลา หากใครคิดเข้ามาแข่งในตลาดตอนนี้ ก็ยากเหลือเกินที่จะวิ่งไล่ตามต้นไม้ที่เติบโตตามเวลาของธรรมชาติมานาน 12 ปีแล้วได้ทัน

“เรามีพนักงานที่ขยันที่สุดในโลก จะหลับหรือตื่น แดดแรงแค่ไหน ต้นไม้ทำงานและโตตลอดเวลา” 

หรือต่อให้ธุรกิจไม้ถึงทางตัน ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์เช่นนี้ยังใช้เป็นแหล่งพักพิงอิงอาศัยได้อีกนานเป็นปี ไม่หวั่นแม้เจอ COVID-19 

“เรามีพืช มีผัก มีปลา เป็นฐานทรัพยากรซึ่งพอต่อการดำรงชีพที่ไม่ได้ต้องการอะไรมากของเรา และถึงไม่ทำงานออกแบบ การปลูกป่ายังช่วยสร้างธุรกิจใหม่ระหว่างทางได้อีกเป็นสิบนะ เช่น ขายไม้ล้อม กล้าไม้ เมล็ดพันธุ์ที่หล่นจากต้น หมักปุ๋ย ทำน้ำมัน แทบไม่มีทางเจ๊งเลย” ตั้มกล่าวอย่างมั่นใจ

Jird Design Gallery แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่ชุบชีวิตที่ 3 ให้ไม้เก่าและปลูกป่าใหม่ไว้ใช้ในอีก 20 ปี
Jird Design Gallery แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่ชุบชีวิตที่ 3 ให้ไม้เก่าและปลูกป่าใหม่ไว้ใช้ในอีก 20 ปี

09

ไม้ใหม่ 

ล่าสุด เจิดเพิ่งขยายขอบเขตการทำงานด้วยการร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมกับ Vandapac และ Best Polymer สองผู้ประกอบการคู่ค้าของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC ในโครงการ Upcyling Upstyling by GC

โดยในผลงานร่วมกับ Best Polymer บริษัทผู้ผลิตสินค้ารีไซเคิลพลาสติกและไม้เทียม (Wood Plastic Composite) ตั้มได้แสดงฝีไม้ลายมือวิชางานไม้ด้วยการแปลงขยะพลาสติกผสมกับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เนรมิตกลายเป็น Nakashima ชั้นวางอเนกประสงค์และม้านั่งที่แข็งแรงทนทาน ลวดลายหลากหลายสวยงามเสมือนไม้จริงจากธรรมชาติ ซึ่งเทคนิคการออกแบบของตั้มทำให้เกิดเศษไม้ในกระบวนการผลิตน้อยมากอีกด้วย

“โปรเจกต์นี้ทำให้เราได้ใช้ความรู้เรื่องการออกแบบและลวดลายของพันธุ์ไม้ไปในงานรีไซเคิลขยะอื่น
ถ้าคนเห็นคุณค่าและยอมรับวัสดุแบบนี้ ก็จะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยป้อนขยะออกจากระบบได้เยอะเลย” ตั้มเล่าถึงผลงานที่เขาได้ใช้ทักษะที่ฝึกฝนมา 12 ปีในรูปแบบใหม่

Jird Design Gallery แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่ชุบชีวิตที่ 3 ให้ไม้เก่าและปลูกป่าใหม่ไว้ใช้ในอีก 20 ปี

10

ไม้คือชีวิต

“ต้นไม้สอนอะไรเราเยอะมาก” นอกจากทำให้ใจเย็นขึ้น ตั้มเล่าว่าป่าทำให้เขาเข้าใจและยอมรับในปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น ถ้าต้นไม้ไม่เหมาะกับพื้นที่ ต่อให้ฝืนปลูกแค่ไหนก็ตายอยู่ดี

และต้นไม้ในป่ามีวิธีเติบโตเพื่ออยู่ร่วมกัน แต่ละต้นโดยทั่วไปจะพยายามเข้าหาด้านที่มีแสง เมื่อต้นใหญ่ต้นหนึ่งตายหรือถูกตัดนำไปใช้ จะเปิดทางให้ต้นอื่นได้เจริญงอกงามเองโดยไม่ต้องจัดการอะไร เป็นสาเหตุที่เราไม่ควรรีบตัดต้นไม้ให้หมดป่าเพื่อใช้งานอย่างเร่งรีบ หรือคาดหวังว่าปลูก 100 ต้นจะโตได้ทั้งร้อยต้นพร้อมกัน

ปัจจุบัน ตั้มและเดียร์ขยายพื้นที่สำหรับปลูกป่ารวมเป็นทั้งหมด 80 ไร่ ในจังหวัดกำแพงเพชร ราชบุรี เพชรบุรี และพัทลุง และเริ่มวางแผนสำหรับอนาคต ทั้งในเชิงธุรกิจและชีวิตครอบครัว

ทั้งสองพาเรามาเดินดูแปลงที่ยังเป็นพื้นที่โล่ง ในอีก 6 ปีข้างหน้าเมื่อต้นไม้ที่ปลูกผลิดอกสวยงาม ที่แห่งนี้จะกลายเป็นแกลเลอรี่จัดแสดงผลงาน เปิดให้คนมาชื่นชม

ส่วนตอนนี้ ตรงบริเวณนั้นมีต้นไม้ 2 – 3 ต้นที่เริ่มเติบโตแล้ว

“ต้นนี้ลูกสาวเป็นคนปลูก เราชวนลูกทั้งสามคนปลูกต้นไม้ด้วยตัวเองในวันเกิดทุกปี สะสมไปเรื่อยๆ อีกยี่สิบปีคงมีสักสองร้อยต้นขนาดใหญ่ ขายเป็นทุนไว้เรียนต่อต่างประเทศสบายๆ เป็นหลักประกันชีวิตและความมั่งคั่งที่สร้างได้ตั้งแต่วันนี้เลย” ตั้มยิ้มพร้อมตอบคำถามในใจเราว่าจะปลูกป่าไปทำไม

Jird Design Gallery แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่ชุบชีวิตที่ 3 ให้ไม้เก่าและปลูกป่าใหม่ไว้ใช้ในอีก 20 ปี

Lesson Learned

“เรามองว่าแต่ละธุรกิจควรมีตัวตนที่ชัดเจน ไม่ใช่ชำเลืองมองผู้อื่นแล้วเห็นอะไรดีก็ทำตามหมด เปรียบเทียบกับการปลูกพืชแบบเพาะเมล็ดเพื่อให้มีรากแก้ว ต้นไม้จะอยู่รอดและทนได้นานกว่าการตอนหรือปักชำกิ่ง ที่ถึงปลูกได้เหมือนสวนต้นแบบเลย แต่ไม่มีรากแก้ว พังและตายได้ง่ายมาก แต่การปลูกแบบแรกก็อาจมีกลายพันธุ์จากต้นแม่บ้าง เป็นเรื่องที่ต้องลองเสี่ยงและยอมรับ”

GC Circular Living Symposium 2020: Tomorrow Together งานประชุมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จัดโดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมกับพันธมิตรระดับโลก National Geographic และเครือข่ายพันธมิตรที่รวบรวมกว่า 40 ผู้นำความคิด นวัตกร และนักธุรกิจจากทั่วโลก มาร่วมแบ่งปันความคิดและประสบการณ์เกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อขับเคลื่อนโลกสู่ความยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม การสร้าง Business Model เพื่อก่อให้เกิดระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem)

งานนี้มุ่งหวังการแลกเปลี่ยนมุมมองและส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องราวที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ในรูปแบบ Circular in Action รวมพลังปฏิวัติการใช้ทรัพยากรโลก เพื่อสร้างสมดุลเพื่อความยั่งยืน โดยถอดบทเรียนด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน วิถีการพึ่งพาตนเอง…ใช้สิ่งที่มีให้คุ้มค่า เปลี่ยนแนวความคิดสู่การปฏิบัติที่พร้อมขยายผล ถ่ายทอดจากประสบการณ์ตรงที่เข้าใจง่ายและเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เป็นประโยชน์ทั้งในชีวิตประจำวัน SMEs องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนสังคม เพื่อเป็นแรงกระเพื่อมให้การนำแนวคิด Circular Economy ขยายผลออกไปให้มากที่สุด เพื่อจะสร้าง ‘วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า’ ร่วมกัน (Tomorrow Together) 

เข้าชมทุก Speaker ทุก Session ย้อนหลังได้ที่นี่

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)