ท๊อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา คือหนึ่งในบุคคลที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในแวดวงการเงินไทย ณ ขณะนี้

เขาเกิดวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1990 และกำลังจะอายุ 31 ปีในเวลาไม่ถึงเดือน

ชายวัยเลขสามคนนี้คือ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ Bitkub แพลตฟอร์มการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ในวินาทีที่ ’บิตคอยน์’ (Bitcoin) มีมูลค่าพุ่งขึ้นสูงเกิน 1,000,000 บาทต่อบิตคอยน์ เมื่อ 3 มกราคมที่ผ่านมา

ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา อดีตเด็กเกเร เจ้าของตลาดสกุลเงินคริปโต Bitkub วัย 30 ปี

สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคย บิตคอยน์คือหนึ่งในสกุลเงินดิจิทัลที่เราสามารถใช้ในการแลกเปลี่ยนซื้อขายคล้ายสกุลเงินทั่วไป แต่สกุลเงินนี้ทำงานผ่านเทคโนโลยีบล็อคเชน (Blockchain) ทำให้ไม่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของสถาบันการเงินใด ผู้คนสามารถโอนเงินระหว่างประเทศด้วยความเร็วหลักวินาที ไม่ต้องรอนานนับวันเหมือนที่เคยเป็นมา

ปรากฏการณ์นี้ ทำให้ Bitkub เติบโตขึ้น 1,000 เปอร์เซ็นต์ภายในเวลา 7 วัน ถือเป็นเรื่องน่าเฉลิมฉลองสำหรับสตาร์ทอัพขนาดราว 220 คนที่เพิ่งเปิดมาเพียง 3 ปี

ในขณะเดียวกัน ปริมาณผู้ใช้งานที่สมัครเข้ามาในระบบอย่างล้นหลามเกินวันละ 40,000 คน จนทำงานกันแทบไม่ทันความคาดหวัง ก็ถือเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่ซีอีโอวัยเพียง 30 ปีคนนี้ต้องเรียนรู้และผ่านพ้นไปให้ได้

มีคำกล่าวว่า การทำสตาร์ทอัพเหมือนกระโดดลงจากหน้าผา แล้วต้องสร้างเครื่องบินใหม่ระหว่างทางให้ทันเพื่อไม่ตาย

ชีวิตของท๊อปตอนนี้เป็นแบบนั้น

ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา เจ้าของ Bitkub

ย้อนกลับไป 20 ปีก่อน คงไม่มีใครเชื่อว่าท๊อปจะเติบโตมาแบกรับสถานการณ์อันหนักอึ้งขนาดนี้

ในวัยเยาว์ เขาเป็นเด็กเกเรที่ทะเลาะกับเพื่อนอยู่เสมอ และผลการเรียนตกต่ำ ทำให้ไม่สามารถยื่นเข้าเรียนในระบบมหาวิทยาลัยไทยตามที่คาดหวังไว้

แต่เพราะไม่ชอบความพ่ายแพ้ เขากลับใจ นั่งอ่านหนังสือวันละ 12 ชั่วโมงเป็นกิจวัตร ก่อนคว้าเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ และเรียนจบปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ สำเร็จตามใฝ่ฝัน

ถึงอย่างนั้น เขาก็เป็นคนหนุ่มวัย 20 ต้นๆ คนหนึ่งที่ยังไม่รู้จะทำอะไรอย่างแน่ชัด

จนกระทั่งเจอคำว่า ‘บิตคอยน์’ เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ในวันที่ยังแทบไม่มีคนไทยรู้จัก และมองเห็นคลื่นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับวงการการเงิน

ท๊อปไม่เพียงมองเห็นศักยภาพว่าเทคโนโลยีนี้จะเปลี่ยนโลกเท่านั้น เขาเชื่อสุดใจ และลงทุนเปิดบริษัทแรกด้วยตัวคนเดียวในวัย 23 ปี

ระหว่างทาง เขาเจอคำครหา การต่อต้าน และการเรียกตัวไปรับการตรวจสอบจากหน่วยงานภาครัฐอยู่บ่อยครั้ง เพราะไม่มีใครเข้าใจว่าเขาทำอะไร

จนวันนี้ เมื่อพูดถึงสกุลเงินดิจิทัล ท๊อปคือหนึ่งในคนแรกๆ ที่ใครต่างนึกถึงและวิ่งเข้าหา

คุณอาจยังไม่เข้าใจ หรือสงสัยในเรื่องเหล่านี้ที่ท๊อปกำลังทำอยู่ แต่ไม่เป็นไรเลย

เพราะเราจะชวนคุณไปรู้จักเบื้องหลังชีวิตและความคิดของชายผู้ใช้ความอดทนถึงขีดสุด เพื่อพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า ฝันที่เขาเชื่อเสมอมานั้นเป็นเรื่องจริง

ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา เจ้าของ Bitkub

เมื่อต้นปีที่ราคาบิตคอยน์กำลังจะแตะ 1 ล้านบาท คุณตั้งสเตตัสว่า “ถ้าบิตคอยน์ถึง 1 ล้าน ฉันจะ…” หลังจากนั้นก็มีคนมาตอบในคอมเมนต์มากมาย แต่ที่เราไม่เคยรู้คือ ถ้าบิตคอยน์ถึง 1 ล้าน ท๊อป จิรายุส จะทำอะไร

ผมถือยาวอยู่แล้วครับ ผมเป็น Strong Believer (หัวเราะ)

ผมมีความเชื่อมั่นในสิ่งนี้ อาจจะมากกว่าคนอื่นโดยเฉลี่ยเพราะอยู่กับมันมาแปดปีแล้ว เป็นคนไทยคนแรกๆ ที่นำสิ่งนี้มาให้ประเทศเรารู้จัก ผลักดันจนถูกต้องตามกฎหมาย เพราะฉะนั้น ผมซื้อตั้งนานแล้ว และไม่เคยคิดจะขายด้วย การที่ราคามันถึงหนึ่งล้านบาทเลยไม่ได้ส่งผลกับตัวผม

ตัวเลขหนึ่งล้านมันดึงดูดความสนใจคน ทำให้คนพูดถึงมันมากขึ้นอีกครั้ง เลยประกาศให้ทุกคนรู้ว่าตอนนี้มันมีค่าเท่านี้แล้วนะ ปรากฏว่าแค่โพสต์นั้นโพสต์เดียวได้ยอดทั้งหมดล้านห้าแสน Reach แบบออร์แกนิก แล้วคนก็สมัครกันเข้ามาถล่มทลาย ที่ Bitkub ตอนนี้รับลูกค้ากันวันละสี่หมื่นคนทุกวัน นึกภาพสนามกีฬาใหญ่ๆ สเตเดียมที่จุคนเยอะๆ มาวันละสนาม พรุ่งนี้ก็จะมาอีกสนามหนึ่ง ตอนนี้กำลังโดนต่อว่าทั้งประเทศครับ รับลูกค้าไม่ทัน 

ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่เปิด Bitkub เลยไหม

ปีที่แล้ววางแผนว่าบริษัทต้องโตหกร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายที่ใหญ่มากสำหรับบริษัทในประเทศ แต่ผลคือเราโตหนึ่งพันเปอร์เซ็นต์ มากกว่าที่คาดไว้ตั้งสี่ร้อย พอราคาต่อบิตคอยน์ถึงหนึ่งล้านบาท พวกเราโตอีกพันเปอร์เซ็นต์ภายในเจ็ดวันจากจุดที่สูงอยู่แล้ว เราเลยรับไม่ทันจริงๆ งานที่เราทำต้องมีทีมงานอย่างต่ำหกร้อยถึงเจ็ดร้อยคน ถึงจะรับไหว แต่ตอนนี้เรามีกันอยู่แค่สองร้อยยี่สิบคน ต้องทำงานข้ามปีกันทุกคน

ตอนแรกคิดว่าเป็น Good Problem แต่ตอนนี้ชื่อเสียงเริ่มเสียแล้ว เพราะสัญญาไว้ว่าต้องเปิดบัญชีให้ได้ภายใน ยี่สิบสี่ชั่วโมง แต่รอเจ็ดวันก็ยังไม่ได้เลยครับตอนนี้ ต้องขอโทษลูกค้าด้วย เราให้เครดิตคนละห้าร้อยบาทเพื่อชดเชยตรงนี้ วันหนึ่งบริษัทต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นวันละยี่สิบล้าน เพื่อตอบแทนลูกค้าที่เราทำผิดสัญญาจริงๆ

คุณบอกว่าตัวเองเป็น Strong Believer ที่อยู่กับสิ่งนี้มานานกว่า 8 ปี ในขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ไว้วางใจใน บิตคอยน์ เป็นคนยืนหยัดในสิ่งที่เชื่อมั่นมาตั้งแต่เด็กเลยหรือเปล่า

ไม่ครับ ความจริงผมเปลี่ยนไปเยอะ ตอนเด็กกับตอนโตเหมือนเป็นคนละคนเลย สมัยเด็กๆ นี่ซ่ามาก เป็นหัวหน้าแก๊ง ลองคิดภาพเด็กผู้ชายที่เพื่อนๆ ไม่อยากจะยุ่ง หาเรื่องเพื่อน จนอาจารย์ใหญ่เรียกผู้ปกครองไปคุย คุณแม่ก็ร้องไห้ตลอด 

วีรกรรมที่แสบที่สุดคืออะไร

ชกต่อยกับเพื่อนจนเพื่อนแขนหักตอนปอหก จนคุณแม่ให้ย้ายจากกรุงเทพฯ ซึ่งเราอยู่มาตลอดตั้งแต่เกิด ไปดัดนิสัยที่นิวซีแลนด์ โดยหวังว่าวันหนึ่งถ้าสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ลูกชายเขาคงจะเปลี่ยนเป็นเด็กที่ดีขึ้น ซึ่งก็ไม่ได้ตั้งใจเรียนอะไร ยังซ่าอยู่ แต่ถ้าให้ไปพูดต่อหน้าคนเยอะๆ จะอายมาก สั่นไปหมด Public Speaking ไม่ได้เลย 

สุดท้าย ถึงจุดเปลี่ยนตอนมหาวิทยาลัย ตอนจบมอหกที่นิวซีแลนด์คือไม่มีมหาวิทยาลัยรับเรียน มันเลยเป็นปมด้อยในใจเรา ทำไมเราแย่ขนาดนั้นเลยเหรอ ก็เลยปรับตัว เข้าห้องสมุดเป็นครั้งแรก อ่านหนังสือหนักขึ้นเรื่อยๆ วันละ สี่ห้าชั่วโมง หลังๆ นี่วันละสิบสองชั่วโมงทุกวัน สุดท้ายได้เกียรตินิยมเหรียญทองของเหรียญทองทั้งหมดที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ แล้วก็เข้ามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้ กลายเป็นเด็กเรียนดีขึ้นมา แล้วก็ชอบพูดต่อหน้าคน ยิ่งคนเยอะยิ่งดี อันไหนที่เคยไม่ใช่เราในอดีต กลายเป็นตรงกันข้ามหมดทุกอย่าง

ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา เจ้าของ Bitkub

นอกจากตำรา คุณเรียนรู้อะไรจากการเข้าห้องสมุดวันละ 12 ชั่วโมงทุกวัน 

เรียนรู้สองอย่างครับ อย่างแรกคือความอดทน จากคนหนึ่งที่ไม่เคยอยู่นิ่งกับที่ แล้วอยู่ดีๆ ต้องเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือให้นั่งเฉยๆ มันทรมานนะ แต่เราตัดสินใจไปแล้ว สัญญากับตัวเองแล้วว่าจะเปลี่ยนเป็นเด็กเรียนดีให้ได้ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวตอนอายุแปดสิบเก้าสิบมองกลับมา มันจะเป็นปมใหญ่ในใจที่ไม่เคยถูกแก้ เรายอมเสียสละชีวิตวัยรุ่นที่พอเข้ามหาวิทยาลัยก็อยากมีแฟน อยากไปปาร์ตี้ 

อย่างที่สองคือเรียนรู้ที่จะเรียนรู้ให้เป็น การเรียนที่อังกฤษโดยเฉพาะที่ออกซ์ฟอร์ด อาจารย์เขาไม่ได้ป้อนเข้าปาก เปเปอร์ยี่สิบปีนี่ไม่เคยซ้ำเลย แล้วเราก็ทำไม่ได้ตลอด เรียนอะไรก็ไม่เข้าใจ อาจารย์เป็นระดับรางวัล Nobel Prize เข้าไปในห้องได้แต่นั่งจด ออกมาปุ๊บต้องเข้าห้องสมุดแล้วสอนตัวเอง อ่านนอกตำราเพื่อที่จะทำให้ตัวเองเข้าใจให้ได้

ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา เจ้าของ Bitkub

ความฝันของเด็กชายท๊อป จิรายุส ในวันนั้นคืออะไร

แล้วแต่ช่วงครับ ช่วงเด็กๆ อยากเป็นนักฟุตบอล ชอบ คริสเตียโน โรนัลโด (Christiano Ronaldo) มาก เล่นฟุตบอลทุกพักสิบนาที พักเที่ยง ตอนเย็นคุณแม่มารับก็ไม่กลับ สุดท้ายต้องนั่งรถเมล์กลับเอง เพราะคุณแม่รอไม่ไหว บางทีก็กลับไปก่อน สนุกกับฟุตบอลมาก เด็กคนอื่นเขาจะเก็บพวกของเล่นใช่ไหม ผมเก็บลูกฟุตบอลเต็มไปหมด

พอเข้ามหาวิทยาลัยก็ยังไม่ได้มีความฝันระยะยาว แค่เหตุผลที่เลือกเศรษฐศาสตร์ตอนปริญญาตรี เพราะเป็นวิชาที่ทำได้ดีที่สุดแล้วในช่วงมัธยม คิดแค่นั้นเอง เป้าหมายสั้นๆ คือการได้เกียรตินิยมเหรียญทอง แล้วก็เข้าเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยที่เราอยากเข้า แต่เราไม่กล้าใส่ชื่อลงไปตอนปริญญาตรี ปริญญาโทใส่มันให้หมดเลย ตอนเรียนปริญญาโทก็ไม่รู้จะเป็นอะไร ขอแค่จบมาให้ได้ก็พอแล้ว เพราะว่ามันเรียนหนักมากจริงๆ ที่ออกซ์ฟอร์ด ถ้าจะให้กลับไปทำอีกทีหนึ่งก็คงไม่ทำแล้ว มันเป็นหนึ่งในหลายๆ สิ่งของโลกที่ทำแค่ครั้งเดียวในชีวิตก็พอแล้ว (หัวเราะ)

ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา อดีตเด็กเกเร เจ้าของตลาดสกุลเงินคริปโต Bitkub วัย 30 ปี
ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา อดีตเด็กเกเร เจ้าของตลาดสกุลเงินคริปโต Bitkub วัย 30 ปี

คุณเปลี่ยนไปเยอะ มีสิ่งไหนที่ไม่เคยเปลี่ยนไหม

อย่างหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยคือ ถ้าเรารู้สึกว่าระบบเก่าไม่ดีหรือเราไม่ชอบอะไร เราจะไปสร้างระบบใหม่เอง เหมือนตอนเด็กที่ชอบเล่นฟุตบอลมากๆ ก่อนจะพักสิบนาทีที่โรงเรียนต้องวางแผนแล้ว คนนี้อยู่ทีมนี้ คนนี้อยู่ทีมนั้น

พัก 10 นาทีก็ยังเล่นเหรอ

สิบนาทีก็ยังเล่น (หัวเราะ) แล้วถ้าใครทำอะไรไม่ถูกใจเรา เราจะไปซื้อลูกฟุตบอลใหม่ แล้วตั้งทีมใหม่ ชวนเพื่อนกลุ่มใหม่มาเล่นกับเรา บางทีคนที่เราชวนมาก็ไปชวนพี่ภารโรงที่โรงอาหารมาเล่นด้วย ความขบถในตัวเองน่าจะเป็นสิ่งที่ไม่เคยหายไป ตอนไปทำงานที่เซี่ยงไฮ้ที่ Silicon Valley เรารู้ว่าเราทำได้ดีกว่านี้ แต่ทำไม่ได้ ติด Hierachy ติดโครงสร้างองค์กร มันอึดอัด เราก็ออกมาสร้างสตาร์ทอัพ สร้างระบบของตัวเอง 

แต่สิ่งที่เพิ่มเติมคือความอดทนที่ได้จากการเรียนมหาวิทยาลัย เราได้รู้ว่าถ้าเรามีเป้าหมายชัดเจน แล้วลงมือทำทุกวันจริงๆ มันจะทำได้ จากเด็กที่เคยได้แต่ที่หนึ่งจากข้างหลัง กลายเป็นได้ที่หนึ่งของที่หนึ่ง ถ้าเราพยายามจริงๆ มันทำได้ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ผมจะมีเป้าหมายแค่อย่างเดียวต่อทุกช่วงชีวิต ตอนเปิดบริษัทแรกคือการพิสูจน์ให้เห็นว่าเราถูก คนอื่นผิด คนที่มีสองแขนสองขาและความเชื่อที่ชัดเจน มุ่งทำมันทุกวันเป็นระยะเวลานาน มันเปลี่ยนโลกได้เหมือนกัน

วิชาเศรษฐศาสตร์ทำให้คุณเห็นโอกาสมากกว่าคนอื่นยังไง

วิชาที่ผมชอบที่สุดคือประวัติศาสตร์ของการเงิน มันทำให้เรารู้ระบบเศรษฐกิจโลก เมื่อก่อนไม่ใช่กระดาษนะ มันมาจาก Evolution ของเปลือกหอย ของหินสีเหลือง แล้วค่อยมากเป็นระบบเบรตตันวูดส์ (Bretton Woods System)

ระบบการเงินเปลี่ยนทุกห้าสิบปี ค.ศ. 1929 คือเกิดดีเปรสชัน ค.ศ. 1949 มี Bretton Wood System มา ค.ศ. 1971 เป็น Post-Bretton Woods System 

ทุกวันนี้ยังจำได้แม่นอยู่เลยเพราะอ่านหนักมาก (หัวเราะ) ซึ่ง ค.ศ. 2021 ก็จะครบห้าสิบปีนับจาก ค.ศ. 1971 น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของวงการการเงิน เหมือนที่ สตีเวน จอบส์ (Steve Jobs) เคยพูดไว้ เราจะมาถึงวันนี้ไม่ได้ถ้าไม่รู้จัก Connecting the dots ย้อนหลัง ถ้าเรามองกลับไป จะเจอเหตุผลที่อธิบายว่า ทำไมเศรษฐศาสตร์ในวันนั้น มันช่วยเราในวันนี้ มันเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมเชื่อมั่นเกี่ยวกับบิตคอยน์มาก 

ผมว่าคนที่เราเจอ ประสบการณ์ที่เราเจอ หนังสือที่เราอ่าน มันทำให้แต่ละคนแตกต่างกัน ทำให้ทุกคนมีความเชื่อที่แตกต่างกัน ซึ่งเศรษฐศาสตร์ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ผมคิดต่างจากคนอื่น ทำให้เราเข้าใจในอีกมุมว่าเงินไม่จำเป็นต้องจับต้องได้ เปลือกหอยหรือหินยังเป็นเงินได้เลยในอดีต มันทำให้ผมเข้าใจ Blockchain หรือบิตคอยน์ได้มากกว่าคนอื่น

ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา เจ้าของ Bitkub

ตอนเริ่ม Bitkub คุณได้รับความสนใจเยอะมาก เพราะประสบความสำเร็จมาตั้งแต่บริษัทแรก (coins.co.th) และยังชนะการแข่งขัน FinTech Challenge ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดีของการทำธุรกิจ คุณเคยกังวลกับความคาดหวังที่คนอื่นมีให้บ้างไหม

อันนี้มีตลอดครับ กดดันตลอดตั้งแต่สามปีที่เปิดมา อะไรที่โตเป็นพันเปอร์เซ็นต์มันกดดันอยู่แล้ว เราทำงานเหมือนคนทั่วไปไม่ได้ ต้องทำงานกันแบบไม่มีชีวิตเท่าไร คนไหนทำงานกับผมไม่ได้ ต้องออกก็มี ยิ่งคนลงทุนให้เรามาก ความคาดหวังก็ยิ่งสูง ไม่มีใครให้เงินเราฟรีๆ เราต้องโตให้ไว ให้เร็วกว่าบริษัทอื่น ต้องสร้างปาฏิหาริย์ให้ได้ 

เราโชคดีที่เจอทีมเก่ง แม้เขาใช้เวลาปรับตัว แต่เราผ่านอะไรกันมาเยอะ ผมไม่ได้เก่ง คนรอบตัวผมเก่ง ผมถึงมาถึงจุดนี้ได้ ผมเป็นแค่วาทยกรที่ช่วยทุกคนให้เล่นดนตรีได้ การถือเงินลูกค้าสองหมื่นล้าน ความคาดหวังมันสูงมาก มันเหมือนแบกหินก้อนใหญ่ๆ เอาจริงๆ เหมือนการเรียนที่ออกซ์ฟอร์ด ทรมานมาก ไม่สนุก คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า แต่สุดท้ายก็ภูมิใจ

ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา อดีตเด็กเกเร เจ้าของตลาดสกุลเงินคริปโต Bitkub วัย 30 ปี
ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา อดีตเด็กเกเร เจ้าของตลาดสกุลเงินคริปโต Bitkub วัย 30 ปี

คุณผิดพลาดมามากแค่ไหน

ผิดพลาดมาเยอะครับ เราไม่ค่อยได้เล่าเรื่องที่ผิดพลาด ออนไลน์และสื่อส่วนมากก็มักจะไม่ถาม แต่มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราโต ความจริงเหมือนการขี่จักรยานเลย คุณจะเป็นนักขี่จักรยานที่เก่งที่สุดในโลกได้ยังไงถ้าไม่เคยล้มมาก่อน จะอ่านหนังสือสอนขี่จักรยานสักกี่เล่ม ยังไงก็ขี่ไม่เป็น คุณต้องขี่ ต้องล้ม แล้วลุกขึ้นมา สุดท้ายจะเก่งเอง

แต่ครั้งนี้ผมโชคดีที่ทำธุรกิจในวงการเดิมเป๊ะ ล้มมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง แล้วพอมาทำบริษัทใหม่ที่สอง มันไม่ล้มแล้ว ขี่จักรยานเป็นแล้ว อยู่ที่ว่าต้องขี่เร็วขึ้น

งั้นขอถามเลยแล้วกัน คุณผิดพลาดอะไรมาบ้าง

เล่าได้เป็นสองสามชั่วโมงเลยนะ (หัวเราะ) 

ตอนเปิดบริษัทแรก ปปง. (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) เรียกตัว พนักงานลาออกไปครึ่งบริษัท ทำไปเรื่อยๆ บริษัทใหญ่ขึ้น แบงก์ชาติก็เรียกตัวอีก ให้ไปรายงานว่าทำอะไร สร้างเงินแข่งกับแบงก์ชาติหรือเปล่า โอนข้ามประเทศมีใบอนุญาตหรือยัง แต่ยังไม่หมด ยังโดนสรรพากรเรียกอีก หนีภาษีไหม 

ตอนนั้นออฟฟิศอยู่ที่ร้านคุณพ่อคุณแม่ ทะเลาะกันอีก เขาบอกให้ปิดบริษัท เพราะแบงก์ชาติเขียนจดหมายให้แบงก์พาณิชย์เลยว่า บิตคอยน์อาจเป็นแชร์ลูกโซ่ มูลค่าจะเหลือศูนย์ในไม่นาน อย่าเข้าไปยุ่ง แต่เราก็ดื้อครับ ดื้อในความเชื่อของเราว่าการเงินจะต้องเปลี่ยนไปในอนาคต กัดฟันสู้ต่อ ทำสิ่งที่คนไม่เข้าใจก็หนักแล้ว แต่ทำสิ่งที่คนต่อต้าน แม้แต่ครอบครัวยังต่อต้านยิ่งหนักกว่า อย่างน้อยจะระบายให้ฟังก็ไม่ได้ คุยกับพ่อแม่ไม่ได้ คุยกับเพื่อนก็ไม่ได้อีก

ตอนโดน ปปง.เรียกตัว เราบอกลูกน้องไม่ได้ด้วยซ้ำ ถ้าคนออกทั้งบริษัทนี่ตายเลย เก็บจดหมายอยู่คนเดียวแล้วแก้ไขปัญหาเอง โทรหาเพื่อนที่จบจากโรงเรียนกฎหมายดังๆ แต่ละคนก็บอก Good Luck เรามีเงินจ่ายเขานะ แต่ไม่มีใครกล้าเอาตัวเองมาเสี่ยง เครียดจนทุกวันศุกร์ต้องขับรถไปสนามบินดอนเมือง จิ้มไฟล์ทที่ใกล้จะออกตอนนั้น ไปที่ไหนก็ได้คนเดียวเงียบๆ เปลี่ยนสภาพแวดล้อม นั่งคิด วันอาทิตย์ค่อยนั่งเครื่องบินกลับ แล้วเริ่มงานใหม่วันจันทร์ ทำแบบนี้อยู่เจ็ดสัปดาห์ ไม่รู้เหมือนกันทำไมไม่ยอมแพ้ อาจเพราะเป็นคนที่ไม่ชอบความพ่ายแพ้ สู้ต่อ สุดท้ายก็ผ่านมาได้ และไม่คิดเหมือนกันว่าจะมาถึงจุดนี้

เคยไหมที่สักแวบในหัวคิดว่า สิ่งที่เราเชื่อว่าถูกมันอาจจะผิดก็ได้

มันมีท้อนะ อยากยอมแพ้หลายครั้ง แต่มันไม่ยอม เหนื่อยก็นอน ตื่นมาก็ทำงานใหม่ทุกวันจนชินเป็นนิสัยไปแล้ว อย่างปีที่แล้วทำงานทุกวัน เจ็ดวันต่อสัปดาห์ ตลอด 365 วัน เพิ่งได้พักวันสิ้นปี วันที่ 31 ธันวาคมที่ผ่านมา แล้ววันที่ 1 ก็รับศึกหนัก 

เคยถามตัวเองว่ากำลังทำอะไรกับชีวิตอยู่ ทำไมไม่ไปหางานทำเหมือนคนอื่น แฮปปี้เหมือนคนอื่น มานั่งแบกอะไรก็ไม่รู้ ชีวิตเราไม่จำเป็นต้องเสี่ยงขนาดนี้นี่ มันมีคำถามตลอดว่าจะเลิกดีไหม แต่ก็ไม่เคยยอมแพ้ เราเชื่อในสิ่งนี้ และเราอยากพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่าสิ่งที่เราทำมันเป็นความจริง และเราคิดถูก

ในหนึ่งวัน คุณทำอะไรบ้าง

ตื่นมาต้องเช็ก Slack ก่อน หน้าที่หลักของผมตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์คือการ Unlock ศักยภาพของทีม และตามงานสำคัญๆ ส่วนเสาร์อาทิตย์จะเป็นวันส่วนตัว ชอบมาก ได้ Unlock ศักยภาพตัวเอง 

อย่างปีที่แล้วมีสัมภาษณ์ทุกวัน วันละครั้ง หรือไม่ก็ไปพูดตามที่ต่างๆ พูดเสร็จก็ขับรถไปร้านกาแฟ ตามงานทีม ทำถึงตีสองตีสามแล้วแต่วัน วันที่มีสัมภาษณ์จะเริ่มตั้งแต่เก้าโมงเช้า ส่วนวันสุดสัปดาห์ก็อาจจะตื่นสายหน่อย นอนพอ แต่ก็ไปทำงานอยู่ดี (หัวเราะ)

ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา เจ้าของ Bitkub

ดูเป็นซีอีโอที่ทำงานลงแรงหนัก

ที่ผ่านมาผมเป็น Wartime CEO ทำทุกอย่างเพื่อให้บริษัทอยู่รอด รู้ทุกดีเทล แทบจะเป็นเผด็จการเลยครับ ขวาไปขวา ซ้ายไปซ้าย เพราะเราเป็นองค์กรสตาร์ทอัพที่มีการระดมทุนเยอะ แปลว่ามีความคาดหวังของนักลงทุนสูงไปด้วย มันเหมือนกระโดดจากหน้าผาแล้วต้องประกอบเครื่องบินให้ทันก่อนที่มันจะถึงพื้น เวลาหนึ่งนาทีมันสำคัญขนาดนั้น

Wartime คือให้สงครามเป็นตัวกำหนดวัฒนธรรมในองค์กร เพราะเราไม่มีเวลากำหนด แต่พอบริษัททำกำไรแล้ว ผมเปลี่ยนตัวเองเป็น Peacetime CEO เราจะไม่ให้สงครามมากำหนดวัฒนธรรมองค์กรแล้ว เราจะเน้นการสร้างบริษัทให้ยั่งยืน 

เมื่อก่อนผมจะเป็นคนบอกเวลา มาทำงานทุกวันต้องบอกว่าทำนู่นทำนี่ แต่หลังจากนี้ผมจะเป็นคนสร้างนาฬิกามากขึ้น ไม่บอกเวลาแล้ว แต่จะให้ความสำคัญกับ Core Values ขององค์กร เป้าหมายของการเปิดบริษัท และวัฒนธรรมองค์กรมากขึ้น ผมจะให้คนผิดพลาดมากขึ้นเพื่อให้เติบโต มองคนในระยะยาวมากขึ้น

เราจะดูแลคนในองค์กรที่เติบโต 1,000 เปอร์เซ็นต์ใน 7 วันได้ยังไง

ผมเพิ่งประกาศกับพนักงานว่า บริษัท Bitkub ทำกำไรขนาดนี้ จะน่าเสียดายมากเลยถ้าเป็นบริษัทที่ไม่น่าอยู่ เมื่อเราไม่ขาดทุนก็ควรทำให้บริษัทน่าอยู่ น่าอยู่ในที่นี้ไม่ใช่สบายนะ ไม่สบายอยู่แล้ว แต่เราอยากให้เป็นบริษัทที่มาทำงานทุกวันแล้วเก่งขึ้น แปลว่าเราต้องเอาคนที่เก่งกว่าเฉลี่ยอย่างน้อยห้าคนมาทำงานกับเรา 

หลักการของผมคือ Hire slow, fire fast หรือคัดคนเข้าให้ช้า คัดคนออกให้เร็ว อาจฟังดูใจร้าย แต่ถ้าเราอยากเป็นมากกว่า Good Company ที่ถ้าวันหนึ่งผมไม่อยู่แล้วก็ยังเป็นบริษัทที่น่าชื่นชม เติบโตเร็ว ให้แรงบันดาลใจคนรุ่นใหม่ได้ เป็น Great Company เราต้องคิดต่าง ก่อนที่พนักงาน Bitkub จะผ่านการทดลองงาน ผมจะเรียกเมเนเจอร์สองคนที่ทำงานกับคนคนนั้นเข้ามาและถามสามคำถาม

หนึ่ง ถ้าวันนี้ผมไล่คนนี้ออก แล้วคุณต้องรับคนใหม่ เทียบกับอีกหมื่นคนที่สมัครงานเข้ามา คุณจะรับคนนี้กลับเข้ามาทำงานอีกครั้งไหม 

สอง คนนี้ทำให้คุณอยากมาทำงานในเช้าวันจันทร์หรือเปล่า

และคำถามสุดท้ายที่สำคัญมากคือ คนนี้เก่งกว่าคุณอย่างน้อยหนึ่งด้านไหม ถ้าเขาอ้ำๆ อึ้งๆ แปลว่าพนักงานคนนี้ไม่ใช่ A Player แต่เป็น B Player คุณเป็น A คุณรับ B เดี๋ยว B ก็จะไปรับ C แบบนี้บริษัทลงเขาแน่นอน เพราะ B ไม่มีทางรับ A เดี๋ยวเขาจะเด่นกว่า จะแซงเรา เราต้องรับคนที่ A รับคนที่ A+ เพราะหน้าที่ของผมไม่ใช่มาคอยบอกว่ากลยุทธ์ต่อไปคืออะไร คุณเก่ง คุณต้องบอกผมสิ คนรอบตัวผมเก่งกว่าผมหมดเลย Action ต่อไปควรทำอะไร Business Strategy ถัดไปควรเป็นอะไร เราเริ่มที่คน ไม่ได้เริ่มที่ What แล้ว คนจะเป็นคนบอกเองว่าไอเดียที่ดีต่อไปคืออะไร

ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา อดีตเด็กเกเร เจ้าของตลาดสกุลเงินคริปโต Bitkub วัย 30 ปี

ในขณะที่บริษัทจำนวนมากพยายามทำให้พนักงานรักองค์กร ผูกพันกับองค์กร เพื่อจะได้ทำงานด้วยกันไปนานๆ คุณกลับเชื่อในหลักการ Hire slow, fire fast แล้วอะไรคือเหตุผลที่คนยังอยากทำงานกับ Bitkub

การเป็นผู้นำในบริษัทที่ใหญ่ขึ้น ต้องทำให้คนในองค์กรเข้าใจตรงกัน เช่น เราห้ามเรียกทุกคนใน Bitkub ว่า ครอบครัว ห้ามพูดเด็ดขาด ถ้าพูดเมื่อไร เราจะไล่คนออกไม่เป็น เราจะไม่กล้า สมมติน้องชายผมทำงานไม่ดีเลย ผมไม่มีทางไล่เขาออกจากครอบครัว มันก็ต้องยอมปิดตากันไปเรื่อยๆ ซึ่งมันสร้าง Unicorn (ธุรกิจ Startup ที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ) ไม่ได้

Bitkub คือ Professional Sport Team การจะชนะ Champion League เราต้องมีเป้าหมายเดียวกัน และต้องฝึกหนักกว่าคนอื่น สมมติ ผมซื้อตัวคุณมาเป็นกองหน้า แต่ถ้ากองหลังบาดเจ็บ คุณต้องเล่นแทนได้ เราจึงมีสิ่งที่เรียกว่า Ownership and Beyond

Ownership คือความรับผิดชอบ นักบัญชีต้องรับผิดชอบในการปิดบัญชีให้ทัน Customer Support ก็ต้องซัพพอร์ตลูกค้าให้ได้ ส่วน Beyond คือการทำนอกเหนือจากนั้น สมมติทีม HR ทำจ่ายเงินเดือนเสร็จแล้ว เห็นทีมการตลาดนั่งแพ็กของส่งลูกค้าไม่ทัน คุณควรเข้าไปช่วย 

ในองค์กรเราไม่มีคำว่าแผนก ต้องพูดคำว่าทีม เพราะถ้าพูดคำว่าแผนกเรื่อยๆ มันจะมีกำแพงขึ้นมาแล้ว มีแผนก มีชั้น มีการโยนความผิด โยนความรับผิดชอบ พอใช้คำว่าทีมเรื่อยๆ ก็เป็นหนึ่ง Bitkub เรามีเป้าหมายเดียวกันที่จะชนะแชมเปี้ยนชิป

เป้าหมายในการทำงานของคุณคืออะไร

ผมบอกพนักงานเลยว่า ถ้าวันนี้ทุกคนมีเงินเป็นพันล้านเป็นหมื่นล้านหมดแล้ว เราเปิดบริษัทนี้เพื่ออะไร สำหรับผม ผมมีเป้าหมายสองแบบคือ Internal กับ External 

เป้าหมายแบบ Internal ถ้าผมนอนอยู่บ้านเฉยๆ ผมจะเป็นท๊อป จิรายุส คนเดิม แต่ถ้าผมเปิด Bitkub และทุกคนเก่งกว่าผมหมด หนึ่งปีผ่านไปผมมองกลับมา ผมเป็นท๊อป จิรายุส ที่เก่งขึ้น ผมต้องการเป็นคนที่เก่งขึ้นแบบที่เงินซื้อไม่ได้ ฉะนั้น การที่เราอยากเป็นคนที่เก่งขึ้น ค่าเฉลี่ยคนอย่างน้อยห้าคนรอบตัวต้องเก่งกว่าเรา บริษัทเราเลยดึงดูดคนประเภทหนึ่งที่ไม่กลัวว่าจะตกงาน แต่อยากเป็น Top Performer ตกงานก็ตกสิ เพราะคนอื่นมาแย่งตัวฉันอยู่แล้ว ไม่เคยต้องยื่น CV มีแต่คนมา Headhunt

รู้ไหมครับว่าที่ Bitkub ตอนนี้ เราเปิดรับสมัครทุกตำแหน่งเลย ถึงแม้ว่าตำแหน่งนั้นจะเต็มอยู่แล้วนะ คนอื่นก็สงสัย รู้สึกไม่ปลอดภัยเลยทำงานที่นี่ สัมภาษณ์ตำแหน่งฉันตลอด แต่คนที่ทำเต็มที่แล้ว เขาไม่ต้องกลัว เรารับคนเก่งเข้ามาก่อน ถ้าคนไม่เก่งขึ้น บริษัทเราจะเก่งขึ้นไม่ได้

แล้วเป้าหมายแบบ External ล่ะ

ตอนนี้ไปร้านกาแฟ พนักงานเอามือถือออกมาเข้าแอปฯ Bitkub ให้ดู “ผมเป็นลูกค้าอยู่นะ” “ทำแบบนี้ยังไง” หรือ รปภ. หน้าคอนโดฯ ที่ผมเพิ่งย้ายเข้ามาถามว่า “นี่คุณท๊อป จิรายุส หรือเปล่าครับ ผมดูทุกวิดีโอเลย” สำหรับบริษัทที่เปิดมาแค่สามปี แต่เข้าถึงคนได้เยอะกว่าที่คิดไว้ แม้ตอนนี้สเกลยังเป็นแค่ในกรุงเทพฯ แต่เราอยากให้ไปต่างจังหวัดและระดับโลก

เราเปิดบริษัทเพื่อสร้างโอกาสให้กับคนไทยทุกคน โดยการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ มีหลายคนขอบคุณผมที่สร้าง Bitkub ขึ้นมา ทำให้เขาเข้าถึงการลงทุนมหาศาล ซึ่งวันนี้เรามีสี่บริษัทในเครือ อย่าง Bitkub Academy เปิดมาเพื่อให้ความรู้คน มีการจัด Conference ทุกสัปดาห์ มีห้องเรียนในออฟฟิศ เปลี่ยนธีมไปเรื่อยๆ ทุกเดือน 

อีกหน่อยเราจะ Democratize ห้องคอนโดฯ หรือที่ดิน ให้เหลือแค่สิบบาทยี่สิบบาท ก็เป็นเจ้าของส่วนหนึ่งของห้องคอนโดได้ เก็บเงินปันผลได้เหมือนกัน มันเป็นการเข้าถึงโอกาสใหม่ที่เมื่อก่อนมีแค่คนรวยที่เข้าถึง และสองเดือนหน้าเราจะเปิดตลาดชื่อว่า Fans Token ทำให้ศิลปินไทยมีรายได้มากขึ้น ซื้อขายเพลง ซื้อขายบัตรจับมือ ซื้อขายรูปภาพ 

ถ้าวันหนึ่ง Bitkub ล้มเหลว คุณจะทำยังไง

ผมก็ยังภูมิใจที่มันเข้ามากระตุ้นให้ประเทศขยับ ให้คนปรับตัว ถ้าไม่มีคู่แข่ง ไม่มีใครแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงวงการการเงินได้จริงๆ ก็จะไม่มีใครกล้าทำ พอมีคนหนึ่งทำขึ้นมา ก็เลยบีบให้มีการปรับตัว ธนาคารต้องเริ่มปรับตัว ตลาดหลักทรัพย์ต้องปรับตัว มันคือการผลักดันประเทศให้เดินต่อไปข้างหน้า สุดท้ายถ้าเราแพ้ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราได้เป็นตัวกระตุ้น ถ้าชนะก็จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่กล้าทำธุรกิจสตาร์ทอัพมากขึ้น 

สมมติ 6 เดือนข้างหน้านี้ บริษัทจะอยู่ได้ด้วยตัวมันเองโดยที่คุณไม่ต้องเข้าไปดูแล คุณอยากเอาเวลาทั้งหมดไปทำอะไร

มีสองอย่างครับ อย่างแรกคือ ไปเที่ยวทุกประเทศของโลก อยากไปเรียนรู้ประเพณี วัฒนธรรม คุยกับคนใหม่ๆ เพื่อที่เราจะได้เข้าใจโลกใบนี้มากขึ้น ไม่ได้แคบอยู่แค่ไม่กี่ประเทศ สัมผัสอุณหภูมิ รสชาติ และประสบการณ์ใหม่ๆ แต่ไม่มีโอกาสได้ทำเลยครับ เพราะยุ่งมากๆ

อย่างที่สอง อยากไปสร้างอะไรก็ตามที่แก้ปัญหาให้กับโลก เช่น ขยะในมหาสมุทร ถ้าไม่ต้องกังวลเรื่องภาระ บริษัทหรือลูกน้องที่ต้องดูแล จะหาเวลาคิดทางแก้ให้กับปัญหาของโลก

แล้วก็ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น คุณแม่แซวตลอดว่าปีหนึ่งจะได้เจอหน้าลูกแค่ตอนวันเกิดคุณพ่อคุณแม่ และต้องนัดล่วงหน้า (หัวเราะ)

สุดท้ายจริงๆ ถ้าอยากลงทุนในบิตคอยน์วันนี้สายไปไหม

ต้องฟังหูไว้หู ถามผมก็ต้องบอกว่าโอเคอยู่แล้ว (หัวเราะ) 

แนะนำแบบนี้ครับ ให้ใช้เงินเย็น อย่าเป็นเงินร้อนหรือเงินที่มีผลต่อชีวิตเรา เอาเงินที่เสี่ยงได้ สมมติวันนี้เพื่อนชวนไปกินชาบู เราไม่ไปแล้วกินมาม่าแทน เอาเงินมาซื้อบิตคอยน์ เก็บทิ้งไว้สิบปี ถ้าสมมติฐานเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ชาบูมื้อนั้นจะกลายเป็นชาบูที่แพงมากๆ แค่หยุดกินชาบูสักมื้อหนึ่ง แล้วก็ทิ้งเงินนี้ไว้ลืมไปเลย ไม่ต้องเทรด ใครจะรู้คุณอาจจะเกษียณด้วยเงินก้อนนี้ก็ได้ 

แต่ถ้ามันขาดทุนก็ไม่เป็นไร มันแค่ชาบูหนึ่งมื้อ

*การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน

ท็อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา, Bitkub

Writers

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป