จิรายุ คูอมรพัฒนะ คือตัวจริงในวงการภาพประกอบ ด้วยเวลากว่าทศวรรษที่เส้นสายในนาม Jirayu Koo ปรากฏโลดแล่นประกอบบทความใน ปกนิตยสาร แพ็กเกจจิ้งแบรนด์เครื่องหอม วอลเปเปอร์ ตึกแถว 7 คูหา ไปจนถึงภาพประกอบเปิดตัวศิลปินนักดนตรีให้กับ Apple Music ในสิงคโปร์ อินสตอลเลชันขนาดยักษ์ที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 3 ชั้นในห้างสรรพสินค้า แสดงผลงานในนิทรรศการทั้งไทยทั้งเทศ และล่าสุด จิรายุเป็นศิลปินไทยคนแรกที่ได้ร่วมงานกับ Nike กับโปรเจกต์ Nike by You

Jirayu Koo ศิลปินนักวาดภาพประกอบ ที่มีผลงานบนกระดาษ ห้างสรรพสินค้า จนถึงตึกแถว 7 คูหา

หากยังไม่คุ้น เราเชื่อว่าหลายคนคงผ่านตา ‘น้องกลมกลม’ คาแรกเตอร์ผู้หญิงไซส์อวบอั๋นน่ากอด มีความมั่นใจในตัวเอง ผู้เป็นลายเซ็นและตัวแทนของชื่อ Jirayu Koo คนนี้มาบ้าง

Jirayu Koo ศิลปินนักวาดภาพประกอบ ที่มีผลงานบนกระดาษ ห้างสรรพสินค้า จนถึงตึกแถว 7 คูหา

เรื่องราวเส้นทางของจิรายุเรียบง่าย จากเด็กสายวิทย์-คณิต ที่ทำคะแนนวิชาศิลปะและภาษาอังกฤษได้ดีกว่าฟิสิกส์หรือเคมี เติบโตมาพร้อมกับสมาชิกในครอบครัวที่ทำงานในวงการโฆษณา ทำให้เธอได้มีโอกาสช่วยทากาวตัดแปะจัดวางเลย์เอาต์หน้าโฆษณา ในวัยนั้นเต็มไปด้วยคำว่าสนุก และเป็นการปลูกฝังพื้นฐานด้านการออกแบบ รวมถึงเทคนิคการคอลลาจตามความสนใจโดยไม่รู้ตัว

ก้าวสำคัญของชีวิต จิรายุเลือกเรียนด้านกราฟิกดีไซน์และเดินสายเข้าทำงานในเอเจนซี่ สะสมประสบการณ์จนถึงวันที่ลมแห่งโอกาสจากเพื่อนพัดพาให้ได้ลองทำงานภาพประกอบในนิตยสารชื่อดังสมัยนั้น จากการเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์คุมภาพรวมของงานต่างๆ ในเอเจนซี่ จิรายุเริ่มขยายสู่การทำภาพประกอบให้กับบทความต่างๆ และคอลัมน์รายเดือนอย่าง คอลัมน์ดูดวง

เธอรู้สึกว่าภาพประกอบ ทำให้ได้แสดงตัวตน โดยไม่ต้องมีโลโก้ ไม่ต้องมีตัวหนังสือ และได้ทำในสิ่งที่อยากทำ 

“เราแค่ต้องเล่าเรื่องนั้นๆ ในอีกแบบ ไม่ใช่ต้องเล่าว่าเป็นลำดับ A B C แต่คือเล่าเป็นแบบภาพรวม เหมือนเป็นน้ำจิ้มเรียกให้คนสนใจเพื่อให้เขาไปอ่านเรื่องข้างในต่อ”

Jirayu Koo ศิลปินนักวาดภาพประกอบ ที่มีผลงานบนกระดาษ ห้างสรรพสินค้า จนถึงตึกแถว 7 คูหา

ศิลปินคอลลาจ

ย้อนกลับไปในวันที่เป็นยุครุ่งเรืองของนิตยสารเล่ม กราฟิกดีไซเนอร์ได้เรียนรู้โลกของภาพประกอบจากอาจารย์ที่เคารพ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับภาพประกอบบทความในหน้านิตยสาร เหมือนการทดลองใช้ภาพสื่อแบบต่างๆ ที่นิยมส่วนมากเป็นการวาดภาพหรือใช้ภาพถ่าย แต่เมื่อโอกาสมาถึงมือให้จิรายุลองทำ เธอกลับเลือกใช้เทคนิคที่ไม่ค่อยนิยมอย่างการคอลลาจมาใช้สื่อสารทักษะและฝีมือผ่านผลงานแทน

“งานคอลลาจเป็นการใช้รูปทรงที่ชัดเจนอย่างรูปทรงเรขาคณิตมาจัดวางคู่กับรูปคนจริงๆ ซึ่งในตอนนั้นเราเอารูปจากอินเทอร์เน็ตมาใช้ไม่ได้ การเปลี่ยนหัวตัดต่อขาแขนจึงเป็นสิ่งที่เราต้องทำเสมอ เลยทำให้รู้สึกว่า ถ้าเราจะสร้างคาแรกเตอร์คนอยู่แล้ว ทำไมไม่วาดคนขึ้นมาเอง” 

จากนั้น เธอจึงเริ่มค้นหาว่าคาแรกเตอร์คนของตัวเองจะเป็นแบบไหน

Jirayu Koo ศิลปินนักวาดภาพประกอบ ที่มีผลงานบนกระดาษ ห้างสรรพสินค้า จนถึงตึกแถว 7 คูหา

กำเนิดน้องกลมกลม

‘น้องกลมกลม’ ลายเซ็นตัวแทนของ Jirayu Koo ได้เกิดขึ้นมาและเซย์ฮัลโหลทำความรู้จักทุกคน โดยเปลี่ยนจากการคอลลาจเป็นการวาดและระบายสีขึ้นมาใหม่ ซึ่งก่อนที่น้องกลมกลมจะอวบน่ากอดอย่างทุกวันนี้ น้องเคยผอมหุ่นเพรียวเป็นนางแบบ

ส่วนนี้ต้องย้อนไปตอนที่จิรายุอยู่อังกฤษ ช่วงเสาร์-อาทิตย์ เธอใช้เวลาไปกับการเดินเปิดท้ายขายของที่ค้นหนังสือเก่าเอามาตัดใช้ ข้อจำกัดอย่างรูปที่มีขนาดเล็ก และความรู้สึกภายในที่คิดว่าตัวเองเป็นคนตัวเล็ก ไม่เป็นส่วนหนึ่งกับคนในประเทศนั้น ยิ่งเมื่อพูดคุย เธอเป็นคนขี้อายและพูดเบา น้องกลมกลมยุคบุกเบิกจึงตัวเล็กตามตัวตนของคนสร้าง

“กลับมาอยู่บ้านแล้วมีความมั่นใจ รู้สึกว่าเป็นที่ของเราเลยสบายใจที่จะเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ตัวก็เลยค่อยๆ ใหญ่ขึ้น กลมขึ้น จนตอนนี้อ้วนแน่นไปหมด ซึ่งเขาก็คือตัวเรานี่แหละ แต่เราไม่ใช่คนอ้วน ไม่ใช่คนผอม เป็นคนชอบกิน ครีเอเตอร์ที่สร้างมาเลยเป็นยังไงก็ได้ และเป็นอีก Persona หนึ่งที่ใช้เป็นร่างสอง มีเขาคอยเล่าเรื่องราว คอยพูดความคิดของเรา”

Jirayu Koo ศิลปินนักวาดภาพประกอบ ที่มีผลงานบนกระดาษ ห้างสรรพสินค้า จนถึงตึกแถว 7 คูหา

ร่างหนึ่งคือจิรายุและร่างสองคือน้องกลมกลมนั้นสื่อสารกันตลอด ทั้งคู่ทำความรู้จักกันไปเรื่อยๆ เหมือนเพื่อนใหม่ที่กลายเป็นเพื่อนสนิท รู้ว่าทรงผมนี้เธอต้องไม่ชอบ วาดแบบนี้ไม่ได้ เป็นเพื่อนสนิทที่ทำงานด้วยกันและเข้าขากันอย่างเป็นธรรมชาติ

และเมื่อกดเข้าดูผลงานในอินสตาแกรมของ Jirayu Koo เราจะได้เห็นความหลากหลายของสื่อที่จิเลือกใช้ในการนำเสนอ ‘น้องกลมกลม’ ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ผลงานที่น่าตื่นเต้นที่สุดในช่วงเวลานี้ จิรายุเลือกให้ Nike by You เป็นหนึ่งในนั้น

“โจทย์ตอนแรกเป็นการติดต่อมาเพื่อเปิดร้าน Nike สาขาที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทยในสยามเซ็นเตอร์ ทางแบรนด์อยากพูดถึงความเป็นไทยหรือความเป็นสยาม ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าแม้เราเป็นคนไทยเหมือนกัน แต่ทุกคนตีความความเป็นไทยไม่เหมือนกัน และเรารู้สึกว่าสยามมีความป๊อป มีความ Color Clash เป็น Culture Melting ก็เลยหยิบเอาตรงนี้มาใช้ แล้วตั้งชื่อธีมว่า Bangkok Jam มีคาแรกเตอร์ตัวหนึ่งที่เรียกว่า ‘สวัสดีบอย’ ทำท่าเหมือนสวัสดีแบบฮิปฮอปหน่อยๆ ผสมวัฒนธรรมแบบ Traditional กับ Contemporary”

Jirayu Koo ศิลปินนักวาดภาพประกอบ ที่มีผลงานบนกระดาษ ห้างสรรพสินค้า จนถึงตึกแถว 7 คูหา

สเก็ตช์บุ๊กเปลี่ยนชีวิต

Creative Media Program คือชื่อวิชาที่จิรายุเลือกเรียนที่ลอนดอน 

การตัดสินใหญ่ยิ่งใหญ่มาพร้อมการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ยิ่ง นอกจากการได้เริ่มทำงานภาพประกอบเป็นอาชีพแล้ว การค้นพบวิธีทำงานผ่านการสเก็ตช์ภาพก็เกิดขึ้นที่นั่นด้วย

จากกราฟิกดีไซน์ที่คิดครบจบในหัว ดีลกับโจทย์ด้วยความเด็ดขาด หลักสูตรวิชาจากไทยที่เคยชินกับนิสัยยังไม่ทำเมื่อยังไม่ถึงเส้นตาย พอได้เริ่มแล้ว อาจารย์ค้นพบว่าเธอไม่มีสเก็ตช์บุ๊กแสดงกระบวนการคิด เรียกได้ว่า พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ

“ในช่วงเวลาที่เรียนแล้วเขาให้โจทย์ เราไม่ทำอะไรเลย พอใกล้ส่ง ได้แนวคิดแต่ไม่มีสเก็ตช์บุ๊กไปให้ดู โดนดุเละเทะ เพราะเขาไม่ได้สนใจผลลัพธ์ปลายทางที่เราออกแบบมา แต่เขาอยากรู้ว่าเราคิดอะไรและอย่างไร ถึงกลายมาเป็นแบบนี้”

ช็อกไหม

“ช็อก ยอมรับว่าเราไม่มีอะไรจะเล่า เพราะทำแบบที่เคยทำงานมา รู้ว่าทำแบบนี้แล้วจะสวย แต่ไม่ได้มีที่มาที่ไปหรือเรื่องราวเบื้องหลัง ไม่ได้สเก็ตช์มามากพอ จากนั้นต้องปรับแก้ไปเรื่อยๆ จนถึงตัวจบที่มีสเก็ตช์เล่าเรื่อง ถ่ายเอง ทำเอง ทำเป็นแอนิเมชันแบบสต็อปโมชัน”

นั่นเป็นสเก็ตช์บุ๊กเล่มที่เล่าวิธีคิด จนทำให้จิรายุเรียนจบเกียรตินิยมในวิชานั้น

Jirayu Koo ศิลปินนักวาดภาพประกอบ ที่มีผลงานบนกระดาษ ห้างสรรพสินค้า จนถึงตึกแถว 7 คูหา

สเก็ตช์ภาพเปลี่ยนวิธีทำงาน

เมื่อวิธีการเปลี่ยน วิธีคิดก็เปลี่ยนตาม จิรายุค่อยๆ ปรับการทำงานจากช่วงแรกที่คิดครบจบในหัว มาสู่การค้นคว้าอย่างเป็นจริงเป็นจัง เพราะวิธีการดูภาพจากในคอมพิวเตอร์เริ่มไม่ได้ผล คนข้างตัวเธอบอกว่าให้ลองร่างสเก็ตช์ดูก่อนเพื่อรู้ว่าอะไร “ใช่” และอะไร “ไม่” 

Jirayu Koo ศิลปินนักวาดภาพประกอบ ที่มีผลงานบนกระดาษ ห้างสรรพสินค้า จนถึงตึกแถว 7 คูหา

“ตอนแรกก็ไม่เชื่อเพราะเราเคยทำแบบไม่สเก็ตช์มาก่อน พอได้เริ่มทำงานจริงๆ ที่อังกฤษเลยสเก็ตช์ทุกวัน จนตอนนี้รูปของเราไม่สเก็ตช์ไม่ได้แล้ว และต้องสเก็ตช์มือด้วยนะ

“บางทีเรานอนแล้วนึกไอเดียออก สุดท้ายมันจะหายไปหากไม่ได้จดมัน บางอย่างที่นามธรรมมากๆ เราก็นึกไม่ออกว่าจะเป็นภาพอย่างไร เราก็ลิสต์ออกมาเป็นคำๆ ใช้วิธีเขียนเป็นคีย์เวิร์ดให้เห็นภาพก่อน แล้วดูว่าจะนำอะไรมาใช้ได้บ้าง หรือบางครั้งก็สเก็ตช์รูปไปเลย” เธอเผยเคล็ดลับที่นำไปใช้ตามได้ทันที

Jirayu Koo ศิลปินนักวาดภาพประกอบ ที่มีผลงานบนกระดาษ ห้างสรรพสินค้า จนถึงตึกแถว 7 คูหา
Jirayu Koo ศิลปินนักวาดภาพประกอบ ที่มีผลงานบนกระดาษ ห้างสรรพสินค้า จนถึงตึกแถว 7 คูหา

เห็นสนุกกับการทำงานทุกวันแบบนี้ จิรายุเล่าว่าบางทีก็เหนื่อย นักวาดภาพประกอบจัดการความรู้สึกนั้นด้วยการแวะไปทำอย่างอื่น แต่ไม่พ้นได้ไอเดียกลับมาทำงานเพิ่ม

อย่างอื่นที่ว่าคือการทำกับข้าว ตระเวนกินเพื่อสร้างคอนเทนต์ในเพจ Wearekinkin ที่เธอทำร่วมกับคนรัก และออกกำลังกาย สิ่งหนึ่งที่จิรายุขาดไม่ได้เลยคือการฟังเพลง ช่วงชีวิตที่อังกฤษของเธอตารางในแต่ละวันเต็มไปด้วยการเดินพิพิธภัณฑ์ นั่งเล่นในสวน และไปดูคอนเสิร์ต ในชีวิตประจำวัน จิรายุมีจังหวะการทำงานโดยมีเพลงจากสถานีวิทยุ BBC6 เป็นฉากหลัง 

จิรายุชอบความรู้สึกเซอร์ไพรส์เมื่อฟังเพลงที่ดีเจเลือกมาเปิด และการเดินพิพิธภัณฑ์ที่ไม่เกี่ยวกับการออกแบบโดยตรง สิ่งโปรดของเธอคือนิทรรศการภาพถ่าย ไปเห็นสี เห็นเส้น และเห็นท่าทางของแบบ (ที่ดูประหลาด) เพื่อหยิบจับมาเป็นโครงร่างในหัวสำหรับออกแบบผลงานของตัวเอง

ที่ผ่านมาอังกฤษจึงเป็นประเทศที่บ่มเพาะและเป็นถังเก็บต้นทุนทางความคิดชุดใหญ่ให้กับเธอ ส่วนผลกำไรที่ทำให้ฝีมือพัฒนาคือการตั้งใจทำทุกงานให้ออกมาดี

การสร้างความสมดุลระหว่างตัวตนและตัวแบรนด์

ความหลากหลายและประสบการณ์ที่สั่งสมถือเป็นความแหลมคมที่นำไปสู่ความมั่นใจ เพื่อตอบข้อสงสัยว่า ในฐานะศิลปินที่ร่วมงานกับแบรนด์ที่เกินสิบนิ้วมือนับนั้น จิรายุสมดุลระหว่างความเป็นตัวเองกับเอกลักษณ์ของแบรนด์นั้นๆ ให้ออกมากลมกล่อมอย่างนี้ได้อย่างไร เธอกล่าวว่า 

“พอมีลายเส้นที่ชัดเจน ลูกค้าจะรู้ว่ามาหาเราแล้วเขาจะได้อะไร เพราะฉะนั้น เราก็มีสิทธิ์นำเสนอไอเดียและความเป็นตัวเราได้เยอะมาก แต่ในขณะเดียวกันต้องคิดถึงว่าเขาอยากพูดถึงเรื่องอะไร หรือเราช่วยช่วยแบรนด์นำเสนออะไรอยู่” นักวาดภาพประกอบยังบอกอีกว่า ทั้งคนที่คิดว่าทำงานแบบมีสไตล์ชัดเจนนั้นดี กับคนที่คิดว่าไม่มีสไตล์แต่ว่าทำอะไรก็ได้ ซึ่งเธอว่ามันดีทั้ง 2 แบบ แล้วแต่ว่าใครถนัดทำอะไร 

“ทำอะไรแล้วทำออกมาได้ดี ก็ทำไปเลย ไม่ต้องบอกว่าใครดีกว่าหรือทำได้มากกว่า” ศิลปินเจ้าของชื่อ Jirayu Koo ย้ำ

อย่าเป็นแบบเรา ให้เป็นตัวเอง

เข้าขวบปีที่ 11 เป็นสิ่งที่พิสูจน์แล้วว่า Jirayu Koo วาดภาพประกอบเป็นอาชีพ 

คำถามที่เราสงสัยคือการนิยามตัวเองยังคงจำเป็นอยู่หรือไม่ ในวันที่ตัวตนสะท้อนผ่านผลงานชัดเจนและโดดเด่น 

“เป็นเรื่องง่ายที่คนจะจัดประเภทให้เรา เพราะว่าบางทีเขาก็ไม่รู้ว่าเขาจะเรียกเราว่าอะไร นักวาดภาพประกอบก็ได้เพราะเราทำงานแบบนั้น แต่บางทีเราพูดถึงอะไรบางอย่างในแง่ศิลปะ ไม่ใช่การโปรโมตอะไร จะเรียกเราว่าอะไรก็ได้ เราแค่ทำงานในแบบของเรา”

ว่ากันว่าแบบของเธอเป็นรอยเท้าให้นักวาดภาพประกอบรุ่นหลังเดินตาม คำถามสำคัญสุดท้ายจึงอยากรู้ว่า ถ้าอยากก้าวขึ้นมาเป็นอย่างเธอ จะมีข้อแนะนำอะไร เธอตอบว่า

“อย่าเป็นแบบเรา ให้เป็นตัวเอง”

Jirayu Koo ศิลปินนักวาดภาพประกอบ ที่มีผลงานบนกระดาษ ห้างสรรพสินค้า จนถึงตึกแถว 7 คูหา

5 ผลงานชิ้นโปรดที่มีความหมายต่อ Jirayu Koo

01 Nike by You

ผลงานออกแบบสำหรับแฟลกชิปสโตร์ที่ใหญ่และใหม่ที่สุดในประเทศไทยที่สยามเซ็นเตอร์

Jirayu Koo ศิลปินนักวาดภาพประกอบ ที่มีผลงานบนกระดาษ ห้างสรรพสินค้า จนถึงตึกแถว 7 คูหา
Jirayu Koo ศิลปินนักวาดภาพประกอบ ที่มีผลงานบนกระดาษ ห้างสรรพสินค้า จนถึงตึกแถว 7 คูหา

02 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

การเพนต์ลงบนตึกกว่า 7 คูหาที่จังหวัดตราด ส่วนหนึ่งในแคมเปญ Amazing Thailand 

Jirayu Koo ศิลปินนักวาดภาพประกอบ ที่มีผลงานบนกระดาษ ห้างสรรพสินค้า จนถึงตึกแถว 7 คูหา
Jirayu Koo ศิลปินนักวาดภาพประกอบ ที่มีผลงานบนกระดาษ ห้างสรรพสินค้า จนถึงตึกแถว 7 คูหา

03 Blooming Hope 

ภาพวาดในธีม ‘ความหวัง’ สำหรับนิตยสาร VOGUE (ฉบับภาษาไทย)

Jirayu Koo ศิลปินนักวาดภาพประกอบ ที่มีผลงานบนกระดาษ ห้างสรรพสินค้า จนถึงตึกแถว 7 คูหา

04 อินสตอลเลชันที่ห้างสรรพสินค้าเกษรวิลเลจ

ผลงานน้องกลมกลมและผองเพื่อนที่ไปลอยอยู่ด้วยกันในใจกลางห้าง 

Jirayu Koo ศิลปินนักวาดภาพประกอบ ที่มีผลงานบนกระดาษ ห้างสรรพสินค้า จนถึงตึกแถว 7 คูหา
Jirayu Koo ศิลปินนักวาดภาพประกอบ ที่มีผลงานบนกระดาษ ห้างสรรพสินค้า จนถึงตึกแถว 7 คูหา

05 Harnn Festival 

การออกแบบกล่องบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าแบรนด์ HARNN เพื่อเป็นของขวัญในเทศกาลพิเศษ

Jirayu Koo ศิลปินนักวาดภาพประกอบ ที่มีผลงานบนกระดาษ ห้างสรรพสินค้า จนถึงตึกแถว 7 คูหา

ขอบคุณสถานที่ : โครงการเมทริส พัฒนาการ-เอกมัย โดยเมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์

วันที่ 2-7 มีนาคม 2564 พบกับงาน Bangkok Illustration Fair 2021 (BKKIF) อีเวนต์ใหญ่รายปีสำหรับแวดวงศิลปะและภาพประกอบในรูปแบบออนไลน์ ที่รวบรวมศิลปินนักวาดหลายรุ่น หลากสไตล์จากไทยและอีกหลายประเทศ มาจัดแสดงผลงานเพื่อค้นหาโอกาสต่อยอดในสิ่งที่แต่ละคนรักและหลงใหล ด้วยความร่วมมือกันของ happening, decembell และ What If 

ชมผลงานของนักวาดทั้งหมดได้ที่ bangkokillustrationfair.com/showcase

ติดตามกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่ facebook.com/bkkif

Writer

Avatar

กมลกานต์ โกศลกาญจน์

นักเขียนอิสระที่สนใจเรื่องงานออกแบบ สังคม และวัฒนธรรม ชื่นชอบการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพราะอยากเรียนรู้ในความแตกต่างที่หลากหลายของโลกใบนี้

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน