เรานัดพบ เต้-จิราภรณ์ วิหวา ที่ร้านอาหารย่านสีลม เป็นร้านอาหารเล็กๆ ซึ่งซ่อนตัวอยู่ในซอยหนึ่ง ไม่ใหญ่โต แน่นขนัด หรือฉูดฉาด แต่เมื่อผลักประตูเข้าไปจะพบว่าเต็มไปด้วยรายละเอียดเล็กน้อยแสนมีเสน่ห์ ดึงดูดผู้คนที่ชอบทางเดียวกันให้หลงรักได้ไม่ยาก

หลังการพูดคุย ฉันอดนึกไม่ได้ว่า จิราภรณ์และผลงานของเธอช่างคล้ายคลึงกับร้านแห่งนี้

ถนนงานเขียนและชีวิตของ จิราภรณ์ วิหวา ผู้เล่าเรื่องราวรสขมนิดๆ ด้วยภาษาสวยแปลกตา

หากเดินสวนกัน อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร a day และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทสร้างสรรค์คอนเทนต์ ILI คนนี้ ไม่ได้โดดเด่นจากฝูงชนแต่แรกเห็น หากถ้าได้นั่งลงพูดคุย สบตากันเสียหน่อย ก็จะพบว่าจิราภรณ์เป็นคน ‘คาแรกเตอร์ชัด’ ตั้งแต่มุมมอง ความสนใจ จนถึงสำนวนพูดจา

เช่นเดียวกับผลงานเรื่องแต่งของเธอ ตั้งแต่ ทานยาหลังอาหาร แล้วดื่มน้ำตามากๆ รวมเรื่องสั้นเล่มแรก จนถึงอีก 2 ผลงานเรื่องแต่งที่ตามมาคือ เขตการปกครองมายองเนส และ สนธิสัญญาฟลามิงโก ทุกเล่มล้วนไม่ใช่หนังสือตอบโจทย์ตลาดแมส แต่มีเอกลักษณ์เต็มเปี่ยม ตั้งแต่การคว้าจับรายละเอียดเล็กน้อยในชีวิตผู้คนมาบอกเล่า ถ้อยคำสำนวนสะดุดตา จนถึงมวลบรรยากาศกึ่งหม่นเศร้าที่มักปกคลุมเนื้อหาเสมอ

ไม่นานนี้ รวมเรื่องสั้นเล่มแรกในชีวิตของจิราภรณ์ได้วาระพิมพ์ใหม่ โดยมีเรื่องสั้นเพิ่มขึ้นที่ข้างท้าย 1 เรื่อง ในชื่อ ทานยาหลังอาหาร แล้วดื่มน้ำตามมากๆ เรื่องสั้นนี้มีตัวเอกชื่อ ‘จิราภรณ์’ และมีเนื้อหามองย้อนชีวิตซึ่งเกาะเกี่ยวกับหนังสือเล่มแรกนี้

ถนนงานเขียนและชีวิตของ จิราภรณ์ วิหวา ผู้เล่าเรื่องราวรสขมนิดๆ ด้วยภาษาสวยแปลกตา

ในโอกาสนี้ เราจึงชวนนักเขียนเจ้าของจักรวาลงานเขียนเล็กแต่พิเศษมานั่งสนทนา ว่าด้วยการเติบโตนับจากการพิมพ์ครั้งที่ 1 จนถึงวันมีผลงานทบทวนชีวิต ซึ่งถ้าเหลือบดูหมุดหมายเวลาก็ครบ 11 ปีแล้ว

และนี่คือเรื่องราวการเดินทางที่บางสิ่งเปลี่ยนแปลงและบางสิ่งไม่เปลี่ยนไปของ ‘จิราภรณ์’ ตลอด เวลาที่ผ่านมา

1

จิราภรณ์กับหลุมหลบภัยที่กลายเป็นประตู

ว่ากันตามเส้นทางชีวิต จิราภรณ์อยู่ใกล้ชิดขอบเขตการเป็นนักเขียนมาตลอด เธอฝันอยากเป็นนักเขียนนิยายมาแต่เด็ก เพราะเคยเห็นนางเอกในละครเป็นนักเขียนนิยายพิมพ์ดีดอยู่กลางทุ่งหญ้าแล้วหลงรัก แถมทักษะภาษาก็ดี เขียนงานทีมีครูชม อย่างไรก็ตาม จิราภรณ์ไม่เคยคิดจะก้าวเข้าสู่ดินแดนนั้นจริงจัง 

“เราเป็นเด็กแพสชันต่ำ” เธอว่าอย่างนั้น ก่อนเล่าว่าที่เลือกเรียนนิเทศศาสตร์ก็เพราะคำแนะนำของครูแนะแนว จากนั้น การเรียนในคณะก็ทำให้ชัดเจนขึ้นว่าคงต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับการเขียน และเมื่อมาฝึกงานนิตยสาร เธอก็พบว่าน่าจะเหมาะกับตัวเอง จิราภรณ์จึงทำงานเขียนเป็นอาชีพเรื่อยมา โดยที่ไม่ได้สนใจเป็นนักเขียน

จนกระทั่งขวบปีที่ 25 – 26 ของชีวิต 

ถนนงานเขียนและชีวิตของ จิราภรณ์ วิหวา ผู้เล่าเรื่องราวรสขมนิดๆ ด้วยภาษาสวยแปลกตา

“เป็นช่วงชีวิตทุกข์ที่สุดช่วงหนึ่ง” ถ้าให้สรุปสั้น จิราภรณ์จะอธิบายมันแบบนี้ ตอนนั้นเธอเป็นกองบรรณาธิการประจำนิตยสาร a day ชีวิตโดยรวมราบรื่นปกติดี ความสัมพันธ์ก็ไม่ได้มีปัญหาหนักหน่วง แต่จู่ๆ จิราภรณ์ก็พบว่าตัวเองเศร้าเหลือเกิน

“น่าจะเป็นวงจรที่คนต้องเจอ คือชีวิตเราโดนผลักมาเรื่อยๆ ตามระบบว่า เรียนจบมอหกก็ต้องเข้ามหาวิทยาลัย เข้ามหาวิทยาลัยแล้วก็ต้องทำงาน แล้วก็โอเค เจองานที่ถนัด ช่วงแรกเข้าไปก็ต้องต่อสู้กับมาตรฐานแบบหนึ่งที่ไม่เคยเจอ ต่อสู้ผ่านมาแล้ว แล้วยังไงต่อวะ ก็คงต้องทำสิ่งนี้ต่อไปแหละ แต่ว่าแล้วยังไงต่อวะกับเรื่องอื่นๆ

“ก็เกิดเศร้าขึ้นมา รู้สึกชีวิตแย่จังเลยแบบไม่มีสาเหตุ ไม่ได้มีเรื่องเป็นชิ้นเป็นอันจับต้องได้ แค่รู้สึกว่าเกิดมาทำไมวะแล้วก็เศร้าจนเริ่มส่งผลต่อร่างกาย ปวดหัว เครียด ซึม จนต้องไปหาหมอ แต่การรักษาตอนนั้นเป็นการกินยารักษาอาการมากกว่าจะปรึกษาหาปมความเศร้าอะไร อาการดีขึ้นก็จบเรื่องนี้ไป”

แต่ระหว่างไทม์ไลน์ช่วงเศร้านั้นเอง จิราภรณ์ลุกขึ้นมาลองเขียนเรื่องสั้นเป็นครั้งแรก เพราะรุ่นพี่ในวงการหนังสือชักชวน บวกกับเธออ่านเรื่องแต่งและนึกอยากเปลี่ยนแนวจากงานนิตยสารที่เขียนเรื่องจริงเป็นหลัก 

ทำไปทำมา สิ่งที่ลองทำและมองว่าเป็นหนึ่งในงานอดิเรกสนุกๆ กลับกลายเป็นที่พักใจชั้นดี

“การเขียนเรื่องแต่งเป็นหลุมหลบภัย ทำให้ไม่ได้อยู่กับตัวเองมากนัก ไปอยู่กับตัวละครเหล่านั้นแทน โดยเราไม่ได้เขียนเรื่องตัวเองแต่เป็นเรื่องคนนั้นคนนี้ ที่ก็ไม่ใช่คนนั้นคนนี้ เพราะเรากลัวว่าเอาไปเขียนแล้วจะโดนโกรธ เราก็จะเอาไปบิด ใส่สิ่งต่างๆ ไปจนเป็นใครไม่รู้ แล้วเราก็สบายใจที่จะพาใครก็ไม่รู้นี้ไปเจออะไรก็ได้

“ขณะเดียวกันเวลาเราไม่อยากพูดบางสิ่ง ตัวละครพูดแทนเราได้ เหมือนเราไม่ชอบอะไรในโลกนี้ ไม่ทำให้มันดีขึ้นในโลกนี้ ก็ทำให้รู้ว่าฉันไม่พอใจโลกแบบนั้น หรือบางทีมาแค่หาตัวละครตัวหนึ่งมาคุยกับเราหน่อย ซึ่งมันก็เหมือนเราได้คุยกับตัวเอง ตกลงรู้สึกอย่างนี้จริงๆ เหรอ โกรธเพราะเรื่องนี้จริงๆ เหรอ เป็นกระบวนการบำบัดแบบเบ็ดเสร็จ มันไม่ได้ทำให้หายเศร้าขนาดนั้น แต่เป็นช่วงเวลาที่ดีจังเลย เราก็ใช้เวลาช่วงนั้นเขียน แล้วก็รู้สึกว่าโอเค ก็ผ่านมาได้นี่หว่า ก็เขียนมาเรื่อยๆ”

ระหว่างนั้น จิราภรณ์ทยอยส่งเรื่องสั้นให้ ต๊ะ-จักรพันธุ์ ขวัญมงคล อดีตบรรณาธิการนิตยสาร HAMBURGER คนรักในวันนั้นและคู่ชีวิตในวันนี้ของเธออ่าน กระทั่งมีเรื่องสั้นเยอะเป็นรูปเป็นร่าง จักรพันธุ์ที่ทำสำนักพิมพ์ไซส์เล็กตอนนั้นก็เอ่ยปากชวนเธอรวมเล่ม

เช่นเคย จิราภรณ์ที่ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นนักเขียนเรื่องแต่ง ก็ไม่มีฝันสูงสุดคือการได้ตีพิมพ์งานเขียนแต่อย่างใด

“ตอนนั้นเราแค่รู้สึกว่าเปลืองเงิน” เธอย้อนเล่าปนหัวเราะ “แต่พี่ต๊ะบอกว่า เชื่อเราเถอะ ต้องพิมพ์ ในที่สุดแล้วก็ต้องให้เครดิตพี่ต๊ะที่เชื่อว่ามันจะเวิร์ก”

ถนนงานเขียนและชีวิตของ จิราภรณ์ วิหวา ผู้เล่าเรื่องราวรสขมนิดๆ ด้วยภาษาสวยแปลกตา

ทานยาหลังอาหาร แล้วดื่มน้ำตามากๆ จึงปรากฏตัวขึ้นในฐานะหนังสือรวม 10 เรื่องสั้นที่ให้ความรู้สึกแบบหนังสือทำมือ รวมเรื่องสั้นนี้ไม่ได้เข้าถึงคนหมู่มาก เพราะอยู่ตามร้านหนังสืออิสระและงานหนังสือเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็โดดเด่นพอจะทำให้คนดังในวงการหนังสือหยิบขึ้นอ่านและชื่นชมมันในฐานะเรื่องสั้นรสชาติใหม่ของนักเขียนหญิง ซึ่งในตอนนั้นดูเหมือนอยู่ในวงการนิยายกันมากกว่างานแนวนี้ รวมถึงเมื่อถูกหยิบไปพิมพ์อีกครั้งกับสำนักพิมพ์ Salmon มันยังผ่านเข้าไปถึง Shortlist ของรางวัล 7 Book Awards

จิราภรณ์เล่าว่า การที่คนในวงการหยิบอ่านแล้วยอมรับ ช่วยให้เธอรู้สึกว่ารวมเรื่องสั้นที่คล้ายจะเขียนเองพิมพ์เองนั้นผ่านมาตรฐาน ขณะเดียวกัน เมื่อมองย้อนไป เธอก็ได้เห็นตัวตนสะท้อนอยู่ในผลงานเล่มแรก

“ต่อให้อยากเขียนเรื่องแต่งยังไง เราก็จะออกแบบ ไม่ได้เขียนเรื่องที่เป็นส่วนตัว เป็นความรู้สึกของฉัน มันคือความคิดแบบคนทำนิตยสารน่ะ ที่จริงพอกลับไปอ่านก็เขินนิดหน่อย เพราะเล่มนี้ออกแบบมาก อย่างถ้าเขียนเนื้อเรื่องให้ตัวละครไปเจออย่างนี้ Cliché ว่ะ หักมุมอีกแบบหนึ่งสิ เพียงแต่วิธีใช้ภาษาของเราไม่ได้ดูเป็นเรื่องสั้นที่ออกแบบ เขียนด้วยการเล่าไปเรื่อยๆ คนเลยไม่รู้ แต่ พี่วิวัฒน์ (วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา นักเขียนเจ้าของนามปากกา Filmsick) ก็เคยเขียนวิจารณ์ว่า ตลกดีที่ตัวละครต้องมีแรงขับตามอาชีพ คือถ้าเป็นเภสัชกรก็ต้องกินยาด้วย ต้องสั่งยาให้ตัวเอง เราก็คิดว่า เฮ้ย เขาจับได้”

นอกจากการมองเรื่องสั้นราวกับทำนิตยสาร อีกสิ่งที่เมื่อรวมตัวกันแล้วถึงเห็นชัดเจน คือมวลความหม่นเศร้าซึ่งปกคลุมอยู่ตลอดเล่ม

“สิ่งนี้ไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้ออกแบบไว้” จิราภรณ์บอก “เราไม่คิดว่าฉันเป็นคนเศร้า แต่มันเป็นเองอัตโนมัติมาแต่ไหนแต่ไร เหมือนผู้คนที่เรากรี๊ดเขาก็จะไม่ใช่คนสว่างไสว มันก็แค่เรามาทางนี้ ชอบสิ่งนี้ รู้สึกว่าเรื่องแบบนี้จับใจกว่าเรื่องแฮปปี้ เอ็นดิ้ง สมมติคนอื่นเล่าเรื่องความทรงจำหอมหวานวัยเด็ก เราจะรู้สึกว่าเรื่องของเขาหวาน แต่เรื่องวัยเด็กที่เรานึกถึงจะขมๆ ทั้งที่เป็นเหตุการณ์เดียวกันเลยนะ สมมติเพื่อนเอาแอปเปิ้ลมาให้กิน คนอื่นก็มีมุมเล่าว่าเพื่อนน่ารัก ขณะที่เรารู้สึกว่า แต่เพื่อนคนนี้เล่าว่าต้องไปหยิบแอปเปิ้ลเองตอนเช้า แม่ไม่ได้มาหยิบให้ คือจะโฟกัสสิ่งที่คนอื่นไม่สนใจ ซึ่งดันขมๆ นิดหนึ่ง แล้วมันก็เลยอยู่ในเรื่องที่เขียน และพออยู่รวมกันเลยเป็นมวลชัดขึ้นมา”

อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้คือเรื่องสำนวนภาษา ซึ่งถ้าใครเคยผ่านตางานเขียนจิราภรณ์จะรู้ว่าเป็นจุดเด่นของเธอ

ถนนงานเขียนและชีวิตของ จิราภรณ์ วิหวา ผู้เล่าเรื่องราวรสขมนิดๆ ด้วยภาษาสวยแปลกตา

“เราเจอ ประภัสสร เสวิกุล ที่เราชอบเขามาก แล้วเขาก็พูดว่า งานคุณน่าสนใจมากเลยนะ แต่คุณคิดว่าในเล่มต่อไปจะเขียนประโยคอย่างแม่น้ำสีชาชักได้อีกจริงเหรอ ซึ่งมันฝังใจเรามากว่า แม่น้ำสีชาชักของฉันสลักสำคัญอะไร เราเลยเพิ่งเข้าใจว่า อ๋อ หนังสือเล่มนี้น่าสนใจเพราะใช้คำแปลก เชื่อมโยงคำ หรือมองเห็นความเชื่อมโยงของบางอย่างที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกัน แล้วเราก็เลยเข้าใจขึ้นนิดหน่อยว่า นี่คือทางของฉัน และรู้สึกอยากเขียนเล่มต่อไป”

ด้วยเหตุนี้ จากงานอดิเรกที่ใช้หลบความเศร้า การเขียนก็พาจิราภรณ์มาสู่ถนนงานเขียน และความฝันถึงก้าวต่อไปบนทางเส้นนี้

“อย่างที่บอกว่าเราเขินกับงานเล่มนี้นิดหน่อย เวลามีคนบอกว่า ผู้เขียนเรื่อง ทานยาหลังอาหาร แล้วดื่มน้ำตามากๆ เหรอคะ ก็คิดว่าไม่น่าตั้งชื่อนี้เลย (หัวเราะ) แต่ไม่ได้เกลียดมัน แล้วมันก็พาให้เรามาถึงการเขียนสิ่งนี้ต่อไป จะบอกว่าทำให้เราเป็นนักเขียนก็ไม่ใช่ ไม่โรแมนติกขนาดนั้น แต่มันพาเรามา ทำให้เรารู้ว่าทำสิ่งนี้ได้”

2

จิราภรณ์กับถนนที่ชัดและหลากหลาย

จากรวมเรื่องสั้นที่เปรียบเหมือนประตูสู่ถนนนักเขียน จิราภรณ์มีผลงานรวมเล่มหลังจากนั้นในหลากหลายรูปแบบ โดยผลงานถัดจาก ทานยาหลังอาหารฯ คือรวมเรื่องสั้นหอมกลิ่นอาหารชื่อ เขตการปกครองมายองเนส ที่เธอบอกว่าค่อยๆ พบและเป็นตัวเองมากขึ้น 

“หนังสือเล่มนี้คิดแบบนิตยสารอยู่ดี ตอนนั้นเราเริ่มสนใจทำอาหารแล้วก็อยากเขียนเรื่องอาหาร มันก็ถูกออกแบบว่าเดี๋ยวจะต้องมีเมนูในเรื่อง เสร็จแล้วต้องมีสูตร แต่เล่มนี้เป็นงานที่โตหน่อย มีสิ่งต่างๆ มากขึ้น แล้วก็เป็นผู้หญิงมากขึ้น เหมือนพอค่อยๆ เขียนไป เราก็อาจชัดขึ้นว่าฉันเป็นแบบนี้ ความเป็นตัวเองเลยค่อยๆ ชัดขึ้น ตอนเขียนก็ชอบมันมากขึ้น เราค่อนข้างหลงตัวเอง (หัวเราะ) นอกจากเรื่องแรกที่เขินนิดหน่อย เราชอบงานตัวเองทุกชิ้นเลย รู้สึกว่าเขียนดีจัง หยิบมาเปิดอ่านได้เรื่อยๆ”

ถัดจากนั้น จิราภรณ์ก็มีผลงานรวมบทความอีกจำนวนหนึ่ง เช่น ร้านหวานหวานวันวาน ซึ่งชวนไปลัดเลาะสัมผัสเสน่ห์ร้านเก่าแก่ในกรุงเทพฯ และ เมื่อคิดให้ดีโลกนี้ตลาด ที่จูงมือคนอ่านไปสำรวจตลาดต่างๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล  แต่แม้งานเหล่านี้จะอยู่ในพอร์ตงานเขียนของเธอ จิราภรณ์ก็มองว่ามันต่างกับการเขียนเรื่องแต่งชัดเจน

ถนนงานเขียนและชีวิตของ จิราภรณ์ วิหวา ผู้เล่าเรื่องราวรสขมนิดๆ ด้วยภาษาสวยแปลกตา

“การเขียนบทความเหมือนการตั้งสเตตัสเฟซบุ๊ก เรารู้สึกว่าสนุกจัง อยากเล่า แต่เรื่องแต่งเป็นเราเวอร์ชันจิตใต้สำนึกอีกนิดหนึ่ง” จิราภรณ์อธิบาย

“เพราะต่อให้บอกว่า เริ่มเขียนหนังสือรวมเล่มได้แล้ว มันก็ไม่ได้เริ่มด้วยการคิดว่า ฉันจะเขียนเพราะจะรวมเล่ม แต่ฉันจะเขียนเพราะชอบการได้อยู่ในเรื่องนี้ตอนนั้นมากเลย ความรู้สึกเหมือนตอนที่เศร้าและเขียนสิ่งนี้แล้วดีขึ้น ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ยังอยู่ในเรื่องแต่งทุกเล่มของเรา”

หลังจากนั้น นักเขียนสาวก็เดินมาสู่อีกหมุดหมายในเส้นทางการเขียน นั่นคือการเขียนนิยายเรื่องแรกในชื่อแปลกตาว่า สนธิสัญญาฟลามิงโก เป็นนิยายรักในโลกแฟนตาซีที่มีตัวเอกคือฟลามิงโกกับแมวคู่รัก และธีมหลักว่าด้วย ‘ความลับ’

“เราอยากลองเขียนนิยาย คือพอเริ่มมีหนังสือก็มีคนบอกว่าเมื่อไหร่จะเขียนนิยาย เขาอาจทักไปอย่างนั้นแหละ แต่เราจริงจังมาก ซึ่งเราเขียนอะไรโดยไม่มีชื่อไม่ได้ คิดชื่อได้ก่อนถึงค่อยเขียน ทีนี้ก็ต้องรับผิดชอบชื่อว่าจะทำยังไงให้มันมีความหมาย บวกกับมีเรื่องอยากพูดอยู่ ตอนนั้นรู้สึกว่าตกลงชีวิตที่เราอยู่นี่มีความลับมั้ย เพราะเล่นเฟซบุ๊กแล้วเครียดว่าความลับมีอยู่จริงเหรอ แกแอบฟังฉันอยู่ใช่มั้ย

“เราเขียนเล่มนี้อยู่ปีสองปีเลย พออยากเขียนก็อยากเขียนให้ดี และไอ้ความอยากให้ดีนี่ก็ยากเว้ย แต่ก็ดี เป็นช่วงหมกมุ่น เป็นช่วงที่ผ่านมาได้อีกปีโดยไม่สะบักสะบอม”

แน่นอนว่าหนังสือที่มีชื่อจิราภรณ์ วิหวา ประดับบนปกยังพาเธอเดินต่อบนถนนสายนี้ ถึงทางนั้นอาจไม่ใหญ่โตเหมือนเหล่านักเขียนซึ่งเป็นรู้จักทั่วประเทศ แต่เธอพอใจ

ถนนงานเขียนและชีวิตของ จิราภรณ์ วิหวา ผู้เล่าเรื่องราวรสขมนิดๆ ด้วยภาษาสวยแปลกตา

“หนังสือมันปกป้องเรา อยู่ดีๆ เราก็ไปอยู่ในงานเปิดตัวหนังสือได้โดยไม่เขินมาก ส่วนคนอ่านก็น่ารัก ที่จริงทุกครั้งที่ใครเอาหนังสือมาให้เซ็นนี่เราแทบจะกราบ ขอบคุณมากนะคะ (หัวเราะ) แต่เราไม่ทดท้อโชคชะตาว่าเป็นนักเขียนไม่ดัง เรารู้ว่านี่คือทางเรา”

ระหว่างนั้น เวลาก็เคลื่อนผ่าน รู้อีกทีจิราภรณ์ก็เดินทางบนถนนนักเขียนมายาวนานถึง 11 ปี

ณ หมุดเวลานั้น หนังสือเล่มแรกในชีวิตของเธอได้กลับมาตีพิมพ์ใหม่ จิราภรณ์จึงเลือกเพิ่มเรื่องสั้นเข้าไป 1 เรื่องที่ท้ายเล่ม

ทานยาหลังอาหาร แล้วดื่มน้ำตามมากๆ คือชื่อเรื่องสั้นดังกล่าว ที่มีตัวเอกชื่อเดียวกับเธอ 

3

จิราภรณ์ที่หวนสู่หลุมหลบภัย แล้วเดินทางต่อไป

กว่า 1 ทศวรรษผ่านไป โลกรอบตัวที่จิราภรณ์เคยเก็บส่วนเสี้ยวไว้ในหนังสือเล่มแรกไม่เหมือนเดิม โรงหนังลิโด้ รถมินิบัสสีเขียว ศัพท์แสงที่ฮิตในตอนนั้นล้วนแปรเปลี่ยนสูญหาย จิราภรณ์จึงอยากให้เรื่องสั้นใหม่เป็นเหมือนเชิงอรรถ บอกสักนิดว่าที่ผ่านมาในเล่มคือสิ่งใด

นอกจากนั้น จิราภรณ์บอกเราว่าช่วงที่กำลังเขียนเรื่องสั้นนี้ เธอพบว่าความเศร้าที่เคยพบกันเมื่อ 11 ปีก่อนหวนกลับมา 

“ตอนย้อนไปอ่าน ทานยาหลังอาหารฯ เราเห็นว่าตอนนั้นยังไม่เจอของหนักแบบนี้สินะ ทำมาเป็น (หัวเราะ) เพราะชีวิตส่วนตัวหลังจบเล่มนี้ เราเจอของหนักตลอด พ่อตาย เยียวยาแม่หลังพ่อตาย ซื้อบ้าน แต่งงาน ช่วงนั้นจึงเป็นช่วงเอาตัวรอดผ่านความทุกข์รูปธรรม จนมาสู่ความทุกข์นามธรรมอีกครั้งในปีนี้ คือเรากลับไปรู้สึกเศร้ามากอีกแล้ว ทั้งที่ชีวิตปกติ น่าจะเป็นวงจร Life Crisis เราเริ่มทำกิจการ แต่ก็ไม่ได้สู้มากเท่าปีแรกแล้ว กลับไปรู้สึกว่าชีวิตยาก แล้วยังไงต่อ ที่จริงอยากทำอะไร”

เมื่อชีวิตทวนกลับ จิราภรณ์จึงได้หยุดทบทวนจนตระหนักว่า การเขียนหนังสือคือหลุมหลบภัยของเธอตลอดมา และชัดเจนว่านี่คือสิ่งที่เธออยากบันทึกไว้ในเรื่องสั้นใหม่

“ก่อนหน้านี้เราไม่ได้คิด แค่ชอบโมเมนต์การเขียนเรื่องแต่งเหมือนที่ชอบทำอาหาร ที่ผ่านมาตลอดสิบกว่าปีคือการชอบก็ทำ แต่เราเพิ่งเข้าใจว่า อ๋อ ที่ชอบทำเพราะมันช่วยแกไง เพิ่งตระหนักว่าตอนนั้นผ่านมาได้เพราะเขียนหนังสือ เราถึงเล่าให้ฟังเป็นฉากๆ ได้ว่าการเขียนเยียวยา”

ทานยาหลังอาหาร แล้วดื่มน้ำตามมากๆ จึงเป็นเรื่องของ ‘จิราภรณ์’ และโลกใน11 ปีให้หลัง บรรจุเรื่องรอบตัวที่เปลี่ยนแปลง การเขียนที่ยังอยู่ และแน่นอน ตัวเธอที่เติบโตผ่านกาลเวลา

“เป็นตัวฉันที่โตขึ้นอีกสิบเอ็ดปี ฉันที่ผ่านความทุกข์แบบหนึ่งมาได้ ยังผ่านความทุกข์อีกแบบหนึ่งไม่ได้ แต่รู้ว่าฉันรักชีวิตน่ะ ท่ามกลางความรู้สึกว่าเป็นคนเศร้า เราโคตรรักตัวเองเลย รักการมีชีวิตอยู่ เวลาชีวิตขมๆ เราก็รู้สึกว่า อืม นี่แหละชีวิต ในงานเขียน สิ่งที่เราอยากเอามาเขียนก็คือเรื่องเล็กๆ ในความทุกข์ เราไม่ได้เชิดชูความพังภินท์ของมัน”

ถนนงานเขียนและชีวิตของ จิราภรณ์ วิหวา ผู้เล่าเรื่องราวรสขมนิดๆ ด้วยภาษาสวยแปลกตา

เมื่อพลิกอ่านผลงานเรื่องแต่งของจิราภรณ์ ในจักรวาลหม่นเศร้าแปลกประหลาด สุดท้ายแล้ว ตัวอักษรเหล่านั้นก็ชวนเราสังเกตรสขมที่แทรกอยู่ในชีวิตมากกว่าพาดำดิ่งสู่ก้นแม่น้ำ

และถ้ามองไปได้ถึงเบื้องหลังถ้อยคำ จะพบจิราภรณ์ที่ยังเดินทางต่อไป

“เราชอบการเติบโต ชอบวันนี้มากกว่าเมื่อวาน ก็เวอร์ชันปัจจุบันต้องดีกว่าสิ ต่อให้เจอเรื่องแย่มา การผ่านเหตุการณ์นั้นได้ก็แปลว่าแกอัปเกรดไง หรืออาจเป็นคำพูดของคนที่ไม่ได้เจอเรื่องเลวร้ายมากก็ได้นะ แต่นั่นแหละ ในฐานะมนุษย์ที่ใช้ชีวิตไปตามวันเวลาคนหนึ่ง เราชอบตัวเองเวอร์ชันปัจจุบันมากกว่า” เธอทิ้งท้ายกับเราเช่นนี้

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan