ช่วงปีที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสถานีบริการน้ำมันในเครือ ปตท. ที่ดูมีชีวิตชีวาขึ้นกว่ายุคสมัยก่อน เต็มไปด้วยร้านค้าและผู้คนจับจ่ายใช้สอย กระจายตัวอยู่มากกว่า 2,100 สาขาในประเทศ และมีคนเดินเข้ามากกว่าวันละ 3.8 ล้านคน 

รวมทั้ง Café Amazon ที่เติบโตมากกว่า 4,000 สาขาทั้งในและต่างประเทศ และธุรกิจน้อยใหญ่ที่เปิดเรียงรายในพื้นที่

นั่นคือหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด ภายใต้การบริหารของ จิราพร ขาวสวัสดิ์ แม่ทัพหญิงผู้นำ OR หรือ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (มหาชน) เข้าตลาดหลักทรัพย์ในสถานการณ์โควิด-19 และค่อย ๆ ทรานฟอร์มธุรกิจน้ำมันให้มีส่วนผสมของธุรกิจไลฟ์สไตล์และนวัตกรรม ลงทุน ร่วมทุน ทำงานร่วมกับ SME และสตาร์ทอัพรุ่นใหม่เพื่อเติบโตไปด้วยกัน ด้วยคำติดหูอย่าง ‘โออาร์ = โอกาส’

นอกจากนี้ OR ยังมีบริษัทที่ร่วมทุนอยู่ใน 10 ประเทศ พร้อมภารกิจพาแบรนด์ไทยให้ไปมีพื้นที่บนเวทีระดับโลก 

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา OR เพิ่งจัดงาน Inclusive Growth Days หนึ่งในเวทีสำคัญที่รวมหลากหลายภาคส่วน มาฉายภาพภารกิจและหมุดหมายต่อไปขององค์กรที่อยากนำพาทั้งองคาพยพให้เติบโตไปด้วยกัน ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่า OR เป็น และพร้อมจะเป็น มากกว่ากิจการค้าขายน้ำมันแบบในอดีต

ก่อนจิราพรจะเกษียณอายุในเดือนกันยายนนี้ หลังจากทำงานในเครือ ปตท. มายาวนานกว่า 35 ปี เรามีโอกาสนัดหมายเธอสั้น ๆ เพื่อพูดคุยถึงช่วงระยะเวลา 4 ปีที่ดำรงตำแหน่งกัปตันทีมว่าเป็นอย่างไรบ้าง

และเล่าถึงความสำคัญของการสร้างพื้นที่ให้เกิดการพบปะ พูดคุย จัดงานสัมมนา รวมพลังกันเพื่อก้าวเดินต่อไป ในฐานะองค์กรที่เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันอุตสาหกรรม MICE (Meetings, Incentives, Conferences, Exhibitions) หรือการจัดประชุม อบรม สัมมนา การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล การประชุมองค์กร การจัดงานแสดงสินค้า รวมถึงเมกะอีเวนต์และเทศกาลนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ดูแล ทำงานร่วมกับทั้งดีลเลอร์ พาร์ตเนอร์ ลูกค้า และให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนทุกภาคส่วน ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

นี่คือเรื่องเล่าหลักการทำงานร่วมกับผู้คน และช่วงเวลาที่เธอบอกว่าเป็นหนึ่งในโอกาสที่ขอบคุณที่สุดในชีวิต

จิราพร ขาวสวัสดิ์ CEO PTTOR ในวันที่เป็นมากกว่าธุรกิจน้ำมัน แต่คือแพลตฟอร์มแห่งโอกาส

หลังจากทำงานมายาวนาน คุณกำลังจะเกษียณในวันที่ 30 กันยายนนี้แล้ว รู้สึกอย่างไรบ้าง

รู้สึกเหมือนปกติเลย เราก็ทำงานตามภารกิจที่เหลืออยู่ตามเวลาที่มี ไม่ได้กังวลอะไร ส่วนหนึ่งเพราะทุกคนทำงานเป็นทีมร่วมกันอย่างดีมาอยู่แล้ว ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

ปีที่แล้ว OR เพิ่งประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ เกิดอะไรขึ้นบ้างและอะไรที่เปลี่ยนไป

OR ปรับวิสัยทัศน์องค์กรเป็น ‘Empowering all toward inclusive growth’ ที่คิดกันมาเกือบ 3 ปี ก่อนจะตกตะกอนเมื่อปีที่แล้ว และลงมือทำจริงเพื่อไม่ให้เป็นเพียงประโยคสวยหรูที่ล่องลอย พร้อมกับตั้งเป้าหมายไปถึงปี 2030 ซึ่งต่างจากที่ผ่านมา เราไม่ได้คุยกันถึงแค่ Net Profit หรือ EBITDA เท่านั้น แต่ตั้งเป้าหมายให้ครอบคลุมถึง Triple Bottom Line คือ People, Planet และ Performance

3P ในแบบของ OR 

ในด้าน People เราตั้งใจทำธุรกิจที่ทำให้ชุมชนรอบ ๆ ดีขึ้น รวมแล้ว 12 ล้านชีวิต ส่วนในมุม Planet จริงอยู่ที่ธุรกิจเราทำเรื่องน้ำมัน แต่ก็จะมีการปรับเปลี่ยนไปสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น หนึ่งใน 4 ภารกิจหลักของเราคือ Seamless Mobility ที่ทำให้การเคลื่อนที่ไร้รอยต่อและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม (อีก 3 ภารกิจคือ All Lifestyles, Global Market และ OR Innovation)

ส่วน Performance จะเห็นว่า OR ทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น SME สตาร์ทอัพ หรือบริษัทที่ร่วมทุนกัน อาจจะมีเห็นตามบิลบอร์ดที่เขียนว่า ‘โออาร์ = โอกาส’จากการที่เราเห็นว่าบริษัทใหญ่มีแพลตฟอร์ม มีประสบการณ์ แต่อาจจะติดอยู่กับ Comfort Zone ส่วน SME กับสตาร์ทอัพจะมี Passion และ Commitment สูง แต่อาจขาดแพลตฟอร์มที่จะได้ทดลองว่าสิ่งที่เขาคิดอยากทำจะเป็นผลไหม เราเลยนำทำแพลตฟอร์มที่เรามี ให้กลายเป็น Sandbox ที่จะให้เขามาขยายธุรกิจต่อได้ 

คุณผ่านการทรานฟอร์มองค์กรมาเยอะ ตั้งแต่ตอนเปลี่ยนเป็น OR การทำ IPO และการปรับทิศทางครั้งนี้ คุณจัดการความท้าทายเหล่านี้อย่างไร

พอองค์กรอยู่มานานกว่า 40 ปี เราจะยึดความสำเร็จที่เคยทำมาก่อน แต่วันนี้เราบอกคนว่าต้องไปแสวงหาสิ่งใหม่ และเปิดรับคนอื่นเข้ามาเสริมกัน ซึ่งจะมองว่ายากก็ยาก แต่มันทำให้ง่ายขึ้นได้ด้วยการสื่อสาร ทำความเข้าใจ และลงไปปฏิบัติเอง

ยกตัวอย่างง่าย ๆ เมื่อก่อนตอนทีมจัดหาผลิตภัณฑ์เข้ามาขายใน Café Amazon เขาอาจมีตัวเลขในใจว่าต้องได้ Gross Margin เท่านี้ และอาจมองข้ามบางสินค้าไป แต่จริง ๆ เรามีผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่าง OTOP ที่น่าสนับสนุนและส่งเสริมอีกมาก แต่ต้องเข้าใจว่าวิธีการทำงานด้วยย่อมไม่เหมือนกับ Corperate ที่มีแพตเทิร์นอยู่แล้ว เราอาจต้องลงไปทำงานร่วมกันมากขึ้น เช่น มีปั้นสิบทอดจากจังหวัดพัทลุงที่เราช่วยแนะนำให้เขาพัฒนาผลิตภัณฑ์จนผ่าน อย. และมีแพ็กเกจจิ้งที่ดีขึ้นและรับมาขาย

แรก ๆ คนจะรู้สึกว่ามันไม่ได้ยอดเท่าเดิม แต่เราบอกว่าไม่เป็นอะไร ทำไปก่อน ภาพที่เกิดขึ้นคือชุมชนมีช่องทางอาชีพมากขึ้นจริง พอเขามีรายได้มากขึ้น เมืองก็จะพัฒนาขึ้นด้วย จนปัจจุบันเรามีสินค้าประมาณ 250 SKU จากเกือบ 50 วิสาหกิจชุมชนที่ทำงานด้วยกัน อันนี้เป็นตัวอย่างของการทรานฟอร์มแบบคิดถึงเรื่อง Inclusive Growth ด้วย 

คำว่า Inclusive มีความหมายกับคุณ

เราอยากเป็น Corporate ที่ทำงานร่วมกับธุรกิจรายย่อยและภาคส่วนต่าง ๆ ได้ด้วยความเชื่อใจ เช่น เราเลือกขายหุ้น IPO แบบ Small–Lot First ช่วงโควิด เพื่อให้ผู้จองซื้อรายย่อยมีโอกาสได้รับการจัดสรรก่อน ได้เป็นเจ้าของหุ้น OR เพื่อขอบคุณคนไทยที่สนับสนุนสินค้าและบริการของ OR เสมอมา

และเร็ว ๆ นี้ OR เพิ่งจัดงาน Inclusive Growth Days ไป เราได้เห็นความร่วมมือของทุกฝ่ายตามที่เราตั้งใจ โดยปกติแล้ว ภาครัฐจะทำงานเชิงนโยบายและกลไก แต่จะขับเคลื่อนให้สำเร็จได้ ต้องมีภาคเอกชนด้วย เวทีนี้จึงมีทั้งสองภาคส่วนมาแชร์กัน ตามด้วยตัวอย่างภาคธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ทั้งที่อยู่มายืนนานอย่างดุสิตธานีและ MK และกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างน้อง ๆ สตาร์ทอัพหรือ SME วัย 20 หรือ 30 ปีที่สร้างแรงบันดาลใจมาก ๆ อย่าง โอ้กะจู๋ ช่วยทำให้คนเห็นโอกาสในวันที่อาจรู้สึกห่อเหี่ยวท้อแท้ และมีพื้นที่สำหรับ Business Matching ที่ทำให้เกิดการร่วมมือกันมากขึ้นด้วย 

การจัดงานแลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์ยังคงสำคัญอยู่

ใช่ ถึงเราจะจัดงานทางออนไลน์ได้ แต่มันไม่เหมือนกัน การจัดงานแบบนี้ยังคงมีความจำเป็นอยู่ เพราะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์กันที่เป็นมากกว่าแค่เรื่องธุรกิจ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต่อให้ช่วงแรกเราบอกว่าชอบ Work from Home แต่พอห่างเหินกันนาน ๆ เข้า เราอาจเห็นว่าการทำงานมันไม่ราบรื่น มันไม่ได้เห็นความเอื้ออาทรกันและกัน 

เห็นแต่ก่อน OR จัดอีเวนต์ค่อนข้างบ่อย และตอนนี้ก็เริ่มกลับมาจัดแล้ว

ที่ผ่านมา OR จัดงานเรื่อย ๆ ตามเนื้องานธุรกิจ และใช้กิจกรรม MICE ในรูปแบบการประชุมระดับเขต ภาค และประเทศ สัมมนาภายในองค์กร และ Exhibition รวมแล้วประมาณ 60 ครั้งต่อปี เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร

เช่น 1 ปีจะมีงานแบบ Inclusive Growth Days สัก 1 ครั้ง และสัมมนาดีลเลอร์ ซึ่งมีทั้งคนไทยและต่างชาติ สถานบริการน้ำมันจาก 8 เขตทั่วประเทศ และ Café Amazon อีก 2 ครั้ง เพื่อให้ดีลเลอร์ได้รับฟังและฟีดแบ็กนโยบาย พบปะร้านค้าที่เขาอาจสนใจ มีงานสัมมนาลูกค้าที่มีมากถึง 8,000 คนต่อครั้ง งานสัมมนาพนักงานทั้งบริษัทและแยกตาม 10 สายงาน แล้วก็จัดงานเวลามีโปรดักต์ใหม่ ๆ ด้วย

ช่วงโควิดที่ผ่านมาไม่ค่อยได้จัดอะไร แต่ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมานี้ก็เริ่มกลับมาจัดแล้ว ในอนาคตที่เราตั้งใจจะขยายธุรกิจของเราและพาร์ตเนอร์ไปต่างประเทศ ก็จะมีงานที่นำเสนอสินค้าและบริการให้นักลงทุนต่างประเทศ รวมถึงพาพาร์ตเนอร์เราไปเปิดบูทที่ต่างประเทศด้วย

เรื่องปฏิสัมพันธ์สำคัญในการทำงานมาก เพราะมันทำให้คนเข้าใจกันและกันและทำงานเป็นทีม พื้นที่การจัดงานแบบนี้ช่วยให้เกิดได้ง่ายขึ้น ตอนนี้ภาคเอกชนก็เริ่มกลับมาจัดกันได้ตามปกติแล้ว ซึ่งในทางหนึ่งก็ถือเป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วย

พูดถึงเรื่องการขยายไปต่างประเทศ คุณเชื่อว่าแบรนด์ไทยยังมีโอกาสตีตลาดโลกได้อีกเยอะ

มีมากเลยแหละ ตอนเราไปเปิดสาขาแรกของ Café Amazon ที่ซาอุดีอาระเบีย เห็นเลยว่าประเทศเขาเปลี่ยนไปมาก สภาพเศรษฐกิจเติบโตและเปิดรับธุรกิจของคนต่างชาติที่เขาขาดเข้าไปในประเทศ อาจจะแลกกับการงดเว้นภาษีบางอย่าง หรือจากที่เราเข้าไปลงทุนในกัมพูชา สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ และเมียนมา ก็เห็นว่าสินค้าแบรนด์ไทยได้รับความนิยมและน่าเชื่อถือสำหรับเขามาก 

ยิ่งถ้าเรามีคนที่มีประสบการณ์ประกอบไปกับคนที่เพิ่งเริ่มต้น เราจะมีจุดแข็งมาก ๆ และลดความเสี่ยงด้วย

OR ลงทุนในนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และมีพนักงานเพิ่มมากกว่า 200 คนจากวันที่แยกออกมาจาก ปตท. คุณดูแลคนกลุ่มใหม่และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างไร

ให้พื้นที่พวกเขาและบางงานก็ต้องแยกกลุ่มคนออกมาทำ เพื่อให้เขาได้คิดและพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ เช่นการมีทีม ORion เป็นเหยี่ยวแสวงหาสตาร์ทอัพและ SME ที่จะทำงานร่วมกันโดยเฉพาะ

หลักการสร้างคนของเราคือ เคารพและศรัทธาคนที่ความดีและผลงาน เราไม่ได้โปรโมตคนที่อายุ แต่เน้นที่ผลลัพธ์และเสียงจากคนรอบข้างเขา และดูว่าเป็นไปตาม Success Profile ของหน้าที่นั้น ๆ ที่เรากำหนดร่วมกันไว้ไหม ซึ่งระบบพวกนี้ต้องแหวกการทำงานแบบรัฐวิสาหกิจเดิม ๆ ที่แค่ถ้าไม่ทุจริตก็อยู่ต่อไปได้เรื่อย ๆ แต่มันอาจทำให้คนเฉื่อย เราก็ต้องตั้งระบบการทำงานแบบใหม่ขึ้นมา 

ถ้าให้ประเมินการทำงานของตัวเองที่ผ่านมา 4 ปีในตำแหน่งนี้ เต็ม 10 ให้เท่าไร

ให้ 8

อีก 2 หายไปไหน

ถ้ายังพอมีเวลา ยังอยากโค้ชชิ่งให้คนทำงานตั้งแต่ระดับ N-1 หรือ N-2 ลงไป รู้สึกมีพลังมากขึ้นต่อ เพื่อให้เกิดการทรานส์ฟอร์มที่ราบรื่น คนเหล่านี้มีอายุและประสบการณ์ เพียงแต่ต้องทำให้เขาบริหารทีมให้ทำงานตามวิถีใหม่ได้สำเร็จ ตอนเราแยกตัวออกมาจาก ปตท. มีพนักงานประมาณ 1,500 คน แล้วมีรุ่นใหม่เพิ่มเข้ามาเป็น 1,700 คน ซึ่งที่ผ่านมาก็แท็กทีมและให้ความร่วมมือกันดีมาก แค่อยากทำมากกว่านี้อีกหน่อย แต่ก็พอใจแล้วนะ

เป็นกัปตันทีมต้องรับแรงกดดันหลายด้าน คุณคิดว่าตัวเองผ่านมาได้อย่างไร

เริ่มจากความคิดว่าเราทำงานให้กับองค์กร พนักงาน และส่วนรวม ทั้งชีวิตการทำงานกว่า 35 ปี มีงานแค่ประมาณ 4 ครั้งเท่านั้นที่เราไม่ชอบทำ ที่เหลือทำหมด เราเติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ จากการเป็นผู้ปฏิบัติ เราก็จะเข้าใจคนที่อยู่ภาคปฏิบัติมาก เวลาออกนโยบายหรือเปลี่ยนแปลงอะไร เราจะฟังคนก่อน ไม่ใช่ท็อปดาวน์ไปเลย แต่เข้าใจก่อนว่ามีแรงเสียดทานอะไรอยู่ มันเป็นที่ระบบหรือที่คน เราพร้อมไปกันแค่ไหน ถ้าไปได้ไม่ถึง 10 อาจจะเริ่มจาก 7 

การรับฟังแล้วกลับมาหาข้อเท็จจริงหรือปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่าง จะช่วยให้เราได้รับการร่วมมือจากทุกภาคส่วน เวลามีงานยากหรือท้าทาย เราก็ลงพื้นที่ไปให้ขวัญกำลังใจน้อง ๆ และทำงานอยู่บนหลักการ ระหว่างทางมีบ้างที่คนอยากให้เราทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง แต่เรายึดมั่นเสมอว่า อะไรที่ไม่เป็นไปตามหลักการ เราจะไม่ทำเด็ดขาด

จิราพร ขาวสวัสดิ์ CEO PTTOR ในวันที่เป็นมากกว่าธุรกิจน้ำมัน แต่คือแพลตฟอร์มแห่งโอกาส

10 เรื่องที่จะทำให้คุณรู้จัก จิราพร ขาวสวัสดิ์ มากขึ้น

1. ความฝันตอนอายุ 25 ปี

อยากเป็นนักบัญชีที่มีคำตอบให้ปัญหา ไม่ใช่นักบัญชีที่หัวสี่เหลี่ยม

2. ร้านที่ต้องแวะประจำเวลาเข้าปั๊มน้ำมัน

ร้านข้าวแกง

3. กาแฟหรือเครื่องดื่มที่ชอบ

ลาเต้ร้อน ต้อง Café Amazon ด้วยนะ (หัวเราะ)

4. วิธีชาร์จพลังตัวเองในวันที่เจอเรื่องยาก ๆ

คิดว่าสิ่งที่ทำเป็นการทำเพื่อองค์กรและส่วนรวม หน้าที่นี้ต้องทำให้สำเร็จ

5. คำพูดติดปาก

เอ้อ.. มันต้องได้สิ เชื่อว่าทุกปัญหามีทางออกนะ

6. นวัตกรรมหรือการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่รู้สึกตื่นเต้น

การปรับเปลี่ยน Mindset และวิธีการทำงานของ OR ได้สำเร็จนี่แหละ

7. ถ้าเดินไปถามพนักงาน เขาน่าจะจดจำคุณว่าเป็นผู้บริหารแบบไหน

ใจดี แต่ดุด้วย

8. หนังสือที่อยากแนะนำให้คนได้อ่าน

อัตชีวประวัติของบุคคลสำคัญ มันจะทำให้เราเข้าใจว่าคนคนหนึ่งที่เราอาจยึดเป็นต้นแบบว่ามีหลักคิดอะไร ชีวิตผ่านอะไรมาบ้าง สิ่งที่พวกเขาให้คุณค่าคือเรื่องอะไร

9. สิ่งแรกที่คุณทำหลังเกษียณ

คงพักสักวันสองวันก่อน แล้วไปหยิบหนังสือที่สะสมไว้มาอ่าน

10. โอกาสที่รู้สึกขอบคุณมาจนถึงทุกวันนี้

โอกาสแรกคือตอนเป็นหัวหน้าหน่วยปรับปรุงระบบ ปตท. ทั่วทั้งประเทศ ปรับซอฟต์แวร์ให้เป็น SAP ทำให้ทุกอย่างอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน เป็นการทำงานภายใต้กดดันที่ทำให้เราเข้าใจเรื่องการปรับใจ 

อีกครั้งคือตอนแยกธุรกิจน้ำมันออกมาจาก ปตท. กลายเป็นเรือลำเล็กที่ชื่อ OR ซึ่งอาจไม่เรียกช่วงนี้ว่าเป็นความสุข เพราะไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ แต่เรียกว่าเป็นโอกาสและช่วงเวลาที่ภาคภูมิใจที่ได้รับความร่วมมือและศรัทธาจากผู้คน

‘ไมซ์ไทย มนต์เสน่ห์สู่ความสำเร็จ’ โดย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิรรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ (TCEB)

หลังจากทั่วโลกฝ่ามรสุมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาเกือบ 3 ปี ผู้คนล้วนต่างโหยหาการพบปะ พูดคุยแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นงานสังสรรค์ งานภาควิชาการหรือธุรกิจ วันนี้ ประเทศไทยพร้อมสำหรับการกลับมาจัดอีเวนต์ทั้งอินดอร์และเอาต์ดอร์ ตามห้องประชุม ห้องสัมมนาและพื้นที่ธรรมชาติทั่วประเทศ โดยมี TCEB หน่วยงานรัฐที่มีพันธกิจในการผลักดัน ส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนอุตสาหกรรมไมซ์ประเทศไทย พร้อมกระตุ้นให้เกิดการจัดงานไมซ์เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อม ๆ กับองค์กรภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาชน ร่วมกันทุกภาคส่วน

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ MICE และ TCEB ที่ : www.businesseventsthailand.com

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป