The Cloud x Central Tham

รู้ไหมว่าจากไร่ต้นกำเนิด ผักผลไม้ต้องเดินทางไกลแค่ไหนกว่าจะมาถึงมือพวกเราในเมือง

พืชผลสดใหม่จากมือชาวไร่จะถูกส่งไปยังศูนย์รวมสินค้าเกษตรท้องถิ่น เดินทางต่อไปยังตลาดค้าส่งในหลากหลายพื้นที่ จากนั้นมุ่งหน้าสู่ตลาดค้าปลีก ก่อนจะมาอวดสายตาบนชั้นจำหน่ายสินค้าในที่สุด 

การเดินทางอันยาวไกลทำให้พืชผลที่เกษตรกรขายออกจากไร่ด้วยราคากิโลกรัมละ 3 บาท สามารถมาถึงมือผู้บริโภคอย่างเราด้วยราคาที่สูงถึงกิโลกรัมละ 30 บาท เพราะกำไรแต่ละทอดที่พ่อค้าคนกลางบวกเข้าไปจากค่าขนส่ง ไม่ใช่แค่แพงระยับ แต่ค่าขนส่งระยะไกลเหล่านี้ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือ Carbon Footprint จำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน

ทั่วโลกจึงเกิด Farmers’ Market ทางเลือกในการซื้อพืชผลโดยตรงจากเกษตรกรท้องถิ่นขึ้น เพื่อชวนให้ผู้บริโภคเลือกกินเลือกใช้สินค้าที่ผลิตในพื้นที่ละแวกบ้านก่อน เมื่อไม่ต้องขนส่งไกล พืชผลใน Farmers’ Market จึงสดใหม่จากไร่ แถมยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้ชุมชน เพราะผลผลิตทางการเกษตรส่วนใหญ่มาจากเกษตรกรรายย่อย

ตอนนี้ที่จังหวัดอุดรธานีมีโครงการน่ารักชื่อ ‘จริงใจ Farmers’ Market’ ตลาดขายผักผลไม้ปลอดภัย ปลอดสารพิษ และผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่จริงใจสมชื่อ เพราะนอกจากจะเป็นตลาดที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรชุมชนมาพบปะผู้ซื้อได้โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางแล้ว โครงการนี้ยังช่วยเกษตรกรท้องถิ่นพัฒนาผลผลิตตั้งแต่ต้นจนถึงปลายน้ำ

จริงใจ Farmers’ Market’
จริงใจ Farmers’ Market’

จริงใจ Farmers’ Market ดำเนินการโดยบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ภายใต้โครงการ ‘เซ็นทรัล ทำ’ (Central Tham) ที่มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างชุมชน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ด้วยแนวคิด Creating Shared Value (CSV) หรือการสร้างสรรค์คุณค่าให้กับสังคม เพื่อสร้างพื้นที่แห่งความสำเร็จร่วมกันระหว่างธุรกิจและสังคม

The Cloud จึงอยากชวนคุณไปภาคอีสาน เยี่ยมแหล่งผลิตผักเพื่อพูดคุยกับชาวไร่และทีมงานจริงใจ Farmers’ Market ไปดูพลังของตลาดที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรได้พัฒนาความรู้ ทั้งในเชิงเกษตร การขาย และวิธีเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตทางการเกษตรจากไร่ชุมชนเล็กๆ ที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนอย่างยั่งยืน

01

ผักสดจากไร่

  “ชาวบ้านแถวนี้ปลูกผักและทำนามาตั้งแต่แม่จำความได้ อ่างเก็บน้ำทำให้เรามีน้ำกินใช้ตลอดทั้งปี” แม่ตวง-ตวงพร พาแสง หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกผักตำบลนาดี เริ่มเล่าขณะพาเราเดินฝ่าแดดไปชมแปลงผักที่ออกดอกผลเขียวขจีแปลงใหญ่

ที่นี่คือเกษตรแปลงใหญ่บริเวณอ่างเก็บน้ำกุดลิงง้อ ตำบลนาดี อำเภอเมืองอุดรธานี ที่ปลูกพืชผักนานาชนิดส่งตลาดในเมืองมานานกว่า 60 ปี ก่อนจะมีอ่างเก็บน้ำ ชาวบ้านทำนาหน้าฝนและปลูกผักช่วงหน้าแล้ง เป็นวัฏจักรเช่นนี้เรื่อยมา ความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์แปรผันตามฟ้าฝนแต่ละขวบปี

จริงใจ Farmers’ Market’

เมื่ออ่างเก็บน้ำแห่งนี้สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2501 ชาวบ้านสามารถทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะมีน้ำสำรองไว้ใช้ แม่ตวงเล่าย้อนความหลังสมัยยังสาวให้ฟังว่า แม้จะสามารถปลูกพืชผลให้พอขายได้ตลอดปี แต่เกษตรกรชาวบ้านก็ทำได้เพียงรอพ่อค้าคนกลางเข้ามารับพืชผักไปขายและต่อรองราคาไม่ได้มากนัก

“เวลาพ่อค้าคนกลางมารับผักจากไร่ เขายังไม่ได้ซื้อนะ เขาจะให้ราคาไว้และเอาไปขายก่อน เช่นเขาบอกว่าผักนี้ให้ราคากิโลกรัมละ 10 บาท เขาก็จะเอาผักเข้าเมืองไป พอวันต่อมาเขามาบอกว่าเมื่อวานขายไม่ได้เลย ขอลดราคาเหลือแค่กิโลกรัมละ 5 บาทแล้วกัน ไม่ใช่แค่ขอลด แต่บางทีเขาเอาผักมากองคืนไว้หน้าบ้านเลยก็มี”

แม่ตวงอธิบายว่า ที่ต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลางไม่ค่อยได้ เพราะแต่ก่อนชาวบ้านปลูกผักและขายบ้านใครบ้านมัน เมื่อผลผลิตทางการเกษตรขายไม่ได้ราคา ชาวบ้านจึงละทิ้งที่นาเข้าเมืองไปทำงานรับจ้าง เป็นแบบนั้นมานานหลายสิบปี 

จริงใจ Farmers’ Market’

จนเมื่อ 13 ปีก่อน เกษตรกรผู้ปลูกผักละแวกนี้ได้รวมกลุ่มกันจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ทำให้ชาวบ้านเริ่มมีสิทธิ์มีเสียงในการต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลางมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็เริ่มพัฒนาไปสู่การผลิตผักปลอดสารพิษ

แม่ตวงเล่าว่า จากสมาชิกแรกก่อตั้ง 15 คน ทุกวันนี้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนขยับขยายจนมีสมาชิกปัจจุบัน 57 คน ไร่ผักของสมาชิกทุกคนใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ทำปุ๋ย ทำน้ำหมักใช้เอง เป็นการทำเกษตรอย่างใส่ใจที่ให้ใจไปเต็มร้อย เมื่อผลผลิตพัฒนาคุณภาพขึ้น แน่นอนว่าใครๆ ก็อยากได้ผักของกลุ่มปลูกผักตำบลนาดีไปประกอบอาหาร

จริงใจ Farmers’ Market’

“ทุกวันนี้เราปลูกผักตามฤดูกาลส่งตลอดทั้งปี มากกว่า 20 ชนิด เช่น ชะอม พริก มะเขือเปราะ บวบ มะนาว คะน้า ต้นหอม มะเขือยาวสีเขียว โหระพา กะเพรา ผักบุ้งจีน แตงกวา ผักของเราทุกชนิดมีใบ GAP (Good Agricultural Practice) ซึ่งเป็นระบบประกันคุณภาพในการผลิตอาหารเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

“ถึงจะเป็นเกษตรกรกลุ่มเล็กๆ แต่เราก็ไม่เคยคิดจะหยุดพัฒนา เทียบกับเมื่อก่อนที่รายได้ไม่สม่ำเสมอ ปลูกแล้วไม่มีตลาด บางทีต้องทิ้งเพราะไม่มีใครซื้อ ตอนนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่มุ่งหน้ากลับบ้านมาปลูกผักขาย ผลผลิตของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกผักตำบลนาดีอยู่ที่ 2 – 3 ตันต่อเดือน”

นอกจากจะส่งขายที่โรงพยาบาลอุดรธานี โรงพยาบาลค่ายประจักษ์ และตลาดร่มเขียวแล้ว ตอนนี้ผักสดจากไร่ของตำบลนาดียังได้ขึ้นห้างไปขายที่ Tops Supermarket และตลาดจริงใจ Farmers’ Market 

02

ผักสดปลอดภัยในแพ็กเกจ

จากไร่ แม่ตวงพาเราเดินเลียบอ่างเก็บน้ำ เข้าสู่พื้นที่ทำการของกรมชลประทาน และมาหยุดที่อาคารเล็กหน้าตาสะอาดสะอ้านหลังหนึ่ง

“ที่นี่คือโรงแพ็กผัก เมื่อก่อนเวลาเก็บผลผลิตเสร็จ ชาวบ้านจะนำผักมาล้างน้ำในกะละมังที่บ้าน นั่งกับพื้นดิน เด็ดขั้วพริกขั้วมะเขือ ปอกฟัก ตัดรากหอม ทำกันเองแบบง่ายๆ

“จนเมื่อเราเริ่มมีโอกาสได้นำผักไปขายที่ Tops Supermarket ได้พูดคุยกับทีมงานของท็อปส์และเซ็นทรัล เราจึงค่อยๆ เรียนรู้ว่าพวกแม่เป็นเกษตรกรก็จริง แต่ไม่ใช่แค่ปลูกแล้วจบ กระบวนการที่มากกว่านั้นคือการแพ็กพืชผักของเรา ก่อนจะส่งไปถึงมือผู้บริโภค” 

จริงใจ Farmers’ Market’

ทำไมการแพ็กผักจึงสำคัญ แม่ตวงอธิบายเพิ่มว่า ในการทำเกษตร เรื่องของเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะผักปลอดสารพิษ เพราะการคัดบรรจุผักอย่างถูกวิธีจะช่วยลดการสูญเสียและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับพืชผัก ช่วยเพิ่มศักยภาพให้ผลผลิตทางการเกษตรมีความสดใหม่โดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี

โรงแพ็กผักแห่งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณกว่า 400,000 บาท จากกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ในการปรับปรุงอาคารเก่าของกรมชลประทาน เพื่อใช้เป็นอาคารคัดบรรจุผักกลุ่มผู้ใช้น้ำบ้านนาดี พร้อมทั้งจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับการคัดล้าง ตกแต่ง และบรรจุผัก ให้อย่างครบครัน เพื่อให้ผ่านการตรวจรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และผ่านมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ในการพัฒนาระบบการจัดการขยะและของเสียเพื่อลดการปนเปื้อน

จริงใจ Farmers’ Market’

“กลุ่มปลูกผักตำบลนาดีมาถึงวันนี้ได้เพราะมีผู้ใหญ่หลายฝ่ายยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ นอกจากกลุ่มเซ็นทรัลจะช่วยสนับสนุนเงินแล้ว ยังมีกรมชลประทานและ อบต. นาดี ช่วยสนับสนุนสถานที่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีช่วยเรื่องตรวจสอบความปลอดภัย เพื่อโรงแพ็กผักของเราจะได้ผ่านมาตรฐานรับรอง”

อาคารเก่าของกรมชลประทานหลังนี้ เดิมคืออาคารศูนย์ผู้ใช้น้ำที่สร้างขึ้นเพื่อให้กลุ่มผู้ใช้น้ำของอ่างเก็บน้ำกุดลิงง้อใช้เป็นสาธารณะประโยชน์ตั้งแต่แรก เมื่อกลุ่มเซ็นทรัลเสนองบประมาณในการช่วยชาวบ้านพัฒนาการคัดบรรจุผักเพื่อเพิ่มคุณภาพและมูลค่าของผลผลิต กรมชลประทานจึงยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในส่วนของสถานที่จัดตั้ง เพื่อช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

“ท่าน ผอ.กรมชลประทาน เพิ่นเห็นว่ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนของเรายังเล็ก ถ้าต้องลงทุนสร้างโรงแพ็กผักใหม่ทั้งหลัง คงเสียเงินมาก หากวันหนึ่งกลุ่มของเราเติบโตแข็งแรงดีแล้ว ต้องการสร้างโรงแพ็กผักให้ใหญ่ขึ้นบนที่ดินของกรมชลประทาน เพิ่นก็ยินดี”

03

บทบาทของชาวไร่ที่เปลี่ยนไป

“ทุกคนต้องใส่รองเท้า ผ้าปิดปาก สวมหมวก ผ้ากันเปื้อน และถุงมือ ในส่วนที่สัมผัสกับผัก” แม่ตวงอธิบายพร้อมกับยื่นหมวกคลุมผมและรองเท้าบูตให้ ก่อนที่เราจะได้เข้าไปเยี่ยมชมโรงแพ็กผักของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกผักตำบลนาดี  

หลังจากเกษตรกรนำผักสดจากไร่มาส่ง แม่ตวงและทีมโรงแพ็กผักจะนำผักมาล้างในน้ำอุณหภูมิปกติ จากนั้นนำลงแช่ในน้ำเย็นจัดตามลักษณะใบ ผักใบอ่อนแช่ 1 – 2 นาที ผักใบแข็งแช่ไม่เกิน 5 นาที เพราะถ้าแช่นานเกินไปผักจะช้ำ การแช่ผักในน้ำเย็นจัดแบบนี้จะช่วยคงความสดของผักไว้ในได้นานถึง 2 วัน แม้ไม่ได้ซีลในถุงพลาสติก

จริงใจ Farmers’ Market’

น้ำที่ใช้ล้างผักต้องสะอาดถึงขั้นดื่มได้ เช่นเดียวกับอุปกรณ์ทุกชิ้นที่ใช้ในโรงแพ็กผักต้องสะอาดถูกสุขอนามัย อย่างตะกร้าใส่ผักก็ต้องล้างแล้วเอาใบตองรองก่อน จึงจะวางผักลงไป จากนั้นปิดด้วยใบตองและผ้าชุบน้ำเพื่อกักเก็บความเย็นระหว่างขนส่ง

“เมื่อก่อนเราแพ็กผักใส่ถุงพลาสติก จนได้ไปขายที่จริงใจ Farmers’ Market ซึ่งเขาเน้นวัสดุธรรมชาติ กลุ่มปลูกผักตำบลนาดีจึงลองเปลี่ยนมาใช้วัสดุธรรมชาติในการแพ็กผัก โดยใช้ใบตองเย็บเป็นกระทงใส่ผักแทนถุงพลาสติก และใช้ตอกรัดแทนหนังยาง

“กลายเป็นเสน่ห์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม บางทีลูกค้าเห็นผักในแพ็กเกจธรรมชาติของเรา เขาก็ควักมือถือขึ้นมาถ่ายรูป เรียกเพื่อนๆ มาช่วยกันซื้ออีก แม่ก็กลับมาบอกเกษตกรในกลุ่ม ให้เขารู้ว่าผลิตภัณฑ์ก็มีผลกับยอดขาย ไม่ใช่แค่ผักมีคุณภาพอย่างเดียว

“ตอนนี้ชาวบ้านนำใบตอง ทำตอกมาขายให้โรงแพ็กผักของเรา มีร้านอาหารใหญ่ที่เขาเห็นแพ็กเกจของเราที่จริงใจ Farmers’ Market มาจ้างให้เราทำกระทงใส่อาหารจากธรรมชาติส่งให้เขา ถือเป็นการสร้างงานให้ชาวบ้านและขยายตลาดอีกช่องทางหนึ่ง”

แม่ตวงเล่าว่า กลุ่มเซ็นทรัลไม่ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนแค่เรื่องเงินในการทำโรงแพ็กผักเท่านั้น แต่ทีมงานของเซ็นทรัลยังเข้ามาสอนองค์ความรู้หลายอย่างให้เกษตรกรชาวบ้าน ตั้งแต่สอนคัดเกรดผลผลิตทางการเกษตรให้ได้มาตรฐาน ทั้งน้ำหนัก ความยาว ความสมบูรณ์ ไปจนถึงเทคนิคการขายปลีกที่กลุ่มเซ็นทรัลเชี่ยวชาญ 

“เมื่อปีที่แล้วแม่ส่งตัวแทนสมาชิกกลุ่มปลูกผักตำบลนาดีที่เป็นคนรุ่นใหม่ไปเรียนเรื่อง QR Code กับทางเซ็นทรัล เขาสอนวิธีสร้างฐานข้อมูลผลผลิตทางการเกษตร ให้สินค้าทุกตัวของเรามีข้อมูลและรายละเอียด ลูกค้าสามารถเข้ามาอ่านได้โดยการสแกน QR Code ที่ติดอยู่กับแพ็กเกจผักแต่ละชนิด กลุ่มของเรากำลังพยายามปรับตัวให้ทันยุคสมัยและรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนไป” แม่ตวงเล่าพร้อมรอยยิ้ม

04

ตลาดที่แสนจริงใจ

ผักสดปลอดสารพิษจากกลุ่มปลูกผักตำบลนาดีและอีกหลายไร่รอบอุดรธานีเดินทางเข้าเมืองสู่จริงใจ Farmers’ Market ตลาดขายผักผลไม้ปลอดภัย ปลอดสารพิษ และผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่กลุ่มเซ็นทรัล ได้เริ่มดำเนินการที่จังหวัดอุดรธานีเป็นแห่งแรก ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา อุดรธานี 

ทำไมห้างใหญ่อย่างเซ็นทรัลที่มี Tops Supermarket อยู่แล้ว จึงมาเปิดตลาดเกษตรกรอย่างจริงใจ Farmers’ Market คุณพิชัย จิราธิวัฒน์ Executive Director, CENTRAL Group อธิบายให้เราฟังว่า จากความเชี่ยวชาญในการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมค้าปลีกในไทยมากว่า 71 ปี กลุ่มเซ็นทรัลตระหนักดีว่าการส่งเสริม สนับสนุน และยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินธุรกิจ

จริงใจ Farmers’ Market

โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ ต้องประสบกับปัญหาในการจัดจำหน่าย ตลอดจนรายได้และราคาที่ไม่เป็นธรรม และที่ผ่านมา แม้ว่ากลุ่มเซ็นทรัลจะเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนด้วยการให้บริษัทในกลุ่มทั้ง Central Food Hall และ Tops Supermarket รับซื้อสินค้าตรงจากเกษตรกรมากว่า 20 ปี เพื่อจำหน่ายในกว่า 270 สาขา แต่ยังไม่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้เท่าที่ควร

“โดยปกติ ผัก ผลไม้ และอาหารสด จะถูกส่งเข้ามาที่ศูนย์รับสินค้าแต่ละภูมิภาคของท็อปส์ จากนั้นจึงกระจายไปตามสาขาต่างๆ ระบบโลจิสติกส์ใช้เวลาพอสมควร เราจึงมองว่าการทำตลาดสำหรับเกษตรกรชุมชน ที่แหล่งผลิตสินค้าอยู่ไม่ไกล ขนส่งในระยะเวลาไม่นานหรือที่เรียกว่า Local Sourcing จะช่วยให้ลูกค้าได้บริโภคสินค้าสดใหม่ปลอดภัยจากท้องถิ่น

“เกษตรกรเองก็ได้มาทดลองและเรียนรู้วิธีการขายสินค้าแบบค้าปลีก ซึ่งเป็นจุดแข็งที่กลุ่มเซ็นทรัลเชี่ยวชาญและอยากส่งต่อ Know-how นี้ให้เกษตรกร และเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรชุมชนได้พบปะผู้ซื้อโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง” คุณพิชัยอธิบาย

จริงใจ Farmers’ Market

  จริงใจ Farmers’ Market ขายอาหารปลอดภัยจากเกษตรกรและชุมชนกว่า 315 รายการ แบ่งเป็นโซนพืช ผักและผลไม้ที่หมุนเวียนไปตามฤดูกาล ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจหากเกษตกรบางคนจะหายหน้าไปจากตลาดบางช่วง และกลับมาใหม่ช่วงฤดูที่พืชในไร่ออกผล 

โซนต่อมาคืออาหารพร้อมรับประทาน ซึ่งทุกร้านเป็นอาหารในท้องถิ่น คุณพิชัยเล่าให้ฟังว่า ช่วงแรกๆ จริงใจ Farmers’ Market เปิดโอกาสให้ร้านค้าเลือกได้ว่าจะมาขายวันไหนบ้างก่อนเพื่อดูผลตอบรับจากผู้บริโภค ปรากฏว่าขายดีมาก จนทุกวันนี้บางร้านสามารถต่อยอดสินค้าของตัวเองออกไปได้อีกมากมาย และมียอดขายดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก

อย่างร้านขนมบ้าบิ่นแม่รำไพ แต่ก่อนไม่มีหน้าร้าน จนได้มาขายที่นี่ นอกจากได้พบปะลูกค้าแล้ว แม่รำไพยังได้พูดคุยกับเพื่อนๆ เกษตรกรชุมชนที่นำพืชผลมาขาย เกิดการพัฒนาสูตรร่วมกันโดยใช้วัตถุดิบในจริงใจ Farmers’ Market 

  จากเดิมที่มีแค่รสมะพร้าวอ่อน ตอนนี้ขนมบ้าบิ่นแม่รำไพมีทั้งรสกล้วยหอม มันม่วง และใบเตยที่ขายดีเทน้ำเทท่าถูกใจลูกค้า จนหลานชายแม่รำไพต้องลาออกจากงานประจำมาช่วยขาย จากยอดขายวันละหลักร้อย กลายเป็นวันละหลายหมื่นบาท ทุกวันนี้ขนมบ้าบิ่นแม่รำไพได้มาขายไกลถึงห้างเซ็นทรัลสาขาต่างๆ ในกรุงเทพฯ 

จริงใจ Farmers’ Market เปิดทำการมากว่า 7 เดือน มีเกษตรกรเข้าร่วมจาก 54 ชุมชน จำนวน 350 ครัวเรือน มียอดขายรวมของตลาดกว่า 22 ล้านบาท สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จากเดิมที่รายได้ต่อหัวต่อเดือนอยู่ที่ 13,500 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 42,850 บาทต่อเดือน

“นอกจากอุดรธานี ในปีนี้กลุ่มเซ็นทรัลเปิดโครงการจริงใจ Farmers’ Market เพิ่มที่เชียงราย ขอนแก่น พะเยา และมีแผนที่จะขยายโครงการไปอีก 10 แห่ง ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศภายในสิ้นปีนี้” คุณพิชัยเล่าทิ้งท้าย

05

ปลอดภัยจากมือชาวไร่สู่มือผู้บริโภค

พืชผักทุกชนิดที่ขายในจริงใจ Farmers’ Market เป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัย เพราะตลาดแห่งนี้ทำงานร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดและมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ในการตรวจสอบสารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในสินค้า

พี่หอม-ประสงค์ ปู่เพ็ง General Manager-Centrality Project (Local sourcing) เล่าให้เราฟังว่า ทีมงานของจริงใจ Farmers’ Market จะลงไปตรวจสอบการปนเปื้อนของสารพิษตั้งแต่ในดิน ที่แปลงผักของเกษตรกรแต่ละไร่ เพื่อให้มั่นใจว่าพืชผลที่ส่งเข้ามานั้นปลอดภัยต่อผู้บริโภคจริงๆ

“นอกจากการตรวจสารพิษที่แปลงผักของเกษตรกรแล้ว เรายังมีจุดตรวจสอบความปลอดภัยที่จริงใจ Farmers’ Market โดยมีน้องๆ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มาช่วยสุ่มตัวอย่างสินค้าตรวจสอบด้วยชุดตรวจ GT-Pesticide Residue Test Kit ซึ่งเป็นชุดทดสอบยาฆ่าแมลงและสารพิษตกค้างในผักผลไม้ในอาหารเป็นประจำทุกวันเสาร์-อาทิตย์

จริงใจ Market ตลาดที่เกษตรกรชุมชนได้ขายผักผลไม้ปลอดภัยโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

“เมื่อตรวจสารพิษเสร็จ เราจะมีป้ายประกาศให้ผู้บริโภครับทราบว่าพืชผลชนิดไหนของเกษตรกรเจ้าใดบ้างที่ผ่านการตรวจสอบแล้วว่าไม่มีสารพิษตกต้าง ถ้าสินค้าชนิดใดไม่ผ่านการทดสอบ เราจะงดจำหน่ายทันที และไม่นำสินค้าชนิดนั้นขึ้นชั้นวางจนกว่าจะตรวจสอบจนมั่นใจว่าไม่มีสารพิษตกค้างอีก”

ที่ผ่านมา ตรวจพบสารพิษตกค้างจากพืชผลที่เกษตรกรนำมาขายที่จริงใจ Farmers’ Market น้อยมาก สำหรับรายที่ตรวจพบ ทีมงานจะเข้าไปพูดคุยกับเกษตรกรและช่วยหาสาเหตุว่าสารพิษตกค้างเหล่านั้นมาจากไหน หากเกษตรกรไม่ได้ใช้ยาฆ่าแมลง สารพิษอาจมาจากแปลงข้างเคียงหรือเปล่า 

จริงใจ Market ตลาดที่เกษตรกรชุมชนได้ขายผักผลไม้ปลอดภัยโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

“การวิเคราะห์ตรงนี้จะช่วยให้เกษตรกรรู้แนวทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำ และเป็นการย้ำให้เกษตรกรรับทราบถึงความเข้มงวดในแง่ความปลอดภัยของตลาดแห่งนี้” พี่หอมอธิบายพร้อมหยิบขนมตาลสีสวยในกระทงใบตองให้เราลองชิม

ขนมตาลในมือหวานหอมและเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ จริงใจ Farmers’ Market ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาถุงพลาสติก ที่นี่จึงงดแจกถุงหูหิ้วพลาสติกให้ลูกค้ามาตั้งแต่เปิดตลาด

เรามองไปยังชั้นวางผลิตภัณฑ์ของพี่น้องเกษตรกรชุมชน ที่ล้วนห่อหุ้มด้วยวัสดุธรรมชาติ แล้วก็นึกถึงคำพูดของแม่ตวงที่แปลงผักว่า “เกษตรกรไทยทุกวันนี้พร้อมพัฒนาความรู้และคุณภาพสินค้า องค์กรใหญ่ต่างๆ ก็พร้อมช่วยสนับสนุน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกันในวงจรเศรษฐกิจอย่างเข้าอกเข้าใจ ยั่งยืน และปลอดภัยตั้งแต่ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง”

‘เซ็นทรัล ทำ’ (Central Tham) คือโครงการที่ทุกคนในองค์กรเซ็นทรัลร่วมมือกัน ‘ทำ’ ภายใต้แนวคิด CSV (Creating Shared Values) เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างชุมชน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่พนักงานและสังคมอย่างยั่งยืน

โดยจัดทำโครงการที่สอดคล้องกับกรอบแนวคิดความยั่งยืนขององค์กร (Sustainable Framework) ใน 4 ด้าน คือ

People (การศึกษาและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน) Prosperity (การสร้างรายได้ให้ชุมชนในเรื่องการพัฒนาสินค้าชุมชน) Planet (คุณภาพสิ่งแวดล้อม) และ Peace and Partnership (ความสงบสุข ศิลปวัฒนธรรม และความร่วมมือ) เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

Avatar

รักอิสระ มุกดาม่วง

เป็นคนจังหวัดอุดรธานี-ถิ่นภาคอีสาน โดยกำเนิด รักอิสระเคยดร็อปเรียนตอนมัธยมแล้วไปเป็นเด็กล้างจานที่ร้านอาหารไทยในอเมริกา 1 ปี ชอบเดินทางท่องเที่ยว ถ่ายรูป และสนใจภาพเชิงสารคดีเป็นพิเศษ