เดินลัดเลาะหาทางออกจากเสียงและกลิ่นควันรถยนต์ใจกลางเมืองกรุง ห่างจากสนามกีฬาแห่งชาติเพียงไม่กี่นาทีและห่างจากพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน ไม่ถึงร้อยก้าว ก็พบอาคารอิฐเปลือยเรียงตัวเป็นลายผ้ามัดหมี่ ห่อหุ้มด้วยปูนและเหล็ก วัสดุซึ่งเผยผิวอย่างสัจจะ 

‘Jim Thompson Art Center’ ภายในตัวอาคาร 4 ชั้น ขนาด 3,000 ตารางเมตร ไม่ได้วางบทบาทของตัวเองเป็นเพียงพื้นที่ทางศิลปะที่เปิดกว้างต่อศิลปินทุกแขนงและขับเคลื่อนศิลปะร่วมสมัยเท่านั้น แต่ยังตั้งใจเป็นพื้นที่ที่เป็นมิตรกับทุกคน มีทั้งคาเฟ่ ห้องสมุด อาร์ตแกลเลอรี่ พื้นที่ส่วนกลางและดาดฟ้า ซึ่งปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมในอนาคตได้

ไม่รอช้า คอลัมน์ Share Location นัดหมายคุยกับ กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการประจำ Jim Tompson Art Center และ มาลินา ปาลเสถียร สถาปนิกแห่งบริษัทดีไซน์-กว่า จำกัด (Design Qua) ผู้ออกแบบอาคาร ถึงเบื้องหลังการก่อตั้งอาร์ตสเปซแห่งใหม่ ไปจนถึงทิศทางต่อไปของศิลปะร่วมสมัย ในอาคารที่นำความได้เปรียบของภูมิอากาศเมืองไทย ผนวกเข้าการออกแบบอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

เชิญก้าวขึ้นบันไดเหล็กสีดำ แล้วนั่งลงฟังเรื่องราวของที่แห่งนี้ไปพร้อมกัน

Jim Thompson Art Center พื้นที่สาธารณะที่ตั้งใจผูกมิตรกับผู้คนและเมืองด้วย 'ศิลปะ'
ซ้าย : มาลินา ปาลเสถียร ขวา : กฤติยา กาวีวงศ์

คงต้องเท้าความกันไกล

กฤติยากล่าวออกมาเป็นประโยคแรก เมื่อเราถามถึงที่มาที่ไปของอาคารหลังใหม่แห่งนี้ ก่อนเล่าต่อถึงจุดเริ่มต้นเมื่อครั้งที่ จิม ทอมป์สัน (Jim Thompson) ยังไม่หายตัวไป เขาเปิดบ้านเรือนไทยสัปดาห์ละ 2 ครั้งให้คนเข้าชมของสะสม ส่วนใหญ่เป็นงานจิตรกรรม ประติมากรรม และชามเบญจรงค์ โดยมีผู้เข้าเป็นชนชั้นสูง หลังจากนั้น เมื่อ Henry B. Thompson ผู้เป็นหลานได้รับมรดก มองเห็นความตั้งใจของจิมที่เก็บของเหล่านั้นด้วยความสนใจว่าเมืองไทยมีงานศิลปะแบบไหน และเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ จึงตั้งมูลนิธิ The James H.W. Thompson Foundation ขึ้นใน พ.ศ. 2513 เกิดเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน ให้คนมาเก็บเกี่ยวความรู้ เสพศิลปวัฒนธรรม ซึ่งช่วงแรกผู้แวะเวียนมาเยี่ยมชมส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือแขกบ้านแขกเมือง

กระทั่ง พ.ศ. 2546 จึงขยับมาเป็นศูนย์ศิลปะผ้าของไทยและศิลปะร่วมสมัย ภายใต้ชื่อแรกว่า Jim Thompson Center for Art and Textiles ภายหลังใน พ.ศ. 2549 จากเดิมที่มีเพียงนิทรรศการแสดงผ้าสลับกับศิลปะร่วมสมัย ก็ขยายมาจัดโปรแกรมการเรียนรู้ ให้มีพื้นที่เสวนาสำหรับนักศึกษา นักวิชาการ และขยับมาพูดเรื่องศิลปะในโซนอาเซียน ซึ่งตัวแกลเลอรี่เดิมนี้ อยู่ภายใต้ร่มเงาของบ้านไทย บนร้าน Jim Thompson Shop

เมื่อพูดถึงบ้านจิม ทอมป์สัน คนมักนึกถึงนิทรรศการเกี่ยวกับผ้าและบ้านไทยเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงพื้นที่เพื่อสร้าง Jim Tompson Art Center ด้วยโจทย์การพูดถึงประเด็นร่วมสมัยผ่านงานศิลปะหลายหลายมิติ ทั้งศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง และกลายเป็นพื้นที่สร้างคอมมูนิตี้ให้กับผู้คน

ไม่ใช่แค่ศูนย์ศิลปะ แต่อยากให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

เรามักมองภาพลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์ว่าเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ ไม่ใช่พื้นที่พักผ่อน Jim Thompson Art Center จึงมุ่งเน้นให้พื้นที่แห่งนี้เป็นคอมมูนิตี้มากกว่าเป็นเพียงพื้นที่ทางศิลปะ เพราะเชื่อว่าการส่งต่อความรู้ที่ดีที่สุด คือการแลกเปลี่ยนและพูดคุยโดยมีตัวเชื่อมบทสนทนาเป็นนิทรรศการศิลปะ นอกจากนั้นเครื่องมือที่จะยืนยันความเป็นอารยธรรมได้มากที่สุด ก็คือ ‘พื้นที่สาธารณะ’

“โรงเรียนที่เราเรียนตอนเด็ก มีพิพิธภัณฑ์ใหญ่มาก ชื่อ The Art Institute of Chicago มีห้องเล็ก ๆ ห้องหนึ่งอยู่ในหมวด Asian Art สร้างโดย Tadao Ando เป็นห้องที่อยู่ในโซนญี่ปุ่น มันไม่มีใครเลย ทุกครั้งที่คิดถึงบ้านหรือคิดงานไม่ออก เราจะแอบไปนอน เราเลยอยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นแบบนั้น”

กฤติยาเล่าสิ่งที่เธอพบเจอแทนการอธิบายถึงความตั้งใจที่อยากให้ Jim Thompson Art Center เป็น อยากให้ทุกคนนึกถึงและมาใช้งานด้วยความผ่อนคลาย นั่นทำให้เรารู้ว่าสุดท้ายพื้นที่นี้จะไม่เป็นแค่พื้นที่สำหรับการเรียนรู้งานศิลปะ แต่อาจมานั่งพัก ถ่ายรูป หรือพบปะเพื่อน ๆ ก็ได้

ก่อนแวะมา เราขอเล่าให้ฟังคร่าว ๆ ว่า ภายในหอศิลป์แห่งนี้มีทั้งหมด 5 ชั้น รวมที่จอดรถชั้น G แต่ละโซนก็จะแบ่งออกตามชั้น อย่างชั้นแรกโซน ARTZY CAFE มีคาเฟ่ให้มาพักผ่อนหย่อนใจ พูดคุยกับเพื่อนฝูง พร้อมขนมและเครื่องดื่มทั้งกาแฟหอมกรุ่น โซดาและสมูทตี้ มีร้าน JTAC MUSEUM SHOP X MASS ART PROJECT ให้เลือกสรรสินค้าหลากหลายจากงานดีไซน์ของศิลปินที่หมุนเวียนกันไป ไม่ว่าจะถุงผ้า กระเป๋าถือ กระเป๋าสตางค์ หนังสือ และเสื้อผ้า 

Jim Thompson Art Center พื้นที่สาธารณะที่ตั้งใจผูกมิตรกับผู้คนและเมืองด้วย 'ศิลปะ'
Jim Thompson Art Center พื้นที่สาธารณะที่ตั้งใจผูกมิตรกับผู้คนและเมืองด้วย 'ศิลปะ'

ถัดมาชั้นที่ 2 มี WILLIAM WARREN LIBRARY และ MULTI- FUNCTION SPACE เป็นโซนที่คุณจะได้ใช้เวลากับหนังสือหลายแขนงและแสงธรรมชาติอย่างเต็มที่ในห้องสมุดของ WILLIAM WARREN ชายผู้เขียนชีวประวัติของจิมป์ ทอมป์สัน ที่นี่ให้บริการหนังสือ นิตยสาร และดีวีดีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของจิม ทอมป์สัน รวมถึงรองรับการจัดกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การบรรยายและเวิร์กชอป หากเดินออกมายังลานกว้างก็จะเห็นพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน เป็นการเชื่อมพื้นที่กันทางสายตา

Jim Thompson Art Center พื้นที่สาธารณะที่ตั้งใจผูกมิตรกับผู้คนและเมืองด้วย 'ศิลปะ'
Jim Thompson Art Center พื้นที่สาธารณะที่ตั้งใจผูกมิตรกับผู้คนและเมืองด้วย 'ศิลปะ'

เดินขึ้นบันไดอีกหน่อย เข้าชมงานศิลปะในโซนจัดแสดงชั้นที่ 3 มี JIM THOMPSON ART CENTER GALLERY 1 & 2 ที่ตอนนี้จัดแสดงนิทรรศการ ‘Future Tense’ จากศิลปิน 14 คน ให้คุณขยายกรอบความรู้ของตัวเองด้านประวิตศาสตร์การต่อสู้และการเมืองของประเทศต่าง ๆ ผ่านการเสพศิลป์ ทั้งในรูปแบบภาพวาดและวีดิทัศน์ คุณจะเห็นและฟังความเป็นไปของการต่อสู้เพื่อการอยู่รอด งานส่วนใหญ่ที่จัดแสดงคืองานศิลปะร่วมสมัยทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งเปลี่ยนไปทุก ๆ 3 – 4 เดือน (มีค่าเข้าชม 50 บาท)

Jim Thompson Art Center พื้นที่สาธารณะที่ตั้งใจผูกมิตรกับผู้คนและเมืองด้วย 'ศิลปะ'
Jim Thompson Art Center พื้นที่สาธารณะที่ตั้งใจผูกมิตรกับผู้คนและเมืองด้วย 'ศิลปะ'

ชั้นสุดท้าย ROOF TOP ดาดฟ้า ขึ้นไปแล้วคุณจะพบกับวิวใจกลางกรุง เราเองที่ไปมาหลายครั้ง สังเกตเห็นว่าโซนนี้แหละที่เป็นจุดรวมตัวของผู้คนหลากหลายอย่างแท้จริง

Jim Thompson Art Center พื้นที่สาธารณะที่ตั้งใจผูกมิตรกับผู้คนและเมืองด้วย 'ศิลปะ'
Jim Thompson Art Center พื้นที่สาธารณะที่ตั้งใจผูกมิตรกับผู้คนและเมืองด้วย 'ศิลปะ'

แม้ว่าจะเป็นอาคาร 4 ชั้น แต่เราที่เลือกเดินสำรวจทุกพื้นที่โดยไม่ใช่ลิฟต์ก็ไม่ได้รู้สึกเหนื่อยแต่อย่างใด แถมยังมีลมเย็นสบายพัดตลอดเวลาที่อยู่ข้างนอก เพราะการออกแบบด้วยแนวคิดสถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้น (Tropical Architecture) ที่เอื้อต่อภูมิกาศของประเทศบ้านเรานั่นเอง

เราอยากให้ตึกนี้อยู่ได้ หลังจากที่เราไม่ได้อยู่แล้ว

เกริ่นไปขนาดนี้ ไม่พูดถึงการออกแบบอันโดดเด่นคงไม่ได้ นอกจากการออกแบบด้วยแนวคิดสถาปัตยกรรมสไตล์ทรอปิคัลอันเป็นลายเซ็นของ มาลินา สถาปนิกแห่งดีไซน์-กว่า ที่เธอเล่าด้วยความสนุกว่า โจทย์เรื่องงบประมาณ รวมถึงอยากให้พื้นที่แกลเลอรี่ใหญ่กว่าเดิม และเรื่องที่จอดรถ ทำให้เกิดความคิดหาวิธีแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนมากที่สุด

ผลที่ออกมาจึงเป็นอาคารที่วางฟังก์ชันให้พื้นที่ต่าง ๆ อยู่ได้ด้วยตัวเองมากกว่า 20 – 50 ปี จากโจทย์ที่ตั้งต้นจากการอยากได้ห้องจัดนิทรรศการใหญ่ขึ้นขึ้นจาก 230 เมตร เป็นราว ๆ 300 ตารางเมตร และมีส่วนสำหรับกิจกรรมภายใต้พื้นที่ทั้งหมด 3,000 ตารางเมตร ทำให้อาคารแห่งนี้ต้องมีที่จอดรถให้ได้ถึง 50 คันตามกฎหมาย

“เราต้องคิดหนักและรับผิดชอบด้วย ถ้าเราใช้เงิน 50 เปอร์เซ็นต์ไปกับที่จอดรถ มันจะเหลืออะไรข้างบน” เธอเริ่มต้นเล่า

ด้วยความคิดที่จะสร้างหอศิลป์แห่งใหม่เกิดขึ้นเกือบ 10 ปีก่อน ทำให้มีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ และอีกจุด ซึ่งต่อมากลายเป็นข้อดี คือหน้ากว้างของพื้นที่น้อยไปประมาณ 1.20 เมตรที่จะทำทางลาดสำหรับจอดรถ ซึ่งกินพื้นที่ของตึกไปมาก

“ตอนนี้มี Pallet Parking (ระบบที่จอดรถแบบอาคารสูง) เข้ามา เราเลยลองออกแบบไป เราดีใจมากที่ได้ใช้การออกแบบอย่างยั่งยืน เพราะอยากใช้ปูนให้น้อยที่สุดในสิ่งที่มันไม่คงทนถาวร ในเมื่อพวกเราไม่จำเป็นต้องใช้รถส่วนตัวกันแล้ว ในอนาคตที่ไม่ได้ต้องการที่จอดรถ ก็ทำเป็นแกลเลอรี่เพิ่มได้”

เมื่อที่จอดรถลงตัว ต่อมาคือการสร้างแกลเลอรี่ที่ต้องออกแบบทุกอย่างให้อยู่ร่วมกันได้ ในโจทย์ความท้าทายอื่น ๆ เช่น ความแคบของซอย ถ้าไม่เงยหน้าก็จะไม่เห็นตึก จึงต้องสะดุดตา ตัวอาคารเลยมีรูปทรงเหมือนโคม พอเปิดไฟจะสง่างามมาก

Jim Thompson Art Center พื้นที่สาธารณะที่ตั้งใจผูกมิตรกับผู้คนและเมืองด้วย 'ศิลปะ'
อาร์ตเซ็นเตอร์แห่งใหม่ที่ออกแบบอย่างยั่งยืน และตั้งใจเป็นพื้นที่สาธารณะทางศิลปะที่ผูกมิตรกับผู้คนและเมือง

อีกความท้าทายใหญ่ที่ใหญ่ที่สุด สถาปนิกหญิงพูดติดตลกว่า “ใครจะเดิน 3 ชั้นขึ้นมาดูงานศิลปะ” 

เธอจึงออกแบบให้พื้นที่รองรับการเดินอย่างสบายที่สุด รวมถึงมีจุดดึงดูดความสนใจตลอดทาง เช่น Facade ด้านหน้าที่นอกจากสวยงามทางการมองเห็น เป็นจุดหยุดถ่ายภาพแล้ว ยังช่วยไหลเวียนอากาศด้วย 

อาร์ตเซ็นเตอร์แห่งใหม่ที่ออกแบบอย่างยั่งยืน และตั้งใจเป็นพื้นที่สาธารณะทางศิลปะที่ผูกมิตรกับผู้คนและเมือง

ข้อแตกต่างที่เรามองเห็นอีกอย่างคือ พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่มักเป็นทรงเป็นกล่อง ไม่มีที่ให้คนหายใจ ต่างไปจากที่นี่ เพราะมีพื้นที่โล่ง เป็นมิตรต่อสถานการณ์โรคระบาด ทำให้คนกล้ามาใช้พื้นที่ และเมื่อ 2 ใน 3 ของอาคารเป็นพื้นที่ Open Air จึงเหลือพื้นที่ที่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศเพียง 1 ส่วน เป็นการรับผิดชอบต่อเมืองเรื่องการปล่อยความร้อน ซึ่งเป็นการเพิ่มปัญหา Climate Change ตามความตั้งใจของทีมผู้ออกแบบ

“เราออกแบบให้มันยั่งยืน ตั้งแต่วางอาคารแต่ละก้อน ว่าแสงมาจากไหน ร่มอยู่ตรงไหน อันนี้ช่วยเรื่องแสงธรรมชาติที่จะเข้าแต่ละห้องโดยตรง ส่วนตึกโมเดิร์น เราไม่อยากให้มันเป็นอาคารแบบ Brutalist เพราะจริง ๆ วัฒนธรรมเรามีความนุ่มนวล เลยเติมลายทอผ้าเข้าไปที่การเรียงอิฐ พวกนี้เป็นแรงบันดาลใจจากการที่เราอยู่โซนเดียวกับบ้านจิม ทอมป์สัน และการใช้อิฐก็ยั่งยืน ทำให้นึกถึงวัฒนธรรมของเรา อิฐก็คือดิน เรามีปูนเยอะแล้ว อิฐเป็น Amazing Material ในอนาคต สมมติโลกหายไป อิฐก็กลายเป็นดินอีกครั้ง มันเป็นความสมดุลของการใช้วัสดุ แล้วสีมันก็เหมือนหลังคาของบ้านจิม ทอมป์สัน ด้วย” 

อาร์ตเซ็นเตอร์แห่งใหม่ที่ออกแบบอย่างยั่งยืน และตั้งใจเป็นพื้นที่สาธารณะทางศิลปะที่ผูกมิตรกับผู้คนและเมือง
อาร์ตเซ็นเตอร์แห่งใหม่ที่ออกแบบอย่างยั่งยืน และตั้งใจเป็นพื้นที่สาธารณะทางศิลปะที่ผูกมิตรกับผู้คนและเมือง

Unknow Future

ก่อนจบบทสนทนา เราถามถึงอนาคตที่จะเกิดใน Jim Tompson Art Center กฤติยาผายมือไปยังนิทรรศการ ‘Future Tense’ แทนคำตอบ

“มันคือ Unknow Future เป็นสภาวะที่ทุกคนต้องเผชิญ เราไม่รู้ว่าข้างหน้าจะมีอะไร รู้อย่างเดียวว่ามันจะ Tense มาก ๆ ทีนี้จะทำยังไงให้ก้าวต่อไปข้างหน้าได้ ก่อนจะมีโควิด-19 คำว่า Digital Disruption มันทำให้ชีวิตเรายุ่งเหยิงพออยู่แล้ว ยิ่งเจอโควิดก็ยุ่งเหยิงอีก แถมไม่พอ สิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเราพวกคุณก็รู้อยู่ เราเลยรู้สึกว่ามันต้องตั้งหลัก 

“สุดท้ายพอมาดูสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มันเคยเกิดขึ้นในยุคสงครามเย็นหมดเลย เพราะฉะนั้น เซนส์ในประวัติศาสตร์ของพวกเรา เราไม่ค่อยสนใจ แต่ว่าช่วงหลัง โดยเฉพาะคนรุ่นพวกคุณที่กลับไปอ่านประวัติศาสตร์และดูสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าเกิดคนไม่ย้อนกลับไปจุดนั้น เราก็ไม่สามารถ Move On ได้ นี้แหละคือคำตอบของโชว์นี้ คือคำตอบที่ไม่ตอบไม่ได้ ว่าเราต้องอยู่ด้วยกัน ต้องรู้ว่าเรามาจากไหน ปัญหามันคืออะไร ก่อนที่เราจะตัดสินใจว่า สุดท้ายเราจะเลือกอะไรให้กับตัวเองในสังคมบ้า ๆ แห่งนี้”

คำพูดของกฤติยาสะท้อนออกมาให้เห็นว่าเราแค่ต้องผ่านมันไป เรียนรู้ข้อผิดพลาดในอดีตดังเช่นนิทรรศเบื้องหน้า สะท้อนให้เห็นช่วงสงครามเย็นจากประเทศอื่น ๆ นอกจากชาติของตัวเอง เป็นตัวอย่าง เพื่อตั้งคำถามและเรียนรู้ถึงปัญหา ก่อนที่มันจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งทุกคนมาเรียนรู้หรือมาหาประสบการณ์อื่น ๆ ตามที่ได้กล่าวไปทั้งหมด เพียงมาเยือน Jim Tompson Art Center สักครั้งครา ที่นี่อาจกลายเป็นที่พักพิงใจแห่งใหม่ของคุณก็ได้ 

Jim Tompson Art Center

ที่ตั้ง : 10/1 ซอยเกษมสันต์ 2 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : 

JIM THOMPSON ART CENTER : เปิด 10.00 – 18. 00 น. (ยกเว้นวันอังคาร)

WILLIAM WARREN LIBRARY : เปิด 10.00 – 18. 00 น. (ยกเว้นวันจันทร์และวันอังคาร)

โทรศัพท์ : 0 2216 7368

Website : JIM THOMPSON ART CENTER

YouTube : Jim Thompson Art Center_Channel

Facebook : The Jim Thompson Art Center, William Warren Library

Writers

Avatar

ปุณณ กาญจนะโภคิน

นักฝึกเขียน ผมไม่ค่อยมีเวลาว่างเพราะไม่ได้หวี ศิลปะยืนยาว ชีวิตขอนั่งก่อนเมื่อย เป็นคนชอบกิน เพื่อนเลยไม่ให้เป็นเจ้ามือ

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล