คืนวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 2015 เวลาประมาณ 2 ทุ่มเศษ คุณพ่อเจ้าอาวาสวัดกาลหว่าร์ในสมัยนั้นพร้อมกับกลุ่มคริสตังบางส่วนและผมได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลเซ็นต์หลุยส์

การเดินทางไปโรงพยาบาลครั้งนี้ไม่ได้มีใครป่วยหรือไม่สบาย แต่เราไปเพื่อนำ ‘รูปพระตาย’ ของวัดกาลหว่าร์ไปทำการเอกซเรย์ภายใต้คำแนะนำของคุณโรแบร์ต ซึ่งเมื่อเราไปถึงที่โรงพยาบาลบุรุษพยาบาลได้เตรียมเตียงเข็นคนไข้ออกมารับ ‘รูปพระตาย’ พวกเราเชิญรูปพระตายไปขณะคลุมผ้าอยู่

เราเลือกที่จะเข้าประตูด้านหลังโรงพยาบาลเพื่อให้ใกล้กับห้องเอกซเรย์มากที่สุดเพื่อไม่ให้ใครตกใจและไม่เป็นการรบกวนการทำงานของโรงพยาบาล เมื่อมาถึงห้องซีทีสแกนและเปิดผ้าคลุมออก เจ้าหน้าที่และพยาบาลดูเหมือนจะมีสีหน้าตกใจเล็กน้อย

วัดกาลหว่าร์, พระเยซู
คุณโรแบร์ตและเจ้าหน้าที่ขณะนำรูปพระตายเข้าเครื่องซีทีสแกน

ด้วยขนาดของ ‘รูปพระตาย’ ที่มีขนาดและสัดส่วนเท่ากับมนุษย์จริง อีกทั้งรอยช้ำต่าง ๆ ที่ปรากฏบนร่างกายดูเหมือนเป็นร่างของมนุษย์ที่เพิ่งผ่านการทรมานอย่างสาหัส ใบหน้าที่สิ้นใจจากความทรมานพร้อมกับเลือดที่ยังคงปรากฏอยู่ สามารถสื่อความหมายให้กับสายตาทุกคู่ที่มองเห็นได้โดยไม่ต้องมีคำอธิบาย

‘รูปพระตาย’ ของวัดกาลหว่าร์อยู่คู่กับวัดมาอย่างยาวนาน และเป็นที่รู้กันว่าตลอด 365 วันใน 1 ปี จะมีเพียงคืนเดียวเท่านั้น ที่ ‘รูปพระตาย’ นี้จะปรากฏสู่สายตาของผู้คน ซึ่งก็คือ ‘คืนวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ของทุกปี’ โดยในแต่ละปีวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ (Good Friday) จะเวียนมาบรรจบไม่ตรงกันตามปฏิทินแบบจันทรคติที่ชาวคริสต์ยึดถือ ซึ่งในคืนวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์นี้เองเหตุการณ์จำลองมหาทรมานของพระเยซูเจ้าจะถูกเล่าขานขึ้นอีกครั้งผ่านข้อความที่ปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิล บาทหลวงผู้ประกอบพิธีจะร่วมกับผู้อ่านพระวรสารเล่าเรื่องราวการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้าให้กับผู้คนที่มาร่วมพิธีได้ฟัง

เมื่อภายหลังพิธีกรรมต่างๆ สิ้นสุดลง ก็เป็นเวลาของความเงียบเพื่อเตรียมที่จะเชิญ ‘รูปพระตาย’ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในบุษบกขนาดใหญ่ประดับประดาด้วยดอกไม้หอมนานาชนิด แห่ออกไปบริเวณโดยรอบวัดและพื้นที่ที่เคยเป็นชุมชนกาลหว่าร์ในอดีต

ชาววัดกาลหว่าร์ปฏิบัติประเพณีสืบต่อกันมาเนิ่นนานแค่ไหนแล้วไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่จากคำบอกเล่าของคนในครอบครัวผม ตั้งแต่สมัยอากงเดินทางจากเมืองจีนมาอยู่ที่วัดกาลหว่าร์ เรื่องราวการแห่ ‘รูปพระตาย’ ก็เป็นที่เล่าขานอยู่ก่อนหน้าแล้ว

จากอายุของเรื่องเล่าก็ไม่เท่ากับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้พวกเราคนในยุคปัจจุบันต้องไปถึงโรงพยาบาลเซ็นต์หลุยส์ในค่ำคืนนั้น คุณโรแบร์ต บูแกรง ดูบูร์ก (Robert Bougrain-Dubourg)เป็นนักอนุรักษ์ชาวฝรั่งเศสที่มีประสบการณ์การทำงานในสถานที่สำคัญหลายแห่งในประเทศฝรั่งเศส กรีซ คิวบา และอียิปต์ ระหว่างที่คุณโรแบร์ตดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหลักสูตรด้านการอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมที่ École des Beaux Arts d’Avignon ในประเทศฝรั่งเศสนั้น คุณโรแบร์ตได้ก่อตั้งองค์กรอนุรักษ์ไร้พรมแดนขึ้น หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า ‘Restaurateurs Sans Frontieres’

จากองค์กรที่คุณโรแบร์ตก่อตั้งนี้เอง ใน ค.ศ. 2001 ประเทศไทยภายใต้ความร่วมมือจากสถานทูตฝรั่งเศสและมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงได้เชิญคุณโรแบร์ตเข้ามาดำเนินการบูรณะภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยตั้งแต่ ค.ศ. 2001 เป็นต้นมา ประเทศไทยดูเหมือนจะเป็นบ้านหลังที่ 2 ของคุณโรแบร์ต

จากประสบการณ์ของคุณโรแบร์ตนั้น การไขปริศนา ‘รูปพระตาย’ ดูเป็นสิ่งที่ไม่เกินเอื้อมมือ

วัดกาลหว่าร์, พระเยซู
ภาพซีทีสแกนเมื่อมองจากจอของเจ้าหน้าที่

ผลจากซีทีสแกนปรากฏภาพแรกบนจอคอมพิวเตอร์ที่ถ้าคนจะมองว่าเป็นร่างกายมนุษย์ก็ดูจะไม่ผิด คุณโรแบร์ตเองก็ดูจะให้ความสนใจกับสิ่งที่ค้นพบจากภาพนี้อย่างมาก แต่ในคืนนั้นพวกเราก็ไม่ได้วิเคราะห์อะไรมากนักเนื่องจากต้องรอฟิล์มเอกซเรย์และซีทีสแกนทั้งหมดจากทางโรงพยาบาล เพื่อจะได้ทำการวิเคราะห์อย่างละเอียดอีกครั้ง

ในการอนุรักษ์รูปพระตายนั้น คุณโรแบร์ตได้แบ่งการวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางในการบูรณะออกเป็น 2 ส่วนคือ การวิเคราะห์โครงสร้างวัสดุจากภาพฉายรังสี และการวิเคราะห์ชั้นสี (Stratigraphic Analysis) โดยก่อนหน้าที่จะนำ ‘รูปพระตาย’ ไปที่โรงพยาบาลนั้น คุณโรแบร์ตได้เดินทางมายังวัดกาลหว่าร์เพื่อทำการศึกษาชั้นสีไปในเบื้องต้นแล้ว ภายหลังกลับจากโรงพยาบาลเซ็นต์หลุยส์คุณโรแบร์ตจึงแนะนำให้เชิญ ‘รูปพระตาย’ ไปยังแล็บของเขาเพื่อการบูรณะ โดยสาเหตุหลักของการบูรณะคือรอยแตกที่ปรากฏอยู่กลางพระรูปและชั้นสีที่ถลอกรวมถึงเสื่อมสภาพจากการบูรณะครั้งก่อนหน้า

วัดกาลหว่าร์, พระเยซู
คุณโรแบร์ตขณะพิสูจน์ชั้นสีรูปพระตายที่วัดกาลหว่าร์
วัดกาลหว่าร์, พระเยซู
คุณโรแบร์ตอธิบายข้อมูลเบื้องต้นจากการวิเคราะห์ให้กลุ่มคริสตังวัดกาลหว่าร์ที่ตามไปส่งรูปพระตายฟัง
วัดกาลหว่าร์, พระเยซู
รอยแยกกลางรูปพระตายบริเวณหน้าอกที่นำไปสู่การบูรณะ
ภาพ : ขัตติยา เล้ากอบกุล
วัดกาลหว่าร์, พระเยซู
ภาพเอกซเรย์และซีทีสแกนแสดงโครงสร้างและองค์ประกอบของรูปพระตาย
ภาพ : Restaurateurs Sans Frontieres
วัดกาลหว่าร์, พระเยซู
คุณหลุยส์ได้นำไฟล์ซีทีสแกนเข้าสู่โปรแกรมทางการแพทย์เพื่อสร้างภาพสามมิติดูภายในรูปพระตาย
ภาพ : Restaurateurs Sans Frontieres

จากภาพซีทีสแกนคุณโรแบร์ตได้อธิบายว่า ‘รูปพระตาย’ นั้นแกะสลักจากไม้ทั้งท่อน คว้านเนื้อไม้บริเวณหลังออกและปิดเข้าด้วยไม้อีกแผ่นหนึ่ง หลังจากนั้นจึงทาสีทับลงบนเนื้อไม้ นอกจากนี้ ภาพซีทีสแกนยังสามารถบอกได้อีกว่าที่มาของรอยแตกบริเวณกลางรูปพระตายนั้นเกิดจากการหดขยายตัวของเนื้อไม้บริเวณตาไม้มาเป็นเวลานาน

จากการวิเคราะห์ภาพซีทีสแกนและภาพเอกซเรย์นั้นให้ข้อมูลที่น่าสนใจยิ่งกว่า เพราะมีการค้นพบตะปูขนาดเล็กที่ใช้ยึดชิ้นส่วนไม้เข้าด้วยกัน ซึ่งตะปูนี้เรียกว่า Hand Wrought Nail เป็นตะปูทำมือที่มีปลายแหลมหัวแบนใหญ่ ซึ่งตะปูชนิดนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 17

วัดกาลหว่าร์, พระเยซู
รูปตะปู Hand Wrought Nail ที่พบจากภาพเอกซเรย์
ภาพ : Restaurateurs Sans Frontieres

แขนที่กางออกได้

นอกจากตะปูที่ค้นพบแล้ว ยังได้ค้นพบข้อต่อไม้บริเวณหัวไหล่

จากภาพซีทีสแกน พบว่ามีข้อต่อไม้ของไหล่ด้านซ้ายชำรุดไป ด้วยเหตุนี้คุณโรแบร์ตจึงได้ตัดสินใจร่วมกับทางโบสถ์ในการเปิดบริเวณหัวไหล่ของรูปพระตายออก ทำให้ทราบว่าข้อต่อไม้บริเวณไหล่ถูกคลุมด้วยหนังสัตว์ทาสีและเย็บปิดข้อต่อไม้ไว้และค้นพบว่า ‘รูปพระตาย’ นั้นสามารถกางแขนออกได้ทั้งสองข้าง

ศิลปะรูปแบบนี้มีชื่อเรียว่า ‘Cristo Yacente’ ซึ่งเป็นศิลปะที่นิยมสร้างกันตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 บริเวณคาบสมุทรไอบีเรียเพื่อประกอบพิธีสำคัญในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ โดยในพิธีจะมีการตรึงรูปพระเยซูไว้บนไม้กางเขน และเมื่อดำเนินพิธีมาจนถึงช่วงเวลาที่พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์ รูปพระเยซูจะถูกปลดลงจากกางเขน และอัญเชิญในลักษณะของรูปพระตายแห่ไปทั่วเมือง

ในปัจจุบันประเพณีดังกล่าวยังคงดำเนินอยู่ทุกปีทางตอนใต้ของประเทศสเปนและโปรตุเกส รวมถึงอาณานิคมโปรตุเกสและสเปนอย่างมาเก๊าและฟิลิปปินส์อีกด้วย

วัดกาลหว่าร์, พระเยซู
ภาพซีทีาแกนแสดงข้อต่อส่วนที่หักในอดีต
ภาพ : Restaurateurs Sans Frontieres
วัดกาลหว่าร์, พระเยซู
หนังสัตว์ทาสียึดติดกับไม้บริเวณไหล่ด้วยตะปูและเย็บด้วยเชือกโบราณเพื่อปิดข้อต่อไหล่ของรูปพระตาย
ภาพ : ขัตติยา เล้ากอบกุล
วัดกาลหว่าร์, พระเยซู
บริเวณหัวไหล่เมื่อถอดหนังเก่าเดิมออกเผยให้เห็นถึงตะปูโบราณ และข้อต่อไม้บริเวณไหล่ของรูปพระตาย
ภาพ : ขัตติยา เล้ากอบกุล

ชั้นสีเล่าเรื่อง

ในส่วนของการวิเคราะห์ชั้นสีนั้น ก่อนการบูรณะมีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจชุดสี ตั้งแต่ชุดสีปัจจุบันไปถึงครั้งเมื่อแรกสร้างพระรูปนี้ขึ้น ดังนั้น คุณโรแบร์ตจึงขูดชั้นสีเป็นพื้นที่ขนาดเล็กใน 3 ส่วนคือ ใบหน้า แขนขวา และขาขวา ของพระรูปเพื่อหาข้อมูลชุดสีดั้งเดิม ซึ่งจากชั้นปัจจุบันลงไปถึงชั้นเนื้อวัสดุ ค้นพบชั้นสีทั้งหมด 7 ชั้น

จากผลการวิเคราะห์ชั้นสี คุณโรแบร์ตจึงได้เลือกเปิดพื้นที่บางส่วนเพื่อให้เห็นสีในชั้นก่อนหน้ามากขึ้น โดยเลือกใช้สารเคมีละลายชั้นสีปัจจุบันบางส่วนออกเพื่อกลับไปยังสีชั้นที่ 4 ซึ่งค่อนข้างมีความสมบูรณ์และสามารถเห็นงานช่างในยุคก่อนหน้าได้

วัดกาลหว่าร์, พระเยซู
ตัวอย่างชุดสีที่พบจากการวิเคราะห์ชั้นสีรูปพระตาย
ภาพ : Restaurateurs Sans Frontieres
วัดกาลหว่าร์, พระเยซู
ตัวอย่างชั้นสีที่เปิดออกบริเวณใบหน้าของรูปพระตาย
ภาพ : ขัตติยา เล้ากอบกุล

อย่างไรก็ตาม จากผลการวิเคราะห์การบูรณะจึงดำเนินไปภายใต้การตัดสินร่วมกันระหว่างคุณโรแบร์ตกับคริสตังวัดกาลหว่าร์ที่จะเก็บรักษาชั้นสีในปัจจุบันไว้ และบูรณะเฉพาะส่วนที่เสียหายของพระรูป อาทิ รอยแตกกลางพระรูป และข้อต่อหัวไหล่ที่หักไป รวมถึงชั้นสีปัจจุบันในบางส่วนที่เสียหาย ซึ่งผลการตัดสินใจบูรณะครั้งนี้ทางโบสถ์เห็นว่าอาจไม่ใช่แนวทางที่ดีที่สุดที่ทำให้งานศิลปะทรงคุณค่าในยุคก่อนหน้าปรากฏสู่สายตาผู้คน หากแต่การเก็บรักษาชั้นสีปัจจุบันไว้ เป็นการคงการแสดงออกผ่านงานบูรณะในอดีต และเมื่อวันหนึ่งที่โอกาสที่เหมาะสมมาถึง ชั้นสีโบราณอันงดงาม อาจได้มีโอกาสเผยแสดงสู่สายตาของผู้คนอีกครั้งหนึ่ง

ในช่วงเวลาที่งานบูรณะพระตายใกล้จะเสร็จสิ้น เป็นโอกาสที่ดีที่ทางคุณโรแบร์ตและชาววัดกาลหว่าร์ได้มีโอกาสต้อนรับ คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน และคณาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ให้เกียรติมาพูดคุยและชมงานครั้งนี้

วัดกาลหว่าร์, พระเยซู
คุณโรแบร์ตได้ขณะอธิบายการบูรณะรูปพระตายให้คุณใหม่ คณาจารย์ และคริสตังวัดกาลหว่าร์ ได้ฟัง
วัดกาลหว่าร์, พระเยซู
คุณโรแบร์ตกำลังแนะนำ ‘พี่สืบ’ นักอนุรักษ์ที่ทำการบูรณะข้อต่อบริเวณหัวไหล่ของรูปพระตาย

กลับสู่บ้าน

ภายหลังการบูรณะเสร็จสิ้น รูปพระตายได้ถูกอัญเชิญกลับวัดกาลหว่าร์ในปี 2018 ก่อนวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ อันที่จริงไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าในอดีตรูปพระตายมาถึงวัดกาลหว่าร์เมื่อไร แต่คุณพ่อวิกเตอร์ ลาร์เก มิสชันนารีชาวฝรั่งเศสได้รวบรวมเอกสารบันทึกของมิสชันนารีในอดีตแปลเป็นหนังสือ ประวัติย่อวัดซางตาครู้สและวัดกาลหว่าร์ ซึ่งตีพิมพ์ระหว่าง ค.ศ. 1982 – 1989 มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า “…พวกคริสตังชาวโปรตุเกส หรือชาวญวนที่ไม่ถูกฆ่าตาย หรือมิได้ถูกจับเป็นนักโทษ ต่างก็หลบหนี และไปหาที่หลบซ่อนในที่ต่าง ๆ มีกลุ่มหนึ่งไปกับคุณพ่อกอร์ ส่วนคนอื่น ๆ ส่วนมากมุ่งไปบางกอก กลุ่มพวกชาวโปรตุเกสที่ไม่ยอมรับอำนาจของประมุขมิสซัง ต่างก็นำเอาทรัพย์สมบัติไปอย่างปลอดภัย มีรูปปั้นมีค่ายิ่งสองรูป รูปแรก ซึ่งจะเป็นชื่อกับสถานที่ที่ไปตั้งอยู่ที่บางกอก คือ รูปแม่พระลูกประคำ ซึ่งยังคงอยู่ในวัดหลังปัจจุบัน ส่วนอีกรูปหนึ่งนั้นเป็นรูปซึ่งวันหนึ่งในปี 1787 ได้ให้ชื่อที่รู้จักกันแพร่หลายมากต่อวัดกาลหว่าร์หลังแรก: เป็นรูปพระเยซูคริสตเจ้าถูกตรึงบนกางเขน (calvário ภาษาโปรตุเกส)…”

มีข้อความที่น่าสังเกตในบันทึกที่กล่าวว่า “…รูปพระตายเป็นรูปพระเยซูคริสตเจ้าถูกตรึงบนไม้กางเขน…” อาจเป็นไปได้ว่าในอดีตครั้งหนึ่งรูปพระตายเคยกางแขนออกได้ เพื่อประกอบพิธีโบราณตามอย่างชาวโปรตุเกสในดินแดนต่างๆ เป็นแน่ ซึ่งในปัจจุบันไม่มีพิธีดังกล่าวอีกแล้ว มีเพียงพิธีแห่พระตาย โดยประเพณีนี้เองถือเป็นประเพณีที่ตกทอดมายาวนานของวัดกาลหว่าร์ คำว่า ‘กาลหว่าร์’ นั้นจริง ๆ แล้วมาจากรากศัพท์ภาษาละตินว่า ‘Calvariæ’ แปลว่า ‘หัวกะโหลก’ ซึ่งเป็นชื่อของเนินเขาที่พระเยซูเจ้าถูกตรึงกางเขนแต่ถูกเรียกเพี้ยนมาเป็นคำว่า ‘กาลหว่าร์’ ดังในปัจจุบัน

ในอดีตชาวโปรตุเกสคงอยากที่ถวายเกียรติในการตั้งชื่อโบสถ์หลังแรกให้กับรูปพระตายนี้ เวลาที่ผ่านมากว่า 232 ปี ‘กาลหว่าร์’ และ ‘รูปพระตาย’ ก็ยังคงอยู่ผ่านกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน ซ้ำยังทำให้ระลึกถึงบรรดาครอบครัวชาวโปรตุเกสที่ได้ปกป้องสมบัติอันล้ำค่านี้จากการถูกทำลายให้กลายเป็นเรื่องเล่าขานและยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในปัจจุบันและอนาคตต่อไป

วัดกาลหว่าร์, พระเยซู
‘รูปพระตาย’ ในพิธีแห่คืนวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2018 ณ วัดกาลหว่าร์
ภาพ : สุเรนทร์ สุวดินทร์กูร

หากใครที่อยากจะมีโอกาสที่จะได้เห็นรูปพระตายสักครั้งในชีวิต ในปีนี้วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ตรงกับคืนวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 2019 โดยที่วัดกาลหว่าร์พิธีจะเริ่มเวลา 19.30 น. และหลังพิธีเวลาประมาณ 20.30 น. จะเป็นช่วงเวลาของการแห่รูปพระตาย ผู้สนใจสามารถมาร่วมพิธีได้โดยการแต่งกายชุดสุภาพสีขาว-ดำ และสามารถนำดอกมะลิมาถวายรูปพระตายก่อนพิธีและภายหลังพิธีแห่ ทุกท่านสามารถรอจูบรูปพระตายและรับดอกมะลิกลับบ้าน อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดมายาวนานของวัดกาลหว่าร์

วัดกาลหว่าร์, พระเยซู
ภาพเอกซเรย์บริเวณพระบาทของรูปพระตายบริเวณที่พระเยซูถูกตอกตะปู ถือเป็นเครื่องหมายที่สำคัญในคริสตศาสนาที่แสดงถึงความรักของพระเยซูที่ยอมตายเพื่อไถ่บาปให้กับมนุษย์ทุกคน
ภาพ : Restaurateurs Sans Frontieres
ข้อมูลเพิ่มเติม
Facebook : วัดแม่พระลูกประคำ (กาลหว่าร์) Holy Rosary Church
1318 ซอยวานิช 2 ถนนโยธา เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ 10100
โทร 0814886140

RSF Asia

คุณโรแบร์ตเปิดบริษัททำงานด้านการอนุรักษ์ในประเทศไทยตั้งแต่ ค.ศ. 2007 ได้รวบรวมนักอนุรักษ์ชาวไทยที่มีฝีมือในงานช่างต่างๆ เช่น ช่างไม้ ช่างปั้น ช่างเขียนลาย ช่างลงรักปิดทอง มาร่วมทีมด้วย โดยงานที่ทำนั้นมีตั้งแต่งานบูรณะโบราณวัตถุขนาดเล็ก ตั้งแต่งานเขียนสีลงบนกระดาษ ภาพเขียน ภาพพิมพ์ ประติมากรรม ไปจนถึงโบราณสถานที่ต้องเชิญคุณโรแบร์ตไปดูถึงที่

ที่ผ่านมาคุณโรแบร์ตได้มีโอกาสถวายงานในการบูรณะภาพจิตกรรมภายในพระราชวังหลายแห่งในกรุงเทพฯ นอกจากนั้นคุณโรแบร์ตยังได้รับความไว้วางใจจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในการบูรณะโบราณวัตถุต่างๆ ซึ่งถ้าหากใครมีสมบัติล้ำค่าส่วนตัวอยากที่จะรักษาหรือไขปริศนา ก็สามารถติดต่อไปตามที่อยู่ด้านล่างนี้ได้ หรือหากใครจะไปด้วยตนเอง ที่ทำงานคุณโรแบร์ตนั้นก็ตั้งอยู่ข้างๆ บ้านจิม ทอมป์สัน ในซอยเกษมสันต์ 2 ซึ่งใช้เวลาเดินเพียง 10 นาทีจากหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)

Restauranteurs Sans Frontieres

เวลาเปิด-ปิด : 09.00 – 17.00 น. วันจันทร์-ศุกร์
ที่ตั้ง : RSF Asia The Jame H.W. Thompson Foundation
6 ซอยเกษมสันต์ 2 ถนนพระราม 1 10300
อีเมล : [email protected]
โทร 0875516543

Writer & Photographer

Avatar

อภิชาติ กิตติเมธาวีนันท์

โตมากับวัดกาลหว่าร์ หลงใหลในประวัติศาสตร์ คริสตศาสนา และการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม