ปัญหาสิ่งแวดล้อม สภาวะโลกร้อน ยุคของการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6

หลายคนอาจเคยได้เห็น ได้ฟังคำเหล่านี้ผ่านสื่อมาบ้าง แต่อาจรู้สึกว่ามันช่างเป็นเรื่องใหญ่ไกลตัว จับต้องได้ยากเหลือเกิน และแม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าการปรับตัว หันมาใช้ชีวิตแบบที่เขาเรียกกันว่า ‘ไลฟ์สไตล์แบบรักษ์โลก’ นั้นจำเป็นแค่ไหน แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นต้องการต้นทุนทั้งทางการเงิน ความรู้ และความเข้าใจ

ดังนั้น การปลูกฝังให้เด็กๆ ทั้งเข้าใจและใส่ใจกับเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่เยาว์วัยจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ใช่แค่เพราะโลกต้องการพวกเขา แต่พวกเขาเองก็ต้องการโลกที่อยู่อาศัยได้ต่อไปเช่นกัน

น่าเสียดายที่การสอนเรื่องความสำคัญของธรรมชาติ การเข้าใจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างอย่างเป็นระบบ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในระบบการศึกษาหลักของประเทศไทย แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีใครพยายามผลักดันเรื่องนี้ 

อย่างน้อยก็มีโรงเรียนแห่งหนึ่งย่านชานเมืองกรุงเทพฯ พยายามผลักดันการศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยกิจกรรมทั้งในและนอกหลักสูตรอย่างโรงเรียนนานาชาติ Harrow หนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วม Eco Schools โครงการด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีเป้าหมายในการทำให้โรงเรียนเป็นแหล่งบ่มเพาะจิตสำนึกสิ่งแวดล้อมให้กับเด็กๆ ผ่านการส่งเสริมพลังบวกให้กับคนรุ่นใหม่ พร้อมกับเรียนรู้อย่างสนุกและเต็มใจ จัดโดย Foundation for Environmental Education (FEE) ส่วนในประเทศไทยดำเนินการโดย FEE และ WWF ประเทศไทย

Jessica Lam ครูฮ่องกงผู้ทำให้เด็กเต็มใจสานสัมพันธ์กับธรรมชาติ ผ่านการเรียนและการเล่น

วันนี้เรามีโอกาสได้ฟังเรื่องราวของคุณครูนักขับเคลื่อน จากโรงเรียนที่พยายามผลักดันการศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม จากกิจกรรมทั้งในและนอกหลักสูตรของโรงเรียนนานาชาติ Harrow หนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วม Eco Schools โดย WWF ประเทศไทยที่มีเป้าหมายในการทำให้โรงเรียนเป็นแหล่งบ่มเพาะจิตสำนึกสิ่งแวดล้อมให้กับเด็กๆ

คุณครูคนนี้คือ เจสสิกา แลม (Jessica Lam) หนึ่งในทีมครูผู้ผลักดันกิจกรรมหลากหลายในโรงเรียน เธอจะมาเล่าเส้นทางชีวิตใหัฟัง ตั้งแต่ยังเป็นเด็กชาวเมืองที่ชีวิตเปลี่ยนไปเพราะได้สัมผัสกับธรรมชาติ สู่บทบาทของการเป็นผู้ผลักดันให้เด็กๆ สานสัมพันธ์กับโลกรอบตัว

เพราะเธอเชื่อเหลือเกินว่า เด็กคือตัวแปรสำคัญที่จะผันเปลี่ยนอนาคตของเราทุกคน

Jessica Lam ครูฮ่องกงผู้ทำให้เด็กเต็มใจสานสัมพันธ์กับธรรมชาติ ผ่านการเรียนและการเล่น

เด็กหญิงเจสสิกา

ย้อนกลับไปในวันที่เจสสิกายังเป็นเด็กหญิงตัวน้อย เธอเติบโตมาในครอบครัวขนาดเล็ก ในเมืองที่นาฬิกาชีวิตเดินเร็วอย่างฮ่องกง ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลก และมีบรรยากาศความกดดันรายล้อมเป็นหมอกจางๆ อยู่รอบตัวตลอดเวลา

จึงไม่แปลกที่พ่อแม่ของเจสสิกาอยากให้เธอไปเรียนต่อต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้กับลูกสาว นั่นเองคือการเดินทางก้าวแรกของเด็กหญิงวัย 9 ขวบ จากเมืองแห่งความวุ่นวายสู่บริสตอล เมืองชนบทอันสงบเงียบในอังกฤษ

“เราย้ายไปเรียนที่โรงเรียนประจำแห่งหนึ่ง ก่อนจะไปเราคิดว่าเป็นการผจญภัยครั้งใหม่ เหมือนเราได้ไปเที่ยวยาว” คุณครูเจสสิกาเล่าย้อนความด้วยรอยยิ้ม

“จำได้ว่าพอลงจากเครื่องบิน ในสนามบินวุ่นวายมาก แต่พอขึ้นรถทัวร์ออกไปชนบท เราได้เห็นภาพทุ่งหญ้ากว้าง เห็นคนเดินช้าๆ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับเราในตอนนั้น เพราะเราเอาไปเทียบกับฮ่องกงที่มีแต่ตึกระฟ้า มีคนเต็มไปหมดทุกที่”

เมื่อได้เห็นชาวเมืองบริสตอลใช้ชีวิตสุดชิลล์ และได้ใช้เวลากับครอบครัวแบบที่เธอคุ้นเคย เจสสิกาตระหนักได้ว่าชีวิตมีรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ได้มีแต่ด้านที่เร่งร้อนเหมือนในบ้านเกิดเท่านั้น นั่นทำให้เธอมองโลกในมุมใหม่ 

วิถีชีวิตที่เนิบช้าเช่นนั้นทำให้เธอมีเวลาหยุด และคิดถึงสิ่งที่อยู่รอบตัวอย่างธรรมชาติถ้วนถี่ขึ้นกว่าเดิม

Jessica Lam ครูฮ่องกงผู้ทำให้เด็กเต็มใจสานสัมพันธ์กับธรรมชาติ ผ่านการเรียนและการเล่น

“เราไม่ได้เกลียดชีวิตในฮ่องกงนะ” คุณครูสาวตอบเมื่อเราถามว่า ชอบชีวิตที่ไหนมากกว่ากัน “เพียงแต่ตอนเรียนที่อังกฤษ เรามีโอกาสสัมผัสธรรมชาติมากกว่า ซึ่งในฮ่องกงแทบไม่มีเลย”

“โรงเรียนที่อังกฤษจัดทริปให้นักเรียนออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเรื่องปกติ ออกไปผจญภัย ไปใช้ชีวิตข้างนอก สร้างความสัมพันธ์ในกลุ่มนักเรียนด้วยกันเอง นอนค้างในบ้านพักตากอากาศด้วยกันในพื้นที่แถบชนบท โดยเฉพาะเด็กโรงเรียนประจำ เจออะไรแบบนี้เยอะมาก

“นั่นคือโอกาสที่ทำให้เราได้เข้าใกล้ธรรมชาติ เป็นจุดที่ทำให้เราสนใจ และเข้าใจว่าการได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาตินั้นดีแค่ไหน”

Jessica Lam ครูฮ่องกงผู้ทำให้เด็กเต็มใจสานสัมพันธ์กับธรรมชาติ ผ่านการเรียนและการเล่น

แม้จะเป็นธรรมชาติแบบชนบท ไม่ใช่ธรรมชาติแท้ๆ แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เจสสิกาเติบโตมาพร้อมกับความคิดเรื่องเกี่ยวกับโลก การอนุรักษ์ และการตระหนักรู้ว่าธรรมชาติมีความหมายกับเธอในฐานะมนุษย์อย่างไรบ้าง

นอกจากกิจกรรมนอกห้องเรียนแล้ว การเรียนการสอนในห้องเรียนที่ประเทศอังกฤษได้เติมเต็มความรู้เรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติในเชิงวิทยาศาสตร์ด้วย นั่นเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ผลักดันให้เธอเลือกเดินบนทางสายสิ่งแวดล้อมต่อในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อเติมเต็มทั้งความรักและความสนใจของเธอที่มีต่อโลกรอบตัว

และเป็นก้าวแรกสู่การเป็นคุณครูผู้พยายามผลักดันประเด็นสิ่งแวดล้อมในห้องเรียน

Jessica Lam ครูฮ่องกงผู้ทำให้เด็กเต็มใจสานสัมพันธ์กับธรรมชาติ ผ่านการเรียนและการเล่น

จากนักเรียน สู่ผู้สร้างห้องเรียนเรื่องสิ่งแวดล้อม

เจสสิกาเล่าว่า ระบบการศึกษาของอังกฤษจะสนับสนุนให้เด็กเลือกเรียนสิ่งที่ตัวเองสนใจ ตอนนั้นเธอชื่นชอบวิชาชีววิทยามากเป็นพิเศษ แม้หลังจบเกรด 11 ซึ่งเธอได้ย้ายกลับมาเรียนที่ฮ่องกง เธอก็ยังได้เรียนในโรงเรียนนานาชาติซึ่งเป็นแนวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีก

ปัจจัยทุกอย่างพาให้ตัวเธอเอนไปทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

“ตอนนั้นมองอยู่หลายทางเลือก ชีววิทยา ชีววิทยาทางทะเล วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม แต่สุดท้ายก็รู้ตัวว่าเราอยากสำรวจองค์ความรู้ของประเด็นสิ่งแวดล้อมในภาพรวม เราไม่ได้สนใจแค่ชีววิทยา แต่ยังสนใจการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ เช่น การก่อสร้าง เป็นต้น วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเป็นสาขาที่ตอบโจทย์ความสนใจที่หลากหลายของเราได้” เจสสิกาสะท้อนความสนใจของเธอให้เราฟัง 

Jessica Lam ครูฮ่องกงผู้ทำให้เด็กเต็มใจสานสัมพันธ์กับธรรมชาติ ผ่านการเรียนและการเล่น

ดูเหมือนระบบการศึกษาในอังกฤษจะทำให้เจสสิกาเห็นตัวเองชัดขึ้นมากทีเดียว นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคนที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเธอในช่วงวัยรุ่น เธอบอกว่า เธอยังไม่ได้รู้หรือเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมลึกซึ้งมากนัก แต่มีครูที่เป็นตัวอย่างให้เธอมาตลอดตั้งแต่เรียน เห็นคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ประสบความสำเร็จ เธอจึงอยากเป็นแบบพวกเขาบ้าง 

การเรียนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมตอบโจทย์ความกระหายใคร่รู้ของเธอได้เป็นอย่างดี “มันเป็นสาขาที่กว้างใหญ่ไพศาล” เจสสิกาอธิบาย “เข้าไปแล้วก็ต้องเลือกเรียนในสิ่งที่เราชอบและเจาะลึกลงไป เช่น ถ้าเรียนสายเคมีก็ต้องเรียนเรื่องสารเคมีต่างๆ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมถ้าสารเคมีเหล่านั้นรั่วไหลลงไปปนเปื้อนในทะเล

“เราไม่เก่งเคมี เลยเลือกเรียนด้านการอนุรักษ์และชีววิทยาเป็นหลัก ลงเรียนบางวิชาที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลประทบสิ่งแวดล้อมด้วย ช่วงปิดเทอมก็ไปเรียนรู้เรื่องการทำปุ๋ยหมัก เครื่องหมักปุ๋ยจากเศษอาหารบ้าง ซึ่งเป็นเหมือนส่วนผสมของสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราทำได้ดี และสิ่งที่เราสนใจ” 

ฟังดูแล้วไม่น่าแปลกใจที่สาวคนนี้จะกระโดดออกจากห้องเรียนสายสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัย มาเป็นนักรณรงค์หรือคุณครูที่เล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมในทันที แต่ชีวิตของเธอก็มีทางอ้อมอยู่เล็กน้อยเหมือนกัน

Jessica Lam ครูฮ่องกงผู้ทำให้เด็กเต็มใจสานสัมพันธ์กับธรรมชาติ ผ่านการเรียนและการเล่น
วิธีสอนเรื่องธรรมชาติแบบครูชาวฮ่องกงของโรงเรียน Harrow ซึ่งร่วมโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษาที่ใหญ่สุดในโลก Eco Schools ของ WWF

“งานแรกของเราคือการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในไซต์ก่อสร้างค่ะ เราไม่เคยจินตนาการมาก่อนว่าวันหนึ่งจะมาเป็นครูที่ขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อม เราก็ทำงานแรกนั้นไป เรียนรู้เรื่องกฎระเบียบ กฎหมาย วิธีการทำเอกสารต่างๆ อยู่ระยะหนึ่ง

“มีช่วงหนึ่งเราได้ไปทำงานในสวนสัตว์แห่งหนึ่งในฮ่องกง มีหน้าที่อธิบายให้คนที่มาเที่ยวเข้าใจเรื่องสัตว์ต่างๆ นั่นเป็นครั้งแรกที่เราคิดได้ว่า เราน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ความรู้กับคนทั่วไปว่า ทำไมประเด็นสัตว์และสิ่งแวดล้อมถึงมีความสำคัญ และไม่ควรถูกมองข้าม” 

เมื่อเจสสิการู้ว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้ถ้าได้ทำงานในระบบการศึกษา เธอก็ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทด้านการศึกษา และเริ่มมุ่งเข้าสู่เส้นทางของการเป็นคุณครูในโรงเรียนที่อังกฤษ

เด็ก อนาคต และสิ่งแวดล้อม คือเรื่องเดียวกัน

การศึกษาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เป็นวิชาที่อยู่ในหลักสูตรของอังกฤษอยู่แล้ว คุณครูจากฮ่องกงคนนี้มีหน้าที่เลือกหัวข้อที่คิดว่าเด็กน่าจะสนใจมาสอนเท่านั้น 

“โรงเรียนที่เราสอนตอนนั้นเน้นการทำให้เด็กใกล้ชิดธรรมชาติ เพราะโรงเรียนตั้งอยู่ในเมืองใหญ่อย่างลอนดอน นักเรียนเป็นเด็กเมือง บางคนอาจจะคุ้นเคยกับธรรมชาติ แต่เด็กบางคนไม่กล้าแตะใบไม้ด้วยซ้ำ งานหลักของเราจึงเป็นเรื่องการเปลี่ยนวิธีคิดของเด็ก

“การพาพวกเขาออกไปสัมผัสธรรมชาติ สอนให้เข้าใจโลกที่กว้างขึ้น สอนเรื่องมลพิษ เรื่องชีวิต จึงสำคัญ เพื่อให้เขาคุ้นเคยและเติบโตมาพร้อมความตระหนักรู้ในประเด็นเหล่านี้ ซึ่งในแต่ละประเทศและแต่ละโรงเรียนก็แตกต่างกันออกไป”

วิธีสอนเรื่องธรรมชาติแบบครูชาวฮ่องกงของโรงเรียน Harrow ซึ่งร่วมโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษาที่ใหญ่สุดในโลก Eco Schools ของ WWF

การย้ายที่ทำงานจากอังกฤษมาสู่ประเทศไทย ซึ่งยังไม่มีการเรียนการสอนด้านสิ่งแวดล้อมจริงจังนัก ย่อมเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับเจสสิกา

“ช่วงแรกเราไม่ได้ตั้งใจจะเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนหรอกค่ะ” คุณครูสาวสารภาพ “เราแค่อยากสอนเด็กๆ ให้เติบโตอย่างเข้าใจโลกรอบตัวเท่านั้น

“แต่พอสอนไปสักพัก เราเห็นว่ามีลู่ทางให้ไปมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับแก้ไขหลักสูตร การเรียนการสอน เพื่อให้เด็กๆ เชื่อมโยงเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ากับประเด็นที่เราสอนได้มากขึ้น เด็กที่เราสอนก็ค่อนข้างเป็นเด็กเล็กมาก การสอดแทรกเรื่องพวกนี้ไปกับการเรียนการสอนจึงมีความยืดหยุ่นมากกว่าการสอนเด็กโต ซึ่งเนื้อหาที่เรียนมีกรอบชัดเจนกว่า”

วิธีสอนเรื่องธรรมชาติแบบครูชาวฮ่องกงของโรงเรียน Harrow ซึ่งร่วมโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษาที่ใหญ่สุดในโลก Eco Schools ของ WWF
วิธีสอนเรื่องธรรมชาติแบบครูชาวฮ่องกงของโรงเรียน Harrow ซึ่งร่วมโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษาที่ใหญ่สุดในโลก Eco Schools ของ WWF

โชคดีที่โรงเรียนนานาชาติ Harrow มอบอิสระให้เธอและเหล่าเพื่อนครูได้ริเริ่มการเรียนการสอนและกิจกรรมนอกห้องเรียน เพื่อปลูกฝังความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมให้กับผู้เรียน

แต่ผ่านด่านโรงเรียนหรือระบบมาได้ ก็ยังมีความท้าทายในการชวนเด็กๆ มามีส่วนร่วมกับกิจกรรมอีก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้เด็กเข้าใจเรื่องที่ยากและไกลตัวอย่างปัญหาสิ่งแวดล้อม เราจึงอยากรู้ว่าเธอกับเพื่อนครูทำได้อย่างไร

“กิจกรรมการเรียนการสอนจะแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงชั้นเรียน เด็กโตหน่อยอาจจะได้เรียนเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงจริยธรรมในวิชาธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ มีโอกาสออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน ซึ่งค่อนข้างสอดคล้องกับเนื้อหาในหลักสูตร เพราะพวกเขาต้องเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย” เจสสิกาเริ่มต้นให้ข้อมูล

“ส่วนเด็กเล็กเราพยายามปลูกฝังให้เขามีบทบาทในการเป็นผู้นำมากขึ้น แม้ว่าเด็กเล็กจะไม่เข้าใจเต็มร้อยว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมคืออะไร ส่งผลอะไรกับเขาบ้าง เพราะเขายังเด็กมาก แต่เขาก็ให้ความสนใจเรื่องสัตว์ทะเลและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างเห็นได้ชัด ในระดับโรงเรียน เรามีโครงการอนุรักษ์ปะการังที่ประสบความสำเร็จมากๆ อยู่ด้วย” 

วิธีสอนเรื่องธรรมชาติแบบครูชาวฮ่องกงของโรงเรียน Harrow ซึ่งร่วมโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษาที่ใหญ่สุดในโลก Eco Schools ของ WWF
วิธีสอนเรื่องธรรมชาติแบบครูชาวฮ่องกงของโรงเรียน Harrow ซึ่งร่วมโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษาที่ใหญ่สุดในโลก Eco Schools ของ WWF

ทุกกิจกรรมที่โรงเรียนนานาชาติ Harrow จัดขึ้น เน้นการมีส่วนร่วมตามความสนใจและความสมัครใจของเด็กแต่ละคน เช่น ในกิจกรรม Eco-week เด็กๆ ได้ทดลองทำเสื้อผ้าขึ้นมาจากเศษขยะ หรือ Reuse เสื้อผ้าเก่า แต่งตัวเป็นสัตว์น้ำ และเด็กทุกคนก็ได้ทดสอบทดลองทักษะของตัวเองไปด้วยในตัว

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่เด็กๆ ได้ลองชวนผู้ปกครองมามีส่วนร่วมด้วย เช่น รับประทานอาหารมังสวิรัติด้วยกัน 1 สัปดาห์ หรือแข่งขันลดปริมาณขยะที่สร้างขึ้น มีของรางวัลให้เล็กๆ น้อยๆ เพื่อสร้างแรงกระตุ้น กิจกรรมเหล่านี้จะสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมให้พวกเขา แล้วเขาจะไปเป็นกระบอกเสียงสื่อสารเรื่องนี้ต่อให้คนรอบตัวเขาอีกทอด

วิธีสอนเรื่องธรรมชาติแบบครูชาวฮ่องกงของโรงเรียน Harrow ซึ่งร่วมโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษาที่ใหญ่สุดในโลก Eco Schools ของ WWF
วิธีสอนเรื่องธรรมชาติแบบครูชาวฮ่องกงของโรงเรียน Harrow ซึ่งร่วมโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษาที่ใหญ่สุดในโลก Eco Schools ของ WWF

“นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการทำให้พวกเขารู้สึกว่า ได้ริเริ่มทำอะไรบางอย่างด้วยตัวเองเพื่อสิ่งแวดล้อม มีความรู้สึกเป็นเจ้าของสิ่งที่ทำ และได้เรียนรู้ว่าพวกเขาสนใจเรื่องอะไรไปด้วยในเวลาเดียวกันค่ะ” เจสสิกาอธิบายแนวคิดเบื้องหลังกิจกรรมเหล่าทั้งหมด

“สิ่งสุดท้ายที่เราต้องการคือ การเป็นผู้ใหญ่ที่ชี้นิ้วบอกกับเด็กรุ่นใหม่ว่า เขาต้องหรือไม่ต้องทำอะไร เราอยากมอบแรงบันดาลใจให้เขามากกว่า เมื่อเขามีแนวทาง มีแผนการแล้ว เราค่อยสนับสนุนให้เขาทำสิ่งนั้นเท่าที่จะทำได้” คุณครูสาวชาวฮ่องกงเน้นย้ำถึงพลังของเด็กๆ ว่า พวกเขาคือผู้ชี้ชะตาอนาคต

“เราต้องสอดแทรกเรื่องนี้เข้าไปตั้งแต่ยังเด็ก ถ้าเราเริ่มตั้งแต่อายุน้อย เราจะมีคนรุ่นใหม่อีกรุ่นที่ใส่ใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องปกติของชีวิตของเรา นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมได้ในที่สุด” เจสสิกาสรุปส่งท้าย

เราแอบถามเธอก่อนจะจากกันว่า ภารกิจของคุณครูเจสสิกาเรียกว่าประสบความสำเร็จได้แล้วหรือยัง เธอลังเลเล็กน้อยก่อนจะบอกว่า สถานการณ์โควิด-19 อาจทำให้บางโครงการล่าช้าหรือต้องเลื่อนออกไป แต่ที่ผ่านมา ทั้งห้องเรียนและกิจกรรมต่างๆ ได้เริ่มหว่านเมล็ดแห่งความตระหนักรู้ให้กับเด็กๆ ไปหลายต่อหลายรุ่นแล้ว

อีกไม่นานเมื่อเด็กๆ กลับมาเรียนได้ พวกเขาก็จะได้กลับมาสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมได้อีกครั้ง

 ภาพ : เจสสิกา แลม

Writer

Avatar

เกวลิน ศักดิ์สยามกุล

นักออกแบบ-สื่อสารเพื่อความยั่งยืน ที่อยากเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านชีวิต บทสนทนา และแบรนด์ยาสีฟันเม็ดเล็กๆ ของตัวเอง