นอกจากต้นไม้และหม้อทอดไร้น้ำมัน ก็คงเป็นการลงทุนนี่แหละ ที่มีคนแห่กันเข้าสู่วงการเยอะเป็นประวัติการณ์ในช่วงโควิด-19 ซึ่งเราเห็นกันได้จากปรากฏการณ์จองหุ้น PTTOR และกระแสที่ใครๆ ก็ซื้อ Cryptocurrency (และใจหายใจคว่ำราวกับนั่งรถไฟเหาะ)

การลงทุนในกองทุนรวม เป็นอีกอย่างที่คนสนใจกันเยอะมาก สถานการณ์นี้ช่วยส่งให้ FINNOMENA แพลตฟอร์มซื้อขายกองทุนกลายเป็นที่พูดถึง และเป็นที่รักของนักลงทุนด้วยความรวดเร็ว

ทีแรกผมคิดว่า FINNOMENA คือสื่อที่ทำเนื้อหาด้านการลงทุน เพราะเขาเล่าเรื่องการลงทุนได้สนุกและมีเสน่ห์ ทั้งผ่านตัวหนังสือ เสียง และวิดีโอ ไลฟ์รายวันก็ทำให้เราเห็นว่า ผู้ชมของพวกเขาแน่นหนาและน่ารักมาก

แต่จริงๆ แล้ว FINNOMENA คือสตาร์ทอัพด้านฟินเทค ทีมงานเกือบทั้งหมดในจำนวนร่วม 200 คน เป็นคนสายเทค ไม่ใช่นักลงทุน

ถ้าไม่เคยรู้จัก ผมขอแนะนำ FINNOMENA ด้วยตัวเลขชุดนี้

ตอนนี้มีคนเปิดบัญชีซื้อกองทุนกับ FINNOMENA กว่า 100,000 คน

ถ้านับเป็นจำนวนเงิน รอบครึ่งปีที่ผ่านมา ยอดเงินลงทุนขยับจาก 14,000 ล้านบาท เป็น 32,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 90 เปอร์เซ็นต์

ช่วงโควิด-19 มีคนหลายสาขาอาชีพศึกษาเรื่องการลงทุนจนช่ำชอง แล้วมาทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุนให้กับลูกค้าของ FINNOMENA เกือบ 2,000 คน

รายการ Morning Brief รวมทุกข่าวสารเพื่อการลงทุน และให้คำแนะนำเรื่องกองทุน มียอดผู้ชมราว 20,000 คน เกินหน้ารายการวิเคราะห์การลงทุนของสื่อออนไลน์อื่น บางวันก็มากกว่ารายการข่าวช่องดังด้วยซ้ำ

เนื้อหาของ FINNOMENA ในทุกช่องทางเข้าถึงคนแบบออร์แกนิกเดือนละกว่า 60,000,000 Reach

ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้คือ เจษฎา สุขทิศ CEO แบงค์-ชยนนท์ รักกาญจนันท์ และ กิ๊ก-กสิณ สุธรรมนัส ผู้ร่วมก่อตั้ง

เจษฎารู้ตัวว่าชอบการลงทุนตั้งแต่ ม.ต้น หลังจากนั้นชีวิตเขาก็ไม่เคยวอกแวกไปทางอื่น

เขาเรียนจบปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ แล้วเริ่มทำงานในสายการลงทุนตอนอายุ 20 ปี แล้วเติบโตแบบก้าวกระโดด เขารับตำแหน่งผู้จัดการกองทุนด้วยวัย 23 ปี แล้วก็นั่งเก้าอี้ CIO (Chief Investment Officer) ที่ CIMB-Principal ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของสายอาชีพนี้ตอนอายุ 30 ปี

เจษฎารักการสื่อสารเรื่องการลงทุนมาตั้งแต่วัยหนุ่ม เขาใช้นามปากกา FunTalk เขียนเรื่องการลงทุนผ่านคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ เปิดเว็บไซต์ Fundmanagertalk.com ของตัวเอง พอมีเฟซบุ๊กก็เปิดเพจ ซึ่งช่วงหนึ่งถือเป็นเพจการลงทุนที่มีคนติดตามมากที่สุดในประเทศ

เมื่อ 6 ปีก่อน ตอนอายุ 34 ปี เขาตัดสินใจลาออกมาทำสตาร์ทอัพของตัวเองที่ชื่อ FINNOMENA แปลว่า ปรากฏการณ์ทางการเงิน

วันนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นแบบนั้นจริงๆ

เจษฎา สุขทิศ ผู้ปั้น FINNOMENA สตาร์ทอัพฟินเทคด้วยหัวใจ จนทำยอดได้เกิน 32,000 ล้านบาท

ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขคนซื้อกองทุนผ่าน FINNOMENA เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ตัวเลขนี้บอกอะไรเราบ้าง

ผมทำเรื่องการลงทุนมายี่สิบปีแล้ว ทำอยู่อย่างเดียว เมื่อก่อนคนลงทุนน้อยมาก คนไทยที่มีรายได้มีอยู่สามสิบสามล้านคน ซื้อสลากกินแบ่งฯ ประมาณสิบห้าล้านคน หรือครึ่งหนึ่ง ก่อนโควิดมีพอร์ตลงทุนในหุ้นที่ยังแอคทีฟไม่ถึงล้านคน ซื้อกองทุนรวมล้านกว่าคน คิดเป็นห้าเปอร์เซ็นต์ของผู้มีรายได้ แต่ถ้าอเมริกาคือตัวเลขจะสูงถึงห้าสิบเปอร์เซ็นต์ ส่วนมาเลเซียประมาณยี่สิบห้าเปอร์เซ็นต์

พอเกิดโควิดก็มีการเปลี่ยนผ่านสู่ New Normal สู่ Post-pandemic World ซึ่งเกิดขึ้นในโลกของการลงทุนด้วย Wealth Management กลายเป็นส้มหล่น คนอยู่บ้านเยอะ คนรู้สึกไม่มั่นคง ถ้าโลกเลวร้ายขนาดนี้ ฉันต้องหารายได้เพิ่ม แหล่งรายได้ที่สองก็สำคัญขึ้นมา คนเลยสนใจลงทุนจริงจัง

สุดท้าย แรงกระตุ้นที่อยู่ในยีนของมนุษย์หลักๆ มีสองอย่าง คือความรัก กับ เงิน สถิติอาชญากรรมทั่วโลกอันดับสองคือเรื่องชู้สาว สิ่งที่ทำให้คนฆ่ากันตายมากที่สุดในโลกคือเงิน เงินจึงเป็นสิ่งกระตุ้นที่รุนแรงที่สุดในใจมนุษย์อยู่แล้ว คนอยากรวยก็เสพเนื้อหาเกี่ยวกับการลงทุนเยอะขึ้นมากๆ ผมจัดไลฟ์เมื่อหกปีก่อน คนดูหลักร้อย เดี๋ยวนี้สองหมื่น ด้วยการเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมของโควิด การ Disrupt ต่างๆ และแรงกระตุ้นจากข้างในของคน ทำให้ช่วงนี้คนสนใจลงทุนเยอะมาก

นักลงทุนหน้าใหม่กลุ่มไหนที่คุณสนใจเป็นพิเศษ

เข้ามากันทุกช่วงอายุเลย คนอายุเยอะๆ ก็เพราะกิจการถูกกระทบ เอาเงินมาลงทุนดีกว่า ช่วงสองสามปีที่ผ่านมาราคาหุ้นบริษัทเทคโนโลยีเติบโตมหาศาล ลงทุนแล้วก็ประสบความสำเร็จ พอสำเร็จก็บอกต่อ เลยไหลกันเข้า

กลุ่มที่น่าสนใจคือ น้องๆ รุ่นใหม่ Cryptocurrency ใช้เวลาสั้นมาก ปีสองปีมีนักลงทุนล้านกว่าคนแล้ว เท่ากับที่กองทุนใช้เวลายี่สิบปี เด็กปีสามปีสี่เดี๋ยวนี้มี Crypto Wallet กันหมดแล้ว นี่เป็นอีกกระแส แต่ก็มีกฎหมายน่ารักๆ เกี่ยวกับการลงทุนที่ผมไม่ค่อยเข้าใจ เขาบอกว่าจะซื้อกองทุนรวมได้ต้องอายุยี่สิบปีขึ้นไป เด็กเรียนเรื่องการเงินตั้งแต่มัธยม สุดท้ายก็ต้องเก็บเงินในบัญชีเงินฝาก ดอกเบี้ยศูนย์จุดกว่าๆ เปอร์เซ็นต์ ไปเรื่อยๆ จริงๆ ม.3 ม.4 ควรลงทุนพอร์ตง่ายๆ ได้แล้ว เก็บเงินค่าขนมร้อยบาท ก็ควรลงทุนได้

พอกระแส Cryptocurrency มา ก็ส่งผลบวกไปหาตัวอื่น ทำให้คนอยากลงทุนมากขึ้น ต้นปีที่ผ่านมา PTTOR เปิดให้จองหุ้น เกิดกระแสแบบที่ไม่เคยเกิดมาก่อนในประเทศไทย คือมีจำนวนคนจอง ถ้าผมจำไม่ผิดแปดแสนคน แทบจะเท่าบัญชีหุ้นทั้งประเทศ หลายคนที่จองก็ไม่มีบัญชีหุ้น จองๆ ไปก่อน แล้วค่อยเปิดบัญชีหุ้น พอมีกองทุนอะไรใหม่ๆ คนก็สนใจตามๆ กัน ผมทำกองทุนก็ได้รับกระแสนี้ด้วย น้องๆ หลายคนลงคริปโตฯ แล้วรู้สึกว่ามันเสี่ยงเกินไป ถ้าจะหมดข้ามคืนก็หมดเลย พอกดดูเจอ FINNOMENA มีเนื้อหาลงทุนด้วย ยากดีเว้ย ศึกษากันเถอะ ก็เกิดเป็นกระแสแบบนี้ครับ

ตำแหน่งสุดท้ายของคุณก่อนลาออกมาทำ FINNOMENA คือ CIO ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของสายอาชีพนี้ และเป็นความฝันของคุณมาตลอด อะไรทำให้ยอมทิ้งมาทำสตาร์ทอัพ

ผมเคยคิดว่าจะเกษียณด้วยการเป็น Fund Manager จริงๆ นะ เพราะมันโอเคแล้ว มั่นคง ผมก็ทำมาสิบห้าปี จนเมื่อหกปีก่อน ผมเห็นความเปลี่ยนแปลง สาขาของธนาคารเริ่มปิดตัวลง อีกอย่างคนต่างประเทศถึงกับมาดูงานที่เมืองไทย ว่าทำไมผลิตภัณฑ์การลงทุนถึงขายผ่านสาขาธนาคาร แทนที่จะขายผ่านบริษัทแบบที่ปรึกษาการลงทุน ผมเห็น Mega Trend ที่กำลังเปลี่ยน ผมเชื่อว่าเทรนด์ของการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์การลงทุนจะเปลี่ยนจากสาขาธนาคารไปสู่บริษัทที่ปรึกษา แล้วก็เริ่มเป็นแบบนั้นจริงๆ ช่วงโควิดภาพรวมของอุตสาหกรรมบริหารเงินลงทุนติดลบนะ แต่ธุรกิจของ FINNOMENA โตประมาณหนึ่งเท่าตัว แสดงว่าสิ่งที่เราเชื่อมันเป็นแบบนั้นจริงๆ

คุณชอบอะไรในอาชีพผู้จัดการกองทุน

ข้อดีอย่างหนึ่งคือ เราต้องกำหนดมุมมองต่อธุรกิจตลอดเวลาว่า ธุรกิจไหนจะเป็นขาขึ้น หุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีเกือบพันบริษัท ถ้าผมอยากรู้ว่า ธุรกิจธนาคารเป็นยังไงก็นัด คุณกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ คุยในฐานะนักลงทุนสถาบันได้ อยากรู้ว่าธุรกิจค้าปลีกเป็นยังไง ผมก็นัด คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ คุย ผมทำได้เพราะผมซื้อหุ้นบริษัทเขาทีละมากๆ เป็นหลักร้อยล้าน พันล้าน เวลาผมอยากเจอเขา เขาก็อยากให้เจอ ผมเลยได้คุยกับคนเก่งๆ ระดับประเทศ ได้ฟังความคิดเขา

ผู้บริหารในดวงใจของผมท่านหนึ่งคือ คุณพิทักษ์ รัชกิจประการ เจ้าของปั๊ม PT โอ้โห ฟังทีไรขนลุกทุกที เราก็มีมุมมองว่า Mega Trend คืออะไร เราจะทำ FINNOMENA ด้วยความเชื่อในเทรนด์อะไร ในโอกาสนั้น อะไรคือจุดแข็งของเราที่คนอื่นไม่มี เราจะไปทำสิ่งนั้น ถ้าถามว่า ทำไมถึงกล้า ก็เพราะมั่นใจจากความรู้ จากมุมมองที่เราเชื่อว่าเป็นโมเดลธุรกิจที่แข็งแรง

เจษฎา สุขทิศ ผู้ปั้น FINNOMENA สตาร์ทอัพฟินเทคด้วยหัวใจ จนทำยอดได้เกิน 32,000 ล้านบาท

ขออนุมัติภรรยาลาออกยากไหม

ตอนนั้นอายุสามสิบสี่ ก็คุยกับแฟน ยากนะ ต้นทุนค่าเสียโอกาสมันเยอะไง กว่าจะพาตัวเองขึ้นมาถึงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ด้านการลงทุน เงินเดือนเยอะกว่าตอนนี้อีก มีห้องทำงานมองออกไปเห็นตึกสวยๆ มีคนขับรถ มีเลขาฯ ในขณะที่บ้านก็ต้องผ่อน ลูกอ่อนๆ สามคน ถ้าออกมาคือต้องใช้เงินเก็บตัวเอง โชคดีที่ผมซื้อกองทุนตั้งแต่ยังเด็ก เงินเก็บก็โตหลายเท่าตัวเหมือนกัน ตอนออกมาก็คิดว่าอยู่ได้สักสองสามปี ไม่ถึงกับทำให้ครอบครัวลำบาก ไปคุยกับผู้ใหญ่ในวงการธนาคาร เขาว่าถ้าอยากกลับมาเอางานดีๆ ของโลกมนุษย์เงินเดือน สักสองปียังกลับมาได้ เขายังไม่ลืมเธอหรอก แต่ถ้าเลยสองปีไม่ต้องกลับมาแล้ว ไม่มีคนรู้จักแล้ว

แฟนเห็นหน้าผมแบบอยากมาก เขารู้นิสัยผมไง เวลาผมเจอฉันทะ อิคิไก แพสชัน จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ มันจะเป็นแบบนี้ทุกทีเลย จนช่วงหลังผมสงบลงเยอะ เพราะพาร์ตเนอร์ผมเขาสอนผมทำสมาธิ ผมเป็นคริสต์ แต่ไปบวชมาแล้วนะ ไปอยู่วัด หลวงพ่อปราโมทย์ (ปราโมทย์ ปาโมชฺโช) วิธีคิดก็เปลี่ยนไป เริ่มแก่แล้วด้วยมั้ง ตอนนั้นตื่นเต้นมากๆ แฟนก็เลยให้ทำ

จำวันสุดท้ายที่ทำงานได้ไหม

แรงกระตุ้นอย่างหนึ่งของผมคือหนังสือเรื่อง Dare to do ของ คุณกรณ์ จาติกวณิช เรื่องการเมืองผมไม่ได้อยู่ฝั่งไหนนะ ช่วงทวิตเตอร์มาปีแรก ผมก็ทวีตคุยกับคุณกรณ์ คุณสุทธิชัย หยุ่น ตลอด เราก็ปลื้มนะ รัฐมนตรีคลังมาตอบเราได้ไง ในหนังสือของคุณกรณ์เล่าเรื่องกบห้าตัวที่ตัดสินใจกระโดดลงน้ำเพื่อหาชีวิตแบบใหม่ พอตัดสินใจแล้ว สุดท้ายบนขอนไม้ก็ยังมีกบห้าตัวเหมือนเดิม เพราะไม่ลงมือทำสักที ผมอ่านแล้วก็ เฮ้ย ไม่ได้แล้ว อ่านประวัติของ เมย์ After You (กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ) บอย ท่าพระจันทร์ หมูทอดเจ๊จง ก็ยิ่งฮึกเหิม เอาวะ กูต้องลงมือทำแล้ว กระโดดแม่งเลย

ผมทำงานวันสุดท้าย 15 พฤษภาคม ค.ศ. 2015 วันนั้นคุณกรณ์จัดงานเปิดตัวหนังสือที่โรงแรมดุสิตฯ พอดี พอผมเก็บของใส่กล่อง ถอดหัวโขนแล้ว ผมก็ไปงาน เจอคุณกรณ์ตัวเป็นๆ ครั้งแรก ผมแนะนำตัวว่า ผม FundTalk ที่ทวีตคุยกัน ผมอ่าน Dare to do แล้วลาออกเลย เขาถามว่า ก่อนหน้านี้ทำอะไร ผมบอกว่า เป็น CIO อยู่ที่ CIMB Principal เขาถามว่า แล้วลาออกมาทำไมเนี่ย ก็ผมอ่านหนังสือพี่ กบมันต้องกระโดดลงน้ำไม่ใช่เหรอ คุณกรณ์บอก ชิบหายแล้ว ถ้าไปแล้วไม่รุ่งไม่เกี่ยวกับพี่นะ (หัวเราะ) ผมคิดในใจว่า อ้าว กูลาออกมาแล้วนะเว้ย (หัวเราะ)

สรุปคือ แรงกระตุ้นที่ทำให้ผมทำ FINNOMENA คือ หนังสือเล่มหนึ่ง บวกมุมมอง และความเป็นมนุษย์ที่ขับเคลื่อนด้วยแพสชัน ก็จับพลัดจับผลูมาครับ

พอถอดหัวโขน ทิ้งเงินเดือนเยอะๆ แล้ว ชีวิตเป็นยังไงบ้าง

ผู้จัดการกองทุนดูเป็นอาชีพที่หรูหรา แต่ผมเชื่อว่า มันคือหัวโขนทั้งนั้น มนุษย์เราก็มีสองแขน สองขาเหมือนกันหมด ก่อนลาออก ผมดูแลเงินแสนล้าน ซึ่งไม่ใช่เงินผม เป็นเงินนักลงทุน เอาเงินคนโน้นคนนี้มารวมกัน เลยเป็นกองทุนรวม แล้วผมก็บริหาร พอดูแลเงินเยอะๆ ธนาคารต่างประเทศอย่างโกลด์แมนแซคส์ (Goldman Sachs) หรือเมอร์ริล ลินช์ (Merrill Lynch) ก็เข้ามาหาเรา ตอนผมเป็น CIO ผมเคยกินอาหารอย่างดี บิลออกมาทั้งโต๊ะมื้อละแสน ซึ่งผมไม่ได้จ่ายนะ

ตอนมาทำ FINNOMENA ใหม่ๆ ออฟฟิศอยู่ตรงข้ามสีลมคอมเพล็กซ์ จำได้เลยว่าเวลานั้นต้องประหยัด เงินเดือนตัวเองหมื่นห้า เราต้องเขียมไว้ ปกติเรากินข้าวแกงมื้อละสี่สิบบาท หรูสุดก็ฮะจิบังชามละร้อย มีวันหนึ่ง ตอนเย็นก่อนจัดไลฟ์ ผมข้ามถนนมากับพี่แบงค์ คู่หูของผม เหนื่อยจังเลยว่ะ หาอะไรดีๆ กินหน่อยไหม เรายืนดูโปรโมชันหน้าร้านหมูเกาหลี 359 บาท แล้วก็คุยกันนานมากว่าแพงไปไหมวะ เป็นภาพที่ผมจำได้แม่นเลย

ทำไมคุณถึงทำแต่กองทุน

ผมเปรียบแบบนี้ ถ้าเป็นคริปโตฯ คือน้ำเดือด หุ้นเป็นน้ำร้อน กองทุนเป็นน้ำอุ่น ฝากแบงค์เป็นน้ำเย็น ผมเคยอยู่มาหลายอุณหภูมิแล้ว ผมเลือกที่จะอยู่น้ำอุ่น ไม่อยากไปเล่นกับความโลภของคนมากเกินไป มันน่าเบื่อ ถ้าอยู่น้ำร้อน วิธีทำคอนเทนต์จะเป็นอีกแบบเลย ซื้อหุ้นตัวนี้เดี๋ยวจะขึ้น เดี๋ยวจะรวย ได้ห้าสิบเปอร์เซ็นต์ในสามเดือน มันมีวิธีพูดแบบนี้ ส่วนใหญ่วัยรุ่นชอบน้ำเดือดๆ แต่ก็ต้องมีที่สำหรับน้ำอุ่นแบบที่อยู่แล้วพอดีๆ

ตอนผมอายุยี่สิบกับสี่สิบก็มีวิธีคิดที่เปลี่ยนไปเยอะ ผมเลือกน้ำอุ่น ลงเงินไปแล้ว อยากตื่นเช้ามาไม่ต้องทนฟังคนด่าเยอะๆ (หัวเราะ) หวังผลตอบแทนปีละแปดเปอร์เซ็นต์ สิบเปอร์เซ็นต์ สิบปีเงินขึ้นเท่าตัว ไม่ใช่เดือนหนึ่งเงินขึ้นเท่าตัว มันคนละเกมกัน อย่าลืมว่าทำธุรกิจแบบนี้ต้องรับผิดชอบเงินของคนเยอะมากๆ แล้วยิ่งเขาเชื่อเรา มันอาจจะเป็นเงินเก็บทั้งหมดของเขา ผมเลือกที่จะไม่ให้ผลตอบแทนเยอะเกินไป ไม่เสี่ยงเกินไป กองทุนเป็นแบบนั้น กองทุนมีขนาดห้าหกล้านล้านบาท ถือว่าใหญ่ประมาณหนึ่งในสามของฐานเงินฝากของประเทศเลยนะ ใหญ่มาก

เจษฎา สุขทิศ ผู้ปั้น FINNOMENA สตาร์ทอัพฟินเทคด้วยหัวใจ จนทำยอดได้เกิน 32,000 ล้านบาท

อดีตนายกสมาคมฟินเทคประเทศไทยรุ่นแรกอย่างคุณ วางแผนการทำฟินเทคของตัวเองแบบไหน

ผมได้เจอผู้ประกอบการเยอะ ทั้งรุ่นผม รุ่นใหม่ หลายคนมีฝันแต่ไม่เคลียร์ คิดว่าเราจะทำอะไรก็ได้ แต่ชีวิตจริงไม่ได้สวยหรูแบบนั้น หลายคนมีไอดอลเป็น มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) เป็น สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) เป็น เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) เลยมีแนวคิดแบบ Change The World เยอะมาก แต่ตอนนี้ซาลงแล้วนะ แนวคิดแบบนี้ถ้าจะทำให้สำเร็จต้องมีเส้นทางเดินที่ชัดเจน แล้วมีสิ่งที่เรียกว่า Unfair Advantage จริงๆ

ถ้าเป็นศัพท์ของ ไมเคิล พอร์เตอร์ (Michael Porter) โปรเฟสเซอร์ฮาร์วาร์ดที่รัฐบาลไทยเคยจ้างมาพูดชั่วโมงละล้าน เขาใช้คำว่า Durable Comparative Advantage ไม่ใช่ว่าทำอะไรก็ได้บนโลกใบนี้ ถ้ามีโอกาสสูงที่เราทำได้ดีกว่าคนอื่นค่อยทำ นี่เป็นสิ่งที่ต้องเติมเข้าไปในจิตวิญญาณของผู้ประกอบการรุ่นใหม่เลยครับ

อะไรทำให้บริษัทที่ไม่มีใครรู้จัก ขายสินค้าที่น่าเชื่อถืออย่างกองทุนแข่งกับธนาคารได้

พฤติกรรมการรับคุณค่า (Value) ของคนเปลี่ยนไป เมื่อก่อนเวลาคนจะใช้บริการ Wealth Managemnet เขาคาดหวังสิทธิพิเศษ ได้สมาชิกฟิตเนสฟรี ได้ส่วนลด แต่ตอนนี้เริ่มเห็นคุณค่าของสิ่งที่ผมขอเรียกว่า Value Creation Content มากขึ้น

ในช่วงโควิดนี้ผมพยายามปรับ Work-life Balance ของชีวิต สิ่งหนึ่งที่ผมทำคือ อยากมีเวลาเล่นกับลูกสามคน ผมเลยหัดเล่นเกม ปกติผมไม่เล่นเลยนะ พอเล่นแล้วก็ติด ก็ดูสตรีมเกม เมื่อก่อนผมคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระมาก ใครจะมานั่งดูเกมเมอร์สตรีมเกมวะ แต่พอผมเล่นเกมสแลมดังก์ต้องฝึกทำท่าโน้นท่านี้ มันต้องไปดูเกมเมอร์เก่งๆ ทำ พอดูไปเยอะๆ ผมก็เริ่มเติมตังค์ในเกม แบบไม่ไหวแล้ว ผมต้องเก่งกว่านี้จะได้ชนะลูกได้ การเติมตังค์เนี่ยเติมผ่านแอปฯ อะไรก็ได้ แต่ผมเลือกซื้อคูปองผ่าน Boysick Channel เพราะผมดูเขาไปสิบกว่าชั่วโมง จนเป็นแฟนคลับเขา ผมได้ Value Creation Content จาก Boysick ผมมีทางเลือกระหว่างจ่ายเงินเติมเกมให้ Google กับลำบากหน่อยไปซื้อโค้ดโอนเงินผ่านแอปฯ ธนาคาร แต่ผมยอมลำบากเพื่ออุดหนุน Boysick

FINNOMENA ทำแบบนั้น เราทำเนื้อหาด้วยวิธีคิดที่ต่าง ทำเนื้อหาที่ให้คุณค่ากับคน หวังว่าคุณค่าที่ให้ไปคนจะรู้สึกซาบซึ้ง ถ้าเขารู้ว่า FINNOMENA ทำอะไรที่เกี่ยวข้อง เขาจะมาอุดหนุนเราเอง

เจษฎา สุขทิศ ผู้ปั้น FINNOMENA สตาร์ทอัพฟินเทคด้วยหัวใจ จนทำยอดได้เกิน 32,000 ล้านบาท

อะไรทำให้ยอดชมรายการ Morning Brief ของคุณแซงหน้าทุกสื่อธุรกิจ บางวันแซงรายการข่าวดังๆ ด้วยซ้ำ

ต้องให้เครดิตพี่แบงค์ เป็นคนที่บ้าการทำเนื้อหามากๆ ผมว่าเหตุผลหนึ่งคือ ค่ายอื่นเขาอาจจะมีธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นสปอนเซอร์ให้ทุกเดือน ก็มีเนื้อหาของธนาคารนั้นมาเต็มเลย ไปเชิญคนของธนาคารนั้นมาขายของ แต่ FINNOMENA ไม่ได้คิดกับเนื้อหาแบบนั้น เราคิดว่าจะทำเนื้อหายังไงให้คนชอบที่สุด เวลาไลฟ์ผมก็จะขำๆ ให้ลูกเตรียมมุกให้บ้าง เนื้อหาการเงินก็ฟังยากอยู่แล้ว ทำยังไงให้สนุก พอคนให้ค่ากับเนื้อหา ผสมกับ Mega Trend และช่องทางการจัดจำหน่ายที่เปลี่ยนไป บวกกับโมเดลการทำธุรกิจของเรา ก็เป็นโอกาสให้ FINNOMENA เติบโตขึ้นมาได้

อะไรทำให้คนเชื่อใจ FINNOMENA จนคนเอาเงินมาลงทุนด้วยสามหมื่นกว่าล้านบาท

หนึ่ง เราเป็นมิตรกับทุก บลจ. เพราะเราช่วยเอากองทุนเขามาขาย พอเรามีขนาดใหญ่ประมาณหนึ่งเขาก็แฮปปี้กับเรา แล้วเราก็ไม่ได้เป็น บลจ. หรือคู่แข่งเขาด้วย

สอง เราเป็นกลาง ตอนผมอยู่ บลจ. ที่มีบริษัทแม่เป็นแบงก์ ก็มีทำสื่อบ้าง เวลาเขียนก็ต้องเชียร์แบงก์ตัวเอง จะบอกว่ากองทุนของคู่แข่งดีก็ไม่ได้ แต่พออยู่ FINNOMENA ผมแนะนำได้ทุกที่

อีกเรื่อง เป็นเรื่องง่ายๆ ที่มีความหมายจริงๆ นะ ตอนอยู่ในโลกเก่าของผม ผมแนะนำให้คนขายออกไม่ค่อยได้ ถ้าคนขายกองทุนออกกันหมด เดี๋ยวกองทุนปิด พอเราเป็นกลาง หลักในการแนะนำการลงทุนของเรามีข้อเดียวคือ เลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับนักลงทุน ไม่ต้องสนใจเป้า กล้าแนะนำให้ขาย ไม่กลัวกองทุนมีปัญหา นักลงทุนที่อยู่กับเรานานๆ จะรู้ว่า ที่นี่มันตั้งใจเลือกจริงเว้ย พอบอกให้ขาย มันก็เอาจริงเว้ย

ตอนประกาศให้นักลงทุนเทขาย ผู้จัดการกองทุนเขาไม่โทรมาด่าคุณเหรอ

เวลา FINNOMENA เข้าไปลงทุนในกองทุน ถ้ากองแม่เขามีหมื่นล้าน ผมจะเข้าไม่เกินสามพันล้าน เวลาแนะนำให้ขาย ผมให้ขายหมดนะ ขายจนซีอีโอ บลจ. โทรมาบอกว่าใจเย็นๆ นะ ผมก็บอกว่า พี่ ผมเช็กแล้ว ผมขายไม่กระทบพี่นะ ตอนนี้ลูกค้าผมกำไรเยอะแล้ว ขอเอาเงินออกก่อน เดี๋ยวผมกลับเข้ามาใหม่นะพี่ เขาก็โอเค พี่พวกนี้เจ้านายเก่าผมทั้งนั้นเลย

เวลาเจอคนที่อยากลงทุนแต่ไม่อยากหาข้อมูล ให้บอกมาเลยว่าให้ซื้ออะไร คุณจะตอบเขายังไง

การลงทุนเป็นความสัมพันธ์ของ ความรู้ กับ ผลตอบแทน ยิ่งคุณรู้ลึก รู้จริงมากเท่าไหร่ ก็จะให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น เวลาคนถามว่าซื้ออะไรดี ผมก็บอกได้นะ แต่สุดท้ายคุณก็จะเฟล ถ้ายังลงทุนโดยการฟังว่าซื้ออะไรดี ผมอยากให้คุณลงทุนด้วยการเข้าไปรู้จริงๆ ว่ามันคืออะไร ผมลงทุนก็ไม่ใช่ว่า ไม่ขาดทุนนะ ขาดทุนเป็นปกติ แต่ผมรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่

กลไกในการประคับประคองต่อเงินลงทุนของเราจะเปลี่ยนแปลงไป เมื่อระดับความรู้ของเราเพิ่มขึ้น ผมถึงเคี่ยวเข็ญคนที่มาดูไลฟ์แบบเข้มมาก ใครดูวันจันทร์กับพฤหัสนี่มึนตึ้บแน่นอน เพราะมันยากมาก ผมยังบอกทีมงานเลยว่ายากไปไหมวะ เอาขนาดนี้เลยเหรอ พอถามคนดูว่ายากไปไหม คนก็พิมพ์มาว่า เดี๋ยวไปดูซ้ำ ขอสไลด์ด้วย จนกลายเป็นนักเรียนกันหมด มุมหนึ่งก็ภูมิใจนะ มนุษย์เราก็อยากมีประโยชน์ ใจเราจะฟูๆ เวลาทำสไลด์ยากๆ แล้วคนบ่น อยากให้อธิบายใหม่ ผมจะรู้สึกว่าเรามีประโยชน์

ชายหนุ่มผู้ทิ้งความมั่นคงไปทำสิ่งที่เขาเชื่อว่าจะเปลี่ยนโลกการลงทุน จนเกิด FINNOMENA แพลตฟอร์มการลงทุนที่มีคนใช้บริการกว่าแสนคน

เวลา FINNOMENA ส่งสัญญาณ Tactical Call ให้เข้าลงทุนในกองไหนสักกองเพื่อเก็งกำไร มีเงินเข้ามาสักเท่าไหร่

ประมาณพันล้านบาท

แค่เด้งข้อความกับเขียนบทความสั้นๆ ก็มีเงินเข้ามาพันล้านบาทภายในไม่กี่ชั่วโมง แสดงว่ามุมมองของ FINNOMENA มีอิทธิพลต่อนักลงทุนมากเลยนะ

ตอนตั้ง FINNOMENA ใหม่ๆ ผมคุยกับพี่แบงค์ ผมขอเล่าประวัติพี่แบงค์หน่อยนะ เราอยู่ในวงการเดียวกันมาสิบห้าปี เขาอายุมากกว่าผมหกเดือน แต่ผมเรียกเขาว่าพี่ด้วยความเคารพ เมื่อก่อนเขาใช้ชื่อ Mr.Messenger อยู่ในห้องสินธรที่ Pantip ผมเป็นแฟนคลับเขา ผมชอบเขียนมาตั้งแต่ยังไม่มีบล็อก ไม่มีเฟซบุ๊ก ผมเขียนลงหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ กรุงเทพธุรกิจ พี่แบงค์เขียน Pantip ผมสร้างเฟซบุ๊กเพจให้พี่แบงค์ เพราะเฮียแกโลว์เทคเหลือเกิน ผมบอกว่าสร้างเพจชื่อ Sinthorn ให้แล้ว ลองหัดใช้ แล้วเอาไปทำต่อ ทำทวิตเตอร์ให้เขาด้วยนะ แป๊บเดียวเอง ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊กของเขามีคนตามมากว่าผมประมาณห้าเท่า เขาเกิดมาเพื่อเป็นนักเขียน เมื่อกี้เราคุยถึงไหนนะ

Tactical Call

ผมเคยคุยกับพี่แบงค์เมื่อหกปีที่แล้วว่า ถ้าเรากำหนดมุมมองไปเรื่อยๆ ตั้งใจทำให้ดี แล้ววันหนึ่งไลฟ์เราคนสนใจทั้งวงการ คนแห่ลงทุนตามที่เราแนะนำ มันคงฟินพิลึกนะ ตอนนี้มันชักจะเริ่มมีผลแล้วนะ ผมได้ยินว่า พวก RM (Relationship Manager) ตามธนาคารที่มีกันเป็นร้อยๆ พันๆ คน เขาดู Morning Brief กันหมด ตามดูไลฟ์ของเราตลอด หน่วยวิเคราะห์ของธนาคารก็ดู

คุณพูดอยู่เสมอว่า รายได้ของ FINNOMENA ไม่ได้เก็บจากผู้ลงทุน แต่ได้เปอร์เซ็นต์จาก บลจ.

ใช่ครับ เป็นรายได้ทั้งหมดเลย เพระว่าผมไม่ได้ชาร์ตจากลูกค้า

ถามจริงๆ เนื้อหาที่คุณแนะนำกองทุนต่างๆ ทั้งบทความและในรายการ ไม่มี Advertorial ที่ บลจ. มาจ่ายเงินจ้างให้เชียร์เลยหรือ

ก่อนหน้านี้ไม่มีเลย เป็นศูนย์ครับ แต่หลังๆ เราลองทำแบบนี้ พฤติกรรมการเสพข้อมูลของคน เขาไม่ได้อยากฟัง FINNOMENA อย่างเดียว เขาอยากฟัง Branded Content ด้วย แล้วก็เริ่มมี บลจ. ติดต่อมาว่าอยากแนะนำกองทุนนี้ พร้อมจะจ่ายเงินให้ ก่อนหน้านี้ผมไม่รับเลย แต่ตอนหลังผมรับ แต่ต้องลงเนื้อหาในนามแบรนด์นะ เช่น ผู้เขียนคือ บลจ. A ไม่ใช่ FINNOMENA ผมเป็นสื่อให้ เป็นผู้ดำเนินรายการให้ คุณเอาผู้เชี่ยวชาญมาพูดในนาม บลจ. ซึ่งผมจะไม่เชียร์ ถ้ามีคนถามว่า กองที่เขียนถึงในเว็บ คุณชอบหรือเปล่า ผมก็จะพูดตรงๆ ว่า ผมไม่ได้ชอบหรือชอบ นี่คือข้อตกลงกับทุก บลจ. ผมขอมีอิสระในการคอมเมนต์

ชายหนุ่มผู้ทิ้งความมั่นคงไปทำสิ่งที่เขาเชื่อว่าจะเปลี่ยนโลกการลงทุน จนเกิด FINNOMENA แพลตฟอร์มการลงทุนที่มีคนใช้บริการกว่าแสนคน

ตอนนี้คุณทำงานในบทบาทไหนเยอะสุด ผู้บริหาร ผู้จัดการกองทุน หรือสื่อมวลชน

น่าจะเป็นเหมือนที่ปรึกษา เป็นโค้ชให้ทีมงานครับ ตอนนี้ขยายทีมกว่าสองร้อยคนแล้ว ตอนเป็นพนักงานประจำ ผมต้องบริหารคนสักสามสิบคน เป็นสายเดียวกันคือ ผู้จัดการกองทุน นักวิเคราะห์การลงทุน แต่ปัจจุบันค่อนข้างท้าทายกว่า หลักคิดของผมคือ ให้ความสำคัญกับทีมงานอันดับหนึ่ง ลูกค้าอันดับสอง แล้วค่อยผู้ถือหุ้นอันดับสาม ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงเป็นผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่ง เพราะผู้ถือหุ้นปลดเราได้

ตอนนี้ทีมงานอันดับหนึ่ง เพราะถ้าทีมทำงานด้วยความรัก จะทุ่มเทร้อยเปอร์เซ็นต์ สุดท้ายคุณค่าก็จะไปถึงลูกค้าหรือนักลงทุน พอลูกค้าแฮปปี้ ก็ซื้อเราเยอะ บริษัทก็รายได้ดี กำไรดี ผู้ถือหุ้นก็แฮปปี้ เป็นทอดๆ เราทำงานกับคนหลายกลุ่ม ต้องจัดลำดับให้ดีๆ

แต่ส่วนตัวลึกๆ ผมก็ยังชอบทำงานแบบนักวิเคราะห์มากกว่า ผมเขียนบทความหรือจัดพอร์ตการลงทุนให้ลูกค้าได้ทั้งวัน สนุกกว่าเยอะ แต่โดยบทบาทตอนนี้ต้องทำงานบริหารเป็นโค้ช เป็นที่ปรึกษา คงต้องเป็นแบบนี้อีกพักใหญ่

ดูแลลูกทีมที่เป็นคนสายเทคยากไหม

คนรุ่นใหม่ซึ่งเก่งกว่าเรามากๆ เขาต้องการความเป็นเจ้าของ ต้องการเป้าหมาย แต่ไม่ต้องการให้บอกว่าทำยังไง วิธีการเขาจะไปโซโล่เอง คนรุ่นใหม่ไม่ชอบกลไกการ Approve ผมไม่มีการ Approve แต่ตกลงกันว่า แต่ละส่วน แต่ละทีม แต่ละโปรเจกต์ กติกาคืออะไร เป้าหมายคืออะไร กรอบที่เขาไปได้สุดแค่นี้นะ ถ้ายังอยู่ใน Sandbox นี้ลุยไปเลย แต่ถ้าเลยจุดนี้ไป ต้องมาคุยกัน มันจะไม่ได้อย่างที่เราถูกใจทั้งหมด แต่ถ้าจัดการดีๆ มันจะอะเมซิ่งมาก หลายอย่างที่เกิดที่ FINNOMENA วันนี้ ไม่ได้มาจากไอเดียผม บางอย่างผมก็ไม่เห็นด้วย แต่ถ้าเราเลือกทางนี้แล้ว ก็ต้องปล่อยให้เป็นไป แรกๆ ก็ทุกข์หน่อย ดูไม่ได้ดั่งใจเลย สักพักก็ดีเหมือนกันนะ

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าดูข้อมูลบริษัทต่างๆ ดูราคาหุ้นได้ทั้งวันทั้งคืน มันสนุกตรงไหน

ผมชอบอ่านข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทว่า เจ็ดร้อยบริษัทตอนนี้เขาทำอะไรอยู่ ขยายธุรกิจยังไง เหมือนคนโรคจิตนิดๆ คือ เวลาดูบริษัทประกาศงบการเงิน เหมือนลุ้นหวย ผมมีในใจว่าบริษัทนี้ต้องกำไรดีแน่ๆ เพราะกำลังทำสิ่งนี้อยู่ มั่นใจว่าต้องดีกว่าที่ตลาดคาด พอออกมาดีกว่าจริงๆ ฟินว่ะ อะไรแบบนี้

ทำไมคุณถึงชอบเล่าเรื่องการลงทุน

มันเป็นการเติมเต็มตัวเอง เขียนแล้วรู้สึกมีประโยชน์ รู้สึกได้รับการยอมรับตามทฤษฎี Maslow ผมอินกับอาชีพผู้จัดการกองทุนมาก FundTalk มาจาก Fund Manager Talk ผมมีเว็บไซต์ fundmanagertalk.com วันนี้ก็ยังอยู่นะ เป็นเว็บไซต์ยุคแรกๆ เลย ช่วงหนึ่งเฟซบุ๊กเพจของผมมียอดคนตามและ Engagement สูงที่สุดในหมวดการเงินการลงทุน แต่พอมีคนทำเยอะๆ ก็แซงผมไปกันหมดแล้ว (หัวเราะ) 

ยุคหนึ่ง Fund Manager เป็นอาชีพที่หลายคนใฝ่ฝันอยากเป็น พื้นฐานมาจากตรงนั้น Fund Manager ก็เลยมา Talk ผมว่าตัวเองมีทักษะเล่าเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่าย เขียนเรื่องยากๆ ให้อ่านรู้เรื่อง พอทำแล้วก็ได้โปรโมตอาชีพตัวเอง ได้เติมเต็ม ง่ายๆ ก็คือ อยากให้คนรู้จัก แต่พอมองย้อนกลับไป การเขียนของผมมีผลต่ออาชีพ ต่ออะไรหลายๆ อย่างของเรา พาเราไปเจอคนเยอะมากๆ

ชายหนุ่มผู้ทิ้งความมั่นคงไปทำสิ่งที่เขาเชื่อว่าจะเปลี่ยนโลกการลงทุน จนเกิด FINNOMENA แพลตฟอร์มการลงทุนที่มีคนใช้บริการกว่าแสนคน
ชายหนุ่มผู้ทิ้งความมั่นคงไปทำสิ่งที่เขาเชื่อว่าจะเปลี่ยนโลกการลงทุน จนเกิด FINNOMENA แพลตฟอร์มการลงทุนที่มีคนใช้บริการกว่าแสนคน

คุณเติบโตในเส้นทางสายอาชีพเร็วมาก เคยได้รางวัลนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งจากธรรมศาสตร์ แล้วก็ขึ้นถึงตำแหน่งสูงสุดของสายผู้จัดการกองทุนตอนอายุ 30 นิดๆ อะไรทำให้คุณโตเร็วขนาดนี้

ผมชอบงาน Fund Manager มาก พอชอบเราก็เปลี่ยนความชอบเป็นความเชี่ยวชาญ เพราะเราทำไปได้เรื่อยๆ ผมอ่านข้อมูลการลงทุนเหมือนอ่านนิยาย ผมอยู่กับมันได้ทั้งวัน แล้วแรงเราก็เยอะเลยทำงานที่ถีบตัวเองได้ไว ผมเริ่มทำงานตอนอายุยี่สิบ ทำงานถึงสี่ทุ่มทุกวัน แล้วก็เรียนปริญญาโทไปด้วย สอบ CFA (Chartered Financial Analyst) ไปด้วย หนึ่งเลเวลต้องอ่านหนังสือแปดเล่ม ผมทำทุกอย่างพร้อมกัน ถ้าถามว่าอะไรทำให้โตเร็ว ก็เพราะผมมีเป้าหมายที่ชัดมาก นั่นคือความโชคดีอันดับหนึ่ง แล้วก็น่าจะเป็นคนที่กิเลสหนามาก อยากได้ อยากมี อยากเป็น ทะเยอทะยานสูง ก็เลยทำทุกอย่างเหมือนกินเอ็มร้อยห้าสิบตลอดเวลา ผมไม่ใช่คนเรียนเก่งนะ จบปริญญาตรีเกรด 2.9 พอเป้าหมายชัด มีแรงฮึด อึดดี ก็เลยพุ่งๆๆ ชนเป้าหมายอย่างเดียว

การไปถึงเป้าหมายเร็ว มีข้อเสียไหม

นั่นคือจุดที่ผมเสียใจ ผมทำงานมาครบยี่สิบปีพอดี พอมองย้อนกลับไป ผมคงย้อนกลับไปเรียน ม.ปลาย สักสามปี ไม่ต้องรีบไขว่คว้าอะไรเร็วขนาดนี้ ตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมาผมแลกอะไรไปเยอะเหมือนกัน ไม่มีอะไรที่เราได้มาฟรีๆ ตอนยี่สิบลุยแหลก จนถึงวันนี้ผมยังไม่เคยหยุดเลยนะ ถ้าผมลาออกจากงานทีนึงวันศุกร์ ผมเริ่มที่ใหม่วันจันทร์เลย ไม่เคยหยุด ไม่เคยปิดเทอม

ถ้าโทรหาตัวเองสมัยเรียนมหาวิทยาลัยได้นาทีนึงอยากบอกอะไร

กินเหล้าให้น้อยๆ หน่อย เดี๋ยวแก่แล้วไม่มีแรง ตอนเด็กๆ ผมเที่ยวหนักมาก ออกไปเที่ยวสองทุ่ม กลับถึงหอที่ธรรมศาสตร์รังสิตตีห้า หลับในห้องเรียนทุกวัน แล้วก็อยากจะบอกตัวเองตอนทำงานใหม่ๆ ว่า การที่เรามีแรงขับแบบนั้น ทำงานหักโหมแบบนั้น มันต้องแลกด้วยอะไรหลายๆ ในชีวิตนะ ช่วงที่ผมถีบตัวเองจัดๆ เพื่อนที่คบกันมาสมัยเด็กๆ ผมไม่คุยเลยนะ เหมือนเราไปเจออะไรบางอย่างที่อยากทำ เราก็สลัดทุกอย่างออกหมด ไม่มีเวลาให้ใครเลย เราอินของเราอยู่คนเดียว เพื่อนๆ เรียกผมว่า เจ็ทเดี๋ยวโทรกลับ ซึ่งผมก็ไม่เคยโทรกลับเลยด้วย ใครชวนไปไหนก็เดี๋ยวโทรกลับ แล้วหายไปเลย เพื่อนๆ ก็ค่อยๆ เลิกคบไปเยอะเหมือนกัน

มาถึงวันนี้ก็เสียดายนะ เรียน ม.ปลาย ก็เรียนแค่สองปีจบ มันไม่ต้องรีบขนาดนั้นก็ได้ อายุยี่สิบก็เริ่มทำงานแล้ว รีบจังเลย ปกติเขาเป็น Fund Manager กันตอนอายุสามสิบ ผมยี่สิบสามก็เป็นแล้ว การได้เป็นเร็วมันตอบสนองความทะเยอทะยานของตัวเอง แต่บางครั้งการได้เป็น ได้มี ในสิ่งที่อยาก ก็ไม่ได้สนุกขนาดนั้น

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน