ป้าเจี๊ยบ-นงลักษณ์ ชัยฤทธิไชย คือนักกีฬาลองบอร์ดดาวน์ฮิลล์ทีมชาติไทยวัย 63 ปี

เธอเป็นคนสนุกกับชีวิต ใช้ชีวิตในแบบที่เห็นตรงหน้า และปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติโดยไม่ต้องเข้มงวดกับแบบแผนอะไร

ป้าเจี๊ยบ นงลักษณ์ ชัยฤทธิไชย นักกีฬาทีมชาติวัย 63 ปีที่มีกีฬา Longboard มาทำให้ชีวิตวัยเกษียณสนุกขึ้น

ในขณะเดียวกันก็รู้ว่าความไม่แน่นอนคือสิ่งที่แน่นอนที่สุดในชีวิต

หมอวินิจฉัยว่าเธอเป็นโรคมะเร็งเต้านมเมื่อหลายปีก่อน 

ป้าเจี๊ยบพยายามใช้ชีวิตเหมือนเดิมให้ได้มากที่สุด ปรับเปลี่ยนแค่บางเรื่องอย่างการพักผ่อนและมื้ออาหาร จนหายดี

อาการป่วยสอนให้เธอรู้จักการมีชีวิตมากขึ้น

และได้หัดเล่นลองบอร์ดเป็นครั้งแรก

เธอเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อเล่นลองบอร์ดกับกลุ่มคนที่ชอบกีฬาชนิดนี้เหมือนกัน มีทั้งเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ แต่ไม่มีใครอายุเกินเธอเลยสักคน

จนได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่ประเทศฟิลิปปินส์เมื่อปีกลาย

ป้าเจี๊ยบ นงลักษณ์ ชัยฤทธิไชย นักกีฬาทีมชาติวัย 63 ปีที่มีกีฬา Longboard มาทำให้ชีวิตวัยเกษียณสนุกขึ้น

นั่นคือเรื่องราวชีวิตฉบับย่อของป้าเจี๊ยบที่มีลูกชาย ดี้-โสธีระ ชัยฤทธิไชย เล่าให้ฟังร่วมกันในบ่ายวันนั้นที่บ้านของพวกเขา ชั้นล่างแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ WooferLab Studio Bangkok สตูดิโออัดเพลงของดี้ และ Zazu Longboards Bar ร้านขายลองบอร์ดที่มีคนแวะเวียนเข้ามาเรื่อยๆ

ส่วนเรื่องฉบับเต็มคือบทสัมภาษณ์ความคิดด้านล่าง ที่จะทำให้คุณเข้าใจว่าทำไมผู้หญิงที่เคยป่วยเป็นโรคมะเร็งวัยเลข 6 คนนี้ตัดสินใจเล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีมที่แม้แต่คนอายุ 30 ก็ยังคิดแล้วคิดอีกว่าจะเล่นดีหรือไม่

ก่อนจะมาเล่นลองบอร์ด คุณทำงานมาหลายอาชีพมาก

ป้าเจี๊ยบ : เคยทำงานโรงแรม แล้วออกมาทำทัวร์ตั้งแต่สมัยยุคไฟแรง สักยี่สิบสามสิบปีที่แล้ว หลังจากนั้นก็ทำไปเรื่อย ย้ายไปอยู่ปากช่องเพื่อทำโรงงานซักผ้า เลี้ยงลูก บริการลูก พาไปนู่นไปนี่ เคยทำรังนกขาย ใส่ถุงไปขายตลาดกลางคืน มีทำเม็ดมะม่วงหิมพานต์หลายสูตร พาลูกทำ ลูกก็ชอบ ไม่ได้อายที่ต้องหิ้วของไปขาย พอลูกคนเล็กสอบติดกรุงเทพฯ ก็ย้ายกลับมากรุงเทพฯ ตอนนี้ก็อยู่มาประมาณสิบห้าสิบหกปีแล้ว

เหมือนชีวิตป้าเจี๊ยบไม่ได้มีแผนตายตัวมาตั้งแต่ต้น

ป้าเจี๊ยบ : ใช่ เราเป็นคนไม่มีแผนอะไร เป็นคนใช้ชีวิตง่ายๆ ไปตามภาพที่เห็นตรงหน้าตอนนั้นว่าเราอยากทำอะไร ตอนเด็กๆ เราก็เป็นเด็กต่างจังหวัดทั่วไป ใช้ชีวิตเรียบง่ายในต่างจังหวัด ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เรียนหนังสือปกติ ตกเย็นก็เล่นกับเพื่อนบนถนนหน้าบ้าน เสาร์อาทิตย์ก็อาจจะมีไปเล่นน้ำคลอง เที่ยวป่า เที่ยวเขา เดินทางไกลตามอัตภาพเด็กต่างจังหวัด

เวลาครูถามตอนเด็กว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” อาชีพไหนที่แล่นเข้ามาไหนหัว

ป้าเจี๊ยบ : อันนั้นยังไม่เข้าใจจนถึงทุกวันนี้เลยว่าทำไมถึงถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร มันจะมีเด็กสักกี่คนที่คิดออก เราเองก็เป็นคนหนึ่งในนั้นที่คิดไม่ออกว่าโตขึ้นเราจะเป็นอะไรได้ ตอนเป็นเด็กนักเรียนอยู่โรงเรียน เราเล่นกีฬา แล้วจะมีเพื่อนบางคนที่เขาเล่นเก่งๆ เป็นนักวิ่งลมกรด เขาได้ไปแข่งระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ไปแข่งอะไรต่างๆ เรามองว่าเขาเท่มาก ส่วนตัวเองคือเล่นไปหมด เล่นไปทั่ว ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าเราอยากเป็นนักกีฬาประเภทไหน อยากเล่นอะไรก็เล่น เล่นบาส ว่ายน้ำคลอง ตีแบด ปั่นจักรยาน ทำด้วยอารมณ์สนุกของเรา แต่เราปลื้มคนนี้ โดยที่ไม่ได้คิดว่าอยากจะเป็นเหมือนเขานะ แค่ชอบเขา

ป้าเจี๊ยบ นงลักษณ์ ชัยฤทธิไชย นักกีฬาทีมชาติวัย 63 ปีที่มีกีฬา Longboard มาทำให้ชีวิตวัยเกษียณสนุกขึ้น

จริงๆ ก็มีแววมาตั้งแต่เด็กแล้วนะ

ป้าเจี๊ยบ : ชอบ ชอบเล่น

แต่ตอนมหาวิทยาลัย ป้าเจี๊ยบกลับเลือกเรียนคณะอักษรฯ

ป้าเจี๊ยบ : มีเพื่อนชักนำ เราไม่เคยคิดเลยว่าอยากเป็นอะไร ตอนทำงานโรงแรมก็มีคนชักนำ ออกมาทำทัวร์ก็มีคนชักนำ มันเหมือนไม่มีความเป็นตัวตนของตัวเองหรือเปล่าก็ไม่รู้เนอะ แต่ที่เราไปทำ เราทำแล้วเราสนุก เราทำแล้วเราชอบ เหมือนเราเป็นคนที่เวลาได้ทำอะไรแล้วจะชอบสิ่งที่ตัวเองทำ แต่ไม่มีแผนว่าอยากทำนู่น อยากทำนี่ พอได้ทำมันก็สนุกในแต่ละวัน

จะบอกว่าคุณเลือกจะมองข้อดีของชีวิตมากกว่าได้ไหม

ป้าเจี๊ยบ : จะใช่หรือเปล่าไม่รู้ แต่เราไม่ชอบคิดถึงอะไรที่มันร้าย อะไรที่มันไม่มีความสุข เราไม่ชอบ เราจะไม่ฝักใฝ่เรื่องที่ทำให้เราเสียเวลา การที่เราไปหมกมุ่นอยู่กับความทุกข์ ไปหมกมุ่นอยู่กับปัญหา เราถือว่ามันเสียเวลา เป็นเรื่องที่ไม่น่าใส่ใจ ชีวิตไม่ได้ผ่านจุดเปลี่ยนอะไรให้คิดแบบนี้นะ เราเป็นแบบนี้มาตั้งแต่เล็กๆ เลย ชีวิตเราเลยโลดแล่นไปเรื่อยๆ จะว่าว่าเรื่อยเปื่อยก็ได้ ไร้สาระเนอะ (หัวเราะ)

บ้านเราไม่ค่อยเข้มงวด ไม่ค่อยเลย พ่อแม่ก็อยากให้เรียนหนังสือแหละ แต่ไม่ได้ชี้นำว่าต้องไปเรียนอันนั้น ต้องไปเรียนอันนี้ ต้องไปเป็นอย่างนั้น ต้องไปเป็นอย่างนี้ หรืออาจจะเป็นเพราะเขาภาระเยอะ เยอะเกินกว่าที่จะมาระบุว่าลูกทั้งเจ็ดคนต้องเป็นอะไร เขาค่อนข้างฟรีสไตล์ ครอบครัวเราไม่ได้มีศักยภาพพอให้ลูกเรียกร้องอะไรได้ตามที่อยากจะได้ เราถูกสอนให้พอใจในสิ่งที่เราเป็น ในสิ่งที่เรามี ในที่ที่เราอยู่ 

คุณดูเป็นคนยืดหยุ่นมาก

ป้าเจี๊ยบ : เป็นคนทำอะไรก็ได้

แล้วเป็นคุณแม่ที่ยืดหยุ่นด้วยไหม

ป้าเจี๊ยบ : ยืดหยุ่นหรือยืดย้วย

ดี้ : ตอบยากนะ ตอนเราเรียน เขาก็อยากให้ปกติเหมือนคนอื่นนั่นแหละ อยากให้เรียนเก่ง แต่ถามว่าบังคับทิศทางการเรียนของเราไหม ก็ไม่ได้บังคับ เพียงแต่จะมีกฎระเบียบที่โตมาเราก็ต้องแหกตามเด็กปกติ สมมติขอออกไปเล่นสเก็ต กลับช้าก็โดนว่า แต่เขาไม่ได้จำกัดว่าเราต้องเป็นหมอ เป็นวิศวกร มันอาจจะไม่ใช่ความคาดหวัง ที่ผ่านมาเราทำผิดกี่ครั้ง เขาให้โอกาส คุยกันรู้เรื่องจบ อันนี้ผิดนะ ไม่ดีนะ ไม่ควรทำซ้ำนะ เราก็ทำซ้ำแหละ แต่เราก็ได้รับโอกาสเสมอ ความสัมพันธ์บ้านเรามันเลยสบายๆ

รุ่นแม่ดื้อนะ ไม่ปกติ เทียบกับพ่อแม่เพื่อนดูแล้วแม่ไม่ปกติ ลุงผมก็ไม่ปกติ บ้านเราเลยไม่เหมือนชาวบ้าน เพราะช่วงวัยรุ่น ผมก็เคยรู้สึกว่า เอ๊ะ กูมีปัญหากับสังคมหรือเปล่า อยู่ที่บ้านกูก็ไม่เป็นไรนี่ (หัวเราะ) 

ป้าเจี๊ยบ : สังคมยุคเขา โรงเรียนติวเตอร์กำลังบูม ทุกบ้านส่งลูกไปเรียน แต่เรามองว่าทำไมเขาต้องเคี่ยวเข็ญลูกเขามากมายขนาดนั้น ซึ่งเข้าใจได้ว่าเขาคงวางแผนอนาคตให้ลูกไว้ เขาถึงต้องส่งลูกไปเรียน แต่ลูกบ้านเรา โรงเรียนเลิกปุ๊บ ไปรับ ขึ้นรถไปว่ายน้ำ วิ่งเล่น วาดรูประบายสี เรียนหนังสือวันหนึ่งหกเจ็ดชั่วโมง พอแล้ว เราอยากให้ลูกได้วิ่งเล่น ได้หกล้ม ได้ชิงช้าโขกหัวบ้าง

ป้าเจี๊ยบ นงลักษณ์ ชัยฤทธิไชย นักกีฬาทีมชาติวัย 63 ปีที่มีกีฬา Longboard มาทำให้ชีวิตวัยเกษียณสนุกขึ้น

ได้ความ ‘ชีวิตไม่มีแผน’ ของแม่ติดตัวมาบ้างไหม

ดี้ : บ้านเราไม่มีแผนอยู่แล้ว ตั้งแต่ยายแล้ว แผนมันอาจจะคิดไว้ได้นิดหน่อย แต่ใช้ไม่ได้จริงทั้งหมดหรอก อย่างโควิดนี่เห็นได้ชัดเลย แค่เรารับอาการเมื่อมันผิดแผน แล้วสนุกกับชีวิตต่อ แค่นั้นเอง
ป้าเจี๊ยบ : ต้องปรับตัวให้ได้ ต้องไม่จมอยู่กับเรื่องที่ไม่เป็นไปตามหวัง โอเค มันเป็นแบบนั้นไม่ได้ เรารีบลุกขึ้นมาหาอะไรใหม่ทำ ความหวังต้องมี ทุกคนต้องมีอยู่แล้ว แต่หวังแล้ว ถ้าสมมติไม่เป็นดังหวัง เราจะไม่เสียใจขนาดนี้

วิธีคิดแบบนี้ต้องฝึกยังไง

ดี้ : ผมเรียนมาเป็นรุ่นๆ อย่างผมก็ฟังแม่เล่าเรื่องรุ่นยาย แต่ถ้าจะถามยาย ยายก็อาจจะเล่าลำบาก แกอายุร้อยสามปีแล้ว อย่างยายมีลูกเยอะ ผ่านช่วงยุคสงครามโลก ลำบาก บ้านก็เป็นคนทำมาหากิน วันหนึ่งก๋งเสีย ก๋งเป็นเหมือนหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัว ยายก็ต้องดูแลทุกอย่างต่อ ไม่ได้มานั่งฟูมฟาย หาวิธีดูแลลูกต่อในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป พอมายุคผม โตมากับแม่ เราก็ผ่านวิกฤตต้มยำกุ้งที่ต้องย้ายจากกรุงเทพฯ ไปอยู่ปากช่อง มันต้องไปต่อ ไม่รู้สอนต่อกันมายังไงเหมือนกัน แต่ที่บ้านผมเวลาผิดหวัง ไม่มีใครไม่ไปต่อ
ป้าเจี๊ยบ : อยู่ให้เป็น มีน้อยใช้น้อย มีมากจะใช้มากบ้างก็ได้

พอคิดแบบนี้ มันทำให้ชีวิตที่ได้ใช้เป็นอย่างไร

ป้าเจี๊ยบ : ง่ายขึ้น สบายขึ้น ไม่ได้ง่ายแบบอยากได้อะไรก็ได้ อยากมีอะไรก็มี ก็แค่คิดว่ามีไม่ได้ก็ไม่มี คิดง่ายๆ อย่างนั้นดีกว่า ง่ายกว่า รับผิดชอบกับสิ่งตรงหน้าให้ดีที่สุด แล้วชีวิตมันจะไปต่อเรื่อยๆ 

ดี้ : ถ้าอยากมีก็ทำให้มี แต่ไม่ต้องเครียดขนาดนั้น ไม่ต้องเครียดขนาดไปทำเรื่องไม่ดีเพื่อให้มันมี

จะพูดได้ไหมว่าการป่วยเป็นโรคมะเร็งคือจุดเปลี่ยนชีวิต

ป้าเจี๊ยบ : มันก็ไม่ถึงกับเปลี่ยนนะ เรายังดำเนินชีวิตปกติของเรา อาจใส่ใจเรื่องอาหารสุขภาพขึ้นนิดหนึ่ง แต่ไม่ได้เคร่งว่าต้องเลิกกินอันนี้นะ เลิกกินอันนั้นนะ บางอย่างก็เลิกกินไปเองตามธรรมชาติ ธรรมชาติมันพาเราไป ด้วยเรื่องวัย เรื่องที่อวัยวะในร่างกายมันทำงานได้ไม่เหมือนเดิม

ดี้ : ยายผมอายุเท่านี้ยังกินหมูสามชั้นอยู่เลย

ป้าเจี๊ยบ : อยากกินก็กิน อยากทำก็ทำ แต่รู้ลิมิต รู้สติ

ก่อนจะป่วย เคยคิดเรื่องความไม่แน่นอนของชีวิตมาก่อนไหม

ป้าเจี๊ยบ : เรารู้ว่าความไม่แน่นอนมันคือสิ่งที่ใช่ที่สุดมาตลอดเวลา ตั้งแต่เล็กๆ เราก็เจอเรื่องนี้ สมัยพ่อยังอยู่ ยังทำมาค้าขาย ชีวิตเราก็ค่อนข้างสบาย พอไม่มีพ่อ ความสบายก็ลดลง โตมาช่วงหนึ่งก็อาจจะสบายมากหน่อย พอเลยไปอีกช่วง ด้วยเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมโดยรอบทำให้เราสบายน้อยลง เราก็รับได้ 

เรารู้อยู่แล้วว่าชีวิตไม่แน่นอน แล้วก็รู้อยู่แล้วว่าวันหนึ่งอาจจะเจ็บป่วย ป่วยแล้วรักษาได้ก็รักษา รักษาไม่ได้ก็ตาย รับได้ 

ป้าเจี๊ยบ นงลักษณ์ ชัยฤทธิไชย นักกีฬาทีมชาติวัย 63 ปีที่มีกีฬา Longboard มาทำให้ชีวิตวัยเกษียณสนุกขึ้น

รับมือกับอาการป่วยครั้งนั้นอย่างไร

ป้าเจี๊ยบ : เหมือนเขา (โรค) ค่อยๆ เริ่มก่อตัว แล้วเราก็ค่อยๆ ศึกษาเขาไป ใช้เวลาอยู่ด้วยกันเป็นปี จนเขาไม่ไหวแล้ว เราก็ โอเค ไปหาหมอกัน มาถึงขั้นนี้ก็ต้องพึ่งคนที่มีความรู้ความชำนาญในด้านนี้ เราไม่คิดจะหาหมอเลย จนวันที่ไปหาหมอแล้วบอกว่า มาผ่าตัด

ทำไมถึงปล่อยทิ้งไว้นานขนาดนั้น

ป้าเจี๊ยบ : เพราะเราก็ยังสบายดีอยู่นะ เรายังเล่นได้ ยังใช้ชีวิตได้ ลึกๆ มันรู้แหละว่าผิดปกติ แต่เขายังไม่ได้รบกวนเราถึงขั้นล้มหมอนหนอนเสื่อ ยังไม่เป็นภาพคนเป็นมะเร็งที่เราคิด นอนติดเตียงอยู่บ้าน เรายังใช้ชีวิตปกติ ยังขับรถไปหัวหิน คืนนี้ยังตีแบดอยู่ทั้งๆ ที่นัดหมอวันรุ่งขึ้น 

เรายังมีแรง พลังงานยังเหลืออีกเยอะ ซึ่งอันนี้เราต้องขอโทษวงการแพทย์ที่ทำให้เขาหนักใจกับเรา มาวันนี้เรากลับไปมอง มีอีกหลายคนที่เป็นเหมือนเราเลย อย่างแม่เพื่อนลูกก็อาการเดียวกับเราเลย ไม่ได้ไปหาหมอ จนวันหนึ่งปรากฏชัดแล้วก็เลยไปหาหมอ แต่ที่พูดไม่ได้สนับสนุนให้คนละเลยเหมือนเรานะ อย่างน้อยตรวจสุขภาพปีละครั้งให้รู้ความเป็นไปในร่างกายของตัวเอง เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตัวเอง เรื่องป่วยเราไม่ได้เล่าให้ใครฟังเลยนะ มันไม่ใช่เรื่องใหญ่

ดี้ : ส่วนเราไม่รู้เรื่อง จนผ่าก็ยังไม่รู้เรื่อง

ถ้าเป็นแม่เราคงโกรธแย่

ดี้ : ไม่เห็นต้องโกรธเลย วันก่อนหน้าไปผ่าเขาไปเล่นตีแบตที่สวนตามปกติ สายๆ อีกวันแม่มาบอกว่า เดี๋ยวออกไปข้างนอกหน่อย ไม่ได้บอกว่าจะไปไหน แล้วก็โทรมาบอกว่า ไม่กลับบ้านนะ มาผ่าตัด ผมก็ถามว่าเป็นอะไร เขาบอกไม่เป็นไร ไม่ต้องกลัวนะ พรุ่งนี้เดี๋ยวค่อยว่ากัน ปกติที่บ้านไม่ค่อยคิดอะไรกันอยู่แล้ว ไม่ได้คิดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่โต เขานอนโรงพยาบาลอยู่สองสามวัน แล้วเราก็ไปรับ ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นมะเร็งหรือเปล่า รู้แค่ผ่า ยังไม่มีผลทางการแพทย์ยืนยัน หลังจากนั้นเขาก็กำลังใจดีมาก ทำทุกอย่างปกติ พยายามออกไปข้างนอก แต่ไม่ได้ดันทุรังว่า “ฉันต้องลุกมาวิดพื้น”

ป้าเจี๊ยบ : เพราะเราก็ใช้ชีวิตปกติ ไม่ได้ “โอ๊ย ฉันต้องป่วย ฉันต้องแย่ ฉันต้องนอนนะ” วันไหนไม่ไหวก็จะขอนอน เดี๋ยวหิวข้าวแล้วจะไปกินเอง ไม่ต้องเรียก ไม่ต้องตาม ไม่ต้องอะไรทั้งสิ้น ทุกคนทำเรื่องของตัวเองไป เราจัดการตัวเอง ซึ่งระหว่างที่เราป่วย พี่สาวเราก็ป่วยเป็นมะเร็งปอดด้วย

พอเจอเหตุการณ์แบบนี้ทั้งกับตัวเองและคนใกล้ตัว ที่เขาเคยบอกว่า “เราไม่เห็นคุณค่าของสิ่งหนึ่งหรอกจนกว่าเรากำลังจะเสียมันไป” เป็นเรื่องจริงไหม

ป้าเจี๊ยบ : ระหว่างที่เรากำลังทำคีโมอยู่ น้าเราที่เป็นน้องสาวแม่เสียที่พิมาย เราก็ไปงานศพ ช่วยงานเขาจนเสร็จ ขับรถไปเองคนเดียวแล้วอยู่เป็นอาทิตย์ ในขณะที่ร่างกายก็ไม่โอเค แต่คิดว่าต้องไป ผ่านไปไม่นาน ลูกพี่ลูกน้องที่สนิทกันก็เสีย ช่วงนั้นคนนั้นคนนี้ตาย เราเลยมองว่า คนเราถึงเวลาตายก็คือตาย จะไปยื้อไม่ให้ตายก็ไม่น่าทำ ยิ่งมาเจอกับพี่สาวที่อยู่ด้วยกัน อยู่บ้านเดียวกัน ตื่นเช้ามาเราต้องหาข้าวให้เขากิน ต้องทำโน่นทำนี่ให้เขา เพราะพอเขารู้ตัวปุ๊บ เขาทรุดไปเลย เราเลยได้บทเรียนว่า หนึ่ง อย่าละเลยสุขภาพ มีโอกาสก็ไม่ตรวจซะ แล้วก็อย่าใช้ร่างกายให้เปลืองนัก ใช้เยอะก็ต้องฟื้นฟูเยอะ ทำงานเยอะก็ต้องเล่นให้เยอะ

แต่ก่อนป้าเจี๊ยบใช้ชีวิตหักโหมเหรอ

ป้าเจี๊ยบ : เยอะ แต่ก่อนบ้างาน ไม่นอนสามคืนสี่คืนก็ทำได้ ช่วงคริสต์มาสปีใหม่ที่งานเยอะๆ ก็ทำงานไป สนุกสนานไป

ดี้ : สมัยเด็กๆ ผมไม่เจอแม่นะ ตีห้าเขาออกจากบ้านแล้ว กลับมาสามทุ่มสี่ทุ่มเราก็นอนแล้ว อยู่กับยายสองคน

ป้าเจี๊ยบ : ใครถามว่าลูกโตเท่าไหนแล้ว เราทำมืออย่างนี้ไม่ได้นะ (วัดความสูงแนวตั้ง) เราทำมือแบบนี้ (วัดความยาวแนวนอน) เพราะเห็นทีไรก็เป็นตอนนอน

ป้าเจี๊ยบ นงลักษณ์ ชัยฤทธิไชย นักกีฬาทีมชาติวัย 63 ปีที่มีกีฬา Longboard มาทำให้ชีวิตวัยเกษียณสนุกขึ้น
ป้าเจี๊ยบ นงลักษณ์ ชัยฤทธิไชย นักกีฬาทีมชาติวัย 63 ปีที่มีกีฬา Longboard มาทำให้ชีวิตวัยเกษียณสนุกขึ้น

แล้วมาเริ่มเล่นลองบอร์ดได้ยังไง

ดี้ : เราไม่ได้สอนนะ เขาหยิบเล่นเอง 

ป้าเจี๊ยบ : เราเห็นเขาเล่นแล้วอยากลอง เล่นได้ไม่ได้ไม่รู้ แต่เผอิญหยิบขึ้นมาแล้วมันเล่นได้ เล่นได้เลย ทรงตัวได้

ไถรอบสนามได้เลย สนามบาส เราก็ เฮ้ย เล่นได้นี่ ไม่ยากเท่าไหร่เนอะ ก็ฝึกอยู่ตรงนั้น จากรอบสนามบาสก็เป็นรอบสนามใหญ่ของสวนสาธารณะ จนบอกลูกว่าไปซื้อให้หน่อยสิ

วันนั้นเลย?

ป้าเจี๊ยบ : อีกวันสองวันต่อจากนั้น แต่ไม่เคยคิดว่าจะไปไกลแค่ไหน เพราะบ้านเราไม่เคยคิดการใหญ่อยู่แล้ว ไม่ได้คิดจะจริงจัง เป็นความรัก ความสนุกมากกว่า เวลามีแข่งตรงไหน เราอยากไป ไม่ได้อยากไปเพราะอยากชนะ แต่อยากไปเล่นกับคนอื่น อยากไปเห็นคนอื่นเล่น อยากไปแคมป์ อยากไปทำอาหาร ได้ไปต่างจังหวัด ได้ไปเที่ยว ได้เจอคน มันอิสระ

ดี้ : มันมีส่วนประกอบเยอะ มันท้าทายเสมอ Spot ที่เปลี่ยนไป ถนนที่เปลี่ยนไป หรือแม้กระทั่งถนนเส้นเดิมแต่ลงคนละ Run แต่ละ Run ก็มีเสน่ห์เหมือนกัน เหมือนคนเล่นเรือใบในล่องน้ำเดิม แต่บางทีลมไม่เหมือนเดิม ก็เป็นบรรยากาศของมัน

ป้าเจี๊ยบ : วันนี้ที่เราตื่นมาแล้วยังมีลมหายใจ เราทำอะไรที่ให้ตัวเองมีความสุขได้ เราพอแล้ว

ตอนแม่ขอให้ซื้อลองบอร์ดให้หน่อย ไม่กังวลเหรอ

ดี้ : ไม่เลย ไปซื้อเลย ซื้อเผื่อทุกคนในบ้าน น้องสาว หลาน ผมอาจจะเป็นลูกอกตัญญูหรือเปล่า ผมไม่เคยกังวลเรื่องสุขภาพแทนเขาเลย ไม่เคยห่วงเพราะมองไปก็ไม่มีอะไรน่าห่วง มันมีเตือนบ้างอะไรบ้าง แม่ระวังรถ ขับรถดีๆ ดูดีๆ นะ ไปเช้าแทนไหม แต่ถามว่าหนักใจ กังวลหรือเปล่า ไม่เลย บางคนอาจจะด่าก็ได้เนอะ แม่อายุขนาดนี้ ปล่อยให้ขับรถกลางคืนคนเดียวได้ไง จริงๆ ก็แอบห่วง แต่ถามว่ากังวลไหม อย่าไปเลยไหม เราไม่ได้เป็นแบบนั้น

ป้าเจี๊ยบ : คนรอบตัวเลิกห่วงกันหมดแล้วแหละ เราเคยได้ยินคนใกล้ตัวให้สัมภาษณ์กับหูตัวเองว่า ตอนเล่นใหม่ๆ ก็ห่วงแกเหมือนกันนะ แต่พอเห็นแกล้มบ่อยแล้วเอาตัวรอดได้ก็โอเคนะ 

เรามาเล่นสิ่งนี้ เราเจอคนมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่เรารู้สึกคือ เด็กๆ เหล่านี้เขาดูแลกัน ห่วงใยกัน มันไม่ใช่ความห่วงใยแบบหกล้มก็ไปอุ้มขึ้นมา แต่เขาจะดูๆ อยู่ตลอด เป็นกลุ่มคนที่รักในสิ่งเดียวกันมาเจอกัน ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้เหมือนเปี๊ยบทุกอย่าง แต่ละคนก็มีชีวิตของตัวเอง แต่พออยู่บนเขาแล้วเล่นบอร์ด ทุกคนเหมือนกันหมดเลย กินง่ายๆ ได้ ไม่ว่าจะมาจากครอบครัวแบบไหน รวยหรือไม่รวย 

ดี้ : บางคนมาเป็นครอบครัว พ่อมาเล่น ลูกเมียมาแคมปิ้งรอ มันเลยไม่ใช่แค่คนเล่นสเก็ตแล้ว 

ป้าเจี๊ยบ นงลักษณ์ ชัยฤทธิไชย นักกีฬาทีมชาติวัย 63 ปีที่มีกีฬา Longboard มาทำให้ชีวิตวัยเกษียณสนุกขึ้น

มีคนวัยเดียวกับป้าเจี๊ยบไหม

ป้าเจี๊ยบ : ก่อนหน้านี้ที่เห็นคือเป็นคนเดียวในประเทศไทย แต่ตอนนี้มีอีกคนที่เขาเล่นพารามอเตอร์มาก่อน เฟี้ยวมาก อายุหกสิบ เขาเล่นกีฬาเยอะ พอเห็นเราเล่นอันนี้ได้ เขาก็ฝึกจนเล่นได้จริงๆ 

พอได้ใช้ชีวิตกับคนหลายๆ รุ่น หลายๆ วัย ชีวิตวัยเลข 6 ของป้าเจี๊ยบสดชื่นขึ้นไหม

ป้าเจี๊ยบ : ถ้าถามอย่างนั้นก็ใช่อยู่นะ เราได้ศึกษาคนแต่ละวัย แต่ละรุ่น นั่งมองว่าคนนี้เป็นอย่างนี้ คนนั้นเป็นอย่างนั้น คิดอย่างนั้นอย่างนี้ บางทีตอนแรกเราคิดว่าคนนี้จะเข้ากับเราไม่ได้ แต่พอได้รู้จักจริงๆ ก็โอเค มันต้องมีสักจุดหนึ่งที่เข้ากันได้ ซึ่งแค่นั้นก็พอใจแล้ว เราจะไม่คิดว่า ทุกคนต้องปรับทุกอย่างให้เหมือนเรา ต้องลงล็อกเป๊ะๆ ต้องยอมรับความแตกต่าง พออายุมากกว่า จะมีจุดที่รู้สึกว่าเราควรเตือนเขาไหม บางเรื่องก็เตือน บางเรื่องก็ปล่อยให้ไปเรียนรู้เอาเองตามวิถีของเขา เพราะบางทีถ้าเขาไม่เจออุปสรรคหรือปัญหาด้วยตัวเอง เขาจะคิดไม่ออกว่าต้องแก้ยังไง

เราเรียนรู้ว่า เราคนละวัยกับเขา แต่จะต้องปรับตัวยังไงให้อยู่กับเขาได้ ให้เขาไม่รำคาญ ให้เขาไม่ออกปากว่า “ทริปนี้ไม่อยากให้ป้าคนนี้มาเลย” อาจจะมีก็ได้นะ แต่ไม่รู้ถือว่าไม่มี (อมยิ้ม)

การเล่นลองบอร์ด ถ้าว่าการตามตรง ร่างกายของป้าเจี๊ยบอาจจะสู้คนอื่นๆ ไม่ได้ แต่มีข้อได้เปรียบของการอายุมากข้อไหนที่ทำให้คุณเล่นกีฬาชนิดนี้ได้ดีกว่า

ป้าเจี๊ยบ : (ส่ายหัว)

ไม่มีเลยเหรอ (หัวเราะ)

ป้าเจี๊ยบ : ทุกอย่างอยู่ที่ใจ แล้วเราก็จัดการตัวเอง มันเท่ากันหมด แต่เท่าในที่นี่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเข้าเส้นชัยพร้อมกัน อยู่ที่จุดสมดุล ใครกลัวอะไรหรือกล้าอะไร เราไม่สามารถไปล่วงรู้ เท่าที่เราเห็นทุกคนที่อยู่ตรงนี้ ทุกคนอยู่กันได้ ทุกคนเล่นกันได้ ลงจากจุดสตาร์ทเดียวกันไปยังปลายทางเดียวกัน โดยที่บางคนก็ล้มกลางทาง บางคนก็ไม่

ป้าเจี๊ยบ นงลักษณ์ ชัยฤทธิไชย นักกีฬาทีมชาติวัย 63 ปีที่มีกีฬา Longboard มาทำให้ชีวิตวัยเกษียณสนุกขึ้น

มันจริงจังไปถึงขั้นเป็นตัวแทนประเทศไทยได้ยังไง

ดี้ : กลุ่มมันเล็ก มีคนเล่นอยู่ประมาณห้าสิบคน แล้วเขาบรรจุกีฬาชนิดนี้ในการแข่งขันซีเกมส์ ประเทศไทยต้องการคนเข้าแข่งขัน เลยมีการคัดตัวนักกีฬาทีมชาติ ผู้หญิงลงแข่งสี่คน แม่ติดที่สาม คนที่ไปคัดก็ไปเพราะอยากไปเล่นทั้งนั้นแหละ 

ป้าเจี๊ยบ : วันที่ไปคัดเลือก ไม่มีคิดเลยว่าตัวเองจะติดเข้าไปตรงนั้น ทุกคนเชียร์กันหมดเลย เวลาถึงรอบเรา ทุกคนมาเชียร์เรา ถึงรอบคนอื่น เราก็ไปยืนเชียร์คนอื่น ใครได้ทุกคนก็ดีใจ ไม่มีใครรู้สึกว่าจะต้องเก่งเหนือใคร อย่างเราเขียนบนเฟซบุ๊กว่าวันนี้จะไปมอหินขาวนะ พอไปถึงมอหินขาวเจอคนเต็มเลย ทุกคนมาเล่นด้วยกันหมด ไม่ได้มีใครแอบไปเล่น แอบไปซ้อม ไม่อยากให้ใครมารู้เทคนิคฉัน คนนี้ทำท่านี้ไม่ได้ อีกคนทำได้ก็มาสอนกัน

เคยถูกใครสบประมาทไหม

ป้าเจี๊ยบ : ไม่รู้เรียกว่าสบประมาทเปล่านะ แต่ตอนที่เราติดทีมชาติใหม่ๆ นั่งทำบอร์ดอยู่หน้าบ้าน แล้วมีคนเดินมาถามว่า จะไปสู้เขาได้เหรอ เราก็บอกว่าไม่รู้หรอก จะสู้ได้ไม่ได้เราไม่รู้ แต่เราไปแล้ว เราต้องทำหน้าที่ของเราแล้ว จากที่เล่นเพื่อความสนุก ได้เจอแก๊ง ได้กิน ได้นอน สังสรรค์กัน จากตรงนั้นมันกลายเป็นหน้าที่ เพราะคำว่าทีมชาติมันเป็นหน้าที่ เราต้องทำให้เต็มที่ เราต้องทำให้ดีที่สุด เพื่อให้ประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในการแข่งขันนั้นได้เห็นว่าประเทศเรามีศักยภาพ ประเทศเราทำได้ เราอาจจะไม่ชนะในเกม แต่อย่างน้อยชาติอื่นจะได้เห็นความสามารถของเรา ขณะเดียวกันเราก็ได้เห็นความสามารถของเขาว่าเก่งขนาดไหน จะได้จำเขามาปรับปรุงตัวเอง ปรับปรุงทีมเรา

สิ่งที่ยากที่สุดในการเล่นลองบอร์ดคืออะไร

ป้าเจี๊ยบ : สิ่งที่ยากที่สุดเหรอ หาตังค์ซื้อของนี่ยากที่สุดแล้ว มันแพ้งแพง (หัวเราะ) กิเลสเรายากที่สุดแล้ว นอกนั้นใจเอาชนะได้หมด

ป้าเจี๊ยบ นงลักษณ์ ชัยฤทธิไชย นักกีฬาทีมชาติวัย 63 ปีที่มีกีฬา Longboard มาทำให้ชีวิตวัยเกษียณสนุกขึ้น

เป็นสายชอบแต่งบอร์ดด้วยหรือเปล่า

ดี้ : อะโธ่ โธ่ โธ่ อย่าให้พูดเลย เห็นใครกดช้อปปิ้งนี่เอาละ 

ป้าเจี๊ยบ : เราจะดูคลิป วันนี้ฝรั่งเขาเล่นอะไรกัน วันนี้มีอุปกรณ์อะไรออกมาใหม่ ตัวนี้มีเทคโนโลยีอะไร ดีกว่าของเดิมที่เรามีอยู่ยังไง เราศึกษา แล้วค่อยๆ ดูว่าเราจำเป็นต้องใช้มันไหม เราเล่นขนาดนั้นไหม 

ดี้ : แต่เรามีรถทุกคันไม่ได้ แม่นี่จะมีรถทุกคันเลย (หัวเราะ)

จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาตั้งแต่การป่วย การเริ่มเล่นกีฬาลองบอร์ดในวัยเท่านี้ จนถึงเป็นตัวแทนทีมชาติไทย คุณได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งเหล่านี้

ป้าเจี๊ยบ : เรื่องการเรียนรู้มันไม่จบไม่สิ้น บางทีที่เรารู้มาตลอดว่าคนเป็นมะเร็งต้องตาย มาถึงวันนี้ อ้าว ไม่ใช่เว้ย มันไม่ใช่แล้ว มันเปลี่ยนไปเรื่อย 

หรือเคยไหม สมมติวันหนึ่งเราแต่งตัวแบบนี้ออกมาจากบ้าน แล้วเพื่อนถามว่า โห ทำไมวันนี้แต่งตัวอย่างงี้อะ ไม่สวยเลย แต่มันคือความสุขของเรา แล้วก็ไม่ได้เดือดร้อนเขา ก็ปล่อยให้เขาพูดไปเถอะ การที่เขาไม่ชอบก็เป็นปัญหาของเขา แต่เราชอบ แค่นั้นเลยง่ายๆ อย่าไปเยอะ

ป้าเจี๊ยบ นงลักษณ์ ชัยฤทธิไชย นักกีฬาทีมชาติวัย 63 ปีที่มีกีฬา Longboard มาทำให้ชีวิตวัยเกษียณสนุกขึ้น

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล