เมื่อครั้งที่ The Cloud ไปสัมภาษณ์ พลพัฒน์ อัศวะประภา หรือ หมู ASAVA เขาพูดถึงคนคนหนึ่งที่รู้จักกันเมื่อตอนอยู่นิวยอร์กด้วยความชื่นชม คนคนนั้นคือ เจ-นพณัฐ สุนทรสวัสดิ์ นักออกแบบเบื้องหลัง Window Display ของ Bergdorf Goodman ห้างสรรพสินค้าชื่อดังของเมือง และเป็นโชคดีของเราที่เขาตัดสินใจกลับมาอยู่เมืองไทยเมื่อปีกลายพอดี

เจ สุนทรสวัสดิ์ นักออกแบบไทยเบื้องหลัง Window Displays ของห้างดังในนิวยอร์กตลอด 20 ปี

Bergdorf Goodman ตั้งอยู่บนถนนสำคัญ 3 สายคือ Fifth Avenue ถนน 57th และถนน 58th ซึ่งจะมีอายุครบ 120 ในปีนี้ นับเป็นห้างสรรพสินค้าที่อยู่คู่มหานครมากว่าหนึ่งศตวรรษ โดยทุกเทศกาลคริสต์มาส หน้าต่างใหญ่ทั้ง 16 บานของอาคารแห่งนี้จะเป็นที่เลื่องลือของสื่อทุกสำนัก ทั้งยังเป็นจุดหมายปลายทางที่เหล่านิวยอร์กเกอร์และนักท่องเที่ยว ต้องมาชมความตระการตราของวินโดว์ดิสเพลย์ที่บรรจงออกแบบล่วงหน้าเป็นเวลาหลายเดือน คล้ายกับที่หลายคนเฝ้ารอต้นคริสต์มาสของอาคาร Rockefeller อย่างไรอย่างนั้น

เจ สุนทรสวัสดิ์ นักออกแบบไทยเบื้องหลัง Window Displays ของห้างดังในนิวยอร์กตลอด 20 ปี

เจเคยทำงานร่วมกับแบรนด์ดังอย่าง Dior และ Hermès และเป็นคนไทยที่ออกแบบให้กับห้างสรรพสินค้าแห่งนี้มา 20 ปี เขาบอกว่าที่เข้าวงการนี้มาได้คือการจับพลัดจับผลู ซึ่งกลายมาเป็นอาชีพในภายหลัง งานของเขาทั้งหมดไม่ได้เล่าเรื่องราวออกมาตรงๆ มันผ่านกระบวนการคิด การพัฒนา และการตีความ ที่เขามักจะเหลือพื้นที่ให้คนดูได้เอาไปคิดต่อ แต่สิ่งหนึ่งที่มีมาตลอดโดยไม่เปลี่ยนแปลง คือใจรักในงานศิลปะและงานออกแบบของตัวเองที่แสดงให้เห็นในงานทุกชิ้น เช่นเดียวกับความสนุกของการเปลี่ยนภาพในหัวให้ออกมาโลดแล่นอยู่ในชีวิตจริง

เจ สุนทรสวัสดิ์ นักออกแบบไทยเบื้องหลัง Window Displays ของห้างดังในนิวยอร์กตลอด 20 ปี
01

ย้อนกลับไปตอนเป็นเด็ก เจเป็นเหมือนเด็กทั่วไปที่ไม่ได้ชอบอะไรเป็นพิเศษ โตมาหน่อยถึงจะพอสังเกตว่าตัวเองชอบงานศิลปะ ชอบงานออกแบบ ชอบของสวยของงาม แต่จะให้ไปเรียนจิตรกรรมหรือสาขาทางศิลปะอื่นๆ คงไม่ไหว เพราะเขาวาดรูปไม่เก่ง ทั้งยังเรียบจบมัธยมปลายสายวิทย์-คณิต พร้อมวิธีคิดแบบตรรกะอย่างเต็มขั้น จึงตัดสินใจสอบเอนทรานซ์เข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สาขาที่เชื่อว่าน่าจะตรงกับความสนใจมากที่สุด

“สมัยนั้นไม่มีตัวเลือกมากนักหรอก” เขาว่าอย่างนั้น ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยเองก็ตีกรอบให้เดินทางใดทางหนึ่ง แต่กลายเป็นว่าเขาชอบวิชาสถาปัตย์ ชอบขนาดที่ตัดสินใจไปเรียนต่อสาขาเดียวกันที่ University of California, Los Angeles หรือ UCLA

“ตอนนั้นคิดว่าที่เรียนมายังรู้ไม่พอ เรายังไม่เก่ง แล้วปกติเป็นคนชอบเรียนอยู่แล้ว คิดแค่ว่าจบสถาปัตย์มาก็ต้องเรียนสถาปัตย์ต่อสิ แล้วสาขาตอนปริญญาโทที่เราเลือกมันเน้นเรื่องคอนเซ็ปต์หนักมาก เน้นไอเดีย เน้นวิธีคิด มันไม่ค่อย Practical เท่าไหร่ในชีวิตจริง แต่เราชอบมาก เพราะรู้ว่าตัวเองไม่เก่งด้านเทคนิค แต่เก่งเรื่องไอเดีย ตอนเรียนอาจารย์บางคนถึงกับบอกเลยว่า ไม่ต้องสนใจหรอกว่าคุณจะสร้างมันออกมาได้ยังไง สิ่งนั้นไปเรียนต่อในชีวิตจริงได้ ถ้าคุณทำโมเดลออกมาได้ มันก็ต้องสร้างได้” 

โจทย์ในวิชาเรียนตอนนั้นให้ความสำคัญที่กระบวนการในความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก เช่น การออกแบบสถาปัตยกรรมจากบทเพลง ให้วิเคราะห์จังหวะ โน้ต แล้วปรับพัฒนาออกมาเป็นสถาปัตยกรรมที่ใช้งานได้จริง

เจ สุนทรสวัสดิ์ นักออกแบบไทยเบื้องหลัง Window Displays ของห้างดังในนิวยอร์กตลอด 20 ปี
02

แม้จะชอบวิชาสถาปัตย์แค่ไหน ส่วนที่เขาชอบคือครีเอทีฟไอเดีย ซึ่งเมื่อทำงานในชีวิตจริงมันไม่เป็นไปอย่างใจทุกครั้ง เพราะสุดท้ายวิชาชีพสถาปนิกส่วนใหญ่ต้องทำตามโจทย์ของลูกค้าเป็นหลัก

ช่วงใกล้เรียนจบปริญญาโท เขาได้ลงเรียนวิชาภาพถ่ายและ Installation Art ของคณะ Fine Arts และทำงานออกมาได้ดีกว่าเพื่อนคนอื่นๆ จึงย้ายไปอยู่นิวยอร์กหลังเรียนจบ และตัดสินใจเรียนต่อเพื่อปริญญาโทอีกใบที่ School of Visual Arts แต่คราวนี้เป็นคณะศิลปะโดยไม่สนใจแล้วว่าตัวเองจะวาดรูปเก่งหรือไม่

“เราเรียนสาขาภาพถ่าย แต่เขาไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นภาพถ่ายเท่านั้น เพราะงานอาร์ตไม่ควรจำกัดอยู่แค่สื่อใดสื่อหนึ่ง เข้าไปแรกๆ ก็ทำงานถ่ายรูปแหละ ไปๆ มาๆ ก็เน้นงาน Installation โดยนำภาพถ่ายมาประกอบการทำ Installation ในสเปซสเปซหนึ่ง ซึ่งก็ตรงกับที่เรียนสถาปัตย์มา เราเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ในสเปซ เราก็เอาทุกอย่างมาผสมผสานเข้าด้วยกัน”

งานอาร์ตตอบเขาเรื่องความเป็นตัวของตัวเอง การได้ทำตามใจตัวเองทุกอย่าง แต่ความจริงอีกข้อที่มองข้ามไม่ได้คือ ศิลปินส่วนใหญ่ไม่สามารถเลี้ยงชีพจากการทำงานศิลปะอย่างเดียว ส่วนใหญ่ต้องทำงานเสริมควบคู่กัน งานเสริมของเจในตอนนั้นคืองานกราฟิกดีไซน์

“คนเรียนอาร์ตทุกคนก็ใฝ่ฝันว่าจะเรียนจบมาเป็นศิลปินเต็มตัว ได้แสดงงานในแกลเลอรี่ มีคนมาซื้องาน ซึ่งในชีวิตจริงก็ไม่เป็นแบบนั้น ช่วงแรกๆ เราทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ซึ่งพอทำไปก็รู้ว่าเป็นอะไรที่เราไม่ชอบ เราไม่ชอบงานที่ต้องนั่งโต๊ะ จำเจ ไม่ชอบงานที่ต้องเข้าออกเป็นเวลา นั่งทั้งวันอยู่ที่เดิม เราชอบไปๆ มาๆ รักอิสระ ทำงานนั้นอยู่ปีกว่า แล้วถึงจับพลัดจับผลูได้มาทำวินโดว์ดิสเพลย์”

เจ สุนทรสวัสดิ์ นักออกแบบไทยเบื้องหลัง Window Displays ของห้างดังในนิวยอร์กตลอด 20 ปี
03

เจเล่าว่าสมัยนั้นเขาเป็นแฟนวินโดว์ดิสเพลย์ของห้าง Barneys ซึ่งเป็นยุคของ ไซมอน ดูแนน (Simon Doonan) นักออกแบบที่มีผลงานสนุกสนานให้เห็นอยู่เสมอ เขาอยากทำงานกับไซมอนมาก แต่แทนที่จะส่งใบสมัครงานเหมือนคนอื่นๆ ทั่วไป เจลองทำผลงานศิลปะสนุกๆ ชิ้นเล็กๆ ชิ้นหนึ่ง แล้วส่งไปให้ไซมอนที่ออฟฟิศโดยไม่ให้ข้อมูลอะไรเลยนอกจากชื่อและเบอร์โทรศัพท์ รออยู่ไม่นานก็ได้รับโทรศัพท์กลับมาที่บ้าน

“จำได้เลย ไซมอนโทรมาแล้วบอกว่า ชอบงานที่ส่งมาให้มาก เขาเอากลับมาที่บ้านเลย แล้วก็พูดเสริมว่า อาชีพทำวินโดว์ดิสเพลย์นี่เงินไม่เยอะนะ” เจหัวเราะ “แถมไม่ค่อยมีตำแหน่งสูงๆ ว่างด้วย ส่วนใหญ่มีแค่ตำแหน่งจูเนียร์เด็กๆ แต่เขาก็ชอบผลงานของเรา และยังติดต่อกันมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้”

โอกาสแรกผ่านไป แล้วโอกาสที่สองก็เข้ามา

Barneys เป็นห้างยักษ์ใหญ่ในนิวยอร์กที่มีบุคลิกวัยรุ่น เปรี้ยวซ่า ฮิป และเก๋ มีห้างกึ่งๆ คู่แข่งคือ Bergdorf Goodman ที่หรูหรา ไฮโซ และดูเป็นผู้ใหญ่มากกว่า ตอนนั้นเจมีคนรู้จักทำงานตำแหน่ง Production Manager ของห้างแห่งนี้ ซึ่งเป็นคนชวนเขาเข้าวงการออกแบบวินโดว์ดิสเพลย์เป็นครั้งแรก

“วันแรกที่เริ่มงาน เขาก็ให้จัดโน่นจัดนี่ มีงานวินโดว์ที่ดีไซน์มาแล้ว แต่ตอนติดตั้งไม่มีคนทำสไตลิ่งสวยๆ ได้ การดีไซน์วินโดว์นั้นคือการให้ของทุกอย่างวางอยู่บนผนัง เหมือนเรามองมาจากข้างบน เก้าอี้ หุ่น ก็ต้องวางบนผนัง แล้วแรงโน้มถ่วงตามหลักความจริงจะตกลงพื้น แต่ในวินโดว์มันต้องตกไปทางผนัง คนอื่นที่ทำมาก่อนไม่ถูกใจ Window Director พอเราลองทำแล้วออกมาดี เขาก็เลยเริ่มจับตามองเราตั้งแต่วันนั้น และเราก็ได้ทำงานที่มีความรับผิดชอบมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ได้ออกแบบ Christmas Window”

ทีมของเจส่วนใหญ่ไม่มีใครเรียนตรงด้านนี้เลยสักคน แม้จะมีสอนที่ FIT (Fashion Institute of Technology) แต่กลายเป็นว่าคนที่มาทำงานนี้เป็นคนที่ไม่ได้เรียนมาทั้งนั้น บางคนจบศิลปะ เขาจบสถาปัตย์ บางคนจบดนตรีคลาสสิก แต่ทุกคนมีหัวด้านความคิดสร้างสรรค์เป็นทุนเดิม

เจ สุนทรสวัสดิ์ นักออกแบบไทยเบื้องหลัง Window Displays ของห้างดังในนิวยอร์กตลอด 20 ปี
เจ สุนทรสวัสดิ์ นักออกแบบไทยเบื้องหลัง Window Displays ของห้างดังในนิวยอร์กตลอด 20 ปี
04

“ความท้าทายของงานนี้สำหรับคนที่ไม่เคยทำมาก่อนคืออะไร” เราสงสัย

เจนิ่งคิดสักพักพร้อมเกริ่นว่า พื้นฐานทางสถาปัตย์และศิลปะช่วยเขาในการทำงานเยอะมาก ทำให้รู้หลักทั่วไปของการจัดองค์ประกอบต่างๆ ไม่ต้องมานั่งคิดวิเคราะห์โดยละเอียดทุกงาน เพราะมันเป็นระบบอัตโนมัติไปแล้ว

เขานิ่งคิดเรื่องความท้าทายอีกครั้ง 

“เราไม่รู้สึกว่ามันท้าทาย รู้สึกสนุกกับมันมากกว่า เพราะตอนทำงานค่อนข้างมีอิสระมาก เลยไม่รู้สึกกดดันว่าใครจะชอบไหม ความท้าทายจริงๆ ตอนออกแบบไม่เท่าไหร่หรอก แต่สำหรับคนที่ไม่เคยทำมาก่อนเลย ตอนติดตั้งนี่สิ ถ้ามันเป็นห้องโล่งๆ ใหญ่ๆ มีผนังตรงกลาง เราคงทำได้ไม่ยากเลย แต่ด้วยความที่ที่มันแคบนิดเดียว ลึกแค่สี่ฟุต วางอะไร ติดอะไรไปจะถอยมาดูก็ดูไม่ได้ จะดูทีต้องวิ่งออกไปนอกห้าง

“ยิ่งถ้าเป็นวินโดว์ช่วงเทศกาลคริสต์มาส พร็อพจะเยอะมากๆ ของแน่นแบบแน่นจริงๆ ความท้าทายคงเป็นการทำงานในที่แคบโดยไม่ชนของที่ติดตั้งไปแล้วจนเสียหาย บางทีต้องลอดใต้เก้าอี้เพื่อไปโผล่อีกทาง เห็นหน้าต่างบานใหญ่แบบนี้มันไม่ใช่เดินเข้าไปง่ายๆ นะ”

เขาหัวเราะพลางเปิดรูปหน้าต่างขนาดสูง 13 ฟุต กว้าง 4 ฟุต ของ Bergdorf Goodman บนถนน Fifth Avenue ไปด้วย

เจ สุนทรสวัสดิ์ นักออกแบบไทยเบื้องหลัง Window Displays ของห้างดังในนิวยอร์กตลอด 20 ปี
05

ห้าง Bergdorf Goodman มีหน้าต่างทั้งหมด 3 ด้าน ฝั่งด้านหน้าถนน Fifth Avenue ฝั่งด้านข้างเลียบถนน 57th และ 58th

แต่ก่อน ฝั่งถนน Fifth Avenue ต้องเปลี่ยนวินโดว์ทุก 10 วัน เพราะห้างมีความตั้งใจว่า ลูกค้ามาแต่ละครั้งต้องไม่เห็นดิสเพลย์แบบเดิม ส่วนด้านข้างเปลี่ยนทุก 3 สัปดาห์ ในการเปลี่ยนแต่ละครั้งใช้เวลา 1 วันเต็ม โดยเริ่มจากการเอาดิสเพลย์เก่าลงก่อนห้างเปิด ทำการติดตั้งทุกอย่างในวันนั้นตั้งแต่ 6 โมงเช้าไปจนถึงหลังเที่ยงคืน โดยแบ่งเป็นทีมเช้ากับทีมบ่าย

มายุคหลังมีการยืดเวลาวินโดว์แต่ละเซ็ตออกไปเป็นทุกๆ 2 สัปดาห์ บางช่วงเปลี่ยนเฉพาะเสื้อผ้า และเก็บเครื่องตกแต่งอย่างอื่นเอาไว้

“ข้อดีของ Bergdorf Goodman คือมีห้างเดียว ที่เดียว ไม่มีสาขา วินโดว์ก็ทำแค่ที่เดียว ไม่ต้องทำซ้ำ เป็น One of a Kind ไม่เหมือนร้านแบรนด์ใหญ่ๆ ที่ต้องทำเหมือนกันหมด กระจายไปหลายร้อยสาขา พอมีสาขาเดียว เราจะทำเว่อวังแค่ไหนก็ได้ ทำพร็อพก็ทำแค่ชิ้นเดียว โดยไม่ต้องมานั่งเป็นห่วงว่าจะผลิตได้จริงหลายร้อยชิ้นไหม และการติดตั้งจะมีความซับซ้อนอะไรหรือเปล่า

“มีปีหนึ่งเราไปเที่ยวปารีส แล้วมีคนส่งไปคุยกับ Dior และในที่สุดก็ได้มีโอกาสออกแบบ Christmas Window ให้ร้านทั่วโลกในปีนั้น ตอนนั้นเรามีข้อจำกัดคือ เราทดลองทำอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ มากไม่ค่อยได้ เพราะหนึ่ง เรื่องโปรดักชันและการทำซ้ำหลายร้อยช็อปทั่วโลก และสอง เอกลักษณ์ของแบรนด์เขามีชัดเจนมาก แล้วตอนนั้นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ จอห์น แกลลิอาโน (John Galliano) เพิ่งโดนให้ออก และยังไม่มีดีไซเนอร์ใหม่ เราก็เลยทำอะไรแรงๆ ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งไม่ได้ ต้องนิ่งๆ กลางๆ 

“เรามีเวลาคิดก่อนล่วงหน้าแค่หกเดือน เป็นหกเดือนที่กระชั้นมาก เพราะเขาต้องสั่งทำโปรดักชันที่ประเทศต่างๆ ในอเมริกาทำที่นิวยอร์ก ยุโรปที่ฝรั่งเศส เอเชียที่จีน แล้วเวลาดีไซน์แล้วต้องใช้แบบนั้นเลย ในขณะที่ Bergdorf เปลี่ยนได้ตลอด บางทีทำเสร็จแล้วยังเข้าไปเปลี่ยนโน่นเติมนี่อยู่เลย การทำวินโดว์ให้แบรนด์มันเลยมีข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป”

06

งานออกแบบวินโดว์ดิสเพลย์ที่ Bergdorf Goodman ไม่ได้เริ่มจากโจทย์ของลูกค้า แต่เริ่มจากทีมงาน ประชุมคุยกันว่าจะเลือกคอนเซ็ปต์ไหน จะพัฒนาต่อยังไง และเป็นแผนกที่ได้รับความไว้วางใจจนแม้แต่ซีอีโอของห้างก็ไม่ต้องอนุมัติ

“ถ้าต้องอนุมัติจะกลายเป็นความกังวลของเรา กลัวเขาไม่ชอบ จะทำไม่ได้เต็มที่ แทนที่จะได้เป็นตัวของตัวเอง ก็ต้องมานั่งระแวงว่าเขาจะรู้สึกยังไง แล้ววินโดว์ที่นี่ไม่ค่อยเน้นตัวสินค้ามากเท่าไหร่ เพราะวินโดว์ดิสเพลย์ก็เป็นงานโฆษณาชนิดหนึ่ง เราเน้นภาพลักษณ์ของห้าง เน้นอิมเมจของห้างในระยะยาว มากกว่าพยายามขายเสื้อผ้าเพียงไม่กี่ชิ้นที่อยู่ในวินโดว์ ณ ตอนนั้น อันนั้นเป็นเรื่องรอง เป็นผลพลอยได้ที่จะตามมาอยู่แล้ว

“เวลาทำงานจะเริ่มจากการดีไซน์วินโดว์ตามคอนเซ็ปต์ที่เราต้องการก่อน โดยไม่คำนึงถึงเสื้อผ้าที่จะเอามาใช้ แล้วค่อยให้สไตลิสในทีมไปหาเสื้อผ้าที่เข้ากับวินโดว์ แต่นานๆ ทีจะมี Special Window ในร้าน ซึ่งอาจจะเป็นการโปรโมตดีไซเนอร์ในซีซั่นนั้นๆ อันนั้นก็ต้องออกแบบเซ็ตให้เข้ากับเสื้อผ้า”

ช่วงคริสต์มาส ทีมงานทำวินโดว์ดิสเพลย์จะคึกคักสนุกสนานที่สุด แต่อย่าคาดว่าจะได้เห็นต้นคริสต์มาส ช่อมิสเซิลโทล หรือหุ่นซานตาคลอสที่นี่เลยเชียว เพราะการตีโจทย์ของพวกเขานั้นลึกยิ่งกว่า และเขาไม่มีทางเล่าเรื่องอย่างตรงไปตรงมา

“เราเน้นความ Festive ความสนุกสนาน ในมุมมองที่ต่างออกไป ไม่บอกโต้งๆ แบบที่เห็นกันบ่อยๆ คริสต์มาสของเราจะ Maximal สุดๆ มีของเยอะมากๆ คนดูต้องใช้เวลานานในการค้นหาดีเทลต่างๆ เพราะเราชอบแอบซ่อนอะไรเล็กๆ น้อยๆ เอาไว้ ถ้าคนมองเห็นก็จะรู้สึกดี แต่ก็ไม่ชอบอธิบายงานตัวเองมาก อยากให้เขาเห็นเองตีความเองมากกว่า เหมือนเวลาไปดูหนังหรือดูงานศิลปะ แล้วแต่ว่าคนจะตีความอะไรยังไง เราไม่ต้องอธิบายจนเคลียร์ขนาดนั้นก็ได้ มีปีหนึ่งทำ Christmas Window เป็นสีขาวดำ หลอนๆ นิดหนึ่ง ปีนั้นดังมาก คนชอบมากๆ ว่าสามารถทำ Christmas Window แบบนี้ได้ จนหนังสือพิมพ์เขียนชม”

งานนี้ไม่มีทางทำคนเดียวได้สำเร็จ เจย้ำอย่างนี้ตลอดบทสนทนาในวันนั้น 

ไอเดียสุดท้ายต้องอาศัยการรวมหัวต่อยอดและพัฒนาจากความเห็นหลายๆ คน งานเทคนิคบางอย่างที่คนในทีมไม่ถนัดอย่างเครื่องยนตร์หรืองานก่อสร้างบางอย่าง ก็ต้องอาศัยคนจากข้างนอก ส่วนไอเดียก็มาจากสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว จากจินตนาการของเจ สิ่งที่เจอในชีวิตประจำวัน แค่สิ่งเล็กๆ ก็อาจจุดประกายให้เกิดไอเดียยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมาได้เช่นกัน

“ที่มาของไอเดียมันมาจากทุกทิศทาง ส่วนใหญ่ไอเดียจะมาตอนสมองว่างๆ โล่งๆ ไม่ได้คิดอะไรมาก เราจะพยายามทำอะไรที่แปลกใหม่และคาดไม่ถึงมากกว่าที่จะทำให้มันออกมาสวยๆ เฉยๆ เพราะปกติคนทั่วไปก็คาดว่าจะเห็นอะไรสวยงามอยู่ในตู้โชว์สินค้าอยู่แล้ว ถ้าเราทำออกมาแค่ให้สวยมันก็เท่านั้นแหละ คนเขาคาดเอาไว้แล้วว่ามันจะต้องเป็นแบบนี้ สู้ทำอะไรที่คนคาดไม่ถึงจะดีกว่า และคนก็จำได้นานกว่าด้วย”

เจ สุนทรสวัสดิ์ นักออกแบบไทยเบื้องหลัง Window Displays ของห้างดังในนิวยอร์กตลอด 20 ปี
เจ สุนทรสวัสดิ์ นักออกแบบไทยเบื้องหลัง Window Displays ของห้างดังในนิวยอร์กตลอด 20 ปี
07

การทำวินโดว์ดิสเพลย์เหมือนการทำโฆษณาอย่างหนึ่ง ยิ่งนิวยอร์กเป็นเมืองคนเดิน รีบเร่งไปสู่จุดหมาย ใช้ความเร็วตลอดเวลา จนบางครั้งไม่มีแม้แต่เวลาหยุดมองสิ่งรอบตัวระหว่างทาง หนึ่งในเป้าหมายของเจคือ การสร้างผลงานที่จะหยุดคนเดินเท้าให้มาสนใจเรื่องราวหลังบานกระจกในเวลาอันสั้น

“วินโดว์ไม่เหมือนอาร์ตแกลเลอรี่หรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่คนแพลนไปดู นอกจากที่เราต้องทำให้คนเดินถนนหยุดดูดิสเพลย์ได้แล้ว ความสำเร็จของเราก็ไม่ได้อยู่ที่คนดูชอบหรือไม่ชอบเสียทีเดียว เราทำงานก็ไม่ได้แข่งกับใคร ไม่ได้แข่งกับห้างอื่น ห้างอื่นเขาก็มีสไตล์ของเขา Barneys ก็เป็นสไตล์หนึ่ง Macy’s ก็เป็นสไตล์หนึ่ง Saks ก็อีกสไตล์หนึ่ง เราแข่งกับตัวเอง งานชิ้นนี้ต้องดีกว่างานที่เคยทำมา ต้องดีกว่างานของปีที่แล้ว หรืออย่างน้อยก็ดีพอๆ กันในทิศทางที่แตกต่างออกไป มันเป็นเรื่องที่ยากกว่า เพราะทุกอย่างอยู่ที่ความพอใจของเรา

“เวลาคนมาดูแล้วเขาชอบ อาจจะเพราะแปลกหรืออะไรก็ตาม แต่พอเราดูเองก็จะชอบอยู่แป๊บหนึ่ง แล้วจะรู้สึกอยากเปลี่ยนตรงนั้น อยากปรับตรงนี้ เราจะเห็นจุดที่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้อยู่เสมอ อาจจะเป็นนิสัยส่วนตัว หรือไม่ก็ความเป็นศิลปินของตัวเองด้วย

“ความสำเร็จมันเลยไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคนอื่นพอใจหรือเปล่า แม้เราจะชอบมายืนแอบฟังว่าคนดูเขาพูดถึงมันว่าอะไร วิจารณ์ว่าอะไร แต่ถ้าเขาชอบแล้วเราไม่ชอบ มันก็เท่านั้น”

08

ครั้งหนึ่งศิลปินระดับตำนานอย่าง ซัลบาดอร์ ดาลี (Salvador Dali) และ แอนดี วอร์ฮอล (Andy Warhol) เคยออกแบบวินโดว์ดิสเพลย์มาก่อน แต่ครั้งนี้เราจะพามาดูผลงานของ เจ-นพณัฐ สุนทรสวัสดิ์ นักออกแบบชาวไทย หนึ่งในเบื้องหลังหน้าต่างสวยๆ ของห้างสรรพสินค้าแห่งนี้

The Crystal Ball

เจ สุนทรสวัสดิ์ นักออกแบบไทยเบื้องหลัง Window Displays ของห้างดังในนิวยอร์กตลอด 20 ปี

“นี่เป็น Christmas Window ที่เน้นการพยากรณ์โชคชะตาอนาคตในรูปแบบต่างๆ ทั้งดูอนาคตจากลูกแก้ว จากไพ่ยิปซี ดูลายมือ หรือว่าอยากจะหมุนวงล้อทำนายโชคชะตาก็ได้นะ วงล้อของจริงหมุนอยู่ตลอดเวลาทุกวง แต่ที่สำคัญคือมีลิงเป็นหมอดู และสาวใส่ Gucci ก็ไปดูหมอกับเจ้าลิงนี้ ทุกพื้นผิวในวินโดว์นี้ถูกปกคลุมด้วยคริสตัลจาก Swarovski เป็นล้านเม็ด เอามาติดด้วยมือทีละเม็ด แม้กระทั่งผ้าปูโต๊ะก็เป็นคริสตัลแท้ คริสต์มาสปีนั้น Swarovski เป็นสปอนเซอร์ ให้คริสตัลเราฟรีทุกอย่างตามต้องการ” 

1,001 Ways to Say “Season’s Greetings”

เจ สุนทรสวัสดิ์ นักออกแบบไทยเบื้องหลัง Window Displays ของห้างดังในนิวยอร์กตลอด 20 ปี

“Christmas Window บนถนน 57th ด้านข้าง จะเรียบง่ายกว่าบน Fifth Avenue ด้านหน้าเสมอ นี่เป็นงานที่ดูเป็นคริสต์มาสที่สุดแล้วที่เคยทำมา เป็นหนึ่งในสามวินโดว์ของเซ็ตนี้ ซึ่งนำเสนอวิธีการสื่อสารอวยพรในอดีตในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่โทรเลข โทรศัพท์ ซึ่งในวินโดว์นี้ก็คือการเขียนจดหมาย มีดีเทลต่างๆ เช่น จดหมายมีปีกบินก็คือ Air Mail มีคนเดินจูงหอยทาก (แทนที่จะจูงหมา) แบกถุงจดหมายไปส่ง ซึ่งฝรั่งเรียกว่า Snail Mail เป็นการส่งจดหมายแบบช้าๆ ธรรมดา ส่วนประกอบทุกอย่างเป็นชิ้นส่วนจากภาพพิมพ์เก่าจากแหล่งต่างๆ นำมาประกอบเข้าด้วยกันล้วนๆ”

Recollect

เจ สุนทรสวัสดิ์ นักออกแบบไทยเบื้องหลัง Window Displays ของห้างดังในนิวยอร์กตลอด 20 ปี

“Surreal Photo Studio ที่เต็มไปด้วยสิ่งของและภาพถ่ายในความทรงจำต่างๆ มากมายผ่านกาลเวลา มีหญิงสาวฝาแฝดมานั่งให้ช่างภาพถ่ายรูป แต่ถ้าสังเกตดูสักพัก จะเห็นว่าไม่เพียงแต่หญิงสาวคู่นี้เท่านั้นที่เป็นฝาแฝด มีฝาแฝดอีกมากมายที่แอบแฝงอยู่ในวินโดว์นี้ ตั้งแต่หมาฝาแฝด นกฝาแฝด อีกาฝาแฝด หุ่นคนแฝด แม้แต่รูปภาพในกรอบที่วางบนโต๊ะ ก็เป็นรูปภาพเด็กฝาแฝดในสมัยโบราณทุกรูป”

A Compendium of Curiosities

เจ สุนทรสวัสดิ์ นักออกแบบไทยเบื้องหลัง Window Displays ของห้างดังในนิวยอร์กตลอด 20 ปี

“คริสต์มาสบนถนน Fifth Avenue ในปีนั้นได้แรงบันดาลใจมาจาก Alice in Wonderland แต่เราเอามาปรับอีกที วินโดว์นี้เป็นห้องสมุดแห่งจินตนาการที่เต็มไปด้วยสิ่งของต่างๆ ที่อลิสได้ไปพบเจอจากการผจญภัยในความฝัน แอบอยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วไป ตั้งแต่หนังสือเล่มยักษ์ที่เปิดมาเป็นฉากปาร์ตี้น้ำชา หนังสือที่โดนเจ้ากระต่ายเจาะเป็นโพรงลงไปใต้ดิน กุญแจขนาดต่างๆ หมูกับพริกไทย ราชินีแห่งหัวใจที่สั่งให้ทาสีดอกกุหลาบขาวเป็นกุหลาบแดง และอื่นๆ อีกมากมาย พร็อพทั้งหมดในวินโดว์นี้เป็นกระดาษ ทำด้วยมือทุกชิ้น”

Teacher’s Pets

เจ สุนทรสวัสดิ์ นักออกแบบไทยเบื้องหลัง Window Displays ของห้างดังในนิวยอร์กตลอด 20 ปี

“นี่ก็เป็น Christmas Window ที่ทำเป็นห้องสมุดอีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นห้องสมุดทางสัตววิทยา (Zoology) ที่เต็มไปด้วยหนังสือและข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ต่างๆ หนังสือแต่ละเล่มก็จะเกี่ยวกับสัตว์แต่ละชนิด หนังสือที่เกี่ยวกับงู ก็มีงูเลื้อยเข้าทะลุไปในหนังสือมาทะลุโผล่ออกมาอีกทางยั้วเยี้ยไปหมด อีกเล่มก็โดนแมงมุมเจาะหน้ากระดาษจนเป็นใยแมงมุมเลย ส่วนผึ้งก็เอาหนังสือบนพื้นมาทำเป็นรังผึ้งอย่างสนุกสนาน ชื่อไตเติ้ลของวินโดว์นี้คือ Teacher’s Pets ซึ่งเป็นการเล่นคำและเอาสำนวนของฝรั่ง (ที่ไม่ได้เกี่ยวกับสัตว์เลย) มาใช้ ซึ่งที่จริงเขาแปลว่า ศิษย์โปรดของครู”

Bergdorf Goodies

เจ สุนทรสวัสดิ์ นักออกแบบไทยเบื้องหลัง Window Displays ของห้างดังในนิวยอร์กตลอด 20 ปี

“เราเล่นกับชื่อห้างจาก Bergdorf Goodman เป็น Bergdorf Goodies เพราะ Christmas Window ปีนั้นเป็นธีมขนมต่างๆ ทั้งถนน วินโดว์นี้เป็นโรงงานทำขนมและไอศกรีมแบบต่างๆ ที่อยู่ในห้องทำความเย็นจัด เครื่องยนต์และฟันเฟืองบางส่วนหมุนและเลื่อนขึ้นลงไปมาได้ เรามีผู้ให้บริการเป็นหุ่นยนต์ขนาดยักษ์”

Daredevil

เจ สุนทรสวัสดิ์ นักออกแบบไทยเบื้องหลัง Window Displays ของห้างดังในนิวยอร์กตลอด 20 ปี

“นี่เป็นวินโดว์ปกติระหว่างปี ซึ่งติดตั้งอยู่แค่สองอาทิตย์ เป็นหนึ่งในเซ็ตที่นำเสนอการท้าทายความกล้าหาญในรูปแบบต่างๆ เป็นต้นว่า ชวนให้แต่งตัวสวยใส่ส้นสูงกางร่มเดินไต่เชือกเส้นเดียวเหนือบึงจระเข้ที่หิวโหย”

Extension

เจ สุนทรสวัสดิ์ นักออกแบบไทยเบื้องหลัง Window Displays ของห้างดังในนิวยอร์กตลอด 20 ปี

“นี่เป็นตัวอย่างที่ดีอีกชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า เราทำวินโดว์เพื่อดึงดูดความสนใจและทดลองอะไรที่แปลกใหม่ ตอนนั้นที่ห้างมี Special Event ที่เราต้องทำเพื่อโปรโมตหนังสือของ Visionaire สาวสวยคนนี้ยืดขายาวเฟื้อยขึ้นไปจัดหนังสือบนชั้นจนทะลุเพดานขึ้นไปเลย ไม่เพียงเท่านั้น เธอยืดยาวขึ้นไปแล้วยังกลับมาโผล่ออกมาจากพื้นอีกด้วย วินโดว์นี้มีเสื้อที่ห้างขายอยู่ในวินโดว์เพียงแค่ตัวเดียว แต่ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นเกินคาด”

ภาพวินโดว์ดิสเพลย์ : Ricky Zehavi

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล