มาถึงตอนที่ 3 กันแล้วนะครับ เรามากันเกินครึ่งทางไปเรียบร้อย พร้อมกับทศชาดกที่ผมได้นำเสนอไปแล้วทั้งสิ้น 6 เรื่องด้วยกัน และเราจะยังคงไปกันอย่างต่อเนื่องกันชาดกอีก 3 เรื่องนั่นก็คือ ลำดับที่ 7 จันทกุมารชาดก ลำดับที่ 8 นารทชาดก และลำดับที่ 9 วิธุรชาดก 

แต่ก่อนจะไปกันต่อ ขอเล่าเกร็ดเกี่ยวกับชาดกอีกสักเรื่อง เพราะนอกจากชื่อชาดกที่มักสัมพันธ์กับชื่อของพระพุทธเจ้าในชาตินั้นๆ แล้ว ตอนต้นกับตอนจบของชาดกทุกเรื่องจะมีลักษณะร่วมกันอยู่เรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ มักจะเปิดด้วยการเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่นำไปสู่การเล่าชาดกเรื่องนั้น และปิดด้วยการเฉลยว่า ตัวละครสำคัญใดที่มาเกิดเป็นใครในชาตินี้ เช่น ตัวละครเอกของเรื่องมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ตัวร้ายของเรื่องมาเกิดเป็นพระเทวทัต บิดามารดาของตัวละครเอกมาเกิดเป็นพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายา เป็นต้น

ดังนั้น ถ้าอยากจะสนุกกับการอ่านชาดก ผมอยากให้ลองเดากันไปด้วยเลยครับว่า ตัวละครไหนน่าจะมาเกิดเป็นใครในสมัยพุทธกาลบ้าง แล้วค่อยไปเช็กคำตอบว่าทายถูกรึเปล่าครับ

เอาล่ะ ได้เวลาเข้าเรื่องแล้วครับ เรามาทำความรู้จักกับทศชาติชาดกทั้ง 3 เรื่องนี้กันครับผม

‘จันทกุมารชาดก’ คือชาดกลำดับที่ 7 ในทศชาติชาดก ซึ่งพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระจันทกุมารและทรงบำเพ็ญขันติบารมี คือความอดทนเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายที่ดีงาม พระจันทกุมารเป็นโอรสของพระเจ้าเอกราชแห่งเมืองบุปผวดี (ในที่สุดก็มีเมืองใหม่แล้ว) พระเจ้าเอกราชมีกัณฑหาลพราหมณ์เป็นราชปุโรหิตผู้ทำหน้าที่ตัดสินคดีต่างๆ แต่ราชปุโรหิตคนนี้เป็นคนไม่เที่ยงธรรม ชอบรับสินบน จนเมื่อพระจันทกุมารเจริญวัยจนตัดสินได้อย่างเที่ยงธรรม พระบิดาก็ยกหน้าที่นี้ให้จัดการแทน ทำให้กัณฑหาลพรหมณ์แค้น 

พอสบโอกาส พระเจ้าเอกราชฝันเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และปรารถนาจะไป ราชปุโรหิตจึงหลอกให้พระเจ้าเอกราชบูชายัญด้วยของ 4 หมวด ได้แก่ พระราชบุตรพระราชธิดา พระมเหสี ม้ามงคล และโคอุสุภราช (คือจริงๆ ตั้งใจจะฆ่าพระจันทกุมารคนเดียว แต่ลากคนอื่นมาด้วยเพื่อให้ดูสมเหตุสมผล) พระเจ้าเอกราชเชื่อ แม้จะมีผู้ทัดทานก็ไม่เป็นผล ร้อนถึงพระอินทร์ต้องเสด็จลงมาทำลายพิธี ชาวเมืองที่โกรธแค้นจะเข้ามาทำร้ายพระราชาและราชปุโรหิต แต่พระจันทกุมารห้ามไว้ โดยให้เนรเทศพระบิดาออกจากเมืองและพระองค์ขึ้นครองราชย์แทนด้วยความชอบธรรม พร้อมกับปรนนิบัติพระบิดาในเวลาเดียวกัน

และเป็นที่แน่นอนว่า ฉากที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาดกเรื่องนี้ ก็คือชาดกที่พระอินทร์เสด็จลงมาพร้อมกับค้อนที่ลุกไหม้ราวกับเทพเจ้าธอร์แล้วทำลายพิธีบูชายัญของกัณฑหาลพราหมณ์ โดยพระอินทร์เหาะลงมาหักฉัตรในพิธี พร้อมกับความวุ่นวายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการสหบาทาของชาวเมืองใส่กัณฑหาลพราหมณ์ ส่วนฉากอื่น ต้องบอกว่า เนื่องจากฉากทำลายพิธีเป็นฉากใหญ่มาก ทำให้ผนังมักจะไม่ค่อยเหลือที่ไว้เขียนฉากอื่น แต่ก็พอจะมีฉากอื่นอยู่บ้าง เช่น ฉากที่กัณฑหาลพราหมณ์ไปยุยงเป่าหูให้พระเจ้าเอกราชประกอบพิธีบูชายัญ

เกร็ดที่น่าสนใจของพระชาติที่ 7 8 9 ใน ทศชาติชาดก บนวัดทั่วไทย, จิตรกรรมฝาผนัง
วัดสุวรรณาราม กรุงเทพมหานคร
เกร็ดที่น่าสนใจของพระชาติที่ 7 8 9 ใน ทศชาติชาดก บนวัดทั่วไทย, จิตรกรรมฝาผนัง
วัดวิเศษไชยชาญ จังหวัดอ่างทอง
เกร็ดที่น่าสนใจของพระชาติที่ 7 8 9 ใน ทศชาติชาดก บนวัดทั่วไทย, จิตรกรรมฝาผนัง
วัดใหญ่อินทาราม จังหวัดชลบุรี

ลำดับที่ 8 ในทศชาติชาดกก็คือ ‘นารทชาดก’ และนี่คือชาดกเรื่องที่ 2 ที่พระพุทธเจ้าไม่ได้เสวยพระชาติเป็นมนุษย์ ในชาดกเรื่องนี้พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นมหาพรหมนามนารทะ ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี คือความวางเฉย ไม่ยินดียินร้าย วางใจเป็นกลาง และยังเป็นชาดกที่พระพุทธเจ้ามีบทน้อยกว่าทศชาติชาดกเรื่องอื่น เพราะกว่าจะปรากฏตัวก็กลางเรื่องแล้ว

ในกาลหนึ่ง พระเจ้าอังคติราชครองเมืองมิถิลา (เมืองมิถิลากลับมาแล้ว) พระองค์ทรงมีพระธิดาองค์หนึ่งนามรุจาราชธิดา พระองค์ทรงครองเมืองด้วยทศพิธราชธรรม จนกระทั่งได้ไปฟังคำสอนของคุณาชีวกว่าบาปบุญนั้นไม่มีจริง หลังจากนั้น พระเจ้าอังคติราชก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ละเว้นราชกิจทั้งหมด แม้พระนางธิดาจะทัดทานก็ไม่ทรงฟัง นางรุจาราชกุมารีจึงทรงอธิษฐานให้เทพมาโปรดพระบิดา นารทะพรหมจึงเสด็จลงมาช่วยโดยแปลงเป็นนักบวชหาบสาแหรกทองคำมาสู่ปราสาทของพระเจ้าอังคติราช แสดงธรรมและบอกถึงความน่ากลัวของนรกภูมิ ทำให้พระราชาเมืองมิถิลาละมิจฉาทิฐิและกลับไปประพฤติตนตามเดิม พระนารทะพรหมจึงเสด็จกลับพรหมโลกตามเดิม

สำหรับชาดกเรื่องนี้ ฉากที่สำคัญที่สุดคงจะต้องเป็นฉากที่พระนารทะพรหมเสด็จลงมาพร้อมกับสาแหรกทองคำยมายังปราสาทพระเจ้าอังคติราช โดยการเหาะลงมามีทั้งที่มาในรูปของพรหม 4 หน้าอย่างที่เราคุ้นเคยกันและพรหมหน้าเดียว เพราะจริงๆ แล้ว ‘พรหม’ มีเพียงหน้าเดียวเท่านั้น แต่เกิดความสับสนกับ ‘พระพรหม’ เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ฮินดู ทำให้พรหมในงานศิลปกรรมไทยหลายครั้งทำเป็น 4 หน้าครับ 

และอีกหนึ่งฉากสำคัญที่พบบ่อย ก็คือการสนทนาระหว่างพระเจ้าอังคติราชและคุณาชีวก ที่เป็นเหตุให้พระพรหมนารทะต้องเสด็จลงมา โดยช่างอาจจะวาดขบวนเสด็จของพระเจ้าอังคติราชควบคู่กันไปด้วย นอกจากนี้ก็จะมีฉากอื่นๆ อย่างการโปรยทานที่เราจะเห็นว่า วิธีการที่ชาวบ้านรับของในการโปรยทานนั้น แทบไม่ต่างอะไรกับในปัจจุบันเลย 

เกร็ดที่น่าสนใจของพระชาติที่ 7 8 9 ใน ทศชาติชาดก บนวัดทั่วไทย, จิตรกรรมฝาผนัง
วัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี
เกร็ดที่น่าสนใจของพระชาติที่ 7 8 9 ใน ทศชาติชาดก บนวัดทั่วไทย, จิตรกรรมฝาผนัง
วัดช่องนนทรี กรุงเทพมหานคร
เกร็ดที่น่าสนใจของพระชาติที่ 7 8 9 ใน ทศชาติชาดก บนวัดทั่วไทย, จิตรกรรมฝาผนัง
วัดไพชยนต์พลเสพย์ จังหวัดสมุทรปราการ
เกร็ดที่น่าสนใจของพระชาติที่ 7 8 9 ใน ทศชาติชาดก บนวัดทั่วไทย, จิตรกรรมฝาผนัง
เกร็ดที่น่าสนใจของพระชาติที่ 7 8 9 ใน ทศชาติชาดก บนวัดทั่วไทย, จิตรกรรมฝาผนัง
วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

และลำดับที่ 9 ก็คือ ‘วิธุรชาดก’ หนึ่งในชาดกที่ชื่อสั้นสุดอีกเรื่องหนึ่ง ในพระชาตินี้ พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นวิธุรบัณฑิต บัณฑิตในราชสำนักของพระเจ้าธนัญชัยโกรพยะแห่งเมืองอินทปัตที่เคยแสดงธรรมแก่พระอินทร์ พญาครุฑ และพญานาค จนได้รับการชื่นชมอย่างมาก นางวิมาลา มเหสีของพญานาคอยากฟังแต่ไม่กล้าบอกตรงๆ จึงแสร้งว่าป่วยและบอกว่าอยากได้หัวใจของวิธุระ 

นางอิรันทตีผู้เป็นธิดาจึงป่าวประกาศว่าใครที่นำหัวใจของวิธุระมาได้จะยอมแต่งงานด้วย ปุณณกยักษ์จึงอาสาและท้าพนันสกากับพระเจ้าธนัญชัยโกรพยะ เมื่อปุณณกยักษ์ชนะจึงทูลขอวิธุรบัณฑิต พระองค์ก็ต้องยอมยกให้ วิธุระพร้อมไปแต่ขอไปลาครอบครัวก่อน จึงให้ปุณณกยักษ์พาตัวไป ระหว่างทางปุณณกยักษ์ทำทุกวิถีทางเพื่อฆ่าวิธุระแต่ก็ไม่เป็นผล สุดท้ายพอได้ฟังธรรมของวิธุรบัณฑิตก็ได้สติจะพากลับเมือง แต่วิธุระกลับให้ปุณณกยักษ์พาไปหานางวิมาลาเพื่อแสดงธรรมให้นางฟัง นางจึงเฉลยว่า ที่แท้ ‘หัวใจ’ ก็คือ ‘ปัญญาของบัณฑิต’ นั่นเอง จากนั้นก็ยกนางอิรันทตีให้ปุณณกยักษ์ตามสัญญา ส่วนปุณณกยักษ์ก็พาวิธุรบัณฑิตกลับราชสำนักเมืองอินทปัต

วิธุรชาดกถือเป็นชาดกอีกเรื่องที่มีความหลากหลายของฉากที่เขียนมาก โดยฉากสำคัญที่มักจะเขียน คือฉากความพยายามของปุณณกยักษ์ในการสังหารวิธุระด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขี่ม้าวิเศษฝ่าพายุ ฝ่าปาเขา ฝ่าภูเขา หรือฟาดกับภูเขา เหวี่ยงเต็มแรง ฟาดด้วยอาวุธ นอกจากนี้ก็ยังมีฉากสำคัญอื่นๆ ของเรื่องที่ช่างจะเลือกมาเขียน เช่น ปุณณยักษ์เกี้ยวนางอิรันทตี ปุณณยักษ์พนันสกากับพระเจ้าธนัญชัยโกรพยะภายในปราสาท วิธุระร่ำลาครอบครัว หรือวิธุรบัณฑิตแสดงธรรมแก่ปุณณกยักษ์ โดยฉากไหนจะถูกนำมาเขียนก็สุดแท้แต่ช่างโบราณจะเลือก

เกร็ดที่น่าสนใจของพระชาติที่ 7 8 9 ใน ทศชาติชาดก บนวัดทั่วไทย, จิตรกรรมฝาผนัง
วัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี
เกร็ดที่น่าสนใจของพระชาติที่ 7 8 9 ใน ทศชาติชาดก บนวัดทั่วไทย, จิตรกรรมฝาผนัง
วัดหน้าพระธาตุ จังหวัดนครราชสีมา
เกร็ดที่น่าสนใจของพระชาติที่ 7 8 9 ใน ทศชาติชาดก บนวัดทั่วไทย, จิตรกรรมฝาผนัง
วัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี
เกร็ดที่น่าสนใจของพระชาติที่ 7 8 9 ใน ทศชาติชาดก บนวัดทั่วไทย, จิตรกรรมฝาผนัง
วัดบวกครกหลวง จังหวัดเชียงใหม่
เกร็ดที่น่าสนใจของพระชาติที่ 7 8 9 ใน ทศชาติชาดก บนวัดทั่วไทย, จิตรกรรมฝาผนัง
วัดบางยี่ขัน กรุงเทพมหานคร

เราผ่านทศชาติชาดกมาแล้ว 9 เรื่อง เหลืออีกเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น และผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านน่าจะพอเดาได้ว่าผมจะต้องเอาเรื่องนี้มาปิด นั่นก็คือ ‘เวสสันดรชาดก’ ชาดกที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในประเทศไทยและพบในงานจิตรกรรมไทยมากที่สุดด้วยเช่นกัน ดังนั้น สำหรับตอนถัดไปที่จะเป็นตอนสุดท้ายของวิชานี้ เราจะมาทำความรู้จักกับเวสสันดาชาดกกันในมุมของงานศิลปะครับผม


เกร็ดแถมท้าย

  1. สำหรับใครอยากรู้เรื่องราวของทศชาติชาดกเวอร์ชันหนังสือพร้อมภาพประกอบ ผมขอแนะนำหนังสือ 3 เล่มเดิมครับ ความเข้าใจในจิตรกรรมไทยประเพณี ของ เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว หนังสือชุด ทศชาติกับจิตรกรรมฝาผนัง ของ นิดดา หงส์วิวัฒน์ แล่วก็หนังสือชุด ท่องทศชาติผ่านจิตรกรรม ของ อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย
  2. สำหรับใครที่เพิ่งมาอ่านบทความนี้หรือลืมชาดกเรื่องก่อนๆ ที่ผมเล่าให้ฟัง หรืออยากกลับไปอ่านใหม่ เชิญอ่านในตอนก่อนๆ ในซีรีส์ ชาดก 101 และ ชาดก 102 ได้เลยครับผม
  3. และสำหรับใครที่อยากดูแบบรายการเกมโชว์ที่มีภาพประกอบอื่นๆ หรือเรื่องราวอื่นก็ขอแนะนำรายการ แฟนพันธุ์แท้ ตอนทศชาติชาดก หาชมได้ YouTube ครับผม
  4. สำหรับใครที่สงสัยว่าทำไมวัดที่ผมเลือกมาดูซ้ำๆ กัน ส่วนหนึ่งเพราะผมพยายามเลือกรูปที่สวย น่าสนใจ และบอกเล่าฉากนั้นได้ชัดเจนที่สุด แต่อีกส่วนหนึ่งก็เพราะทศชาติชาดกเรื่องอื่นไม่ค่อยเป็นที่นิยมนอกภาคกลางเท่าไหร่ วัดก็เลยซ้ำกันสักหน่อยครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ