หลังจากผ่านตอนแรกไป ผมแนะนำให้รู้จักกับชาดก 3 พระชาติแรก ประกอบด้วย เตมีย์ชาดก มหาชนก และ สุวรรณสามชาดก ไปแล้ว วันนี้เราจะมาต่อกับทศชาติชาดกในลำดับที่ 4 เนมิราชชาดก ลำดับที่ 5 มโหสถชาดก และลำดับที่ 6 ภูริทัตตชาดก แต่ก่อนจะไปต่อ สังเกตไหมครับว่า วิธีการตั้งชื่อชาดกต่างๆ มักเป็นการนำชื่อของพระพุทธเจ้าในพระชาตินั้นๆ มาตั้งแทบทั้งสิ้น สังเกตได้จาก 3 ชาดกแรกที่ผมแนะนำให้รู้จักคราวก่อน ลองสังเกตจากชื่อของชาดกในตอนนี้และตอนต่อไปดูนะครับ

เราจะอารัมภบทกันแต่เพียงเท่านี้ ไปทำความรู้จักกับชาดกทั้ง 3 ชาตินี้กันเลยครับ

‘เนมิราชชาดก’ เป็นชาดกเรื่องที่ 4 และพระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมีหรือความตั้งใจ ความมั่นคงแน่วแน่ ในพระชาตินี้ทรงเสวยพระชาติเป็นพระเนมิราช กษัตริย์แห่งเมืองมิถิลา ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ทรงธรรม ทั้งบริจาคทาน รักษาพรหมจรรย์ และสั่งสอนให้ข้าราชบริพาร ตลอดจนประชาชนให้อยู่ในศีลธรรมอันดีจนเป็นเลื่องลือในหมู่เทวดา ถึงขนาดที่ต้องไปขอให้พระอินทร์เชิญพระเนมิราชมาเพื่อเทศนาสั่งสอนเทวดาบ้าง พระอินทร์จึงส่งมาตุลีเทพบุตรพร้อมกับเวชยันตร์ราชรถไปรับพระเนมิราชถึงเมืองมิถิลา พระเนมิราชทรงรับเชิญแต่ขอให้ทอดพระเนตรนรกก่อน มาตุลีเทพบุตรก็พาพระเนมิราชไปทอดพระเนตรสัตว์นรกที่ถูกทรมานด้วยวิธีการต่างๆ ก่อนเสด็จไปทอดพระเนตรสวรรค์และทรงแสดงธรรมโปรดพระอินทร์และเทวดาทั้งหลาย หลังจากนั้นจึงเสด็จกลับเมืองมิถิลาและสั่งสอนคนทั้งหลายถึงสิ่งที่พระองค์ทอดพระเนตรที่นรกและสวรรค์ จนผู้คนต่างสรรเสริญพระเนมิราชกันไปทั่ว

และก็เป็นที่แน่นอนครับว่าฉากที่เป็นที่นิยมที่สุดย่อมเป็นฉากการทอดพระเนตรนรกของพระเนมิราช ซึ่งมักจะวาดเป็นพระเนมิราชบนเวชยันตร์ราชรถ มีมาตุลีเทพบุตรขับอยู่ด้านหน้า รายล้อมไปด้วยฉากสัตว์นรกถูกทรมานด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ปีนต้นงิ้ว อยู่ในกระทะทองแดง โดนหลาวแทง เป็นต้น 

อีกฉากที่เป็นที่นิยมไม่แพ้กัน ก็คือฉากที่พระเนมีราชเทศนาสั่งสอนพระอินทร์และเทวดาทั้งหลายบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มักแสดงด้วยภาพสุธรรมเทวสภาพในรูปของปราสาทขนาดใหญ่ที่มีพระเนมิราชอยู่ตรงกลาง รายล้อมด้วยพระอินทร์และเทวดา ทั้งที่นั่งอยู่ในวิมานและกำลังเหาะมา โดยที่ฉากสวรรค์จะอยู่ในส่วนบนของผนังและฉากนรกจะอยู่ข้างล่าง

ตามไปดูฉากสำคัญใน ทศชาติชาดก พระชาติที่ 4 5 6 จากวัดทั่วไทย
วัดบวกครกหลวง จังหวัดเชียงใหม่
ตามไปดูฉากสำคัญใน ทศชาติชาดก พระชาติที่ 4 5 6 จากวัดทั่วไทย
วัดดิสานุการาม กรุงเทพมหานคร
ตามไปดูฉากสำคัญใน ทศชาติชาดก พระชาติที่ 4 5 6 จากวัดทั่วไทย
วัดสุวรรณาราม กรุงเทพมหานคร

ถัดมาคือ ‘มโหสถชาดก’ หนึ่งในชาดกที่มีความยาวมากที่สุดเรื่องหนึ่งในทศชาติชาดก พระโพธิสัตว์ทรงเสวยพระชาติเป็นพระมโหสถ โดยในพระชาติทรงบำเพ็ญปัญญาบารมีหรือความรู้ความเข้าใจในเหตุผลดีชั่ว คุณโทษ พระมโหสถเป็นบุตรของเศรษฐีในเมืองมิถิลา (และนี่ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่จะเห็นชื่อเมืองมิถิลาในซีรีส์นี้ครับ) 

โดยเหตุที่ได้ชื่อมโหสถนั้นเพราะเมื่อพระองค์เกิดทรงถือแท่งโอสถวิเศษมาด้วย และทรงใช้แท่งโอสถนี้รักษาผู้คน เมื่อเจริญวัยขึ้น ทรงเฉลียวฉลาดมาก แก้ปัญหาใดๆ ก็ตามได้ตั้งแต่อายุ 7 ปีจนเกือบจะได้เป็นราชบัณฑิตในราชสำนักของพระเจ้าวิเทหราช แต่ถูกบัณฑิตในราชสำนักทัดทานไว้ จนต้องมีการพิสูจน์ปัญญาของพระมโหสถอีกหลายต่อหลายครั้ง (บางเรื่องกลายเป็นสำนวนไทย เช่น กิ้งก่าได้ทอง) จนในที่สุดก็ได้เข้ามาเป็นราชบัณฑิตในราชสำนักของพระเจ้าวิเทหราช

ต่อมาพระเจ้าจุลนีพรหมทัตที่มีเกวัฏพราหมณ์เป็นปุโรหิตพร้อมด้วยกองทัพ 101 หัวเมืองได้เข้ามารุกรานเมืองมิถิลา แต่พระมโหสถก็ตอบโต้ได้ทุกครั้ง จนเกวัฏพราหมณ์ต้องท้าให้พระมโหสถมาแสดงปัญญาต่อหน้าผู้คนแต่กลายเป็นเสียหน้าซะเอง จนในที่สุด เกวัฏพราหมณ์ก็ใช้แผนเด็ดให้พระเจ้าจุลนีพรหมทัตยกพระธิดาให้กับพระเจ้าวิเทหราช พระเจ้าวิเทหราชทรงหลงเชื่อ พระมโหสถห้ามก็ไม่ฟังเลยขออาสาให้สร้างพระราชวังไว้รอแล้วแอบขุดอุโมงค์ใต้พระราชวังของพระเจ้าจุลนีพรหมทัตที่ทะลุออกไปนอกเมืองได้ พอพระเจ้าวิเทหราชติดกับ พระมโหสถก็เข้ามาช่วยเหลือจนทั้งหมดหนีออกจากเมืองผ่านอุโมงค์ได้ พร้อมกันนั้นก็ขึ้นไปรับศึกกับพระเจ้าจุลนีพรหมทัต ทรงหลอกล่อให้พระเจ้าจุลนีพรหมทัตและกษัตริย์ทั้ง 101 ลงไปในอุโมงค์ และขู่เหล่ากษัตริย์ที่ถูกขังในอุโมงค์ ก่อนจะใช้ความสามารถทางการทูตอันยอดเยี่ยมทำให้สองกษัตริย์เป็นไมตรีต่อกัน

ความพิเศษอย่างหนึ่งของมโหสถชาดกก็คือ เมื่อเทียบกับทศชาติชาดกเรื่องอื่นๆ มโหสถชาดกมักได้รับความสำคัญอย่างมาก เป็นรองเพียงแค่เวสสันดรชาดกเรื่องเดียว สังเกตได้จากในจิตรกรรมฝาผนังที่มักจะได้ผนังที่ดีกว่าเรื่องอื่น เช่น ผนังฝั่งตรงข้ามพระประธาน หรือได้ถึง 2 ผนังเลยก็มี ในขณะที่เรื่องอื่นได้แค่ผนังเดียวเท่านั้น 

เมื่อมีพื้นที่ผนังมาก จึงมีหลากหลายฉากที่ถูกเลือกมาเขียนบนฝาผนัง หนึ่งในฉากที่พบได้บ่อยที่สุด คือฉากพระมโหสถห้ามทัพของพระเจ้าจุลนีพรหมทัตและ 101 หัวเมือง วาดเป็นพระมโหสถยืนอยู่บนกำแพง ยกมือห้ามกองทัพที่กำลังบุกเข้ามา โดยที่มีบางส่วนเริ่มเปิดฉากรบกันไปแล้ว 

อีกฉากที่ได้รับความนิยม คือพระมโหสถหลอกล่อเกวัฏพราหมณ์จนเสียหน้า โดยการแสร้งทำแก้วมณีตกให้พราหมณ์หลงกลก้มลงไปเก็บแล้วทรงทำท่ากดพราหมณ์ไว้ เสมือนพราหมณ์ได้ยอมแพ้แก่พระมโหสถไปแล้วก็มีพบอยู่บ้างเช่นกันครับ บางครั้งถึงกับเขียนฉากนี้แทนฉากห้ามทัพเลยก็มี 

นอกจากนี้ ก็มีฉากที่ช่างมักจะเขียนแต่กลับพบไม่บ่อย คือฉากที่พระมโหสถขู่บรรดากษัตริย์ ด้วยการถือกระโดดสูง 18 ศอก (9 เมตร) พร้อมชักพระขรรค์ขึ้นขู่ สาเหตุที่พบไม่บ่อยนั้นเนื่องจากจิตรกรรมฝาผนังมักถูกความชื้นเล่นงาน โดยเฉพาะความชื้นจากใต้ดิน ดังนั้น ส่วนล่างของผนังจึงมักจะชำรุดและฉากนี้ก็ดันชอบไปอยู่ตรงนั้นเสียด้วย และยังมีฉากเบ็ดเตล็ดอื่นๆ เช่น ฉากพระมโหสถพาคนลงอุโมงค์หรือฉากพระเจ้าวิเทหราชหนีจากเมือง ก็มีวาดอยู่บ้างเช่นกันครับ

ตามไปดูฉากสำคัญใน ทศชาติชาดก พระชาติที่ 4 5 6 จากวัดทั่วไทย
วัดไพชยนต์พลเสพย์ จังหวัดสมุทรปราการ
ตามไปดูฉากสำคัญใน ทศชาติชาดก พระชาติที่ 4 5 6 จากวัดทั่วไทย
วัดสุวรรณาราม กรุงเทพมหานคร
ตามไปดูฉากสำคัญใน ทศชาติชาดก พระชาติที่ 4 5 6 จากวัดทั่วไทย
วัดวิเศษไชยชาญ จังหวัดอ่างทอง
ตามไปดูฉากสำคัญใน ทศชาติชาดก พระชาติที่ 4 5 6 จากวัดทั่วไทย
วัดใหญ่อินทาราม จังหวัดชลบุรี

‘ภูริทัตตชาดก’ คือชาดกลำดับที่ 6 และเป็นหนึ่งในสองเรื่องในทศชาติชาดกที่พระโพธิสัตว์ไม่ได้เสวยพระชาติหรือเกิดเป็นคน เพราะท่านเสวยพระชาติเป็นนาคนามพระภูริทัต บารมีที่ทรงบำเพ็ญในพระชาตินี้คือศีลบารมีหรือการบังคับกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม พระภูริทัตทรงตั้งพระทัยจะรักษาอุโบสถศีลเพื่อเป็นหนทางไปสู่สวรรค์ จึงเสด็จจากนาคนิภพไปรักษาศีลบนจอมปลวกที่โลกมนุษย์ ต่อมาพราหมณ์เนสารทและบุตรจับพระภูริทัตได้ พระภูริทัตจึงพาไปยังเมืองนาคพร้อมมอบทรัพย์ให้มากมาย พอขากลับจะมอบแก้วสารพัดนึกให้แต่พราหมณ์เนสาทกลับปฏิเสธ เมื่อกลับถึงบ้านจึงถูกภรรยาด่า

ต่อมาแก้วสารพัดนึกตกไปอยู่ในมือของพราหมณ์อาลัมพายน์ พราหมณ์เนสารทอยากได้จึงขอแลกแก้วมณีกับการบอกที่อยู่พระภูริทัต ทำให้พระภูริทัตถูกพราหมณ์อาลัมพายน์จับไปเล่นละครงูตามเมืองต่างๆ จนได้ไปแสดงหน้าพระพักตร์พระเจ้าสาครพรหมทัต กษัตริย์แห่งเมืองพาราณสี ผู้มีศักดิ์เป็นพระมาตุลา (ลุง) พญานาคสุทัศน์ พี่ชายของพระภูริทัตจึงได้มาช่วยปราบพราหมณ์อาลัมพายน์ และพาพระภูริทัตกลับนาคพิภพ ท่านจึงไปรักษาศีลจนเมื่อสิ้นอายุขัยก็ได้ขึ้นสวรรค์

และฉากที่ถือเป็นฉากสำคัญที่พบเป็นประจำบนจิตรกรรมฝาผนัง ก็คือฉากที่พราหมร์อาลัมพายน์จับพระภูริทัตบนจอมปลวก ซึ่งมักจะมีฉากที่นางนาค (ซึ่งไม่เกี่ยวกับพี่มาก) แตกกระเจิงหนีลงน้ำกันจ้าละหวั่นอยู่ใกล้ๆ ด้วย แต่จะไม่มีก็ไม่เป็นปัญหา เพราะฉากสำคัญคือการที่พระภูริทัตถูกจับ ไม่ใช่นางนาคหนีลงน้ำ นอกจากฉากนี้ก็จะมีบางวัดที่เขียนฉากอื่น เช่น ฉากที่พราหมณ์อาลัมพายน์พาพระภูริทัตไปโชว์ตัวต่อหน้าพระพักตร์กษัตริย์แห่งพาราณสี หรือฉากที่พญาครุฑมอบอาลัมพายน์มนต์ให้กับฤๅษี ซึ่งต่อมาจะสอนมนต์นี้ให้กับฤๅษีอีกตนหนึ่ง ซึ่งต่อมาจะเรียกตัวเองว่าพราหมณ์อาลัมพายน์ตามชื่อวิชาที่ไปเรียนมาครับ

ตามไปดูฉากสำคัญใน ทศชาติชาดก พระชาติที่ 4 5 6 จากวัดทั่วไทย
วัดสุวรรณาราม กรุงเทพมหานคร
ตามไปดูฉากสำคัญใน ทศชาติชาดก พระชาติที่ 4 5 6 จากวัดทั่วไทย
วัดไพชยนต์พลเสพย์ จังหวัดสมุทรปราการ
ตามไปดูฉากสำคัญใน ทศชาติชาดก พระชาติที่ 4 5 6 จากวัดทั่วไทย
วัดใหญ่อินทาราม จังหวัดชลบุรี
ตามไปดูฉากสำคัญใน ทศชาติชาดก พระชาติที่ 4 5 6 จากวัดทั่วไทย
วัดบางยี่ขัน กรุงเทพมหานคร

และก็จบไปอีกหนึ่งตอนกับชาดกในลำดับที่ 4 5 และ 6 ยังเหลืออีก 4 พระชาติครับผม ตอนต่อไปเราจะไปทำความรู้จักกับชาดกในลำดับที่ 7 จันทกุมารชาดก ลำดับที่ 8 นารทชาดก และลำดับที่ 9 วิธุรชาดก โดยจะขอเก็บเวสสันดรชาดกเอาไว้เป็นลำดับสุดท้ายครับผม อย่าลืมติดตามอ่านกันแบบต่อเนื่องเลยนะครับ

กร็ดแถมท้าย

  1. สำหรับใครที่ไม่อยากอ่านชาดกต่างๆ ผ่านตัวหนังสือ ใน YouTube มีเวอร์ชันการ์ตูนหรือแบบเสียงในอินเทอร์เน็ต แต่ถ้าใครอยากดูเป็นละคร มโหสถชาดกเคยดัดแปลงเป็นละครโดยบริษัท สามเศียร จำกัด เมื่อ พ.ศ. 2538 นำแสดงโดย หนึ่ง-มาฬิศร์ เชยโสภณ และ เงาะ-กชกร นิมากรณ์ ความยาว 28 ตอนจบ ใครสนใจสามารถไปดูได้ที่ YouTube SAMSEARN OFFICIAL ครับผม
  2. แต่ถ้ายังอยากอ่านเวอร์ชันหนังสือพร้อมภาพประกอบ ผมก็ยังขอแนะนำหนังสือ 3 เล่มเดิมครับ ความเข้าใจในจิตรกรรมไทยประเพณี ของ เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว หนังสือชุดทศชาติกับจิตรกรรมฝาผนัง ของ นิดดา หงส์วิวัฒน์ แล่วก็หนังสือชุด ท่องทศชาติผ่านจิตกรรรม ของ อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย
  3. และสำหรับใครที่เพิ่งมาอ่านบทความนี้หรือลืมชาดก 3 เรื่องแรกที่ผมนำเสนอไปในตอนก่อน สามารถไปตามอ่านย้อนหลังได้ใน The Cloud เลยครับผม

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ