ช่วงนี้เราๆ ท่านๆ คงยังต้องอยู่บ้านกันอีกสักระยะด้วยเรื่องของโรค COVID-19 การจะไปดูวัดอาจจะยังไม่สะดวกมากนัก ไหนๆ เราก็ยังไม่ได้ออกไปไหนกันเท่าไหร่ ผมเลยอยากแนะนำทริกเล็กๆ น้อยๆ สำหรับคนที่คิดจะเริ่มดูจิตรกรรมฝาผนัง เพราะเชื่อว่าหลายท่านน่าจะประสบปัญหาว่า ภาพที่เห็นคือเรื่องอะไร ฉากอะไร ซึ่งจิตรกรรมฝาผนังในวัดส่วนใหญ่จะเขียนพุทธประวัติบ้าง ทศชาติชาดกบ้าง ฉากไตรภูมิบ้าง โดยวันนี้เราจะเริ่มกันที่ทศชาติชาดกครับผม

ทศชาติชาดก คือเรื่องราว 10 พระชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ได้รับความนิยมแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยพระชาติทั้ง 10 ประกอบด้วย เตมีย์ชาดก มหาชนกชาดก สุวรรณสามชาดก เนมิราชชาดก มโหสถชาดก ภูริทัตชาดก จันทกุมารชาดก พรหมนารทชาดก วิทูรชาดก และเวสสันดรชาดก

ซึ่งถ้าใครจำลำดับไม่ได้ มีทริกการจำเล็กๆ โดยการย่อทั้งสิบชาติเหลือแค่ ‘เต ชะ สุ เน มะ ภู จะ นา วิ เว’

ทีนี้ เวลาช่างโบราณจะเล่าเรื่องราวเหล่านี้ลงบนฝาผนัง ก็มักจะหยิบเอาฉากสำคัญของเรื่องนั้นๆ มาวาด เพราะถ้าจะให้วาดตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งอาคารคงมีชาดกแค่เรื่องเดียว แต่อาจจะยกเว้นไว้เรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ เวสสันดรชาดก ที่บางวัดเขียนแค่เฉพาะชาดกเรื่องนี้เรื่องเดียวโดยไม่เขียนทศชาติชาดกเรื่องอื่นประกอบไปด้วย

แต่เนื่องจากทศชาติชาดกมีถึง 10 เรื่อง ต่อให้เล่าเรื่องแบบสรุปยังไงถ้าเล่าทั้งสิบเรื่องในตอนเดียว คาดว่าผู้อ่านอาจจะหลับก่อนได้ ดังนั้น เรามาทำความรู้จักกับทศชาติชาดก 3 พระชาติแรกกันก่อนแล้วกันครับ

‘เตมีย์ชาดก’ ถือเป็นชาดกเรื่องแรกในชุดทศชาติชาดกซึ่งทรงบำเพ็ญเนขัมมบารมี คือ การออกบวช ในชาตินี้พระองค์เสวยพระชาติ (เกิด) เป็นพระเตมีย์ โอรสของพระเจ้ากาสิกราชแห่งเมืองพาราณสี วันหนึ่งพระเตมีย์เห็นพระบิดาทรงลงโทษโจรด้วยวิธีการต่างๆ ทำให้พระองค์สลดพระทัยและเห็นว่าการขึ้นครองราชย์เป็นหนทางไปสู่นรก พระเตมีย์จึงแสร้งทำเป็นง่อยเปลี้ย หูหนวก แม้จะถูกทดสอบด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เอางู เอาช้างมาขู่ เอาสาวงามมายั่วยวน พระองค์ก็ยังอดทนไม่แสดงอาการใดๆ เป็นเวลาถึง 16 ปี จนพระบิดาเชื่อและให้นายสุนันท์ผู้เป็นสารถีหรือคนขับรถนั้นเอาตัวพระเตมีย์ไปฝัง 

ในขณะที่นายสารถีจะขุดหลุมฝังพระเตมีย์นั้น พระองค์ได้ทรงทดลองกำลังโดยการยกราชรถขึ้นแกว่งด้วยมือเดียว จากนั้นพระองค์จึงได้แสดงธรรมโปรดนายสุนันท์และให้กลับไปบอกพระบิดา พระมารดา ว่าพระองค์ออกบรรพชา ต่อมาพระบิดา พระมารดา และบรรดาอำมาตย์ได้มาเข้าเฝ้าและฟังธรรมของพระเตมีย์ จึงพากันออกบรรพชาจนหมด

และฉากที่ถือเป็นฉากเด็ดที่สุดของชาดกเรื่องนี้ ก็คือฉากที่พระเตมีย์แสดงพลังดุจยอดมนุษย์โดยการยกราชรถด้วยมือเดียว ถือเป็นฉากที่ฮิตที่ถ้าเห็นเมื่อไหร่ ผนังนั้นก็คือเตมีย์ชาดกแน่นอน นอกจากฉากนี้ ก็ยังมีฉากสำคัญของเรื่อง อย่างฉากที่พระเตมีย์สมัยเป็นพระกุมารนั่งบนตักพระบิดาดูพระองค์สั่งลงโทษบรรดาโจรต่างๆ รวมถึงฉากการทดสอบพระเตมีย์ที่ช่างแต่ละวัดก็จะเลือกฉากการทดสอบแตกต่างกันออกไป บางที่เขียนแค่ 1 บททดสอบ แต่บางที่จัดมา 2 – 3 บททดสอบเลยก็มีครับ 

รวมฉากเด็ดใน 3 ชาติแรกของ ทศชาติชาดก จากจิตรกรรมบนฝาผนังวัดทั่วไทย
จิตรกรรมฝาผนังเตมีย์ชาดกในอุโบสถวัดใหญ่อินทาราม จังหวัดชลบุรี
รวมฉากเด็ดใน 3 ชาติแรกของ ทศชาติชาดก จาก จิตรกรรมฝาผนัง วัดทั่วไทย
รวมฉากเด็ดใน 3 ชาติแรกของ ทศชาติชาดก จาก จิตรกรรมฝาผนัง วัดทั่วไทย
จิตรกรรมฝาผนังเตมีย์ชาดกในอุโบสถวัดหน่อพุทธางกูร จังหวัดสุพรรณบุรี
รวมฉากเด็ดใน 3 ชาติแรกของ ทศชาติชาดก จาก จิตรกรรมฝาผนัง วัดทั่วไทย
จิตรกรรมฝาผนังเตมีย์ชาดกในอุโบสถวัดใหญ่อินทาราม จังหวัดชลบุรี

‘มหาชนกชาดก’ คือชาดกเรื่องที่ 2 และน่าจะเป็นหนึ่งในชาดกที่คนไทยรู้จักมากที่สุด เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ ในพระชาตินี้พระมหาชนกทรงบำเพ็ญวิริยบารมี คือความเพียร ความบากบั่น 

และแน่นอนว่า พระโพธิสัตว์ทรงเสวยพระชาติเป็นพระมหาชนก โอรสของพระเจ้าอริฏฐชนก ผู้ถูกพระอนุชานามพระเจ้าโปลชนกแก้แค้นด้วยการยกทัพมาตีกรุงมิถิลา เพื่อแย่งชิงราชสมบัติและประหารพระเจ้าอริฏฐชนก ทำให้พระราชเทวีที่ทรงตั้งครรภ์ต้องเสด็จหนีจากเมือง โดยความช่วยเหลือของพระอินทร์ไปยังกาลจัมปากนคร 

ที่นั่น พระนางประสูติพระมหาชนก ต่อมาพระองค์ทรงอยากรู้ว่าพระบิดาของตนเป็นใคร พระมารดาจึงเล่าเรื่องพระเจ้าโปลชนกให้ฟัง เมื่อเจริญวัยขึ้น พระมหาชนกจึงขอพระมารดาไปค้าขาย ระหว่างทางเรือสำเภาที่ทรงโดยสารมาแตกเพราะพายุใหญ่ ทำให้พระองค์ต้องว่ายน้ำอยู่ 7 วัน 7 คืน จนนางมณีเมขลาเห็นความวิริยะจึงอุ้มพระองค์ไปยังสวนแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่พระเจ้าโปลชนกสวรรคต ประกอบกับทรงมีพระธิดาองค์เดียว คือนางสีวลีเทวี ปุโรหิตจึงทำพิธีเสี่ยงราชรถหาผู้มีบุญญาธิการมาครองราชย์ ราชรถก็มาจอด ณ ที่ที่พระมหาชนกบรรทมอยู่ พระมหาชนกทรงแสดงความสามารถและแก้ปริศนาของพระเจ้าโปลชนกได้ทั้งหมดจึงได้ครองราชย์ที่เมืองมิถิลา ทรงครองราชย์อย่างยาวนานจนเกิดเบื่อหน่ายในราชสมบัติหลังเห็นเหตุที่เกิดกับต้นมะม่วง จึงทรงเสด็จออกจากวังแล้วออกบรรพชา

ถ้าพูดถึงฉากสำคัญในเรื่องพระมหาชนกย่อมหนีไม่พ้นฉากเรือแตก ซึ่งเขียนกันแทบจะทุกวัดเลยทีเดียว แต่นอกจากฉากนี้แล้ว ยังมีฉากราชรถมาเกยหน้าพระมหาชนก ที่กลายเป็นที่มาของสำนวน ‘ราชรถมาเกย’ ซึ่งได้รับความนิยมมากเป็นรองแค่ฉากเรือแตก และยังมีฉากอื่นๆ เช่น ฉากพระอินทร์แปลงเป็นพราหมณ์พาพระราชเทวีหนี ซึ่งบางครั้งแสดงด้วยรูปพราหมณ์ที่มีกายสีเขียว เพื่อบอกให้รู้ว่านี่คือพระอินทร์แปลงกายมา ไม่ใช่พราหมณ์ธรรมดาๆ หรือ ฉากพระเจ้าอริฏฐชนกและพระเจ้าโปลชนกรบกัน ซึ่งมักใช้ฉากยุทธหัตถีแสดงฉากนี้ครับ

รวมฉากเด็ดใน 3 ชาติแรกของ ทศชาติชาดก จาก จิตรกรรมฝาผนัง วัดทั่วไทย
รวมฉากเด็ดใน 3 ชาติแรกของ ทศชาติชาดก จาก จิตรกรรมฝาผนัง วัดทั่วไทย
รวมฉากเด็ดใน 3 ชาติแรกของ ทศชาติชาดก จาก จิตรกรรมฝาผนัง วัดทั่วไทย
จิตรกรรมฝาผนังมหาชนกชาดกในอุโบสถ วัดช่องนนทรี กรุงเทพมหานคร

‘สุวรรณสามชาดก’ นับเป็นชาดกเรื่องที่ 3 ซึ่งได้ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมี คือความรักและความปรารถนาให้เขามีความสุข ในพระชาตินี้ ทรงเสวยพระชาติเป็นพระสุวรรณสาม บุตรของทุกูลดาบสและปาริกาดาบสินี ที่แม้จะเกิดเป็นบุตรและบุตรีนายพรานแต่กลับไม่ประสงค์ฆ่าสัตว์ จึงออกบวชไปอยู่ป่าและรักษาศีล ต่อมาพระอินทร์เห็นอันตรายที่จะเกิดแก่ทั้งสอง จึงประทานพระโพธิสัตว์ให้มาจุติเพื่อมาปรนนิบัตินามสุวรรณสาม 

และก็เป็นดั่งที่พระอินทร์เห็น พราหมณ์สองผัวเมียโดนงูพ่นพิษจนตาบอดระหว่างที่ออกไปหาผลไม้ในป่า สุวรรณสามจึงดูแลบิดามารดาอย่างดี วันหนึ่งสุวรรณสามออกไปตักน้ำพร้อมกับฝูงเนื้อ แต่สุดท้ายไม่ได้กลับมา เพราะสุวรรณสามโดนพระเจ้าปิลยักขราชยิงลูกศรอาบยาพิษใส่ เนื่องจากสงสัยว่าสุวรรณสามเป็นคน เทวดา หรือนาคกันแน่ พอรู้ความจริงจากปากสุวรรณสาม ท่านจึงสัญญาว่าจะดูแลพ่อแม่ตาบอดของสุวรรณสามแทนเอง 

เมื่อกลับไปยังอาศรม ดาบสก็รู้ความจริงว่าสุวรรณสามได้จากไปแล้ว จึงขอให้พระเจ้าปิลยักขราชพาไปหาลูกชาย เมื่อไปถึงทั้งทุกูลดาบสและปาริกาดาบสินีต่างพรรณาความดีของสุวรรณสาม จนเทพธิดานามสุนธรีผู้เคยเป็นแม่ของสุวรรณสามเมื่อชาติก่อนได้ร่วมทำสัจอธิษฐานกับดาบสทั้งสองและพระเจ้าปิลยักขราช จนทำให้สุวรรณสามฟื้นขึ้นมาและแสดงธรรมแก่พระราชา เมื่อกษัตริย์กลับไปก็ยังปกครองเมืองได้โดยชอบธรรม

ฉากสำคัญในเรื่องสุวรรณสามชาดกที่พบบ่อย ก็คือฉากที่พระเจ้าปิลยักขราชแผลงศรอาบยาพิษใส่สุวรรณสาม ซึ่งทิศทางหรือระยะยิงจะผกผันไปตามสภาพแวดล้อมโดยรอบที่ช่างโบราณวาด อีกฉากที่นิยมพอๆ กันคือฉากที่ดาบสทั้ง สอง พระเจ้าปิลยักราช และนางเทพธิดาสุนธรี ร่วมกันตั้งสัจอธิษฐานจนสุวรรณสามฟื้นขึ้นมา 

แต่วัดที่เขียนฉากอื่นก็มี เป็นต้นว่าฉากที่งูพ่นพิษจนพ่อแม่ของสุวรรณสามตาบอด หรือฉากที่พระเจ้าปิลยักราชแบกหม้อน้ำกลับไปหาพ่อแม่ของสุวรรณสาม ซึ่งมีหลายเวอร์ชัน ทั้งเวอร์ชันที่แบกหม้อน้ำเตรียมเข้าไปหา และเวอร์ชันที่นั่งรายงาน และมักจะต่อด้วยฉากพาพ่อแม่ไปหาสุวรรณสาม

รวมฉากเด็ดใน 3 ชาติแรกของ ทศชาติชาดก จาก จิตรกรรมฝาผนัง วัดทั่วไทย
รวมฉากเด็ดใน 3 ชาติแรกของ ทศชาติชาดก จาก จิตรกรรมฝาผนัง วัดทั่วไทย
รวมฉากเด็ดใน 3 ชาติแรกของ ทศชาติชาดก จาก จิตรกรรมฝาผนัง วัดทั่วไทย
รวมฉากเด็ดใน 3 ชาติแรกของ ทศชาติชาดก จาก จิตรกรรมฝาผนัง วัดทั่วไทย
รวมฉากเด็ดใน 3 ชาติแรกของ ทศชาติชาดก จาก จิตรกรรมฝาผนัง วัดทั่วไทย

สำหรับตอนแรกก็จะขอพักไว้เท่านี้ก่อน ตอนต่อไปเราจะไปต่อกันอีก 3 ชาดก นั่นก็คือ เนมิราชชาดก มโหสถชาดก และภูริทัตชาดก อย่าลืมติดตามตอนต่อไปนะครับว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไร ฉากไหนดี ฉากไหนเด็ด มารอชมกันครับผม


เกร็ดแถมท้าย

  1. สำหรับใครที่อยากรู้เนื้อหาล่วงหน้าของชาดกเรื่องถัดๆ ไป ลองอ่านในเว็บไซต์ก่อนได้ครับ มีทั้งแบบสรุปเนื้อเรื่องอย่างย่อและเนื้อเรื่องแบบเต็ม เลือกดูเลือกอ่านกันได้ตามสะดวกเลยครับ
  2. แต่ถ้าใครสนใจเป็นหนังสือก็ขอแนะนำ 3 เล่มครับ ได้แก่ ความเข้าใจในจิตรกรรมไทยประเพณี ของ เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว หนังสือชุด ทศชาติกับจิตรกรรมฝาผนัง ของ นิดดา หงษ์วิวัฒน์ แล่วก็หนังสือ ท่องทศชาติผ่านจิตรกรรม ของ อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ