24 พฤศจิกายน 2021
12 K

“แมลงเยอะมาก”

“เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่สุดในชีวิตตอนนี้ เป็นสิ่งที่ต้องต่อสู้ทุกวัน ถ้าแมลงมันอยู่ของมันไปก็ไม่เป็นไร แต่มันมาทำให้ชีวิตเรายากขึ้น ไม่รู้ว่าแมลงบ้านอื่นเยอะแค่ไหน แต่ที่บ้านบ้านอุ้ย ช่วงนี้เยอะขนาดที่ว่าตื่นมากวาดได้เต็มปุ้งเต้า”

อุ้ยเล่าเรื่องแมลงริ้นน้ำจืดจำนวนมหาศาลที่บินมาตอมไฟที่บ้าน ก่อนจะใส่ซับไตเติลคำว่า ‘ปุ้งเต้า’ ว่า หมายถึงที่ตักผงในภาษาจีนแต้จิ๋ว

 เธอเสียบปลั๊กไล่ยุงก็แล้ว มีอุปกรณ์ไล่แมลงแทบทุกอย่างแล้ว ถามเพื่อน ๆ สมาชิกกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘งานบ้านที่รัก’ ก็แล้ว ยังไม่มีใครที่พอจะรู้เลยว่าจะต้องรับมือกับแมลงชนิดนี้อย่างไร เธอจึงยังคงพยายามตามหาวิธีไล่แมลง ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่อง ‘บ้าน’ ที่ต้องหาคำตอบกันต่อไป

‘งานบ้านที่รัก’ และไม่รักของ อุ้ย จารุวรรณ เจ้าของกลุ่มชวนคนมาแชร์สารพันปัญหางานบ้าน

อุ้ย-จารุวรรณ ธงสุวรรณ คนที่โพสต์ถามลงในกลุ่มบ่อยพอ ๆ กับสมาชิกคนอื่น เป็นคนเดียวกับแอดมินที่สร้างกลุ่ม ‘งานบ้านที่รัก’ ขึ้นมา เธอสวมเสื้อยืด แต่งตัวอยู่บ้านสบาย ๆ นั่งคุยกับเราในบ้านที่ขอนแก่น ที่นี่เป็นบ้านของครอบครัวสามี ทั้งคู่มาอาศัยอยู่ชั่วคราว ขณะรอบ้านของตัวเองสร้างเสร็จ

หลังจากบทสนทนาเรื่องแมลงริ้นน้ำจืดจบลง และถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกันพอสังเขป อุ้ยก็เผยว่าเธอทำงานอยู่ที่บ้านมานาน 7 – 8 ปี แล้ว จึงไม่ค่อยตื่นเต้นกับวัฒนธรรมเวิร์กฟอร์มโฮมที่เพิ่งเกิดขึ้นสักเท่าไหร่นัก

หลังจากเรียนจบสาขาวิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีแรก ๆ อุ้ยได้เข้าไปทำงานในสำนักพิมพ์อยู่สักพัก ก่อนจะพบว่าตัวเองไม่ใช่มนุษย์ที่ตื่นเช้า เข้างาน 8 โมง และกลับบ้านตรงเวลาได้อย่างใครเขา เธอจึงตัดสินใจออกมาและเลือกงานที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ ปัจจุบันเธอทำงานด้าน UX/UI ดีไซเนอร์ มีเวลาทำงานยืดหยุ่น ได้อยู่บ้านแทบจะ 24 ชั่วโมง

เวลาว่างส่วนใหญ่มักหมดไปกับเรื่องที่อยู่ในบ้าน ไม่ว่าจะเดินเล่นในทุ่งนาหลังบ้าน เยี่ยมเยียนเล้าไก่ที่เลี้ยงไว้ ไปดูต้นไม้ต้นใหม่ที่ครอบครัวเอามาปลูก และการ ‘ทำงานบ้าน’ เธอเล่าว่าตัวเองมักจะถูก ‘ผีแม่บ้าน’ เข้าสิงอยู่บ่อย ๆ รู้ตัวอีกทีก็ไปขัดโน่น ขัดนี่จนสะอาด และสนใจเรื่องงานบ้านจนต้องสร้างเพจและกลุ่มบนเฟซบุ๊กขึ้นมา ไว้พูดคุยเรื่องงานบ้านกับคนอื่นที่สนใจเรื่องงานบ้านเหมือนกัน

งานบ้านที่รัก

“การที่อุ้ยอยู่บ้าน ทำให้ได้เห็นสิ่งจุกจิกในบ้านเยอะ มีโอกาสเห็นคราบตามจุดต่าง ๆ มากกว่า และมีเวลาที่จะขุดคุ้ยวิธีจัดการกับมันนานกว่าด้วย

“แต่เราก็ไม่ถึงกับดูแลบ้านดี มีทั้งช่วงที่ตั้งใจและช่วงที่ปล่อยปละละเลย อุ้ยเป็นคนไม่ทำอะไรเป็นกิจวัตร บางคนอาจกวาดบ้านก่อนแล้วตามด้วยอย่างอื่น เขามีลำดับของเขา แต่อุ้ยไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย ทุกอย่างต้องยืดหยุ่นได้”

ตัวอย่างของคนที่ทำงานบ้านตามลำดับอย่างที่อุ้ยบอกกับเราคือ ‘แม่’ ซึ่งตรงข้ามกับเธอโดยสิ้นเชิง 

วัยเด็กของเธอเหมือนกับเด็กทั่วไป ที่ครอบครัวมักจะฝึกให้ทำงานบ้าน แม้เธอจะเติบโตมาแล้วชอบการทำงานบ้าน แต่ในวัยเด็กกลับต่างออกไป เพราะเป็นงานที่ครอบครัวบังคับให้ทำ งานบ้านสำหรับเธอจึงกลายเป็นเหมือนยาขม ที่เธอเองไม่รู้เหตุผลว่าต้องกินมันไปเพื่ออะไร

“บ้านที่เราอยู่เป็นบ้านของพ่อกับแม่ อย่างที่เราเข้าใจกันดีว่าพ่อแม่ทั่วไปมักมีอำนาจในบ้านมากกว่าลูกในทุก ๆ เรื่อง พอตอนนั้นเราเป็นเด็ก เราเลยไม่ค่อยมีความรู้สึกมีส่วนร่วมกับบ้านเลย เรามักจะรู้สึกว่า ทำไมต้องมาทำงานบ้านงานนี้ด้วย บ้านเราไม่จำเป็นต้องมีจานเยอะก็ได้ แต่ทำไมแม่ถึงซื้อมาเยอะขนาดนี้ แล้วยังจะให้เรามาช่วยจัด ช่วยล้างอีก มันเลยกลายเป็นภาระ ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้มีส่วนร่วมกับการนำสิ่งนั้นเข้ามาตั้งแต่แรก

“แต่การที่โดนที่บ้านบังคับช่วยงานบ้านนี่แหละ ก็ทำให้มีความสามารถในการพลิกแพลงบางอย่างติดมา ที่บ้านจะมีพ่อแม่และยาย ทุกคนเป็นคนซ่อมของและประยุกต์ใช้ของเก่งมาก เรียกได้ว่า ชีวิตเรามีความคิดสร้างสรรค์ในด้านนี้ เกิดจากความหล่อหลอมของครอบครัวเลย สรุปว่าหลายอย่างที่เกิดขึ้นในกลุ่ม ก็มาจากครอบเคี่ยวเข็ญ และส่งต่อความสร้างสรรค์แบบตั้งใจบ้าง ไม่ได้ตั้งใจบ้างนี่แหละ

‘งานบ้านที่รัก’ และไม่รักของ อุ้ย จารุวรรณ เจ้าของกลุ่มชวนคนมาแชร์สารพันปัญหางานบ้าน

“งานจำเป็นทั่วไปยังพอเข้าใจได้ แต่ถ้าชวนมาช่วยรื้อของรก ๆ ออกมาปัดฝุ่น เฮลโหล เราไม่ได้เป็นคนซื้อ ทำไมหนูต้องมาทำ 

“เราฝังใจกับเรื่องนั้น พอโตขึ้นมาเลยเป็นคนไม่บ่น และไม่เคี่ยวเข็ญคนใกล้ตัวให้ต้องจัดการกับภาระที่เราเป็นคนนำเข้ามา อันไหนเราเอาเข้ามา เราก็ต้องรับผิดชอบเอง ถ้าบ้านมันรกเพราะเราหาทำ ซื้อถ้วยชามมาเยอะเหลือเกิน เราจะคาดหวังให้คนอื่นมาช่วยปัดฝุ่นไม่ได้ เราจะหงุดหงิดเขาไม่ได้ เพราะไม่ใช่ความผิดเขา ส่วนงานไหนที่เป็นภาระส่วนรวม อันนั้นก็ต้องช่วยกัน”

แม้ในวัยเด็กจะไม่ชอบงานบ้านสักเท่าไหร่ แต่พออุ้ยได้จากบ้านเกิดที่ระยอง มาใช้ชีวิตวัยมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ตัวคนเดียว ทัศนคติเรื่องงานบ้านก็เริ่มเปลี่ยนไป จนกลายมาเป็นความชอบในที่สุด เมื่อแต่งงานและมีคอนโดฯ เป็นของตัวเอง 

“อุ้ยว่าคนเราจะอินมากขึ้น ถ้ารู้สึกถึงความเชื่อมโยงของตัวเองกับบ้าน รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของบ้าน” เธอบอกกับเรา

‘งานบ้านที่รัก’ และไม่รักของ อุ้ย จารุวรรณ เจ้าของกลุ่มชวนคนมาแชร์สารพันปัญหางานบ้าน

ผีแม่บ้าน

“ที่คอนโดฯ ของอุ้ยเคยมีเครื่องซักผ้า ที่อบผ้าได้ในตัวเดียวกัน บางครั้งใช้เวลาอบนานเป็นสิบชั่วโมงถึงจะแห้ง ตอนนั้นโมโหมาก ต้องไปหาซื้อเครื่องใหม่ที่ต้องไม่เป็นแบบเดิม มันทำให้ชีวิตเราติดบัคเรื่องเครื่องอบผ้ามาตลอด ทุกวันนี้เวลาเจอที่ขายเครื่องอบผ้าที่ไหน อุ้ยจะต้องเข้าไปถามว่าอบได้กี่กิโล แล้วอบกี่นาทีถึงจะแห้ง ยังคงไม่หยุดเก็บข้อมูล เพราะมีปมกับเครื่องอบผ้า” เธอเล่าไปหัวเราะไป

อุ้ยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องอบผ้า (ที่อบไม่นาน) เอาไว้มากมาย ทั้งหาเอง ทั้งถามคนอื่น เจ้าเครื่องอบจอมงอแงที่ว่าเลยกลายเป็นที่มาของเพจ ‘ผีแม่บ้าน’ ที่อุ้ยตั้งใจใช้เป็นพื้นที่ไว้แลกเปลี่ยน ตอบปัญหาคาใจเรื่องงานบ้านที่แก้ไม่ตก 

คล้าย ๆ กับตอนที่ขุดคุ้ยเรื่องเครื่องอบผ้า ถ้าได้เริ่มจัดห้องครัว รื้อตู้ ล้างห้องน้ำแล้ว อุ้ยจะหมกมุ่นอยู่กับงานตรงหน้า และใช้เวลาหลายชั่วโมงเพื่อทำสิ่งนั้นให้ลุล่วงจนได้ เธอเล่าว่าอาการของการง่วนอยู่กับงานไม่หยุดไม่หย่อนนั้น เปรียบได้กับอาการของคนโดนผีสิง ซึ่งไม่ใช่ผีธรรมดา แต่เป็นผีแม่บ้าน ที่มักจะยึดร่างของดีไซเนอร์สาวไป แล้วดลใจให้ขัดคราบในห้องน้ำจนหมดจด

“เรื่องงานบ้านบางอย่าง อุ้ยไม่รู้ว่าจะไปถามใครดี เลยสร้างเพจผีแม่บ้านขึ้นมา ไว้ให้เราไปโพสต์ถาม แต่พอถามบ่อย ๆ มันก็ดูตลกดี เลยเปิดกลุ่มขึ้นมา เพื่อเอาไว้ถามเรื่องที่ตัวเองอยากถามเลยดีกว่า เป็นการสร้างสารานุกรมส่วนตัวไปด้วย หลายคำถาม ก็เป็นเราถามเองนี่แหละ เพราะบางอย่างเราหาคำตอบเองไม่ได้จริง ๆ”

“อุ้ยทึ่งมากตอนที่เห็นคนใช้สเตคลีนมาจัดการจุดสีเหลืองบนเสื้อผ้าที่เราเก็บไว้นาน ๆ เขาเอาสเตคลีนมาป้ายทิ้งไว้สักพักแล้วเอาไปซัก แล้วจุดเหลืองก็หายไป ปกติเราเองไม่รู้เลยนะว่าจะต้องจัดการกับจุดพวกนี้อย่างไร เพราะมันเป็นจุดที่แช่น้ำไว้ก็ซักไม่ออก

“อีกอันที่รู้สึกว่าว้าวมากแต่ยังไม่เคยลอง คือหั่นหัวหอมแล้วเอามาฝนบนรอยสีเมจิกที่ติดบนเสื้อผ้า แล้วสีมันหลุดออกหมดเลย นี่มันคือนวัตกรรม” อุ้ยเล่าด้วยความตื่นเต้น

สมาชิกของกลุ่มค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และทะยานสู่ 3 แสนกว่าคนอย่างรวดเร็วในช่วงล็อกดาวน์เมื่อปีที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะบ้านกลายมาเป็นทุกอย่าง และคนก็ได้คลุกคลีกับงานบ้านอย่างเลี่ยงไม่ได้ อุ้ยเล่าว่าแต่ละวันมีสมาชิกแวะเวียนเข้ามาถามสารพัดสารพันปัญหางานบ้าน ทั้งเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ เรื่องด่วนถึงขั้นต้องเปิด Fast Lane ช่องด่วนพิเศษเพื่อให้ได้คำตอบอย่างเร็วที่สุดก็มี

การดูแลเพจที่มีสมาชิกเป็นแสนคนไม่ใช่เรื่องง่าย ในหนึ่งวันอุ้ยต้องเจอโพสต์ ‘ลอกสติกเกอร์อย่างไรไม่ให้คราบกาวติด’ มากกว่า 5 โพสต์ และในฐานะที่เธอเป็นแอดมินที่คอยอนุมัติโพสต์เหล่านี้ สิ่งที่อุ้ยให้ความสำคัญที่สุดคือการส่งต่อวิธีการที่อันตราย จากกลุ่มที่ตั้งใจทำให้ชีวิตสะดวกสบาย อาจกลายเป็นกลุ่มที่ทำให้ชีวิตยุ่งยากกว่าเดิม

ไม่นานมานี้ อุ้ยเพิ่งโพสต์แนะนำการใช้ ‘ไฮเตอร์’ อย่างถูกวิธีลงในกลุ่ม เพราะไม่อยากให้คนนำไปใช้แบบผิดวิธี หลังจากชวนเธอคุยประเด็นนี้ เราก็พบว่าอีกหนึ่งความท้าทายของกลุ่มงานบ้านที่รัก คือพยายามแนะนำให้ใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แม้จะมีข้อจำกัดมากมาย

“ในกลุ่มจะฮิตไฮเตอร์มาก (เขานิยมเรียกผลิตภัณฑ์ซักผ้าขาวว่าไฮเตอร์กัน เพื่อความเข้าใจง่าย) บางคนใช้ล้างห้องน้ำ เพราะข้างขวดเองก็เขียนบอกไว้ว่าใช้ล้างห้องน้ำได้ ถ้าใช้ไฮเตอร์อย่างเดียว แล้วไม่ใช้อย่างอื่นเลยก็โอเคนะ แต่ถ้าไปผสมกับสารเคมีอื่น ๆ ที่เป็นกรด เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำบางตัว จะทำปฏิกิริยากัน แล้วเป็นอันตรายกับเราได้

“ถึงเราเป็นแอดมิน แต่เราเองก็ไม่กล้าห้ามไม่ให้ใช้ไฮเตอร์ขนาดนั้น เพราะจริง ๆ แล้วมันใช้ได้และราคาถูกกว่าน้ำยาล้างห้องน้ำ อุ้ยมองว่ามีคนมากมายที่ไม่ได้มีเงินมากพอจะเข้าถึงน้ำยาล้างห้องน้ำได้ เราเลยพยายามให้ข้อมูลว่าใช้อย่างไรถึงจะปลอดภัย น่าจะดีกว่าไปบอกว่าห้ามใช้เด็ดขาด

“แต่ก็มีที่โพสต์ห้ามไปเหมือนกันนะ ประเภทของใช้ในครัว

“คือจริง ๆ ที่อ่านและทำความเข้าใจ มันก็สามารถใช้ได้ แต่อุ้ยเห็นบางคนถ่ายรูปมา ดูสีแล้วเรารู้ว่าไม่ผสมน้ำ ซึ่งคนจำนวนมากวู่วาม อุ้ยกังวลเรื่องสารตกค้างมาก คิดว่าง่ายกว่าที่จะสื่อสารออกมาว่าอย่าไปใช้กับอะไรที่ต้องเอาเข้าปากเลยจะดีกว่า ใช้น้ำยาล้างจานอะไรไป ไม่ต้องขาวมากก็ได้

“บางคนอาจจะคิดว่ามันใช้ได้ ทำไมแอดมินสื่อสารแบบนี้ อยากบอกว่าอุ้ยพยายามสื่อสารมาหลายแบบ แม้ว่าไปบอกเองโดยตรง ว่าต้องผสมน้ำตามสัดส่วนนะ สุดท้ายเขาถ่ายรูปมาอวด ถามว่าทำยังไง บอกใช้ไปสองขวดเต็ม ๆ มันคือความกดดันในฐานะแอดมิน ถ้าเขาเป็นอะไรไป อุ้ยคิดว่าตัวเองคงจะรู้สึกแย่มากกว่าสมาชิกคนอื่น ๆ คือเราขอเซฟไว้ก่อนดีกว่า บอกไปยาว ๆ บางทีเขาไม่เข้าใจ ไม่สนใจที่จะอ่าน

“ที่บ้านอุ้ยก็มีนะคะ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ดี ราคาถูก ถ้าเราใช้อย่างถูกวิธี เขาก็ใช้กันทั่วโลก อย่ากลัวจนเกินไป แต่ก็อย่าวู่วามจนลืมคิด ว่ามันเป็นสารเคมีที่มาแบบเข้มข้น ผู้ผลิตเขาให้ผสมน้ำค่ะ

“ล่าสุดมีคนมาขอวิธีล้างคราบไหม้ที่เตาหมูกระทะ แล้วมีสมาชิกคนอื่นมาตอบว่าให้ใช้น้ำยาล้างห้องน้ำล้าง บางคนก็บอกว่ามันไม่แพง ไหม้ขนาดนี้ซื้อใหม่ดีกว่า ซื้อใหม่มันง่ายกว่าแน่นอน แต่ถามว่าเราจะทำแบบนั้นไปทำไม ในเมื่อความจริงแช่น้ำทิ้งไว้คืนเดียวคราบก็หลุดหมดแล้ว แบบนั้นก็ต้องซื้อใหม่ไปเรื่อย ๆ เราจะเป็นเศรษฐีที่ไม่รักโลกไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไรกับของเก่า มันจะไปจบที่ไหน ก็ต้องเอาไปทิ้ง

“ความปลอดภัยในชีวิตของคนมีเงินกับคนไม่มีเงินเหลื่อมล้ำกันมาก ถ้าเราไปบอกเขาว่าให้ทิ้งเลย เปลี่ยนเลย มันคือการเอามุมมองชีวิตของเราไปสวมให้คนอื่นมากเกินไป ความท้าทายที่สุดของการมีกลุ่มนี้ คือการหาวิธีช่วยคนให้ทำในสิ่งที่ต้องการได้อย่างปลอดภัยและดีที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ แน่นอนว่าเปลี่ยนของใหม่ดีกว่า แต่ถ้าเปลี่ยนไม่ได้ แล้วอะไรจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าล่ะ”

‘งานบ้านที่รัก’ และไม่รักของ อุ้ย จารุวรรณ เจ้าของกลุ่มชวนคนมาแชร์สารพันปัญหางานบ้าน

บ้านที่ดี คือบ้านที่ไม่มีภาระทางใจ

  ความฮอตของกลุ่มไม่จบเพียงเท่านั้น แต่ยังทำให้เห็นปรากฏการณ์ป้ายยา ผู้คนพากันแห่ไปซื้อเครื่องใช้ต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง อุ้ยเล่าว่าเธอพยายามสื่อสารเรื่องการซื้อของอยู่ตลอด ถ้าของชิ้นนั้นดี เธอก็ยินดีด้วย แต่ถ้าเป็นการอุปทานหมู่ เห็นอีกคนแล้วอยากซื้อตาม เธอไม่ค่อยเห็นด้วยสักเท่าไหร่นัก และพยายามสื่อสารเรื่องนี้อยู่ตลอด ถ้าสังเกตเห็นบนหน้าปกของกลุ่ม จะมีประโยคที่อุ้ยกำกับเอาไว้ว่า ‘บ้านที่ดีคือบ้านที่ไม่มีภาระทางใจ’

“อุ้ยเคยได้ยินพ่อของเพื่อนคนหนึ่งเขาพูดกับลูกว่า “คอนโดฯ หนูตารางเมตรละเท่าไหร่ แล้วหนูทำอะไร เอาพื้นที่มาวางของพวกนี้หรอ” เราเลยเห็นว่าบางอย่างมันไม่ได้เหมาะกับเรา บางคนอาจคิดว่าแค่เสียเงิน ไม่เห็นเป็นไร แต่อย่าลืมไปว่าพื้นที่ในบ้านมันก็มีมูลค่า

“บางทีอุ้ยซื้อของที่ไม่มีประโยชน์ ซื้อมาแล้วคิดว่าจะได้ใช้ แต่ก็ไม่เคยใช้สักที มันคือภาระอย่างหนึ่ง บางทีเอาไปโพสต์ขายบ้าง ถ้าขี้เกียจขาย ก็เอาไปให้คนอื่นบ้าง ทิ้งไปบ้าง แต่ยังดีที่อุ้ยชอบซื้อของมือสอง เลยปลอบใจตัวเองได้นิดหน่อยว่า เราไม่ได้ซื้อของใหม่ โลกไม่ร้อนขึ้นเท่าไหร่หรอก ถ้าเราซื้อของมือสองมาใช้

“หลัก ๆ เลยคือของมือสองคุณภาพดีและราคาถูก สมมติว่าเราถือเงินร้อยบาทไปซื้อของใหม่ เราอาจได้แค่ตะกร้าที่แทบไม่มีมูลค่าอะไร แต่ถ้าถือเงินร้อยบาทไปซื้อของมือสอง เผลอ ๆ ได้ของแบรนด์เนมคุณภาพดี รู้สึกว่ามันคุ้มค่ากว่า และไม่ได้จำเป็นต้องใช้ของใหม่ 

“เราไม่ได้แคร์ความใหม่ของสินค้าเลย แคร์แค่ว่าของชิ้นนั้นยังใช้ได้หรือไม่ เราไม่ได้ชอบบ้านแบบมินิมอลอยู่แล้วด้วย ตั้งแต่เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงทัพพีตักข้าว ถ้ามีของมือสองที่ใช้ได้ ก็จะไปใช้ของมือสองก่อนแน่นอน เราว่ามันเป็นการหมุนเวียนที่ดีด้วย อีกอย่างของมือสองมันมีชิ้นเดียว บางอย่างมาแล้วก็ไปเลย ไม่ได้ผลิตมาร้อยชิ้น”

อุ้ย-จารุวรรณ ธงสุวรรณ แอดมินกลุ่ม ‘งานบ้านที่รัก’ และเพจ ‘ผีแม่บ้าน’ แลกเปลี่ยนเรื่องงานบ้านที่ทั้งรักและไม่รัก

งานบ้านที่ ‘ไม่รัก’

คนอาจจินตนาการว่าบ้านของคนที่โดนผีแม่บ้านเข้าสิงจะต้องเนี้ยบ เป็นระเบียบทุกกระเบียดนิ้ว แต่ความจริงตรงกันข้าม เพราะงานบ้านเป็นเพียงงานอดิเรกอย่างหนึ่งที่อุ้ยชอบทำเวลาว่าง ๆ เท่านั้น

“อุ้ยเฉย ๆ กับผมที่ร่วงบนพื้น กระเบื้องไม่ต้องเงา ห้องรก เพราะเราไม่ใช่คนสะอาดขนาดนั้น ของตกพื้นก็มีแอบเก็บขึ้นมากินบ้าง” เธอเล่าอย่างมีอารมณ์ขัน

ถึงจะชอบทำงานบ้าน แต่ก็มีงานบ้านที่ไม่ชอบ อุ้ยชอบทำอาหาร แต่ไม่ชอบพับผ้าและล้างจาน ถ้าต้องเลือกระหว่างพับผ้ากับล้างจาน เธอขอเลือกพับผ้า เพราะเป็นมนุษย์ที่เห็นคราบมันไม่ได้ และทนไม่ไหวถ้าต้องซักผ้าขี้ริ้วเปื้อนเศษอาหาร 

“เรามักจุกจิกกับเรื่องคราบมัน เพราะเป็นคนกลัวคราบมันมาก ๆ กลัวเศษอาหารด้วย เลยเนี้ยบกับมันมากชนิดที่ว่า ถ้าทำอาหารก็ต้องล้างมือตลอดเวลา แล้วก็ต้องมีเครื่องล้างจานติดบ้านไว้ ในครัวเลยใช้ทิชชูเช็ดอย่างเดียว ขอโทษด้วยที่ใช้ทิชชูเปลืองมาก ขอประหยัดกับอย่างอื่นแทน

“อีกอย่าง เป็นคนกลัวมือมัน ถ้าเกิดมีคนเอามือมัน ๆ มาจับลูกบิดประตู ช็อกเลยนะ ต้องวิ่งเอาเดทตอลไปเช็ด แปลกไหม ถ้าเป็นคราบในห้องน้ำนี่ถึงไหนถึงกัน ขัดได้หมด แต่เป็นเศษอาหารแล้วยอมแพ้

“เราไม่ชอบเวลาคราบมันหรือเศษอาหารอยู่ผิดที่ผิดทาง ไม่ชอบมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่เด็ก ๆ เวลากินอาหารถาดหลุม ต้องเอาถาดไปเก็บแล้วเคาะเศษอาหารทิ้งไว้รวมกัน เราเดินผ่านแถวนั้นทุกวันแล้วหัวใจสลาย ถ้าไปร้านอาหารก็กลัวการเข้าห้องน้ำมาก เพราะกลัวว่าเดินผ่านไปแล้วจะเจอเศษอาหารในครัวกองรวม ๆ กัน

“ล่าสุดเราไปเที่ยวกระบี่ พ่อทำหมูย่างหกในเรือ อุ้ยต้องรีบเอาแอลกอฮอล์ไปเช็ดให้เขา ไม่ได้ห่วงเขาหรอกนะ แต่ห่วงจิตใจตัวเอง เห็นแล้วเครียด ถ้าไปกินข้าวที่ร้านก็จะกินไปเช็ดไป เคยเห็นมีมหนึ่งไหม ที่เวลาไปกินเหล้าแล้วมีเพื่อนคนหนึ่งคอยเช็ดโต๊ะตลอดเวลา เราคือคนนั้นแหละ” อุ้ยเล่าติดตลก 

อุ้ยมองว่างานบ้านนั้นสำคัญกับความสัมพันธ์ในบ้านอย่างเลี่ยงไม่ได้ และเป็นปัจจัยแรกๆ ที่มีส่วนกับการใช้ชีวิตอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน เมื่อเธอเองไม่ได้ชอบทำทุกงาน จึงชวนให้เราสงสัยว่าในบ้านที่อาศัยร่วมกันเป็นครอบครัวนั้น พวกเขาแบ่งงานกันอย่างไร 

“เราตกลงกันเลยว่าถ้าว่างก็ทำ ไม่ว่างก็ไม่ต้องทำ ไม่มีแบ่งงาน ใครว่างก็ทำ ถ้าไม่ว่างทั้งคู่ก็ปล่อยมันไป เดี๋ยวพอมีช่วงที่ว่างแล้วจะมาช่วยกันทำเอง แต่จะไม่มีการมาบ่นให้อีกคนต้องทำ ไม่ชอบการบ่น เพราะเป็นประสบการณ์ที่เราเจอมาตอนเด็ก ๆ แล้วไม่แฮปปี้ เลยคิดว่าคนไหนว่างก็ทำ ถ้าอีกคนไม่ว่างก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวเราทำให้

“เรื่องนี้จะไม่สำคัญเลย เมื่อคุณมีเงินจ้างแม่บ้านได้ตลอดเวลา แบบนั้นไม่มีปัญหาเรื่องงานบ้านอยู่แล้ว แต่โดยทั่วไป หลาย ครอบครัวไม่ได้จ้างแม่บ้าน ถ้าตกลงกันไม่ได้ อาจกลายเป็นการทิ้งภาระให้คนใดคนหนึ่งมากเกินไป

“สำหรับบางคน แค่ถอดเสื้อผ้าแล้วใส่ลงตะกร้าก็อาจจะทำไม่ได้ แบบนี้อยู่ด้วยกันไปก็ไม่แฮปปี้ คนถอดเสื้อผ้าทิ้งไว้อาจมองว่าไม่ใช่เรื่องต้องมาบ่น แค่กองไว้รวม ๆ กันเดี๋ยวค่อยมาเก็บทีเดียวก็ได้ แต่อีกคนอาจมองว่า ถอดแล้วทำไมไม่โยนลงตะกร้าเลย ทำไมต้องรอห้าวันแล้วค่อยมาเก็บ มันอยู่ที่มาตรฐานว่าแต่ละคนพอใจแบบไหน

“มีสมาชิกในกลุ่มมาเล่าว่า เขาแยกกันอยู่กับสามีแล้วมีความสุขขึ้น เพราะเรื่องความเป็นระเบียบไม่เสมอกัน ก็เลยเป็นปัญหา สำหรับคนที่ชอบทิ้ง ก็จะอึดอัดว่าทำไมชีวิตต้องมาโดนบ่นเรื่องพวกนี้ ทั้ง ๆ ที่ตอนอยู่คนเดียวเขาก็อยู่ได้ อีกคนที่ไปจุกจิก ก็อาจจะมองว่ามันไม่ใช่เรื่องจุกจิก สุดท้ายถ้าไม่แยกกันอยู่ ก็ต้องปรับตัวเข้าหากัน 

“คิดเหมือนกันไหมว่า คนสมัยก่อนมักมีปัญหาแบบนี้ อาจเป็นเพราะสังคมด้วย ที่บอกว่าผู้หญิงต้องเป็นแม่บ้าน สมัยนี้ไม่ค่อยมีแบบนั้นแล้ว งานบ้านมันเป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็ทำได้ ถ้าเป็นงานส่วนรวมยิ่งต้องช่วยกันทำ แต่ถ้าเป็นงานที่คนใดคนหนึ่งหาทำ คนนั้นก็ต้องรับผิดชอบในส่วนที่ตัวเองหาทำ”

ถึงจะชอบทำงานบ้านแค่ไหน อุ้ยก็จะทำงานเพียงในส่วนที่จำเป็นต้องทำเพื่อให้ใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างการล้างจาน ซักผ้า หุงหาอาหาร และทำงานที่จำเป็นต้องทำในการอยู่ร่วมกับส่วนรวม สำหรับบางงานที่หนักหนาเกินกำลัง อย่างเช็ดกระจก เช็ดฝุ่นตามร่อง ปีนฝ้า ซ่อมบ้าน ทาสี เช็ดเหล็กดัด ล้างมุ้งลวด เธอเล่าว่าตัวเองแทบไม่ได้แตะงานพวกนี้มานานหลายปีแล้ว ถึงขั้นตั้งปณิธานไว้เลยว่าจะไม่ทำ 

“ไม่มีเหตุผลที่ต้องทำ ในเมื่อเราจ้างคนมาทำได้” อุ้ยบอกพลางหัวเราะ

ตรงข้ามกับงานบ้านที่ชอบ นอกจากความจำเป็นแล้ว หากไม่เหลือบ่ากว่าแรงเกินไป การโดนผีแม่บ้านเข้าสิง ให้ทำงานบ้านจนสำเร็จลุล่วงก็เป็นอีกความสนุกอย่างหนึ่งในชีวิตของเธอ

“ล่าสุดมีคนใช้เครื่องดูดฝุ่นดูดลมออกจากถุงธรรมดาให้กลายเป็นถึงสุญญากาศ อุ้ยว่ามันเจ๋งดี อาจอยู่ได้ไม่นานมาก แต่สำหรับคนที่ไม่ได้มีเงินซื้อเครื่องดูดลมสุญญากาศ อุ้ยว่ามันโอเคเลย เราสนุกกับอะไรแบบนี้มาก เหมือนเอาของที่มีอยู่แล้วไปดัดแปลงทำอย่างอื่น

“มันท้าทายนะ เวลาที่เราทำได้ ถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งในชีวิตเลย เช่น วันนี้เอาคราบราดำออกได้หมดเลย ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว อุ้ยว่าคนเรามันต้องมีความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตไว้หล่อเลี้ยงจิตใจไปเรื่อย ๆ งานบ้านมันก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ทำให้เรามีความสุขขึ้นมาได้เหมือนกัน

อุ้ย-จารุวรรณ ธงสุวรรณ แอดมินกลุ่ม ‘งานบ้านที่รัก’ และเพจ ‘ผีแม่บ้าน’ แลกเปลี่ยนเรื่องงานบ้านที่ทั้งรักและไม่รัก

Writer

Avatar

ซูริ คานาเอะ

ชอบฟังมากกว่าพูด บูชาของอร่อย เสพติดเรื่องตลก และเชื่อว่าชีวิตนี้สั้นเกินกว่าจะอ่านหนังสือดีๆ ให้ครบทุกเล่ม

Photographer

Avatar

ธีรชัย ลัญจกรสิริพันธุ์

อดีตช่างซ่อม ปัจจุบันช่างภาพ ลูกชายคนเล็ก ชอบเรียกม่าม๊า เวลาว่างขับแมคโครเล่น ตัวจริงต้องไม่ใส่รองเท้า จ้องกินแต่หมูแดดเดียว