เส-จารุทัศ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นคนไทย 

เขาทำชีสสัญชาติไทย แบบใช้ภูมิปัญญาของคนไทยในทุกกระบวนการการผลิต เพราะเขาเชื่อว่าหากจะเรียกชีสสักชนิดว่าเป็นชีสไทย เขาก็อยากให้มันเกิดจากทรัพยากรในประเทศ ทั้งในแง่วัตถุดิบ ความรู้ด้านการผลิต การออกแบบเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ 

เสศึกษาวิธีการทำชีสด้วยตัวเองมาแล้ว 15 ปี เขาทดลอง ล้มเหลว และเรียนรู้ โดยอาศัยอินเทอร์เน็ต หนังสือ และคำแนะนำของเชฟจากประเทศเจ้าของตำรับชีส 

การทดลองทำชีสแบบไร้กระบวนท่า การไม่มีกรอบของวัฒนธรรมชีสดั้งเดิมมาเป็นข้อจำกัด และการออกแบบชีสจากการทำความเข้าใจที่มาในทุกมิติ ทำให้เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญและรู้จักชีสแบบหมดไส้หมดพุง จนสามารถแบ่งปันความรู้ให้คนจากทั่วโลกที่มาถามถึงเทคนิค หรือวิธีแก้ปัญหาในการทำชีสกับเขาได้

อดีตผู้ประสานงานพัฒนาผลิตผลอาหารและบริการของโครงการหลวง ซึ่งปัจจุบันเป็นนักทำชีสและเจ้าของแบรนด์ชีส Jartisann ต้อนรับเรา ณ บ้านของเขาที่อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเขาใช้เป็นทั้งโรงงานทำชีสเล็ก ๆ และร้านขายชีสลับ ๆ ที่มีลูกค้าเจ้าประจำแวะเวียนมาชิม มาช้อป ไปกิน ไปฝากอยู่ไม่ขาดสาย

แต่ก่อนจะเริ่มไปฟังเรื่องชีสไทยจากเส เราขอเอาความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับชีส 10 ข้อมาฝาก ให้ผู้ไม่สันทัดเรื่องชีสได้ปูพื้นฐานกันก่อน

Jartisan ชีสโลกใหม่ ออกแบบโดยคนไทยที่ตั้งใจไม่ทำให้เหมือนชีสที่มีอยู่แล้วบนโลก
  1. ชีสทำมาจากส่วนประกอบแค่ 4 อย่าง คือ น้ำนม เกลือ หัวเชื้อ และสารที่ทำให้น้ำนมจับตัวเป็นลิ่ม (Rennet)
  2. ชนิดของหัวเชื้อ น้ำหนักการกด ขนาดของลิ่มน้ำนม (Curd) และระยะเวลาการบ่ม เป็นปัจจัยที่ทำให้ชีสมีลักษณะแตกต่างกัน
  3. จริง ๆ แล้วชีสเป็นอาหารที่ชาวยุโรปทำกันเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน และมีวิธีการทำที่เรียบง่าย เพื่อเป็นการยืดอายุน้ำนมส่วนเกิน
  4. ชีสชนิดต่าง ๆ จึงแนบแน่นกับปัจจัยของถิ่นกำเนิดมาก ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ ภูมิประเทศ หรือวัฒนธรรมของชนชาตินั้น ๆ
  5. แต่ปัจจุบันการทำชีสเป็นการใช้เทคโนโลยีควบคุมอุณหภูมิกันหมดแล้ว เราเลยผลิตชีสที่ไหนก็ได้ แต่ยังต้องใช้หัวเชื้อให้ถูกกับชนิดของชีส
  6. ชื่อเรียกของชีสแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือเรียกตามถิ่นกำเนิด เช่น บรี, กามองแบร์, สติลตัน หรือไม่ก็เรียกตามลักษณะของมัน เช่น มอสซาเรลล่าที่หมายถึงชีสที่ยืดได้ (มอสซา แปลว่ายืด) หรือ คัชเชลคาวาโล่ ชีสลูกตุ้มที่มักเป็นอาหารที่ทหารม้าแขวนติดม้าเอาไปกิน (คาวาโล่แปลว่าทหารม้า) 
  7. ต่อมามีชีสที่ทำโดยคนยุคใหม่ กระบวนการและวัตถุดิบถูกดัดแปลง เพื่อให้ได้เนื้อสัมผัส หน้าตาและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ คนทำชีสก็เลยสถาปนาว่ามันเป็นชีสโลกใหม่ แล้วก็ตั้งชื่อสนุก ๆ เช่น Yarg Cheese เป็นชีสที่ห่อใบตำแย ทำโดยตระกูล Gray (เอานามสกุลมากลับตัวอักษรหน้าไปหลัง) หรือล้อชื่อของเดิมอย่าง คาโชะคาบาโระ ของญี่ปุ่น ซึ่งก็คือชีสที่คล้ายกับคัชเชลคาวาโล่ เป็นต้น 
  8. การแบ่งชีสอย่างกว้างที่สุดคือ แบ่งตามจำนวนเปอร์เซ็นต์น้ำในชีส ก็จะเรียกได้ว่าเป็น Fresh Cheese ที่มีน้ำมากที่สุด เพราะบ่มสั้น รสชาติไม่เข้มข้น ไล่ไปเป็น Aged Fresh Cheese ที่บ่มนานขึ้นอีกนิด เริ่มมีรสชาติมากขึ้นอีกหน่อย Soft Cheese ที่จะเริ่มมีราปกคลุมด้านนอกแต่ด้านในนิ่ม Semi Soft Cheese เนื้อจะแน่นกว่าและอาจมีเทคนิคการทำเปลือกด้านนอก (Wash Dry) ให้มีรสชาติพิเศษจากน้ำเกลือ เบียร์ หรือเหล้าเพื่อเพิ่มรสชาติ Hard Cheese คือชีสที่แข็งจนเอามาขูด ๆ ได้ และสุดท้ายคือ Blue Cheese ที่พิเศษกว่าเพื่อน เพราะมีรอยแตกให้ราสีฟ้า ๆ วิ่งไปทั่วเนื้อชีสได้
  9. วิธีจำชีสแบบง่าย ๆ สามารถอ้างอิงโดยจินตนาการไปถึงการทำชีสในอดีตกาลของประเทศนั้น ๆ เช่น ชีสอ่อน ๆ มักมาจากประเทศที่อากาศไม่ได้หนาวจัดอย่างอิตาลี เพราะบ่มนานไม่ได้ ส่วนชีสที่แข็ง กลิ่นแรง ก็มักจะมาจากประเทศที่หนาวและมีเทือกเขาเยอะ ๆ อย่างสวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส
  10. การเสิร์ฟ Cheese Platter หรือชีสบอร์ด ควรมีชีสครบทุกประเภท เพื่อให้ผู้กินสลับไปมาระหว่างรสชาติอ่อนเข้ม และเนื้อสัมผัสทั้งแบบแข็งและแบบนุ่ม

นักเข้าใจชีสที่ทำความรู้จักชีสผ่านศาสตร์การออกแบบ

เสเป็นนักทำชีสผู้ไม่มีประวัติชีวิตด้านไหนเกี่ยวพันกับการทำอาหาร จนกระทั่งเมื่อ 15 ปีที่แล้ว

ตอนนั้นเขาได้รับมอบหมายจาก หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวงในขณะนั้นให้ศึกษาการแปรรูปอาหารต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้วัตถุดิบจากเกษตรกรและทดแทนการนำเข้า ในตำแหน่งผู้ประสานงานพัฒนาผลิตผลอาหารและบริการของโครงการหลวง

หนึ่งในผลิตผลทางการเกษตรที่เสเห็นว่าควรนำมาเพิ่มมูลค่า คือ น้ำนมวัวที่มีมากมายล้นตลาด ประกอบกับตลาดชีสนำเข้าที่เติบโตจากรสนิยมการกินของคนไทยที่รู้จักอาหารยุโรปมากขึ้น

Jartisan ชีสโลกใหม่ ออกแบบโดยคนไทยที่ตั้งใจไม่ทำให้เหมือนชีสที่มีอยู่แล้วบนโลก

ปัจจุบันเขาเป็นนักทำชีสเจ้าของแบรนด์ Jartisann ร้านชีสเล็ก ๆ ในเชียงใหม่ที่ทั้งผลิตและขายในบริเวณบ้านของเขาเอง แม้จะมีอายุไม่ถึงปีดี แต่ก็มีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือในหมู่เชฟร้านอาหารฝรั่งดัง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต 

เชฟและลูกค้าที่มีพื้นเพมาจากประเทศต้นกำเนิดชีสยังติดใจและชื่นชมชีส Jartisann

แต่กว่าจะบ่มประสบการณ์จนออกรสออกชาติได้ขนาดนี้ เสเล่าว่าหนทางการทำชีสของเขาเริ่มต้นอย่างว่างเปล่า

“ตอนนั้นไม่มีความรู้อะไรเลย ได้รับมอบหมายงานมาให้ศึกษา หมายถึงไม่มีคนสอน (หัวเราะ) ก็เลยต้องหาข้อมูลและทดลองเอาเอง” เสเล่าความหลังวันที่ต้องงมชีสในมหาสมุทรข้อมูลให้ฟังพร้อมเสียงหัวเราะอย่างคนเปี่ยมสุข

ถึงเสจะไม่มีพื้นฐานด้านอาหาร แต่เขามีพื้นฐานด้านการออกแบบ 

เขาเรียนปริญญาตรีด้านการออกแบบอุตสาหกรรม และเคยผ่านห้องปฏิบัติการสมัยมัธยมมาบ้าง จึงใช้ความรู้และวิธีการเหล่านั้นมาลองทำชีส 

เขาบอกว่า “มันก็คล้าย ๆ กับงานดีไซน์ คือโจทย์ที่ได้ก็จะมาจากอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ในฐานะนักออกแบบ เราต้องรีเสริชเข้าไปในวงการนั้น ๆ ว่าแต่ละอย่างมันมีฟังก์ชันยังไง วัตถุประสงค์ที่คนใช้คืออะไร

“พอเป็นอาหาร มันก็เปลี่ยนองค์ความรู้จากวัสดุเป็นวัตถุดิบ แล้วก็จากกระบวนการการผลิตสินค้าชนิดต่าง ๆ เป็นกระบวนการผลิตอาหาร ผมเลยกลายเป็นคนที่ค้นคว้าเรื่องอาหารหลากหลายอย่าง และมักค้นคว้าไปจนถึงกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม ซึ่งมักจะเป็นแบบที่เรียบง่ายที่สุดเพื่อลดต้นทุนการผลิต”

การศึกษาเรื่องชีสของเขาเกี่ยวข้องตั้งแต่ประวัติศาสตร์อาหาร ประกอบกับความรู้ด้านวัฒนธรรม เชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ ความใกล้เคียงกันของอาหารแต่ละภูมิภาค เพื่อถอดรหัสความเป็นมาของชีสรูปแบบต่าง ๆ

และใบเบิกทางจากการทำงานให้โครงการหลวง ก็ทำให้เสได้รู้จักกับเชฟมากฝีมือมากมายมาช่วยชิมและให้คำแนะนำเรื่องชีส แถมยังได้โอกาสไปศึกษาการทำชีสจากประเทศต้นกำเนิด ซึ่งทำให้เขาค้นพบว่า ถ้าจะทำชีสในประเทศไทย เขาจะทำมันอย่างตรงไปตรงมาเหมือนที่เขียนไว้ในหนังสือไม่ได้

Jartisan ชีสโลกใหม่ ออกแบบโดยคนไทยที่ตั้งใจไม่ทำให้เหมือนชีสที่มีอยู่แล้วบนโลก

“เริ่มจากการได้รู้ว่า ชีสที่กินสด ๆ ไม่ผ่านการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมานอนในตู้แช่ก่อนจะถึงมือเรานั้นมันอร่อยกว่ามาก” เขาเล่าให้ฟังถึงโมเมนต์ตาสว่าง

“อย่างชีสมอสเซเรลล่าสดที่คนทำชีสที่อิตาลีเอามาป้อนเข้าปาก ผิวข้างนอกมันตึง แต่กัดเข้าไปแล้วเนื้อข้างในเนียนและเข้มข้นมาก เป็นรสสัมผัสที่เราไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน ความเหนียวและยืดหยุ่นของผิวมอสเซเรลล่าจริง ๆ นั้นต้องถึงขนาดยืดแผ่จนเป็นลูกโป่งได้เลย”

แต่แม้จะจดเคล็ดลับที่ได้รู้เพิ่มเติม อย่างอุณภูมิที่เหมาะสมหรือค่า pH แม่นยำมามากแค่ไหน พอเอามาทำที่เมืองไทย เขาก็ยังไม่ประสบความสำเร็จอยู่ดี

เขาเล่าว่า “ตอนนั้นได้เรียนรู้ว่า การทำชีสคือการใช้ส่วนประกอบละเอียดอ่อนและไม่ตายตัว มีเชฟที่อิตาเลียนบอกว่าทำชีสต้องใช้ความรู้สึก จะมายึดติดกับเวลาหรือมาตรวัดไม่ได้

“ตั้งแต่นั้นผมเลยเลิกยึดติดกับสูตร แล้วหันมาทดลองทำชีสขึ้นมาเอง”

สนิท ชีส เชื้อ

“จะเก่งเรื่องชีสได้ ต้องเก่งเรื่องเชื้อ” เสยืนยัน

เขาอธิบายเพิ่มว่า “เชื้อที่ใช้ทำชีสคือ แลคติดแอซิดแบคทีเรีย ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ เทอร์โมฟิลิคที่ชอบอุณหภูมิร้อน และมีโซฟิลิคที่ชอบอุณหภูมิกลาง ๆ ซึ่งในแต่ละประเภทก็มีอีกเป็น 100 สายพันธุ์ แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ทั่วยุโรป 

“เชื้อมีผลต่อเนื้อชีสอย่างมาก ผมมีแคตตาล็อกเชื้อ ที่อ่านแล้วจะรู้ว่าค่าความเป็นกรดของเชื้อแต่ละตัวว่าจะขึ้นช้าเร็วแค่ไหน และเนื้อมันจะออกมาเป็นยังไง ในทางกลับกัน เวลาผมเอามือแตะลงไปบนเนื้อชีสที่เจอ ผมก็จะรู้ว่าเนื้อแบบนี้ใช้เชื้อไหนเป็นหลัก แค่ได้กลิ่นก็รู้แล้วว่าเป็นเชื้อตระกูลไหน”

ในยุคปัจจุบัน เราสามารถหาซื้อหัวเชื้อมาทำชีสชนิดต่าง ๆ ได้ 

ชีสแต่ละชนิดจะต้องใช้เชื้อสายพันธุ์ที่ถูกต้อง ซึ่งโรงงานผลิตก็จะทำการสกัดเชื้อออกจากชีสชนิดต่าง ๆ มาทำการเพิ่มจำนวน ทำให้แห้ง และส่งออกขาย

ซึ่งเชื้อที่ว่าเมื่อมาอยู่ในคนละสิ่งแวดล้อม ใช้วัตถุดิบที่ต่างกัน ชีสก็ไม่มีทางจะออกมาเหมือนต้นกำเนิดอยู่ดี

เสจึงใช้วิธีลองเอาเชื้อประเภทต่าง ๆ มาเล่น เพื่อหาส่วนผสมที่ใช่สำหรับชีสของเขา ทั้งเล่นจับคู่ เล่นหาเชื้อประเภทเดียวกันจากในประเทศ หรือแม้แต่สร้างขึ้นมาใหม่เองจากจุลินทรีย์แถบหางดง

Jartisan ชีสโลกใหม่ ออกแบบโดยคนไทยที่ตั้งใจไม่ทำให้เหมือนชีสที่มีอยู่แล้วบนโลก
Jartisan ชีสโลกใหม่ ออกแบบโดยคนไทยที่ตั้งใจไม่ทำให้เหมือนชีสที่มีอยู่แล้วบนโลก

พอทดลองเล่นจนแตกฉาน เสก็เริ่มสร้างสรรค์สูตรชีสของตัวเองแบบไม่ต้องใช้ตำรา โดยการลองพลิกแพลง ดัดแปลง จากชีสดั้งเดิมในประเทศต่าง ๆ เช่น เอาเฟตต้าชีสที่ปกติจะทำแบบชีสสดแช่น้ำเกลือ มาบ่มแห้ง ได้เป็นชีสแบบใหม่ 

จะว่าไปก็เป็นวิธีเดียวกันกับการสร้างสรรค์ชีสขึ้นมาในยุโรป ก็คือบอกวิธีต่อ ๆ กันมา แล้วก็เอาสิ่งที่มีอยู่ในบ้านเมืองเขามาทำ เอาตามวิธีที่แต่ละคนสะดวก

“ผลลัพธ์คือการออกแบบชีสใหม่ขึ้นมา มีแรงบันดาลใจจากชีสชนิดที่มีอยู่เดิม แต่เราไม่ได้ทำตามสูตร หรือใช้เชื้อตัวดั้งเดิมของชีสชนิดนั้นแบบตรง ๆ” เสเล่าอย่างคนเล่นสนุก

เชื้อบางตัวเขาได้มาจากวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในประเทศไทย เช่น ข้าวหมากและเหล้าขาว ที่เอามาทำซอล์ฟชีสชื่อซ่อนกลิ่น หรือ Hidden Agenda ชีสกลิ่นชัด และมีรสชาติซับซ้อนแบบไทย ๆ

แล้วก็ยังมีการใช้เชื้อท้องถิ่นที่เป็นตระกูลเดียวกับเชื้อที่เอามาทำบรี ซึ่งเป็นชีสยอดนิยมของคนไทย แต่ที่มาของหัวเชื้อนั้นเป็นวัตถุดิบที่เขาบอกว่าคนมักคิดไม่ถึง และเขาขออุบไว้ไม่ยอมบอก เขาเอาเชื้อตัวนั้นมาเอามาทำเป็นสันผักหวานบุรี (San Paquanburie) ซอล์ฟชีสซึ่งได้ชื่อตามตำบลสันผักหวาน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ตำบลต้นกำเนิดของชีสชนิดนี้

Jartisan ชีสโลกใหม่ ออกแบบโดยคนไทยที่ตั้งใจไม่ทำให้เหมือนชีสที่มีอยู่แล้วบนโลก

ชีสไทย โดยคนไทย 100 เปอร์เซ็นต์

ความพิเศษของ Jartisann คือเป็นชีสที่ออกแบบเพื่อประเทศไทย ให้เป็นชีสที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ไม่ใช่แค่ทำเลียนแบบให้เหมือนกับชีสที่มีอยู่แล้ว 

“ตอนเริ่มศึกษาเรื่องชีส ผมได้อ่านหนังสือที่เล่าถึงชีสจากทั่วโลก ชื่อว่า World Cheese ในเล่มนั้นจะเล่าถึงชีสทั้งจากถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอย่างยุโรป และชีสที่เขาเรียกว่าชีสโลกใหม่ อย่างออสเตรเลีย อเมริกา แล้วก็มีของเอเชียด้วย เป็นชีสญี่ปุ่นกับจีน ผมเลยหมายมั่นปั้นมือตั้งแต่นั้นว่า อยากจะให้เมืองไทยมีชีสไทยของตัวเองให้ได้” เสเล่าความตั้งใจที่ทำให้เขาทุ่มเทเวลา ความรู้ความสามารถ และเงินทอง ไปกับการทำชีสให้เป็นแบบไทยแท้ ๆ

“ผมเห็นว่าเมืองไทยมีนม เมืองไทยทำชีสได้ คนกินชีสก็มี นับวันก็จะยิ่งเยอะและหลากหลายมากขึ้น ขอแค่มีองค์ความรู้ ซึ่งผมสามารถศึกษาเอาได้” 

เสเล่าว่าการทำชีสไทยแบบ Jartisann ไม่ใช่แค่การใช้วัตถุดิบในประเทศเท่านั้น 

“แต่มันเป็นชีสที่มีรากกำเนิดออกมาจากการที่เรามองว่า เราจะใช้ภูมิปัญญาที่เรามี อุปกรณ์ที่เรามี สภาพอากาศที่เรามี แล้วก็ทำชีสออกมา ให้เป็นเป็นชีสที่ผสมผสานองค์ความรู้ ความเข้าใจเรื่องชีส และกรรมวิธีการผลิตชีสจากทั่วยุโรป” 

พวกเครื่องจักร อุปกรณ์ และเทคนิคการทำทั้งหมด เสออกแบบเองกับมือ ด้วยวิธีการและวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น 

“ผมออกแบบตู้บ่มชีสจากตู้แช่ผัก ใช้เตาถ่านต้มน้ำนมดิบ ใช้ตะกร้ากระจูดขึ้นรูปชีสเป็นต้น ผมทำแบบนี้เพราะต้องการให้ใคร ๆ ก็ทำชีสได้ ฉะนั้นก็ไม่ใช้ของแพงและนำเข้าให้น้อยที่สุด พยายามใช้ทุกอย่างที่มีในเมืองไทย ไปซื้อในตลาดก็เอามาทำชีสได้ รู้แค่หลักการพอว่าเราต้องการทำอะไร ไม่ต้องการทำอะไร แล้วเลือกอุปกรณ์ในท้องตลาดที่มี ก็เอามาทำชีสได้หมด”

Jartisann มีชีสทุกประเภทเหมือนกับส่วนอื่นของโลก เพื่อรองรับความต้องการทั้งจากเหล่านักกินชีสที่ต้องการชีสที่หลากหลาย และเชฟร้านดังในโรงแรม 5 ดาวที่เสาะหาชีสดี ๆ ถึงมาตรฐาน มาเพิ่มเสน่ห์ให้อาหารโดยการใช้วัตถุดิบในประเทศ 

เส จารุทัศ นักทำชีสแห่งหางดง ผู้ทำ Jartisan ชีสสัญชาติไทยแบบไม่ใช้กรอบของการทำชีสแบบดั้งเดิม
เส จารุทัศ นักทำชีสแห่งหางดง ผู้ทำ Jartisan ชีสสัญชาติไทยแบบไม่ใช้กรอบของการทำชีสแบบดั้งเดิม

ชอบ ชื่อ ชีส

หนึ่งไฮไลต์ที่เราอยากเล่าเกี่ยวกับชีส Jartisann คือการตั้งชื่อที่เล่าความเป็นชีสไทยได้สนุกสุด ๆ เสทำชีสออกมาวางขายทั้งหมด 18 ชนิด แต่เราขอยกตัวอย่างมาเล่าพอสังเขปก็พอ

‘San paquanburie หรือ สันผักหวานบุรี’ ซอล์ฟชีสที่ใช้เชื้อในประเทศประเภทเดียวกันกับบรี ซึ่งเกิดที่แคว้นบรี ทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส (ปัจจุบันไม่มีแล้ว) และสันผักหวานบุรีก็เกิดที่ตำบลสันผักหวาน ทางตอนเหนือของประเทศไทย (ปัจจุบันยังมีอยู่)

‘Forrest Tale หรือ หางดง’ ชีสสีดำดูน่าค้นหาจากการทาด้วยขี้ผึ้งและน้ำมันมะกอก ได้ชื่อจาก อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นต้นกำเนิดชีสชนิดนี้

‘La Loubere หรือ ลาลุแบร์’ ได้แรงบันดาลใจจากกามองแบร์ ชีสฝรั่งเศสที่เป็นตัวเบิกทางให้กับชีสฝรั่งเศสตัวอื่น ๆ เข้ามาในไทย เลยได้ชื่อเป็นจดหมายเหตุที่เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ราชทูตฝรั่งเศสคนแรกที่มาเมืองไทย นำมาถวายแด่สมเด็จพระนารายมหาราช

‘ตระกูล Saltara หรือ ซอลธารา’ Salt แปลว่าเกลือ และ Tara แปลว่าน้ำ หมายถึง ชีสที่เอาน้ำเกลือมาทาให้เชื้อมันขึ้น เป็นสีส้ม ๆ ที่ผิว มีกลิ่นคาว ๆ คล้ายน้ำปลา

เสเสริมว่า “บางคนคิดว่าเป็นรา ก็เป็นอีกความหมายของ Salt ทา รา” 

ซอลธารานี้เป็นชีสที่เสทำขึ้นมาเป็นตัวแรก ๆ หลังจากได้กินชีสตระกูลภูเขาจากออสเตรียแล้วติดใจ

“ทางยุโรปแถบเทือกเขาแอลป์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ออสเตรีย เยอรมนี จะทำชีสเป็นสไตล์เดียวกัน เพราะภูมิประเทศใกล้เคียงกัน เราก็อยู่ทางภูเขา เลยลองทำชีสเป็นสไตล์นั้นดู” 

เสจากเทือกเขาถนนธงชัย ได้แรงบันดาลใจจากนักทำชีสที่เทือกเขาแอลป์ 

ความพิเศษที่สุดของซอลธาราคือ เป็นตระกูลชีสที่เสทำออกมาทั้งหมด 3 ตัว โดยใช้เชื้อหลักตัวเดียวกัน ต่างกันที่การเชื้อบางตัวที่เพิ่มเข้ามาพิเศษ กรรมวิธีการทำ ขนาดของลิ่มน้ำนม อุณหภูมิ รูปทรง น้ำหนักกด เวลาบ่ม แล้วก็อุณหภูมิของการเลี้ยงชีสในหม้อ ทำให้ความแน่น รสชาติ เนื้อสัมผัสของซอลธาราแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน

“ซอลธาราเฟรารี (Saltara Ferari) ได้ชื่อเฟรารีมาเพราะเชฟร้าน Chez Marco กินแล้วเขาบอกว่านี่มันเป็นตัวท็อปของยูเลย ก็เลยเรียกมันว่าเป็นเฟรารี ตัวที่สองคือ ซอลธาราเถระ (Saltara Tera) ที่แปลว่าใหญ่ อยู่มานาน และเข้มข้น อันนี้จะทำเป็นก้อนใหญ่และบ่มนาน และตัวสุดท้ายคือ ซอลธารามัจฉิมา (Saltara Machima) ที่แปลว่ากลาง ๆ คือรสชาติกลาง ๆ ชิ้นไม่ใหญ่มาก เนื้อเป็น Semi-hard ไม่แข็งเท่าสองตัวก่อนหน้า”

‘The Royal Bleu’ ก็เป็นชีสอีกชนิดที่พิเศษมาก เพราะเป็นบลูชีสตัวแรกของประเทศไทย และเสได้มีโอกาสนำบลูชีสที่ทำได้นั้นไปทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้เป็นแรงบันดาลใจของเสให้ไปทำงานที่โครงการหลวง และเป็นคนทำชีสมาจนถึงทุกวันนี้

เสเล่าว่า “สีน้ำเงิน (Bleu / Blue ) เป็นสีของพระมหากษัตริย์ และพ้องกับ H.M. Blues ชื่อวงดนตรีของพระองค์ท่าน ผมได้ถวายชีสตัวนี้กับพระหัตถ์ ตอนที่พระองค์ประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช พระองค์ทอดพระเนตรแล้วก็บอกว่า น่าสนใจ คำเดียวสั้น ๆ ตอนนั้นพระองค์ประชวรมากแล้ว แทบจะตรัสไม่ได้ แต่ยังตรัสว่าน่าสนใจ ผมก็เลยตั้งชื่อทีหลังว่า Royal Bleu เพื่อระลึกถึงพระองค์ท่าน”

เส จารุทัศ นักทำชีสแห่งหางดง ผู้ทำ Jartisan ชีสสัญชาติไทยแบบไม่ใช้กรอบของการทำชีสแบบดั้งเดิม

Writer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ