เด็กชาย แจเร็ด ฟลัด (Jared Flood) ชอบถักนิตติ้ง
แต่เพื่อนที่โรงเรียนบอกว่าลูกผู้ชายต้องไม่ทำงานฝีมือ แจเร็ดก็เลยเลิกถัก หันไปทำอะไร ‘แมน ๆ ’ ตามเพื่อน

จนกระทั่งต้องจากบ้านที่วอชิงตันมาเรียนปริญญาโทด้านศิลปะที่นิวยอร์ก แจเร็ดไม่มีเพื่อน เลยนึกขึ้นได้ว่ามีห้องสมุดและร้านหนังสือ และมีความชอบเก่าแก่ตั้งแต่เด็กเรื่องนิตติ้ง เขาค้นคว้าหาอ่านประวัติศาสตร์และทุกเรื่องที่อยากรู้เกี่ยวกับการถักไหมพรม จากหนังสือเล่มแล้วเล่มเล่า จนเข้าใจศาสตร์ขนานนี้อย่างถ่องแท้
ปี 2005 เขาเริ่มเขียนบล็อก ชื่อ Brooklyn Tweed (เพราะตอนนั้นบ้านอยู่แถว Brooklyn) เล่าเรื่องนิตติ้ง กับเอาแพตเทิร์นสเวตเตอร์ของผู้หญิงมาปรับให้เหมาะกับผู้ชาย ใช้ชื่อคนเขียนสั้น ๆ ว่า Jared
เล่นแร่แปรธาตุแพตเทิร์นของคนอื่นอยู่ได้ไม่นาน แจเร็ดเริ่มคิดได้ว่า เราทำเองก็ได้นี่นา จากที่เคยสนใจอ่านแต่เรื่องประวัติความเป็นมา แจเร็ดเลยหันมาหมกมุ่นกับการทำความเข้าใจโครงสร้างของแพตเทิร์น แล้วเริ่มออกแบบเสื้อของตัวเอง คนเริ่มฟอลโลว์มากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะตอนนั้นยังไม่มีแพตเทิร์นสเวตเตอร์สำหรับผู้ชายเท่ ๆ แต่มีรายละเอียดสวย ๆ แบบนั้นมาก่อน


ความไปถึงหู เมลานี ฟาลิก (Melanie Falick) บรรณาธิการนิตยสารนิตติ้งหัวดังสมัยนั้นที่ชื่อ Interweave Knits เมลานีขอให้แจเร็ดทำแพตเทิร์นมาลงหนังสือ มีค่าแบบให้ 300 – 400 เหรียญ แจเร็ดออกแบบอยู่หลายวัน ถักของจริงอีกหลายคืน แล้วก็มีผลงานในชื่อ Jared Flood ออกสื่อกระแสหลักเป็นครั้งแรก ลูกบล็อกตื่นเต้นกันใหญ่ แต่แจเร็ดกลับคิดได้ (อีกละ) ว่าสงสัยทำแบบนี้จะได้เงินไม่คุ้มเหนื่อย
ประจวบเหมาะกับเมื่อปี 2007 มีเว็บไซต์ที่ต่อมาจะกลายเป็นตำนานแห่งวงการนิตติ้ง ชื่อ Ravelry ถือกำเนิดขึ้น

Ravelry คืออะไร อธิบายง่าย ๆ ก็คือเว็บไซต์ที่ขายแพตเทิร์นถักนิตติ้งให้คนดาวน์โหลด ใครมีแพตเทิร์นก็เอามาโพสต์ขาย (บางคนก็แจกฟรี) ได้ค่าดาวน์โหลดละประมาณ 5 – 10 เหรียญ ในหมู่คนถักนิตติ้งที่นี่ ใครไม่รู้จักหรือไม่เคยดาวน์โหลดแพตเทิร์นจากแรเวลรี่เห็นทีจะหาได้ยากมาก
แจเร็ดเห็นช่องทางสว่างไสว เลย Sign up เป็นคนขายแพตเทิร์นอันดับต้น ๆ จนตอนนี้มีงานของเขาให้ดาวน์โหลดได้อยู่หลายร้อยชิ้น
อุ้มเองใช้แพตเทิร์นของ Brooklyn Tweed มาเกือบสิบปี ตั้งแต่ยังไม่รู้ว่า แจเร็ด ฟลัด เป็นใคร คือตอนนั้นซื้อเพราะแบบดูมีความเท่ ๆ เรียบ ๆ ง่าย ๆ แต่มีดีเทลให้ได้เรียนรู้วิธีการถักใหม่ ๆ ด้วย เพราะตั้งแต่โตเป็นผู้เป็นคนมา อุ้มไม่เคยถักนิตติ้งได้เป็นชิ้นเป็นอันเลย จนกระทั่งย้ายมาอยู่พอร์ตแลนด์ แล้วไปเจอร้านขายไหมพรมสวย ๆ ทั่วเมืองไปหมดนั่นล่ะ ถึงได้อยากจะถักอะไรกับเขาบ้าง ประจวบกับมีลูก ก็เลยไปให้ที่ร้านสอนพื้นฐานอยู่วันหนึ่ง แล้วก็ไปดาวน์โหลดแพตเทิร์นจากแรแวลรี่มาลองทำเอง เทคนิคไหนทำไม่เป็นก็เสิร์ชจากเน็ตกับดูยูทูบผสมกัน จนได้ผลงานถักนิตติ้งชิ้นแรกในชีวิตคือสเวตเตอร์ชิ้นนี้ที่ภูมิใจมาก และงงมากว่าถักสำเร็จได้ยังไง

พอเริ่มถักได้ ทีนี้ก็สนุกใหญ่สิคะ เพราะโลกของนิตติ้งมันช่างกว้างใหญ่ไพศาล Yarn (ไหมพรม) ก็มีให้เลือกเยอะแยะไปหมด ทีแรกอุ้มก็ไม่ได้มีความรู้อะไร รู้แค่พอคร่าว ๆ ว่าขนาด (เรียกว่า Weight) มีตั้งแต่ Lace, Fingering, DK, Worsted, Bulky ไปจนใหญ่มาก ๆ ที่เรียกว่า Roving
ส่วนวัสดุทำจากอะไรยังไงก็ไม่ค่อยได้สนใจมาก เพราะส่วนใหญ่จะเลือกจากสีที่ชอบซะมากกว่า แต่บางยี่ห้อถักออกมากลับไม่สวยอย่างที่คิด บางยี่ห้อนิ่มดี แต่พอถักเสร็จเอาไป Block หรือแช่น้ำแล้วจัดรูปร่างให้เข้าที่ พอแห้งแล้วลายที่ถักไว้ก็กลืน ๆ หายไปหมด ไม่สวยอย่างที่อยากได้

จนกระทั่งได้มาใช้ไหมพรมยี่ห้อ Brooklyn Tweed อีกนั่นแหละค่ะ ที่รู้สึกว่า อุ๊ย ตอนถักสนุกดีจัง เพราะไหมพรมมีความยืดหยุ่น ถักแล้วดึ๋ง ๆ สีก็สวยแปลกตาไม่เหมือนคนอื่น (ตอนหลังถึงได้มารู้ว่าเขาเรียกว่า Heathered Yarn คือเอาเส้นใยที่ย้อมแล้วหลาย ๆ สีมาผสมกัน เช่น แทนที่จะย้อมให้เป็นส้มไปเลย ก็ใช้เหลืองกับแดงผสมกัน มองแล้วเป็นสีส้ม แต่ดูดี ๆ ก็ยังเห็นสีเหลืองกับแดงอยู่ในไหมพรม) แถมถักเสร็จเอาไปบล็อก แห้งแล้วลายก็ยังสวยคมชัด งานที่ถักออกมา ไม่ว่าจะเป็นหมวก ผ้าพันคอ หรือสเวตเตอร์ ก็ดูมีเสน่ห์แบบบอกไม่ถูก อุ้มเรียกเองว่าเป็นลุคชนชั้นแรงงานในยุโรปสมัยก่อน มีความโบราณ ๆ ทั้งที่กราฟิกดีไซน์ของ Brooklyn Tweed นี่สุดจะเนี้ยบโมเดิร์นเมื้องเมือง แถมดูแพงด้วย
ความมาเฉลยเอาตอนที่อุ้มไปร้านไหมพรมแถวบ้านเมื่อเดือนก่อนค่ะ ตอนที่หยิบไหมพรมของ Brooklyn Tweed ขึ้นมาจะซื้อ แล้วคนขายบอกว่า ดีจังเลย ยูสนับสนุนแบรนด์ของพอร์ตแลนด์ หืมมม???คืออะไร แบรนด์พอร์ตแลนด์ เขาย้ายสำมะโนครัวยกธุรกิจทั้งหมดมาอยู่พอร์ตแลนด์ตั้งแต่ปี 2016 โน่นแน่ะค่ะ (ทำไมดิชั้นไม่รู้มาก่อน!) อุ้มก็มือสั่นสิคะ อีเมลไปหาขอคุยกับแจเร็ดอย่างด่วนเลย ทั้งที่ดูจากงานแล้วแอบกลัวนิดหน่อยว่าฮีจะหยิ่ง จะยอมคุยกับโสนน้อยอย่างเรามั้ยนะ
ปรากฏว่าฮีตอบอีเมลกลับมาอย่างเร็ว! อุ้มรีบไปส่องวิดีโอที่มีทุกอันในเว็บและใน YouTube Channel ของเขา ก็ยังไม่แน่ใจอยู่ดีว่าเป็นคนยังไง แต่ปรากฏว่าได้คุยด้วยแล้วฮีน่ารักคุยง่ายมาก และทำให้อุ้มเข้าใจเลยว่าทำไมแบรนด์ Brooklyn Tweed ถึงมาได้ไกลขนาดนี้
เคยดูหนังที่มีจอมยุทธ์หน้าตายิ้ม ๆ ดูอ่อนน้อมถ่อมตน แต่ซ่อนวิทยายุทธ์หลายสิบกระบวนท่าไว้ในคนเดียวมั้ยคะ นั่นล่ะที่อุ้มอยากเอามาอธิบายแจเร็ด
เรียนจบจิตรกรรม กราฟิกดีไซน์ ถ่ายรูป รักนิตติ้งหมดจิตหมดใจ อยากรู้อะไรทุ่มเทจนรู้ลึกรู้จริง เชื่อในสิ่งที่ทำ กล้าลงทุนทำในสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เป็นคนเนี้ยบ (มาก) และชอบเล่าเรื่อง คือนี่รวมคุณสมบัติของทั้งศิลปิน ดีไซเนอร์ นักธุรกิจ นักวิจัย และนักนิเทศศาสตร์ไว้ในคนเดียว
ลองมาฟังที่มาของการสร้างแบรนด์ไหมพรมของเขาดูก็ได้ค่ะ
หลังจากแจเร็ดเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะ Pattern Designer (แต่เจ้าตัวอยากเรียกว่า Pattern Engineer มากกว่า) ก็เริ่มมีร้านขายไหมพรมทั่วอเมริกาติดต่อให้เขาไปทำเวิร์กชอปวันหยุด แจเร็ดไปสอนถักนิตติ้งอยู่ได้สักพัก ก็เริ่มสนใจเรื่องไหมพรม จนถึงขั้นเอาขนแกะมาลอง Spin คือปั่นทำ Yarn เอง ถึงได้รู้ว่าเส้นใยแต่ละยี่ห้อ แต่ละชนิด ต่างกันเพราะอะไร


เหมือนสวรรค์จะมีตา เลยส่งบริษัททำไหมพรมให้มาติดต่อแจเร็ด เพื่อพัฒนาแบรนด์ร่วมกัน โดยจะให้ใช้ชื่อ Brooklyn Tweed นี่แหละ แต่บริษัทแม่ยังเป็นเจ้าของ แจเร็ดบอกว่าเขาอยากใช้ขนแกะที่เลี้ยงในอเมริกา และผ่านกระบวนการจากโรงงานในอเมริกาเท่านั้น เพราะนั่นเท่ากับเป็นการสนับสนุนคนทำงานรายย่อย ที่ยังคงรักษาภูมิปัญญาและวิถีแบบเดิม ๆ เอาไว้ แต่นับวันจะล้มหายตายจาก จนเหลือเพียงแค่หยิบมือเดียว
บริษัทที่มาติดต่อฟังแล้วบอกว่าไอเดียดีนะ แต่ทางเราไม่มีงบ (ตึ่ง!) แจเร็ดเลยบอกงั้นแค่นี้นะ เพราะวรรคทองกำลังจะมา… เราทำเองก็ได้นี่!

ปี 2010 แจเร็ดเริ่มสืบเสาะหาว่ามีโรงงานไหนจะยอมทำไหมพรมในฝันของเขาได้บ้าง ไปงานแสดงสินค้าใหญ่ในวงการนิตติ้ง ทุกคนถามกลับมาหมดว่ายูเป็นใครเหรอ มีเหตุผลอะไรที่ไอจะต้องมาลงทุนทำงานด้วย แต่แจเร็ดไม่ย่อท้อ จนผ่านไปปีหนึ่ง เขาก็ไปเจอโรงงานเก่าแก่ในเมือง Harrisville ที่รัฐ New Hampshire ซึ่งเชื่อในสิ่งเดียวกัน เขาพัฒนาเส้นไหมพรมที่กักอากาศไว้ในเส้นใย และใช้เทคนิคการพันเกลียว 2 เส้นเข้าด้วยกันให้แน่นน้อยที่สุด แต่ยังมีโครงสร้างแข็งแรงพอให้ไม่ขาดเวลาถัก ผืนผ้าที่ได้จึงมีความเบาใส่สบาย แต่อุ่นไม่แพ้ผ้าอื่น ๆ
แจเร็ดตัดสินใจเอาเงินเก็บทั้งหมดที่มีตอนนั้น ประมาณ 15,000 เหรียญ สั่งทำไหมพรมล็อตแรกมาทีเดียว 17 สีรวด แล้วผลิตภัณฑ์ชุดแรกของ Brooklyn Tweed ที่ชื่อ Shelter ก็ถือกำเนิดขึ้น

อุ้มถามว่าตอนนั้นรู้เหรอว่าจะเอาไปขายที่ไหน แจเร็ดบอกว่าก็ร้านที่ไปทำเวิร์กชอปมาทั่วประเทศนั่นแหละ เพราะเอาเข้าจริง ไหมพรมชุดแรกที่เขาทำออกมา ก็มีพอวางขายได้แค่ประมาณ 10 ร้านเท่านั้นเอง พอของมีไม่มาก บวกกับชื่อเสียงที่เขาสั่งสมมาในวงการนิตติ้ง เลยทำให้ Shelter ขายดีจนแจเร็ดค่อยถอนหายใจได้หน่อย เพราะเขาเล่าพลางหัวเราะดังลั่น ว่าตอนนั้นคิดแค่ว่าถ้าทำออกมาแล้วขายไม่ได้ อย่างน้อยเขาก็จะมีไหมพรมที่ชอบมากที่สุดในโลกใช้ไปตลอดชีวิตนั่นแหละ
อุ้มดูวิดีโอเล่ากรรมวิธีการปั่น การผสมสีของไหมพรมแต่ละชนิดของ Brooklyn Tweed แล้วก็ตื่นตาตื่นใจไปหมด คือนอกจากเนื้อหาจะน่าสนใจ ยังถ่ายสวย ตัดต่อดีด้วย เหมือนคลิกดูหนังสั้นต่อกันไปเรื่อย ๆ นอกจากจะได้เห็นวิธีผลิตไหมพรมที่โรงงานแต่ละแห่ง ยังได้ไปเที่ยวฟาร์มที่เลี้ยงแกะ ได้เข้าใจว่าทำไมต้องเลือกสายพันธุ์เฉพาะของแกะสำหรับไหมพรมแต่ละชนิด คือฟังดูเหมือนกาแฟ Single Origin แบบนั้นเลยค่ะ

แจเร็ดบอกว่าเขาเป็นคนชอบเล่าเรื่อง แล้วสิ่งที่เขาทำก็ดันมีเรื่อง ให้เล่าเยอะเสียด้วย อุ้มเองเป็นคนแบบเดียวกัน เลยยิ่งเข้าใจและนับถือความขยันสื่อสารของแจเร็ดและทีมงานอย่างมาก (เหมือนอ่าน The Cloud เลย) คือลำพังใช้ไหมพรมกับแพตเทิร์นของ BT ก็ให้ประสบการณ์ที่ดีอยู่แล้ว ยิ่งได้มารู้เรื่องราวเบื้องหลัง ยิ่งทำให้สายเนิร์ดอย่างอุ้มอินมากขึ้นไปอีก
แจเร็ดบอกว่าถักไหมพรมของ BT แล้วลองหลับตา อาจจะรู้สึกเหมือนได้ย้อนเวลากลับไปเป็นร้อย ๆ ปี ในช่วงเวลาที่ผู้คนยังถักทอเสื้อผ้าของตัวเอง สมัยที่เส้นใยยังมีความทำมือ มีชีวิต และการถักนิตติ้งเป็นความจำเป็น เพราะไม่มีเครื่องจักรผลิตเสื้อผ้าถูก ๆ ออกมาให้คนคิดว่าซื้อเอาถูกและง่ายกว่าทำเอง
ทุกวันนี้นิตติ้งถือเป็นงานอดิเรกที่ออกจะหรูหรา เพราะต้องมีทั้งเวลาและไหมพรมก็ไม่ใช่ถูก ๆ แต่จากประสบการณ์ของอุ้มเอง นี่คือกิจกรรมที่ทำให้เราได้ทำอะไรด้วยมือ โดยใช้อุปกรณ์ที่พกพาไปไหนง่าย (แค่เข็ม 2 อันกับไหมพรมเบา ๆ ใส่กระเป๋าก็ได้แล้ว) และมีจังหวะการทำซ้ำ ๆ ทำให้เราได้ทำสมาธิ แถมสุดท้ายได้ของใช้ด้วย ไม่เหมือนกับ 1 ชั่วโมง (หรือมากกว่านั้น) ต่อวัน ที่เราเอานิ้วไถซ้ำ ๆ ไปบนหน้าจอมือถือลื่น ๆ ใจไม่อยู่กับตัว และสุดท้ายกลับว่างเปล่า
แจเร็ดบอกว่าถึงเวลาที่เราควรจะกลับมาให้นิ้วได้สัมผัสกับพื้นผิวที่เป็นธรรมชาติ ได้ชื่นชมกับสีสันสวย ๆ และตื่นเต้นไปกับการเห็นแพตเทิร์นบนกระดาษ ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นมาเป็นชิ้นงานสามมิติ โดยมีตัวเราเองเป็นคนเนรมิตขึ้นมา
อุ้มถึงว่าจริง ๆ แล้ว Brooklyn Tweed ไม่ใช่แบรนด์ไหมพรมธรรมดา แต่ว่าคือหีบห่อของประสบการณ์ที่รอวันให้เราได้สัมผัส

ป.ล. ตอนนี้ออฟฟิศของ Brooklyn Tweed อยู่แถวย่าน Brooklyn ในพอร์ตแลนด์ และบ้านแจเร็ดอยู่ห่างจากบ้านอุ้มไป 10 นาที เป็นข้อมูลที่ไม่ได้มีประโยชน์ใด ๆ ในทางสื่อ แต่อยากใส่ไว้เพราะคิดว่าไม่มีใครอยากรู้ ฮ่า ๆ
ภาพ : brooklyntweed.com