23 มิถุนายน 2021
2 K

6 ตุลาคม พ.ศ.​ 2519 วันวิปโยคของประวัติศาสตร์ไทย

ผู้มีอำนาจเข้าล้อมปราบขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างรุนแรง จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก นักศึกษาและปัญญาชนหัวก้าวหน้าต้องหนีเข้าป่าเพื่อเอาชีวิตรอด ภายหลังจากเหตุการณ์ ทำให้บรรยากาศความเคลื่อนไหวภายในเมืองต้องเงียบเชียบ สื่อถูกปิดปาก บทเพลงที่เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เป็นต้นทางของบทเพลงเพื่อชีวิตต่างก็หยุดบรรเลงไปพร้อมกับผู้ขับร้องที่หนีเข้าป่า ไม่ต่างกับเพื่อนปัญญาชนคนอื่นๆ

ท่ามกลางบรรยากาศอันวังเวงนั้นเอง จู่ๆ ก็มีบทเพลงขับขานเรื่องราวของสามัญชนและสังคมดังขึ้นมาจากทิวดอยแดนเหนือ อุ๊ยคำ เพลงที่บอกเล่าเรื่องราวโศกนาฏกรรมของหญิงชราที่ลูกหลานทอดทิ้ง ณ ขณะนั้น บทเพลงแห่งสามัญชนถูกบรรเลงขึ้นอีกครั้ง และทำให้หลายคนรู้จักศิลปินหนุ่มจากเชียงใหม่ นาม จรัล มโนเพ็ชร

จรัลรำลึก โครงการระดมทุนสร้างอนุสาวรีย์ สานฝัน ‘จรัล มโนเพ็ชร’ ราชันโฟล์กซองคำเมือง

กระทั่งนักศึกษาและปัญญาชนออกจากป่ากลับสู่เมือง ศิลปินคนนี้ก็ยังแต่งเพลง รางวัลแด่คนช่างฝัน เป็นกำลังใจให้พวกเขา หากเพลง คิดถึงบ้าน หลายคนรู้จักในชื่อ เดือนเพ็ญ ที่แต่งขึ้นเป็นบทกวีโดย นายผี หรือ อัศนี พลจันทร ก่อนจะถูกนำมาแปลงเป็นเพลง เพลงนี้เป็นเพลงที่ปัญญาชนในป่าใช้ขับร้องเพื่อปลอบประโลมใจตนเอง ยามออกจากป่ามา รางวัลแด่คนช่างฝัน ของจรัล ก็คือบทเพลงที่ช่วยมอบขวัญกำลังใจให้แก่พวกเขา เป็นดวงตะวันส่องเป็นแสงสีทองให้กับพวกเขาสู้สู่วันใหม่ข้างหน้า และเป็นบทเพลงที่นำมาใช้ขับร้องสร้างกำลังใจให้ผู้คนทั่วไปจนถึงทุกวันนี้

จรัล มโนเพ็ชร ประสบความสำเร็จในฐานะศิลปินนักร้องเป็นอย่างมาก ได้รับรางวัลต่างๆ รวมถึงได้รับการยกย่องให้เป็นราชันโฟล์กซองคำเมืองของประเทศไทย ด้วยบทเพลงจำนวนมากที่ถูกขับร้องด้วยคำเมืองหรือภาษาเหนือ ทั้งบอกเล่าสภาพสังคม วิถีชีวิตของคนท้องถิ่น วัฒนธรรมของภาคเหนือ ซึ่งมีทั้งเนื้อหากินใจและพูดแทนใจสามัญชน 

บ้างก็แฝงไปด้วยอารมณ์ขันชวนสนุก ทำให้หลายคนรู้จักกับภาษาเหนือ และบทเพลงของจรัลยังคงถูกขับร้องทั่วประเทศจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเพลง สาวมอเตอร์ไซค์, พี่สาวครับ, บ้านบนดอย, สาวเชียงใหม่, ลูกข้าวนึ่ง, หมะเมี๊ยะ, มิดะ, ล่องแม่ปิง, ของกิ๋นคนเมือง, คนสึ่งตึง ที่หลายคงคุ้นหูและรู้จักกันดี รวมถึงบทเพลงอีกจำนวนมาก

จรัลรำลึก โครงการระดมทุนสร้างอนุสาวรีย์ สานฝัน ‘จรัล มโนเพ็ชร’ ราชันโฟล์กซองคำเมือง
จรัลรำลึก โครงการระดมทุนสร้างอนุสาวรีย์ สานฝัน ‘จรัล มโนเพ็ชร’ ราชันโฟล์กซองคำเมือง

นอกจากบทบาทการเป็นนักร้อง จรัลยังเป็นหนึ่งคนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนส่งเสริมวัฒนธรรมและศิลปินล้านนาให้คนทั่วไปรู้จักเป็นวงกว้าง และยังมีโอกาสแสดงความสามารถทางการแสดงในภาพยนตร์กับละครจำนวนมาก รวมถึงหนึ่งในละครเวทียิ่งใหญ่เรื่องเยี่ยมที่เคยเกิดขึ้นในไทย อย่าง สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ หรือ ดอนกิโฆเต้แห่งลามันซ่า โดย ยุทธนา มุกดาสนิท ซึ่งจรัลได้รับบท ดอนกิโฆเต้ ตัวเอกของเรื่อง มี ศรัณยู วงษ์กระจ่าง รับบทเดียวกันในอีกรอบการแสดง

จากผลงานจำนวนมากมายที่กล่าวมา ทำให้ศิลปินชาวเหนือคนนี้มีภาระจากหน้าที่การงานจำนวนมาก และที่เขาต้องทำงานมากมายขนาดนี้ก็ไม่ใช่เพื่อเงินทองสำหรับตัวเขาเพียงผู้เดียว แต่เขาต้องการจะรวบรวมเงินทุนเพื่อจัดตั้งให้เกิด ‘มูลนิธิส่งเสริมศิลปินล้านนา’ รวมถึงช่วยเหลือความเคลื่อนไหวด้านวัฒนธรรมล้านนาอีกจำนวนมาก 

จรัลรำลึก โครงการระดมทุนสร้างอนุสาวรีย์ สานฝัน ‘จรัล มโนเพ็ชร’ ราชันโฟล์กซองคำเมือง

แต่แล้วในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.​ 2544 แผ่นดินล้านนาก็ต้องสูญเสียลูกชายอันเป็นที่รัก 

จรัล มโนเพ็ชร จากไปไม่มีวันหวนคืน เหลือไว้แต่คุณูปการจำนวนมากที่เคยทำไว้กับเมืองเหนือที่เขารักยิ่ง

“วันนี้ผมกำลังจะทำงานที่ค่อนข้างหนักอีกแล้ว ผมก็หวังใจว่าท่านผู้ชม ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านจะสนับสนุนให้กลุ่มที่ทำงานชมรมส่งเสริมศิลปินล้านนาได้มีโอกาสได้ดูแลให้เป็นมูลนิธิ เพื่อว่าการทำงานจะได้สืบสานมั่นคงต่อไปในภายหน้า เพราะผมเชื่อว่าวันหนึ่งผมก็ต้องจากไป ผมต้องไปอยู่แล้ว ไปวันไหนไม่รู้ และยังมีกิเลสตัณหาอยู่ในกมลสันดานเล็กน้อย คือ ยังห่วงงานตัวเองอยู่ ถ้ามีองค์กรที่มั่นคงดูแลไว้แล้ว ก็น่าจะดี…” 

จรัล มโนเพ็ชร กล่าวก่อนเข้าเพลง อุ๊ยคำ ในคอนเสิร์ต ม่านไหมใยหมอก ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2541

ในวาระครบรอบ 20 ปี การจากไปของ จรัล มโนเพ็ชร ผู้คนกลุ่มหนึ่งที่รักศิลปินคนนี้จึงคิดจะทำอะไรบางอย่างขึ้นเพื่อเชิดชูและสานต่อความฝันของศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของล้านนาในนาม ‘จรัลรำลึก’ นำโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง นักวิชาการที่ขับเคลื่อนงานส่งเสริมวัฒนธรรมล้านนาคนสำคัญคนหนึ่งของประเทศ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง นักวิชาการที่ขับเคลื่อนงานส่งเสริมวัฒนธรรมล้านนาคนสำคัญคนหนึ่งของประเทศ

“ความฝันของอ้ายจรัลมีอยู่ไม่กี่เรื่อง อย่างแรก อ้ายจรัลเป็นคนที่อยากทำหอศิลป์สล่าเลาเลือง ซึ่งแปลว่าศิลปินที่งดงามอลังการ เพื่อบันทึกการทำงานทั้งหมดของศิลปินภาคเหนือไว้ ปัจจุบันความฝันนี้ของอ้ายสำเร็จแล้วเมื่อต้นปี และตั้งอยู่ที่จังหวัดลำพูน อีกความฝันของอ้ายจรัลก็คือ การฟื้นผืนแผ่นดินนี้ให้งดงามด้วยศิลปวัฒนธรรมที่มีอยู่ในอดีต ซึ่งเราต้องการสานฝันอันนี้ของอ้าย” อาจารย์ธเนศวร์ เริ่มเล่าที่มาของโครงการจรัลรำลึกที่เขาจัดทำขึ้นกับเพื่อนฝูง

“เนื่องจากใกล้จะครบวาระยี่สิบปีที่อ้ายจรัลจากไป ลูกสาวบอกกับผมว่า ถ้ารุ่นพ่อไม่ทำอะไร จะไม่มีใครทำอีกแล้วนะ ปัจจุบันลูกสาวของผมอายุสามสิบสอง เขาได้ยินผมพูดเรื่องอ้ายจรัลมาตั้งแต่เล็กๆ แต่คนที่โตมากับเขาไม่มีใครพูดถึงเลย ลูกสาวผมกลายเป็นคนอธิบายเรื่องของอ้ายจรัลให้คนในรุ่นของเขาฟัง เขาเลยรู้สึกว่าเป็นแบบนี้ไม่ได้แล้ว คนรุ่นผมต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ให้กับศิลปินที่สร้างความดีไว้กับเมืองเหนือจำนวนมากในวาระนี้

“ตอน พ.ศ. 2520 ผมไปเรียนต่อต่างประเทศ ตอนนั้นผมกับเพื่อนกำลังประชุมกันเรื่องเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่บ้านของผมในนิวยอร์ก มีแต่คนหัวก้าวหน้าที่อยู่ที่นั้นมารวมกัน แล้วก็มีคนหนึ่งหยิบเทปของอ้ายจรัลมาเปิด ตอนนั้นผมตกใจมาก เพราะเป็นเพลงที่ร้องด้วยภาษาคำเมือง ผมเองก็เป็นคนที่ชอบฟังเพลง ชอบแต่งเพลง ผมเคยมีความคิดที่อยากจะลองแต่งเพลงภาษาคำเมืองขึ้นมา แต่ไม่ว่าจะพยายามเท่าไหร่ก็ทำไม่ได้สักที พอได้ยินบทเพลงของอ้ายจรัลในวันนั้น จึงทำให้ผมทึ่งและชื่นชมในศิลปินคนนี้ โดยติดตามผลงานเขาตลอด กลายเป็นแฟนคลับตัวยงของอ้าย”

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง นักวิชาการที่ขับเคลื่อนงานส่งเสริมวัฒนธรรมล้านนาคนสำคัญคนหนึ่งของประเทศ

“ทีนี้การมีโอกาสได้ไปต่างประเทศ ทำให้ผมได้เห็นไอเดียดีๆ อะไรเท่ๆ จากที่นู่นเยอะมาก หนึ่งในนั้นคือที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ประเทศจีน ด้านหน้าของมหาวิทยาลัยปักกิ่งมีรูปปั้นของนักเขียนนวนิยายชื่อดังของโลกอยู่ นั่นก็คือ มิเกล์ เด เซร์บันเตส ซาเบดฺร้า (Miguel de Cervantes Saavedra) ผู้ประพันธ์เรื่อง ดอนกิโฆเต้แห่งลามันซ่า ซึ่งผมทราบมาว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงชื่นชมนักเขียนคนนี้อย่างมาก เมื่อไหร่ที่พระองค์ท่านมีโอกาสไปประเทศจีน ก็จะต้องหาโอกาสไปวางดอกไม้หน้ารูปปั้นนี้ให้ได้ เรื่องราวนี้ทำให้ผมประทับใจอย่างมาก และวันนี้ นี่คือเรื่องราวของศิลปินที่โด่งดังมากที่สุดและเป็นคนแรกของเชียงใหม่ แม้ว่าตัวของอ้ายจะจากไปแล้ว แต่ก็ยังคงมีคนเขียนถึงอยู่ ผมอาจจะเขียนถึงเยอะกว่าคนอื่นหน่อย” 

อาจารย์ธเนศวร์หัวเราะสนุกหลังแซวตนเอง ก่อนเล่าต่อด้วยความเพลิดเพลิน “ยังคงมีคนฟังเพลงของอ้าย ชื่นชมผลงานของอ้ายอยู่ และปรากฏว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายังไม่มีใครแทนอ้ายได้ ผมเลยรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว เพื่อระลึกถึงและชื่นชมผลงานของแก ส่งต่อให้กับคนรุ่นถัดไป ผมจึงมีความคิดว่า นี่คือเวลาเหมาะสมแล้วที่เราจะมีรูปปั้นของ จรัล มโนเพ็ชร ตั้งในที่สาธารณะให้ผู้คนได้มาชื่นชมและเรียนรู้แรงบันดาลใจจากอ้าย”

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง นักวิชาการที่ขับเคลื่อนงานส่งเสริมวัฒนธรรมล้านนาคนสำคัญคนหนึ่งของประเทศ

โครงการจรัลรำลึกเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 และประกาศให้คนทั่วไปรับทราบถึงแนวคิดการสร้างรูปปั้น จรัล มโนเพ็ชร บนเพจเฟซบุ๊กชื่อเดียวกับโครงการ เพื่อขอระดมทุนสนับสนุนสำหรับการสร้างอนุสาวรีย์

“อ้ายจรัลเป็นศิลปินที่บอกเล่าเรื่องราวของสามัญชนผ่านบทเพลงจำนวนมาก เพราะอ้ายมีใจให้กับมวลชนผู้ยากไร้ มีใจให้กับท้องถิ่น ไม่ว่ากี่เพลงต่อกี่เพลงที่ออกมาก็ล้วนเป็นอย่างนี้ตลอด เราเลยตั้งใจกันว่าจะให้การสร้างอนุสาวรีย์ของอ้ายครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการร่วมใจของสามัญชนที่รักอ้ายจรัล ซึ่งเราต้องใช้เงินในการทำให้สำเร็จทั้งสิ้นประมาณสี่แสนกว่าบาท แต่ทางโครงการจรัลรำลึกของเราตัดสินใจจะตั้งเป้ายอดระดมทุนไว้ที่ห้าแสนบาท 

“นอกจากค่าทำรูปปั้น เราตั้งใจช่วยสานฝันที่อ้ายอยากช่วยเหลือและส่งเสริมศิลปินล้านนา โดยเงินที่เหลือจากการทำรูปปั้น เราตั้งใจแบ่งออกเป็นสองส่วน หนึ่ง สำหรับจัดทำเป็นรางวัลจรัล มโนเพ็ชร มอบให้กับศิลปินที่โดดเด่นเรื่องศิลปะและวัฒนธรรมทุกๆ ปี สอง เราจะทำกองทุนจรัล มโนเพ็ชร เพื่อมอบทุนให้แก่เด็กที่สนใจด้านศิลปะวัฒนธรรม แต่มีฐานะยากจน ให้มีโอกาสเล่าเรียนในสิ่งที่เขาสนใจ เราตั้งกฎไว้ว่าจะรายงานยอดระดมทุนทุกสัปดาห์บนเพจ จะไม่มีการถอนแม้แต่บาทเดียว เพราะถือว่านี่เป็นเงินที่พี่น้องบริจาคมาเพื่อทำรูปปั้นอ้ายจรัลเท่านั้น”

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง นักวิชาการที่ขับเคลื่อนงานส่งเสริมวัฒนธรรมล้านนาคนสำคัญคนหนึ่งของประเทศ

ภารกิจการระดมทุนเพื่อสร้างอนุสาวรีย์ให้กับศิลปินล้านนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศจึงเกิดขึ้นตั้งแต่นั้น

ในแต่ละสัปดาห์หลังจากประกาศการระดมทุนเพื่อสร้างอนุสาวรีย์ให้ผู้คนทั่วไปรับทราบ ทางทีมจรัลรำลึกจะมีการจัดงานเสวนาไลฟ์ผ่านทางเพจจรัลรำลึก โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญ รวมถึง อันยา โพธิวัฒน์ ภรรยาของจรัล มาพูดคุยกันในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับจรัล จำนวนทั้งหมด 18 หัวข้อเสวนา อาทิ มรดกของจรัล มโนเพ็ชร ต่อล้านนาและสังคมไทย ผู้คนหลากหลายในเพลงจรัล ลมหายใจเชียงใหม่กับเพลงอ้ายจรัล เป็นต้น สำหรับผู้ที่สนใจก็กลับไปตามชมได้ที่เพจจรัลรำลึก หรืออ่านจากหนังสือ กึ๊ดเติงหาอ้ายจรัล ซึ่งรายได้จากการซื้อหนังสือจะถูกนำไปสมทบทุนของโครงการ 

นอกจากงานเสวนายังมีการจัดคอนเสิร์ตจรัลรำลึก ณ เชียงดาว โดยมีศิลปินถิ่นเหนือมาร่วมกันทำการแสดงเพลงของจรัล มโนเพ็ชร เพื่อนำเงินจากตั๋วคอนเสิร์ตมาสนับสนุนโครงการ ซึ่งจัดไปเมื่อธันวาคมปีที่แล้ว

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง นักวิชาการที่ขับเคลื่อนงานส่งเสริมวัฒนธรรมล้านนาคนสำคัญคนหนึ่งของประเทศ

จากจุดเริ่มต้นเมื่อเดือนพฤษภาคม โครงการจรัลรำลึกก็ระดมทุนจนครบตามที่ต้องการได้ในเดือนมกราคมปีนี้ จากการช่วยเหลือของผู้คนที่รักจรัล หลังจากนั้นทางทีมก็เริ่มต้นงานปั้นทันที โดยได้ อาจารย์ภูธิป บุญตันบุตร ศิลปินปั้นมือดีชาวเชียงใหม่รับหน้าที่เป็นประติมากร โดยรูปปั้นจรัล มโนเพ็ชร ที่ทางทีมจรัลรำลึกตั้งใจสร้างขึ้นมานั้น มีขนาดเท่าตัวจริง เป็นศิลปินสามัญชน ไม่สูงใหญ่ ไม่ชูกีตาร์หรือซึงให้ดูอลังการ ไม่อวดตัว ไม่มีแท่นยกสูงจากพื้น หากแต่เรียบง่ายในลักษณะนั่งเล่นกีตาร์บนม้านั่งที่วางกับพื้น เป็นสามัญชนติดดิน ดั่งที่ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ของชาวเหนือผู้นี้เป็น

การรวมตัวกันของคนรัก จรัล มโนเพ็ชร เพื่อระดมทุนสานต่อเจตนารมณ์และสร้างอนุสาวรีย์รำลึกถึงศิลปินล้านนาสามัญชน

“อ้ายจรัลเป็นคนที่มีรอยยิ้มอบอุ่น นี่เป็นสิ่งที่คนรอบตัวของอ้ายเล่าให้ผมฟัง หลังจากเริ่มต้นปั้นรูปปั้นของอ้าย” อาจารย์ภูทิป เริ่มต้นเล่าเรื่องราวการทำงานปั้น “ผมเริ่มต้นการปั้นจากแบบสเก็ตช์ของ รศ.ดร.สุกรี เกษรเกศรา ที่เป็นผู้แนะนำผมให้เป็นผู้รับผิดชอบการปั้นรูปปั้นของอ้ายจรัล ซึ่งขั้นตอนการปั้น ผมได้รับความช่วยเหลือจากป้าหมู (อันยา โพธิวัฒน์) ภรรยาของอ้ายจรัล เพื่อให้ปั้นออกมาเหมือนอ้ายที่สุด เดิมผมใช้ภาพต้นแบบจากปกเทปที่อ้ายใส่เสื้อหนาๆ 

“ป้าหมูทักว่า ปกติอ้ายจรัลไม่ใส่ ใส่เพื่อถ่ายปกเท่านั้น ป้าหมูเลยกลับไปเอาเสื้อผ้าที่อ้ายใช้จริงๆ มาให้ใช้เป็นแบบ มีทั้งรองเท้า นาฬิกา แหวน ที่อ้ายจรัลใส่บ่อยๆ ซึ่งตอนปั้นส่วนนาฬิกา ถ้าปั้นหน้าปัดโล้นๆ จะดูไม่สวย ก็เลยคิดว่าน่าจะใส่อะไรที่บ่งบอกถึงการรำลึกถึงอ้าย ผมเลยใช้วันสุดท้ายที่อ้ายหยุดไว้ตอนจากไปมาใส่ เพื่อให้ยังอยู่ต่อไป”

การรวมตัวกันของคนรัก จรัล มโนเพ็ชร เพื่อระดมทุนสานต่อเจตนารมณ์และสร้างอนุสาวรีย์รำลึกถึงศิลปินล้านนาสามัญชน

“อีกส่วนที่มีการปรับค่อนข้างละเอียดก็คือรอยยิ้มของอ้าย ซึ่งผมใช้วิธีศึกษาจากรูปภาพต่างๆ ให้ได้มากที่สุด ตอนแรกผมปั้นเป็นหน้าที่ยังไม่ยิ้ม ส่งให้ทีมจรัลรำลึกและหลายคนที่ใกล้ชิดกับอ้ายจรัลดู เกือบทุกคนก็เล่าให้ผมฟังว่า ปกติเวลาอ้ายจรัลอยู่กับคนอื่น อ้ายเป็นคนยิ้มง่าย เป็นคนที่ยิ้มแล้วดูอบอุ่นมาก ทุกคนเลยอยากให้รูปปั้นเป็นตอนอ้ายยิ้ม ผมก็เลยไปค้นหาจังหวะที่อ้ายยิ้มจากบันทึกการแสดงคอนเสิร์ตต่างๆ แต่ก็ยังคงไม่เหมือนตัวตนของอ้าย 

“กระทั่งป้าหมูส่งภาพถ่ายของอ้ายรูปหนึ่งมาให้ เป็นรูปที่อ้ายจรัลยิ้มเล็กน้อย รวมถึงแววตาของอ้ายก็ยิ้มด้วยเช่นกัน โดยผมได้ความช่วยเหลือจาก อาจารย์อ๊อฟ (อัษฎายุธ อยู่เย็น) มาช่วยปั้นส่วนใบหน้าของอ้าย กระทั่งออกมาเหมือนรอยยิ้มของอ้ายจรัล อย่างที่คนใกล้ชิดของอ้ายเคยได้รับขณะที่อ้ายยังมีชีวิตอยู่” นักปั้นเล่ากระบวนการ

เป็นรอยยิ้มที่เคยทำให้ผู้คนจำนวนมากหลงรักในตัวตนของศิลปินผู้นี้…

การรวมตัวกันของคนรัก จรัล มโนเพ็ชร เพื่อระดมทุนสานต่อเจตนารมณ์และสร้างอนุสาวรีย์รำลึกถึงศิลปินล้านนาสามัญชน

“สำหรับสถานที่ตั้งของรูปปั้นอ้ายจรัล ที่จังหวัดเชียงใหม่เรามีรูปปั้นที่เป็นอนุสาวรีย์ อย่าง อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่มากอยู่แล้ว ผมมองว่านั้นไม่ใช่ตัวตนของอ้ายจรัล” อาจารย์ธเนศวรพูดเรื่องประเด็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ 

“เราตั้งใจว่าจะวางรูปปั้นของอ้ายไว้ใต้ต้นไม้ นั่งเล่นกีตาร์ขับกล่อมผู้คนใต้ต้นไม้อยู่ในมุมเล็กๆ ไม่มีท่าทีอหังการแต่อย่างใด อาจจะต้องก้มผ่านกิ่งไม้เข้าไปถึงจะมองเห็นด้วยซ้ำไป ที่สำคัญ เราอยากให้รูปปั้นของอ้ายตั้งอยู่ในที่สาธารณะ ไม่มีรั้วกั้น อยู่ข้างนอก ผู้คนที่มาโอบกอดอ้ายได้ตลอดเวลา จะร้องเพลงกับอ้ายหรือนั่งกินเบียร์กับอ้ายก็ได้ ยี่สิบสี่ชั่วโมง 

“และผมเชื่อว่าใครก็ตามที่ผ่านไปผ่านมา จะต้องคอยช่วยดูแลรูปปั้นของอ้ายอย่างแน่นอน นี่ถึงจะเหมาะกับศิลปินสามัญชนติดดิน เราต้องการให้รูปปั้นนี้เป็นสมบัติของประชาชน และให้อ้ายเป็นแรงบันดาลใจกับทุกคน”

การรวมตัวกันของคนรัก จรัล มโนเพ็ชร เพื่อระดมทุนสานต่อเจตนารมณ์และสร้างอนุสาวรีย์รำลึกถึงศิลปินล้านนาสามัญชน

ตอนนี้ทีมจรัลรำลึกกำลังอยู่ในขั้นตอนยื่นขอสถานที่ตั้งให้ตรงตามความตั้งใจไว้ให้ได้มากที่สุด

“ผมยืนยันเรื่องความต้องการให้รูปปั้นของอ้ายอยู่ในที่สาธารณะ เพราะผมเชื่อว่านี่จะเป็นที่ที่อ้ายใกล้ชิดกับผู้คนทั่วไปได้มากที่สุด ผมต้องการให้ผู้คนได้เรียนรู้เรื่องราวของอ้าย บทเพลงของอ้าย รวมถึงให้อ้ายสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนจำนวนมาก ผมมองว่าเพลงของอ้ายส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คน และยังใช้การได้จนถึงเดี๋ยวนี้ เพราะปัญหาหลายอย่างที่ถูกพูดในเพลง ก็ยังไม่ถูกแก้ไข 

“อุ๊ยคำ ยังเดี่ยวดายจนถึงทุกวันนี้ สาวโรงบ่ม ก็เปลี่ยนไปจากขี่จักรยานไปโรงบ่มตอนนี้ก็ไปอยู่โรงงานอุตสาหกรรมที่กรุงเทพฯ ปัญหาการจราจรในเพลง ตากับหลาน ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ สาวมอเตอร์ไซค์ เดี๋ยวนี้ก็ไม่เอาแล้วมอเตอร์ไซค์เอารถเก๋งแล้ว มันยังเป็นปัญหาเดิมๆ ที่เปลี่ยนบริบทไปเรื่อยๆ 

“ที่ต้องพูดให้ไปไกลกว่านั้นคือ มนุษย์ทุกคนเกิดมาจากผลผลิตของสังคมในยุคนั้นๆ ประเด็นที่น่าห่วงใยก็คือ เราอยากเห็นคนอย่างอ้ายจรัล มโนเพ็ชร เกิดมาใหม่ในยุคนี้ และอธิบายสังคม ณ ตอนนี้ ซึ่งคือใครกันล่ะ…”

การรวมตัวกันของคนรัก จรัล มโนเพ็ชร เพื่อระดมทุนสานต่อเจตนารมณ์และสร้างอนุสาวรีย์รำลึกถึงศิลปินล้านนาสามัญชน

ภาพ : จรัลรำลึก

สำหรับผู้ที่สนใจอยากสานความฝันของอ้ายจรัล มโนเพ็ชร ในการสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ที่สนใจนำเสนอเรื่องวัฒนธรรมและสภาพสังคม สามารถสนับสนุนผ่านโครงการของจรัลรำลึก ผ่านทาง Facebook : จรัลรำลึก

Writer

Avatar

อนิรุทร์ เอื้อวิทยา

นักเขียน และ ช่างภาพอิสระ ปัจจุบันชนแก้วอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่เชียงใหม่

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ