เมิร์ฟ-นพ.วีรุตม์ ชโยภาสกุล เป็นเพื่อนกับเรามาตั้งแต่สมัยมัธยมต้น ทุกครั้งที่มีเวลาว่าง เขาจะหยิบสมุดออกมาวาดภาพ และทุกเย็นจะแวะไปที่ร้านหนังสือการ์ตูนหน้าโรงเรียน เป็นอย่างนี้ตลอด 6 ปีของชีวิตในโรงเรียนมัธยม และเชื่อว่าปัจจุบันที่ทุกคนเรียกเขาว่า ‘หมอเมิร์ฟ’ แล้ว เขาก็ยังหาเวลาวาดรูปและไปร้านหนังสือการ์ตูนอยู่

แต่ที่ไม่รู้ในตอนนั้น คือทุกเย็นที่เมิร์ฟกลับบ้าน เขาจะกลับไปเจอกับ คุณแม่ตุ๊ก-ชัญญา ชโยภาสกุล คุณแม่สุดเปรี้ยวที่เป็นแฟนคลับตัวยงของ BNK48 และเจนนี่ BLACKPINK และ มด-กิตติภณ ชโยภาสกุล พี่ชายผู้หลงใหลในการ์ตูนญี่ปุ่นเหมือนกันกับเขา 

3 แม่ลูก นักสะสมของเล่นญี่ปุ่น หุ่นสังกะสี จนถึงตู้เกม สานฝันวัยเด็กของแม่ที่ห้างไดมารู

ที่จริงความชอบของเขาเริ่มมาจากแม่ตุ๊กที่ไปเดินห้างไดมารูกับอากงทุกเสาร์อาทิตย์ในวัยเด็ก สั่งสมให้ชอบของเล่นญี่ปุ่นมาตั้งแต่จำความได้ เมิร์ฟและมดจึงรู้จักการ์ตูนที่เพื่อนรุ่นเดียวกันไม่เคยได้ยินชื่อ และการสะสมของเล่นการ์ตูนญี่ปุ่นของพวกเขาทั้งสามจึงมีหลากหลาย มีทั้งการ์ตูนใหม่และการ์ตูนเก่า 

ห้องนอนของลูกชายครึ่งหนึ่งถูกแบ่งไว้สำหรับเก็บของเล่น ชั้นในห้องรับแขกเรียงรายไปด้วยหุ่นสังกะสีร่วมหลายสิบของคุณแม่ ชั้นบนสุดเป็นห้องเก็บหนังสือการ์ตูนที่สะสมมาหลายสิบปี ห้องเล่นเกมก็เต็มไปด้วยของเล่นและของสะสม และอีกมากมายที่กระจายอยู่ในแต่ละมุมของบ้าน

3 แม่ลูก สะสมของเล่นญี่ปุ่น หุ่นสังกะสี จนถึงตู้เกม สานฝันวัยเด็กของแม่ที่ห้างไดมารู

การสะสมจึงเป็นกิจกรรมที่แม่และลูกชายทำร่วมกัน เป็นบทสนทนาที่จะอยู่ในสายโทรศัพท์และบนโต๊ะอาหารเสมอ และน่าจะเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ พวกเขาเริ่มหยิบของเล่นชิ้นโปรดมาเล่าเรื่องราวให้ฟังทีละตัว 

ใช่-ทุกตัวมีเรื่องเล่า 

เราเลยพูดติดตลก “นี่ถ้าแอบหยิบกลับไปด้วยสักตัวจะรู้ไหม” 

เมิร์ฟมองตาเขียวก่อนตอบว่า “สักพัก…”

3 แม่ลูก สะสมของเล่นญี่ปุ่น หุ่นสังกะสี จนถึงตู้เกม สานฝันวัยเด็กของแม่ที่ห้างไดมารู

Made in Japan

ลองจิตนาการว่า คุณเป็นเด็กหญิงหน้าหมวยที่เติบโตมาในตรอกบางลำพูอย่างคุณแม่ตุ๊ก ซึ่งสมัยนั้นเป็นชุมชนมุสลิมเสียส่วนใหญ่ ทุกครั้งที่มีคนถามว่าเป็นลูกครึ่งหรือเปล่า คุณจะตอบเขาว่าอะไร

“แม่ตอบว่าใช่ตลอด” เธอบอกด้วยเสียงหัวเราะพร้อมระลึกถึงความหลัง “เราอยากเป็นคนญี่ปุ่น แล้วตอนเด็กเราหน้าหมวย ขาวๆ ตัวเล็กๆ ก็เลยเนียนๆ”

ความใกล้ชิดของคุณแม่ตุ๊กกับประเทศญี่ปุ่นในตอนนั้นคือการนอนดูการ์ตูนช่อง 4 บางขุนพรหม และไปห้างไดมารูบนถนนราชดำริกับพ่อหรืออากงของมดและเมิร์ฟทุกสุดสัปดาห์ ไปกินเกี๊ยวซ่า เดินดูของเล่น ได้เห็นความน่ารัก ความใส่ใจในรายละเอียดของคนญี่ปุ่น เห็นความชัดเจนของคาแรกเตอร์การ์ตูนต่างๆ ทำให้ ด.ญ.ชัญญา กลายเป็นคนนำเทรนด์ของน่ารักประจำชั้นเรียนไปโดยปริยาย

“สมัยนั้นคือ Sanrio แม่ใช้ตั้งแต่ห้างเซ็นทรัลยังไม่ได้เป็นตัวแทนขาย มีหลายอย่างทั้งดินสอ แฟ้มพลาสติก แม่เป็นคนแรกๆ ที่ถือในโรงเรียน มันฝังใจเรามาตลอดว่าของ Made in Japan จะคุณภาพดี พอเริ่มมี Made in China มาแม่เลยหยุดซื้อ เพราะรู้สึกว่าถ้าขายในราคาญี่ปุ่น มันต้องคุณภาพญี่ปุ่นด้วยสิ แต่ก็ยังไม่ได้เก็บสะสมอย่างจริงจัง หยุดความฝันไว้แค่นั้น”

ความชอบในญี่ปุ่นของคุณแม่ตุ๊กส่งต่อมาให้ลูกชายทั้งสอง ทั้งมดและเมิร์ฟกลายเป็นคนชอบการ์ตูนมาตั้งแต่เด็ก คล้ายๆ กับพวกเขาได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสานฝันวัยเด็กให้คุณแม่ จนเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน การสะสมของเล่นญี่ปุ่นอย่างจริงจังได้เริ่มขึ้น

3 แม่ลูก สะสมของเล่นญี่ปุ่น หุ่นสังกะสี จนถึงตู้เกม สานฝันวัยเด็กของแม่ที่ห้างไดมารู

ได้หนึ่ง ต้องมีสอง

“กู ต้อง ไป ญี่ปุ่น ให้ ได้!” 

คุณแม่ตุ๊กบอกตัวเองอย่างนั้นมาตลอดตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 10 ขวบ เวลาผ่านไปนานเกือบ 50 ปี เธอและครอบครัวได้ไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นพร้อมหน้าครั้งแรกเมื่อ 5 ปีก่อน ประเทศที่ทำให้ทุกคนได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง

“มันดึงความเป็นเด็กในตัวเราออกมา ได้ไปร้าน Mandarake สถานี Nakano ไปเดินหาของเล่น แล้วก็ได้เจอ Tin Toy หรือของเล่นสังกะสีที่ไขลานได้ ตอนแรกมดกับเมิร์ฟเดินเข้าไปก่อน แม่เดินตามเข้าไป พอเห็นราคา ไอ้สองหนุ่มนี่ถอยออกมาเลย แต่แม่ยังยืนดูอยู่ เพราะตัวการ์ตูนตรงนั้นมันผ่านมาในชีวิตเราทั้งหมดตั้งแต่ตอนที่ดูทีวีช่อง 4 บางขุนพรหมกับอากง เราโตมากับการ์ตูนพวกนี้ ตอนนั้นบอกตัวเองว่า รอก่อนนะ เดี๋ยวกลับมา”

นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเป็นนักสะสมอย่างจริงจัง

3 แม่ลูก สะสมของเล่นญี่ปุ่น หุ่นสังกะสี จนถึงตู้เกม สานฝันวัยเด็กของแม่ที่ห้างไดมารู

ก่อนหน้านี้ ของเล่นสำหรับแม่ลูกบ้านชโยภาสกุลมีไว้เล่น ซื้อมากลับถึงบ้านก็ฉีกกล่องทิ้งแล้วหยิบออกมาเล่นทันที จนวันที่ได้เจอร้านพี่เหน่งแถวคลองถม ซึ่งมีหุ่นสังกะสีขายพอดี มดเล่าให้ฟังพร้อมหยิบหุ่นสังกะสี Eightman Billiken ที่มีโน้ตเขียนไว้ในกล่องว่า ‘ตัวแรกที่ซื้อครับ​’ 

พอมีหนึ่งก็ต้องมีสอง เหมือนที่ใครๆ ก็พูดไว้ไม่มีผิด จาก Tin Toy ของบริษัท Billiken ตัวแรก กลายเป็นวางเรียงเต็มชั้นและมีครบทุกตัว มดเล่าให้ฟังต่อว่า “หลังจากนั้นแม่ก็หาข้อมูล ส่องอย่างเดียว บางอาทิตย์ซื้อเกือบจะทุกวันเลย อย่างในเฟซบุ๊กเราเห็นคนมาลงขาย เราก็เตรียมพิมพ์จอง ปรากฏเลื่อนไปดูเป็นชื่อคุณแม่จองก่อนแล้ว หรือบางทีสี่ห้าทุ่มก็โทรหากันว่ามีคนนี้คนนั้นลงขายนะ ช่วยกันเก็บ ชิ้นไหนแพงหน่อยก็หารสาม” 

3 แม่ลูก สะสมของเล่นญี่ปุ่น หุ่นสังกะสี จนถึงตู้เกม สานฝันวัยเด็กของแม่ที่ห้างไดมารู

ชั้นไม้ที่ออกแบบให้พอดีกับผนังในห้องนั่งเล่นของบ้านนี้เต็มไปด้วย Tin Toy วางพร้อมกล่องอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งคุณแม่ตุ๊กเล่าเขินๆ ว่า จริงๆ ตอนรีโนเวตบ้านตั้งใจจะทำชั้นหนังสือ

เลือดนักสะสม

ความชอบในของญี่ปุ่นของคุณแม่ตุ๊กส่งต่อถึงลูกชายทั้งสองโดยอัตโนมัติแบบไม่ต้องพยายาม ทุกครั้งเวลาซื้อของ เธอจะสอนเสมอว่า ถ้าราคาของจะแพงขึ้นสักหน่อย แต่ใช้ได้นานขึ้น อยู่กับเราได้นานขึ้น นั่นคือราคาที่เราจ่ายเพิ่ม เธอสอนให้ลูกค่อยๆ เลือกและพิจารณาเวลาจะทำอะไรก็ตามแต่ ตัวเลขอายุที่เพิ่มขึ้นทำให้เธอรู้ว่าความชอบของคนอาจเป็นอารมณ์ชั่ววูบ ถ้าอยากได้อะไรจริงๆ ให้กลับมาตั้งหลักและถามตัวเองดีๆ ก่อน หรือบางตัวการ์ตูนที่เพื่อนรุ่นเดียวกันไม่รู้จัก มดกับเมิร์ฟจะรู้จักเพราะแม่ตุ๊กเคยเล่าให้พวกเขาฟัง

3 แม่ลูก สะสมของเล่นญี่ปุ่น หุ่นสังกะสี จนถึงตู้เกม สานฝันวัยเด็กของแม่ที่ห้างไดมารู
3 แม่ลูก สะสมของเล่นญี่ปุ่น หุ่นสังกะสี จนถึงตู้เกม สานฝันวัยเด็กของแม่ที่ห้างไดมารู

“พอเราได้เล่นของหลายๆ แบบ จากแหล่งผลิตหลายๆ ประเภท เราก็ได้เห็นว่าคุณภาพมันต่างกันจริงๆ อาจจะเล็กน้อยในเรื่องของรายละเอียดแต่มันดูออก แม่ทำให้เรากับพี่มดรู้จักคาแรกเตอร์มากขึ้น นอกจากการ์ตูนใน ช่อง 9 การ์ตูน ที่รุ่นเราดูกัน เรารู้จักการ์ตูนมากกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน อย่างตอนเราเด็ก เพื่อนจะดู ดราก้อนบอล โปเกมอน เซเลอร์มูน แต่เรารู้จัก Atom Golda หรือการ์ตูนยุคเก่าๆ ที่เป็นการ์ตูนรุ่นคุณแม่ โลกการ์ตูนเราเลยจะกว้างกว่าเพื่อนนิดหนึ่ง” 

เลือดนักสะสมเองก็ส่งต่อผ่านรุ่นสู่รุ่น เมิร์ฟสะสมหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นตั้งแต่เรียนชั้นประถม สมัยที่หนังสือการ์ตูนยังเล่มละ 35 บาท

“แต่เราได้เงินวันละห้าสิบบาทเองมั้ง ต้องอดข้าว วันไหนการ์ตูนออกใหม่สองเล่มคือตายไปเลย” 

3 แม่ลูก สะสมของเล่นญี่ปุ่น หุ่นสังกะสี จนถึงตู้เกม สานฝันวัยเด็กของแม่ที่ห้างไดมารู

ที่สุดของที่สุด

ทั้งสามพาเดินทัวร์ในบ้านที่มีของเล่นซ่อนไว้ในทุกห้อง ทุกมุม มีตู้โชว์เป็นคอลเลกชัน ห่อขนมลายการ์ตูนที่ไม่รู้ขนมข้างในหมดอายุไปตั้งแต่เมื่อไหร่ มีตู้เกมญี่ปุ่นที่สั่งทำขึ้นเป็นพิเศษ หนังสือการ์ตูนครบเซ็ตหลายเรื่องที่วางบนชั้นไม่พอ แล้วแต่ละคนก็เริ่มเล่าเรื่องของเล่นชิ้นที่ประทับใจซึ่งเต็มไปด้วยความทรงจำและเหตุการณ์ในชีวิตให้เราฟัง

01 ได้มายากที่สุด – Space Boy Soran ค่าย Billiken Tin Toy ค.ศ. 1997

3 แม่ลูก สะสมของเล่นญี่ปุ่น หุ่นสังกะสี จนถึงตู้เกม สานฝันวัยเด็กของแม่ที่ห้างไดมารู

แม่ : แม่ใช้เวลารอมาห้าปี หายากมาก ตัวอื่นมาก่อนหมดเลย เหลือตัวนี้ตัวสุดท้าย มันเป็นสี่เทพ ได้มาสามเทพแล้วเวลาไล่ๆ กันมา แต่ตัวนี้คือตัวสุดท้าย งานอาร์ตที่หน้ากล่องก็สวยมาก พอได้มาปุ๊บ เราโพสต์ลงเฟซบุ๊กเลยว่า ‘ปิดจ๊อบ’

02 ของขวัญที่ให้กำลังใจที่สุด – Robocon ค่าย Bandai ค.ศ. 1999

3 แม่ลูก สะสมของเล่นญี่ปุ่น หุ่นสังกะสี จนถึงตู้เกม สานฝันวัยเด็กของแม่ที่ห้างไดมารู

มด : คุณแม่ให้คุณน้าไปซื้อของเล่นชิ้นนี้ที่ร้านแถวเจริญกรุงตอนผมผ่าท้องกระเพาะรั่ว ให้เพื่ออะไรไม่รู้ รู้แต่หายป่วยเลย ตอนนั้น ค.ศ. 1999 เป็นปีที่ของเล่นชิ้นนี้ออกพอดี

03 ถูกที่สุด – โงกุน ปลาย ค.ศ. 1980 ต้น ค.ศ. 1990 (ไม่มีข้อมูลผู้ผลิต)

3 แม่ลูก สะสมของเล่นญี่ปุ่น หุ่นสังกะสี จนถึงตู้เกม สานฝันวัยเด็กของแม่ที่ห้างไดมารู

แม่ : ตัวนี้ซื้อมาจากห้าง ATM แถวพาหุรัด ได้มาตอนเขาเปิดขายโละทุกอย่าง ของเล่นชิ้นนี้อยู่ในกระบะตัวละสิบบาท Made in Japan ด้วย แม่ซื้อมาตอนอายุยี่สิบเจ็ดยี่สิบแปด สามสิบปีมาแล้วก็ยังอยู่ดี ถ้าถอดเสื้อมีกระเจี๊ยวด้วยนะ (หัวเราะ) ทุกวันนี้กลายเป็นของหายากไปแล้ว 

04 น่ารักที่สุด – Atom ค่าย Denboku ค.ศ. 2017

3 แม่ลูก สะสมของเล่นญี่ปุ่น หุ่นสังกะสี จนถึงตู้เกม สานฝันวัยเด็กของแม่ที่ห้างไดมารู

เมิร์ฟ : เราชอบ Atom อยู่แล้ว พอเห็นก็ชอบเลยตั้งแต่เด็ก แต่รู้สึกว่า Atom ของบริษัทนี้ รุ่นนี้ ด้วยหน้า ด้วยคาแรกเตอร์แบบนี้ เขาดึงความเป็นตัวละครออกมาได้ดีและสมบูรณ์สุด จริงๆ อะไรที่เป็น Atom เราก็ชอบหมดแหละ แต่รู้สึกว่าตัวนี้น่ารักที่สุด 

05 ของเล่นในความทรงจำที่หล่อที่สุด – Golda ค่าย Billiken Tin Toy ค.ศ. 1997

3 แม่ลูก สะสมของเล่นญี่ปุ่น หุ่นสังกะสี จนถึงตู้เกม สานฝันวัยเด็กของแม่ที่ห้างไดมารู

แม่ : ตัวนี้เป็นความทรงจำของแม่ในวัยเด็ก เพราะนอนดูการ์ตูนเรื่อง หุ่นอภินิหาร กับคุณพ่อทุกวันเสาร์อาทิตย์ พอเจอตัวนี้ดีใจมาก พ่อรูปหล่อของฉัน แต่ที่เสียใจมากคือมันจะมี Golda ของอีกบริษัทหนึ่ง ตัวใหญ่ สวย ตอนพี่เหน่งมีขายแม่ลังเล เอาดีไม่เอาดี จนคนขายเสียชีวิต ก็เลยเสียดายมาจนทุกวันนี้

06 มีคุณค่าที่สุด – Ultraman Kid ค่าย Tommy Mad in Japan (ไม่พบปีที่ผลิต แต่น่าจะช่วง ค.ศ. 1992 – 1995)

3 แม่ลูก สะสมของเล่นญี่ปุ่น หุ่นสังกะสี จนถึงตู้เกม สานฝันวัยเด็กของแม่ที่ห้างไดมารู

เมิร์ฟ : อันนี้แม่ซื้อให้ตอนยังไม่เข้าโรงเรียนเลย ช่วงนั้นที่บ้านลำบาก วันอาทิตย์แม่จะพานั่งรถเมล์ไปเดินเล่นที่ห้างฯ แล้ววันนั้นแม่ซื้อของเล่นนี้ให้เรากับพี่มดคนละกล่อง พอมันเป็นช่วงลำบาก ของเล่นที่ได้มาแต่ละชิ้นเลยมีคุณค่า เพราะได้ไม่บ่อย มีหลายอย่างที่ตอนเด็กซื้อไม่ได้ก็มาหาเอาตอนโต 

07 ประทับใจที่สุด – Dragon Ball ค่าย Yutaka ค.ศ. 1991

3 แม่ลูก สะสมของเล่นญี่ปุ่น หุ่นสังกะสี จนถึงตู้เกม สานฝันวัยเด็กของแม่ที่ห้างไดมารู

มด : ตอนผมเด็กมากที่บ้านอยู่แฟลต แล้วห้องตรงข้ามเป็นคุณปู่นักหนังสือพิมพ์จีนคนหนึ่ง เขาพาผมไปหาของเล่นชุดนี้ตามห้างต่างๆ อย่างเมอร์รี่คิงวังบูรพา แล้วแกก็ซื้อให้ ทั้งๆ เป็นแค่เพื่อนบ้านห้องตรงข้ามกันแค่นั้นเอง สามตัวนี้ผมมาหาซื้อใหม่ตอนโตแล้ว อยากเก็บไว้ ส่วนตัวที่คุณปู่ซื้อให้ที่ผมเล่นตอนเด็กก็ยังอยู่บนห้อง 

08 ของเล่นชิ้นสุดท้ายที่จะขาย – ไม่มี

มด : โจทย์ยาก ถ้าจะต้องขาย ผมหางานทำเพิ่มดีกว่า

เมิร์ฟ : เคยคุยกันเหมือนกันว่าถ้าไม่มีกินแล้วต้องขายจะทำยังไง ก็คือยอมตายไปเลย ถ้าต้องอยู่แบบใจสลายไม่อยู่ดีกว่า (หัวเราะ)

อย่าให้ของเล่นมาเล่นเรา

ไม่ว่าจะหยิบจับตัวไหนในบ้าน ไม่คุณแม่ตุ๊ก มด หรือเมิร์ฟ จะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับของเล่นชิ้นนั้นเสมอ เรื่องสนุกบ้าง เรื่องดราม่าบ้าง เรื่องประทับใจบ้าง สิ่งที่ทำให้ทั้งสามเป็นนักสะสมจึงไม่ใช่จำนวนของเล่นทั้งหมดที่มี 

“แม่จะสอนว่าอย่าไปแข่งกับใคร” มดเล่า “เราก็เคยมีช่วงนั้น เธอมี ฉันมี นักสะสมทุกวงการจะเป็นเหมือนโรคจิต มีหนึ่งไม่พอ ต้องมีสอง มีสาม มีสี่ แต่แม่จะบอกเสมอ มันก็แค่ของเล่น บางคนจะเป็นจะตาย จับไม่ได้ แตะไม่ได้ ต้องอย่าลืมว่าเขาสร้างมาให้เราสนุกกับมัน

“เราเก็บของเล่น เราเล่นของเล่น อย่าให้ของเล่นมาเล่นเรา สมมติถ้ามีของเล่นชิ้นหนึ่ง แพงมาก เราอยากได้จนต้องไปหยิบยืมเงินมาซื้อ นั่นแปลว่าของเล่นเริ่มจะเล่นเราแล้ว ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น ‘ของเล่น’ อย่างหุ่นสังกะสีบนชั้นนี่ ถ้ามีเด็กมาหยิบเล่นแม่คง ‘ผัวะ’ เข้าให้… 

“พูดเล่นๆ เล่นได้ แต่เบาๆ หน่อย” คุณแม่ตุ๊กหันไปหัวเราะกับลูกชาย 

ของเล่นของบ้านนี้เป็นมากกว่างานอดิเรก มากกว่าของสะสม มันเป็นสิ่งหนึ่งที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสามแม่ลูกเข้าไว้ด้วยกันอยู่ ทำให้ได้คุยกันมากขึ้น แม้วันนี้มดจะยุ่งกับการทำธุรกิจของตัวเอง และเมิร์ฟต้องเข้าเวรที่โรงพยาบาลจนแทบไม่มีเวลากลับบ้าน 

“อย่างไปเที่ยวญี่ปุ่น บางครอบครัวอาจจะไปดูธรรมชาติ หรือถ้าไปซื้อของก็อาจจะแยกกันเดิน เพราะไลฟ์สไตล์ไม่ตรงกัน แต่บ้านเราคือตรงกันหมด คุณพ่ออาจจะไม่ได้อินมากแต่เขาก็สนุกเวลาไปด้วยกัน ล่าสุดที่ไป เราตัดที่เที่ยวธรรมชาติออกหมดเลย แล้วไปอากิฮาบาระอย่างเดียว แม่เป็นมือหนีบตุ๊กตาด้วย” เมิร์ฟทิ้งท้ายไว้อย่างนั้น

“คนอื่นๆ อาจจะเพื่อนแท็กไปดูของกิน แต่เรากับแม่แท็กกันให้ไปดูของเล่น”

3 แม่ลูก สะสมของเล่นญี่ปุ่น หุ่นสังกะสี จนถึงตู้เกม สานฝันวัยเด็กของแม่ที่ห้างไดมารู

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ