“มาเที่ยวญี่ปุ่นมีป่าให้เดินด้วยหรือ”

หลายคนแปลกใจหลังจากผู้เขียนกลับจากเดินป่ามาร่วม 10 วัน พร้อมรูปถ่ายเป็นพยาน อันที่จริงหากเปรียบเทียบพื้นที่ป่าแล้ว ประเทศญี่ปุ่นมีป่ามากกว่าประเทศไทยเสียอีก คือมีป่าประมาณร้อยละ 67 ของพื้นที่ประเทศ ขณะที่ประเทศไทยมีประมาณร้อยละ 29 ของพื้นที่ประเทศ แม้ว่าป่าในประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเป็นป่ารุ่น 2 ที่ปลูกขึ้นมาใหม่ทดแทนป่าดั้งเดิมที่ถูกตัดไปเมื่อร่วม 100 กว่าปีก่อน

เวลาเดินทาง ทุกคนจะรู้สึกอย่างเดียวกันว่า หากสนใจจะไปเจออะไร ส่วนใหญ่ก็จะโฟกัสหรือจดจ้องไปที่นั้นอย่างเดียว หากเดินทางมาเที่ยวญี่ปุ่นแล้วตั้งใจจะมาเที่ยวเมือง อารมณ์ความรู้สึกตอนนั้นก็คิดจะเดินเที่ยวเมืองเป็นหลัก หากเดินทางมาเที่ยวญี่ปุ่นเพื่อมาเดินดูวัดและปราสาทสำคัญ ก็คิดจะเดินเที่ยวในเมืองเป็นหลัก

เช่นเดียวกัน ทริปนี้ผู้เขียนสนใจจะมาเดินป่าที่ญี่ปุ่น พอลงเครื่องบิน เมืองรายทางแทบจะเป็นทางผ่าน ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ตามป่าเขามากกว่า เครื่องบินจากเมืองไทยมาจอดที่จังหวัดฟุกุโอกะบนเกาะคิวชูทางตอนใต้ของญี่ปุ่น จุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวไทย แต่เราไม่ได้เข้าเมือง นั่งรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็นลงใต้ไปจังหวัดคุมาโมโตะ

ชินคันเซ็น แปลว่า สายทางไกลสายใหม่ เป็นชื่อเรียกเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงในประเทศญี่ปุ่น โดยรัฐบาลเป็นเจ้าของ เปิดใช้งานครั้งแรกใน พ.ศ. 2507 ต้อนรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว  และขยายโครงข่ายไปทั่วประเทศ แต่เป็นกิจการที่ใช้เงินลงทุนมหาศาล จนการรถไฟญี่ปุ่นเป็นหนี้จนแทบล้มละลาย ในที่สุดก็ต้องแปรรูปให้บริษัทเอกชน 4 แห่งรับมาดำเนินการต่อเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน

ปัจจุบันเส้นทางรถไฟความเร็วสูงมีระยะทางประมาณ 2,800 กิโลเมตร วิ่งด้วยความเร็ว 240 – 320 กิโลเมตร / ชั่วโมง และเคยทำลายสถิติโลกจากการวิ่งด้วยความเร็ว 603 กิโลเมตร / ชั่วโมง ซึ่งรถไฟความเร็วสูงที่ได้รับการยอมรับในประสิทธิภาพจากทั่วโลกมี 3 ประเทศคือ เยอรมนี ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น

เคยสงสัยไหมว่าทำไมหัวขบวนรถไฟหัวกระสุนจึงมีสภาพคล้ายปากนกยื่นออกมา คำตอบคือ รถไฟความเร็วสูงยุคแรกๆ เมื่อแล่นผ่านอุโมงค์จะเกิดคลื่นความดันของอากาศจากความเร็วของรถไฟ เมื่อพุ่งผ่านอากาศจะเกิดเสียงโซนิกบูมดังมาก เป็นมลพิษทางอากาศของประชาชนแถวนั้น ซึ่งวิศวกรก็แก้ไขไม่ได้สักที

จนกระทั่ง อิไอจิ นาคัตสุ วิศวกรนักดูนก สังเกตเห็น ‘นกกระเต็น’ เอาหัวพุ่งจากอากาศที่มีความต้านทานต่ำลงสู่ผิวน้ำที่มีความต้านทานสูงเพื่อจับปลา โดยมีน้ำกระเซ็นเพียงเล็กน้อย จึงเกิดความคิดที่จะออกแบบหัวรถไฟตามแบบปากของนกกระเต็น ซึ่งหัวรถไฟที่มีปากยาวยื่นออกมาแบบปากของนกกระเต็น เมื่อแล่นออกจากอุโมงค์ จะสามารถลดเสียงดังได้จริงและประหยัดพลังงานอีกด้วย

เราแวะค้างคืนที่จังหวัดคุมาโมโตะ จังหวัดที่มีเจ้าหมีดำคุมะมง มาสคอตประจำจังหวัด ซึ่งนักท่องเที่ยวไทยรู้จักดี รุ่งเช้าเรานั่งรถไฟมุ่งหน้าลงใต้ที่จังหวัดคาโกชิมะ เพื่อมาขึ้นเรือเฟอร์รี่มุ่งหน้าไปเกาะยากุชิมะ เกาะรูปทรงกลมที่ตั้งอยู่ในจังหวัดคาโกชิม่า ห่างจากเกาะคิวชูไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 60 กิโลเมตร ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อ พ.ศ. 2536 พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 300,000 ไร่ และมีพื้นที่ที่ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกประมาณ 67,000 ไร่  โดยเฉพาะบริเวณเทือกเขาชิราคาวะ อันเป็นป่ากึ่งเขตร้อนชื้นที่หาไม่ง่ายในประเทศทางเหนือ มียอดเขามิยาโนอูระสูง 1,936 เมตร ซึ่งเป็นยอดเขาสูงสุดที่ยากจะพิชิตได้

ป่ายากุชิมะ

ป่าแห่งนี้ไม่ใช่ป่าปลูกใหม่ แต่เป็นป่าดั้งเดิมอายุนับพันปีที่เคยเป็นที่ทำสัมปทานทำไม้ในอดีต แต่ได้รับการอนุรักษ์ในเวลาต่อมา จนกลายเป็นอุทยานป่ากึ่งเขตร้อนที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น จะเรียกว่าเป็นป่าดึกดำบรรพ์ยากุชิมะก็คงไม่ผิดอะไร

เราเริ่มต้นเดินไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่มีหลายสาย ตั้งแต่ใช้เวลาไม่กี่นาที ครึ่งชั่วโมง 3 ชั่วโมง ไปจนถึง 10 ชั่วโมง ต้องเอาเต็นท์ไปค้างแรมบนภูเขา อากาศหนาวเย็น ยิ่งเดินลึกเข้าไป ยิ่งสังเกตได้ว่า ป่าแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศที่สลับซับซ้อนมาก มีพืชพันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นที่เกิดขึ้นบริเวณนี้หลายพันชนิด มีกวางและลิงจำนวนมากอาศัยอยู่ และเห็นได้เป็นระยะเมื่อเดินลึกเข้าไป พึงระลึกเสมอว่า เดินป่าในญี่ปุ่นมีกฎ 3 ข้อสำคัญคือ

  1. อย่าออกนอกเส้นทาง
  2. นำอะไรเข้าไป เอาออกมาให้หมด ขยะทั้งหลายและก้นบุหรี่
  3. อยากสูบบุหรี่เมื่อใด สูบได้ แต่อย่าเดินไปสูบไป

ตลอดระยะทางเดินป่าญี่ปุ่นจะสอดส่องหาเศษขยะยากกว่าหาดอกไม้จริงๆ เพราะคนที่นี่มีวินัยสูงมาก และเคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกัน การทิ้งขยะถือเป็นการไม่เคารพสิทธิ์คนอื่น

เดินไปสักพักน้ำตกขนาดใหญ่ก็ปรากฏขึ้น เกาะแห่งนี้มีน้ำตกหลายแห่งจนมีชื่อเรียกว่า Water Island จากความสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำที่มีน้ำไหลตลอด และมีฝนตกชุกตลอดทั้งปีมากกว่าฝนตกทั่วญี่ปุ่นถึง 5 เท่าจากผืนป่าดิบ

เราไต่ระดับความสูงขึ้นเรื่อยๆ อากาศเย็นขึ้น สภาพป่าเปลี่ยนไป ตามพื้นดินระหว่างทางปกคลุมไปด้วยป่ามอสและดอกไม้เล็กกระจิริด หากไม่สังเกตก็อาจมองข้ามไป เพราะเห็นแต่ต้นไม้ใหญ่ เช่นเดียวกัน บางครั้งเรื่องราวของคนเล็กๆ อาจมีคุณค่ามากกว่าคนใหญ่ๆ เราเห็นรากไม้ขนาดยักษ์อยู่คู่กับดงมอสเล็กๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์

ความประทับใจของดงมอสและป่าดึกดำบรรพ์แห่งนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กลายเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์แอนิเมชันของค่าย Studio Ghibli เรื่อง เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร (Mononoke-Hime) อันโด่งดัง ที่ออกฉายเมื่อ ค.ศ. 1997 เป็นการ์ตูนที่สะท้อนให้คนหันมาอนุรักษ์ธรรมชาติที่กำลังจะหมดไป

ลึกเข้าไปอีก เห็นร่องรอยของตอไม้ที่หลงเหลือจากการตัดไม้สัมปทานในอดีต ไม่ไกลมีต้นไม้ดึกดำบรรพ์อายุนับพันปี เราเห็นคุณทวดต้นยาคุสึงิ หรือสนญี่ปุ่นพันธุ์ดั้งเดิมที่มีอายุหลายพันปี เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเกาะแห่งนี้อีกด้วย เรายืนต่อหน้าคุณทวดเหล่านี้ ความสูงร่วม 30 เมตร มีเส้นรอบวง 15 เมตร บางต้นมีอายุถึง 3,000 ปี เราโอบกอดและสัมผัสได้ถึงความรัก ความเมตตา การผ่านร้อนผ่านหนาวของคุณทวดเหล่านี้ คุณทวดเห็นชีวิตมาเยอะมาก ตั้งแต่การทำลายล้าง สงคราม การสร้างบ้านแปงเมืองของผู้คน คุณทวดมองดูปรากฏการณ์เหล่านี้ด้วยความสงบนิ่ง ต้นไม้ใหญ่ค้ำจุนโลกนี้เกินกว่าที่มนุษย์ตัวกระจิริดอย่างเราจะหยั่งรู้ได้

ป่ายากุชิมะ

คืนต่อมา เราไปดูเต่าขึ้นมาวางไข่อีกฟากฝั่งหนึ่งของเกาะ ตรงบริเวณหาดนากาตะ เกาะแห่งนี้เป็นเขตอนุรักษ์เต่าตนุที่สำคัญ จัดการโดยชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ เราไปเองไม่ได้ ต้องมีคนนำทาง แต่ก่อนไปต้องเข้ารับฟังการบรรยายและแจ้งข้อห้ามต่างๆ ระหว่างการเดินลงชายหาด เช่น ห้ามส่งเสียงดัง ห้ามถ่ายรูป ห้ามฉายไฟฉาย ห้ามจับโดนตัวเต่า ห้ามเก็บไข่ เป็นต้น เขาค่อนข้างเข้มงวด หากใครทำผิดระเบียบอาจถูกเชิญออกไป

เวลา 2 ทุ่ม ชาวบ้านพาเราเดินลงหาดท่ามกลางความมืดมิด เพราะห้ามใช้ไฟฉาย เกรงว่าจะเป็นการรบกวนไม่ให้เต่าขึ้นมาวางไข่ เขาให้พวกเรารออยู่ด้านบนของหาด  มีเจ้าหน้าที่ไปสังเกตดูว่าเต่าขึ้นมาวางไข่หรือยัง

เรารออยู่ร่วม 2 ชั่วโมง สักพักเต่าเริ่มขึ้นมาจากทะเล มาขุดหลุมบนเนินทรายเพื่อวางไข่ เจ้าหน้าที่พาเราไปดูเต่าขณะวางไข่ มีเพียงไฟฉายสีแดงจางๆ ไม่รบกวนเต่า ส่องไปที่บริเวณก้นของเต่า แม่เต่าขนาดความยาวเกือบเมตรเบ่งไข่ลงมาทีละลูกสองลูก บางช่วงเบ่งแรงออกมา 4 – 5 ลูก ไข่เต่ามีลักษณะกลมๆ คล้ายลูกปิงปอง มีเมือกใสๆ เหนียวๆ ติดอยู่ที่เปลือก แม่เต่าเบ่งไข่ออกมาประมาณ 100 กว่าฟอง แล้วนางก็เอาขาหลังปัดทราย กลบไข่ที่นางวางไว้เป็นอันเสร็จพิธี เจ้าหน้าที่เอาแท็กมาติดที่ขาของแม่เต่า ทำบันทึกไว้เป็นข้อมูล สักพักแม่เต่าก็คลานลงทะเล เสร็จภารกิจในการสืบพันธุ์

ธรรมชาติในประเทศนี้มีเรื่องราวให้เรียนรู้อีกมากมาย อาจมากกว่าเรื่องราวในเมืองที่พวกเราคุ้นเคยกันดี

Writer & Photographer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว