ก่อน COVID-19 จะมาเยือน ซัปโปโร เมืองใหญ่อันดับ 5 ของประเทศญี่ปุ่นบนเกาะฮอกไกโด เป็นหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวชาวไทย ที่อยากไปในช่วงเทศกาลหิมะ กินราเมนชื่อดัง และดื่มเบียร์ซัปโปโร

ผู้เขียนมีโอกาสมาเยือนเกาะฮอกไกโดหลายครั้ง และนึกย้อนไปเที่ยวทิพย์บนเกาะแห่งนี้ จำความรู้สึกได้ดีถึงการไปเดินย่ำหิมะไปตามท้องถนนในอุณหภูมิ -10 องศาเซลเซียส และยืนรอไฟเขียวตรงสี่แยกด้วยความอดทนร่วมกับคนญี่ปุ่นอีกหลายคนกลางหิมะโปรยลงมาด้วยความหนาวเหน็บ แม้จะไม่มีรถขับผ่านเลย 

ชีวิตผู้คนตามท้องถนน อาจสะท้อนวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นได้อย่างดี หากเราสังเกต

ครั้งหนึ่ง หลังกินราเมนร้านชื่อดังในซัปโปโร ผู้เขียนออกมาย่ำหิมะเดินเล่นตามท้องถนน พอเดินไปได้สักพัก เห็นผู้คนจำนวนมาก กำลังเข้าคิวต่อแถวเพื่อรอชมการแสดงแห่งหนึ่งหน้าอาคารด้วยความหนาวเหน็บต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียสอย่างอดทน

การเข้าคิวของคนญี่ปุ่น มารยาทที่สะท้อนวินัยและความยุติธรรมในประเทศแห่งแผ่นดินไหว

พออาคารเปิด ผู้คนก็ทยอยกันเข้าไปอย่างเป็นระเบียบ ไม่มีการแซงคิวรีบเข้าไปในอาคารเพื่อหาไออุ่น

การเข้าคิวอาจจะเป็นภาพชินตาในสังคมของประเทศนี้

แต่ผู้เขียนยืนดูอยู่นาน และมีคำถามว่า ทำไมพวกเขาจึงยืนต่อคิวอย่างมีระเบียบด้วยความอดทนได้ถึงเพียงนี้

คือถ้าเข้าคิวซื้อของในอาคารยังพอเข้าใจได้ แต่นี่คือการเข้าคิวนอกอาคารกลางหิมะ

เพื่อนญี่ปุ่นคนหนึ่งเคยอธิบายว่า

“วัฒนธรรมการเข้าคิวของคนญี่ปุ่น สะท้อนว่าพวกเขาเชื่อมั่นในความยุติธรรม พวกเขาเชื่อว่าสังคมญี่ปุ่นมีความยุติธรรมพอที่ทุกคนจะได้รับการจัดสรรทุกอย่างโดยทั่วถึงกัน และหมายรวมไปถึงความยุติธรรมในเรื่องอื่นๆ ด้วย”

เมื่อสิบกว่าปีก่อน เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่บนเกาะญี่ปุ่น

แผ่นดินไหวใต้ทะเลด้วยความรุนแรงขนาด 9 ริกเตอร์ ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิสูงนับสิบเมตรถล่มเกาะญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554 ทำให้มีคนบาดเจ็บและล้มตายนับหมื่นคน เป็นภัยพิบัติร้ายแรงที่สุดในรอบ 300 ปี แต่มีภาพหนึ่งสร้างความประทับใจให้กับผู้คนไปทั่วโลก

การเข้าคิวของคนญี่ปุ่น มารยาทที่สะท้อนวินัยและความยุติธรรมในประเทศแห่งแผ่นดินไหว

ภาพคนญี่ปุ่นเข้าคิวรอซื้อสินค้า หรือรอรับการแจกของจากเจ้าหน้าที่นานนับชั่วโมง อย่างมีวินัยอดทนเป็นระเบียบเรียบร้อย

คนญี่ปุ่นนิ่งและมีสติมั่นคงกับการเผชิญหน้ากับหายนะครั้งนี้ได้อย่างไรกัน 

ภายใต้สถานการณ์อันตึงเครียด การขาดแคลนน้ำ อาหาร ไฟฟ้า ยารักษาโรค ภายใต้ความหวั่นวิตกกับสารกัมมันตภาพรังสี แต่เราไม่เห็นภาพคนญี่ปุ่นก่อการจลาจลแย่งชิงอาหาร ฉวยโอกาสปล้นร้านค้า ทำร้ายผู้เดือดร้อน จนทางการต้องส่งทหารตำรวจเข้ามาควบคุมความวุ่นวาย เหมือนกับที่เกิดขึ้นในหลายประเทศเวลาเกิดภัยภิบัติ

คนญี่ปุ่นได้ชนะใจคนทั้งโลกจากแววตาอันมุ่งมั่น จากความอดทนและการเข้าคิว

ภาพเหล่านี้สอนให้เรารู้ว่า คนญี่ปุ่นสร้างชาติมาจากการเข้าคิว แสดงความมีวินัย ความอดทน การรู้จักรอคอย แต่วินัยในความหมายของคนญี่ปุ่น ไม่ได้มีความหมายแค่การทำตามคำสั่ง อาทิ นักเรียนทำตามคำสั่งครู ทหาร ตำรวจทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาแบบคนไทย หรือวินัยแค่การยืนตรงเคารพธงชาติตอน 6 โมงเย็นเท่านั้น

วินัยของคนญี่ปุ่นคือการแสดงออกถึงการเคารพสิทธิของคนอื่น เคารพสิทธิของคนเข้าคิวก่อน เคารพการอยู่ร่วมกันในสังคม ทุกคนทำตามกติกาของสังคมอย่างเสมอภาค 

เวลาข้ามทางม้าลายในประเทศนี้ เพียงแค่เรามายืนอยู่ตรงริมถนน คนขับรถก็จะชะลอรถ หยุดให้คนเดินข้ามทางม้าลาย เพราะคนขับรถเคารพสิทธิของคนข้ามถนนก่อน ขณะที่หลายประเทศพอคนมายืนริมฟุตปาธ คนขับรถกลับเหยียบคันเร่งทันที

ที่สำคัญคือ ในอดีตที่ผ่านมาญี่ปุ่นมีพลเมืองอาศัยบนเกาะจำนวนมาก พื้นที่จำกัด ทรัพยากรจำกัด คนญี่ปุ่นจึงเข้าใจดีว่า การจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรมจะเกิดขึ้นได้ เมื่อทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยความยุติธรรม ภายใต้กฎกติกาที่ทุกคนต้องเคารพร่วมกัน ไม่มีอภิสิทธิ์ชน หรือใครมีสีใครมีเส้นจะมีสิทธิเหนือคนอื่น

การเข้าคิวของคนญี่ปุ่น มารยาทที่สะท้อนวินัยและความยุติธรรมในประเทศแห่งแผ่นดินไหว

และคนญี่ปุ่นทราบดีว่า ประเทศของตัวเองเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ไม่ว่าสึนามิ แผ่นดินไหว พายุไต้ฝุ่น ดังนั้น การช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่สุด เพื่อการอยู่รอดของทุกคน ความคิดถึงส่วนรวม จึงมาก่อนความคิดถึงตัวเอง ด้วยทัศนคติที่ว่า ส่วนรวมต้องมาก่อนส่วนตัวนั้น เป็นหลักสำคัญในการทำให้สังคมมนุษย์อยู่รอดได้ และอยู่ในดีเอ็นเอของพวกเขามาช้านานแล้ว

การเข้าคิวต่อแถว จึงสะท้อนค่านิยมในสังคมญี่ปุ่น พวกเขาเชื่อว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรมในทุกๆ กรณี

มองย้อนกลับมาบ้านเรา คนไทยไม่เคยคิดว่าจะได้รับความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน จึงไม่อาจอดทนต่อเข้าแถวต่อคิวได้ในทุกๆ กรณี การแซงคิว การไม่เคารพคนอื่น จึงเห็นเป็นประจำจนเป็นเรื่องปกติ และสะท้อนว่าสังคมไทยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม

Writer & Photographer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว