โอเอซิส คือพื้นที่อุดมสมบูรณ์ชุ่มชื้นท่ามกลางผืนทะเลทราย หรือในหลายครั้ง มันถูกใช้เปรียบเทียบกับสิ่งพิเศษซึ่งไปปรากฏอยู่ในบริเวณที่ไม่มีใครคาดคิด

จุดหมายปลายทางของคอลัมน์ Share Location ในวันนี้ก็เช่นเดียวกัน

เมื่อก้าวจากทางออก 1 ของสถานี MRT วัดมังกร ข้ามถนนเจริญกรุง เดินตรงไปราว 30 เมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าตรอกเจริญชัย 2 บรรยากาศรอบตัวก็ถูกราตรีเข้าปลุกคลุม มีเพียงแสงระเรื่อจากไฟปิงปองช่วยนำทาง

ทุกอย่างในตรอกไม่ไหวติง นิ่งสนิทราวกับเวลาถูกหยุดไว้ที่ 19 นาฬิกา แสงสลัวไม่อาจเก็บซ่อนความงดงามของคูหาสองชั้นที่เรียงชิดติดกันทั้งสองฝั่ง ตบแต่งด้วยร่มสีแดงคันใหญ่ โคมไฟจีนไร้แสง ไปจนถึงกระดาษไหว้เจ้านานาชนิด 

นี่คงเป็นตรอกที่เงียบสงัดที่สุดในย่านเยาวราช ผมไม่ได้ยินเสียงอื่นใดนอกจากเสียงฝีเท้าของตัวเอง 

ตบเท้าจากปากตรอกไม่นานก็มาถึงจุดหมาย ผมแทบไม่เชื่อสายตา มีบาร์ตั้งอยู่ในที่แบบนี้ได้ยังไง…

จ่าวอัน บาร์ลับสไตล์จีนย่านเยาวราช ในโกดังของอากงสมัย ร.5

แสงสีฟ้าส่องจ้าทะลุช่องประตูสีแดงสด ประหนึ่งกำลังเชื้อเชิญให้ผู้ที่หลงผ่านแวะเยี่ยมเยือน เบื้องหน้าของผมคือ ‘JAO.UN (จ่าวอัน)’ บาร์ลับเปิดใหม่ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากถนนเยาวราช 

ผมเลื่อนบานประตู ตรงเข้าสู่ภายในที่ให้ความรู้สึกเหมือนได้นั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปในอดีต กำแพงสีครามในร้านเหมือนหลุดมาจากสมัยรัชกาลที่ 5 เพดานทำจากไม้ และตรงกึ่งกลางคือเคาน์เตอร์บาร์ที่มีเหล้าเรียงรายอยู่ภายหลัง ห้อมล้อมตัวอักษรภาษาจีนสีแดงบ่งบอกชื่อสถานที่

เจ้าของร้านทั้งสามคงยืนรอผมอยู่นานแล้ว

“โชคดีที่มาตอนนี้ ชั่วโมงที่แล้ว หน้าร้านยังมีน้ำขังอยู่เลย” ศิฑ-ศิรพงศ์ ศุภภัทรเศรษฐ์ เจ้าของร้านคนแรกกล่าวทัก เป็นเสียงแรกที่ได้ยินนับตั้งแต่เดินเข้าตรอก

“รับค็อกเทลอะไรมั้ยครับ” โอ๊ธ-รวิภาส มณีเนตร เจ้าของร้านอีกคนพูดต่อ ก่อนที่ กิ๊ฟท์-กนกกาญจน์ กมลเดช เจ้าของร้านคนสุดท้ายเสริมว่า “มีที่นั่งด้านบนด้วยนะคะ” 

ผมพยักหน้ารับ เพ่งพินิจดูเมนู แม้จะไม่รู้ว่าแต่ละอย่างคืออะไร แต่ผมก็พูดออกไปว่า “เลดี้ เยาวราชแก้วหนึ่งครับ”

“J”

Journey to Charoen Chai

เสียงดนตรีเริ่มบรรเลงเหมือนเป็นสัญญาณว่ามาถึงบาร์เป็นที่เรียบร้อย เมื่อไม่เห็นใครจับไมค์อยู่ตรงหน้า เราก็เดาได้ไม่ยากว่านักร้องคงขับกล่อมท่วงทำนองอยู่ที่ชั้นบน

รวิภาสบรรจงชงเลดี้ เยาว์ฯ กนกกาญเดินเข้าในครัว เหลือเพียงศิรพงศ์ที่นั่งลงข้างผมที่เคาน์เตอร์บาร์ 

จ่าวอัน บาร์ลับสไตล์จีนย่านเยาวราช ในโกดังของอากงสมัย ร.5

จากที่หวังจะได้ฟังเรื่องราวจุดเริ่มต้นของร้าน ศิรพงศ์พาผมไปไกลกว่านั้นมาก เขาเกริ่นว่า ก่อนจะรู้ประวัติของจ่าวอัน ผมจำเป็นต้องเข้าใจความเป็นมาของชุมชนที่ร้านตั้งอยู่เสียก่อน

ช่วงที่ศึกษาอยู่ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์เคยมอบหมายให้ศิรพงศ์เลือกศึกษาชุมชนในกรุงเทพฯ หลังจากค้นคว้าอยู่พักใหญ่ สุดท้ายกลุ่มเลือกใช้ชุมชนเจริญชัย สถานที่ในความทรงจำของหนุ่มแว่นเป็นโจทย์ในการศึกษา

“ตอนนั้นมีประเด็นว่าเจ้าของพื้นที่ตรงนี้ทั้งหมดไม่ต่อสัญญากับคนในชุมชน เวิ้งใหญ่มาก แต่เจ้าของที่ไม่ต่อสัญญาให้ใครเลย จากที่เซ็นสัญญาเช่าครั้งละ 2 ปี เปลี่ยนเป็นต้องเซ็นสัญญากันแบบเดือนต่อเดือน” เจ้าของร้านย้อนความน่าสนใจของทำเล

เมื่อต่อสัญญาระยะยาวไม่ได้ คนส่วนใหญ่ในชุมชนไทยจีนจึงรู้สึกไม่มั่นคงในการดำเนินชีวิต ไม่อาจล่วงรู้ได้เลยว่าเดือนถัดไปจะยังได้อยู่ในบริเวณนี้หรือต้องย้ายออก ทั้งที่บ้านทุกหลังในย่านเป็นอาคารเก่า แต่ก็ไม่มีใครกล้าซ่อมหรือปรับปรุง ส่วนหนึ่งเพราะการซ่อมแซมสถาปัตยกรรมลักษณะนี้มีต้นทุนสูง แต่เหตุผลหลักเป็นเพราะต่อให้ซ่อมก็ไม่มีอะไรการันตีว่าจะคุ้มทุนหรือไม่ และซ่อมแล้วจะอยู่ได้นานเท่าใด

กระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เหมือนฟ้าเปิด มีจดหมายจากเจ้าของพื้นที่เรียกทุกคนเข้าไปเซ็นสัญญา เมื่อมีคำมั่นเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะอยู่ในเจริญชัยได้อีกอย่างน้อย 2 ปี คนในชุมชนจึงวางแผนซ่อมแซมบ้านของตน ตลอดจนปรับปรุงภูมิทัศน์ในพื้นที่เพื่อหวังสร้างเป็นจุดขาย

“คนที่นี่อยากบอกให้สังคมภายนอกรับรู้ถึงการมีอยู่ของชุมชน ถ้าชุมชนเป็นที่รู้จัก มีจุดขาย โอกาสที่ชาวบ้านจะได้รับการต่อสัญญาต่อไปก็มีมากขึ้น”

คำอธิบายของศิรพงศ์ไขทุกข้อข้องใจของผมขณะเดินเข้าตรอก ร่มสีแดง โคมไฟ กระดาษไหว้เจ้า สิ่งที่ผมเห็นตลอดทางคือร่องรอยทางวัฒนธรรมที่สำคัญของย่าน เจริญชัยเป็นชุมชนกระดาษไหว้เจ้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ มีคนลงทุนเดินทางจากแผ่นดินจีนมาบันทึกภาพโต๊ะไหว้ของที่นี่

จ่าวอัน บาร์ลับสไตล์จีนย่านเยาวราช ในโกดังของอากงสมัย ร.5

เมื่อคนในพื้นที่อยากสร้างชุมชนให้มีจุดขาย ศิรพงศ์ที่รักและผูกพันกับเจริญชัยมาตั้งแต่เด็กก็เหมือนได้รับแรงบันดาลใจมาด้วยโดยไม่รู้ตัว

“เราโตอยู่ฝั่งโน้น บ้านอากง ตอนเด็กเรามาเล่นที่นี่ทุกวันหยุด” เขาเล่าไปยิ้มไป

‘ฝั่งโน้น’ ที่ศิรพงศ์พูดถึงในอดีตคือ ยี่ปั๊ว ร้านค้าขายส่งของลูกหลานชาวจีนที่ทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลาง รับของจากผู้ผลิตมาขายต่อ โดยจำหน่ายตั้งแต่ข้าวของเครื่องใช้ไปจนถึงขนมกินเล่น

ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ธุรกิจยี่ปั๊วขาดไปไม่ได้คือโกดังสินค้า ผมแทบไม่เชื่อหูตัวเองเมื่อได้รู้ว่า โกดังอายุกว่า 100 ปี ได้กลายเป็นบาร์สุดชิคที่ผมนั่งอยู่ ณ ตอนนี้

“A”

Assemble

นักร้องที่ชั้นสองร้องจบเพลงแรก รวิภาสนำเครื่องดื่มมาเสิร์ฟ

แก้วทรงสูงและของเหลวสีชมพูช่างดูเย้ายวนใจเหลือเกิน…

จ่าวอัน บาร์ลับสไตล์จีนย่านเยาวราช ในโกดังของอากงสมัย ร.5

ผมฟังศิรพงศ์เล่าต่อจนได้รู้ว่า หลังธุรกิจยี่ปั๊วเริ่มซบเซา โกดังเก็บของหมายเลข 47 ของตระกูลก็ไม่ได้มีความจำเป็นอีกต่อไป ครอบครัวจึงตัดสินใจเปิดคูหาให้คนอื่นเช่า ฝั่งร้านยี่ปั๊วถูกแปลงโฉมเป็นร้านอาหารสไตล์โมเดิร์นไชนีสในชื่อ ZONG TER (ซงเต๋อ) 

หลังซงเต๋อย่างเข้าปีที่ 3 กิจการก็เริ่มเข้าที่ ถึงทีที่ศิรพงศ์จะมองหาเป้าหมายถัดไป ทั้งจากความตั้งใจส่วนตัวที่อยากเป็นเจ้าของเครือร้านอาหาร และความตั้งใจส่วนรวมที่อยากนำเสนอวัฒนธรรมของชุมชน ไม่ต่างจากเพื่อนบ้านเจริญชัย บัณฑิตคณะนิเทศศาสตร์จึงเริ่มคิดว่า โกดัง 47 ก็น่าจะต่อยอดได้เช่นเดียวกัน

“มีอยู่วันหนึ่ง เรานั่ง MRT ไปสามย่าน ตกใจมากเลย ผู้คนที่สามย่านกับวัดมังกรต่างกันลิบลับ ที่นี่มีแต่คนสูงอายุ ในขณะที่สามย่านมีชีวิตชีวาของวัยหนุ่ม” 

หลานอากงย้อนจุดเริ่มต้นที่อยากเปลี่ยนโกดังเก็บของให้เป็นพื้นที่ที่เชื้อเชิญเด็กรุ่นใหม่เข้ามาพบปะสังสรรค์ได้ แรกเริ่มเดิมที เขาอยากทำคาเฟ่ในธีมโรงงิ้ว ก่อนจะปรับเปลี่ยนจนเกิดเป็นไอเดียร้านอาหารเช้าที่เปิดขายทั้งวัน จึงได้ชื่อว่า จ่าวอัน คำศัพท์ภาษาจีนที่หมายถึง ‘สวัสดีตอนเช้า’

“แล้วทำไมจากร้านอาหารเช้าถึงกลายเป็นบาร์ได้” – เราถาม

“ร้านอาหารเช้าเหมือนจะทำง่ายนะ แต่คู่แข่งเยอะ คนที่มาเยาวราชตั้งใจมากินอาหารอยู่แล้ว เราไม่ได้ทำอาหารเก่ง จะไปแข่งกับเขาก็ยาก เลยทิ้งไอเดียแล้วลองคิดใหม่” หนุ่มแว่นตอบด้วยท่าทีจริงจัง ขณะเดียวกัน เจ้าของร้านอีกคนที่เพิ่งเสร็จภารกิจชงค็อกเทลก็มานั่งร่วมวงสนทนา

จ่าวอัน บาร์ลับสไตล์จีนย่านเยาวราช ในโกดังของอากงสมัย ร.5

หลังทำใจขีดฆ่าไอเดียร้านอาหารเช้า ศิรพงศ์จึงกลับไปคิดจากจุดตั้งต้น หากอยากให้ชุมชนมีคนรุ่นใหม่เข้ามาสร้างสีสัน การชวนเพื่อนรุ่นเดียวกันมาช่วยดำเนินธุรกิจก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดี จึงเกิดเป็นแนวคิดใหม่อย่างร้านใจกลางเยาวราชที่กลางคืนเปิดเป็นบาร์ และกลางวันทำเป็นคาเฟ่

“สำหรับเรา ค็อกเทลเป็นเหมือนงานศิลปะ ไม่ใช่แค่ดื่มให้เมา ไม่ใช่เหล้าที่แค่กรอกเข้าปาก แต่มันมีเรื่องราวอยู่ในแก้ว พอสนใจปุ๊บก็ลองลงเรียน แล้วคืนนั้นโอ๊ธก็ทักมาถามว่าเรียนที่ไหน สนใจเหมือนกัน”

ความสนใจในเครื่องดื่มพาสองเพื่อนจากคณะนิเทศศาสตร์กลับมาพบกันอีกครั้ง รวิภาสวาดฝันมาพักใหญ่ว่าอยากเป็นบาร์เทนเดอร์ คำชักชวนจากศิรพงศ์จึงเป็นเหมือนพรวิเศษที่ดึงอดีตหนุ่มออฟฟิศออกจากวงโคจรการทำงานแบบวนลูปไปโดยปริยาย

เมื่อมีคนที่พร้อมจะศึกษาค็อกเทลแล้ว ต่อมาจึงเป็นเรื่องคาเฟ่ ตอนนั้นเองที่กนกกาญกระโดดมาร่วมวง แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าต้องมาชงกาแฟ โดยที่ตัวเองแพ้นม เธอก็พร้อมลุย เพราะโอกาสทำงานกับเพื่อนนอกออฟฟิศ แถมยังเป็นกิจการส่วนตัวก็ไม่ได้หากันง่าย ๆ

“เราสามคนไม่มีใครเป็นผู้เชี่ยวชาญ ทุกคนเคยกินกาแฟ เคยกินเหล้า แต่ไม่ได้มีความรู้หรือเก่งอะไร ก็มาเริ่มเรียนเริ่มฝึกพร้อมกัน” กนกกาญที่ตามมาร่วมวงสนทนาเป็นคนสุดท้ายเล่าให้ฟัง

จ่าวอัน บาร์ลับสไตล์จีนย่านเยาวราช ในโกดังของอากงสมัย ร.5

“O”

Outstanding Renovation

บนเคาน์เตอร์บาร์เหลือเพียงแก้วทรงสูง ของเหลวภายในอันตรธานไปอยู่ในท้องโดยที่ผมเองก็ไม่รู้ตัว

เพลง ใจรัก ของ สุชาติ ชวางกูร ถูกขับร้องในรูปแบบใหม่ที่ด้านบน ให้ความรู้สึกเหมาะกับคนเหงาที่ต้องการความสงบอย่างแท้จริง

ลูกค้าในหน้ากากอนามัยสีดำคนหนึ่งเดินเข้ามาในร้าน คล้ายอยากหลบเลี่ยงความวุ่นวายของโลกภายนอก เธอเดินตรงขึ้นไปชั้นบนในทันที นี่น่าจะไม่ใช่การมาเยือนครั้งแรกของเธอ

โลโก้สีแดงของร้านหลังเคาน์เตอร์บาร์เตือนผมให้ถามคำถามถัดไป

“ในเมื่อเปลี่ยนมาทำบาร์ ทำไมยังใช้ชื่อร้านว่าจ่าวอันอยู่ล่ะ”

คำตอบที่ได้ทำผมอมยิ้ม เพราะวันที่ศิรพงศ์เปลี่ยนใจมาทำร้านเหล้า เขาได้ออกแบบโลโก้และจดลิขสิทธิ์ของชื่อจ่าวอันไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น รูปแบบของร้านเปลี่ยนได้ แต่ชื่อจำต้องยึดตามนี้ ผู้อยู่เบื้องหลังทั้งสามจึงต้องพยายามออกแบบคอนเซ็ปต์ของร้านให้เข้ากับชื่อที่ตั้งไปก่อนหน้า

สุดท้ายจึงได้เป็น ‘JAO.UN จ่าวอัน’ บาร์ที่อยากให้ลูกค้ารู้สึกสดชื่นเหมือนได้รับแสงยามเช้าในยามค่ำ

จ่าวอัน บาร์ลับสไตล์จีนย่านเยาวราช ในโกดังของอากงสมัย ร.5

a speakEASY café & bar คือแนวคิดหลักของบาร์ลับย่านเยาวราช หลังการระดมสมอง สามเพื่อนซี้ก็มีความเห็นตรงกันว่า อยากให้จ่าวอันเป็นสถานที่ที่ลูกค้าพูดคุยกันได้แบบง่าย ๆ เงียบ ๆ ไม่ต้องเต้นหรือตะโกนแข่งกับเสียงเพลง แค่มานั่งชิลล์เพื่อเพลิดเพลินกับคนที่อยู่ตรงหน้า ลิ้มลองเรื่องราวของค็อกเทลในแต่ละแก้ว และที่สำคัญ บรรยากาศในร้านต้องไม่รบกวนเพื่อนบ้านใกล้เคียง

“หลายคนบอกว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นบาร์ที่ดีไม่ได้ ทางเข้าก็เปลี่ยว น้ำขัง แถมไม่มีคนเดินผ่านไปผ่านมา แต่เราก็เชื่อว่าจะทำได้”

การกลับมาเจอกันของศิฑ โอ๊ธ และกิ๊ฟ อาจง่ายดายอย่างไม่น่าเชื่อ แต่การรีโนเวตคลังสินค้าของอากงคือสิ่งตรงกันข้าม แม้จะปล่อยให้คนเช่า แต่ตัวอาคารก็ผุพังจนน่าตกใจ สิ่งแรกที่ทั้งสามเห็นก่อนการปรับปรุง คือภาพของกำแพงลอก ๆ หลังคารั่ว พื้นชั้นสองอ่อนยวบ ขึ้นไปยืนไม่ได้

เจ้าของร้านต้องทำกำแพงบางส่วนขึ้นใหม่เพื่อให้เก็บเสียง ส่วนกำแพงที่ยังแข็งแรงใช้การได้ เจ้าของเลือกที่จะคงไว้ทั้งอย่างนั้น เพียงอุดเพิ่มเล็กน้อยเพื่อป้องกันแมลง รอยเปื้อนสีครามบนกำแพงที่เราเห็นจึงเป็นร่องรอยที่ถูกแต่งแต้มโดยกาลเวลา จากรุ่นปู่ย่าสู่รุ่นหลาน 

“เราแทบจะต้องสร้างบ้านหลังใหม่ในบ้านหลังเก่า ต้องทำให้แข็งแรงพอที่คนจะเข้ามานั่งได้”

จ่าวอัน บาร์ลับสไตล์จีนย่านเยาวราช ในโกดังของอากงสมัย ร.5

นอกจากมีความสนใจในค็อกเทลและความเอือมระอาต่องานออฟฟิศเป็นจุดร่วม อีกหนึ่งเรื่องที่เหมือนถูกกำหนดไว้แล้ว คือทั้งสามคนต่างพกทักษะติดตัวมาคนละอย่างสองอย่างจากการทำละครเวทีที่คณะนิเทศฯ

ศิรพงศ์เป็นฝ่ายแสง รวิภาสเป็นฝ่ายเสียง กนกกาญเป็นฝ่ายสร้างความสัมพันธ์

ดังนั้นงานแสงสี การติดตั้งลำโพงเพื่อเสียงดนตรี ไปจนถึงการบริการที่ดีต่อลูกค้า ทั้งสามคนจึงร่วมมือกันทำออกมาได้อย่างลงตัว

นอกจากกำแพงเก่าที่เป็นเงาคราม ศิรพงศ์ใช้สีแดงที่มีกลิ่นอายของย่านคนจีนเป็นตัวอักษร สีเหลืองทองแทนไอแดดยามรุ่งอรุณ ปิดท้ายด้วยสีเขียวของประตูและวงกบเดิม จนได้เป็นหน้าตาของร้านอย่างที่เห็น

เสียงเพลงที่บรรเลงอยู่ในความรับผิดชอบของรวิภาส ตั้งแต่ต่อสายไฟ ติดตั้งไมค์ ไปจนถึงเลือกจุดวางลำโพง ก่อนชักชวนเพื่อนพี่น้องจากคณะมาช่วยขับกล่อมทำนองเป็นประจำทุกคืนวันศุกร์กับเสาร์

ด้านการดูแลลูกค้าไม่ใช่เรื่องที่เกินความสามารถของกิ๊ฟ ผู้ที่แวะมาทักทายจ่าวอันส่วนมากคือคนที่อยากหลบหนีเสียงโหวกเหวกโวยวาย เขาและเธอจึงไม่ได้ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เพียงมองหาความเป็นส่วนตัวเพื่ออยู่ในห้วงแห่งความรู้สึกชั่วครู่ชั่วคราว

หนีความวุ่นวายมาจิบค็อกเทลที่ JAO.UN (จ่าวอัน) โกดังของอากงสมัย ร.5 ที่ถูกแปลงโฉมเป็นบาร์และคาเฟ่เปิดใหม่สไตล์จีนย่านเยาราช

“สิ่งที่ร้านอื่นทำไม่ได้คือการมีบ้านเก่า บ้านเก่าไม่ใช่สิ่งที่สร้างได้ มันต้องผ่านกาลเวลา มีหลายคนมากที่ชมว่าร้านสวย หลายคนขอบคุณเราที่ไม่ทุบมันทิ้ง แต่เลือกรีโนเวตให้สิ่งเก่านี้ยังอยู่” 

กนกกาญเล่าเสียงตอบรับที่ลูกค้ามีต่ออาคารที่ได้รับการแปลงโฉม หากทั้งสามต้องการชูความเป็นจีน ซึ่งเป็นจุดขายของชุมชนเจริญชัยให้คนภายนอกเห็นคุณค่า ผมเองก็มองว่าจ่าวอันทำได้ตามเป้า

“เคยมีคุณน้าในชุมชนบอกเราว่า ชุมชนก็เหมือนต้นไม้ คุณอาจจะใช้เวลาแค่วันเดียวเพื่อโค่นมันทิ้ง ทั้งที่ต้นไม้ต้นนั้นใช้เวลาเป็นร้อยปีในการเติบโต เจ้าของที่อาจจะทุบบ้านแถวนี้ แล้วสร้างเป็นห้างใหม่ได้ในเวลาไม่นาน ความล้ำค่าของชุมชนที่อุตส่าห์เก็บมาจนถึงทุกวันนี้อาจหายไปภายในไม่กี่อาทิตย์ด้วยซ้ำ”

จริงอย่างที่ศิรพงศ์เสริมต่อ เท่าที่เห็นผ่านตา คูหาแถวนี้ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้สัมผัส เพราะต่อให้ทุบแล้วสร้างใหม่ สิ่งที่ได้ก็ไม่ใช่ของดั้งเดิมอยู่ดี

“ถ้าเก็บสถานที่แบบนี้เอาไว้แล้วเปิดให้คนเข้ามาดู ก็เหมือนเราได้สร้างชีวิตใหม่ให้กับมันอีกครั้ง” รวิภาสกล่าวปิดท้าย พร้อมเดินกลับเข้าบาร์เพื่อปรุงรสค็อกเทลอีกแก้ว

“U”

Unique Cocktails

ได้ชื่อว่าคือบาร์ย่อมมีหน้าตาเป็นเครื่องดื่ม และนี่คือ 3 เมนูที่กลุ่มเพื่อนคณะนิเทศฯ เต็มใจนำเสนอ

JAO.UN (จ่าวอัน)

หนีความวุ่นวายมาจิบค็อกเทลที่ JAO.UN (จ่าวอัน) โกดังของอากงสมัย ร.5 ที่ถูกแปลงโฉมเป็นบาร์และคาเฟ่เปิดใหม่สไตล์จีนย่านเยาราช

แก้วซิกเนเจอร์ที่ตั้งตามชื่อร้าน วางคอนเซ็ปต์โดยการจับคู่ชาอู่หลงกับกลีบส้ม สร้างรสสัมผัสที่กลมกล่อม สดใส ได้กลิ่นอายแบบจีน ๆ จัดวางในแก้วปากกว้าง เหมือนได้เห็นดวงอาทิตย์ขึ้นจากน้ำยามเช้า

“เราใช้วิธีอินฟิวส์ คือนำชาไปดองในเเหล้าแทนการต้มในน้ำร้อน แช่ไว้ข้ามคืน เหล้านั้นจะกลายเป็นชาโดยไม่มีน้ำเปล่าเจือปน” ศิรพงศ์บรรยาย

KANIKA (คณิกา)

หนีความวุ่นวายมาจิบค็อกเทลที่ JAO.UN (จ่าวอัน) โกดังของอากงสมัย ร.5 ที่ถูกแปลงโฉมเป็นบาร์และคาเฟ่เปิดใหม่สไตล์จีนย่านเยาราช

ถัดจากบาร์ไป 300 เมตรคือที่ตั้งของวัดคณิกาผล ศาสนสถานที่เกิดขึ้นจากการบริจาคเงินของกลุ่มคณิกาหรือสาวโรงน้ำชาแห่งชุมชนเจริญชัยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ศิรพงศ์และรวิภาสใช้ภาพของสาวโรงน้ำชาเป็นแรงบันดาลใจ จนเกิดเป็นค็อกเทลที่ไม่เหมือนใคร พร้อมเสิร์ฟในกาน้ำชาตรงตามชื่อ

“เราอยากให้ภาพของแก้วนี้เต็มไปด้วยสีสันโดดเด่น มีสีเขียวเตะตาไม่เหมือนแก้วอื่น มีความเปรี้ยวซ่า มีกลิ่นหอมของเหล้าเมลอนและมะนาวดองไซรัปทำเอง” รวิภาสชี้ส่วนผสม

LADY YAOWARAT (เลดี้ เยาวราช)

หนีความวุ่นวายมาจิบค็อกเทลที่ JAO.UN (จ่าวอัน) โกดังของอากงสมัย ร.5 ที่ถูกแปลงโฉมเป็นบาร์และคาเฟ่เปิดใหม่สไตล์จีนย่านเยาราช

ค็อกเทลที่ผมสั่งตั้งแต่เดินเข้าร้าน แก้วนี้คู่หูนักสร้างสรรค์อยากสรรสร้างเมนูที่ดูเก๋ตอนถ่ายรูป เป็นสุภาพสตรีแห่งเยาวราช ออกแบบโดยมีภาพอาหมวยในชุดกี่เพ้าสีชมพูเป็นแรงบันดาลใจ ใช้เหล้าจินผสมบ๊วยเป็นพื้น ก่อนเติมความชุ่มชื้นด้วยอะมาเร็ตโต (เหล้าอัลมอนด์) ให้รสชาติหวานอมขมหน่อย อร่อยแบบสวย ๆ

นอกจาก 3 แก้วที่แนะนำ ในร้านก็ยังมี JUB-KANG (จับกัง) LONELY PLANET (โลนลี่แพลเน็ต) I-JHO (ไอโจ๋) และอีกมากมายหลายเมนู แต่ถ้าอยากรู้ว่ารสชาติเป็นอย่างไร คงต้องมาสัมผัสด้วยปลายลิ้นของตัวเอง และสำหรับผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ทางร้านก็มีรายการม็อกเทลพร้อมบริการ

กนกกาญชวนเราขึ้นไปชมชั้นบน ได้รู้เรื่องเครื่องดื่มมามากแล้ว เราจึงถือโอกาสระหว่างขึ้นบันไดถามถึงเมนูอาหารของร้านบ้าง

“ถ้ามาตอนกลางคืน แนะนำบันพะโล้ อร่อยมาก เป็นหมั่นโถวอบกินกับพะโล้แห้งและยำเกี่ยมฉ่าย เป็นเมนูที่อยู่ท้อง” เจ้าของผู้เป็นสุภาพสตรีเพียงหนึ่งเดียวแนะนำ

หนีความวุ่นวายมาจิบค็อกเทลที่ JAO.UN (จ่าวอัน) โกดังของอากงสมัย ร.5 ที่ถูกแปลงโฉมเป็นบาร์และคาเฟ่เปิดใหม่สไตล์จีนย่านเยาราช

อย่างที่รู้ว่ากิ๊ฟคือผู้ที่ดูแลจ่าวอันในช่วงกลางวันเป็นหลัก ตั้งแต่มาถึงเราคุยกันแต่เรื่องบาร์ ยังไม่มีเวลาถามเรื่องคาเฟ่เลย เห็นทีควรต้องชวนคุยเสียหน่อย

ตอนกลางวัน จ่าวอันก็เหมือนคาเฟ่ทั่วไป มีกาแฟ โกโก้ และชาสารพัดชนิด พิเศษตรงที่ร้านนี้ไม่มีเค้กจำหน่าย แต่เลือกที่จะขายบัน (หมั่นโถวอบ) แทน ซึ่งคาเฟ่แห่งเจริญชัยก็มีให้ลูกค้าเลือกได้หลายหมั่นโถว อาทิ บันพะโล้ บันไอศกรีม และล่าสุด บันสตอว์เบอร์รีเบคอน

“เราเคยเห็นคนเกาหลีกินแล้วน่าจะอร่อย ก็เลยลองมาดัดแปลงดู มันไม่น่าจะเข้ากันใช่มั้ย แต่กินแล้วเข้ากันมาก บอกเลย” กนกกาญยืนกราน

อันที่จริง ก่อนหน้านี้ สมาชิกทั้งสามก็เคยคิดจะขายเค้กเลมอนมาก่อน แต่ภายหลังก็ล้มเลิก เพราะไม่ชำนาญและวิธีการเก็บรักษาก็ไม่ง่าย ยิ่งไปกว่านั้น หากเป็นหมั่นโถว จ่าวอันสามารถหยิบยืมวัตถุดิบจากร้านอาหารของครอบครัวอย่าง ZONG TER (ซงเต๋อ) ได้อยู่แล้ว เมื่อนำมาประยุกต์เข้ากับไส้ต่าง ๆ ก็น่าจะกลายเป็นกิมมิกที่น่าจดจำ มีความเป็นจีน ทั้งยังไม่ค่อยเห็นร้านอื่นลองทำมากนัก

“N”

Neighbors with Happiness

ก้าวแรกที่เหยียบชั้นสอง เราได้เห็นโฉมหน้านักร้องเป็นครั้งแรก เขาคือ จอน-จอนปรอท วงษ์เทศ หนึ่งในสมาชิกวงหน้าใหม่ไฟแรงอย่าง Mercury Goldfish

หนีความวุ่นวายมาจิบค็อกเทลที่ JAO.UN (จ่าวอัน) โกดังของอากงสมัย ร.5 ที่ถูกแปลงโฉมเป็นบาร์และคาเฟ่เปิดใหม่สไตล์จีนย่านเยาราช

แสงสีฟ้าฉายตรงเข้าหน้านักร้อง ตัดกับแสงสีส้มจากนอกหน้าต่าง ดูคล้ายอาทิตย์เพิ่งโผล่พ้นขอบฟ้า เป็นอีกหนึ่งการจัดไฟที่ตราตรึงจากอดีตสมาชิกฝ่ายแสง

จ่าวอันชั้นบนสลัว สร้างความเป็นส่วนตัวได้อย่างดี วอลเปเปอร์บนกำแพงแสดงความเป็นจีนเด่นชัด

เราถามเจ้าของร้านว่าลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาที่นี่เป็นคนกลุ่มไหน น่าแปลกเล็กน้อย เพราะเดิมทีทั้งสามอยากให้จ่าวอันเป็นพื้นที่ของคนรุ่นราวคราวเดียวกับพวกเขา คนในวัย 20 – 30 ส่วนใหญ่ชื่นชอบการกระโดดโลดเต้นในผับบาร์ ทั้งศิฑ โอ๊ธและกิ๊ฟ จึงอยากให้คนวัยนี้หันมาเพลิดเพลินกับการลิ้มลองค็อกเทล นั่งเงียบ ๆ และพูดคุยกันดูบ้าง

“อยากให้คนวัยเราได้เปิดประสบการณ์พวกนี้ เฮ้ย ถ้าคุณไม่เคยกิน คุณลองมา เดี๋ยวเราทำให้กิน เล่าให้ฟังด้วย แต่เราก็ไม่ได้รู้เยอะนะ เรารู้อะไร เราแชร์ คุณรู้อะไร คุณแชร์ มาแลกเปลี่ยนกัน” รวิภาสพูด

อย่างไรก็ดี กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ในช่วงตั้งไข่ของร้านกลับเป็นคนที่อายุมากกว่า 30 ศิฑ โอ๊ธ กิ๊ฟ จึงได้ข้อสรุปว่าช่วงอายุของลูกค้าไม่ใช่สิ่งที่กำหนดได้ สุดท้ายนี่คือบาร์ของทุกคนที่หลงใหลในสิ่งเดียวกัน นั่นคือบรรยากาศชิลล์ ๆ เป็นกันเอง นั่งพูดคุยกันแบบเงียบสงบ ไม่วุ่นวาย และแน่นอนว่าที่นี่ก็เหมาะกับคนที่ชอบตึกเก่ากับคนที่ชอบฟังดนตรีสดด้วย

“หลายอย่างเราก็เปลี่ยนตามลูกค้านะ เมื่อก่อนเราไม่มีเบียร์ พอลูกค้าถามเยอะ ๆ ตอนนี้เราก็ขายเบียร์แล้ว” ทั้งสามคนพูดพลางหัวเราะ

Leaving on a jet plane คือบทเพลงสุดท้ายที่จอนปรอทบรรเลงในค่ำนี้ เห็นทีว่าผมเองก็ควรจะเยื้องย่างออกจากย่านเช่นเดียวกับเนื้อร้อง

ผมบอกลาเจ้าของร้านผู้น่ารักทั้งสาม เก็บข้าวของ แล้วตรงไปที่ประตูบานแดง

ก่อนก้าวออกสู่ความมืด ผมสรุปได้ในใจว่า จ่าวอันไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะสำหรับทุกคน แต่ที่แน่ ๆ ก็มีกลุ่มคนที่เหมาะกับสถานที่แห่งนี้เช่นกัน 

อันที่จริง ผมอยากจะเก็บซ่อนจ่าวอันให้เป็นบาร์ลับในซอกหลืบของเยาวราชอย่างนี้ต่อไป แต่ที่เลือกเขียนถึงที่นี่ เพราะผมรู้ดีแก่ใจว่าคนภายนอกสมควรได้รู้ว่า ในมุมมืดของตรอกเจริญชัย 2 ยังมีโอเอซิสสไตล์จีนที่ทุกคนควรได้ลิ้มลองด้วยตัวเองสักครั้ง และวันนี้เจ้าของร้านทั้งสามคนแสดงให้ผมเห็นจริง ๆ ว่า ที่นี่คือ a speakEASY café & bar ที่ควรค่าต่อการเยี่ยมเยือน

หนีความวุ่นวายมาจิบค็อกเทลที่ JAO.UN (จ่าวอัน) โกดังของอากงสมัย ร.5 ที่ถูกแปลงโฉมเป็นบาร์และคาเฟ่เปิดใหม่สไตล์จีนย่านเยาราช

JAO.UN (จ่าวอัน)

ที่ตั้ง : 47 ตรอกเจริญชัย 2 เเขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพ (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : อังคาร-อาทิตย์ 11.00 – 23.00 น.

โทรศัพท์ : 063 902 9717

Facebook : JAO.UN – 早安

 

Writer

สิรวิชญ์ บุญประสิทธิการ

สิรวิชญ์ บุญประสิทธิการ

มนุษย์ภูเก็ต เด็กนิเทศที่ทำงานพิเศษเป็นนักเล่าเรื่อง โกโก้ หนัง และฟุตบอล ช่วยให้เข้านอนอย่างมีคุณภาพ

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์